www.catholic.or.th

มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

มหาพรตคิดถึงอะไร

เมื่อเอ่ยคำว่า “มหาพรต”   มีหลายสิ่งหลายอย่าง หรือเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์  ที่พาให้เราคิดถึง เรื่องแรก หรือเหตุการณ์แรกที่หลายคนจะคิดถึง ก็คือ วันพุธรับเถ้า  วันที่เป็นเสมือนประตูเข้าสู่เทศกาลมหาพรต เพราะเป็นวันแรกของเทศกาลนี้  วันที่สมาชิกของพระศาสนจักร ทั้งสมเด็จพระสันตะปาปา  พระสังฆราช  พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสทั่วไป ต่างมีท่าทีเดียวกัน คือ สุภาพถ่อมตน สำนึกถึงความต่ำต้อยของตนเอง แสดงออกด้วยการก้มศีรษะรับการโรยเถ้า พร้อม ๆ กับรับฟังถ้อยคำเตือนใจสั้น ๆ จากพระสงฆ์ ที่จะใช้นิ้วหัวแม่มือแตะเถ้าแล้วทำเครื่องหมายที่หน้าผาก   หรือไม่ก็โรยบนศีรษะ ซึ่งต่างก็มีความหมายเดียวกัน .


“การรับเถ้า”   เป็นการแสดงออกภายนอก  ที่เรียกร้องให้เรามีท่าทีภายในที่สอดคล้องกัน  ด้วยเหตุนี้ พิธีมิสซาของวันพุธรับเถ้า  ทั้งบทภาวนา บทอ่าน บทเทศน์  และบทเสกเถ้า  ได้ถูกจัดเตรียมไว้เป็นพิเศษ ตามลำดับ หรือตามจังหวะของพิธีกรรม เพื่อช่วยให้เราเดินเข้าสู่เทศกาลมหาพรตอย่างดี ตรงตามความหมายหรือจิตตารมย์ของเทศกาลนี้    
   
   

“ข้าแต่พระเจ้า
ขอโปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเริ่มเทศกาลมหาพรต
ต่อสู้กับกิเลสด้วยการถือศีลอดอาหาร
โปรดประทานความช่วยเหลือให้ข้าพเจ้าทุกคนรู้จักบังคับตนอย่างเข้มแข็ง
เพื่อสามารถต่อต้านความชั่วร้ายฝ่ายวิญญาณด้วยเถิด…….” 
(บทภาวนาของประธาน)

นอกจากจะคิดถึง “การรับเถ้า”   ในวันแรกของเทศกาลมหาพรตแล้ว   หลายคนคงจะคิดถึง “การจำศีลอดอาหาร” ที่วันนี้ถูกกำหนดไว้ (คู่กับวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสองวันในรอบปี) ให้เป็นวันบังคับสำหรับการอดอาหารและอดเนื้อ

บางคนคิดถึงอาภรณ์พิธีกรรม “สีม่วง”   ที่พระสงฆ์สวมใส่ระหว่างประกอบพิธีกรรม เป็นสีที่สื่อความหมายของการถ่อมใจ  สำนึกผิด  (ในอดีต  สีม่วงของเทศกาลมหาพรตจะเป็นสีม่วงเข้ม ส่วนสีม่วงในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จะเป็นสีม่วงอ่อน)
บางคนสังเกตว่า ตลอดเทศกาลนี้  ดอกไม้ในวัด จะจัดน้อยลง   แม้แต่เชิงเทียนบนพระแท่น ก็จะเป็นเชิงเทียนแบบเรียบง่าย  หรือเมื่อร่วมพิธีกรรม  ทั้งบทภาวนาและบทเพลง ก็จะเห็นการหายไปของคำว่า“อัลเลลูยา” รวมทั้ง บทเพลง“พระสิริรุ่งโรจน์”
   

  ดนตรี ที่เคยบรรเลงอย่างสง่า  ตลอดเทศกาลนี้  จะเน้นบทบาทที่เหลือเพียงการประคับประคองเสียงร้อง  คือบรรเลงเพียงเบา ๆ เท่านั้น  ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อให้เราได้สัมผัสบรรยากาศหรือจิตตารมณ์แท้จริงของเทศกาลมหาพรตผ่านทางบรรยากาศที่สงบ และเรียบง่ายของพิธีกรรม

บางคนคิดถึง “กระปุกมหาพรต” ที่ทางวัดจัดเตรียมให้กับเรา  เพื่อให้เราได้ออมเงินจากการอดออมของตนเอง เพื่อแบ่งปันให้คนอื่นที่ขัดสนกว่าเรา  หรือบางคน ก็อาจจะคิดถึง “กิจเมตตา” อื่น ๆ ที่เป็นความตั้งใจส่วนตัว  เช่น การไปเยี่ยมผู้ป่วย   การทำกิจกรรม “จิตอาสา” ในรูปแบบต่างๆ  หรือแม้แต่การมีความตั้งใจที่จะให้กำลังใจผู้อื่น ด้วยคำพูดที่ดี ๆ ละเว้น การนินทา ว่าร้ายกัน 


บางคนให้เวลากับการภาวนามากขึ้น   มาวัดเร็วกว่าที่เคย เพื่อจะได้มีเวลาที่สงบ อยู่กับพระในคำภาวนา  หรือแม้แต่ที่บ้าน ก็มีเวลาภาวนาที่หน้าแท่นพระ ทั้งโดยลำพัง   และพร้อม ๆ กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว

บางคนยังสังเกตเห็นว่า ช่วงเทศกาลมหาพรตนี้  เป็นช่วงเข้มข้นสำหรับผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน มีพิธีพิเศษสำหรับพวกเขา คือพิธีเลือกสรร ตั้งแต่วันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต


บางคนคิดถึง “ช่วงเวลา 40 วัน”   ของเทศกาลนี้    ควบคู่ไปกับการรำพึงถึงเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ เช่น การอยู่ในถิ่นทุรกันดาร 40 วัน  ของพระเยซูเจ้า    โมเสสอยู่บนภูเขากับพระเจ้า 40 วัน   ในสมัยของโนอาห์ เกิดน้ำท่วมโลก 40  วัน   หรือการอพยพของชาวอิสราเอล ในถิ่นทุรกันดาร ก่อนจะเข้าสู่ดินแดนพันธสัญญา เป็นเวลายาวนาถึง 40 ปี

แม้จะกำหนดระยะเวลาของเทศกาลมหาพรตว่ายาวนาน 40 วัน  คือมีวันเริ่ม และมีวันจบเทศกาล  แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของเทศกาลนี้ (ที่มีเรื่องให้เราได้คิดหลายอย่าง)  อยู่ที่การเตรียมชีวิตและจิตใจสู่การฉลองที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเราคริสตชน  นั่นก็คือ  การสมโภชปัสกา หรือการฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

หากจะเปรียบเทียบแล้ว   40 วัน ของเทศกาลมหาพรตก็เหมือนกับระยะทางหรือเส้นทางเดินขึ้นภูเขา   โดยมีงานฉลองยิ่งใหญ่รออยู่ข้างหน้า  ที่เราจะขับร้อง “พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพแล้ว  อัลเลลูยา  อัลเลลูยา”   ด้วยความเริงรื่นชื่นบาน เพราะเราได้เตรียมชีวิตและจิตใจของเรามาอย่างดีแล้ว.