บทเทศน์สอนวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2025 สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- ฮิต: 112
ในพระวรสารของนักบุญยอห์น มีการเอ่ยถึงแม่พระ 2 ครั้ง ครั้งแรกในงานสมรสที่เมืองคานาตอนพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นภารกิจ และครั้งที่สองที่เชิงกางเขนตอนพระองค์เสร็จสิ้นภารกิจ จึงเท่ากับว่าแม่พระมิได้มีบทบาทเพียงแค่ให้กำเนิดพระเยซูเจ้าแล้วก็จบเท่านั้น แต่ทรงมีบทบาทอย่างแข็งขัน ชนิดร่วมหัวจมท้ายกับพระองค์ตั้งแต่พระองค์ประสูติ ขณะพระองค์ทำภารกิจ จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
พระวรสารวันนี้เป็นเรื่องของงานสมรสที่เมืองคานา แม่พระได้รับเชิญพร้อมกับพระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์ของพระองค์อีก 5 คน ระหว่างงาน เหล้าองุ่นหมด แม่พระจึงขอให้พระเยซูเจ้าช่วย พระองค์จึงทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นชั้นดี ซึ่งยอห์นบอกว่าเป็นอัศจรรย์ครั้งแรกของพระองค์
ถ้านี่เป็นอัศจรรย์ครั้งแรก แล้วแม่พระรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูเจ้าสามารถทำอัศจรรย์ได้?
แน่นอนว่าแม่ที่ดีย่อมรู้จักลูกของตน รู้จักความ สามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ในลูกของตน แม่พระก็เช่นเดียวกัน
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ตลอด 30 ปีที่แม่พระอาศัยอยู่กับลูกซึ่งสามารถทำอัศจรรย์ได้ ทำไมแม่พระไม่เคยขอให้พระเยซูเจ้าทวีขนมปัง หรือเปลี่ยนน้ำบนโต๊ะอาหารให้เป็นเหล้าองุ่น หรือทวีเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยเลย ?
ตรงกันข้าม เป็นไปได้อย่างไรที่แม่พระซึ่งไม่เคยขอให้พระองค์ใช้ฤทธิ์อำนาจเพื่อช่วยเหลือแม่พระเอง แต่กลับรีบขอพระองค์ให้ใช้ฤทธิ์อำนาจนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อย่างที่เราได้ฟังในพระวรสารวันนี้ ?
ลองคิดดูสิ ถ้าเรามีลูกที่มีฤทธิ์อำนาจเสกเงินให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนใช้ได้ แล้วเราไม่คิดจะขอให้ลูกเสกเงินให้เราใช้ที่บ้านบ้างดอกหรือ ?
แน่นอน เราคงขอให้ลูกทำเช่นนั้น !
จริงอยู่ ความรักมันต้องเริ่มต้นจากภายในครอบครัว ลูกต้องรักพ่อรักแม่ ลูกต้องช่วยพ่อช่วยแม่ของตนเองก่อนสิ
แต่สำหรับพระเยซูเจ้าและแม่พระ ความต้องการของผู้อื่นต้องมาก่อนเสมอ !
อย่างในกรณีของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงทราบดีว่ามีฤทธิ์อำนาจที่จะทำอัศจรรย์ได้ แต่แม้จะทรงหิวโหยหลังจากจำศีลอดหารเป็นเวลาสี่สิบวันสี่สิบคืนในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ก็ไม่ยอมเปลี่ยนก้อนหินให้เป็นขนมปังตามการล่อลวงของปีศาจ แต่กับฝูงชนและผู้ที่ติดตามพระองค์ พระองค์ไม่ทรงรีรอเลยที่จะทวีขนมปังและปลาเพื่อเลี้ยงพวกเขา
สิ่งที่พระเยซูเจ้าและแม่พระต้องการจะสอนเราก็คือ พระพรที่พระเจ้าทรงโปรดประทานแก่เราแต่ละคนนั้น มิได้มีไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองหรือครอบครัวของเรา แต่มีไว้เพื่อรับใช้ผู้อื่น ดังที่นักบุญเปาโล หลังจากยกตัวอย่างพระพรต่างๆ ที่พระจิตเจ้าทรงโปรดประทานแก่แต่ละคนแล้ว นักบุญเปาโลก็ย้ำในบทอ่านที่สองวันนี้ว่า “พระจิตเจ้าทรงแสดงพระองค์ในแต่ละคนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” (1 คร 12:7) ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน
หากเราใช้พระพรอย่างเห็นแก่ตัว เราก็มีแต่จะแตกแยกกันมากขึ้น
วันนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะถามตัวเราเองว่า “พระเจ้าทรงโปรดประทานพระพรอะไรแก่ฉัน? ฉันกำลังใช้พระพรนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเป็นส่วนใหญ่ หรือเพื่อผู้อื่นในสังคม?”
พี่น้องอาจแปลกใจว่าทำไมทุกวันนี้เราจึงไม่เห็นพระพรของพระจิตเจ้าเหมือนอย่างที่เราได้ฟังในพระคัมภีร์ เหตุผลอาจเป็นได้ว่ายิ่งวันเรายิ่งเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น หากเราเริ่มต้นใช้พระพรเล็กๆ น้อยๆ ของเราเพื่อส่วนรวมให้มากยิ่งขึ้น เมื่อนั้นพระพรเหล่านี้ก็จะค่อยๆ งอกงามเจริญเติบโตจนกระทั่งเราจะเริ่มมองเห็นอัศจรรย์ได้
อย่าลืมว่า การคิดถึงผู้อื่นก่อนคือจุดเริ่มต้นของอัศจรรย์ !
นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีคือหนึ่งในบรรดานักบุญที่ทำอัศจรรย์มากมาย ทั้งนี้เป็นเพราะท่านอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อรับใช้พระเจ้าและเพื่อความดีของผู้อื่น วันนี้ จึงขอนำคำภาวนาของท่าน มาให้พวกเรารำพึงภาวนาไปพร้อมๆ กัน...
ข้าแต่พระเจ้า ขอพระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือของพระองค์เพื่อสร้างสันติ
ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความรัก
ที่ใดมีความเจ็บแค้น ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการให้อภัย
ที่ใดมีการแตกแยกกัน ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสามัคคี
ที่ใดมีความเท็จ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความจริง
ที่ใดมีความสงสัย ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความเชื่อ
ที่ใดมีความสิ้นหวัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความหวัง
ที่ใดเป็นที่มืด ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสว่าง
ที่ใดมีความโศกเศร้า ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความยินดีเบิกบานใจ
โอ้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าไม่พยายามให้ผู้อื่นปลอบโยน แต่พยายามปลอบโยนผู้อื่น
ไม่พยายามให้ผู้อื่นเข้าใจ แต่พยายามเข้าใจผู้อื่น
ไม่พยายามให้ผู้อื่นรัก แต่พยายามรักผู้อื่น
เหตุว่า โดยการให้ เราจึงได้รับ
โดยการให้อภัย เราจึงได้รับการอภัย
และโดยการตาย เราจึงเกิดอีกครั้งสู่ชีวิตนิรันดร