อาทิตย์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา 9 กรกฎาคม 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 05 กรกฎาคม 2560 02:18
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 652
วันอาทิตย์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา
9 กรกฎาคม 2017
บทอ่าน ศคย 9:9-10 ; รม 8:9, 11-13 ; มธ 11:25-30
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 151, 153, 240, 443, 459, 473, 544, 1615, 1658, 2603, 2701, 2779, 2785
จุดเน้น ให้เราพยายามดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า มิใช่ตามธรรมชาติ
พี่น้องเคยสังเกตไหมว่ามีอะไรควบคุมจิตใจเรา และมีอะไรนำชีวิตเรา บางทีเป็นโฆษณาล่าสุดเกี่ยวกับรถคัน บางทีคือการแสวงหาอุปกรณ์เทคโนโลยีล่าสุด บางทีอารมณ์ของเราได้รับผลกระทบจากชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของทีม (ฟุตบอล) โปรดของเรา เราอาจหลงหวั่นไหวง่ายๆ ด้วยนักพูดมีพลัง ความเคลื่อนไหวทางสังคมเร็วๆ นี้ หรือโดยแนวโน้มบางประการจากสื่อสังคม
นานๆเราจึงจะพบความอิ่มใจจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ เพราะเครื่องมือเทคโนโลยีก็กลายเป็นล้าสมัย แฟชั่นต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลง ข่าวต่างๆ เดี๋ยวผู้คนก็ลืม นักกีฬาที่มีชื่อเสียง อายุจะมากขึ้น และเรื่องราวแต่ละชั่วโมงก็จะจืดจางไปในประวัติศาสตร์
แล้วเราควรไว้วางใจในอะไร เราจะทุ่มเทพลังของเราไปไหน นักบุญเปาโลเตือนเรามิให้ดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ แต่ตามพระจิตเจ้า และพระองค์ พระจิตเจ้านำเราไปไหน ไปหาพระคริสตเจ้า และพระคริสตเจ้าทรงนำเราไปไหน ไปหาพระบิดา
อะไรครอบครองชีวิตของพระคริสต์ พระองค์ได้เสด็จมาในโลกนี้แสวงหาชื่อเสียงและอำนาจหรือ เปล่าเลย ประกาศกเศคาริยาห์ได้ให้ข้อสังเกตว่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่นี้สุภาพ ประทับบนหลังลา พระองค์จะกำจัดดาบและรถศึก และประกาศสันติภาพแก่นานาชาติ ผลที่ตามมาคือ การปกครองของพระองค์แผ่จากทะเลนี้ไปถึงทะเลโน้น... ไปถึงสุดปลายแผ่นดิน พระคริสตเจ้าเสด็จมาเพื่อนำสันติภาพ พระองค์มาประกาศสารแห่งความรักและเมตตาธรรมของพระเจ้า พระองค์ทรงหาทางแก้ไขความคิดของชาวฟาริสี พระองค์เด็จมาหาคนบาป และทรงรักผู้ถูกทอดทิ้ง คุณลักษณะเช่นนี้พบได้ในใจของคนสุภาพเท่านั้น
พระเยซูเจ้าทรงภาวนาอย่างไร ก่อนใดหมด พระองค์ทรงสรรเสริญพระบิดาเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน พระองค์รับรู้ว่าพระเจ้าทรงทำอะไร ทรงมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง นี่เป็นการภาวนาออกเสียง จริงใจ เป็นแบบอย่างสำหรับบรรดาศิษย์ทุกคนให้ปฏิบัติตาม
พระเยซูเจ้าทรงสอนอะไร พระองค์สอนชัดเจนว่า ทรงเป็นบุตรของพระบิดา ทรงนอบน้อมพระประสงค์พระบิดา เพื่อสันติภาพ การให้อภัยและความรัก
ดังนั้น ชีวิตของเรามีอะไรเป็นหลัก เพื่อนๆและครอบครัวจะจดจำชีวิตของเราอย่างไร พระเจ้าจะตัดสินเราอย่างไร เราใช้เวลาอย่างไรในชีวิต เราพยายามแสวงหาสันติภาพและปฏิบัติเมตตาธรรมหรือ คำภาวนาของเราเป็นการสรรเสริญหรือวอนขอสิ่งที่ต้องการ คำพูดของเราสะท้อนข่าวดีแห่งพระวรสาร หรือไม่สนใจปฏิบัติทั้งในการพูดและการกระทำ
หากเราวางใจในพระเจ้าด้วยความอ่อนโยนสุภาพจริงๆ เราจะพบว่าแอกของพระองค์อ่อนนุ่ม ภาระก็เบา เราจะพบสันติสุขในพระองค์
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน 2017), หน้า 299-301.
สมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลอัครสาวก 2 กรกฎาคม 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 28 มิถุนายน 2560 08:49
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 598
วันสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลอัครสาวก
2 กรกฎาคม 2017
บทอ่าน กจ 12:1-11 ; 2 ทธ 4:6-8, 17-18 ; มธ 16:13-19
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 153, 424, 440, 442, 552, 553, 586, 869, 881, 1444, 1969
จุดเน้น การเชื่อในพระเจ้า หมายความถึง การไม่มีข้อสันนิษฐานใดเกี่ยวกับพระองค์ และการหวังสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราสามารถคิดได้
การสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างพระเยซูเจ้าและนักบุญเปโตร ที่ได้รายงานในพระวรสารวันนี้ เป็นสิ่งสำคัญ เปโตรเป็นชาวยิว และบรรดาชาวยิวเชื่อว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาหาพวกเขาในลักษณะมีอำนาจบารมียิ่งใหญ่ที่ปราบศัตรูได้ พระเยซูเจ้าได้เผยแสดงแก่เปโตรและบรรดาอัครสาวกว่า พระองค์กำลังเสด็จสู่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับทุกข์ทรมานและสิ้นพระชนม์ จะถูกทำให้ขายหน้าและพบการปฏิเสธ เปโตรจะเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระเมสสิยาห์ที่ได้รับการสัญญาได้อย่างไร นี่เป็นการท้าทายสำหรับเปโตร เขาต้องจัดการข้อสงสัยนี้
นี่อาจเป็นปัญหาข้อสันนิษฐานของเราเองเกี่ยวกับพระเจ้า เราหวังว่าพระเจ้าควรทำอะไรใช่ไหม บางคนปฏิเสธพระเจ้า เพราะพระองค์ไม่ทำโลกในวิธีที่พวกเขาต้องการ พระเจ้ายอมให้มีความชั่วได้อย่างไร ทำไมพระเจ้าทำสิ่งนี้ ทำไมพระองค์ทำสิ่งนั้น ประชาชนหลายคนไม่เชื่อพระเจ้า เพราะพระองค์ไม่ทำอะไรตามที่พวกเขาสันนิษฐาน (ต้องการ)
เมื่อมีอะไรเกิดตามข้อสันนิษฐาน บางทีเราควรพิจารณาวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น เราทำกับพวกเขาอย่างไร หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามความคาดหวังของเรา เราสรุปว่าพวกเขาคิดแบบที่เราคิดไหม เราสันนิษฐานไม่เหมาะหรือไม่แม่นยำชัดเจน เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นไปในตัวเขา พวกเขารู้สึกเหมือนเรารู้สึกไหม ถ้าไม่ เราปฏิเสธพวกเขาใช่ไหม
เปโตรได้สงสัย มีความยากลำบาก และได้ละทิ้งพระเยซูเจ้าระหว่างมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ แต่พระเยซูทรงรู้ว่ามีอะไรในใจของเขา
เช่นเดียวกันกับนักบุญเปาโล ในที่สุดเขาได้ทิ้งข้อสงสัยของตนทั้งหมดเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า จนกลายเป็นอัครสาวกสำหรับคนต่างความเชื่อ ตามประเพณีบอกเราว่าทั้งเปาโลและเปโตรได้ทนทุกข์จนเป็นมรณสักขีที่กรุงโรม และกลายเป็นผู้ก่อตั้งพระศาสนจักร ซึ่งถูกสร้างบนศิลามั่นคงแห่งความเชื่อของท่านทั้งสอง
ให้เราพยายามปล่อยวางข้อสันนิษฐาน (ข้อสงสัย) เกี่ยวกับพระเจ้า และติดตามพระองค์ บนหนทางที่พระองค์ทรงเลือกให้เรา มิใช่สิ่งที่เรากำลังคาดหวัง
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน 2017), หน้า 283-285.
สมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า 18 มิถุนายน 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 14 มิถุนายน 2560 07:15
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 673
วันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า
18 มิถุนายน 2017
บทอ่าน ฉธบ 8:2-3, 14-16ก ; 1 คร 10:16-17 ; ยน 6:51-58
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 728, 787, 994, 1001, 1355, 1384, 1391, 1406, 1509, 1524, 2837
จุดเน้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์”
สัญลักษณ์แห่งเอกภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ดูเหมือนจะสร้างความขัดแย้งมากที่สุด ท่ามกลางบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าได้อย่างไร ความไม่ลงรอยกันคงอยู่แม้ภายในคณะต่างๆ และนิกายต่างๆ ทุกคนต่างประกาศยืนยันว่าติดตามพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพเหมือนกัน
ข้อความเชื่อในพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ทำให้เกิดการโต้เถียง แม้ย้อนหลังไปในสมัยของพระเยซูเจ้าเอง ตามที่ได้ไตร่ตรองจากพระวรสารวันนี้ บางคนผู้ได้ติดตามพระเยซูเจ้าจนถึงจุดนี้จะเดินจากไป สาเหตุเพราะเรื่องนี้เข้าใจหรือเชื่อยากมาก
ไม่มีปัญหา นี่เป็นเรื่องความเชื่อลึกซึ้ง สำหรับพี่น้องสัตบุรุษ (ผู้มีความเชื่อ) เรื่องนี้ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน หากเราเชื่อพระเยซูเจ้าได้ทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น และได้ทรงเลี้ยงประชาชนห้าพันคน หากเราเชื่อพระเยซูเจ้าทรงทำให้คนตายกลับมีชีวิต และทรงกลับคืนพระชนมชีพเองจากคูหา ทำไมเรื่องนี้จะยากสำหรับเรา หรือใครๆ ว่าพระเยซูเจ้าเองจริงๆ ประทับอยู่ในการบิปัง และแบ่งปันถ้วยนั้น
บางทีพระเยซูเจ้าทรงทำให้มันง่ายเกินไปสำหรับเรา บางทีพระองค์น่าจะให้ใครสักคนที่ต้องการรับศีลมหาสนิท ต้องเดินลุยไฟด้วยเท้าเปล่า หรือเดินบนแก้วแตก ให้ประสบการณ์เจ็บปวดมากๆ พิสูจน์ความเชื่อแท้และความเหมาะสมก่อน จะได้เห็นว่า เราต้องออกแรงจึงเหมาะสมรับพระพรนี้
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าไม่ได้ทำอย่างนี้ พระองค์ทรงทำสิ่งมีค่าเป็นราคาของการเป็นศิษย์ของพระองค์ มันจะเจ็บปวดและมีความทุกข์ด้วย แต่ไม่ใช่มาจากพระองค์ แต่มาจากโลก (สังคม) ที่เราอาศัยอยู่
สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เรา เป็นอาหารที่เหลือเชื่อสำหรับการเดินทาง (ชีวิต) นี้ พระเยซูเจ้าทรงมอบพระวรกายและพระโลหิตของพระองค์ให้เรา นี่เป็นของขวัญประเสริฐที่น่าเคารพนมัสการ เราต้องให้ความสนใจ
ไม่ว่าเราเชื่อพระวาจาของพระองค์ หรือไม่ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้ จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้ คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต” ในฐานะผู้มีความเชื่อ ขอให้เราเชื่อพระองค์เถิด
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(เมษายน-มิถุนายน 2017), หน้า 267-268.
อาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา 25 มิถุนายน 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 21 มิถุนายน 2560 03:58
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 685
วันอาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
25 มิถุนายน 2017
บทอ่าน ยรม 20:10-13 ; รม 5:12-15 ; มธ 10:26-33
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 14, 305, 363, 1034, 1816, 2145
จุดเน้น เมื่อรับศีลล้างบาป เราถูกเรียกให้เป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อ
ทุกยุคทุกสมัย พระคริสต์และพระศาสนจักรถูกเบียดเบียนมาตลอด แม้คำสอนของพระองค์เรื่องความรัก และความสงสาร (หรือบางทีเพราะสาเหตุนี้เอง) บรรดาผู้นำและประชาชนได้สบประมาทพระเยซูเจ้า แม้เวลาสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และการกลับคืนพระชนมชีพก็มิได้ชนะใจทุกคนว่า พระองค์ทรงเป็นบุตรพระเจ้า เป็นพระเมสสิยาห์ที่พวกเขารอคอย ศิษย์บางคนได้ละทิ้งพระองค์ บรรดาอัครสาวกได้พบกับการถูกเยาะเย้ยและความตาย บรรดาคริสตชนสมัยแรกนับไม่ถ้วนถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขียืนยันความเชื่อ มีกลุ่มศาสนาแตกแยกทางความเชื่อและข้อปฏิบัติทางพิธีกรรม มีสงครามการต่อสู้กัน เช่น สงครามครูเสด มีทหารรับจ้างมาทำสงคราม แย่งชิงอาณาจักรฝ่ายโลก มีความแตกแยกในศาสนา และแนวความคิดทางการเมือง
วันนี้ เราพบประกาศกเยเรมีย์ พระเจ้าได้เรียกท่านขณะยังเป็นหนุ่มให้เป็นประกาศก ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ทูลเสนอคดีของข้าพเจ้าให้ทรงทราบแล้ว” แม้ถูกจับคุมขัง ถูกเฆี่ยน ถูกข่มขู่จากศัตรู บรรดาผู้เคยเป็นมิตร และวิกฤติภายในใจตนเอง เยเรมีย์ก็ยังคงซื่อสัตย์มั่นคง เพราะท่านรู้ว่าพระเจ้าทรงอยู่ข้างท่านเหมือนนักรบทรงพลัง
นักบุญเปาโลเตือนใจชาวโรมว่า อาดัมได้นำบาปและความตายเข้ามาในโลก และดังนั้นความตายก็แพร่กระจายไปถึงมนุษย์ทุกคน เพราะทุกคนทำบาป ท่านได้เปรียบเทียบผลความไม่เชื่อฟังของอาดัมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า กับการเชื่อฟังอย่างสิ้นเชิงของพระคริสตเจ้าต่อพระประสงค์ของพระบิดา และผลนั้นมนุษยชาติแต่ละคนก็ได้รับ คนหนึ่งเป็นสาเหตุของสภาพแวดล้อมของมนุษย์ อีกคนหนึ่ง (พระเยซูเจ้า) เป็นแหล่งกำเนิดความรอดพ้น
หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา เราฟังเรื่องราวพระวรสารที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกบรรดาอัครสาวก ทรงแบ่งปันเรื่องความรักเมตตาของพระบิดากับพวกเขาแต่ละคน แต่ในเวลาเดียวกัน พระเยซูเจ้าก็รู้ว่าพวกเขาพบปะโลกที่เป็นศัตรูต่อคำสอนของพระเยซูเจ้า ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนพวกเขาต่อว่า อย่ากลัวมนุษย์เลย... จงกล่าวออกมาในที่สว่าง จงประกาศบนดาดฟ้า พระบิดาผู้ทรงดูแลนกกระจอกทรงคุ้มครองพวกเขา แต่เหนือสิ่งใด พวกเขาไม่ควรปฏิเสธพระคริสตเจ้าต่อหน้าคนอื่นๆ
เหมือนประกาศกเยเรมีย์และบรรดาอัครสาวก พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราด้วย เมื่อรับศีลล้างบาป เราได้กลายเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ โดยอาศัยพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และการสนับสนุนของชุมชนศริสตชนในเขตวัด เราก็ถูกเรียกให้แบ่งปันความเมตตา ความรักและความรอดพ้นโดยอาศัยพระเยซูคริสตเจ้า เราเผชิญกับสังคมที่อาจเป็นศัตรูกับศาสนาคริสต์ และไม่สนใจคำสอนนี้ ดังนั้น เราจะทำอย่างไร เราเคยเงียบเกินไปไหม อ่อนแอเกินไป ไม่สนใจข่าวสารข้อมูลเกินไป เราจะยืนขึ้นประกาศวัฒนธรรม (ที่พระเยซูเจ้าสอน) หรือเราจะยอมแพ้ต่อการประจญต่างๆ เราเคยปฏิเสธพระคริสตเจ้าต่อหน้าคนอื่นๆ ไหม ให้เราภาวนาต่อไป ขอพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าสนับสนุนเรา เพื่อเราจะเป็นประจักษ์พยานดีขึ้นต่อความจริงแห่งพระวรสาร และความรอดพ้นต่อสังคมที่ต้องการฟัง
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(เมษายน-มิถุนายน 2017), หน้า 277-279.
สมโภชพระตรีเอกภาพ 11 มิถุนายน 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันเสาร์, 10 มิถุนายน 2560 02:19
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 857
วันสมโภชพระตรีเอกภาพ
11 มิถุนายน 2017
บทอ่าน อพย 34:4ข-6, 8-9 ; 2 คร 13:11-13 ; ยน 3:16-18
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 219, 444, 454, 458, 679, 706,
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร (CSDC) 3, 64
จุดเน้น พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพ สัมพันธ์ในธรรมล้ำลึกของมนุษยชาติ
ในบ้านเณรในอดีต มีการสอนเป็นภาษาลาติน อาจารย์ใช้เวลาทั้งปีสอนข้อความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพ บรรดานักศึกษาเข้าใจเนื้อหายาก ทั้งเพราะภาษาและสาระเนื้อหาที่ต้องทำความเข้าใจ วันเรียนสุดท้ายก่อนสอบ อาจารย์สรุปเนื้อหาให้ บรรดานักศึกษากังวลใจเรื่องเตรียมการสอบมาก อาจารย์ก็อ้างว่า วิชานี้เรื่องพระตรีเอกภาพเป็นธรรมล้ำลึกประการหนึ่ง
ใช่แล้วครับ ไม่ว่าบรรดานักวิชาการพระคัมภีร์พยายามให้คำนิยาม และอธิบายเกี่ยวกับพระเจ้าหนึ่งเดียวมีสามพระบุคคลอย่างไร ก็ยังเป็นธรรมล้ำลึกเกินความสามารถของเราที่จะเข้าใจได้ กระนั้นก็ดี ความเชื่อในพระเจ้า พระบิดา พระบุตร และพระจิต เป็นสัจธรรมสำคัญที่สุดของความเชื่อคริสตชนคาทอลิก มีคำสอนและความเข้าใจผิดๆ มากมายเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพ ตลอดเวลาที่ผ่านมา... สัจธรรมข้อนี้เป็นธรรมล้ำลึกพระเจ้าของเราเป็นอยู่เสมอ และสถิตอยู่ทุกหนแห่ง ...พระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคล
ในบทอ่านจากหนังสืออพยพ พระเจ้าทรงฟื้นฟูพันธสัญญากับโมเสส ประชาชนที่ได้รับเลือกสรรมิได้ปฏิบัติพระบัญญัติประการแรก ด้วยการนมัสการวัวทองคำ ในข้อความก่อนหน้านี้ โมเสสโกรธมาก ได้ทุ่มแผ่นศิลาจนแตก (อพย 32:19) แต่พระเจ้าทรงเผยแสดงพระเมตตา กริ้วช้า และซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญา มิได้ยกเลิก แต่ได้รื้อฟื้นพันธสัญญา และมอบแผ่นศิลาจารึกพระบัญญัติชุดที่สอง และทรงให้อภัยประชาชน
พระเจ้าพระบิดาทรงรื้อฟื้นพันธสัญญากับเรา พระศาสนจักรทรงให้อภัย โดยพระบุตรปฏิบัติกิจการไถ่กู้ โดยอาศัยพลังของพระจิต ความรักของพระเจ้าเผยแสดงในความรักแบบตรีเอกภาพ คือ ทั้งสามพระบุคคลปฏิบัติกิจการเพื่อช่วยเหลือเราในชีวิตนี้ และช่วยเราให้บรรลุชีวิตนิรันดร ซึ่งเป็นแผนการยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและจุดมุ่งหมายเพื่อเราทุกคน
พระเจ้าทรงแสดงพระองค์เป็นบิดาแห่งเมตตาธรรม ในพระบุตรแต่องค์เดียว ในฐานะพระผู้ไถ่ และในพระจิต ฐานะผู้ฟื้นฟูความรักของพระองค์เพื่อเรา และยอมเราให้ทำเช่นเดียวกันสำหรับพระองค์ และสำหรับกันและกัน ธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพสัมพันธ์กับธรรมล้ำลึกของมนุษย์ เมื่อเรารู้ว่าพระเจ้าเป็นใคร เราก็จะรู้จักตนเองและรู้จักกัน เราเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างเราให้เหมือนพระตรีเอกภาพ ความรักที่เรามีต่อกัน ควรมองรูปแบบความรักที่พระบิดา พระบุตร และพระจิต
วันนี้ นักบุญเปาโลสรุปจดหมายถึงชาวโครินธ์ ให้เรารับพรของพระตรีเอกภาพ เราเริ่มต้นมิสซาโดยใช้คำพูดที่ใช้สรุปจดหมายว่า “ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอความรักของพระเจ้า และความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้าสถิตกับทุกท่าน” ขอความรักยิ่งใหญ่ของพระตรีเอกภาพช่วยเราให้ดำเนินชีวิตอย่างสันติ ให้กำลังใจกัน และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสมอ
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(เมษายน-มิถุนายน 2017), หน้า 256-257.