อาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา 17 กันยายน 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 15 กันยายน 2560 06:49
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 565
วันอาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
17 กันยายน 2017
บทอ่าน บสร 27:30-28:7 ; รม 14:7-9 ; มธ 18:21-35
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 982, 2227, 2843, 2845
จุดเน้น พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ยกโทษผู้อื่น เหมือนเราได้รับอภัยโทษจากพระเจ้า
เราส่วนใหญ่มีหนี้สินทางการเงินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน เช่นอาจเป็นการจำนอง หรือ ผ่อนรถยนต์ บางทีมีเงินกู้เพื่อการศึกษา เราคุ้นเคยกับหนี้สิน เราคุ้นเคยกับการได้รับเอกสารเตือนเราให้ชำระหนี้ แน่นอน สิ่งหนึ่งที่เรากลัวมาก คือ เรายังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดไว้
ลองคิดดู เมื่อไปที่ตู้จดหมาย และเห็นโน้ตบอกว่า มีคนชำระหนี้ทั้งหมดของคุณแล้ว ชำระให้ทั้งหมด พี่น้องจะรู้สึกอะไร
จงคิดถึงพระวรสารวันนี้ หนี้สินของผู้รับใช้ใหญ่มาก (พันล้านบาท) กษัตริย์ทรงยกหนี้ให้ ขณะที่ผู้รับใช้ออกไปด้วยความบรรเทาใจ เขาไม่ได้เข้าใจดีๆ เขาต้องยกหนี้ของผู้อื่นด้วย ดังที่กษัตริย์ใจดีเพิ่งยกหนี้ให้เขา นี่เป็นสิ่งสอนใจเราทุกคน ตระหนักในพระเมตตายิ่งใหญ่ของพระองค์ พระเจ้าทรงอภัยบาปของเรา ดังนั้น พระองค์ทรงขอให้เรารู้จักให้อภัยผู้อื่นเช่นกัน
เรารู้ว่าเราจะอึดอัดที่จะเน้นความบกพร่อง ความอ่อนแอของเรา แต่เราชอบเน้นถึงส่วนดีในตัวเรามากกว่า อย่างไรก็ดี เราต้องหยุดคิดถึงข้อเท็จจริงที่เรากระทำบาป ตอนเริ่มพิธีมิสซา เรายอมรับข้อเท็จจริงนี้ เราจึงวอนขอพระเมตตาและการอภัยจากพระเจ้า เมื่อเราสวดขอสารภาพ เราตระหนักว่า พระเมตตาของพระเยซูเจ้าช่างมหัศจรรย์ เรารู้ไม่เพียงแต่ที่เราได้รับการอภัย แต่เราต้องใจกว้างในการให้อภัยผู้อื่นด้วย
พระวรสารวันนี้ เราได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวกับการยกโทษ เราต้องยกโทษมิใช่เพียงครั้งเดียว ไม่ใช่แค่ 7 ครั้ง แต่ 7 ครั้ง 70 หน พระองค์ทรงสอนให้เรายกโทษเสมอๆ เหมือนดังที่กษัตริย์ทรงยกโทษผู้รับใช้คนนั้น เหมือนดังพระเจ้าทรงยกโทษเราแต่ละคน
พระเยซูเจ้าทรงนำทางนี้คือ ทรงยกโทษสตรีที่ถูกจับได้ว่าผิดประเวณี ทรงยกโทษโทมัสช่างสงสัย ทรงให้อภัยเปโตรที่ปฏิเสธพระองค์ถึง 3 ครั้ง พระเยซูเจ้าทรงยกโทษบาปให้เรา โลกของเราจะแตกต่างจากที่เป็นอยู่ ถ้าเรารู้จักยกโทษกันสม่ำเสมอ
เราร่วมพิธีมิสซาวันนี้ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แรกแห่งการให้อภัย เรารับรู้หนี้สินของเรา ทรงยกหนี้ให้เรา ดังนั้น เราออกไปสู่สังคม เราต้องใจดี มีเมตตา กล่าวคือ รัก และให้อภัยผู้อื่นด้วย
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน 2017), หน้า 408-409.
อาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา 10 กันยายน 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 08 กันยายน 2560 02:29
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 563
วันอาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา
10 กันยายน 2017
บทอ่าน อสค 33:7-9 ; รม 13:8-10 ; มธ 18:15-20
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 553, 1088, 1373, 1444, 2472
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร (CSDC) 52
จุดเน้น การตักเตือนกันแบบพี่น้อง
พระวรสารบอกเล่าประสบการณ์แห่งความเชื่อของชุมชนคริสตชน ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารสังกัดอยู่
การได้สมาชิกของพระศาสนจักรกลับคืนมา
พระวรสารนักบุญมัทธิวเน้นวิธีการชัดเจน ทุกขั้นตอนของนักบุญมัทธิว เราเห็นประสบการณ์ของชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ความยากลำบาก ข้อกำหนด ข้อขัดแย้ง และความหวัง ดังนั้นหัวข้อหลักของพระวรสารวันนี้เกี่ยวกับการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้า บทอ่านวันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนถึงประสบการณ์ของพระศาสนจักร จากภูมิหลังของพระวรสารนักบุญมัทธิว
เมื่อสมาชิกของชุมชนทำบาป คือไม่ทำตามบทบาทศิษย์พระเยซูเจ้า สมาชิกคนอื่นควรตักเตือนให้ตระหนักถึงแนวทางพระวรสาร จุดประสงค์นี้ชัดเจน คือเชิญชวนคนนั้นให้กลับใจ หันกลับมาสู่หนทางศิษย์พระคริสตเจ้า (วรรคที่ 15) ถ้าไม่สำเร็จ ต้องหาพยานอีก 1 หรือ 2 คนมายืนยัน (วรรคที่ 16) ในที่สุด พระศาสนจักรต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ (วรรคที่ 17) การเป็นคริสตชนก็ต้องปฏิบัติตามข้อคำสอนทางศีลธรรม เพื่อบรรลุถึงพระอาณาจักรสวรรค์ ชุมชนต้องรับผิดชอบให้สมาชิกซื่อสัตย์ต่อพระประสงค์ของพระบิดา ความรักเรียกร้องเราให้สนใจความผิดพลาดของสมาชิก เราต้องตักเตือนกัน เพื่อ “พวกเขาจะได้หันออกไปจากหนทางผิด” (เทียบ อสค 33:9)
การทำตามบัญญัติอย่างครบถ้วน
เราพบเรื่องละเอียดอ่อน ยากที่จะจัดการได้ แต่พ่อขอเน้นว่าจำเป็น เพราะเราเป็นชุมชนของพระศาสนจักร และรับผิดชอบร่วมกัน ยกตัวอย่างในสังคมปัจจุบัน ประชาชนยากจนและมีการคอรัปชั่น ไม่ค่อยซื่อสัตย์สุจริต เราเป็นคริสตชนต้องร่วมรับผิดชอบงานของชุมชนศิษย์พระคริสต์ (เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่) พระเยซูเจ้าทรงประกาศพระอาณาจักรแห่งชีวิตแก่ทุกคน และเป็นพิเศษแก่ผู้ยากไร้ที่ถูกกดขี่มากที่สุด ถ้าชุมชนของเราไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระคริสตเจ้า เราก็กลายเป็นคนอุ่นๆ เฉยๆ
วรรคท้ายๆ ในพระวรสารของนักบุญมัทธิว และจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม 13:8-10 สอนเราให้เห็นความหมายลึกซึ้งว่า “ความรักเป็นการปฏิบัติตามบัญญัติอย่างครบถ้วน” การตักเตือนกันแบบพี่น้องต้องทำอย่างน่ารัก เราเป็นชุมชน มีการสวดภาวนา ขอพระบิดา ผู้เป็นรากฐานของทุกสิ่งและทุกการกระทำ เรามั่นใจว่า พระองค์อยู่ท่ามกลางเรา (วรรคที่ 19-20) เหตุผลสูงสุดที่ควรตักเตือนสมาชิก คือ ความรักต่อเพื่อนบ้าน แต่เรามักหลีกเลี่ยง สาเหตุเพราะความขลาด นักบุญเปาโลจึงบอกเราว่า “ความรักเป็นการปฏิบัติบัญญัติอย่างครบถ้วน” ความรักเพื่อนบ้านเรียกร้องให้เราเอาชนะความไม่แยแส และเอาชนะการชอบหลีกเลี่ยงปัญหาของเรา
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustaro Gutierrez, หน้า 216-217.
อาทิตย์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา 27 สิงหาคม 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 22 สิงหาคม 2560 01:50
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 626
วันอาทิตย์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา
27 สิงหาคม 2017
บทอ่าน อสย 22:19-23 ; รม 11:33-36 ; มธ 16:13-20
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 153, 424, 440, 442, 552, 553, 586, 869, 881, 1444, 1969
จุดเน้น พระเจ้าทรงไว้วางใจมอบกุญแจให้เรามีส่วนสร้างอาณาจักรพระเจ้า
การมอบกุญแจเป็นการแสดงท่าทางสัญลักษณ์ แม้ในโลกปัจจุบัน เช่นการมอบกุญแจรถแก่คนขับรถคนใหม่ แสดงว่าไว้วางใจเขา ถึงแม้พวกเขาไม่มีประสบการณ์และอาจน่าตกใจที่ทำเช่นนี้ การมอบกุญแจบ้านก็หมายความว่า คุณไว้วางใจคนนั้นให้ดูแลรับผิดชอบระยะเวลาสั้นๆ หรือหมายความว่า มอบกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของให้เขาเลย
การใช้สัญลักษณ์กุญแจและอำนาจเป็นแนวคำสอนบทอ่านวันนี้ บทอ่านแรก ประกาศกอิสยาห์ประกาศการตัดสินของพระเจ้าแก่เชบนา เขาเป็นหัวหน้าราชสำนักของกษัตริย์เฮเซคียาห์ ได้ใช้ประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่สร้างหลุมฝังศพตนเอง เขาได้แนะนำกษัตริย์ให้วางใจสติปัญญาของมนุษย์ มากกว่าวางใจในพระปรีชาญาณของพระเจ้า เชบนาจึงร่ำรวยขึ้นในยุคนั้น ใช่จ่ายมากมายโดยไม่สนใจความต้องการของคนจน ดังนั้นพระเจ้าจึงถอดเชบนาและทรงเลือกเอลียาคิมมาแทน ทรงมอบกุญแจราชวังของกษัตริย์ดาวิด (ราชวงศ์ของพระเยซูเจ้า) ไว้บนบ่าของเอลียาคิม
คำกล่าวของประกาศกอิสยาห์ต่อเขาและต่อชาวยิว ชัดเจน พระเจ้าทรงมอบอำนาจแก่บรรดาผู้นำตามพระบัญชาของพระองค์ พระเจ้าทรงถอดอำนาจออกจากบรรดาผู้สนใจประโยชน์ของตนก่อน โดยละเลยและหาประโยชน์จากความต้องการของบรรดาผู้อ่อนแอมากที่สุด
ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่า บุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” ซีโมนเปโตรประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” พระเยซูเจ้าทรงชม ตรัสตอบความตระหนักรู้ของเปโตรที่ว่าพระองค์มาจากพระบิดาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักร... เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้”
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอวยพรเปโตรที่รู้ว่าพระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระองค์มิได้เพียงแต่งตั้งเปโตรเท่านั้น แต่แต่งตั้งทั้งชุมชนของบรรดาศิษย์ ดังที่ฐานของพระศาสนจักร “บนศิลา แข็งแรง” ซึ่งจะสืบสานพันธกิจของพระองค์ ดังเช่นพระเจ้ากับเอลียาคิม พระองค์มอบกุญแจ มอบความไว้วางใจว่าพระเจ้าจะเป็นบ่อเกิดแห่งปรีชาญาณ ในการตัดสินใจต่างๆ ของพวกเขา
เราได้รับมอบความไว้วางใจด้วยกุญแจเช่นกัน กุญแจในหัวใจของกันและกัน กุญแจต่อความอ่อนแอของกันและกัน และโดยอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้าและศีลล้างบาป เราจึงมีหน้าที่ตามฐานะในการสร้างอาณาจักรพระเจ้า
ขอให้เราดำเนินชีวิตให้เหมาะสม และซื่อสัตย์ต่อความไว้วางใจนี้
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน 2017), หน้า 375-376.
อาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา 3 กันยายน 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสบดี, 31 สิงหาคม 2560 09:18
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 661
วันอาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
3 กันยายน 2017
บทอ่าน ยรม 20:7-9 ; รม 12:1-2 ; มธ 16:21-27
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 226, 363, 540, 554, 607, 618, 736, 1021, 1969, 2029, 2232
จุดเน้น จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวัน และติดตามพระเยซูเจ้า
“ลำบากก่อน สบายทีหลัง” เป็นประโยคธรรมดาที่เตือนใจเราถึงข้อเท็จจริงว่า การพลีกรรม เป็นสิ่งจำเป็นเสมอ เพื่อจะได้รับสิ่งที่สำคัญๆ คำกล่าว (สุภาษิต) นี้เป็นจริงเกี่ยวกับการทำให้ความรักของเราต่อพระเจ้าเติบโตงอกงามขึ้น และดำเนินชีวิตในฐานะศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูเจ้าด้วย
ในบทอ่านแรก ทำให้เราเห็นใจประกาศกเยเรมีย์ ท่านได้รับการทดลองและความทุกข์ เพราะท่านซื่อสัตย์ต่อการเรียกของพระเจ้าให้มาเป็นประกาศก คำพูดของเยเรมีย์ที่แรงและทำให้เราสะเทือนใจ คือ “พระองค์ทรงล่อลวงข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ยอมให้ถูกล่อลวง พระองค์ทรงพลังเหนือข้าพเจ้า และทรงมีชัยชนะ ข้าพเจ้าเป็นที่น่าหัวเราะวันยังค่ำ ทุกคนเยาะเย้ยข้าพเจ้า”
นี่มิใช่คำพูดของเยเรมีย์แสดงการยอมแพ้ แต่เป็นการแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจที่ท่านได้พยายามต่อสู้ และทำตามพระประสงค์ คือ ประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่ชาวอิสราเอล ให้ละทิ้งบาป และหันกลับมาปฏิบัติความเชื่อและไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า
ถึงแม้เยเรมีย์ได้รับทุกข์ เพราะเป็นประกาศกอย่างซื่อสัตย์ตามที่พระเจ้าทรงเรียก คำพูดของท่านก็แสดงออกชัดเจนด้วยว่า ท่านได้รับความยินดีที่ไม่สามารถอธิบายได้ ที่ซื่อสัตย์ต่อแผนการของพระเจ้าในชีวิต “ข้าพเจ้าพูดกับตนเองว่า ข้าพเจ้าจะไม่คิดถึงพระองค์ จะไม่พูดในพระนามของพระองค์อีก แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกเหมือนกับว่ามีไฟเผาอยู่ในใจ อัดอยู่ในกระดูกของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพยายามควบคุมไฟนี้ไว้จนอ่อนเปลี้ย แต่ก็ควบคุมไว้ไม่ไหว”
บทอ่านที่สองพูดถึงเครื่องบูชาว่าเป็นพื้นฐานสำหรับนำชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ และพระเจ้าทรงพอพระทัย นักบุญเปาโลเตือนใจเรามิให้คล้อยตามความประพฤติของโลกนี้ เราต้องตัดสินใจทุกวัน อย่าทะเยอทะยาน อยากได้ อยากใหญ่ เป็นที่หนึ่ง มากกว่าการซื่อสัตย์ต่อพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา
ที่สุด คำสอนของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา จงแบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา” อย่าสงสัยว่าการเสียสละเป็นพื้นฐาน ไม่มีการต่อรอง เพื่อเป็นศิษย์ที่ซื่อสัตย์ ดังนั้นหากเราต้องการดำเนินชีวิตในฐานะศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูเจ้า ได้รับประสบการณ์ มีสมบัติที่ใช้ไม่หมด และพระพรแห่งพระอาณาจักรพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น เราไม่มีตัวเลือกแล้ว นอกจากแบกไม้กางเขนของเราทุกวัน และติดตามพระเยซูเจ้า กล่าวคือ “ไม่ลำบากก่อน ก็ไม่มีทางสบายทีหลัง”
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน 2017), หน้า 386-387.
สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ 20 สิงหาคม 2017
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์ปี A
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 18 สิงหาคม 2560 02:10
- เขียนโดย พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์
- ฮิต: 651
วันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
20 สิงหาคม 2017
บทอ่าน วว 11:19ก, 12:1-6ก, 10 กข ; 1 คร 15:20-27 ; ลก 1:39-56
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 148, 273, 422, 448, 495, 523, 706, 717, 722, 971, 2097, 2465, 2599, 2619, 2675, 2676, 2807, 2827
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร (CSDC) 59
จุดเน้น พระมารดาทรงเป็นผู้สนับสนุนที่น่ารัก ผู้อยู่เคียงข้างพระคริสตเจ้า
ในวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ช่วยเราให้เข้าใจว่าพระเจ้าได้เตรียมพระมารดาอย่างไร เพื่อบทบาทพิเศษในความรอดพ้นของเรา เนื่องจากพระนางทรงปฏิสนธินิรมล และทรงนำพระเยซูเจ้าเข้ามาในโลก การที่พระนางมีส่วนร่วมทั้งชีวิตในแผนการของพระเจ้า ในที่สุดช่วยให้พระนางรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ เหตุการณ์ที่เราฉลองนี้เป็นรากฐานและรูปแบบแห่งการกลับคืนชีพในอนาคตของเรา
หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกอธิบายแบบนี้ว่า “เมื่อได้ดำเนินชีวิตอยู่บนแผ่นดินจนครบบริบูรณ์แล้ว ก็ได้รับการยกขึ้นสู่โรจนาการแห่งสรวงสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ และได้รับการเชิดชูจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้เป็นราชินีแห่งจักรวาล... การได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนางพรหมจารีมารีอา เป็นการมีส่วนอย่างพิเศษสุดในการกลับคืนชีพขององค์พระบุตร และเป็นการคาดหมายล่วงหน้าถึงการกลับคืนชีพของคริสตชนคนอื่นๆ อีกด้วย” (966)
การมีส่วนอย่างพิเศษสุดในการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้านี้ และการคาดหมายล่วงหน้าถึงการกลับคืนชีพของเรา บอกบางสิ่งที่มีความสำคัญมากเกี่ยวกับพระมารดาของเรา พระนางมิได้เป็นมารดาผู้ได้ออกห่างจากบรรดาลูก พระนางมิใช่แม่ผู้ไม่เข้าใจความเจ็บปวดและความทุกข์ของเรา พระนางเป็นแม่ที่เราสามารถหันมาพึ่งพายามต้องการได้ ฐานะที่เป็นราชินีแห่งจักรวาล พระมารดายังเป็นผู้สนับสนุนเคียงข้างพระคริสตเจ้า
ความรักนิรันดร์ของพระนางมารีย์สำหรับลูกๆ ยังคงช่วยเหลือเราในชีวิตปัจจุบัน ให้ทำแต่ละวันอย่างศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า แม้เราอาจเข้าใจแผนการของพระเจ้าไม่มากนัก แต่อาศัยการปฏิบัติด้วยความเชื่อ และปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสนจักร ยอมรับว่าพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์จริง
การไตร่ตรองบทบาทของพระนางมารีย์ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น เป็นยิ่งกว่าการบรรเทาใจเรา ไม่ใช่ความคิดสวยๆ ธรรมดาว่าพระนางมารีย์ได้รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ อันเนื่องมาจากพระหรรษทานพิเศษของพระนาง เรื่องนี้เป็นความจริงที่มีพลัง เราสามารถกล่าวเรื่องนี้ได้เหมือนการเลียนแบบการเสด็จสู่สวรรค์ของพระคริสตเจ้า แต่ยิ่งกว่านั้น เราได้รับผลของความสัมพันธ์ระหว่างพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง เราจำได้แม้ที่เชิงกางเขน พระเยซูเจ้าได้หันมาตรัสกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” และตรัสกับศิษย์ที่ทรงรักว่า “นี่คือแม่ของท่าน” เหตุการณ์นี้เราจึงเห็นว่า พระมารดาพรหมจารีมารีย์เป็นของขวัญจากพระคริสตเจ้า เป็นของขวัญที่งดงามจริงๆ
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน 2017), หน้า 357-358.