มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

เรื่องที่ต้องรู้ “กฤษฎีกาฯ 2015”


     3 พฤศจิกายน 2011 สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย มีมติให้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่ ของพระศาสนจักรคาทอลิกไทย กระบวนการต่างๆ จึงได้เริ่มขึ้นด้วยการจัดการเตรียมหาข้อมูล สภาพความเป็นจริง ทั่วทุกสังฆมณฑล ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ปีเศษ จึงทำการขออนุมัติจากสันตะสำนักเพื่อจัดการประชุมฯ
     3 พฤศจิกายน 2014 ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสันตะสำนัก จึงดำเนินการประชุมตามระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ทันที โดยประชุมระดับสังฆมณฑลนครท่าแร่-หนองแสง ในวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2014 และสังฆมณฑลนครกรุงเพทฯ ในวันที่          24-29 พฤศจิกายน 2014 ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ทำการเตรียมประชุมสมัชชาใหญ่ทั้งประเทศ
     20-24 เมษายน 2015 การประชุมสมัชชาฯจัดเกิดขึ้น ณ บ้านผู้หว่าน สามพราน มีพระสังฆราชทุกองค์ ผู้แทนพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส กว่า 200 คน ใช้เวลาและระดมความคิดเห็นต่างๆ อย่างเต็มที่ จนได้ร่างกฤษฎีกาของการประชุมฯ นำส่งสันตะสำนักเพื่อขอการรับรองประมาณกลางปี 2015
     2 กุมภาพันธ์ 2017 สันตะสำนักรับรองกฤษฎีกา โดยให้มีการแก้ไขเล็กน้อย
     23 มีนาคม 2017 สภาพระสังฆราชฯแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้ประกาศกฤษฎีกาฯอย่างเป็นทางการ

กฤษฎีกาฉบับนี้จึงมีความสำคัญ เป็นหนทางที่พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยจะต้องเดินไปด้วยกัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป...
     

     ดังนั้น สิ่งที่ตามมาคือ “เป็นหน้าที่ของทุกคน” (สมาชิกพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย) ทั้งพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส จะต้องทำความเข้าใจ ตระหนัก และนำไปปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่ทุ่มเทอย่างเต็มที่...
หัวข้อของสมัชชาคือ “ศิษย์พระคริสต์ เจริญชีวิต ประกาศข่าวดีใหม่” ซึ่งมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว และถ้าจะพูดถึงเป้าหมายของกฤษฎีกาฯฉบับนี้ ก็คือ “การฟื้นฟู การประกาศข่าวดีขึ้นใหม่” นั่นเอง
ตัวกฤษฎีกาฯ เอง ในบทที่ 1 จึงพูดถึง “ศิษย์พระคริสต์” ว่า เป็นบุตรของพระบิดา เป็นส่วนของพระกายทิพย์ของพระเยซู และเป็นวิหารที่ประทับของพระจิต อันเป็นผลมาจากศีลล้างบาปที่ได้รับ นอกจากนั้นยังต้องมีชีวิตเป็นหมู่คณะ เป็นชุมชน เป็นหนึ่งเดียวกันโดยมีความรักพื้นฐาน
     ในบทที่ 2 พูดถึง “การเจริญชีวิต” ของศิษย์พระคริสต์ คือ ต้องมีความเชื่อ และนำพระวาจามาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของตน พร้อมทั้งเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระเยซูคริสต์ และความรักเมตตาของพระองค์ เพื่อผู้อื่นจะรู้จักพระองค์
สิ่งที่กฤษฎีกาฯ แนะนำเป็นพิเศษคือ การสร้างชุมชนคริสตชนย่อย (BECs) ให้เกิดขึ้นและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
     ในบทที่ 3 “ประกาศข่าวดีใหม่” ที่แท้แล้วข่าวดีฯนี้คือ เรื่องราวแห่งการไถ่กู้ หรือ พระธรรมล้ำลึกปัสกา อันหมายถึง พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ ขององค์พระเยซูนั่นเอง
     การประกาศข่าวดีนี้จะต้องการทำด้วยความกระตือรือร้น เอาจริงเอาจัง ทุ่มเทชีวิต ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมกับยุคสมัย และที่สำคัญด้วยการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับจิตตารมณ์ขององค์พระเยซูเจ้า
     กลุ่มเป้าหมาย ในการประกาศข่าวดีนั้น หมายถึง 1. ผู้ที่ยังไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้า 2. บรรดาคริสตชนที่ห่างเหิน ละเลยหน้าที่การเป็นคริสตชน 3. บรรดาคริสตชนที่ดำเนินชีวิตดีอยู่แล้ว ต้องทำให้เขาเป็นศิษย์ธรรมทูต (เป็นประจักษ์พยานท่ามกลางโลก) ด้วย

     สนามงานของการประกาศข่าวดีนี้ เริ่มจากในครอบครัว ชุมชนรอบข้างวัด ที่ทำงาน โรงเรียน ในสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกแห่งนั่นเอง เพียงแต่ให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับหน้าที่ กาละเทศะ
     การประกาศข่าวดีเป็นหน้าที่ของทุกคน ทั้งพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส และโดยเฉพาะบรรดาเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ พลังสำคัญในอนาคต ซึ่งแต่ละคนได้รับรู้พันธะแห่งการประกาศข่าวดีนี้แล้วด้วยศีลล้างบาป และศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เช่น ศีลบวช ศีลแต่งงาน ฯลฯ
     ในบทที่ 4 พูดถึง “ขอบฟ้าเพื่อการฟื้นฟู” หมายถึง เป้าหมายในอนาคตที่ทุกคนจะต้องมุ่งไปให้ถึง และบรรลุผลสำเร็จให้มากที่สุด นั่นคือ พระศาสนจักรต้องอยู่เพื่อคนยากจน คนตกทุกข์ได้ยาก ต้องเป็นพระศาสนจักรที่มีความพอเพียง เพื่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน จึงต้องเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้อย่างเด่นชัด
     ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะทุกคนเป็นลูกของพระ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ฐานะอย่างไรก็ตาม
ต้องรักษ์สิ่งสร้างดูแลเอาใจใส่พัฒนาธรรมชาติ เพราะโลก คือบ้านส่วนรวม ที่พระทรงมอบให้มนุษย์ดูแลรักษา
ต้องรู้จักวัฒนธรรมประเพณีที่มีคุณค่าต่างๆ เคารพในความเชื่อที่ต่างกัน กล่าวคือ ให้มีศาสนสัมพันธ์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างศาสนิกต่างๆ
     บทที่ 5 พูดถึงเครื่องมือและมาตรการเพื่อการฟื้นฟูฯ เริ่มต้นด้วยการรับรู้ เข้าใจ และเชื่อมั่นในกฤษฎีกาฯ มีการปรับโครงสร้าง กระจายอำนาจให้เกิดการทำงานร่วมกันจริงๆ มีการจัดสรรทรัพยากรทั้งวัตถุ ปัจจัย และบุคลากรอย่างเหมาะสมเป็นรูปธรรม พัฒนาศักยภาพของศิษย์พระคริสต์อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมกระแสเรียกของผู้อภิบาลและผู้ร่วมอภิบาล และที่สุดรู้จักใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ อย่างถูกต้องเหมาะสมในการประกาศข่าวดี
ที่สุดการฟื้นฟูนี้ ต้องเริ่มจาก “ตนเอง” เป็นอันดับแรก คือ การกลับใจ เอาจริงเอาจัง ออกแรงพยายามอย่างเต็มที่ ทั้งนี้โดยมีพระแม่มารีย์เป็นผู้เสนอวิงวอน เพื่อองค์พระเยซูเจ้าจะทรงประทานพระพรที่จำเป็นให้เราเป็น “ศิษย์พระคริสต์ เจริญชีวิต ประกาศข่าวดีใหม่” อย่างแท้จริง

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown