การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยากจนที่สุดและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก (Pope: Climate change impacts poorest and requires global cooperation)
- รายละเอียด
- หมวด: vatican news
- เขียนโดย Nuphan Thasmalee
- ฮิต: 90
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยากจนที่สุดและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก (Pope: Climate change impacts poorest and requires global cooperation)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2024 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงส่งข้อความไปยังการประชุมใหญ่ในกรุงโรม เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบด้านลบต่อผู้ที่อ่อนแอที่สุด ซึ่งจัดโดยสถานทูตคิวบา โบลิเวีย และเวเนซุเอลา ร่วมกับสันตะสำนัก พระคาร์ดินัลหลายองค์และตัวแทนจากประเทศเหล่านี้หลายท่าน มาร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบระดับโลกของวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จากรายงานของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประมาณ 30% ของประชากรโลกเผชิญกับคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงมากกว่า 20 วันในแต่ละปี พระสันตะปาปาฟรังซิสส่งสาส์นถึงผู้เข้าร่วมโดยเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อ “ประเทศที่ยากจนที่สุด” และเป็นสัญลักษณ์ที่ “ไม่สามารถซ่อนหรือปกปิดได้”
มนุษย์ต้องไม่เป็นเผด็จการ (Man must not be a tyrant)
เมื่อพูดถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งโลกกำลังเผชิญอยู่ พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ฟรานซิส พรีโวสต์ (Cardinal Robert Francis Prevost) ประธานคณะกรรมาธิการบิชอปแห่งละตินอเมริกา (Pontifical Commission for Latin America) และสมณสมนตรีสมณกระทรวงเพื่อบรรดาบิชอป (Dicastery for Bishops) เน้นย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยน “จากคำพูดสู่การปฏิบัติ” คำตอบสำหรับความท้าทายนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักคำสอนด้านสังคมของ่พระศาสนจักร
พระคาร์ดินัลพรีโวสต์กล่าวว่า “การครอบงำเหนือธรรมชาติ”—พันธกิจที่พระเจ้าประทานให้กับมนุษยชาติ—ไม่ควรกลายเป็น “การกดขี่ข่มเหง” แต่ควรจะต้องเป็น “ความสัมพันธ์ของการตอบแทนซึ่งกันและกัน” กับสิ่งแวดล้อม พระคาร์ดินัลทรงเตือนถึงผลที่ตามมา “ที่เป็นอันตราย” ของการพัฒนาเทคโนโลยี และย้ำคำมั่นสัญญาของสันตะสำนักในการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวถึงสิ่งที่สันตะสำนักได้กระทำ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และการเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ (Climate change is ‘undeniable’)
พระคาร์ดินัลปีเตอร์ อัปเปียห์ เติร์กสัน (Cardinal Peter Appiah Turkson) เลขาธิการของสถาบันเพื่อการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์แห่งสันตะสำนัก (Pontifical Academy of Sciences) เน้นย้ำถึงกระแสเรียกของมนุษยชาติในการดูแลสิ่งแวดล้อม “โลกไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นการกระทำโดยเจตนาของพระเจ้า” และทุกคนถูกเรียกให้เป็น “ผู้สร้างร่วม” พร้อมกับพระองค์ พระคาร์ดินัลเน้นย้ำว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดเป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุด วิธีปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม “เป็นตัวอย่างที่น่าเศร้าและชัดเจนของบาปเชิงโครงสร้าง” (structural sin) ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ "เรื่องสมมุติในอนาคต" แต่เป็นบางสิ่งที่มนุษยชาติกำลัง "ประสบโดยตรง" ดร. เปาโล รัฟฟินี (Dr. Paolo Ruffini) ประธานสมณสภาเพื่อการสื่อสาร (องค์กรแม่ของเรา) เห็นด้วยกับพระคาร์ดินัลเติร์กสัน โดยย้ำคำกล่าวของพระสันตะปาปาฟรังซิส โดยระบุถึงความจำเป็นในการเรียกวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า “ไม่อาจปฏิเสธได้”
ถึงแม้ว่าจะยากจนแต่เราทุกคนมีสิทธิ์ (Impoverished but ‘we all have the right’)
เอมิลเซ คูดา (Emilce Cuda) เลขาธิการคณะกรรมาธิการเพื่อละตินอเมริกาแห่งสันตะสำนัก (Pontifical Commission for Latin America) ชี้ให้เห็นว่า น้ำท่วมในบราซิล ซึ่ง “ทำลายชุมชนทั้งหมด” ซึ่งไม่ตกเป็นข่าวพาดหัวเหมือนที่เกิดขึ้นในสเปน เธอเรียกร้องให้ละตินอเมริกาทั้งหมดมุ่งความสนใจไปที่คำเตือนของพระสันตะปาปาฟรังซิส “เราเป็นทวีปที่ยากจน แต่เมื่อเรานั่งโต๊ะเดียวกัน เราทุกคนก็มีสิทธิในพื้นที่และเสรีภาพที่เท่ากันกัน ความยากจนลงไม่ได้หมายความว่า เราเป็นมืออาชีพน้อยลง หรือมีคุณสมบัติที่น้อยลง”
เราจะเผชิญหน้ากับอนาคตได้อย่างไร? (How to face the future)
องค์กรจำนวนมากกำลังทำงานเพื่อนำหลักการของพระสมณสาส์น "ขอสรรเสริญองค์พระเจ้า" (Laudato sì) ของพระสันตะปาปาฟรังซิสเรื่องความใส่ใจต่อบ้านส่วนรวม ไปใช้เพื่อสนับสนุนผู้ที่อ่อนแอที่สุดท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในเวเนซุเอลา โจชัว อเลฮานโดร ลอร์กา เวก้า (Josué Alejandro Lorca Vega) รัฐมนตรีกระทรวงพลังประชาชนเพื่อสังคมนิยมเชิงนิเวศ บรรยายถึงวิธีที่เยาวชนได้รับการอบรมเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมอบเครื่องมือที่จำเป็นในการทำหน้าที่ในส่วนของตน เนื่องจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ COP)
ครั้งที่ 29 เพิ่งสิ้นสุดลง เปโดร หลุยส์ เปโดรโซ คูเอสตา (Pedro Luis Pedroso Cuesta) รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพหุภาคีและกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศคิวบา เรียกการตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศว่า “กระจัดกระจาย” และไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่ได้ระบุ “วาระสำคัญทางการเงิน” เอาไว้ เพื่อเสนอความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว รองผู้อำนวยการคูเอสตา ใช้วลีของนักปฏิวัติคิวบากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการในทันทีว่า “พรุ่งนี้ก็สายเกินไปแล้วที่จะจัดการกับสิ่งที่เราควรทำเมื่อนานมาแล้ว”