มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต 4 มีนาคม 2018

อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
4 มีนาคม 2018

บทอ่าน อพย 20:1-17 ; 1 คร 1:22-25 ; ยน 2:13-25

พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 473, 575, 583, 584, 586, 994

จุดเน้น ให้เราพยายามมีความเคารพใหม่ต่อบรรดาสิ่งสร้างของพระเจ้า

     พระวิหารและบริเวณล้อมรอบพระวิหารบนภูเขาที่กรุงเยรูซาเล็ม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับชาวยิวในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ซาโลมอน (970-931 ก่อน ค.ศ.) สถานที่นี้เป็นสถานที่แห่งการอธิษฐานภาวนา การจาริกแสวงบุญและการถวายบูชา มีการถูกโจมตี ทุราจาร ถูกทำลาย และการบูรณะสร้างใหม่ ในสมัยของพระเยซูเจ้า ชาวยิวได้มาชุมนุมในพระวิหารหลังที่ 2 กษัตริย์เฮโรดเป็นผู้สร้าง และในที่สุดชาวโรมันได้ทำลายใน ค.ศ. 70
     เป็นที่นี่ที่พระนางมารีย์และนักบุญโยเซฟได้ถวายพระเยซูเจ้าแด่พระเจ้า ซีเมโอนและนางอันนาได้ต้อนรับ เป็นที่นี่เองที่พระนางมารีย์และนักบุญโยเซฟได้พบพระกุมาร ตอนพระชนมายุ 12 พรรษา เป็นที่นี่ที่พระเยซูเจ้าได้เทศน์สอนและอธิษฐานภาวนา เพราะเหตุที่บรรดาผู้จาริกแสวงบุญได้มาที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เพื่อทำตามธรรมบัญญัติและถวายเครื่องบูชา บรรดาพ่อค้าท้องถิ่นคิดว่าเป็นสถานที่ดีมากสำหรับทำธุรกิจ คือ การแลกเงิน การค้าแกะ วัว และนก เพื่อการบูชาตามพิธี
ในโอกาสนี้ ใกล้ปัสกา พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเห็นการค้าขายและความวุ่นวายในบ้านของพระบิดา จึงโกรธมาก พระองค์ทรงขับไล่บรรดาพ่อค้าและสัตว์ ทรงปัดเงินกระจายและทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน ช่างเป็นภาพที่น่าเสียใจ พวกเขาทำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นตลาด
     บรรดาพ่อค้าและผู้มาแสวงบุญชาวยิวทุกคนคงคุ้นเคยกับพระบัญญัติ 10 ประการ ซึ่งเราได้ยินในบทอ่านแรกของวันนี้ สามประการแรกเกี่ยวกับการเคารพพระเจ้าพระบิดา ว่าไม่มีพระเจ้าอื่น ต้องไม่กล่าวพระนามพระเจ้าอย่างไม่เหมาะสม จงระลึกถึงวันสับบาโตเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันพักผ่อน พวกเขาคงรู้ว่าความรักและการเอาใจใส่เพื่อนบ้านต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาค (เท่าเทียมกัน) ถึงแม้มีผู้ปฏิเสธพระบัญญัติ มีผู้ทำให้พระวิหารเสื่อมเสีย ไม่สนใจดูแลคนจน และพระเมสสิยาห์ถูกตัดสินประหารชีวิตท่ามกลางพวกเขา
     เราก็เช่นกัน เจริญชีวิตในสังคมที่หลายคนไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ถูกทุราจาร หลายครั้งประชาชนไม่สนใจสิ่งถูก-ผิด ในเทศกาลมหาพรตนี้ ขอให้เราคิดหาวิธีการบางประการซึ่งช่วย (เรา) ให้ลึกซึ้งกับตนเอง ปรับปรุงชีวิต “คว่ำโต๊ะบางอย่าง”
     เมื่อเราควรพูดต่อต้านความอยุติธรรม
     เมื่อเราควรชี้แสดงว่า กำลังนับถือพระเท็จเทียม
     ในความคิดส่วนตัว เราจะละทิ้งสิ่งไม่สำคัญและหาที่ว่างให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ขอให้เราแก้ไขโดยเริ่มอธิษฐานภาวนา วอนขอให้มีปรีชาญาณเหมือนพระคริสตเจ้า แทนความฉลาดประสามนุษย์

พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing Vol. 51,
No. 1 (มกราคม-มีนาคม 2018), หน้า 101-102.

 

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต 25 กุมภาพันธ์ 2018

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต

25 กุมภาพันธ์ 2018

บทอ่าน ปฐก  22:1-2, 9ก, 10-13, 15-18  ;   รม  8:31ข-34  ;   มก  9:2-10

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)    430, 574, 589, 1421, 1441, 1484, 1502, 1503, 2616

จุดเน้น             จงให้ทุกสิ่งแด่พระเจ้า  อย่าเอาสิ่งใดกลับคืน

            เราสามารถเรียนรู้หลายอย่างจากเรื่องราวของอับราฮัมและอิสอัค  พระเจ้าทรงลองใจเขา  ขอบุตรชายคนเดียวให้เป็นเครื่องเผาบูชา  แต่สิ่งที่พระเจ้าทรงขอตอนนี้ คือ ความวางใจ  ความเชื่อ  และการถวายตนเองทั้งครบกลับให้พระเจ้า  ในทำนองเดียวกัน  พระเจ้าทรงเป็นทุกสิ่ง  และถวายพระองค์เองทั้งครบแก่เรา

            ลองสังเกตว่า  อับราฮัมมิได้ฆ่าบุตรชายของท่านจริงๆ  พระเจ้ามิได้ทรงเรียกร้องเช่นนั้นจริงๆ  พระองค์เพียงบอกอับราฮัมให้เตรียมเครื่องเผาบูชา (แน่นอน ควรต้องแบกไปด้วย)  และก็ทรงห้ามเขาฆ่าบุตรชาย  ความเต็มใจของอับราฮัมที่จะทำตาม (พระประสงค์) มิใช่การไตร่ตรองความประพฤติที่ผิดปกติ  แต่เป็นตัวแทนความเปราะบาง  และความเต็มใจมอบความรักต่อพระเจ้าก่อนสิ่งใด  และก่อนการติดใจและรักสิ่งอื่นๆ  นี่เป็นกิจการที่ทำตามได้ยาก

            โมเสสและเอลียาห์  เป็น 2 คน แห่งพันธสัญญา  ผู้ได้มอบทุกสิ่งแด่พระเจ้า  มิได้ยึดติดสิ่งใดไว้  ในการปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้า  ท่านทั้งสองเป็นรูปแบบล่วงหน้าถึงพระเยซูคริสตเจ้า  พระเยซูเจ้าทรงมอบทุกสิ่งของพระองค์แด่พระเจ้า  ทรงรักพระเจ้าและรักเรา  เหนือสิ่งใดอื่น  จนถึงการถวายบูชาชีวิตของพระองค์เอง  เพื่อนอบน้อมตามพระประสงค์ของพระเจ้า  และบัดนี้พระองค์ทรงวอนขอเพื่อเรา  โดยที่เราพยายามให้พระเจ้าอยู่เหนือทุกสิ่ง

            นักบุญเปาโลเตือนใจชาวโรม  และเตือนใจเราทุกคนวันนี้ว่า  พระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาแทนเรา  พระเจ้ามิได้ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์  เพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเต็มใจทำเพื่อเราทุกคน  พระองค์จะไม่จัดหาสิ่งใดๆ ที่เราต้องการจริงๆ ตลอดชีวิตของเราหรือ

            ทุกปีในสัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต  เราฟังเรื่องพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์  เป็นเหตุการณ์ก่อนการกลับคืนพระชนมชีพ  เหตุการณ์นี้เป็นการเตรียมขั้นพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าให้บรรดาศิษย์  และให้พวกเขาเข้มแข็งทนรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

            พระคริสตเจ้าทรงถูกตรึงกางเขน  พระคริสตเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์  เป็นผู้มอบพละกำลังทำงานตลอดหนทางแห่งไม้กางเขนของเราแต่ละคน  ที่จะจบลงด้วย “พระหรรษทานแห่งการกลับคืนชีพ”    จงคิดถึงพระหรรษทานแห่งการกลับคืนชีพ  ว่าเป็นดังพระหรรษทานที่ช่วยเราให้ขจัดความกลัว  ปล่อยวางสิ่งที่ชั่วคราว  และเน้นสิ่งนิรันดร    พระหรรษทานแห่งความเปราะบาง  ที่ช่วยเราให้ใส่ความรักของพระเจ้าก่อนสิ่งใดๆ  และการติดใจและความหลงใหลสิ่งอื่นใดทุกอย่าง

            ในเทศกาลมหาพรตและในทุกเทศกาล  ขอให้เรามีพระหรรษทานเช่นนี้

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing          Vol. 51, No. 1 (มกราคม-มีนาคม  2018), หน้า 89-91.

อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา 11 กุมภาพันธ์ 2018

อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา

11 กุมภาพันธ์ 2018

บทอ่าน ลนต  13:1-2, 44-46  ;   1 คร  10:31-11:1  ;   มก  1:40-45

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)    1504, 2616

จุดเน้น             ให้เราใช้ทุกสิ่งที่พระเจ้าประทานให้เรา  เพื่อช่วยคนสุดท้าย  คนต่ำต้อย  และยากจนรอบตัวเรา

            ประชาชนในอิสราเอลและยูดาห์สมัยโบราณมีความคิดจำกัดเกี่ยวกับบาปและพระหรรษทาน  สำหรับหลายคน  พระเจ้าเป็นภาพห่างไกล  กล่าวคือ  อดทนน้อยและค่อนข้างไม่เมตตากรุณา  ผลที่ตามมาสำหรับบาป  ที่แย่สุดคือ โรคเรื้อน  ประชาชนคิดว่าเป็นผลของบาป  รักษาไม่ได้  และบาปนี้ไม่สามารถอภัยได้    สำหรับชาวยิว  การพยายามปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ  เรื่องพิธีชำระมลทิน (ลนต 14:1-32)  การสัมผัสคนโรคเรื้อนจะทำให้เรามีมลทิน  และทำให้เกิดโชคร้ายต่างๆ

            ดังนั้น เป็นพันปี  คนโรคเรื้อนจึงเหมือน “ตายทั้งเป็น”  ถูกตัดขาดจากครอบครัว  และต้องออกไปอยู่ไกลๆ นอกสังคม  ไม่สามารถทำงานหรือมีครอบครัว  ถูกเหยียดหยามลดศักดิ์ศรีและถูกกระทำเหมือนไม่เป็นคน  พวกเขาต้องออกไปอยู่นอกเมือง  ไม่พบปะใครนอกจากคนโรคเรื้อนด้วยกัน  ไม่มีที่พักอาศัย  และต้องสั่นกระดิ่งบอกว่า “มีมลทิน  มีมลทิน”  เพื่อป้องกันคนอื่นไม่ให้มาติดต่อกับพวกเขา  แม้โดยไม่ได้ตั้งใจ

            ดังที่เราทราบแล้วว่า  พระเยซูเจ้ามิได้มาเพื่อคนร่ำรวย  คนฉลาด  ฝ่ายโลก  พระองค์เสด็จมาเพื่อช่วยคนสุดท้าย  คนต่ำต้อย  คนถูกทอดทิ้ง  คนพิการ  และแม้คนโรคเรื้อน  พระเยซูเจ้าสัมผัสคนโรคเรื้อน  ในพระวรสารวันนี้  ซึ่งมีพิธีชำระมลทินในสมัยนั้น  มีอัศจรรย์เกิดขึ้น 2 ประการ  ชายคนนั้นหายจากโรคเรื้อนและสัมผัสความรักของพระคริสตเจ้า

            ในการรักษาคนโรคเรื้อนนี้  เราเห็นว่าอัศจรรย์มิได้เหมือนกับการทำให้ลาซารัสกลับคืนชีพ  พระเยซูเจ้าทรงยื่นมือไปสัมผัส  และคืนชีวิตให้เขา  แต่แปลกไหมครับที่พระเยซูเจ้าไม่ต้องการให้ชายนี้ไปบอกใคร  ที่ทำสิ่งนี้  พระเยซูเจ้ามีเหตุผล  พระองค์ต้องการให้ประชาชนเชื่อในพระองค์  เพราะความเชื่อ  มิใช่เพราะชื่อเสียง

            พระเยซูเจ้าสามารถทำงานน่ามหัศจรรย์นี้  เพื่อช่วยวิญญาณที่หมดหวัง  เพราะพระองค์ทำทุกสิ่งเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า  ดังที่นักบุญเปาโลได้กล่าวในบทอ่านที่ 2  พระองค์มิได้อยู่คนเดียว  พระศาสนจักรได้ยกย่องบรรดานักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์มากมาย  ผู้เลียนแบบความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของพระคริสตเจ้า  ในเวลาทำงานกับผู้ป่วยและคนจน  นักบุญที่เด่นๆ ได้รับการประกาศแต่งตั้งไม่นานมานี้ เช่น คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา  และนักบุญดาเมียน  พระสงฆ์ผู้อุทิศชีวิตดูแลคนโรคเรื้อนแห่งโมโลไก (เกาะในหมู่เกาะฮาวาย  ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก)  ความรักเมตตาของนักบุญทั้งสองมิใช่เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง  แต่เพื่อช่วยผู้อื่นให้รอด  นั่นคือ อุทิศความสามารถ  ทรัพย์สมบัติ  และเวลาเพื่อทำความดีที่ยิ่งใหญ่  เมื่อเราใช้ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบให้เรา  เพื่อช่วยคนสุดท้าย  คนต่ำต้อย  และยากจนทุกคนรอบตัวเรา

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing          Vol. 51, No. 1 (มกราคม-มีนาคม  2018), หน้า 67-68.

อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต 18 กุมภาพันธ์ 2018

อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต

18 กุมภาพันธ์ 2018

 

บทอ่าน ปฐก  9:8-15  ;   1 ปต  3:18-22  ;   มก  1:12-15

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)    333, 538, 541, 1423, 1427

ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  175

จุดเน้น             ถิ่นทุรกันดารถูกเปลี่ยนให้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์เขียวขจี

            มีความตรงข้ามบางประการที่น่าอัศจรรย์ในบทอ่านวันนี้  ทั้งหมดเกี่ยวกับธรรมชาติ    ในหนังสือปฐมกาล  เราพบว่าพระเจ้าตรัสกับโนอาห์หลังน้ำวินาศลดระดับ  พระเจ้าทรงตั้งพันธสัญญากับโนอาห์และบรรดาลูกหลาน  และกับบรรดาสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับเขาบนเรือ คือ นก  สัตว์เลี้ยง  และสัตว์ป่าทุกชนิด  พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะไม่ให้น้ำวินาศมาทำลายสรรพสิ่งที่มีชีวิตอีก  พระองค์ตั้งรุ้งไว้บนเมฆเป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญา

            ภาพของรุ้งหลากสีบนท้องฟ้าที่มีเมฆ  กับอากาศบริสุทธิ์หลังฝนตกใหม่ๆ บนแผ่นดิน  ที่เต็มไปด้วยบรรดาสัตว์หลากหลายชนิด  ช่างแตกต่างกับภาพในบทอ่านจากพระวรสาร  พระเยซูเจ้าประทับอยู่ 40 วันในถิ่นทุรกันดาร  ที่แห้งแล้ง  เต็มไปด้วยฝุ่นและอากาศร้อน  พระองค์ทรงอยู่กับสัตว์ป่า  บรรดาทูตสวรรค์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์  ไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเห็นกับโนอาห์  ไม่มีการสนทนากับพระเจ้า  แต่ทรงถูกซาตานผจญ

            มีอะไรในความตรงข้ามที่ต้องแบ่งปันเกี่ยวกับข่าวดีที่เราได้ยินวันนี้  ขอให้เรามอง 2 สิ่งเป็นพิเศษ  ประการแรก  ความสมบูรณ์ของธรรมชาติในหนังสือปฐมกาล  ตั้งแต่แรกเริ่มการเนรมิตสร้าง  พระเจ้าทรงมีส่วนและเอาพระทัยใส่อย่างลึกซึ้งสำหรับโลก  และบรรดามนุษย์ผู้อาศัย  พระองค์ทรงสัญญาจะอยู่กับสรรพสิ่งสร้าง  ในพันธสัญญาว่าจะไม่เกิดน้ำวินาศทำลายแผ่นดินอีกเลย    อันที่จริง พระเจ้าจะมาทำลายความตาย  เพื่อฟื้นฟูพันธสัญญากับสรรพสิ่งในพระเยซูคริสตเจ้า

            พระเยซูเจ้าเสด็จมาหาเรา  อาศัยธรรมชาติมนุษย์สมบูรณ์และเริ่มอาณาจักรพระเจ้าบนแผ่นดิน  แต่ก่อนถึงชัยชนะสุดท้าย  พระองค์ทรงใช้เวลาในถิ่นทุรกันดาร  นี่เป็นวิธีที่สองที่ธรรมชาติ พูด กับเราในวันนี้  ในเวลาของพระองค์ก่อนพระสิริรุ่งโรจน์  พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในที่แห้งแล้ง  ไม่มีความชื้น  และสภาพแวดล้อมไม่มีชีวิตของถิ่นทุรกันดาร    เทศกาลมหาพรต 40 วัน เตือนใจเราเกี่ยวกับถิ่นทุรกันดารแห่งบาปและความตาย  แม้ในโลกที่มีรุ้งบนท้องฟ้า  และการปลูกพืชผักให้งอกงามในที่ราบหลังน้ำวินาศลดลง  เมื่อเปรียบพระอาณาจักรสวรรค์  โลกนี้เปรียบได้รับถิ่นทุรกันดาร  แต่พระเยซูเจ้าได้สิ้นพระชนม์และเสด็จกลับคืนชีพ  บรรดาหุบเขาแห่งเงาความตายได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์เขียวขจี  ที่เราหวังว่าจะพำนักในบ้านของพระเจ้าตลอดกาล

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing         

Vol. 51, No. 1 (มกราคม-มีนาคม  2018), หน้า 78-79.

อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา 4 กุมภาพันธ์ 2018

อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา

4 กุมภาพันธ์ 2018

บทอ่าน โยบ  7:1-4, 6-7  ;   1 คร  9:16-19, 22-23  ;   มก  1:29-39

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)    2602

จุดเน้น             ในการพบปะพระเยซูเจ้า  เราได้รับการรักษา  และได้รับพันธกิจ

            น่าสนใจสังเกตสถานที่ที่พระเยซูเจ้าทรงพบปะกับประชาชน  เรามักคิดว่า  พระเยซูเจ้า บุตรพระเจ้าและพระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพ  ควรอาศัยในวัดและให้ประชาชนมานมัสการพระองค์  แต่ในพระวรสาร  เราเห็นพระเยซูเจ้าทรงออกไปพบปะประชาชนไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน เช่น พระเยซูเจ้าทรงพบหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ  พระองค์ทรงพบกับโจรกลับใจบนไม้กางเขน  และในพระวรสารวันนี้  พระเยซูเจ้าทรงออกจากศาลาธรรม  ก็เสด็จเข้าไปในบ้านของแม่ยายซีโมน  ทรงจับมือนาง  พยุงลุกขึ้น  และนางได้รับใช้ทุกคน

            เมื่อเราพบปะพระเยซูเจ้า  เราไม่ควรไม่เปลี่ยนแปลง  พระองค์ทรงรักษาร่างกายและวิญญาณ  ถ้าเรามีความเชื่อและไว้วางใจในพระองค์  ในพระวรสารวันนี้  พระเยซูเจ้าทรงรักษามารดาของภรรยาซีโมนให้หายไข้  พระองค์ทรงรักษาผู้ป่วยมากมาย  และทรงขับไล่ปีศาจ  พระเยซูเจ้าปรารถนาจะรักษาเรา  แต่ต้องมีอะไรเกิดขึ้นด้วย

            พระองค์ทรงรักษาเราและช่วยเราให้เป็นอิสระ  มิใช่ว่าเราก็ดำเนินชีวิต “ตามแบบของเรา” แค่นั้น  แต่เราสามารถสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้า  ด้วยการประกาศคำสอนคริสตชน     เราแต่ละคนในฐานะคริสตชนคนหนึ่ง  ได้รับการเรียกให้กล่าว  ดังที่นักบุญเปาโลว่า “หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี  ข้าพเจ้าย่อมได้รับความวิบัติ” (1 คร 9:16)  เราทุกคนได้รับพันธกิจนี้  เราจำเป็นต้องค้นพบว่าพระเจ้ากำลังเรียกเราให้ทำอะไรให้สำเร็จ  โดยอาศัยพลังของพระจิต  เราได้รับหรรษทานและพระพรที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติหน้าที่นี้

            บ่อยครั้ง  หนทางที่เราต้องปฏิบัติพันธกิจนี้  พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราทำสิ่งธรรมดาๆ คือ เป็นพ่อหรือแม่ที่ดี  เป็นภรรยาหรือสามีที่ศรัทธาและน่ารัก  เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์    ยังมีบางครั้งเมื่อพระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เราเทศน์สอนความจริงแห่งพระวรสาร  แก่ผู้ที่ไม่เคยได้ยิน  มีบางครั้งเมื่อพันธกิจของเราต้องเทศน์สอนด้วยกิจการและการดำเนินชีวิต  เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ว่า “ทุกคนกำลังแสวงหาพระองค์” เราสามารถช่วยพวกเขาให้พบพระองค์ได้อย่างไร

            เราแต่ละคนได้รับการเรียกชื่อ  เราได้พบปะกับพระเยซูเจ้าแล้วในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  ได้รับการรักษาจากรอยเปื้อนของบาปกำเนิด    บัดนี้ พระเจ้าทรงเรียกเราให้ออกไปประกาศข่าวดีแก่ทุกคน  ขอให้เรารับผิดชอบพันธกิจนี้ด้วยความปีติยินดี

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing          Vol. 51, No. 1 (มกราคม-มีนาคม  2018), หน้า 57-58.

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown