www.catholic.or.th

มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

คริสตชนเตรียมฉลองปัสกาด้วยเทศกาลถือพรตนี้อย่างไรบ้าง

การเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของคริสตชน คือ ปัสกา เพราะเป็นจุดสุดยอดแห่งการกอบกู้มนุษยชาติของพระคริสตเจ้าด้วยการรับทรมาน สิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระองค์

เนื่องจากมีความสำคัญพิเศษสุดดังกล่าว พระศาสนจักรจึงกำหนดให้คริสตชนเตรียมตัวในช่วงเวลาพิเศษ ก่อนวันฉลองปัสกาประจำปีขึ้นเรียกว่า "เทศกาลมหาพรต" (หรือถือพรต) ตลอด 40 วัน ก่อนถึงวันสมโภชปัสกาโดยเริ่มด้วย "พิธีรับเถ้า" ในวันพุธรับเถ้า

คริสตชนเตรียมฉลองปัสกาด้วยเทศกาลถือพรตนี้อย่างไรบ้าง?

ดังที่เราทราบ มีการเตรียมหลายวิธีด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสวดภาวนา การทำกิจใช้โทษบาปหรือพลีกรรม และการบริจาคทานช่วยเหลือคนยากจน ซึ่งคริสตชนถือปฏิบัติโดยส่วนตัว และโดยส่วนรวมทางพิธีกรรมต่างๆ อาทิ พิธีรับเถ้า (ในวันเริ่มต้นเทศกาลมหาพรตที่เรียกว่า "วันพุธรับเถ้า") พิธีเดินรูป 14 ภาค ระลึกถึงมหาทรมานของพระคริสตเจ้า เป็นต้น

พิธีรับเถ้า

พิธีรับเถ้า มีกำเนิดมาจากพิธีการใช้โทษบาปของคนบาป "อุกฉกรรจ์" (สอนผิดความเชื่อ ละทิ้งศาสนา ฆ่าคนและล่วงประเวณีที่เรียกว่า "บาปสาธารณะ") ทางยุโรปตะวันตก ก่อนมาถึงกรุงโรมในศตวรรษที่ 11 ที่กรุงโรมเริ่มมีการโรยเถ้าแก่สัตบุรุษทุกคนไม่ใช่เพียงคนบาปอุกฉกรรจ์เท่านั้น และในปลายศตวรรษที่ 11 ในสังคายนาแห่ง Benevento ปี 1091 สมัยพระสันตะปาปา อูรบาโน ที่ 2 ได้ประกาศให้มีการโรยเถ้าให้แก่ทุกคนในพิธีนี้ ซึ่งเรียกวันนั้นว่า "วันพุธรับเถ้า" (Ash Wednesday) : "ในวันพุธรับเถ้าทุกๆ คนไม่ว่าพระสงฆ์นักบวช หรือฆราวาส ไม่ว่าชายหรือหญิงจะไปรับเถ้า"

พิธีรับเถ้าจึงกลายเป็นการให้สัตบุรุษทุกคนมุ่งไปสู่ปัสกาโดยถือว่าเป็นเวลาแห่งการกลับใจ เป็นเวลาแห่งการใช้โทษบาป และเป็นเวลาแห่งการเดินทางไปสู่การเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้า

1. การสวดภาวนา

 แม้ว่าคริสตชนหลายคนจะคิดว่าเทศกาลมหาพรต เป็นเทศกาลที่เน้นเรื่องการใช้โทษบาปหรือพลีกรรม จำศีล อดอาหาร แต่ถ้าเรามาดูคำสอนของบรรดาพระสังฆราชสมัยโบราณหรือที่เรียกว่าปิตาจารย์แล้วจะเห็นว่าการจำศีลอดอาหารและการใช้โทษบาปหรือการพลีกรรมต่างๆ นั้นเป็นขั้นรอง และเป็นวิธีการที่จะนำไปพบเป้าหมายเท่านั้น การพลีกรรมดังกล่าวจะมีผลและให้คุณค่าทางวิญญาณก็ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่างๆ

เงื่อนไขประการที่สอง คือ การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกันกับผู้เป็นพระเจ้า ด้วยการสวดภาวนา ซึ่งขจัดความเห็นแก่ตัว และได้รับพลังทางใจจากการพลีกรรมจำศีลอดอาหาร

หากไม่มีเงื่อนไข 2 ประการดังกล่าว การพลีกรรมจำศีลต่างๆ ก็จะกลับกลายเป็นการเห็นแก่ตัวและหลอกตนเอง มันจะกลายเป็นวิธีการที่ค่อยเบนความสนใจเข้าหาตัวเองโดยไม่รู้ตัว และสร้างบรรยากาศแห่งชีวิตทางจิตใจปลอมๆ ที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น การสวดภาวนาจึงนับเป็นกิจกรรมสำคัญในระหว่างเทศกาลมหาพรต

พระศาสนจักรได้จัดวางวิธีการสวดภาวนาที่ดีเลิศแบบหนึ่งให้สัตบุรุษถือปฏิบัติ ในช่วงเวลาพิเศษเหล่านี้ คือ บทภาวนาและบทอ่านจากพระคัมภีร์ในชีวิตประจำวันบทอ่านเหล่านี้เน้นถึงหัวข้อสำคัญๆ ของคำสอนที่เกี่ยวข้องระหว่างเรามนุษย์กับพระเป็นเจ้า เช่นความเชื่อ การกลับใจจากบาป  การสวดภาวนา การพลีกรรมใช้โทษบาป ความรัก เป็นต้น

2. การพลีกรรมใช้โทษบาปและจำศีลอดอาหาร

การสวดภาวนาเป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลมหาพรตก็จริง แต่เทศกาลนี้ก็เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ในขณะภาวนาชีวิตทางจิตใจเป็นเรื่องของตัวตนมนุษย์ทั้งครบ : กาย ใจ วิญญาณ ในขณะที่เราทำการพลีกรรมใช้โทษบาป เราก็ต้องภาวนาถึงพระผู้เป็นเจ้าในเวลาเดียวกัน การพลีกรรมใช้โทษบาปที่เป็นการพยายามปลดเปลื้องความเห็นแก่ตัวอันมาจากเนื้อหนัง และเป็นความพยายามที่จะขจัดความเห็นแก่ตัว เพื่อไปหาผู้อื่นด้วยการบริจาคทานอย่างใจกว้างขวางนั้น ก็ทำให้คำภาวนาของเรามีค่ามีพลังสูงส่ง

การจำศีลอดอาหาร หมายถึงอะไร?

นักบุญยอห์น ครีโซสตอม ให้ความหมายที่คมคายแบบเปรียบเทียบเชิงตรงกันข้ามดังนี้ "ในช่วงเวลาที่ท่านกำลังจำศีลอดอาหาร ข้าพเจ้าบอกท่านได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่ไม่จำศีลในขณะที่จำศีลอยู่ ข้าพเจ้าบอกท่านได้อีกด้วยว่าเป็นไปได้ที่จำศีลในขณะที่ไม่จำศีล เป็นปริศนาหรือ ขอบอกความจริงที่กระจ่างกว่าหน่อย เป็นไปได้อย่างไรที่ ไม่จำศีลในขณะที่จำศีลอยู่?  ก็โดยที่อดอาหารอยู่จริงแต่ไม่อดบาป (งดเว้นอาหารจริง แต่ไม่งดเว้นบาป) และเป็นไปได้อย่างไรที่จำศีลในขณะที่ไม่จำศีล ก็โดยขณะที่กำลังลิ้มรสอาหารอร่อยท่านก็ไม่ได้ลิ้มรสบาป นี่คือวิธีจำศีลอดอาหารที่ดีที่สุดและง่ายกว่าด้วย" (Adversus ebriosos et de resurrection sermo PG 50:433) เพราะฉะนั้นการจำศีลอดอาหารจึงมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือเป็นเครื่องมือที่จะปราบกิเลสหรือบาปเป็นสำคัญ

3. ความรักฉันพี่น้องและการบริจาคทาน

 นักบุญเลโอ พระสันตะปาปาได้เน้นสอนเรื่องของการแสดงความรักฉันพี่น้องที่แสดงออกมาทางภาคปฏิบัติที่มองเห็นเด่นชัด คือการบริจาคทานช่วยคนยากจนในช่วงเวลาแห่งเทศกาลมหาพรตนี้ เป็นต้น บทเทศน์ระหว่างเทศกาลมหาพรตทั้ง 12 บทของพระองค์เกือบจะทั้งหมดพูดถึงความรัก การยกโทษและการบริจาคทานช่วยคนยากจน การบริจาคทานให้คนยากจน เป็นรูปแบบทางภาคปฏิบัติที่มองเห็นชัดเจนยิ่งของความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นการถือปฏิบัติที่แยกจากการจำศีลอดอาหารไม่ได้เลย  การบริจาคทานควบคู่กับการจำศีลอดอาหาร ทำให้เกิดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระผู้เป็นเจ้าในคำภาวนา

น่าสังเกตว่าแม้พระศาสนจักรรวมทั้งบรรดาปิตาจารย์ดังกล่าว จะสอนเรื่องความรักต่อพี่น้องโดยเฉพาะการบริจาคทานช่วยคนยากจนที่ควบคู่ไปกับการภาวนา (Sermo 41,3 bis 99 ; CCL 138 a : 237) แต่คริสตชนส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มความศรัทธาแบบ "ความรอดของปัจเจกชน" (ความรอดส่วนตัว) มาจนถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรโดยเฉพาะพระสมณสาสน์ RERUM NOVARUM และสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่เปิดตนไปสู่โลก มีการอดออมแบบพลีกรรมในเทศกาลเพื่อช่วยคนยากไร้และมีหน่วยงานรณรงค์เพื่อการนี้มากขึ้น

สรุป เทศกาลมหาพรต จึงเป็นช่วงเวลาที่คริสตชนจะหันมามองดูตนเอง มองเห็นความผิดระเบียบกฎเกณฑ์แห่งชีวิตของ ตน พยายามเป็นคนใหม่โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่พระศาสนจักรสอนและวางไว้ อาทิ การทำกิจใช้โทษบาป  การพลีกรรมด้วยการจำศีลอดอาหาร ด้วยการแสดงความรัก เมตตา ให้ทาน ด้วยการละทิ้งบาป ด้วยการภาวนา และด้วยการเข้าร่วมในพิธีกรรมต่างๆ ที่จะนำเราเข้าสู่กิจการเฉลิมฉลองการรอดพ้นจากบาปและหายนะของตน โดยทางพระเยซูคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพราะบาปของเรา และได้ทรงกลับคืนพระชนม์ และดังนี้เราก็จะผ่านช่วงวันเวลาในเทศกาลมหาพรตนี้อย่างดี อย่างศักดิ์สิทธิ์ เป็นกา รเตรียมฉลองปัสกาอันเป็นจุดสุดยอดแห่งการเฉลิมฉลองทั้งปวงของคริสตชน 

โดย : คุณพ่อสำราญ วงศ์เสงี่ยม  จากหนังสือพิมพ์ข่าวสารคาทอลิกรายสัปดาห์  ฉบับที่ 8 ประจำวันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ 2001