บทที่ 7 ลักษณะบั้นปลายของพระศาสนจักรที่กำลังหกหันไปข้างหน้า และการร่วมสหภาพของท่านกับพระศาสนจักรในสวรรค์
- รายละเอียด
- หมวด: เอกสารแห่งสภาสังคายนาวาติกันที่ 2
- เขียนโดย itbkk
- ฮิต: 1590
บทที่ 7 ลักษณะบั้นปลายของพระศาสนจักรที่กำลังหกหันไปข้างหน้า และการร่วมสหภาพของท่านกับพระศาสนจักรในสวรรค์
ลักษณะบั้นปลายแห่งกระแสเรียกของคริสตชน
48. เราทั้งหลายได้รับเชิญให้เข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรโดยองค์พระคริสตเยซู และเมื่ออยู่ในพระศาสนจักรแล้ว อาศัยพระหรรษทาน ชาวเราก็ประสบพบความศักดิ์สิทธิ์, พระศาสนจักรนั้นจะบรรลุถึงความสำเร็จสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อได้รับเกียรติมงคลในสวรรค์, ในคราวเมื่อจะถึงเวลาที่สรรพสิ่งจะฟื้นตัวขึ้นใหม่ (กจ. 3,21) และพร้อมกับมนุษย์ชาติ โลกทั้งโลกที่เกี่ยวข้องผูกพันกับมนุษย์อย่างแนบแน่นนั้นโดยทางมนุษย์ ก็จะเข้าไปสู่จุดหมายของตน และจะบรรลุถึงความครบครันสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ. 1,10; คส. 1,20; ปต. 3,10-13).
พระคริสตเจ้า ผู้ได้รับการยกขึ้นเหนือแผ่นดิน, ได้ทรงดึงดูดทุก ๆ คนเข้ามาหาพระองค์ (เทียบ ยบ. 12,32 กริก) เมื่อทรงคืนพระชนม์ชีพแล้ว (เทียบ รม. 6,9), ได้ทรงส่งพระจิตผู้บันดาลชีวิตมายังสานุศิษย์ และโดยพระจิตนี้ พระองค์ได้ทรงสถาปนาพระวรกายของพระองค์ขึ้น นั่นคือพระศาสนจักร, ที่ทรงแต่งตั้งให้เป็นดังศักดิ์สิทธิการ สำหรับบันดาลความรอดแก่ทุก ๆ คน, เมื่อประทับอยู่เบื้องขวาพระบิดา, พระองค์ก็ยังทรงปฏิบัติงานอยู่เสมอมิได้ขาด : เพื่อนำมวลมนุษย์ไปสู่พระศาสนจักร และเพื่อโดยทางพระศาสนจักรนี้ พระองค์จะได้ทรงทำให้มนุษย์ใกล้ชิดกับพระองค์ยิ่งขึ้น : โดยทางทรงเลี้ยงดูมนุษย์ด้วยพระกายและพระโลหิตของพระองค์ท่านเอง, ทรงบันดาลให้เขามีส่วนร่วมในพระชนม์ชีพนิรันดรของพระองค์ สถานะใหม่กล่าวคือ การกลับสู่สถานะเดิม ที่ได้ทรงสัญญาไว้นั้น และที่ชาวเรากำลังรอคอย ก็เริ่มต้นขึ้นแล้วในพระคริสตเจ้า, การส่งพระจิตเจ้ามาก็เทิดชูขึ้นอีก และโดยอาศัยพระจิตเจ้า ก็คงดำรงอยู่ในพระศาสนจักร. ในพระศาสนจักรนี้อาศัยความเชื่อ ชาวเราเรียนรู้ความหมาย กระทั่งแม้เรื่องชีวิตในโลกปัจจุบัน, และเมื่องานที่พระบิดาทรงมอบหมายให้เรากระทำในโลกนี้ เรารับปฏิบัติไปจนถึงที่สุด ด้วยหวังว่าจะได้รับทรัพยากรในเบื้องหน้า, เราก็ปฏิบัติตามความรอดของเรา (เทียบ ฟล. 2,12).
ฉะนั้น บั้นปลายของโลกพิภพได้มาถึงชาวเราแล้ว (เทียบ 1 คร. 10,11) และการฟื้นตัวขึ้นใหม่ของโลก ก็ถูกกำหนดไว้แล้วโดยไม่มีการคืนคำ และอันที่จริงการฟื้นตัวนั้นเป็นมาล่วงหน้าก็ว่าได้ : เหตุว่าในโลกนี้พระศาสนจักรประกอบอยู่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์อันแท้จริง แม้ยังไม่ครบครันนัก. ถึงกระนั้น จนกว่าจะถึงยุคฟ้าใหม่ แผ่นดินใหม่ อันเป็นที่สถิตของความชอบธรรม (เทียบ 2 ปต. 3,13), พระศาสนจักรผู้กำลังจาริกอยู่ อาศัยศักดิ์สิทธิการและสถาบันของท่านที่เกี่ยวข้องกับโลกนี้, ท่านก็อยู่ในรูปแบบของโลกที่กำลังจะล่วงพ้นไป, และตัวท่านเองก็คงอยู่ในท่ามกลางสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ร้องไห้คร่ำครวญทนทุกขเวทนา, รู้สึกเจ็บปวดประหนึ่งการคลอดลูก เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ และท่านรอคอยการประจักษ์มาแห่งพระบุตรของพระเจ้า (เทียบ รม. 8,19-22).
ชาวเราสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าในพระศาสนจักรแล้ว, และเราได้รับประทับตราของพระจิตเจ้า “ผู้ทรงเป็นมัดจำแห่งมรดกของเรา” (อฟ. 1,14), เราได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเป็นเจ้าโดยแท้ และเราก็เป็นเช่นนั้นจริง (เทียบ 1 ยน. 3,1), แต่เรายังไม่ได้ปรากฏตัวร่วมกับพระคริสตเจ้าในพระเกียรติมงคล (เทียบ คส. 3,4), ซึ่งในนั้นเราจะเหมือนพระองค์, เพราะเราจะแลเห็นพระองค์อย่างที่ทรงเป็น (เทียบ ยน. 9,2). เพราะฉะนั้น “ตราบใด เรายังอยู่ในร่างกาย, ตราบนั้นเราก็ถูกเนรเทศจากพระสวามีเจ้า” (2 คส. 5,6), และแม้เราได้รับมัดจำของพระจิตเจ้าแล้ว เราก็ยังคร่ำครวญกับตัวเรา (เทียบ รม. 8,23), เราปรารถนาใฝ่ฝันจะได้อยู่กับพระคริสตเจ้า (เทียบ ฟล. 1,23), ความรักอันนี้เองต้องกระตุ้นเร่งเร้าเราให้ดำรงชีพเพื่อพระองค์มากขึ้น พระองค์ผู้ได้ทรงมรณะและเสด็จคืนพระชนม์ชีพ เพื่อเห็นแก่เรา (เทียบ 2 คร. 5,15). ฉะนั้น ชาวเราจึงพยายามทำความพึงพอใจแด่พระสวามีเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่าง (เทียบ 2 คร. 5,9) และเราคาดกระชับอาวุธของพระเป็นเจ้า เพื่อสามารถยืนหยัดต้านกโลบายของปีศาจและต่อกรในวันร้าย (เทียบ อฟ. 6,11-13), เพราะด้วยว่า เราไม่ทราบวันและเวลา, อย่างที่พระสวามีเจ้าได้ทรงเตือนไว้, เราจึงต้องตื่นเฝ้าไม่หยุดหย่อนอยู่เรื่อยไป, เพื่อว่าเมื่อจบรอบ อันมีเพียงรอบเดียวแห่งชีวิตของเราบนโลกนี้แล้ว (เทียบ ฮบ. 9,27), เราจะได้สมควรเข้าไปสู่งานวิวาห์มงคล และมีบุญนับเข้าอยู่ในจำนวนผู้ได้รับพระพร (เทียบ มธ. 25,31-46), และขออย่าให้เราเป็นเหมือนคนใช้เลวและเกียจคร้าน (เทียบ มธ. 25,26) ที่ถูกบังคับให้ถอยไปสู่ไฟนิรันดร (เทียบ มธ. 25,31-46), ไปสู่ความมืดข้างนอก, ที่นั่น “จะมีแต่การร้องห่มร้องไห้ และการขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน” (มธ. 22,13 และ 25,30) เหตุว่า ก่อนที่เราจะได้เสวยราชย์ร่วมกับพระคริสต์ผู้ทรงศรี เราทุกคนจะต้องไปปรากฏตัว “เฉพาะพระบัลลังก์ของพระคริสตเจ้าเสียก่อน เพื่อที่ทุก ๆ คนจะได้รับตอบสนองตามกรรมที่เขาได้กระทำขณะอยู่ในร่างกาย,” “ตามแต่ได้ประพฤติดีหรือประพฤติชั่ว (2 คร. 5,10). ในบั้นปลายของโลก “ผู้ที่ได้สร้างความดีจะเดินหน้าไปสู่การกลับคืนชีวิต และพวกที่ได้สร้างความชั่วก็จะกลับคืนชีพ เพื่อถูกพิพากษาปรับโทษ” (ยน. 5,29; เทียบ 25,4-6). ฉะนั้น เพราะชาวเราตีราคาเห็นว่าความทุกขเวทนาในโลกนี้ มีค่าไม่คู่ควรกับพระเกียรติมงคลในภายหน้า ซึ่งจะปรากฏขึ้นในตัวเรา, (รม. 8,18; เทียบ 2 ทม. 3,11-12) “เราจึงตั้งมั่นแข็งขันในความเชื่อ, เรารอคอยความหวังอันเป็นความสุข และการมาถึงแห่งพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่, และของพระเยซูคริสตเจ้า, พระผู้ช่วยให้รอดของชาวเรา” (ทท. 2,13) “พระองค์จะทรงดลบันดาลร่างกายอันอาภัพอัปภาคย์ของเรา ให้ละม้ายคล้ายกับพระวรกายอันรุ่งโรจน์แจ่มจรัสของพระองค์ท่าน” (ฟล. 3,21), และพระองค์จะเสด็จมา “เพื่อรับเกียรติมงคลในบรรดานักบุญของพระองค์ และจะทรงกลายเป็นที่ชื่นชมอภิรมย์ยินดียิ่งนัก สำหรับทุก ๆ คน ที่ได้มีความเชื่อ” (2 ธส. 1,10).
สหพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรในสวรรค์ กับ พระศาสนจักรบนแผ่นดิน
49. พระสวามีเจ้าจะเสด็จมา ประกอบด้วยพระมหิทธิศักดิ์, อินทร์พรหมเทวดาทั้งหลายเป็นบริวารห้อมล้อมพระองค์ (เทียบ มธ. 25,31), และเมื่อนั้นความตายจะทลายสูญสิ้น และสรรพสิ่งต่าง ๆ จะอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ท่าน (เทียบ 1 คร. 26-27) แต่ก่อนจะถึงเวลาที่กล่าวนี้, ศิษยานุศิษย์ของพระองค์, บ้างกำลังเดินทางระเหระหนอยู่ในแผ่นดิน, บ้างก็ถึงแก่กรรมแล้ว, กำลังชำระล้างตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง, บ้างกำลังเสวยพระเกียรติมงคล, กำลังเพ่งมองดูพระผู้เป็นเจ้าอย่างกระจ่างชัดเจน แลเห็นสามพระบุคคล และพระเป็นเจ้าเดียวอย่างที่ทรงเป็น, “ถูกแล้ว แม้เราคนละคนมีหลั่นชั้นและแบบทำนองต่างกัน แต่เราต่างคนต่างมีความรักอันเดียวกันต่อพระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์, เราขับร้องเพลงสดุดีบทเดียวกัน เพื่อถวายเกียรติมงคลแด่พระเป็นเจ้า, เราทุกคนรวมกันเป็นของพระคริสตเจ้า, ต่างก็มีพระจิตเจ้าของพระองค์ และต่างก็ผนึกแน่นติดกับพระองค์ (เทียบ อฟ. 4,16). ฉะนั้น ความสัมพันธ์ของพวกที่กำลังเดินทางกับบรรดาพี่น้องที่ได้สิ้นใจ หลับอยู่ในสันติสุขของพระคริสตเจ้า, ก็หาเป็นการแตกต่างจากกันไม่. แต่ความเชื่อที่พระศาสนจักรยึดมั่นอยู่เสมอมา, ความสัมพันธ์อันนั้นกลับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก ด้วยการมีส่วนร่วมกันทางทรัพยากรด้านวิญญาณนั่นเอง. เพราะการที่ชาวสวรรค์สนิทชิดเชื้อกับพระคริสตเจ้ามากขึ้น มีความศักดิ์สิทธิ์แน่นหนาขึ้น, คารวกิจที่พระศาสนจักรประกอบถวายแด่พระเป็นเจ้าในโลกนี้ บรรดาชาวสวรรค์ก็ช่วยเพิ่มศักดิ์ศรีขึ้น และพวกท่านก็สนับสนุนด้วยทำนองหลายสีหลายอย่างให้พระศาสนจักรเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น (เทียบ 1 คร. 12,12-27). เหตุว่า เมื่อพวกท่านได้บรรลุถึงถิ่นฐาน (เที่ยงแท้) แล้ว, ท่านอยู่ใกล้ชิดกับองค์พระคริสตเจ้า (2 คร. 5,8), ท่านอยู่โดยพระองค์, ร่วมกับพระองค์และในพระองค์, ท่านไม่หยุดหย่อนทำการเสนอวิงวอนพระเป็นเจ้า เพื่อประโยชน์ของชาวเรา, ท่านนำขึ้นทูลถวายบุญกุศลที่ท่านได้ประกอบขึ้นบนแผ่นดิน, ได้ประกอบขึ้นโดยอาศัยองค์คนกลางแต่ผู้เดียว คือพระเยซูคริสตเจ้านั่นเอง (เทียบ 1 ธส. 2,5), ท่านช่วยบริการรับใช้พระสวาเจ้าในทุก ๆ เรื่อง, ท่านเสริมสร้างสิ่งที่ยังขาดอยู่ในพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า, ทั้งนี้เพื่อพระวรกายของพระองค์ นี่คือ เพื่อพระศาสนจักรนั่นเอง (เทียบ คส. 1,24). ฉะนั้น ความสลวนห่วงใยประสาพี่น้องของพวกท่าน จึงช่วยทุเลาความอ่อนแอทุพพลภาพของชาวเราได้มากมายเป็นอเนกอนันต์.
ความเกี่ยวข้องติดต่อระหว่างศาสนจักรบนแผ่นดิน กับพระศาสนจักรในสวรรค์
50. อันความสัมพันธ์ของพระกายทิพย์ทั้งหมดของพระคริสตเจ้านั้น พระศาสนจักรของบรรดาผู้กำลังเดินทาง ได้สำนึกรู้แต่แรกเริ่มมาแล้ว, ฉะนั้น นับแต่เริ่มต้นพระคริสตศาสนา, ท่านได้ปลูกฝังธรรมเนียมการระลึกถึงผู้ตายด้วยความเลื่อมใสยิ่งนัก และเพราะว่า “เป็นความคิดอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นบุญกุศล อันที่จะภาวนาอ้อนวอนอุทิศแก่ผู้ตาย เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากบาป” (2 มกบ. 12,46) ตลอดจนการทำบุญอุทิศแก่เขาด้วย. ส่วนพวกอัครสาวก และบรรดามรณสักขี (martyr) ของพระคริสตเจ้า, ผู้ได้หลั่งโลหิตเป็นเครื่องยืนยันความเชื่อและความรักอย่างเอกอุนั้น, พระศาสนจักรได้เชื่อถือเรื่อยมาว่า พวกท่านสนิทชิดเชื้อกับพวกเราในพระคริสตเจ้า. ฉะนั้น พระศาสนจักรจึงแสดงความเคารพพวกท่าน ด้วยความรักภักดีพิเศษ, พร้อมกันนี้ พระศาสนจักรก็เคารพภักดีต่อพระนางพรหมจาริณีมารีอา ตลอดจนบรรดาเทวดาทั้งหลายด้วย, ท่านยังขอพึ่งคำเสนอวิงวอนของบรรดาบุคคลดังกล่าว, ด้วยศรัทธาประสาทะให้ช่วยเหลือตัวท่าน. ต่อมามิช้าท่านยังเสริมจำนวนพวกที่ท่านเคารพนับถือเพิ่มขึ้นอีก คือบรรดาบุคคลผู้ได้เจริญตามรอยพระคริสตเจ้า ถือพรหมจรรย์ และความยากจนและตกที่สุดบุคคลอื่น ๆ ทั้งหลาย ผู้ได้บำเพ็ญคุณธรรมประสาคริสตชนอย่างดีเลิศ และบรรดาผู้ได้รับพระพรานุพรพิเศษจากพระเป็นเจ้า, เป็นทางให้ตัวเขาได้รับความเคารพนับถือ ทั้งเป็นทางให้บรรดาสัตบุรุษเจริญรอยตามแบบอย่างของเขาด้วย.
การมองดูชีวิตของบรรดาบุคคล ผู้ได้ดำเนินชีพติดตามพระคริสตเจ้าอย่างสัตย์ซื่อ, นี่แหละเป็นเหตุผลใหม่ที่กระตุ้นให้ชาวเราแสวงหาบ้านเมืองในอนาคต (เทียบ ฮบ. 13,14 และ 11,10). และพร้อมกันนี้ เราก็รู้จักหนทางอันปลอดภัยอย่างยิ่ง ที่จะนำชาวเราผ่านกลางความผันผวนทั้งหลายของโลก และผ่านสถานะเฉพาะของเราแต่ละคน, จนสามารถบรรลุถึงสหภาพอันครบถ้วนในพระคริสตเจ้า หรืออีกนัยความศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง. ในชีวิตของบรรดาบุคคลผู้มีธรรมชาติมนุษย์เหมือนกับเรา ๆ นี้ แต่เขาได้กลายเป็นรูปฉายาของพระคริสตเจ้าอย่างสมบูรณ์กว่าตัวเรานั้น (เทียบ 2 คร. 3,18) ส่อให้เห็นว่าพระเป็นเจ้าได้ทรงแสดงการสถิตย์ประทับ และพระพักตร์ของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งแก่มนุษย์ และด้วยตัวของเขานั้น พระเป็นเจ้าก็ทรงมีพระดำรัสแก่ชาวเรา ทั้งทรงดึงดูดชาวเราด้วยกำลังแรงให้เข้ามาสู่พระราชัยของพระองค์ “นี่อย่างไร กลุ่มผู้ยืนยันจำนวนมากมาย ห้อมล้อมตัวเราเหมือนกับเมฆหมอก” (เทียบ ฮบ. 12,1) นี่แหละ คือการประกาศยืนยันความจริงแห่งพระวรสาร.
อย่างไรก็ดี ชาวเราฉลองระลึกถึงชาวสวรรค์ ไม่ใช่เพราะท่านบำเพ็ญตนเป็นแบบอย่างดีแก่ชาวเราอย่างเดียว แต่เฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเพราะท่านบันดาลให้ความสัมพันธ์กลมเกลียวของพระศาสนจักรทั้งหมดแข็งแกร่งแน่นแฟ้นขึ้นในพระจิตเจ้าด้วยการบำเพ็ญความรักใคร่ประสาพี่น้องนั่นเอง (เทียบ อฟ. 4,1-6). ความสัมพันธ์ประสาคริสตังระหว่างบรรดาผู้กำลังเดินทางอยู่ด้วยกันในโลกนี้ นำชาวเราไปสู่พระคริสตเจ้าให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นแล้วฉันใด, การร่วมโชคชาตากับบรรดานักบุญ ก็ผูกโยงเราไว้กับพระคริสตเจ้า, องค์ต้นธารและศีรษะ, แหล่งที่มาแห่งพระหรรษทานทั้งสิ้น และชีวิตทั้งหมดแห่งประชากรของพระเป็นเจ้าที่ไหลพรูออกมา ฉันนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่ชาวเราจะรักใคร่บรรดาผู้เป็นสหายของพระคริสตเจ้า ทั้งเป็นทายาทร่วมกับพระองค์ท่าน, เป็นพี่เป็นน้องของชาวเรา ทั้งเป็นผู้มีพระคุณต่อชาวเราเป็นอย่างยิ่ง, ฉะนั้นชาวเราจึงต้องขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ตามที่ถูกที่ควรแทนพวกท่านด้วย, ทั้งต้องวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพวกท่าน, และเพราะพระคุณต่าง ๆ ที่พวกท่านได้เสนอช่วยให้เราได้รับจากพระเป็นเจ้า โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า, พระสวามีของชาวเรา, พระผู้ไถ่และผู้กอบกู้แต่องค์เดียว, นี่แหละชาวเราต้องพึ่งคำภาวนา และความอุปถัมภ์ช่วยเหลือจากพวกท่าน. การยืนยันแสดงออกซึ่งความรักของเราต่อชาวสวรรค์ ที่เป็นไปโดยถูกต้องทุก ๆ ครั้งนั้นเป็นธรรมดาอยู่เอง ต้องมุ่งไปสู่และไปจบที่พระคริสตเจ้า “ผู้ทรงเป็นมงกุฎรางวัลแห่งนักบุญทั้งหลาย และผ่านทางพระคริสตเจ้าก็ไปจบลงที่พระเป็นเจ้า, พระองค์ทรงเป็นที่น่าพิศวงของบรรดานักบุญ ทั้งทรงได้รับพระเกียรติมงคลในพวกนักบุญนั้นด้วย.”
วิธีการอันสูงส่ง ที่ชาวเราแสดงให้เห็นเอกภาพ (ความเป็นหนึ่งเดียว) ของชาวเรากับชาวสวรรค์นั้น อยู่ที่การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งที่นี้เอง ฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าทำงานในตัวเรา โดยอาศัยเครื่องหมายของสิ่งศักดิ์สิทธิการต่าง ๆ (sacramentalia), ในพิธีกรรมนั้น ชาวเราต่างพร้อมใจกันเปล่งเสียงสดุดีถวายพระพรแด่พระมหิทธิศักดิ์ของพระเป็นเจ้า, เราทุกคนไม่เว้นใครเลย, แม้มาจากตระกูล, ภาษา, ประเทศ และเชื้อชาติต่างกัน, เราทุกคนต่างได้รับการไถ่ด้วยพระคริสตโลหิตทั้งนั้น (เทียบ วว. 5,9). เราทุกคนร่วมชุมนุมเป็นศาสนจักร, หรือสโมสรอันเดียวกัน, เราร้องเพลงบทเดียวกัน ซร้องสาธุการพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียว ซึ่งมีสามบุคคล. การถวายสดุดีบูชาเป็นวิธีการชั้นยอดเยี่ยม แสดงให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของชาวเรา กับพระศาสนจักรในสวรรค์, ที่พิธีบูชานั้น เราร่วมกันเฉลิมฉลองระลึกถึงพระแม่มารี ผู้ทรงศรี, องค์พรหมจาริณีตลอดกาลเป็นต้น ต่อนั้นเราก็ฉลองท่านผู้ทรงบุญองค์อื่น ๆ เช่น นักบุญยอแซฟ, บรรดาอัครสาวก, บรรดามรณสักขี, และบรรดานักบุญทั้งหลาย.
คำแนะนำแนวทางสำหรับศาสนบริกร (ชุมพาบาล)
51. ความเชื่อถืออันน่าเคารพของบรรดาบรรพบุรุษของเราเรื่องการร่วมโชคชะตาทางชีวิต กับบรรดาญาติพี่น้องผู้บรรลุถึงเกียรติมงคลในสวรรค์แล้วก็ดี, ผู้ที่หลังการจบอายุขัยแล้วและกำลังชำระล้างตนอยู่ก็ดี สภาพระสังคายนานี้ ขอต้อนรับด้วยศรัทธาภักดี ทั้งกำชับให้กลับนำเอาคำสั่งแห่งพระสังคายนาสากล ที่นครนีเซีย ครั้งที่ 2, ที่นครฟลอเรนส์ และที่นครเตรนต์มาใช้ต่อไป. พร้อมกันนี้ เพราะสลวนด้านศาสนบริการ สภาพระสังคายนานี้ ขอตักเตือนบรรดาผู้รับผิดชอบทุก ๅ คน, ในกรณีที่มีการออกนอกลู่นอกทาง, เกินไปบ้าง, ขาดตกไปบ้าง, ในที่นี้ที่นั้นก็ขอให้กำจัดออกไปเสีย หรือแก้ไขให้ทุก ๆ สิ่งดำเนินไปเพื่อเกียรติมงคลของพระคริสตเจ้าและพระเป็นเจ้าจะได้บริบูรณ์ถูกต้อง. ขอให้สอนสัตบุรุษว่า คารวกิจอันแท้จริงต่อบรรดานักบุญ มิใช่อยู่ที่การทำงานภายนอกมากมายหลายต่อหลายอย่าง แต่เฉพาะอย่างยิ่ง อยู่ที่การปฏิบัติความรักอย่างร้อนรนและอย่างสัมฤทธิ์ผล, พยายามแสวงหาคุณประโยชน์สำหรับตนเองและสำหรับพระศาสนจักร, “เรามีวิสาสะสนิทสนมกับบรรดานักบุญเพื่อทำตามแบบอย่างของท่าน, เราร่วมใจกับท่านเพื่อมีส่วนในโชคชะตาของท่าน, เราพึ่งคำเสนอวิงวอนของท่านเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือจากท่าน” อีกประเด็นหนึ่ง ขอให้สอนสัตบุรุษว่า. ความสนิทสนมของเรากับชาวสวรรค์, ในเมื่อเข้าใจตามแสงสว่างของความเชื่ออันครบถ้วน, ย่อมไม่ลดหย่อนคารวกิจต่อพระเป็นเจ้า, แต่กลับเป็นบรรณาการถวายแด่พระเป็นเจ้าพระบิดา โดยทางพระคริสตเจ้าในพระจิตเจ้านั้นเอง ฉะนั้นจึงบันดาลให้พระเป็นเจ้าทรงมั่งคั่งยิ่งขึ้นไปเสียด้วยซ้ำ.
เหตุว่า เราทุกคนเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า, เรารวมตัวกันเป็นครอบครัวเดียวในพระคริสตเจ้า (เทียบ ฮบ. 3,6), ในขณะที่เราติดต่อกันและกันด้วยความรัก, เราร่วมใจกันสรรเสริญสดุดีพระตรีเอกภาพพร้อม ๆ กัน, เราก็สนองพระกระแสเรียกแห่งพระศาสนจักรโดยใกล้ชิด, และเราร่วมมีส่วนในพิธีกรรมที่ประกอบขึ้น, ด้วยเกียรติมงคลอันบริบูรณ์เป็นดังการชิมลางก่อนแล้ว, สำหรับคราวเมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จประจักษ์มา, คราวเมื่อการกลับคืนชีพอันรุ่งโรจน์ของบรรดาผู้ตายจะอุบัติขึ้น, เมื่อนั้น ความกระจ่างเจิดจ้าของพระเป็นเจ้าจะฉายแสงในนครสวรรค์ และชุมพาน้อยนั่นแหละ คือดวงประทีป (เทียบ วว. 21,24), เมื่อนั้นพระศาสนจักรทั้งครบที่ประกอบอยู่ด้วยบรรดานักบุญ ผู้บรรลุถึงความสุขขั้นสุดยอดแห่งความรักแล้ว จะพากันกราบนมัสการพระเป็นเจ้า, และ “พระชุมพาน้อยที่ได้ถูกประหาร” (วว. 5,12), ทุกผู้ทุกคนจะโห่ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า : “องค์ผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์ และพระชุมพาน้อยจะได้รับการถวายพระพร, พระเกียรติยศ, พระเกียรติมงคล และพระเดชานุภาพเป็นนิตย์นิรันดรเทอญ” (วว. 5,13-14).