อาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา 19 กุมภาพันธ์ 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสบดี, 16 กุมภาพันธ์ 2560 08:55
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 650
วันอาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
19 กุมภาพันธ์ 2017
บทอ่าน ลนต 19:1-2, 17-18 ; 1 คร 3:16-23 ; มธ 5:38-48
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 443, 1693, 1825, 1933, 1968, 2013, 2054, 2262, 2303, 2443, 2608, 2828, 2842, 2844
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร (CSDC) 40
จุดเน้น การดำเนินชีวิตความเชื่อ เป็นการกระทำด้วยความรักและเมตตาธรรม
บทอ่านวันนี้จากบทเทศน์บนภูเขาในพระวรสารมัทธิว ท้าทายเรามากๆ เราคุ้นกับข้อความตอนแรกที่ว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” บ่อยๆ เราตีความไม่ถูกต้องนักว่าถ้าใครทำร้ายเรา เราก็ควรทำร้ายเขาตอบได้ คำสอนตอนนี้เป็นเรื่องความยุติธรรม มิใช่การแก้แค้น พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าที่ยุติธรรม บ่อยๆ ในพันธสัญญาเดิม พระองค์ทรงรักษาสัญญา ทรงทำตามสัญญา ถ้าพระเจ้าบอกชาวอิสราเอลว่าพวกเขาควรทำอะไร และผลจะเป็นอย่างไร ถ้าพวกเขามิได้ทำตาม พระองค์จะลงโทษเพราะความยุติธรรมถ้าพวกเขาไม่ทำตามคำสั่ง
อีกประโยคหนึ่งที่ว่า จงรักศัตรู ดูเหมือนปฏิบัติยากที่สุด จงรักศัตรู และ จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน ทำอะไรฝ่ายกายในนามพระเยซูง่ายกว่าต้องสุภาพตอบผู้ที่ขัดแย้งกับเราใช่ไหม ดูแลสวนดอกไม้ของวัดง่ายกว่าให้อภัยลูกชายหรือลูกสาว ทำงานในครัวไม่ท้าทายเท่ากับต้องรักผู้ร่วมงานที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือเพื่อนบ้านที่ชอบโต้เถียงและทำให้เราหงุดหงิด แน่นอน สวนและการทำอาหารเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น แต่การรักศัตรู หรือการอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เบียดเบียนเราเป็นสิ่งที่ทำยากจริงๆ
พระเยซูเจ้าทรงสอนเราวันนี้ว่า การตอบรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทุกสถานการณ์ก็คือ ความรัก เป็นการเลียนแบบวิธีที่พระเจ้าทรงทำกับเรา ลูกๆ ของพระองค์ เป็นพระเมตตายิ่งใหญ่ เมื่อเราตระหนักว่าเราไม่มีคุณค่าที่พระเจ้าทรงรักเรา ยิ่งเมื่อตระหนักว่าความรักและเมตตาธรรมของพระองค์เป็นของประทานบริสุทธิ์ เราควรตอบสนองพระองค์ด้วยความกตัญญูรู้คุณ และเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น แม้จะรู้สึกขัดแย้งที่ต้องใจดีกับบุคคลที่ไม่ดีกับเรา แต่นี่เป็นสิ่งที่พระเจ้าขอให้เราทำ ดำเนินชีวิตตามพระวรสาร จริงๆ เป็นแก่นของการประกาศข่าวดี แน่นอน การอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้อื่นและการปฏิบัติอย่างน่ารักกับเขา มิได้หมายความว่า เราต้องทนแบบไม่เคารพ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้เราในทางที่ผิด แต่เราต้องมีขอบเขตที่เหมาะสมที่ปกป้องเรามิให้ผู้อื่นทำกับเราแบบผิดๆ และขาดความเคารพ
ในตอนท้ายของพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกให้ “ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์” ตรงนี้พระองค์มิได้ขอให้เราเป็นคนสมบูรณ์ตามตัวอักษร เนื่องจากมนุษย์อ่อนแอและทำบาป แต่พระองค์สอนเราให้เป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ในความหมายว่า ให้พยายามทุกวัน เป็นทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเราให้เป็น ให้รักโดยไม่จำกัด ให้ใจดี ให้เมตตาต่อผู้ขัดสน เราทำสิ่งเหล่านี้ อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า พระองค์จะเปลี่ยนแปลงเรา และเปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวเรา พระเยซูเจ้ามิได้กล่าวว่า ทำเช่นนี้ได้ง่ายๆ แต่ชัดเจน พระองค์ทรงเรียกเราให้ไป... รับใช้พระองค์ และสร้างอาณาจักรพระเจ้าในโลก
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(มกราคม-มีนาคม 2017), หน้า 77-78.
อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา 12 กุมภาพันธ์ 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 10 กุมภาพันธ์ 2560 04:35
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 702
อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา
12 กุมภาพันธ์ 2017
บทอ่าน บสร 15:15-20 ; 1 คร 2:6-10 ; มธ 5:17-37
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 226, 577, 581, 592, 678, 1034, 1424, 1456, 1967, 2053, 2054, 2141, 2153, 2257, 2262, 2302, 2330, 2336, 2338, 2380, 2382, 2463, 2466, 2513, 2528, 2608, 2792, 2841, 2845
จุดเน้น ความปรารถนาเพื่อความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระเจ้า กระตุ้นเราให้เลือกปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์
ในบทอ่านที่หนึ่งและสอง เตือนใจเราให้เห็นความสำคัญของการเลือกที่ดี เราขึ้นกับปรีชาญาณของพระเจ้าช่วยเรา นี่มิใช่ปรีชาญาณของโลกนี้ แต่เรากล่าวถึงพระปรีชาญาณของพระเจ้า ความปรารถนาเพื่อความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระเจ้า กระตุ้นเราให้เลือกปฏิบัติตามพระบัญญัติ และวางใจในพระองค์ ดังหนังสือปรีชาญาณที่สอนว่า เขาเลือกสิ่งใด ก็จะได้รับสิ่งนั้น (บรส 15:17)
ในฐานะคริสตชน และฐานะบุตรพระเจ้า พระองค์ประทานเสรีภาพและเจตนาอิสระ เพื่อให้เราฟังและนบนอบ หรือหันออกไป พระเจ้ามิได้ทำเช่นนี้เพื่อดูถูกเราและดูเราผิดหวัง แต่พระองค์ให้เรามีอิสระที่จะเลือกรักพระองค์ และยอมให้พระองค์รัก ทรงเปิดโอกาสให้เราไปตามทางของตนเองก็ได้
ในพระวรสารเกี่ยวกับฟาริสี มองพระเยซูเจ้าว่าชอบทำผิดกฎ หรือละเมิดธรรมบัญญัติ เช่น พิธีชำระตัว การพูด การสัมผัส และการรับประทานกับประชาชน พระองค์ควรอยู่ห่างๆ เพื่อจะได้ไม่ถูกว่ามีมลทิน นี่เป็นเรื่องแปลกเมื่อพระองค์กล่าวในบทเทศน์บนภูเขาว่า อย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติ หรือคำสอนของบรรดาประกาศก อันที่จริงพระองค์ทรงชัดเจนว่าแม้แต่ตัวอักษรทุกตัวก็เป็นจริง พระองค์มิได้ทรงเคร่งครัด ไม่ได้ทำให้เราติดกับกฎ ไม่ให้เราลำบากกับพระบิดา พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ทรงปกป้องตัวที่สูญหายไป ตัวที่ได้รับบาดเจ็บและแกะตัวที่ท่องเที่ยวจนอาจมีอันตราย จากการทำร้ายตนเองหรือตัวอื่น พระองค์เชื่อมั่นว่า การเคารพธรรมบัญญัติของพระเจ้า จะนำเราให้เคารพประชากรของพระเจ้าด้วย
ใช่แล้ว พระเยซูเจ้าทรงรับประทานอาหารกับคนเก็บภาษีและโสเภณี ได้แสดงความรักเมตตาต่อคนไม่สะอาด และไม่น่าสัมผัส เพราะเหตุว่า ธรรมบัญญัติของพระเจ้าสอนเราให้ปฏิบัติเช่นนี้ มองหาผู้ยากไร้ขัดสนที่สุดในหมู่เรา ในหัวใจของพระเยซูเจ้า พระองค์พยายามปฏิบัติ พระวาจาที่ว่า แม้แต่ตัวอักษร หรือจุดเพียงจุดเดียว มีความหมาย 2 ประการ คือ
- การปฏิบัติมากกว่าสิ่งธรรมบัญญัติเรียกร้อง
- การเชื่อฟังและการประยุกต์ธรรมบัญญัติของพระเจ้า ด้วยความรักพระเจ้าและทุกคนที่เราพบ
นี่จึงเป็นเหตุผลที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกพระบัญญัติ 10 ประการบางข้อ และสอนเราว่า มิใช่อย่าฆ่าคนเท่านั้น หรือไม่โกงใคร เพื่อเจริญชีวิตให้มีความสุขแท้ เราต้องเชื่อในพระเจ้า เชื่อในพระบุตร พระผู้ไถ่กู้และต้องเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติต่อผู้อื่น เป็นพิเศษ ผู้อ่อนแอที่สุด และผู้บาดเจ็บที่สุด เราไม่สามารถพูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง แต่ว่า อะไรใช่ ก็ใช่ อะไรไม่ใช่ ก็ไม่ใช่
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(มกราคม-มีนาคม 2017), หน้า 65-67.
อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา 29 มกราคม 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสบดี, 26 มกราคม 2560 06:44
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 657
อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา
29 มกราคม 2017
บทอ่าน ศฟย 2:3 ; 3:12-13 ; 1 คร 1:26-31 ; มธ 5:1-12ก
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 520, 544, 581, 764, 1716, 1720, 2305, 2330, 2518, 2546, 2763
จุดเน้น ความสุขแท้เป็นอุดมคติที่ถูกจารึกในหัวใจของเรา และแสดงออกเป็นกิจการ
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พระเยซูเจ้าได้นำเสนอ ความสุขแท้ บนภูเขา พระเจ้าได้ประทานบัญญัติ 10 ประการบนภูเขาซีนาย พระบัญญัติเหล่านั้นเป็นธรรมบัญญัติที่ถูกจารึกบนแผ่นหิน ความสุขแท้ของพระเยซูเจ้าเป็นอุดมคติที่ต้องถูกจารึกในใจมนุษย์ พระเยซูเจ้ามิได้ล้มล้างธรรมบัญญัติของโมเสส แต่ด้วยความสุขแท้นี้ พระเยซูเจ้าได้ต้องการยกจุดเน้นจากธรรมบัญญัติภายนอก ให้เราเชื่อฟังบัญญัติแห่งความรัก เจริญชีวิตในอาณาจักรสวรรค์ที่พระองค์ได้มาเปิดเผยให้เราทราบ
ความสุขแท้เปลี่ยนมาตรฐานของโลก กล่าวคือ ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข โลกถือว่าไร้ความหมาย หนทางสู่ความสุข (ฝ่ายโลก) พบที่ความก้าวร้าว? ความทะเยอทะยาน และความสำเร็จในการแข่งขันกัน
พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า พระเจ้าทรงมอบความสุขให้เรา เราไม่ต้องแข่งให้ชนะ เป็นผู้เหมาะสมจะได้รับ หรือหาซื้อมา (ด้วยเงินทอง) ทุกคนมีความสุขได้ ทุกคนเป็นผู้ชนะ พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า ความสุขและความสำเร็จสมบูรณ์จะมาสู่คนที่เปิดมือ คนที่ใจสุภาพ และมีจิตใจต้อนรับผู้อื่น อาณาจักรสวรรค์เป็นของประทานของพระจ้า ไม่ใช่ของเราที่จะได้แบบที่เราปรารถนา
ผู้มีความทุกข์ย่อมเป็นสุข คนยากจน คนสุภาพ ผู้ถูกเบียดเบียน ย่อมเป็นสุขหรือ พี่น้องจะไม่พบสิ่งเหล่านี้ถูกกล่าวถึงในรายการทีวี ทอล์คโชว์
ใครคือผู้มีใจอ่อนโยน... คือผู้ที่มีความสามารถต่างๆ เพื่อรับใช้สิ่งที่พระเจ้าต้องการ มิใช่ที่พวกเขาต้องการเอง เราพบความสุขแท้ในการรับใช้ช่วยเหลือผู้อื่น
ผู้หิวและกระหายล่ะ พวกเราแสวงหาความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ดีขึ้น ลึกซึ้งขึ้น พวกเราปรารถนาให้สังคมดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเราเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน
ผู้มีใจเมตตาล่ะ เราสนใจผู้อื่น เราเต็มใจให้อภัย และแสวงหาการคืนดีกัน
ตอนนี้ตรงข้าม เฟดเดอริก วิลเฮม นิตเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 19 เป็นเครื่องมือแนวปรัชญานาซี ที่ว่า คนที่สมบูรณ์พร้อมที่สุดควรขึ้นไปให้ถึงยอดสุด ใครที่แย่ที่สุดควรต้องตาย เขาเชื่อว่า พระเจ้าตายแล้วด้วย
ความคิดของนิตเช่ยังมีหลายคนยึดตาม และประกาศว่าไม่มีพระเจ้า ในโลกปัจจุบัน แนวคิดแบบนี้ขัดแย้งกับการปฏิบัติและความเชื่อของเราคริสตชน แต่นักบุญเปาโลเตือนใจเราว่า เมื่อเราเชื่อในพระคริสตเจ้า ไม่มีอะไรมายับยั้งเราได้ ดังที่เราได้ยินในบทอ่านวันนี้
“พี่น้องทั้งหลาย จงพิจารณาดูเถิด เมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านนั้น มีน้อยคนที่ฉลาดตามมาตรฐานของมนุษย์ น้อยคนที่มีอิทธิพล น้อยคนที่มีตระกูลสูง แต่พระเจ้าทรงเลือกคนโง่เขลาในสายตาของโลก เพื่อทำให้คนฉลาดต้องอับอาย พระเจ้าทรงเลือกสรรคนที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้ผู้แข็งแรงต้องอับอาย และพระเจ้าทรงเลือกสรรสิ่งต่ำช้าน่าดูหมิ่นไร้คุณค่าในสายตาของชาวโลก เพื่อทำลายสิ่งที่โลกเห็นว่าสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อมิให้มนุษย์โอ้อวดเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าได้ เดชะพระองค์ ท่านจึงมีความเป็นอยู่ในพระคริสตเยซูผู้ที่พระเจ้าทรงตั้งให้เป็นปรีชาญาณสำหรับเรา ทั้งยังทรงเป็นผู้บันดาลความชอบธรรม ความศักดิ์สิทธิ์และการไถ่กู้อีกด้วย เพื่อให้เป็นไปตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ผู้ใดจะโอ้อวดก็ให้ผู้นั้นโอ้อวดในองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด” (1 คร 1:26-31)
ความเชื่อคริสตชน คือ พระคริสตเจ้าเป็นการไถ่กู้และความชอบธรรมของเรา การดำเนินชีวิตตามโอวาทบนภูเขา นำเราไปสู่ความสุขแท้ ความเชื่อนี้มีอายุมากกว่า 2000 ปี ยังมีผู้ยึดถือปฏิบัติจริงจังมากกว่า 2000 ล้านคน นิตเช่ตายไปแล้ว แต่พระเจ้ายังทรงพระชนม์ในโลกนี้ เพราะเหตุว่า บรรดาผู้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสตเจ้า ยังพยายามดำเนินชีวิตเรื่องความสุขแท้
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(มกราคม-มีนาคม 2017), หน้า 43-45.
อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา 5 กุมภาพันธ์ 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 03 กุมภาพันธ์ 2560 04:37
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 670
วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา
5 กุมภาพันธ์ 2017
บทอ่าน อสย 58 : 7 -10 ; 1 คร 2: 1- 5 ; มธ 5: 13-16
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 326, 782, 1243, 2821
จุดเน้น พระเจ้าทรงอวยพรเรา และทรงเรียกเราให้เป็นแสงสว่างต่อหน้าผู้อื่น เชิญชวนผู้อื่นให้มีสัมพันธ์ใหม่กับพระเยซูเจ้า
ในระหว่าง ค.ศ. 1995 การล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดามีเรื่องเล่าว่าวัดหนึ่งถูกทำลาย ชาวบ้านในวัดนั้นพยายามสร้างวัดใหม่ด้วยตนเอง วัดนั้นเคยตั้งอยู่ใจกลางชุมชน อย่างไรก็ดี ไม่มีไฟฟ้าใช้ และยังมีบรรยากาศกลัวถูกโจมตีอีก สัตบุรุษที่กระจัดกระจายกันจะรอจนมืด แล้วมารวมตัวร่วมมิสซาวันอาทิตย์ทุกสัปดาห์ เมื่อมีเสียงระฆังอัศจรรย์น้อยๆ ก็บังเกิดขึ้น
ในฐานะประชาชนพวกเขาก็ทำหน้าที่สร้างชุมชนวัด เขานำตะเกียงส่องทางมาวัด และส่องสว่างในวัด เมื่อเสร็จพิธีพวกเขาก็กลับบ้าน วิธีเดิมคือถือตะเกียงกลับบ้าน มีบางคนสังเกตเรื่องนี้ เกี่ยวเนื่อง ระหว่างเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ใจนี้กับพระวรสารวันนี้ เพราะชุมชนเห็นความโศกเศร้า และการถูกทำลายแต่มันเป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้ายังประทับอยู่กับเขา ในชีวิตของชุมชน เป็นเครื่องหมายว่าชีวิตกำลังคืนสู่ปกติ แสงสว่างของพระเจ้ายังอยู่กับพวกเขา และภายใน (จิตใจ) ของพวกเขา
ดังนั้นพี่น้อง สำหรับเราผู้มีความเชื่อที่มาชุมนุมกันในวันอาทิตย์ (วันของพระเจ้า) เรารวมกันในแสงสว่างของพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงเชิญเราให้เป็นแสงสว่างส่องโลก เป็นพระคริสตเจ้าในโลก และในชีวิตของผู้อื่น ภาพลักษณ์แสงสว่างมีพลัง เราทุกคนรู้ดีว่ามันสำคัญต่อชีวิตอย่างไร เมื่อเรามีแสงสว่าง เราก็มั่นใจขึ้น เราสามารถมองเห็นถนนหนทาง แม้มันดูเหมือนไม่ราบเรียบ และวกวน แสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เราเห็นวิสัยทัศน์ของชีวิต และช่วยให้ผู้อื่นมาร่วมในวิสัยทัศน์ของเรา
ดังนั้นพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะไม่ถูกปิดบัง” จึงเป็นประโยคเชิญชวน และให้กำลังใจการเป็นคริสตชนเป็นดังนี้แหละ ชีวิตของเราควรส่องสว่างพร้อมกับการประทับอยู่ของพระเจ้า พร้อมทั้งความรัก การเอาใจใส่ และความกระตือรือร้น เราต้องแสดงออกด้วยวิธีที่เห็นได้ ตามที่ประกาศกอิสยาห์บอกเราในบทอ่านที่หนึ่งวันนี้ “จงแบ่งปันอาหารกับผู้หิวโหย นำคนยากไร้ที่อยู่อาศัยเข้ามาในบ้าน ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ท่านเห็นว่าไม่มีเสื้อผ้าสวม และไม่หันหน้าหนีจากญาติพี่น้อง ต่อสู้การกดขี่ข่มเหง การโกหก และพยานเท็จ” ประกาศกอิสยาห์สอนเราให้เห็นวิสัยทัศน์ หรือ แผนที่ชีวิต ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ภาพลักษณ์ของแสงสว่างและเกลือ น่าสนใจ และกระตุ้นใจเรา ไม่มีใครอยู่เพื่อตนเอง แสงสว่างจะไม่ดีถ้าไม่มีใครใช้ประโยชน์มัน ดังที่พระวรสารบอกเรา “ไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วเอามาวางไว้ใต้ถัง (ซ่อนไว้) แสงสว่างมีความหมายชนะความมืด ไม่ควรเอาไปซ่อนไว้ เกลือก็เหมือนกันไม่มีประโยชน์ถ้าหมดรสเค็ม
ดังนั้นความเชื่อของเราไม่มีคุณค่าถ้ามีเพื่อเราเท่านั้น ถ้าเรามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระเจ้า โดยอาศัยการภาวนาและมิสซานี้ พระเจ้าประทานกำลังให้เราเข้มแข็ง และจึงต้องออกไปแบ่งปันความเชื่อกับผู้อื่น ทำเช่นนี้ เราจึงปฏิบัติตามคำสั่งของพระวรสาร เรื่องการเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า และนำพระสิริรุ่งโรจน์มาสู่พระเจ้า
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(มกราคม-มีนาคม 2017), หน้า 56-58.
อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา 22 มกราคม 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 20 มกราคม 2560 06:17
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 606
อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา
22 มกราคม 2017
บทอ่าน อสย 8:23-9:3 ; 1 คร 1:10-13, 17 ; มธ 4:12-23
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 878, 1720, 1989
จุดเน้น เพราะพระคริสตเจ้าเป็นหนึ่ง ดังนั้นพระศาสนจักร พระกายของพระองค์ก็เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย
คำทำนายในพระคัมภีร์หลายตอนมีเนื้อหาสาระหนึ่งสำหรับอนาคตใกล้ และอีกด้านหนึ่งมุ่งถึงอนาคตไกล เนื้อหาสาระของประกาศกอิสยาห์เป็นตัวอย่างเรื่องที่ว่านี้
ประกาศกอิสยาห์มีชีวิตในยุคมืด คือมีสงครามในประเทศระหว่างบรรดาโอรสของกษัตริย์ซาโลมอน ที่ได้แบ่งประชาชนอิสราเอลออกเป็น 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรอิสราเอลภาคเหนือ และอาณาจักรยูดาห์ภาคใต้ ยุคมืดต่อเนื่องไปจนชาวอัสซีเรียมาบุกชนะและอาณาจักรเหนือต้องถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ในช่วงถูกยึดครองและในแดนเนรเทศ ชาวอิสราเอลของอาณาจักรเหนือได้แต่งงานกับคนต่างชาติและยอมรับประเพณีต่างๆ ของพวกเขา ทำให้แปลกแยกไปจากชาวอิสราเอลภาคใต้ พฤติกรรมไม่ถูกต้องตามประเพณีและละเมิดธรรมบัญญัติโมเสส
ประกาศกอิสยาห์รอคอยกษัตริย์องค์ใหม่ ผู้นำการเยียวยารักษา และรวมอาณาจักรทั้ง 2 ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำทั้ง 12 เผ่าของอิสราเอลให้กลับมารวมกัน อิสยาห์เตรียมบรรดาประชากรของพระเจ้าเพื่อต้อนรับจอมราชา ผู้ช่วยไถ่กู้ทั้งชาวยิวและคนต่างความเชื่อ ให้ “ประชากรที่เดินในความมืด แลเห็นความสว่างยิ่งใหญ่”
ประกาศกอิสยาห์ได้หวังเห็นความปรองดองกัน และมีความรักสามัคคีของประชาชน ดังที่นักบุญเปาโลอัครสาวกเขียนถึงชาวโครินธ์ เกี่ยวกับความแตกแยกทำลายชุมชนคริสตชนที่เพิ่งตั้งใหม่ๆ เมืองโครินธ์เป็นเมืองท่าของกรีซ ประชาชนมาจากทั่วโลก เปาโลและบาร์นาบัสต้องการนำประชาชนฐานะต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันได้ อาศัยพระวาจาพระเจ้า ในสมัยนั้นบรรดาผู้ที่ได้ล้างบาปแล้วหลายคนได้หันไปสนใจเรื่องผิดๆ ต่อความเชื่อ ออกนอกหนทางชีวิตคริสตชน นักบุญเปาโลจึงเตือนใจพวกเขาให้กลับมาคืนดีกันในพระเยซูคริสตเจ้า
พระวรสารนักบุญมัทธิววันนี้ ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าติดตามข่าวเรื่องนักบุญยอห์น บัปติส ถูกจับกุม แต่พระองค์มิได้เข้าไปในเมืองสะมาเรียทางภาคเหนือ หมายความว่า... พระองค์กำลังสอนบรรดาอัครสาวกให้ปฏิบัติ คือ สลัดฝุ่นของกรุงเยรูซาเล็มจากเท้า เพราะเหตุว่า ประชาชนที่นั่นไม่สนใจพระวรสาร และไม่สนใจผู้ที่พระเจ้าส่งไปเทศน์สอน
นักบุญมัทธิวสอนชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อให้คำทำนายในบทอ่านแรกสำเร็จสมบูรณ์ นำความรอดพ้นมาสู่ชนต่างชาติ เราก็ได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสแก่นของพันธกิจว่า จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว นักบุญยอห์น บัปติส ก็ได้พูดประโยคนี้ ท่านมาเตรียมทางให้พระเยซูเจ้า พระองค์เสด็จมาเพื่อช่วยไถ่กู้เรา
พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาอัครสาวกแต่ละคน พระองค์ทรงรู้จักพวกเขาได้อย่างไร พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พวกเขาจึงละทุกสิ่ง ติดตามพระองค์ พวกเขาทำได้อย่างไร บรรดาบรรพบุรุษได้รอคอยเหตุการณ์นี้มานาน และบัดนี้พวกเขาเห็นว่าคำทำนายสำเร็จเป็นจริงในชายผู้นี้ที่ยืนต่อหน้าพวกเขา ที่ชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี
โดยอาศัยทั้งพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราทีละคน พระองค์ทรงเรียกเราให้ติดตามพระองค์ เราภาวนาขอให้เราละทิ้งทุกสิ่ง และทำตามที่พระองค์ทรงบอกเรา
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(มกราคม-มีนาคม 2017), หน้า 33-34.