บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2023 สัปดาห์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- ฮิต: 467
เมื่อเรารับศีลล้างบาป เราทุกคนได้รับมอบหมายจากพระเยซูเจ้าให้ทำหน้าที่เป็นทั้ง สงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์
ที่ผ่านมาบางคนทำหน้าที่สงฆ์ด้วยการถวายบูชามิสซา บางคนทำหน้าที่สงฆ์ด้วยการร่วมในพิธีบูชามิสซา เราทำหน้าที่กษัตริย์ด้วยการดูแลวัดบ้าง ดูแลบ้านช่องและลูกหลานของเราเองบ้าง แต่สิ่งที่เราแทบจะไม่ได้คิดถึงเลยก็คือการทำหน้าที่ในฐานะประกาศก
ประกาศกคือผู้ที่พูดในพระนามของพระเจ้า บทอ่านที่หนึ่งวันนี้ทำให้เรามองเห็นบทบาทหน้าที่ของประกาศกที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้แก่ประกาศกเอเสเคียลได้อย่างชัดเจน
บทบาทที่ว่าก็คือการตักเตือนคนผิดแทนพระเจ้า หากประกาศกไม่ตักเตือน คนผิดนั้นต้องตายเพราะความผิดของตนเองก็จริง แต่พระเจ้าจะเอาผิดกับประกาศกด้วย
เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราคริสตชนทุกคนในฐานะที่เป็นประกาศก ที่จะต้องก้าวออกไปหาพี่น้องของเราที่ประพฤติผิด ไปตักเตือนเขาแทนพระเจ้าให้สำนึกผิดและละทิ้งความประพฤติผิดของตน
พี่น้องอาจจะบอกว่าเคยลองเตือนเขาแล้ว แต่ถูกเขาสวนกลับมาเจ็บๆ
หากปัญหานี้เกิดจากผู้ถูกเตือน พี่น้องก็ใจเย็นๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระเจ้าที่จะลงโทษความผิดของเขาดังที่เราได้ฟังในบทอ่านที่หนึ่ง
แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ปัญหาอาจจะเกิดจากตัวผู้ตักเตือนเอง เช่น เกิดจากอคติ เกิดจากเจตนา จากท่าที จากน้ำเสียง หรือจากวิธีการของผู้ตักเตือนเองก็ได้
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ พระวรสารโดยนักบุญมัทธิวที่เราได้ฟังวันนี้ จึงให้วิธีการสำหรับเราจะได้นำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ประพฤติผิดต่อเรา ดังนี้
ประการแรก พระวรสารบอกว่า “ถ้าพี่น้องของท่านทำผิดจงไปตักเตือนเขาตามลำพัง” ก็แปลว่าเมื่อเรารู้สึกว่ามีคนทำผิดต่อเรา สิ่งแรกสุดที่เราต้องกระทำก็คือ “พบเขาตัวต่อตัว” และ “พูดออกมา” ไม่ใช่เก็บเงียบไว้ในใจซึ่งมีแต่จะส่งผลร้ายต่อชีวิตและจิตใจของเราเอง
สาเหตุที่ต้อง “พบเขาตัวต่อตัว” ไม่ใช่ใช้โทรศัพท์ ใช้โซเชี่ยลมีเดีย หรือพูดผ่านคนอื่น เป็นเพราะหากใช้ตัวกลาง ผู้ฟังจะไม่สามารถรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก หรือสีหน้าท่าทางของผู้พูด อันอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงได้
นอกจากนี้ ท่าทีในการพูดของเราต้องเป็นท่าทีที่เต็มไปด้วยความรัก นักบุญเปาโลบอกเราในบทอ่านที่สองวันนี้ว่า “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน”
พี่น้องครับ มีสถิติที่น่าจะเป็นกำลังใจให้แก่เราได้เป็นอย่างดีก็คือ ผู้ที่พูดจาด้วยความรัก สามารถโน้มน้าวคู่กรณีให้กลับมาคืนดีกันได้ 9 ใน 10 รายทีเดียว
ประการที่สอง หากการพบกันตัวต่อตัวยังไม่ประสบความสำเร็จอีก พระวรสารบอก “จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย” นั่นคือ ให้เรานำผู้รู้หรือผู้ใหญ่ที่ทุกฝ่ายเกรงใจไปด้วย เพราะจะช่วยให้บรรยากาศในการพูดคุยกันดีขึ้น และเป็นไปได้ว่าแต่ละฝ่ายจะมองเห็นตัวตนของตนเองเหมือนอย่างที่ผู้รู้หรือผู้ใหญ่ที่เราพาไปมองเห็น
ประการที่สาม หากปัญหายังไม่ยุติ “จงแจ้งให้หมู่คณะทราบ” เพราะหากนำเรื่องสู่ศาลเราอาจยุติปัญหาทางแพ่งหรือทางอาญาได้ก็จริง แต่ความสัมพันธ์นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้ว ยังมีแต่จะทำให้ปัญหายืดเยื้อยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด
ตรงกันข้ามกับศาล บรรยากาศในหมู่คณะคริสตชนซึ่งมีการสวดภาวนาและมี “ความรักแบบคริสตชน” ย่อมเอื้อต่อการแก้ปัญหาได้ดีกว่าตัวบทกฎหมายและระเบียบขั้นตอนของศาลมากมายนัก
ประการที่สี่ หากยังไม่สำเร็จอีก ขั้นตอนสุดท้ายคือ “จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนาหรือคนเก็บภาษีเถิด”
เพื่อจะเข้าใจขั้นตอนนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า ในเมื่อพระเยซูเจ้ายังไม่ทรงละทิ้ง “แกะ” ที่พลัดหลงแม้แต่ตัวเดียว มีหรือที่พระองค์จะทรงยินยอมให้ “คน” ที่พลัดหลงแม้แต่คนเดียว ถูกทอดทิ้งด้วยความสิ้นหวัง ?!
จึงดูเหมือนพระองค์กำลังสอนเราว่า “เมื่อท่านได้ให้โอกาสแก่คนบาปและพยายามทุกวิถีทางแล้ว หากเขายังดึงดันอยู่ในบาป พวกท่านอาจถือว่าเขาเป็นคนเก็บภาษี หรือเป็นคนต่างศาสนาก็ได้ แต่เราไม่เห็นว่าคนเก็บภาษีหรือคนต่างศาสนาจะสิ้นหวังตรงไหน ดูอย่างมัทธิวและศักเคียสสิ พวกเขากลายเป็นเพื่อนรักของเรา เพราะฉะนั้นพวกท่านต้องพยายามชนะใจพวกเขาให้ได้เหมือนที่เราได้ทำมาแล้ว”
ขั้นตอนนี้จึงมิใช่คำสั่งให้เราทอดทิ้งคนบาป แต่เป็นการท้าทายเราให้พยายามชนะใจคนบาปด้วยความรักตามแบบอย่างของพระองค์ ความรักที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในหัวใจไม่ว่าจะแข็งกระด้างปานใดก็ตาม !
เหตุที่พระองค์ทรงเรียกร้องให้เราคืนดีกันก็เพราะว่า “ทุกสิ่งที่เราจะผูกในโลก จะผูกไว้ในสวรรค์ และทุกสิ่งที่เราจะแก้ในโลก ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” ก็แปลว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนพี่น้องที่ถูกผูกหรือถูกแก้ในโลกนี้ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะต่างก็ส่งผลถึงชีวิตนิรันดรในสวรรค์ด้วย
เพราะฉะนั้นเรา “ต้อง” เยียวยาแก้ไขความสัมพันธ์ให้กลับมาดีดังเดิมให้ได้ !
พี่น้องครับ ในมิสซาวันนี้ ให้เราขอบพระคุณพระเยซูเจ้าที่ทรงให้หลักปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมแก่เราในการตักเตือนและในการเยียวยาความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และให้เราวอนขอพระองค์ โปรดให้เราไม่เพียงเป็นผู้ฟังที่ดีเท่านั้น แต่ให้เราพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่พระองค์ทรงสอนเรา และในเวลาเดียวกันก็พร้อมที่จะน้อมรับคำตักเตือนจากผู้อื่นด้วยใจสุภาพถ่อมตนด้วยเทอญ