มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล 26 พฤศจิกายน 2017

วันอาทิตย์ที่ 34 เทศกาลธรรมดา

26 พฤศจิกายน 2017

สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

 

บทอ่าน อสค  34:11-12, 15-17   ;   1 คร  15:20-26, 28   ;   มธ  25:31-46          

               ชีวิตนิรันดร

          เมื่อสิ้นสุดเทศกาลธรรมดา  พิธีกรรมวันนี้เตือนใจเราให้นึกถึงความหมายของอาณาจักรของพระเยซูคริสตเจ้า

          มองไปข้างหน้า

            การเทศนาของพระเยซูเจ้าเริ่มในบทที่ 5 ของนักบุญมัทธิว เรื่องความสุขแท้เป็นของผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์  และสรุปตอนนี้ (มธ 25) เตือนใจเราถึงสิ่งที่เป็นแก่นความประพฤติของบรรดาศิษย์  บุตรแห่งมนุษย์ (มธ 25:31)  พระมหากษัตริย์ (ข้อ 34) จะเสด็จมาพิพากษาบรรดาประชาชาติ  อาณาจักรของพระองค์ไม่ใช่อาณาจักรแห่งอำนาจ  แต่เป็นการรับใช้ “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้  แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:28)  นี่เป็นหลักการพิพากษา  การเข้าในอาณาจักรสวรรค์ได้รับชีวิตนิรันดร  บรรดาศิษย์ต้องติดตามหนทางของนายในการรับใช้ทุกคน  เป็นพิเศษบรรดาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

            อย่างไรก็ดี  เพราะเหตุว่า เราเกี่ยวข้องกับชีวิตนิรันดร  มิได้ถูกจำกัดต่อสิ่งที่อยู่เหนือประวัติศาสตร์มนุษย์  ทั้งมิใช่แค่ชีวิตอนาคต  มันเป็นชีวิตนิรันดร  หมายถึงชีวิตทุกยุคทุกสมัย  ซึ่งรวมปัจจุบันด้วย  ข้อเรียกร้องของอาณาจักรพระเจ้านำเราให้ชีวิตปัจจุบัน  ให้อาหาร  ให้ดื่ม ฯลฯ  การกระทำต่างๆ นี้ต้องแสดงถึงพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานชีวิตของพระองค์เองให้เรา  ดังนั้นบุคคลเป้าหมาย คือ ผู้เล็กน้อยที่สุด  และบรรดาผู้ที่ถูกลืมมากที่สุด  ตอนนี้พระวรสารนักบุญมัทธิวใช้ชื่อเดียวกับที่ท่านใช้อ้างถึงเบธเลเฮม  เมืองที่ไม่มีความหมาย  เมื่อพระเมสสิยาห์เสด็จมา  คนจน  ประชาชนที่ถูกลืมไม่มีความหมายเหมือนเมืองเบธเลเฮม  ซึ่งพระเจ้าเสด็จมาหาเรา  นี่จึงเป็นเหตุที่พระวรสารสอนเราว่าการช่วยเหลือคนจน  เท่ากับเรารับใช้ช่วยเหลือพระคริสตเจ้า  และในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด  เราก็ตระหนักถึงบุตรแห่งมนุษย์ว่าเป็นกษัตริย์ผู้สุภาพ  ไม่มีทางอื่นที่จะรับอาณาจักรเป็นมรดก (25:34)  นั่นคือ พบพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้ากับองค์พระผู้เป็นเจ้า

            สิ่งที่น่าเชื่อถือ

            การพิพากษาของพระเจ้ามิได้ถูกจำกัดแค่เรื่องของแต่ละบุคคล  หลายปีมาแล้ว การตีความของพระวรสารนักบุญมัทธิวตอนนี้  นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้กล่าวถึงมิติด้านสังคม  ทรงยืนยันอ้างถึงมิติสากลทั้งหมด  เกี่ยวกับความอยุติธรรมและความชั่วร้าย  พระองค์สรุปด้วยการเตือนรุนแรงว่า “คนจนและประเทศยากจน – จนด้วยหลายรูปแบบ  มิใช่เรื่องไม่มีอาหารเท่านั้น  แต่ขาดอิสรภาพ  ขาดสิทธิมนุษยชน  จะตัดสินบรรดาผู้ที่ยึดทรัพย์ของพวกเขา  บรรดาจักรวรรดินิยมที่ยึดประโยชน์เศรษฐกิจและครอบครองทางการเมือง  ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน” (17 กันยายน ค.ศ. 1984)  พระเจ้าและคนจน  ในประเทศของเรามีหลายเรื่องเกี่ยวกับความเย็นเฉย  การไม่เอาจริง  และความโหดร้ายลึกลับของผู้สะสมสิ่งของที่เอามาจากผู้อื่นเพื่อตนเอง

            บุตรแห่งมนุษย์ คือ พระมหากษัตริย์  พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะ “พระองค์จะตามหาแกะ” (อสค 34)  อาณาจักรแห่งการรับใช้อยู่ที่นี่และตอนนี้  เป็นสำนวนหมายถึงชัยชนะเหนือความตาย (1 คร 15)  การเชื่อว่าพระเจ้าทรงมอบชีวิตของพระองค์ให้เรา  มิได้เอาเราออกนอกประวัติศาสตร์  ตรงกันข้าม กลับทำให้เรารับได้สมบูรณ์ขึ้น เพราะสิ่งที่น่าเชื่อถือ (ในสวรรค์) ถูกพิพากษาจากสิ่งชั่วคราว (ในโลกนี้)

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Sharing the Word Through the Liturgical Year

 โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 265-267.

 

อาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา 19 พฤศจิกายน 2017

วันอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา

19 พฤศจิกายน 2017

(วันสิทธิมนุษยชน และวันสากลเพื่อคนจน)

บทอ่าน สภษ  31:10-13, 19-20, 30-31   ;   1 ธส  5:1-6   ;   มธ  25:14-30         

               เราสามารถรักโดยไม่เสี่ยงไหม

          สมัยปัจจุบันเป็นยุคของเศรษฐกิจแบบเสรี หรือเสรีใหม่  โดยเน้นความสามารถ (ตะลันต์ มีคุณค่ามาก)  เพื่อประหยัดเงินและการลงทุน  ในที่ต่างๆ และมีบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่อุปมาเรื่องตะลันต์ชี้แสดงถึงเรื่องอื่น

            ทัศนะคติสองประการ

            อุปมานี้สอนเราเกี่ยวกับทัศนคติ 2 อย่าง : ผู้ที่รับสิ่งใดจากพระเจ้าและส่งต่อไป  และผู้ที่เก็บสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้พวกเขาไว้สำหรับตนเอง  จุดเน้นของอุปมานี้อยู่ในการวิจารณ์ทัศนคติที่สอง  ตั้งแต่เริ่ม เจ้านายไม่อยู่  ได้ออกเดินทางไป (ข้อ 14) ทำให้เราคิดถึงความรับผิดชอบของบรรดาคริสตชนในประวัติศาสตร์  พวกเขารับผิดชอบการประกาศพระวรสาร  ในชีวิตประจำวันซึ่งมีช่วงเวลาที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง  มีความเครียดและข้อขัดแย้ง  บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องเป็นพยานชีวิต  นี่คือความหมายของการรับตะลันต์ความสามารถ  นักบุญเปาโลจึงบอกเราว่า “จงตื่นอยู่เสมอ” (1 ธส 5:6)  ผู้รับใช้สองคนแรกได้ทำดังนั้น  ยิ่งกว่านั้น พวกเขาซื่อสัตย์และขยันทำงาน  จนทรัพย์สินนั้นบังเกิดผลทำกำไรได้

            บทอ่านแรกจากหนังสือสุภาษิต  วิสัยทัศน์เฉพาะของบทบาทสตรีในข้อความตอนนี้เกินข้อจำกัด  เราพบว่า เธอใจดี  ช่วยเหลือคนยากจน  แสดงความรักต่อผู้อื่น

            ความยินดีแท้จริงของพระเจ้า

            ทัศนคติของผู้รับใช้คนที่ 3 แตกต่างจากสองคนแรกสิ้นเชิง  มีความกลัวเวลารายงาน  ที่ดูเหมือนดีกับพระเจ้า  ไม่ได้ละทิ้งโลกของเขาเอง (ข้อ 18)  เขาคิดว่าชีวิตแห่งความเชื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตนเองกับพระเจ้า  เขาคิดว่าพระเจ้าเป็นคนเข้มงวด  เรียกร้อง  ชอบตัดสินลงโทษมากกว่าเน้นความรัก (ข้อ 24-25)  เขาไม่เข้าใจความหมายของข้อเรียกร้องของพระวรสาร  ซึ่งเขาตีความว่าหลักศาสนาต้องแน่นอนและปฏิบัติตามกฎทางการ  คนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเขาไม่มีที่ในชีวิตคริสตชน  ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจอันตรายสำหรับเขา  คนอื่นอาจทำให้เขาออกนอกทางที่เขาตั้งใจ  และกีดกันเขามิให้ทำตามสิ่งที่เขาเห็น  ในฐานะหน้าที่ของผู้มีความเชื่อ  เขาจึงไม่ชอบเสี่ยงและคืนตะลันต์ที่เขาได้รับแด่พระเจ้า  เพื่อว่าเขารู้สึกมั่นคงกว่า  นักบุญเปาโลจึงกล่าวว่า “เขาหลับใหล” (1 ธส 5:6)

            ผู้รับใช้นี้ไม่ช้าจะรู้ว่าวิถีทางของเขามิได้นำไปสู่แสงสว่าง  แต่นำไปสู่ที่มืด (ข้อ 30)  ในความคิดแคบๆ เขาเข้าใจพระเจ้าว่าเป็นผู้ประทานรางวัลและลงโทษ  ตรงกันข้าม พระเจ้าไม่เบื่อหน่าย  รักอิสระและสนใจเรา  พระหรรษทานความรักท่วมท้นความเห็นแก่ตัว  และความมั่นคงผิดๆ ของเรา

            ความเชื่อมิใช่สิ่งที่เราเก็บรักษาในตู้เซฟ  ความเชื่อเป็นชีวิต  ซึ่งเราแสดงออกในความรัก  และเป็นพระพรแก่เพื่อนบ้านของเรา  ในพระวรสาร การกลัวก็เท่ากับการไม่มีความเชื่อ  ดังนั้น เราจะสามารถรักโดยไม่ยอมเสี่ยงได้อย่างไร  โดยไม่ยอมเข้าไปในโลกได้อย่างไร  โดยไม่เสี่ยงช่วยผู้กำลังดิ้นรนเพื่อสิทธิที่จะมีชีวิตได้อย่างไร  ความเป็นปึกแผ่นกับพวกเขาจะนำเราพบอันตรายและข้อขัดแย้งที่คาดไม่ถึง  และบางทีพบความเข้าใจผิดภายในครอบครัวของเราเอง  และในชุมชนคริสตชนของเรา    อย่างไรก็ดี  อุปมาเรื่องตะลันต์สอนเราว่า  ความยินดีของพระเยซูเจ้า (ข้อ 21 และ 23) เป็นความยินดีของเราด้วย  อยู่ในชีวิตคริสตชนที่มีฐานในพระหรรษทาน  ความกล้าหาญ  และความสนใจผู้อื่น  มากกว่าพิธีรีตอง  การปกป้องตนเองและความกลัว

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Sharing the Word Through the Liturgical Year

 โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 261-262.

สมโภชนักบุญทั้งหลาย 5 พฤศจิกายน 2017

วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย

5 พฤศจิกายน 2017

บทอ่าน วว  7:2-4, 9-14   ;   1 ยน  3:1-3   ;   มธ  5:1-12ก

                    ทัศนคติของบรรดาศิษย์

            พระวรสารนักบุญมัทธิว เรื่อง ความสุขแท้  เป็นตอนหนึ่งที่เรารู้จักกันดีมากที่สุด  วันฉลองนักบุญทั้งหลายเป็นวันฉลองของคริสตชนทุกคน  ที่จริงการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า  หมายถึงการพยายามเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์  ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราทรงความดีอย่างสมบูรณ์ (มธ 5:48)

            จากความยากจนชนิดหนึ่ง ไปสู่อีกชนิดหนึ่ง

            พระเยซูเจ้าตรัสว่า  ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข  เมื่อพระองค์ทรงเริ่มประกาศเรื่องอาณาจักรแห่งชีวิต  ดังที่เราเรียกว่า บทเทศน์บนภูเขา  นักบุญมัทธิวสรุปการประกาศนี้ในบทที่ 25 (บทที่ 26-28 เล่าถึงพระมหาทรมาน  การสิ้นพระชนม์  และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า)  นักบุญมัทธิวสอนว่า  บรรดาผู้ที่รู้สึกว่องไวต่อความต้องการของคนจน  จะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์  นี่คือเหตุผลที่เรากล่าวว่า  พระวรสารนี้เล่าการประกาศของพระเยซูเจ้า  ให้อยู่ระหว่างความจนทางจิตใจและความจนทางวัตถุ (ตอนท้ายของบทที่ 25) ด้วยสำนวนคำพูดที่ถูกใช้บ่อยๆ ช่วยเราให้เข้าใจความหมายของความสุขแท้

            ความสุขแท้ 8 ประการสอนเราเกี่ยวกับทัศนคติพื้นฐานของบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าและของคริสตชน  บรรดาศิษย์ต้องไว้วางใจพระเจ้า (ยากจนในจิตใจ)  เราต้องร่วมแบ่งปันความทุกข์ของผู้อื่น (ที่กำลังร้องไห้) เหมือนอย่างพระเยซูเจ้า (มธ 11:30) เราต้องมีใจสุภาพอ่อนโยนต่อผู้อื่น  เราต้องการความยุติธรรมให้ปกครองในโลก (บรรดาผู้หิวกระหายความชอบธรรม) ยิ่งกว่านั้น บรรดาศิษย์ต้องสนใจคนจน  มีใจเมตตา  เราต้องยืนยันชีวิตบริสุทธิ์  เราต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อสถาปนาสันติภาพดังที่เป็นผลของความยุติธรรม (ผู้สร้างสันติ) ทั้งหมดนี้หมายความว่า บรรดาผู้ปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิของผู้อื่น  จะดูหมิ่นข่มเหงเรา (ถูกเบียดเบียนเพราะความชอบธรรม)

            พระพรแห่งการเป็นบุตร

            พระพรแห่งอาณาจักรสวรรค์เรียกร้องให้บรรดาคริสตชนต้องเลือกและมั่นใจ  ถ้าเราอยู่กับพวกเขา (ผู้มีใจยากจน) เราจะเข้าอาณาจักรสวรรค์  เป็นความบรรเทาใจ  ได้รับแผ่นดินเป็นมรดก  ความอิ่ม  พระเมตตา  การได้เห็นพระเจ้าและการเป็นบุตรของพระเจ้า  สาระของการปฏิบัตินั้น  ถูกนำเสนอในบทที่ 25 ว่า บรรดาศิษย์ คือ ผู้เลี้ยงดูผู้หิวโหย  ให้น้ำแก่ผู้หิวกระหาย... ฯลฯ  พูดอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ที่อุทิศตนช่วยเหลือผู้ขัดสน    ผู้มีใจยากจน แปลความรักของพระเจ้าและของผู้อื่น  ด้วยการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนจนจริงๆ ในด้านวัตถุ  ปฏิบัติเมตตาช่วยเหลือคนจน  คนถูกทอดทิ้งและผู้ถูกรังแก  พวกเขาจะพบกับพระเยซูเจ้า ตรัสว่า “ท่านได้ทำต่อเราเอง”  การพบปะกับพระเจ้าก็เป็นพระพร  พระหรรษทาน

            เป็นไปไม่ได้ที่จะรับเหตุของคนจน  เพราะความซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้า  โดยปราศจากการต่อต้านและศัตรู  โดยปราศจากการเบียดเบียนครั้งใหญ่ (วว 7:14)  การได้รับพระหรรษทานเป็นบุตรของพระเจ้า (1 ยน 3:1)  เกี่ยวข้องกับการสร้างมิตรภาพแท้และความยุติธรรมในสังคมของเรา

            ความสุขแท้ ชี้ให้เห็นทัศนคติพื้นฐานของคริสตชน  ความสุขแท้ทั้ง 8 ประการนี้  เป็นรัฐธรรมนูญพื้นฐานของเราศิษย์พระเยซูเจ้า  เราจะต้องไม่ให้เป็นเพียงตัวอักษรเก็บไว้ในก้นลิ้นชักจนลืม  ปราศจากทัศนคติที่บรรยายในความสุขแท้ที่เราได้ยินได้ฟังวันนี้  เราจะไม่สามารถมีความหวังเห็นพระเจ้า “อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1 ยน 3:2)

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Sharing the Word Through the Liturgical Year

 โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 278-279.

 

อาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา 12 พฤศจิกายน 2017

วันอาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา

12 พฤศจิกายน 2017

            ความปรารถนาจริงใจฟังคำสอน

อุปมาต่างๆ จากพระวรสารนักบุญบทท้ายๆ ทำให้เราเข้าใจพระเจ้าทรงทำงานในประวัติศาสตร์  พระพรแห่งชีวิตนิรันดรในพระเยซูเจ้าตัดสินชีวิตของเรา

            นายเจ้าขา  นายเจ้าขา

            อุปมานี้กล่าวถึงพิธีแต่งงานในสมัยพระเยซูเจ้า  เมื่อถึงเวลากำหนด เจ้าบ่าวมาถึงพร้อมกับบรรดาแขกรับเชิญทุกคน  งานฉลองจึงเริ่ม    พระวรสารนักบุญมัทธิวมีประสบการณ์ของพระศาสนจักร  นำเสนอชุมชนคริสตชนสมัยนั้นให้เราทราบ  ดังเช่นหญิงสาว 10 คน รอรับเจ้าบ่าว  มีทั้งคนโง่และคนฉลาด (ข้อ 1-4) ในโอกาสต่างๆ นักบุญมัทธิวชี้ให้เห็นความแตกต่างและแม้การแตกแยกในวัด  การมาช้าของเจ้าบ่าวจะเผยแสดงสถานการณ์  ตอนแรก หญิงสาวทุกคนปฏิบัติเหมือนกัน “ทุกคนต่างง่วงและหลับไป” (ข้อ 5)  ข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้ถูกตำหนิในตอนนี้  ไม่ใช่จุดโฟกัส  สิ่งที่น่าสนใจ คือ หญิงสาวบางคนนำน้ำมันใส่ขวดมาพร้อมกับตะเกียง แต่คนอื่นไม่มี  ดังนั้น พวกเธอพบสถานการณ์ที่แตกต่างกันเมื่อเจ้าบ่าวมาถึง (ข้อ 8-9)

            เจ้าบ่าว หมายถึง พระเจ้า  การเสด็จมาถึงของพระองค์เป็นการพิพากษา  ใครที่ได้ยินข้อความนี้และนำไปปฏิบัติ  จะได้เข้าพระอาณาจักร “หญิงสาวที่เตรียมพร้อมจึงเข้าไปในห้องงานแต่งงานพร้อมกับเจ้าบ่าว” (ข้อ 10)  ส่วนใครที่มิได้ปฏิบัติตามพระวรสารว่าเป็นกฎเกณฑ์ชีวิต  บางทีพูดให้ถูกกว่า คือ ผู้ที่รับเพียงแค่เป็นพิธี  พระเจ้าจะตรัสว่า “เราไม่รู้จักท่าน” (ข้อ 12)  ความหมายก็คือ ปฏิเสธบรรดาผู้แกล้งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็น  ผู้ที่มิได้ดำเนินชีวิตเป็นศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้า  แล้วกล่าวว่า “นายเจ้าขา นายเจ้าขา เปิดรับพวกเราด้วย” (ข้อ 11)  สำนวนนี้ทำให้นึกถึงสิ่งที่สอนใน  มธ 7:21 “มิใช่ทุกคนที่กล่าวว่า พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า จะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ “บรรดาผู้ที่เชื่อแต่ปากเท่านั้น  พระเจ้าจะตรัสว่า ‘เราไม่รู้จักท่าน... จงไปให้พ้นหน้าเรา’ ” (7:23)

            จงตื่นเฝ้าระวังไว้เถิด

            พระวาจาตอนนี้สรุปด้วยการสอนให้ตื่นเฝ้า  สนใจปฏิบัติตามคำสั่งของพระวรสาร (ข้อ 13)  ความหวังทำให้เราตื่นเฝ้า  นักบุญเปาโลเตือนใจเราว่า  พื้นฐานของความหวังนี้ คือ ความมั่นใจว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากความตาย  ชีวิตถูกควบคุมด้วยความตาย  ทำให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจ (1 ธส 4:13)  ความหวังทำให้เรากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางนี้  การเชื่อในการกลับคืนชีพทำให้เรามั่นใจ  ชีวิตที่รู้ว่าไม่มีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์  หรือเวลาการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู (ข้อ 14) ทำให้เรามีชีวิตในความรักเหมือนที่พระเยซูเจ้าได้ปฏิบัติ  พระเจ้าจะทรงนำบรรดาผู้ปฏิบัติเช่นนี้มาหาพระองค์ (ข้อ 14)  ชีวิตนิรันดรเริ่มแล้วที่นี่และบัดนี้  มิฉะนั้นก็ไม่ใช่นิรันดร  อย่างไรก็ดี ความหวังในชีวิตนิรันดรเป็นพระพรจากพระเจ้า

            พระคัมภีร์เชิญเราให้มีความปรารถนาจริงใจต่อคำสอนนี้  ต่อความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า  นี่คือ ปรีชาญาณ “ผู้รักปรีชาญาณย่อมปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ  ผู้เชื่อฟังธรรมบัญญัติย่อมได้รับการรับรองว่าจะมีชีวิตอมตะ” (ปชญ 6:18)  ปรีชาญาณจะ “ทำให้เราอยู่ใกล้ชิดพระเจ้า” (ปชญ 6:19)  ปรีชาญาณจะช่วยเราให้ไตร่ตรองสิ่งที่เรียกร้องในพระวรสารนักบุญมัทธิววันนี้    คงเป็นไปไม่ได้ที่กล่าวว่า เราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำสอนนี้

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Sharing the Word Through the Liturgical Year

 โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 257-258.

อาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา 29 ตุลาคม 2017

วันอาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา

29 ตุลาคม 2017

บทอ่าน อพย  22:20-27   ;   1 ธส  1:5ค-10   ;   มธ  22:34-40

จุดเน้น          ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง

            สาระคำสอนของพระวรสารนักบุญมัทธิว  ในบทที่ 22 คือ การรักองค์พระผู้เป็นเจ้า  และการรักเพื่อนมนุษย์  แยกจากกันไม่ได้

            รักหนึ่งเดียวหรือทั้งสอง

            พระเยซูเจ้าทรงตอบชาวฟาริสี  ผู้ต้องการทดสอบพระองค์ (มธ 22:37-40) ว่าการรักองค์พระผู้เป็นเจ้าและการรักเพื่อนมนุษย์เป็นสองมิติพื้นฐานพระวรสารของพระคริสตเจ้า  ความตึงเครียดบางประการที่เรากำลังประสบในพระศาสนจักร  มีสาเหตุมาจากการอธิบายความ (แบบมีอคติ) กับความสัมพันธ์ระหว่างบัญญัติทั้งสองประการนี้  บางคนเน้นความรักองค์พระผู้เป็นเจ้าในวิธีที่ทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านปรากฏเป็นอันดับสอง  และเพิ่มสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในมุมมองนี้  ทำให้เข้าใจการอุทิศตนของคริสตชน  หรือข้อเรียกร้องของคนยากจน  คนจน คือ บุคคลที่พระคัมภีร์หมายถึง  เด็กกำพร้า  แม่ม่าย  และคนต่างชาติ (อพย 22:20-26)

            อีกด้านหนึ่ง  บางคนแนะนำว่าการเป็นคริสตชนต้องแสดงการอุทิศตน  และความเป็นปึกแผ่นกับผู้อื่นๆ ให้มากขึ้น  และไม่กีดกันใคร  ไม่ต้องสงสัยครับว่านี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา  แต่ก็มีการเสี่ยง คือ เราภาวนา  ถวายมิสซา  รู้จักพระวาจาพระเจ้า  มีการแสดงออกว่าเรามีความสัมพันธ์กับพระเจ้า  แต่ขาดความหมายที่สมบูรณ์โดยไม่ค่อยสนใจผู้อื่น

            ถ้าเรารักพระเจ้าอย่างเดียว  เราก็ขาดทั้งสอง  ใครที่แกล้งแสวงหาพระเจ้าแต่ไม่สนใจเพื่อนมนุษย์  ก็จะไม่พบพระเจ้าในพระคัมภีร์  แต่อีกด้านหนึ่ง  พระเจ้ามิได้ให้เราสนใจพบปะพระองค์เท่านั้น  เราต้องสนใจพบปะกันและกันด้วย

            คนจนจะนอนที่ไหน

            ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะปฏิบัติคำสั่งสอนทั้งสองในภาคทฤษฎีนี้  ปัญหาแท้อยู่ที่การนำไปปฏิบัติ  หนังสืออพยพสอนเราว่า จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องรูปธรรม “ถ้าท่านยึดเสื้อคลุมของเพื่อนไว้เป็นประกัน... เขาจะใช้สิ่งใดป้องกันความหนาวเมื่อนอนเล่า” (22:26)  นี่เป็นสถานการณ์ของเรารึ  เราสนใจคนจนในประเทศ (หมู่บ้าน) ของเราว่าจะสวมใส่อะไร  หลับนอนที่ไหนหรือเปล่า  พวกเขาจะนอนบนพื้น  บนเสื่อ  หรือบนเตียง  มีบ้านอยู่ไหม    การเป็นคริสตชนหมายความว่า เราต้องสนใจตอบคำถามเหล่านี้  ฉะนั้น  ความรักพระเจ้าและความรักเพื่อนบ้านต้องสัมพันธ์กัน  คำถามว่าคนจนจะนอนที่ไหน  สำคัญต่อพระเจ้า “ถ้าเขาร้องขอความช่วยเหลือจากเรา  เราก็จะฟังคำร้องขอของเขา  เพราะเราเป็นผู้มีเมตตากรุณา” (22:27)  การเชื่อใน “พระเจ้าแท้จริงผู้ทรงชีวิต” (1 ธส 1:9)  ช่วยนำเราให้มีใจเมตตากรุณา  การรู้สึกเห็นใจคนจนจะช่วยนำเราให้พบปะพระเจ้า

            คำอ้างจากหนังสือเลวีนิติ 19:18 “ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ 22:39)  เป็นวิธีการพูดของชาวยิวที่บ่งบอกว่า “ตนเอง” เท่ากับ “เพื่อนมนุษย์”  การรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง  หมายความว่า  รักพวกเขาเหมือนรักสมาชิกในครอบครัวของเรา  รักเพื่อนร่วมชาติก็ต้อนรับคนแปลกหน้า  เหมือนพวกเขาเป็นคนในบ้านเดียวกัน

            ใครที่ไม่มีที่หลับนอน  เราต้องรักเหมือนพวกเขาเป็นสมาชิกในครอบครัวของเรา  จงพยายามให้พวกเขามีบ้านแบบที่สัมผัสรักของพระเจ้า  เรารู้ว่าในหมู่บ้านมีใครยังไม่มีที่อยู่ “ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก  ก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” (มธ 22:40)

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Sharing the Word Through the Liturgical Year

 โดย Gustaro Gutierrez, หน้า 248-249.

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown