มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

สมโภชพระจิตเจ้า 20 พฤษภาคม 2018

วันสมโภชพระจิตเจ้า

20 พฤษภาคม 2018

บทอ่าน กจ 2:1-11  ;   1 คร 12:3ข-7, 12-13 หรือ กท 5:16-25  ;   ยน 20:19-23

หรือ ยน 15:26-27 ;  16:12-15

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   575, 643, 645, 659, 730, 788, 858, 976, 1087, 1120, 1287, 1441, 1461, 1485, 2839

ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  491

จุดเน้น             เราทุกคนต้องใช้พระพรที่พระเจ้าประทานให้  เพื่อสร้างพระศาสนจักร (พระกายพระคริสตเจ้า)

            ครั้งหนึ่ง  มีหญิงชราคนหนึ่งมีลูกชายโตแล้ว 4 คน  บ้านของหญิงผู้นี้ถูกไฟไหม้  ดังนั้นบรรดาลูกคิดจะสร้างบ้านหลังใหม่ให้มารดา  แต่ก็พบความลำบากบางประการ  ลูกชายคนแรกเป็นช่างไม้  แต่เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับท่อน้ำ  การก่ออิฐ  หรืองานไฟฟ้า  ดังนั้นเขาคิดว่าคงไม่มีทางสร้างบ้านให้แม่  น้องชายแต่ละคน  เป็นช่างไฟ  ช่างประปา  และช่างปูน  ก็คิดแบบเดียวกัน  พวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับธุรกิจการก่อสร้างอื่นๆ คิดเฉพาะของตนเอง  พวกเขาแต่ละคนตัดสินว่าไม่มีหนทางจะสร้างบ้านให้มารดาได้  ดังนั้นจึงไม่ได้สร้างบ้าน

            บางทีชีวิตของเราในฐานะเป็นพระศาสนจักรก็อาจเป็นเหมือนเรื่องมารดาและลูกชาย  บ่อยๆ เราคิดว่าพระศาสนจักรคงไม่จำเป็น  หรือไม่ใช้ประโยชน์จากพระพรความสามารถที่พระเจ้าประทานให้  บางครั้งเราคิดว่าเราไม่สามารถนำเพลง  หรือนำสวด  หรือนำการประชุมในเขตวัด  เราอาจคิดว่าเราไม่สามารถยืนต่อหน้าคนเยอะๆ  และพูดต่อหน้าพวกเขา  บางทีเราคิดว่าพระศาสนจักรคงไม่ต้องการเรา  เพราะเราทำอะไรไม่เก่ง  บางทีเรารู้สึกว่าเราไม่มีความสามารถพิเศษอะไร  ที่จะแบ่งปันให้ใคร  ดังนั้นจะไปรบกวนเขาทำไม

            ขอให้พี่น้องหยุดคิดถึงความสามารถที่แตกต่างกัน  จะช่วยให้เขตวัดมีชีวิตชีวาเหมือนวัดของเราเอง  ชีวิตในวัดไม่ใช่จากคนที่มีความสามารถ  ที่เราเห็นและได้ยินในเวลาพิธีมิสซาแต่ละอาทิตย์  ยังมีความสามารถของหลายคนที่อยู่เบื้องหลัง  เช่น คนทำความสะอาดวัดแต่ละอาทิตย์  หรือบุคคลที่คอยภาวนาให้กำลังใจผู้อื่น  ทำ..... บรรดาอาสาสมัครในการเรียนพระคัมภีร์หรือคำสอน  โดยช่วยติดต่อส่งจดหมาย  ช่วยเก็บทะเบียนประวัติ  เตรียมอุปกรณ์แต่ละอาทิตย์  ทุกคนช่วยคนละเล็กคนละน้อย  เตรียมจานสำหรับเลี้ยงอาหารหลังพิธีปลงศพ  ก็ช่วยให้กำลังใจ  และเยียวยารักษา  เหมือนเปิดใจฟังด้วยความเข้าใจ

            พระเจ้ายังทรงประทานพระจิตเจ้ามาสัมผัสชีวิตของเราแต่ละคน  วันสมโภชพระจิตเจ้าเป็นทุกอย่างที่สามารถเห็น  และรู้สึกได้ว่าพระเจ้าสัมผัสเราแต่ละคน  ด้วยพระพรที่จำเป็นสำหรับชีวิตของพระศาสนจักรอย่างไร  ถูกแล้ว  พระพรบางอย่างเห็นได้ชัด  แต่พระพรที่พระเจ้าประทานให้เป็นสิ่งจำเป็น

            สมโภชพระจิตเจ้า (เปนเตกอสเต) เป็นการเชื่อในพลังของพระจิตเจ้าที่ทรงหลั่งมาให้เราทุกคน  ให้เราใช้พระพรเหล่านั้นอย่างสุภาพ  และไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว  วันสมโภชพระจิตเจ้าเป็นการสร้างบ้านด้วยกัน  ไม่มีใครทำได้ด้วยตัวตนเดียว  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างพระศาสนจักรของเราเอง

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing           

(เมษายน-มิถุนายน 2018), หน้า 227-228.

สมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ 13 พฤษภาคม 2018

วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์

13 พฤษภาคม 2018

 

บทอ่าน กจ 1:1-11  ;   อฟ 1:17-23 หรือ อฟ 4:1-13 หรือ 4:1-7,11-13  ;   มก 16:15-20

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   112, 627, 652, 659, 730, 981, 1120, 1122, 1304,

ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  52

จุดเน้น             พระเยซูเจ้าเสด็จก่อนเรา  เพื่อแสดงหนทางแก่เรา  และทรงส่งพระจิตให้เป็นผู้ช่วยเหลือแก่เรา

            วันนี้เราสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์  ดังเรื่องราวที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ “เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว  พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา”  เราฉลองการรู้ว่าพระเยซูเจ้าเสด็จไปไหน  พระองค์ทรงช่วยเราให้ไปด้วย

            นีล อาร์มสตรอง  เป็นมนุษย์คนแรกที่เดินบนดวงจันทร์ (เมื่อ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969/พ.ศ. 2512)  เขากล่าวว่า “ก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งของชายคนหนึ่ง  แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติ”  แม้ว่าก้าวนั้นอยู่นอกยานอวกาศ  เป็นก้าวเล็กสำหรับเขา  มันมีความสำคัญน่ามหัศจรรย์มากสำหรับมนุษยชาติ  นีล อาร์มสตรองเดินบนดวงจันทร์ได้ หมายความว่า คนอื่นก็สามารถไปเดินบนดวงจันทร์ได้

            อัศจรรย์ใจเหมือน นีล อาร์มสตรอง  การเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูเจ้าก็มีความสำคัญแท้จริงสำหรับมนุษยชาติและสิ่งสร้าง  โดยอาศัยความผิดของอาดัมและเอวา  มนุษย์ทุกคนถูกแยกจากพระเจ้า  แต่โดยอาศัยชีวิต  พระทรมาน  การสิ้นพระชนม์  และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า  พระองค์ทรงชำระชดใช้บาป  และช่วยเราให้กลับมีสัมพันธ์กับพระเจ้า  โดยผ่านทางพระองค์  โดยอาศัยการเสด็จสู่สวรรค์  พระเยซูเจ้าทรงช่วยให้คนบาปอย่างเราเข้าสวรรค์ไปอยู่กับพระเจ้า  เหมือน นีล อาร์มสตรอง ได้เอาชนะข้อจำกัดหลายประการ  ซึ่งยอมให้มนุษย์เดินบนดวงจันทร์  ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงชนะความตาย  ยอมให้เราบรรลุสวรรค์ได้

            แต่นี่มิใช่การเดินทางง่ายๆ เหมือนดัง นีล อาร์มสตรอง ได้ไปดวงจันทร์ต้องผ่านการฝึกฝน  ดังนั้นเราจำเป็นต้องรับการฝึกฝนให้เป็นแบบศิษย์ของพระเยซูเจ้า  เราต้องเป็นเหมือนพระองค์  ทีละเล็กทีละน้อยก็สามารถเข้าพระสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์  ไม่มีทางที่เราจะทำสำเร็จด้วยตัวเราเอง  แต่เรามิได้อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว  พระเยซูเจ้าเสด็จล่วงหน้าเรา  เพื่อแสดงหนทางแก่เรา  และทรงส่งพระจิตเจ้าให้เป็นผู้ช่วยเหลือ  และผู้แนะนำของเรา

            พระจิตเจ้าทางช่วยเราให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เรา  ก่อนที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์  ในพระวรสารวันนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก  ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง”  เราเป็นสาวกของพระองค์  พระองค์ทรงแสดงหนทางแก่เราแล้ว  ให้เราติดตามพระองค์ด้วยความปีติยินดีและการขอบพระคุณ

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing           

(เมษายน-มิถุนายน 2018), หน้า 211-212.

อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา 29 เมษายน 2018

อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา

29 เมษายน 2018

บทอ่าน กจ 9:26-31  ;   1 ยน 3:18-24  ;   ยน 15:1-8

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   308, 517, 737, 755, 787, 859, 864, 1108, 1694,1988, 2074, 2615, 2732

จุดเน้น             ชีวิตในพระคริสตเจ้าย่อมเกิดผลมาก

            ด้วยความจริงใจแล้ว  เราต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถ “ทำทุกอย่าง” ด้วยตัวของเราเอง  เราจะไม่มีประโยชน์  บังเกิดผล  หรือพบความสำเร็จ  โดยไม่พึ่งพลานุภาพของพระเยซูคริสตเจ้า   เมื่อมีพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากความตาย  เปี่ยมด้วยพระจิต  และได้รับพละกำลังของพระจิตเจ้า  จึงทำให้สิ่งที่เราทำมีคุณค่าจริงๆ

            เราเป็นกิ่งก้านสาขาของเถาองุ่น  ตามที่พระเยซูเจ้าตรัสในพระวรสารวันนี้ “เราเป็นเถาองุ่น  ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน  ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา  และเราดำรงอยู่ในเขา  ก็ย่อมเกิดผลมาก  เพราะถ้าไม่มีเรา  ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย”  พระองค์บอกเราว่า  ถ้าท่านดำรงชีวิตในเราและเราอยู่ในท่าน  ท่านจะดำรงชีวิตที่มีจุดประสงค์ที่มีความหมาย  มีทิศทางและมีคุณค่าไม่มีสิ้นสุด

            เราคริสตชนคาทอลิก  ได้รับเรียกให้ประยุกต์ใช้พลังต่างๆ ที่เรามี  พลังที่มาจากพระเจ้า  เพื่อรักษา  ไถ่กู้  และทำให้ศักดิ์สิทธิ์  มิใช่เพียงชีวิตของแต่ละคนเท่านั้น  แต่ในโลกรอบตัวเราด้วย  ชีวิตแห่งความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า  เราจึงมีความสามารถเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งดีในสังคม

            เราอุทิศตัวเพราะพระเจ้ามีพันธสัญญากับเรา  ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น  พระเจ้าจะช่วยเราให้ทำงานสำเร็จ  พระเจ้าอยู่ท่ามกลางเรา  ภายในตัวเรา  เมื่อเรารับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท  เราดำรงชีวิตในพระองค์  และพระองค์ดำรงอยู่ในเรา  ขอให้ชีวิตของเราบังเกิดผลมาก  เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและความดีของโลกใบนี้

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing         

(เมษายน-มิถุนายน 2018), หน้า 194-195.

อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา 6 พฤษภาคม 2018

อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา

6 พฤษภาคม 2018

บทอ่าน กจ 10:25-26, 34-35, 44-48  ;   1 ยน 4:7-10  ;   ยน 15:9-17

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   363, 434, 459, 609, 614, 737, 1823, 1824, 1970, 1972, 2074, 2347, 2615, 2745, 2815

ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  13, 29, 39, 580

จุดเน้น             ความรักเป็นพื้นฐานของความยินดีแบบคริสตชน

            อะไรทำให้เกิดความยินดี  แน่นอนความงดงามของธรรมชาติ  และบรรดาเด็กๆ  พระเยซูเจ้าทรงยินดีเมื่อบรรดาเด็กๆ ขึ้นมานั่งบนตัก  และเมื่อพระองค์ได้รักษาประชาชน

            อย่างไรก็ดี  แหล่งความยินดีของพระเยซูเจ้า คือ ความสนิทสัมพันธ์กับพระบิดาเจ้าสวรรค์  พระองค์ทรงบอกเราว่าไม่ว่าพระองค์เสด็จไปที่ใด  จะทำอะไร  พระองค์มั่นคงในความรักของพระบิดาเสมอ

            พระเยซูเจ้าปรารถนาให้เรามีความยินดีนี้ด้วย  พระองค์ทรงบอกเราในพระวรสารวันนี้ “เราได้บอกท่านแล้วว่า ความยินดีของเราอยู่ในท่าน  และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” และพระองค์เสริมว่า “จงคงอยู่ในความรักของเรา”  อย่างไร... พระเยซูเจ้าทรงอธิบายทันทีว่า “ถ้าท่านปฏิบัติตามพระบัญญัติ  ท่านก็คงอยู่ในความรักของเรา

            พระบัญญัติทั้งหมดที่พระเยซูเจ้ากล่าวคืออะไร  พระองค์ตรัสว่า จงรักกันและกันเหมือนที่เรารักท่าน  พระองค์ทรงอธิบายต่อถึงความรักชนิดนี้  ไม่ใช่ความรู้สึกอบอุ่น  แต่เป็นแบบกระตือรือร้น  ความรักที่รู้จักให้  ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่านี้  คือการสละชีวิตเพื่อมิตรสหาย  นี่เป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา  เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำเพื่อกันและกัน

            ในบทจดหมายฉบับแรกของนักบุญยอห์น  เราได้ยินเรื่องเดียวกัน  ให้เรารักกันและกัน  เพราะความรักเป็นของพระเจ้า  ผู้ใดรักก็เป็นบุตรพระเจ้าและรู้จักพระเจ้า  และพระเจ้าทรงเปิดเผยความรักนี้แก่เรา  โดยอาศัยการถวายพระบุตรของพระองค์เองอย่างสมบูรณ์  เพื่อเราจะได้มารู้จักพระเจ้า  รักพระเจ้าและมีชีวิตในพระเจ้า  ใครจะไม่สามารถพบความยินดีในประสบการณ์ความรักที่ยอมมอบชีวิตให้แบบนี้

            คำกล่าวที่ว่า  ความรักเป็นพื้นฐานของความยินดีแบบคริสตชน  ไม่ได้หมายความว่าความรักปฏิบัติได้ง่ายๆ  การรักผู้อื่นบ่อยๆ เป็นสิ่งปฏิบัติไม่ง่าย  ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกอย่างไรและเราชอบพวกเขาหรือไม่  แต่เพราะเหตุว่ามันเรียกร้องเราให้ไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละตนเอง  และยังให้เรายินดี  ยิ่งเรามอบตนเองมากเท่าไร  เราก็มีที่ว่างในตัวเราเองสำหรับพระเจ้า  ผู้เป็นองค์ความรัก  มากขึ้นเท่านั้น

            ความรักต้องทำความดีเพื่อคนอื่น  ไม่ปรารถนาอะไร  นอกจากเพื่อให้เขาเติบโตเกิดผลในคุณธรรม  ให้เราภาวนาขอพระหรรษทาน  ให้สามารถปฏิบัติตามที่พระเจ้าทรงสอนเรา  ขอให้บูชานี้ให้เราได้รับความรักของพระเจ้า  ช่วยเปลี่ยนแปลงเราด้วยพระหรรษทานนั้น

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing           

(เมษายน-มิถุนายน 2018), หน้า 205-206.

อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกา วันกระแสเรียก และวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2018

อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกา

วันกระแสเรียก และวันคุ้มครองโลก

22 เมษายน 2018

บทอ่าน กจ 4:8-12  ;   1 ยน 3:1-2  ;   ยน 10:11-18

พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   60, 553, 606, 609, 614, 649, 754

จุดเน้น             พระเยซูเจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี  ผู้สละชีวิตเพื่อเราจะพบความรอดพ้น

            พระเยซูเจ้าตรัสกับเราแต่ละคนว่า  เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี  ผู้เลี้ยงแกะที่ดีย่อมสละชีวิตเพื่อแกะของตน  พ่อจำได้ตอนเป็นเด็กเคยเล่นเกมที่แต่ละคนเลือกสัตว์ 1 ชนิด ที่เราต้องการเป็น  เราส่วนมากเลือกสิงโต เสือ หมี ฯลฯ  เราต้องการแข็งแรง  หาอาหารเก่ง  แม้มันดุร้ายอันตราย  แต่มันก็ปกป้องตนเองได้  เวลาคิดย้อนหลัง  ไม่มีใครเลือกเป็นแกะเลย

            ในชีวิตจริงๆ เราคงไม่ต้องการเป็นสิงโต เสือ หรือหมี  แต่เราก็ต้องการลักษณะเหล่านั้นบางประการ  เราต้องการแข็งแรง  หาอาหารและปกป้องตนเองได้  วัฒนธรรมของเราก็สอนว่าดี  ที่เราควรพยายาม  แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป  อยากให้เราเป็นแกะ

            ถ้าเป็นแกะ เราก็อ่อนแอ  บ่อยๆ ปกป้องตนเองไม่ได้และต้องขึ้นกับสิ่งอื่นๆ  นี่คงเป็นข่าวร้ายหากเราถูกส่งออกไปในสังคมคนเดียว  หรือหากเราเลือก พยายามทำทุกอย่างด้วยตนเอง (ไม่พึ่งพาใครเลย)  แต่เราไม่ได้อยู่คนเดียว  พระเยซูเจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของเรา

            ถ้าเป็นแกะ  เราก็อ่อนแอ  แต่พระเยซูผู้เลี้ยงแกะของเรา  เป็นผู้แข็งแรง    ถ้าเป็นแกะ เราปกป้องตนเองไม่ได้  แต่พระเยซูผู้เลี้ยงแกะของเราเป็นผู้ปกป้องของเรา    ถ้าเป็นแกะ เราไม่สามารถไปไหนด้วยตนเอง  แต่พระเยซูเจ้าอยู่กับเรา เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี  ที่ให้คำแนะนำและพละกำลังในชีวิตนี้จนบรรลุถึงทุ่งหญ้าแห่งชีวิตนิรันดร

            มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราที่จะตระหนักว่า เราไม่สามารถทำสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง  เราจำเป็นต้องพึ่งพระเยซูเจ้า  ในบทอ่านแรก นักบุญเปโตรบอกเราว่า “ไม่มีผู้ใดช่วยเราให้เรารอดพ้น  นอกจากพระเยซูเจ้า  เราไม่สามารถช่วยเราเอง  เราไม่สามารถพบความรอดพ้นที่ไหน  หรืออาศัยใครอีก  พระเยซูเจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี  ผู้ยอมสละชีวิตของพระองค์แบบให้เปล่า  สละชีวิตเพื่อเราจะได้มีชีวิตและความรอดพ้นโดยอาศัยพระองค์

            ขอให้เราแต่ละคนเลือกติดตามคำภาวนาจากเพลงสดุดีวันนี้ “ลี้ภัยมาพึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้า  ย่อมดีกว่าวางใจในมนุษย์  ลี้ภัยมาพึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้า  ย่อมดีกว่าวางใจในบรรดาเจ้านาย”  พระเยซูเจ้าเป็นผู้เดียวที่สามารถช่วยเราให้รอดพ้น  และพระองค์ยินดีสละชีวิตเพื่อเรา  เราไม่ต้องแสวงหา  หรือเราไม่เหมาะสมจะได้รับด้วย  ขอเพียงเราต้องเลือกติดตามพระองค์  แม้อ่อนแอและพึ่งตนเองไม่ได้  พระเยซูเจ้าทรงรักเรา  เพราะพระองค์เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของเรา

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล

จาก  Daily Homilies โดย Catholic  Diocese  of  Lansing           (เมษายน-มิถุนายน 2018), หน้า 184-185.

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown