มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

บทที่ 3 : พระฐานานุกรมแห่งพระศาสนจักรและตำแหน่งพระสังฆราชโดยเฉพาะ

อารัมภบท
    18.  พระสวามีคริสตเจ้า มีพระประสงค์จะเลี้ยงดูและทวีประชากรของพระเป็นเจ้า  ให้มีจำนวนมากขึ้น ๆ อยู่เสมอ  จึงได้ทรงจัดตั้งให้พระศาสนจักรของพระองค์ มีศาสนบริกร (36) ต่าง ๆ ซึ่งล้วนสร้างคุณประโยชน์แก่พรวรกายทั่วทั้งพระวรกาย บรรดาศาสนบริกรทรงอำนาจศักดิ์สิทธิ์,  ทำงานรับใช้มวลพี่น้องด้วยกัน  หวังให้ทุก ๆ คนที่เป็นสมาชิกประชากรของพระเป็นเจ้า,  และเพราะเป็นประชากรของพระเป็นเจ้าจึงประกอบด้วยเกียรติศักดิ์เป็นคริสตชนอย่างแท้จรงิ  และเพื่อมุ่งหน้าอย่างเป็นอิสระเสรี  และเป็นระเบียบเรียบร้อยสู่จุดหมายอันเดียวกัน, พวกเขาจะได้บรรลุถึงความรอด.

สภาพระสังคายนาสากลครั้งนี้ สะกดรอยตามพระสังคายนาวาติกันครั้งที่หนึ่ง  และพร้อมกับพระสังคายนาดังกล่าว  ท่านสั่งสอนและประกาศว่า :  พระเยซูคริสตเจ้า, องค์พระชุมพาบาลนิรันดร ได้ทรงสถาปนาพระศาสนจักรอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้น โดยได้ทรงส่งท่านอัครสาวกไปดุจดังพระบิดาได้ทรงส่งพระองค์ท่านมา  (เทียบ ยน. 20,21) ; บรรดาผู้สืบตำแหน่งของอัครสาวก นั่นคือบรรดาพระสังฆราช,  พระองค์ได้ทรงพอพระทัยแต่งตั้งขึ้นเป็นชุมพาบาลในพระศาสนจักรของพระองค์เรื่อยไปจวบจนสิ้นพิภพ.  แต่เพื่อจะให้ตัวตำแหน่งพระสังฆราชคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและแบ่งแยกไม่ได้,  พระองค์ได้ทรงตั้งท่านเปโตรให้เป็นประมุขของอัครสาวกอื่นทั้งหลาย  และในตัวท่านเปโตรนั้น พระองค์ได้ทรงวางแหล่งที่มาและรากฐานอันคงอยู่เสมอ และแลเห็นได้แห่งเอกภาพทางความเชื่อ และทางด้านสหพันธ์. อันคำสอนเรื่องการสถาปนา, เรื่องความคงทนอยู่เสมอ,  เรื่องอำนาจและเหตุผลของการเป็นประมุขแห่งพระสังฆราชแห่งกรุงโรม,  ตลอดจนเรื่องอาจาริยานุภาพอันไม่รู้ผิดพลั้งของพระองค์ท่าน, สภาพระสังคายนานี้กลับนำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง  ให้สัตบุรุษทั้งสิ้นต้องเชื่ออย่างมั่นคง แล้วจากที่เริ่มต้นนี้  ท่านเสริมต่อไป  เรื่องคำสอนเกี่ยวกับบรรดาพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งของบรรดาอัครสาวก,   ท่านเหล่านี้  พร้อมกับผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร, องค์ผู้แทนของพระคริสตเจ้าเป็นศีรษะที่แลเห็นได้ของพระศาสนจักรทั้งหมด ทั้งสองฝ่ายดังกล่าวนี้เป็นผู้ปกครองเคหะของพระเปนเจ้าผู้ทรงชีวิต สภานี้กำหนดให้แสดงและประกาศดังนี้ต่อหน้าทุก ๆ คน.

การแต่งตั้งอัครสาวก 12 ท่าน
    19.  พระสวามีเยซูเจ้า, หลังแต่ได้ทุ่มเทอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาแล้ว,  ได้ทรงเรียกบุคคลที่พระองค์เองทรงพอพระทัยเข้ามาหา  แล้วแต่งตั้ง  12  ท่าน  ให้อยู่กับพระองค์และให้เขาไปประกาศพระราชัยของพระเป็นเจ้า  (เทียบ มก. 3,13-19; มธ. 10,1-42).  สิบสองคนนี้ พระองค์ได้ทรงตั้งขึ้นเป็นอัครสาวก  (เทียบ ลก. 6,13)  ตั้งขึ้นเป็นทำนองคณะ หรือเป็นกลุ่มก้อนที่ถาวร และในพวกเขานี้ พระองค์ได้ทรงเลือกคนหนึ่ง  คือ ท่านเปโตร, ตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะ  (เทียบ ยน. 21,15-17). ได้ทรงใช้พวกเขาไปหาลูก ๆ ชาวอิสราเอลก่อน แล้วจึงไปหานานาชาติทั้งหลาย  (เทียบ รม. 1-16) ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขามีส่วนในฤทธิ์อำนาจของพระองค์  ไปทำให้ประชากรทั้งหลายมาเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ท่านเอง, ให้ทำให้เขาเป็นคนศักดิ์สิทธ์,  และให้ปกครองพวกเขา  (เทียบ มธ. 28,16-20; มก. 16,15; ลก. 24,45-48; ยน. 20,21-23), ดังนี้แหละ เพื่อให้พวกเขาขยับขยายและเลี้ยงดูพระศาสนจักร โดยให้บริการภายใต้การนำของพระสวามีเจ้า  ทุก ๆ วันเรื่อยไปจวบจนสิ้นพิภพ  (เทียบ มธ. 28,20),  บรรดาอัครสาวกได้รับกำลังตั้งมั่นเต็มที่ในภารกิจอันนี้ ณ  วันเปนเตกอสเต (วันที่  50  วันพระจิตเสด็จมาโปรด : เทียบ กจ. 2,1-26)  ตามที่พระสวามีเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ว่า “พวกเจ้าจะได้รับฤทธิเดชของพระจิตเจ้าผู้เสด็จเข้ามาในตัวเจ้า  และพวกเจ้าจะเป็นพยานให้แก่ข้าฯ ที่เยรูซาเลม, ทั่ว ๆ ประเทศยูเดีย, และสมารีอา,  และจนทั่วแดนดิน (กจ. 1,8), ฝ่ายพวกอัครสาวกไปประกาศพระวรสารทั่วทุกหนทุกแห่ง (เทียบ มก. 16,20), บรรดาผู้ฟังก็ได้รับพระวรสารเดชะพระจิตเจ้าทรงกระตุ้นดลใจ, พวกท่านจึงรวบรวมพระศาสนจักรสากล  (= ทั่วไป)  พระศาสนจักรนี้  พระสวามีเจ้าได้ทรงสถาปนาขึ้นในพวกอัครสาวก  และได้ทรงตั้งขึ้นบนท่านเปโตร, หัวหน้าของพวกท่าน  โดยพระองค์ท่านเอง พระเยซูคริสตเจ้า ทรงเป็นสุดยอดศิลามุม  (= เป็นเสาเอกอันมั่นคง) (เทียบ วว. 21,14; มธ. 16,18; อฟ. 2,20).

พระสังฆราชคือผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก
    20.  ภารกิจของพระเป็นเจ้านั้น  อันที่พระคริสตเจ้าได้ทรงมอบหมายฝากไว้กับพวกอัครสาวก จำจะต้องดำรงอยู่จวบจนสิ้นพิภพ (เทียบ มธ. 28,20), เพราะว่าพระวรสารที่พวกท่านต้องมอบต่อ ๆ กันไปนั้น เป็นดังแหล่งที่มาแห่งชีวิตสำหรับพระศาสนจักรในทุก ๆ เวลา,  เพราะเหตุนี้เอง พวกอัครสาวก  ในสังคมที่มีระเบียบเป็นฐานานุกรม, ท่านจึงได้ใส่ใจอันที่จะแต่งตั้งผู้สืบตำแหน่งแทนพวกท่าน,  มิใช่แต่พวกอัครสาวกได้มีผู้ช่วยในหน้าที่ของท่านหลายคนหลายตำแหน่งเท่านั้น  แต่เพื่อให้ภารกิจที่ท่านได้รับมอบหมายดำรงอยู่ต่อไป  หลังมรณกรรมของพวกท่าน,  ท่านจึงได้กำชับสั่งดังเป็นพินัยกรรม ให้ผู้ร่วมงานใกล้ชิดของท่านทำภาระหน้าที่นั้นต่อไปจนสำเร็จ  และงานที่พวกท่านได้เริ่มไว้ ก็ให้พวกเขายืนหยัดทำต่อไป  พลางกำชับให้พวกเขาเอาใจใส่ต่อฝูงแกะทั้งหมด  ซึ่งพระจิตเจ้าได้ทรงตั้งเขาไว้ให้เลี้ยงดูพระศาสนจักรของพระเป็นเจ้า (เทียบ กจ. 20,28), ฉะนั้นพวกอัครสาวกจึงได้แต่งตั้งบุรุษประเภทนี้ขึ้นหลายท่าน และยังกำชับสั่งให้ต่อ ๆ ไปเมื่อเขาจะได้ตายจากไป, ให้คนอื่นที่ได้ทดสอบมาดีแล้วรับช่วงภารกิจนั้นต่อไป.  ในบริการภารกิจต่าง ๆ ที่กระทำกันมาในพระศาสนจักรตั้งแต่สมัยเริ่มแรกพระกิตติเป็นพยาน,  ภาระหน้าที่สำคัญอันดับหนึ่งคือหน้าที่ของบุคคลที่ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งพระสังฆราช,  โดยการสืบหน้าที่แทนเป็นการไหลลงมาจากต้นเดิม, เขาพวกนี้ถ่ายทอดพันธุ์มาจากพวกอัครสาวก.  ตัวอย่างตามคำพยานของนักบุญอิเรเนโอ, ท่านยืนยันว่า :  โดยผ่านทางบุคคลที่พวกอัครสาวกได้ตั้งขึ้นเป็นพระสังฆราช และบุคคลที่สืบตำแหน่งของพระสังฆราชเหล่านั้น  จนกระทั่งมาถึงสมัยของเรา พระกิตติ (= การมอบหมายต่อ ๆ มา) ของอัครสาวกจึงประจักษ์ชัดและคงรักษาไว้ในทั่วโลก.

เพราะฉะนั้น  บรรดาพระสังฆราชได้รับหน้าที่ศาสนบริการ (36) ของกลุ่มชน  ทั้งนี้ร่วมกับบรรดาผู้ช่วยเหลือท่านคือ  พวกพระสงฆ์และสังฆานุกร (37) ท่าน  (= พระสังฆราช)  ทำหน้าที่เป็นประธานของฝูงแกะซึ่งท่านเป็นชุมพาบาล  แทนที่พระเป็นเจ้า ในฐานะที่ท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมะ,  ท่านเป็นพระสงฆ์ในพิธีศาสนกิจและเป็นบริกรผู้ปกครอง,  อันหน้าที่ที่พระสวามีเจ้าได้ทรงมอบให้แก่ท่านเปโตรคนเดียวโดยเฉพาะ, ท่านผู้เป็นที่หนึ่งในบรรดาอัครสาวก,  ก็หน้าที่นี้จะต้องดำรงอยู่และต้องมอบให้แก่ผู้สืบตำแหน่งของท่านฉันใด, ก็ฉันนั้น  ยังคงดำรงถาวรซึ่งหน้าที่ของบรรดาอัครสาวก  หน้าที่ที่ต้องเลี้ยงดูพระศาสนจักร,  ซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เสมอจากฝ่ายผู้อยู่ในระดับอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาพระสังฆราช  เพราะฉะนั้นสภาพระสังคายนาจึงประกาศสอนว่า : บรรดาพระสังฆราช, จากการสถาปนาของพระเป็นเจ้าเอง, ได้สืบตำแหน่งแทนที่บรรดาอัครสาวก,  ในฐานะเป็นชุมพาบาลของพระศาสนจักร  ซึ่งผู้ใดเชื่อฟังท่าน, ผู้นั้นเชื่อฟังพระ   คริสตเจ้า,  แต่ผู้ใดประมาทท่าน, ผู้นั้นประมาทพระคริสตเจ้า  ทั้งพระองค์ที่ได้ทรงส่งพระคริสตเจ้ามา (เทียบ ลก. 10,16)

ภาวะพระสังฆราช (38) เป็นศักดิ์สิทธิการ
    21.  ฉะนั้นบรรดาพระสังฆราชที่พวกพระสงฆ์กำลังห้อมล้อมร่วมพิธีท่ามกลางบรรดาผู้มีศรัทธา (38) ก็มีองค์พระสวามีเยซูคริสตเจ้า,  พระสมณะสูงสุด (39)  ประทับอยู่กับท่าน   พระองค์ประทับอยู่เบื้องขวาของพระเป็นเจ้าพระบิดาก็จริง,  ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่พระองค์อยู่ห่างไกลจากกลุ่มชน (40) ของบรรดาพระสังฆราชของพระองค์,  แต่เฉพาะอย่างยิ่งโดยอาศัยการรับใช้อันล้ำค่าของพวกพระสังฆราช (เทียบ 1 คร. 21,15), พระองค์ทรงประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้าแก่นานาชาติทั้งหลาย, และทรงประกอบศักดิ์สิทธิการแห่งความเชื่ออยู่เนืองนิตย์, อาศัยหน้าที่เยี่ยงบิดาของพวกพระสังฆราช (เทียบ 1 คร. 4,15),  พระองค์ทรงรับสมาชิกใหม่เข้ามาสังกัดพระวรกายของพระองค์ โดยทางการเกิดใหม่อันสูงส่ง, ที่สุดอาศัยความปรีชาและความรอบคอบของบรรดาพระสังฆราช, พระองค์ทรงนำทางและจัดระเบียบให้ประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่  ขณะระเหระหนอยู่ในโลกนี้ไปสู่ความบรมสุขนิรันดร.  ท่านเหล่านี้นั่นแหละ  ได้ถูกเลือกสรรให้เป็นชุมพาบาลสำหรับเลี้ยงฝูงแกะของพระสวามีเจ้า, ท่านเหล่านี้เป็นบริกรคนใช้ของพระคริสตเจ้า, เป็นผู้แจกจ่ายพระอคาธัตถ์ต่าง ๆ ของพระเป็นเจ้า (1 คร. 4,1)  ท่านเหล่านี้ได้รับมอบหมายให้ทำการประกาศยืนยันข่าวดี (พระวรสาร) แห่งพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า (เทียบ รม. 15,16; กจ. 20,24) ตลอดจนการประทานพระจิต และความยุติธรรมในพระเกียรติมงคล  (เทียบ 2 คร. 3,8-9)
สำหรับจะปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป พวกอัครสาวกได้รับพระจิตผู้เสด็จมาอย่างอุดมเต็มเปี่ยมจากพระคริสตเจ้า (เทียบ กจ. 1,8 : 2,4; ยน. 20,22-23), แล้วพวกท่านเอง โดยทางการปกมือได้มอบพระคุณของพระจิตนี้ ให้แก่ผู้ช่วยของท่าน (เทียบ 1 มท. 4,14; 2 มท. 1,6-7), และการกระทำอันนี้ก็มอบต่อ ๆ กันมาในการอภิเษกพระสังฆราชจนถึงชาวเราทุกวันนี้.  สภาพระสังคายนาสากลนี้จึงสอนว่า  การอภิเษกพระสังฆราชประสาท (41)  ความบริบูรณ์ของศักดิ์สิทธิการ - อนุกรม,  แน่นอนความบริบูรณ์อันนี้  ทั้งประเพณีทางจารีตพิธีของพระศาสนจักร,  ทั้งวาจาคำพูดของบรรดานักบุญปิตาจารย์ ก็เรียกว่า สังฆภาพอันสูงสุด,  สุดยอดของบริกรศักดิ์สิทธิ์, การอภิเษกพระสังฆราช และพร้อมกันนี้ภาระหน้าที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์, ขณะเดียวกันก็ประสาทอำนาจหน้าที่สั่งสอนและหน้าที่ปกครองอีกด้วย,  ถึงกระนั้นหน้าที่ทั้งสองนี้ ตามธรรมชาติของมันไม่อาจปฏิบัติได้  นอกจากจะร่วมสหพันธ์ทางพระฐานานุกรมอยู่กับหัวหน้าและสมาชิกของคณะ (42) พระกิตติที่แสดงออกมาเป็นต้น  ในทางจารีตพิธีแห่งพระศาสนจักรทั้งฝ่ายตะวันออก ทั้งฝ่ายตะวันตก  ตามที่ปฏิบัติกัน, เป็นที่ปรากฏเด่นชัดว่า การปกมือและการอภิเษกประสาทพระหรรษทานของพระจิตเจ้าและประทับตราอันศักดิ์สิทธิ์ให้,  จนกระทั่งพระสังฆราช,  ด้วยท่วงท่าอันสูงเด่นและแลเห็นได้ชัด  ท่านรับเอาและสวมองค์ของพระคริสตเจ้าเอง, ผู้เป็นพระอาจารย์, พระชุมพาบาลและพระสมณะ, เป็นหน้าที่ของบรรดาพระสังฆราชที่จะนำผู้รับเลือกสรรใหม่ให้เข้าสู่สมาชิกคณะพระสังฆราช โดยทางการประสาทศักดิ์สิทธิการ – อนุกรม.

คณะของพระสังฆราช  และองค์พระประมุขของคณะ
    22.  ตามที่พระสวามีเจ้าทรงแต่งตั้งไว้  นักบุญเปโตรกับอัครสาวกอื่น ๆ ทั้งหลาย รวมกันเป็นคณะอัครสาวกหนึ่งหน่วยฉันใด, ก็โดยเหตุผลอันเสมอกัน  พระสังฆราชกรุงโรมผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร  กับบรรดาพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งอัครสาวกก็รวมกันและกันด้วยฉันนั้น เป็นหลักประเพณีถือกันมาแต่โบราณกาลนานนักหนา  ที่บรรดาพระสังฆราชผู้ได้รับแต่งตั้งในโลกจักรวาล  ท่านติดต่อกันระหว่างพวกท่านเอง  และติดต่อกับพระสังฆราชกรุงโรม โดยมีความสัมพันธ์กันทางด้านเอกภาพ, ทางด้านความรักหวังดีต่อกัน และทางการมีสันติสุขต่อกัน  เช่นเดียวกันการมาร่วมประชุมสังคายนากัน  เพื่อตกลงร่วมกันในปัญหาสำคัญ ๆ โดยใช้การตัดสิน  มีน้ำหนักจากความคิดเห็นของหลาย ๆ ท่าน,  ก็แสดงให้เห็นคุณลักษณะและหลักการเป็นคณะของทำเนียบพระสังฆราช.  คุณลักษณะการเป็นคณะนี้ยืนยันได้ด้วยพระสังคายนาสากลต่าง ๆ ที่ได้ประชุมกันมาในกระแสศตวรรษต่าง ๆ อีกด้วย,  เรื่องนี้ยังมีการส่อแสดงให้เห็นประจักษ์ด้วยประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาลคือ เมื่อมีใครได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกิดใหม่ เขาก็เชิญพระสังฆราชหลายองค์มาร่วมในการเทิดเกียรติของผู้ได้รับภาระหน้าที่สังฆภาพสูงสุด  ใครเข้าเป็นสมาชิกทำเนียบพระสังฆราช คนนั้นต้องได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยการอภิเษกของศักดิ์สิทธิการ และต้องร่วมสหพันธ์ของพระฐานานุกรมกับองค์พระประมุขของคณะ  ทั้งกับสมาชิกของคณะนั้นด้วย.

อันว่าคณะหรืออีกนัย (43) ทำเนียบของบรรดาพระสังฆราชไม่มีอำนาจ  เว้นแต่เมื่อเป็นที่ยอมรับว่า  ท่านอยู่ร่วมกับพระสังฆราชกรุงโรม,  ผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร,  ในฐานะเป็นองค์พระประมุขของคณะ,  ซึ่งพระองค์ท่านจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมีอำนาจของปฐมภาวะครบบริบูรณ์ (44) ต่อทุก ๆ คน  ไม่ว่าเป็นชุมพาบาลหรือสัตบุรุษ. เหตุด้วยว่าพระสังฆราชกรุงโรม  เดชะภาระหน้าที่ของพระองค์ท่าน,  กล่าวคือ  เป็นผู้แทนองค์พระคริสตเจ้า, และเป็นชุมพาบาลของพระศาสนจักรทั้งหมด,  จึงทรงอำนาจเต็มเปี่ยม,  สูงสุด  และสากลทั่วไปต่อพระศาสนจักร และทรงสามารถใช้อำนาจนี้ได้อยู่เสมออย่างอิสระเสรีด้วย. ส่วนทำเนียบพระสังฆราชซึ่งขึ้นแทนที่ของบรรดาอัครสาวก  ในด้านอาจาริยานุภาพ  และด้านการปกครอง  ฐานะชุมพาบาล, กว่านั้นอีกทำเนียบของอัครสาวกยังคงดำรงอยู่ต่อมาในทำเนียบของบรรดาพระสังฆราชด้วย, ในเมื่อท่านร่วมอยู่กับองค์พระประมุขของท่าน กล่าวคือพระสังฆราชกรุงโรม, แต่เป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีองค์พระประมุขนี้,  ในกรณีดังกล่าวทำเนียบพระสังฆราชก็เป็นผู้รับ (Subjectum)  อำนาจสูงสุดและเต็มเปี่ยมเหนือพระศาสนจักรสากลทั่วไป และอำนาจนี้อาจนำมาใช้ได้ก็เฉพาะเมื่อพระสังฆราชกรุงโรมทรงเห็นชอบด้วยเท่านั้น,  พระสวามีเจ้าได้ทรงวางท่านซีมอนคนเดียวเป็นศิลา และเป็นต้นกุญแจของพระศาสนจักร  (เทียบ มธ. 16,18-19)  และได้ทรงแต่งตั้งท่านเป็นชุมพาบาลของฝูงแกะของพระองค์ทั้งหมด     (เทียบ ยน. 21,15 ต่อ ๆ ไป),   ส่วนภาระหน้าที่ผูกมัดและแก้ออกที่พระองค์ได้ประทานให้แก่ท่านเปโตร  (เทียบ มธ. 16,19) นั้น,  พระองค์ก็ได้ประทานให้แก่ทำเนียบอัครสาวกด้วย ในเมื่อท่านร่วมอยู่ในองค์ประมุขของท่าน,  เรื่องนี้ประจักษ์แน่ชัด (เทียบ มธ. 18,18; 28,16-20) คณะอันนี้ในฐานะที่ประสมอยู่ด้วยมากคน ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและสากลภาพของประชากรของพระเป็นเจ้าในฐานะที่รวมกันอยู่ใต้ศีรษะอันเดียว ก็แสดงให้เห็นถึงเอกภาพแห่งฝูงแกะของพระคริสตเจ้า. ในฝูงแกะนี้บรรดาพระสังฆราชผู้สัตย์ซื่อ เคารพนับถือปฐมภาวะและความเป็นหัวหน้าแห่งศีรษะของตน,  ก็ใช้อำนาจของตนโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์สัตบุรุษของตน,  กว่านั้นอีกเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักรทั้งหมด,  โดยที่พระจิตเจ้าประทานพละกำลังแก่โครงสร้างอันประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ นั้น และประทานความสามัคคีปรองดองให้อยู่เสมอ อำนาจสูงสุดเหนือพระศาสนจักรสากลทั้งหมด,  ซึ่งคณะพระสังฆราชมีอยู่นั้น,  นำตัวแสดงออกมาใช้ด้วยท่วงทำนองอันสง่าราศี คือโดยทางพระสังคายนาสากล พระสังคายนาสากลไม่มีวันมีขึ้น  ถ้าหากผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตรไม่ยอมรับรองว่าเป็นเช่นนั้น  หรืออย่างน้อยยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น. เป็นเอกสิทธิ์ของพระสังฆราชกรุงโรมที่จะเรียกประชุมพระสังคายนาสากล, ที่จะเป็นประธานในที่ประชุมและที่จะรับรองพระสังคายนาสากลนั้น ๆ. อำนาจอันเดียวกันนี้ของคณะร่วมกับพระสันตะปาปาก็อาจปฏิบัติได้ โดยบรรดาพระสังฆราชที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดินโลก, ขอเพียงให้องค์พระประมุขของคณะทรงเรียกท่านมากระทำกิจกรรมอันเป็นของคณะ, หรืออย่างน้อยให้พระองค์ท่านรับรองว่า  เป็นกิจกรรมอันรวมเป็นหนึ่งเดียวของบรรดาพระสังฆราชที่กระจัดกระจายกัน หรือพระองค์ท่านทรงยอมรับอย่างอิสระเสรี อย่างเช่นที่กิจการนั้นเป็นกิจการของคณะโดยแท้.

การติดต่อระหว่างกันและกันภายในคณะ (พระสังฆราช)
    23.  เอกภาพคณะพระสังฆราช ยังปรากฏออกมาให้เห็นได้ชัด ด้วยการติดต่อของพระสังฆราชแต่ละองค์  กับพระศาสนจักรปลีกย่อยและกับพระศาสนจักรสากล พระสังฆราชกรุงโรมในฐานะเป็นผู้สืบตำแหน่งท่านเปโตร, พระองค์ท่านทรงเป็นหลักและฐานที่ตั้งอันถาวร  และที่แลเห็นได้แห่งเอกภาพทั้งของบรรดาพระสังฆราช ทั้งของกลุ่มประชาสัตบุรุษ พระสังฆราชแต่ละองค์ก็เป็นหลักและเป็นฐานที่ตั้งอันแลเห็นได้เหมือนกัน  ของเอกภาพในพระศาสนจักรปลีกย่อยของตน ๆ, ซึ่งเป็นรูปขึ้นมาตามรูปแบบของพระศาสนจักรสากล,  และจากพระศาสนจักรปลีกย่อย มีพระศาสนจักรคาทอลิก  (= สากล)  อันหนึ่ง  แต่อันเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นพระสังฆราชแต่ละองค์ ๆ เป็นตัวแทนพระศาสนจักรของตน ๆ และพระสังฆราชทุกองค์ร่วมกับพระสันตะปาปาเป็นตัวแทนพระศาสนจักรสากลทั้งหมด. โดยสายสัมพันธ์ทางสันติ, ความรักและเอกภาพ (= ความเป็นหนึ่งเดียวกัน).

พระสังฆราชแต่ละองค์  ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพระศาสนจักรปลีกย่อย,  ท่านก็ปฏิบัติหน้าที่ปกครองเป็นชุมพาบาลเหนือส่วนหนึ่งแห่งประชากรของพระเป็นเจ้าที่ท่านได้รับมอบหมาย, หาใช่เหนือพระศาสนจักรส่วนอื่น ๆ, ทั้งนี้มิใช่เหนือพระศาสนจักรสากล.  แต่พระสังฆราชแต่ละองค์, ในฐานะที่ท่านเป็นสมาชิกของคณะพระสังฆราช  และเป็นผู้แทนอัครสาวกตามคลองธรรม,  ท่านแต่ละองค์จำต้องสลวนสนใจต่อพระศาสนจักรสากล ทั้งนี้เนื่องจากการแต่งตั้งและพระบัญชาของพระคริสตเจ้า.  อันความสลวนสนใจนี้  แม้ว่าท่านมิได้ปฏิบัติโดยเป็นกิจกรรมทางอำนาจอาชญาสิทธิ์ (46) ถึงกระนั้นก็เป็นคุณประโยชน์ต่อพระศาสนจักรสากลมากทีเดียว  เหตุว่าพระสังฆราชทุกองค์จำต้องส่งเสริมและปกป้องเอกภาพทางความเชื่อ  และระเบียบวินัยทั่วไปของพระศาสนจักรทั้งหมด, ท่านต้องสั่งสอนสัตบุรุษให้มีความรักต่ออคาธกายทั้งหมดของพระคริสตเจ้า, เฉพาะอย่างยิ่งต่อสมาชิก  (อวัยวะ)  ที่ยากจน, ที่เดือดร้อน,  และที่ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความยุติธรรม (เทียบ มธ. 5,10) ที่สุดท่านต้องส่งเสริมการพยายามออกแรง  ซึ่งเป็นของสาธารณะทั่วไปของพระศาสนจักรทั้งหมด  เป็นต้นเพื่อให้ความเชื่อทวีมากขึ้น, และให้ความสว่างของความจริงครบถ้วนส่องแสงไปสู่มนุษย์ทุก ๆ คน อนึ่งการที่ท่านปกครองด้วยดีต่อพระศาสนจักรเฉพาะของท่าน, ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระศาสนจักรสากล  ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ท่านทำประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพต่อพระอคาธกายทั้งหมด  ซึ่งก็คือวรกายแห่งพระศาสนจักรทั้งหลายนั้นด้วย.

การเอาใจใส่ประกาศพระวรสารไปทั่วทั้งแผ่นดินโลก  เป็นหน้าที่ของทำเนียบชุมพาบาล ซึ่งพระ คริสตเจ้าได้ทรงมอบหน้าที่นี้เป็นส่วนรวม แก่พวกท่านทุกคนตามที่พระสันตะปาปาเชเลสติโน ได้ทรงย้ำแก่บรรดาพระบิดรแห่งพระสังคายนานครเอเฟสมาแล้วนั้น  เพราะฉะนั้นพระสังฆราชแต่ละองค์เท่าที่การปฏิบัติหน้าที่อันเฉพาะของท่านจะอำนวย, ท่านยังมีหน้าที่ต้องร่วมมือกับกิจธุระการงาน  กับบรรดาพระสังฆราชด้วยกัน และกับองค์ผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร ผู้ได้รับพระบัญชาโดยเฉพาะเจาะจงให้ปฏิบัติภารกิจอันใหญ่หลวง คือการประกาศพระนามของพระคริสตเจ้า  ฉะนั้น พระสังฆราชต้องช่วยเหลือสุดกำลังความสามารถต่อดินแดนธรรมทูต  (= มิสซัง)  ทางด้านการจัดหาบุคลากรคนเก็บเกี่ยว, ทางด้านการสงเคราะห์ต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณและฝ่ายวัตถุ,  ทั้งโดยทางตรงคือตัวท่านเอง, ทั้งโดยการปลุกใจสัตบุรุษของท่านให้มีความกระตือรือร้น ร่วมมือทำการงาน. ที่สุดบรรดาพระสังฆราช  ในสังคมสงเคราะห์ทั่วไป  ด้านเมตตาจิต, ขอให้ท่านยินดีช่วยเหลือประสาพี่น้องต่อศาสนจักรอื่น ๆ เป็นต้น พระศาสนจักรใกล้เคียงและที่ยากจนขัดสนกว่า,  ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามแบบฉบับอันดีงามที่เป็นมาแต่โบราณกาล.

พระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าในกระแสกาลเวลาได้ดลบันดาลอัครสาวก และบรรดาผู้สืบตำแหน่งของท่านได้จัดตั้งพระศาสนจักรต่าง ๆ ในสถานที่แตกต่างกัน  พระศาสนจักรเหล่านี้รวมกันเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม และอยู่ร่วมกันแบบอวัยวะ, โดยคงที่รักษาเอกภาพของความเชื่อ  และโดยเป็นการสถาปนาของพระศาสนจักรอันเดียวกันกับพระศาสนจักรสากล กลุ่มพระศาสนจักรที่กล่าวมานี้  มีหลักเกณฑ์ (disciplina) เฉพาะของตน,  มีจารีตพิธีของตนโดยเฉพาะ, มีมรดกด้านเทวศาสตร์และด้านจิตวิญญาณ, ในกลุ่มเหล่านี้มีบางพวก, เป็นต้นที่เรียกว่า พระศาสนจักรอัยกาโบราณ  ซึ่งเป็นประหนึ่งแม่ของความเชื่อ, ท่านได้ให้กำเนิดแก่พระศาสนจักรอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งเป็นดังธิดาของท่าน,  กับพระศาสนจักรเหล่านี้ ท่านมีความสัมพันธ์สนิทสนมกันมากทางด้านความรักในชีวิตศักดิ์สิทธิการ ทั้งในความเคารพต่อกันด้านสิทธิและหน้าที่  ตราบเท่าถึงสมัยของเราทุกวันนี้. อันความแตกต่างกันของพระศาสนจักรในท้องถิ่นต่าง ๆ  แต่ก็มุ่งหน้าหาความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเครื่องส่อแสดงให้เห็นชัด ๆ ถึงความเป็นคาทอลิก  (หรือสากลภาพ) แห่งพระศาสนจักร  ทำนองเดียวกันสภาพระสังฆราช (47) ในทุกวันนี้  ก็ทำให้สามารถช่วยเหลือกันและกันได้หลายอย่างและอย่างมีประสิทธิภาพผลิตผลด้วย, เป็นทางนำให้เกิดมีความรักต่อคณะและนำไปสู่การประยุกต์เป็นล่ำเป็นสัน.

ภาระหน้าที่ ของพระสังฆราช
    24.  บรรดาพระสังฆราช ในฐานะที่ท่านเป็นผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก,  ท่านได้รับหน้าที่จากพระสวามีเจ้า, พระองค์ผู้ได้ทรงรับอำนาจทั้งหมดบนสวรรค์ ทั้งบนแผ่นดิน, พระองค์นี้ได้มีพระบัญชาสั่งให้พวกท่านไปสั่งสอนนานาชาติทั้งหลาย และให้ประกาศพระวรสารแก่สัตวโลกทั้งสิ้น เพื่อให้มนุษย์ทุกผู้คนบรรลุถึงความรอดโดยอาศัยความเชื่อ,  ศักดิ์สิทธิการ - ล้างบาป และการประพฤติปฏิบัติตามพระบัญญัติ  (เทียบ มธ. 28,18-20; มก. 16,15-16; กจ. 26,17…)  เพื่อปฏิบัติตามหน้าที่อันนี้  พระสวามีเจ้าได้ทรงสัญญาจะประทานพระจิตเจ้าแก่พวกอัครสาวก และในวันพระจิตตาคม พระองค์ได้ทรงส่งพระจิตเจ้ามาจากสวรรค์. อานุภาพของพระจิตเจ้า ได้บันดาลให้พวกอัครสาวกเป็นพยานของพระเยซูจนสุดแดนดิน,  ต่อหน้านานาชาติ,  ต่อหน้าบรรดาประชากรและบรรดากษัตริย์ (เทียบ กจ. 1,8; 2,1…; 9,15)  อันภาระหน้าที่อันนั้นที่พระสวามีเจ้าได้ทรงมอบหมายให้แก่บรรดานายชุมพาบาลแห่งประชากรของพระเป็นเจ้านั้น เป็นการรับใช้โดยแท้, พระคัมภีร์เรียกอย่างตรงไปตรงมาว่า  ‘disconia’  หรือบริกรรับใช้นั่นเอง  (เทียบ กจ. 1,17 และ 25; 21,19; รม. 11, 13; 1 ทม. 1,12)

การรับหน้าที่ตามกฎหมายของบรรดาพระสังฆราช อาจกระทำได้ตามประเพณีอันเป็นไปตามคลองธรรม  ซึ่งอำนาจสูงสุด และสากลของพระศาสนจักรมิได้เรียกกลับคืน หรือโดยทางกฎหมายที่มีผู้มีอำนาจอย่างที่เพิ่งกล่าวมาแต่งตั้งขึ้นหรือรับรอง, หรือโดยตรงจากผู้สืบตำแหน่งท่านเปโตรเอง ซึ่งถ้าหากท่านผู้นี้ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธว่ามีสหพันธ์กับบรรดาอัครสาวกแล้ว, พระสังฆราชก็ไม่อาจเข้ารับหน้าที่นั้นได้.

การทำหน้าที่ด้านการสั่งสอนของพระสังฆราช
    25.  ท่ามกลางภารกิจต่าง ๆ ของพระสังฆราช  ภารกิจที่เด่นคือการประกาศพระวรสาร.  เหตุว่าพระสังฆราชเป็นโฆษกผู้ประกาศความเชื่อ,  เป็นผู้นำสานุศิษย์ใหม่ให้เข้ามาหาพระคริสตเจ้าและท่านคืออาจารย์โดยแท้  หรืออีกนัยอาจารย์ผู้ประกอบด้วยอำนาจอาชญาสิทธิ์ของพระคริสตเจ้า,  ท่านเป็นผู้ประกาศอัตถ์ความเชื่อที่ต้องยึดถือ  และต้องนำมาประยุกต์ประพฤติปฏิบัติตามนั้นสำหรับประชากรที่ท่านได้รับมอบหมาย, อาศัยความสว่างของพระจิตเจ้า  ท่านเป็นผู้กระจายแสง,  นำเอาทรัพย์สินใหม่และเก่าออกมาจากคลังแห่งพระวิวรณ์ (48) (เทียบ มธ. 13,52), ท่านเป็นผู้ทำให้ความเชื่อนั้นผลิตผล ทั้งท่านระวังระไวขจัดมิให้ฝูงแกะของท่านพลัดหลงไป (เทียบ 2 ทม. 4,1-4)  บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมสหพันธ์กับพระสังฆราชกรุงโรม, เมื่อท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์, ทุก ๆ คนต้องเคารพ  ในฐานะท่านเป็นพยานแห่งอัตถ์ความเชื่อของพระเป็นเจ้า  และความจริงคาทอลิก ;  ส่วนสัตบุรุษต้องคล้อยตามพระสังฆราชของตน ตามความเห็นที่ท่านแสดงออกในนามของพระคริสตเจ้าเรื่องความเชื่อและศีลธรรม และต้องรับปฏิบัติตามด้วยใจเคารพนอบน้อม.  อันความภักดีนอบน้อมด้านน้ำใจและด้านสติปัญญาดังนี้ ชาวเราต้องปฏิบัติเป็นอย่างพิเศษต่อพระอาจาริยานุภาพที่แท้จริง  (= ไม่ใช่ปลอมแปลง)  ของพระสังฆราชกรุงโรม, แม้เมื่อพระองค์มิได้ตรัส “จากธรรมาสน์”  (ex cathedra)  หมายความว่า ชาวเราต้องยอมรับรู้ด้วยความเคารพว่า  พระอาจาริยานุภาพของพระองค์ท่านเป็นอันสูงสุด และต้องยึดถือด้วยจริงใจต่อคำตัดสินของพระองค์ท่าน ที่แสดงเปิดเผยออกมาว่า เป็นความนึกคิดและน้ำพระทัยของพระองค์ท่าน ซึ่งเผยออกโดยลักษณะของเอกสารก็ดี, ทางการเน้นย้ำคำสอนอันเดียวกันนั้นบ่อย ๆ ก็ดี,  หรือกระทั่งโดยทำนองพูดของพระองค์ท่านก็ดี.

พระสมณะผู้ใหญ่ (praesules = พระสังฆราช)  แต่ละองค์ แม้ท่านไม่ทรงเอกสิทธิ์ความไม่รู้ผิดพลั้ง (50)  ถึงกระนั้นแม้ขณะอยู่กระจัดกระจายกันทั่วโลก  หากท่านคงรักษาความสัมพันธ์ในสหพันธ์กับเพื่อนพระสังฆราชด้วยกัน และกับองค์ท่านผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร,  เมื่อนั้นหากบรรดาพระสังฆราชสั่งสอนอย่างเป็นทางการ (51)  ในเรื่องอัตถ์ความเชื่อและศีลธรรม  และพวกท่านมีความเห็นพ้องต้องกันว่า  เป็นปัญหาที่ต้องยึดถืออย่างเด็ดขาด      เมื่อนั้นพวกท่านก็ประกาศอย่างไม่รู้ผิดพลั้ง   ซึ่งคำสอนของพระคริสตเจ้า.  เรื่องอย่างนี้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นอีก เมื่อบรรดาพระสังฆราชมาร่วมประชุมพระสังคายนาสากล  พวกท่านก็ทำหน้าที่เป็นอาจารย์และผู้พิพากษาทั่วทั้งพระศาสนจักรสากลในเรื่องอัตถ์ความเชื่อและศีลธรรม.  เมื่อนั้นชาวเราต้องน้อมรับคำนิยามตัดสินของพวกท่าน ด้วยความเคารพภักดีต่อความเชื่อ

อันความไม่รู้ผิดพลั้งนี้ องค์พระผู้ไถ่ได้ทรงพอพระทัยให้พระศาสนจักรของพระองค์ทรงไว้เป็นสมบัติของตน,  เพื่อประโยชน์ในการนิยามคำสอนเรื่องอัตถ์ความเชื่อและศีลธรรม  และความไม่รู้ผิดพลั้งนี้มีขอบเขตกว้างเท่าพระคลังของฝาก (49)  ของพระเป็นเจ้า, ซึ่งชาวเราต้งอสงวนรักษาไว้อย่างศักดิ์สิทธิ์  และต้องอธิบายอย่างซื่อตรง.  ผู้ทรงไว้ซึ่งความไม่รู้ผิดพลั้ง คือพระสังฆราชกรุงโรม ในฐานะพระประมุขแห่งคณะพระสังฆราชทั้งหลาย,  เดชะพระภาระหน้าที่ของพระองค์ท่าน จึงทรงพระอภิสิทธิ์อันนี้,  ในเมื่อในฐานะทรงเป็นชุมพาบาล  และอาจารย์สูงสุดของสัตบุรุษคริสตังทั้งหลาย,  พระองค์ทรงเป็นหลักทำให้ภราดรทั้งหลายของพระองค์ตั้งมั่นในความเชื่อ (เทียบ ลก. 22,32)  พระองค์ทรงประกาศพระธรรมคำสอนเรื่องอัตถ์ความเชื่อและศีลธรรม  ด้วยการกระทำอันเด็ดขาด. เพราะฉะนั้นคำนิยามตัดสินของพระองค์ท่าน, จากตัวมันเองและไม่ใช่จากการเห็นพ้องของพระศาสนจักร, เรียกได้โดยถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่เด็ดขาด,  เปลี่ยนแปลงไม่ได้,  เพราะเหตุว่าคำนิยามนั้นประกาศออกมาโดยความอนุเคราะห์ของพระจิตเจ้า, ซึ่งพระองค์ท่านได้รับตามคำมั่นสัญญาโดยผ่านท่านเปโตร, เพราะเหตุนี้จึงไม่ต้องการความเห็นชอบอันใดของผู้อื่น, ทั้งไม่มีทางอุทธรณ์ไปยังการตัดสินอื่นใดด้วย,  เหตุว่าเมื่อนั้นพระสังฆราชกรุงโรมประกาศตัดสินออกมา  ไม่ใช่เป็นบุคคล (ธรรมดา) สามัญ  แต่ในฐานะปรมาจารย์สูงสุดของพระศาสนจักรสากลทั้งหมด,  พิเศษพรความไม่รู้ผิดพลั้งของพระศาสนจักรเอง  สถิตอยู่ในพระองค์ท่านโดยเฉพาะองค์เดียวต่างหาก,  ในความไม่รู้ผิดพลั้งอันนี้พระองค์ท่านอธิบายป้องกันพระธรรมอัตถ์ความเชื่อ. ความไม่รู้ผิดพลั้งที่พระเป็นเจ้าทรงสัญญาไว้กับพระศาสนจักร  ยังสถิตอยู่ในทาง (องค์กร) (50)  ของบรรดาพระสังฆราชอีกด้วย ในคราวเมื่อท่านปฏิบัติพระอาจาริยานุภาพอันสูงสุด  ร่วมกับองค์ผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร, คำนิยามตัดสินเหล่านั้นต้องมีความเห็นพ้องต้องกันของพระศาสนจักรซึ่งจะขาดเสียมิได้เลย เพราะเป็นกิจกรรมของพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน  ซึ่งจะทรงกระทำให้ฝูงแกะของพระคริสตเจ้าทั้งหมดคงดำรงอยู่ในเอกภาพของความเชื่อ และเจริญวัฒนาต่อไป.

เมื่อพระสังฆราชกรุงโรมก็ดี หรือเมื่อ  (กาย, องค์กร)  (50)  คณะของบรรดาพระสังฆราชร่วมกับพระองค์ท่านก็ดี  กำหนดคำนิยามการตัดสินอันใด,  ท่านก็ประกาศออกมา เป็นไปตามพระวิวรณ์นั้นเอง  ที่ทุก ๆ คนจำต้องยืนหยัดตามนั้น และต้องทำตนคล้อยตามนั้นด้วย. พระวิวรณ์  (การไขแสดงของพระเป็นเจ้า) (48)  ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่สืบทอดมา  โดยทางการสืบทอดของบรรดาพระสังฆราชที่เป็นไปตามกฎหมาย และเฉพาะอย่างยิ่งโดยความสลวนเอาใจใส่ของพระสังฆราชกรุงโรมท่านเอง จึงถ่ายทอดออกมาอย่างครบถ้วน  และโดยที่พระจิตแห่งความจริงทรงส่องสว่างนำหน้า  บันดาลให้สงวนรักษาพระวิวรณ์นั้นไว้อย่างศักดิ์สิทธิ์และอธิบายอย่างซื่อตรง  เพื่อการเสาะแสวงหาพระวิวรณ์โดยถูกต้อง และเพื่ออธิบายอัตถ์นั้นอย่างเหมาะสม  พระสังฆราชกรุงโรมและบรรดาพระสังฆราชตามภาระหน้าที่ของท่าน และตามความหนักเบาของกรณี,  ท่านก็ใช้วิธีการอันเหมาะสม  และใช้ความพยายามอุตสาหะ  แต่อย่างไรก็ดี  ท่านไม่รับวิวรณ์ใหม่อันเป็นสาธารณะส่วนรวมอันใดก็ตาม ว่าเป็นอยู่ในประมวลพระคลังของฝาก (49)   แห่งความเชื่อ.

หน้าที่ของพระสังฆราช  ด้านการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์
    26.  พระสังฆราชเป็นผู้ได้รับศีลอนุกรมขั้นบริบูรณ์  “ท่านเป็นผู้แจกจ่ายพระหรรษทานแห่งสังฆภาพสูงสุด” เฉพาะอย่างยิ่งในศักดิ์สิทธิการ  ซึ่งตัวท่านเองถวายหรือจัดให้มีการถวาย อาศัยพระหรรษทานอันนี้แหละ  พระศาสนจักรจึงมีชีวิตแลเจริญขึ้นเรื่อยมา. พระศาสนจักรอันนี้ของพระคริสตเจ้า เป็นอยู่โดยแท้ในบรรดากลุ่มสัตบุรุษในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มสัตบุรุษที่ชอบด้วยกฎหมาย, แต่กลุ่มต่าง ๆ นี้ขึ้นอยู่กับชุมพาบาลของตน ๆ กลุ่มเหล่านี้ในพันธสัญญาใหม่เรียกชื่อว่าเหล่าพระศาสนจักร  เหตุว่าพระ    ศาสนจักรเหล่านี้ พระเป็นเจ้ามีพระดำรัสเรียกเขาในสถานที่อยู่ของเขาว่าเป็นประชากรใหม่  ซึ่งเป็นอยู่โดยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าและตั้งอยู่ในความบริบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง  (เทียบ ธส. 1,5)  ในพระศาสนจักรเหล่านี้ บรรดาสัตบุรุษมาร่วมประชุม  ฟังการประกาศพระวรสารของพระคริสตเจ้า และมีการฉลองพระอคาธัตถ์การเลี้ยงอาหารค่ำของพระสวามีเจ้า “เพื่อด้วยอาศัยอาหารและพระโลหิตของพระสวามีเจ้า การเป็นพี่น้องกันหมดทุก ๆ คน จะได้กระชับกันขึ้น”  ในทุก ๆ กลุ่มรอบพระแท่น ที่มีพระสังฆราชเป็นผู้ประกอบบริการอันศักดิ์สิทธิ์ ก็แสดงออกเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์,  เป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพระอคาธกาย  ซึ่งหากขาดเอกภาพนี้แล้ว,  ความรอดก็มีขึ้นไม่ได้.  ในกลุ่มเหล่านี้ แม้บ่อยครั้งเป็นกลุ่มน้อย ๆ และยากไร้  หรือเป็นกลุ่มที่ผู้คนอยู่กระจัดกระจายกัน,  พระคริสตเจ้าก็ประทับอยู่  และด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ท่าน,  เขาก็รวมตัวกันเป็นพระศาสนจักรอันหนึ่งอันเดียว,  ศักดิ์สิทธิ์, สากลและอัครสาวกมัย. (51) เพราะเหตุว่าการเข้ามีส่วนในพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า มีแต่ผลิตผลทำให้เราเปลี่ยนรูป  กลายเป็นสิ่งที่เราเข้าไปรับประทานนั้น”

การประกอบสดุดีบูชาที่ชอบใด ๆ,  พระสังฆราชเป็นผู้นำดำเนินงาน  เพราะว่าท่านได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ถวายคารวกิจของพระคริสตศาสนาแด่พระมหิทธิศักดิ์ของพระเป็นเจ้า  และท่านจำต้องปฏิบัติตามบัญญัติของพระเป็นเจ้า  และของพระศาสนจักร,  แต่ท่านก็อาจกำหนดเรื่องปลีกย่อยต่อไปในสังฆมณฑลของท่าน,  ตามความคิดเห็นของท่านเอง.

ฉะนั้น พระสังฆราช เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา  เมื่อท่านออกแรงทำการงานเพื่อประชากร,  ท่านก็นำเอาความศักดิ์สิทธิ์อันไพบูลย์ของพระคริสตเจ้ามาหลั่งบนตัวประชากรหลาย ๆ รูปแบบ และอย่างอุดมสมบูรณ์. โดยทางพระวจนะ  (= เทศน์สอน) ท่านนำเอาฤทธิ์อำนาจของพระเป็นเจ้ามามอบให้แก่ผู้ที่เชื่อ  เพื่อให้เขาได้ความรอด (เทียบ รม. 1,16), และโดยบริการศักดิ์สิทธิการต่าง ๆ ซึ่งท่านใช้อำนาจของท่าน จัดระเบียบการแจกจ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และมีประสิทธิภาพในการผลิตผล  ท่านก็ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ไป ท่านกำหนดกฎเกณฑ์การประสาทศักดิ์สิทธิการ - ล้างบาป  ซึ่งศักดิ์สิทธิการอันนี้ทำให้เรามีส่วนในราชสังฆภาพ (52) ของพระคริสตเจ้า. แต่เดิมมาท่านเองเป็นผู้ประกอบศักดิ์สิทธิการพละกำลัง (53) และเป็นผู้แจกจ่ายศักดิ์สิทธิการ - อนุกรมขั้นต่าง ๆ และเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์เรื่องศักดิ์สิทธิการ – การแก้บาป, ท่านเสียสละตนเอง เอาใจใส่ตักเตือนสั่งสอนสัตบุรุษให้ทำหน้าที่ส่วนของตน ด้วยให้มีความเชื่อและความเคารพในศาสนพิธีกรรม  และเป็นต้นในบูชามิสซา,  ที่สุดต่อบรรดาผู้อยู่ใต้อำนาจของท่าน, ท่านต้องเจริญก้าวหน้าด้วยบำเพ็ญตนเป็นแบบอย่าง,  ระมัดระวังความประพฤติของตัวท่านเอง  ให้ห่างไกลจากความชั่วเท่าที่จะกระทำได้  และโดยอาศัยพระเป็นเจ้าทรงช่วยเหลือ  ท่านต้องหันหน้าเข้าหาความดี ทั้งนี้เพื่อตัวท่านเองจะได้บรรลุถึงชีวิตนิรันดร พร้อมกับฝูงแกะที่ท่านได้รับมอบหมายนั้นด้วย.

หน้าที่ของพระสังฆราช  ด้านการปกครอง
    27.  พระสังฆราชปกครอง  พระศาสนจักรปลีกย่อยที่ท่านได้รับมอบหมาย,  ท่านปกครองในฐานะเป็นผู้แทนและเป็นทูตของพระคริสตเจ้า.  ท่านปกครองด้วยการให้ความคิดอ่าน,  ให้กำลังใจ, และบำเพ็ญตัวท่านเองเป็นแบบอย่าง  ทั้งท่านปกครองด้วยอาชญาสิทธิ์, ด้วยอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์,  อำนาจอันนี้ท่านใช้ก็เพื่อจรรโลงเสริมสร้างฝูงชุมพาบาลของท่านให้คงดำรงอยู่ในความศักดิ์สิทธิ์อันแท้จริง,  ขณะเดียวกันท่านก็ระลึกว่า : ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเหมือนผู้น้อย และผู้บังคับบัญชาต้องเป็นดังผู้รับใช้  (เทียบ ลก. 22,26-67).

อำนาจอันนี้ท่านใช้ปฏิบัติ  เป็นการส่วนตัวในนามของพระคริสตเจ้าเป็นอำนาจเฉพาะของท่าน อำนาจปกติธรรมดา  ทั้งเป็นอำนาจโดยตรง  (คือไม่ได้ผ่านคนกลาง),  แม้ว่าตกที่สุดอำนาจสูงสุดของพระศาสนจักร (สากล) เป็นผู้บังคับบัญชา  และอาจกำหนดขอบเขตบางอย่าง ทั้งนี้เป็นเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของพระศาสนจักร  (สากล)  หรือประโยชน์ของบรรดาสัตบุรุษ.  อาศัยอำนาจอันนี้  พระสังฆราชมีสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ และมีหน้าที่ต่อเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า, ในอันที่จะปฏิบัติต่อผู้อยู่ในปกครอง  คือ ตรากฎหมาย, ตัดสินคดีความ  และกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับระเบียบเรียบร้อยของคารวกิจ  และการปฏิบัติงานธรรมทูตต่าง ๆ.

พระสังฆราชได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่  ให้ทำหน้าที่เป็นชุมพาบาล  กล่าวคือให้เอาใจใส่ดูแล ทำนองเป็นปกติธรรมดาและทุก ๆ วัน ต่อฝูงแกะของท่าน.  อันพระสังฆราชนั้น เราต้องไม่ถือว่า ท่านเป็นผู้แทนของพระสังฆราชกรุงโรม, เพราะว่าตัวท่านเองมีอำนาจเฉพาะตน และเป็นความจริงอย่างยิ่ง ที่ท่านได้รับขนานนามว่าเป็นประมุข (54) , หัวหน้าของประชากรที่ท่านปกครอง.  เพราะฉะนั้น อำนาจของท่านนี้  อำนาจสูงสุด,  อำนาจสากลทั่วไป จะทำลายหาได้ไม่, ตรงกันข้าม มีแต่จะต้องยืนยัน, สนับสนุนและป้องกันอำนาจของพระสังฆราช : พระสวามีคริสตเจ้า ได้ทรงสถาปนาระบบปกครองไว้ในพระศาสนจักรของพระองค์  และพระจิตเจ้าก็ทรงธำรงรักษาไว้มิให้เสื่อมสลายไปได้.

พระสังฆราช ผู้ที่พระบิดาแห่งครอบครัวได้ทรงใช้มาครอบครองครอบครัวของพระองค์ พึงนำเอาแบบฉบับของพระชุมพาบาลผู้ดี, มาตั้งไว้ต่อหน้าต่อตา  : พระองค์ได้เสด็จมา  ไม่ใช่เพื่อให้เรารับใช้พระองค์  แต่เสด็จมาเพื่อทรงรับใช้เรา  (เทียบ มธ. 20,28 : มก. 10,45) พระสังฆราชเป็นคนมาจากมวลมนุษย์ และแปดเปื้อนอยู่ด้วยทุพพลภาพ ท่านจึงสามารถร่วมรับทุกข์กับคนโง่เขลาและคนที่หลงผิดไป  (เทียบ ฮบ. 5,1-2).  ท่านพึงไม่แหนงหน่ายรับฟังพวกผู้น้อยที่ท่านประคบประหงม  ดังเป็นลูกแท้ ๆ ของท่าน และที่ท่านชักชวนตักเตือนให้ร่วมมือร่วมใจกับท่านอย่างขมีขมัน,  ท่านจะต้องให้การต่อพระเป็นเจ้า  ด้วยเรื่องวิญญาณของพวกเขา (เทียบ ฮบ. 13,17), ฉะนั้น ท่านพึงเอาใจใส่ ด้วยอาศัยคำอธิษฐานภาวนา, ด้วยคำเทศนาสั่งสอน,  และด้วยการบำเพ็ญเมตตาจิตทุก ๆ อย่างเพื่อเขาเหล่านั้น  ทั้งเพื่อคนอื่นที่ยังไม่อยู่ในฝูงแกะเดียวกันด้วย, ท่านถือว่าเขาเหล่านี้ก็ได้รับการฝากฝังไว้กับท่าน ในพระสวามีเจ้าด้วย.  ตัวพระสังฆราชเอง ก็เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล, เป็นลูกหนี้ของทุก ๆ คน,  พึงสรรพพร้อมจะประกาศพระวรสารแก่ทุก ๆ คน (เทียบ รม. 1,14-15), และพึงตักเตือนสัตบุรุษทั้งหลายของคนให้ออกแรงแข็งขัน  ประกอบการงานอัครสาวก และการงานธรรมทูต ส่วนบรรดาสัตบุรุษก็ต้องผูกพันกับพระสังฆราชของคน  ดุจดังพระศาสนจักรผูกพันกับพระคริสตเจ้า  และดุจดังพระเยซูคริสตเจ้าทรงผูกพันกับพระบิดาเจ้า, ทั้งนี้เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมใจกันหันหน้าเข้าหาเอกภาพ และเพื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะได้ผลิตผลสมบูรณ์  เป็นเกียรติมงคลแด่พระเป็นเจ้า (เทียบ 2 คร. 4,15).

พระสงฆ์ในหน้าที่เกี่ยวกับพระคริสตเจ้า,  เกี่ยวกับพระสังฆราช, เกี่ยวกับสภาสงฆ์,  และเกี่ยวกับประชากรคริสตัง
    28.  พระบิดาได้ทรงอภิเษกพระคริสตเจ้า และได้ทรงใช้มายังแผ่นดินโลก  (เทียบ ยน. 10,36).  พระคริสตเจ้าได้ทรงบันดาลให้มีผู้รับส่วนแบ่งแห่งการอภิเษกและพระภารกิจของพระองค์ท่าน กล่าวคือบรรดาอัครสาวก  และบรรดาผู้สืบตำแหน่งของท่าน นั่นคือบรรดาพระสังฆราช.  ท่านเหล่านี้  โดยทำนองอันชอบ  ได้ถ่ายทอดภารกิจแห่งหน้าที่ของท่าน ที่มีหลั่นชั้นต่าง ๆ กันให้แก่บุคคลต่างกัน.  จึงเป็นอันว่า ภารกิจของพระศาสนจักรที่ได้ถูกตั้งขึ้นโดยพระเป็นเจ้า  มีหลั่นชั้นต่าง ๆ กัน และผู้ที่ได้รับปฏิบัตินั้นตั้งแต่โบราณมามีชื่อเรียกว่า พระสังฆราช,  พระสงฆ์,  และสังฆานุกร (55)  บรรดาพระสงฆ์ถึงแม้ท่านไม่มีบรรดาศักดิ์แห่งขั้นสุดยอดแห่งสมณภาพ (56) และในการใช้อำนาจท่านต้องขึ้นต่อพระสังฆราช  ถึงกระนั้นท่านก็มีความสัมพันธ์กับพระสังฆราชโดยศักดิ์ศรีของการเป็นสงฆ์ และโดยอิทธิฤทธิ์ของศักดิ์สิทธิการ - อนุกรม  ท่านร่วมเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระคริสตเจ้า  (ฮบ. 5ล1-10: 9,11-28) องค์พระสงฆ์สูงสุดนิรันดร ท่านได้รับอภิเษกเพื่อประกาศพระวรสาร, เพื่อเป็นชุมพาบาลเลี้ยงดูสัตบุรุษ, และเพื่อประกอบคารวกิจต่อพระเป็นเจ้าในฐานะเป็นพระสงฆ์แท้แห่งพันธสัญญาใหม่. ท่านมีส่วนร่วมตามระดับชั้นของท่าน  ในพระภารกิจของพระคริสตเจ้า,  องค์คนกลางแต่ผู้เดียว (1 ทม. 2,5), ท่านประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้าแก่ทุก ๆ คน.  ท่านปฏิบัติหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์  เฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจศักดิ์สิทธ์การสดุดีบูชา.  ในพิธีกรรมอันนี้ท่านสวมองค์พระคริสตเจ้า และประกาศอคาธัตถ์ของพระองค์, ท่านนำเอาคำภาวนาของสัตบุรุษมาร่วมกับบูชาขององค์พระประมุขของพวกเขา, ท่านบันดาลให้อุบัติขึ้นใหม่  และประยุกต์บูชาแต่อันเดียวของพันธสัญญาใหม่, กล่าวคือบูชาขององค์พระคริสตเจ้า  พระองค์นี้ได้ทรงถวายพระองค์ท่านเองเป็นบูชาอันนิรมลแด่พระบิดา  ครั้งเดียวสำหรับเรื่อยไป  (เทียบ ฮบ. 9,11-28)  ท่านต้องปฏิบัติดังนี้ในบูชามิสซาเรื่อยไป  จนกว่าจะถึงวันพระสวามีเจ้าเสด็จมา (เทียบ 1 คร. 11,2-5)  สำหรับสัตบุรุษที่เป็นทุกข์กลับใจและสำหรับคนป่วยไข้  พระสงฆ์ทำหน้าที่สูงส่งยิ่ง  คือ สมานไมตรีให้คืนดีและเป็นผู้ทุเลาบรรเทา,  ท่านนำเอาความต้องการของสัตบุรุษมาถวายแด่พระเป็นเจ้าพระบิดา  (เทียบ ฮบ. 5,1-4),  ตามอำนาจและขอบเขตที่ได้รับ,  พระสงฆ์ปฏิบัติภารกิจของพระคริสตเจ้า,  องค์ชุมพาบาล, และองค์พระประมุข  ต่อครอบครัวของพระเป็นเจ้า พระสงฆ์กระตุ้นเตือนให้มีภราดรภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน, ท่านรวบรวมพวกเขา อาศัยพระคริสตเจ้าในพระจิตเจ้าให้เข้ามาเฝ้าพระบิดาเจ้า. เพื่ออยู่กับฝูงแกะ พระสงฆ์กราบนมัสการพระบิดาด้วยจิตใจอันสัตย์จริง  (เทียบ ยน. 4,24). ที่สุด พระสงฆ์ออกแรงทำการงานด้วยวาจาและคำพร่ำสอน  (เทียบ 1 ทม. 5,17), ท่านเชื่อสิ่งที่ท่านพบเห็นในการสอนและการรำพึงเรื่องพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า,  ท่านสอนสิ่งที่ท่านเชื่อ และปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านสอน.

พระสงฆ์  คือ ผู้ทำงานร่วมที่มองเห็นการณ์ไกลของระดับชนชั้นพระสังฆราช,  เป็นผู้ช่วยเหลือและเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของพระสังฆราช, มีกระแสเรียกเพื่อรับใช้ประชากรของพระเป็นเจ้า.  พระสงฆ์พร้อมกับพระสังฆราช ร่วมกันจัดตั้งสภาสงฆ์ ซึ่งมีหน้าที่รับใช้หลายอย่างต่างกัน. ในชุมชนของบรรดาสัตบุรุษตามท้องที่ต่าง ๆ ,  พระสงฆ์ เพราะกลมเกลียวเดียวกันกับพระสังฆราชด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ และเพราะมีจิตใจอันสูงส่งจึงทำให้มองเห็นภาพของพระสังฆราช เหมือนกับว่าตัวท่านเองปรากฏอยู่ในชมรมนั้น ๆ ก็ว่าได้.  พระสงฆ์ตามหน้าที่ส่วนตน,  ท่านรับเอาภาระหน้าที่และความสลวนของพระสังฆราชมาใส่ใจตน  ทั้งปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่ทุก ๆ วัน. ภายใต้อำนาจของพระสังฆราช   พระสงฆ์ยังเป็นผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้ปกครองส่วนหนึ่งของแกะของพระสวามีเจ้า ตามที่ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแล, ท่านทำให้พระศาสนจักรสากลปรากฏขึ้นเด่นชัดในถิ่นที่ท่านอยู่, ท่านช่วยเหลือแข็งขันในการสร้างพระวรกายทั้งครบของพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ. 4,12).  ท่านมุ่งมั่นอยู่เสมอต่อคุณประโยชน์ของลูก ๆ ของพระเป็นเจ้า, จึงพยายามออกแรงในด้านงานอภิบาลทั่วทั้งสังฆมณฑลของท่าน, กว่านั้นอีก  ของทั่วทั้งพระศาสนจักร (สากล) ทีเดียว  เพราะการมีส่วนในสังฆภาพและภาระหน้าที่ดังนี้,  พระสงฆ์ทั้งหลาย,  จงรับรู้และจงถือว่า พระสังฆราชเป็นบิดาแท้ ๆ ของตน  และจงเชื่อฟังท่านด้วยความเคารพนอบน้อม,  ส่วนบรรดาพระสังฆราชก็จงถือว่า พระสงฆ์ผู้ร่วมงานเป็นลูกของตนและเป็นสหาย  ให้เหมือนอย่างพระคริสตเจ้า, ทรงเรียกสานุศิษย์ของพระองค์  ไม่ใช่ว่าเป็นทาส แต่ทรงเรียกว่าเป็นสหาย (เทียบ ยน. 15,15). ฉะนั้น เพราะเหตุที่มีศักดิ์สิทธิการ - อนุกรม  และมีภาระหน้าที่อันเดียวกัน,  พระสงฆ์ทุก ๆ องค์,  ทั้งพระสงฆ์ประจำท้องถิ่น, ทั้งพระสงฆ์นักบวช, ทั้งหมดรวมกันเข้าอยู่ในองค์กร (กาย)  ของพระสังฆราช และต่างรับใช้เพื่อคุณประโยชน์ของทั่วทั้งศาสนจักรตามกระแสเรียกและพระหรรษทานของตน ๆ.

เดชะอำนาจการรับศักดิ์สิทธิการ - อนุกรมร่วมกัน  และเพราะต่างมีหน้าที่เหมือน ๆ กัน พระสงฆ์  ทุก ๆ องค์จึงมีความสัมพันธ์ต่อกันด้วยภราดรภาพอันลึกซึ้ง, ภราดรภาพนี้มักเผยออกมาให้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาเอง   ในการที่ท่านต่างช่วยเหลือกันและกัน   ทั้งทางด้านจิตใจและวัตถุ,    ทั้งทางด้านการอภิบาลสัตบุรุษและด้านส่วนตัว, ในการร่วมชุมนุมกัน, ในการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน  ในการร่วมการงานกัน  และร่วมแผ่เมตตาจิตด้วยกัน.
ส่วนสัตบุรุษ เขาคือผู้ที่พระสงฆ์ได้ให้กำเนิดทางด้านวิญญาณขึ้นมา โดยทางศักดิ์สิทธิการ - ล้างบาป   และโดยการให้การอบรมสั่งสอน   (เทียบ 1 คร. 4,15; 1 ปต. 1,23),   ขอให้พระสงฆ์จงเห็นแก่พระคริสตเจ้า  เอาใจใส่ต่อสัตบุรุษ  ดุจดังท่านเป็นบิดาด้วยเถิด. ขอให้พระสงฆ์บำเพ็ญตน เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ  (1 ปต. 5,3) ขอให้ท่านปกครองและรับใช้กลุ่มสัตบุรุษในท้องถิ่นของท่าน จนกระทั่งกลุ่มดังกล่าวนี้  สมได้รับนามที่หมายถึง ประชากรของพระเป็นเจ้าประชากรเดียวและประชากรทั้งครบ.  นั่นคือพระศาสนจักรของพระเป็นเจ้า  (เทียบ 1 คร. 1,2; 2 คร. 1,1 และทั่ว ๆ ไป)  ขอให้พระสงฆ์จงระลึกว่า  ตัวท่านต้องประพฤติดีงาม เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่เสมอ, ท่านต้องสลวนห่วงใยเป็นทางให้สัตบุรุษ, และผู้ไม่ใช่สัตบุรุษ,  ให้ประชากรคาทอลิกและผู้มิใช่คาทอลิก,  ท่านก็ต้องแสดงออกทำตัวเป็นพยานยืนยันแก่คนทุกคน เรื่องชีวิตอันแท้จริง (เรื่องความจริงและชีวิต) (56 ทวิ) และในฐานะเป็นชุมพาบาลที่ดี,  ท่านต้องตามหาเขา (เทียบ ลก. 15,4-7) คือ  บุคคลผู้ได้รับศักดิ์สิทธิการ - ล้างบาปเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรแล้ว แต่เขาห่างเหินไปจากการรับศักดิ์สิทธิการต่าง ๆ หรือที่ร้ายกว่าอีก  เขาได้ละทิ้งความเชื่อไปเสียเลย

สมัยของชาวเราทุกวันนี้ มนุษยชาติ  ยิ่งวันยิ่งรวมตัวกัน, มีเอกภาพด้านการเมือง,  เศรษฐกิจและทางสังคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาพระสงฆ์จะสนใจรวมตัวกันเข้าช่วยเหลือ  ภายใต้การนำของพระสังฆราชและของสมเด็จพระสันตะปาปา  ช่วยขจัดการแตกแยกในทุก ๆ วิถีทาง  ทั้งนี้ เพื่อนำมนุษยชาติทั้งสิ้น ให้เข้าสู่เอกภาพแห่งครอบครัวของพระเป็นเจ้า.

สังฆานุกร
    29.  ในลำดับฐานานุกรม  สังฆานุกรสังกัดอยู่ในขั้นต่ำสุด.  สังฆานุกรได้รับการปกมือ “ไม่ใช่เพื่อเข้าสู่สังฆภาพ แต่เพื่อบริการรับใช้”  เพราะว่าพระหรรษทานประจำศักดิ์สิทธิการ บันดาลให้ผู้รับมีกำลัง เพื่อรับใช้ประชากรของพระเป็นเจ้าในด้านบริการพิธีกรรม, ด้านพระวาจา  และด้านการแผ่เมตตาจิต.  เมื่อผู้ทรงอำนาจอันชอบสั่ง, สังฆานุกรก็มีหน้าที่ประสาทศักดิ์สิทธิการ - ล้างบาปอย่างสง่า,  เก็บรักษาและแจกจ่ายพระสดุดีบูชา,  เป็นพยานในนามของพระศาสนจักร และอำนวยพรในศักดิ์สิทธิการ - สมรส, นำศักดิ์สิทธิการเสบียงไปส่งให้แก่ผู้ใกล้จะตาย, อ่านพระคัมภีร์ให้สัตบุรุษฟัง  และเทศนาสั่งสอนประชากร, ทำบริการสิ่งคล้ายศักดิ์สิทธิการทั้งหลาย, เป็นประธานในงานศพ  ตลอดจนงานปลงศพ. สังฆานุกรได้รับอภิเษกสำหรับหน้าที่บริการ แผ่เมตตาจิตและในการรับใช้, ขอให้เขาจงระลึกถึงคำเตือนใจของนักบุญโฟลิการ์ปที่ว่า : “จงมีใจเมตตากรุณา, จงขยันหมั่นเพียร และจงดำเนินตามความจริงของพระสวามีเจ้า  ผู้ทรงกลายเป็นผู้รับใช้ของทุก ๆ คน.”

หน้าที่ต่าง ๆ ดังกล่าวมา จำเป็นอย่างยิ่งแก่ชีวิตพระศาสนจักร แต่ในปัจจุบัน  ระเบียบแบบแผนของพระศาสนจักรลาตินยังคงบังคับอยู่ จึงเป็นการยากที่จะปฏิบัติตามในแต่ละแคว้นของเขต.  สำหรับอนาคตนั้นสังฆานุกรภาพ (57)  อาจจะรื้อฟื้นขึ้นใหม่ให้เป็นตำแหน่งขึ้นหนึ่งโดยเฉพาะ และเป็นขั้นถาวรของพระฐานานุกรม.  เป็นหน้าที่ของสภาพระสังฆราชประจำท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเห็นชอบแล้วที่จะพิจารณาเพื่อเห็นแก่การอภิบาลสัตบุรุษ  และตัดสินลงไปว่าการมีสังฆานุกรดังกล่าว  เป็นการเหมาะสมหรือหาไม่ และควรมีในท้องถิ่นใด.  เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเห็นชอบแล้ว, สังฆานุกรภาพดังกล่าวก็อาจจะประสาทให้แก่สัตบุรุษ  ผุ้มีวัยวุฒิ  แม้กระทั่งผู้ที่กำลังมีครอบครัวอยู่ตลอดจนบรรดาคนหนุ่มที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่.  สำหรับกรณีหลังนี้ กฎหมายเรื่องการถือโสดยังต้องใช้บังคับอยู่.

 

 

 

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown