มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

ประวัติความเป็นมาของเทศกาลมหาพรต

พิธีกรรมในเทศกาลมหาพรตเดินไปพร้อมกับพระเยซูเจ้าบนหนทางแห่งไม้กางเขนเพื่อพบพระสิริรุ่งโรจน์ 

โอกาสเทศกาลมหาพรตนี้ พ่อขอนำเสนอ เรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับเทศกาลมหาพรต ในแง่ของความหมาย ประวัติความเป็นมา จารีตพิธีกรรม และข้อเสนอแนะบางประการในภาคปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสนจักรแก่พี่น้องทุก ๆ ท่าน ความหมายของเทศกาลมหาพรต

เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาที่พระศาสนจักรกำหนดเพื่อเตรียมสมโภชปัสกา 
1. สำหรับผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาป เป็นการเตรียมในขั้นตอนสุดท้ายของพิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน 

2. สำหรับคริสตชน เป็นการเตือนใจให้รื้อฟื้นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของศีลล้างบาปที่เขาได้รับ (เขาจะรื้อฟื้นอย่างสง่าในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์) และยังเป็นการเตือนใจให้เตรียมสมโภชปัสกาด้วยการกลับใจใช้โทษบาป และด้วยกิจการอื่น ๆ คือ ฟังพระวาจาพระเจ้า สวดภาวนา และบำเพ็ญกิจเมตตาปรานี

ประวัติย่อ ๆ ของเทศกาลมหาพรต

คริสตชนในศตวรรษที่ 2 เริ่มเตรียมสมโภชปัสกาด้วยการอดอาหารก่อนวันสมโภชปัสกา 2 วัน ในศตวรรษที่ 3 คริสตชนในบางแห่งขยายการจำศีลอดอาหารเพื่อเตรียมสมโภชปัสกา เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ (อดอาหารในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์)

การขยายเวลาของการอดอาหารเพื่อเตรียมสมโภชปัสกาเพิ่มขึ้นเป็น 3 สัปดาห์เพื่อให้ระยะเวลาสมดุลกับเทศกาลปัสกาซึ่งฉลองถึง 50 วัน (เราเห็นร่องรอยนี้ในปัจจุบัน จากการจัดพระวรสารของนักบุญยอห์นให้อ่านแบบกึ่งต่อเนื่อง โดยเริ่มในวันธรรมดาสัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไปในเทศกาลมหาพรต)

ต่อมาในศตวรรษที่ 4 เทศกาลมหาพรตเริ่มที่วันอาทิตย์ 6 สัปดาห์ก่อนปัสกา และจบลงที่วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ นับจำนวนวันได้ 40 วันพอดี

ในศตวรรษที่ 5 มีความพยายามที่จะให้มีการอดอาหารครบ 40 วันในเทศกาลมหาพรต เพราะตามธรรมเนียมของพระศาสนจักรตะวันตก คริสตชนไม่อดอาหารในวันอาทิตย์และวันสมโภช ดังนั้นถ้าเทศกาลมหาพรตเริ่มที่วันอาทิตย์ 6 สัปดาห์ก่อนปัสกาจะได้วันอดอาหารเพียง 34 วัน รวมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์และวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคริสตชนสมัยแรกถือเป็นวันจำศีลอดอาหารด้วยก็ยังไม่ครบ 40 วัน ในสมัยนั้นจึงเพิ่มวันจำศีลอดอาหารเข้าไปอีก 4 วัน ดังนั้นจึงเริ่มเทศกาลมหาพรตที่วันพุธรับเถ้า ทำให้การจำศีลอดอาหารครบ 40 วันพอดี (วันสมโภชนักบุญโยเซฟเริ่มฉลองครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 800 และวันสมโภชแม่พระรับสารในวันที่ 25 มีนาคม ที่กรุงโรมเริ่มในศตวรรษที่ 7...ผู้เขียน)

สำหรับการรับเถ้าในวันพุธรับเถ้านั้น แต่เดิมรับเฉพาะผู้ที่ใช้โทษบาปสาธารณะเท่านั้น จนกระทั่งจารีตพิธีสำหรับคนบาปสาธารณะหายไปในศตวรรษที่ 10 แต่พิธีโรยเถ้ายังคงเก็บรักษาไว้ และเริ่มมีพิธีโรยเถ้าสำหรับคริสตชนทุกคน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1091 พระสันตะปาปาอูร์บันที่ 2 ประกาศให้การโรยเถ้าสำหรับคริสตชนทุกคนเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติของพระศาสนจักรสากล

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ธรรมเนียมที่ให้โรยเถ้าที่ได้จากใบลานซึ่งเสกในปีก่อนนั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 12 มีความหมายดีเพราะใบลานหมายถึงชัยชนะของพระเยซูเจ้าในฐานะกษัตริย์ในการเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า (ภาพอนาคตของการกลับคืนชีพ) เมื่อเอามาเผาเป็นเถ้าและโรยเพื่อเตือนใจให้คริสตชนใช้โทษบาปแล้ว ยังเป็นสิ่งที่บอกคริสตชนว่าการใช้โทษบาปนี้มีเป้าหมายเพื่อเตรียมการฉลองชัยชนะแห่งการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown