มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

สรุปสมณลิขิตเตือนใจความปิติยินดีแห่งความรัก (Amoris Laetitia)


พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงลงพระนามในสมณลิขิตเตือนใจความปิติยินดีแห่งความรักเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2016 เนื้อหาในสมณลิขิตเตือนใจฉบับนี้กล่าวถึงชีวิตครอบครัวในโลกปัจจุบัน มี 9 บท 325 ข้อ เผยแผ่เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2016 สมณลิขิตเตือนใจฉบับนี้เป็นผลมาจากการประชุมสมัชชาพระสังฆราชคาทอลิก (วิสามัญ ครั้งที่ 3 ปี ค.ศ. 2014 สมัยสามัญครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 4-25 ตุลาคม ค.ศ. 2015) โดยเน้นคำสอนเรื่องครอบครัว เนื่องจาก “ความผาสุกของครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินอนาคตของโลกและของพระศาสนจักร” (ข้อ 31)
     คำนำ (ข้อ1-7) กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวปัจจุบัน และคำตอบควรจะยึดตามวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ที่สำคัญต้องยึดหลักการสำคัญของการแต่งงาน ความรักความซื่อสัตย์ หย่าร้างไม่ได้ และการให้กำเนิดบุตร พระสันตะปาปาตั้งใจประกาศพระสมณลิขิตเตือนใจนี้ในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม (ข้อ 5) เพราะประการแรก พระสมณลิขิตนี้เป็นคำเชื้อเชิญแก่ครอบครัวคริสตชนให้สำนึกในคุณค่าของพระพรแห่งการแต่งงานและครอบครัว พร้อมทั้งถนอมรักษาไว้ในความรักโดยได้รับการเสริมกำลังจากคุณธรรมแห่งความเอื้อเฟื้อ ความมุ่งมั่น ความซื่อตรงและความเพียรทน ประการที่สอง พระสมณลิขิตนี้มุ่งที่จะสนับสนุนให้ทุกคนเป็นเครื่องหมายแห่งความเมตตา และความใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามของชีวิตครอบครัว พระสันตะปาปาทรงบอกว่าคริสตชนควรอ่านพระสมณลิขิตฉบับนี้ช้าๆ พร้อมด้วยการไตร่ตรอง และทรงแนะนำว่า คู่สมรสควรอ่านบทที่ 4 และ 5 มากกว่าบทอื่นๆ ผู้อภิบาลควรให้ความสำคัญกับบทที่ 6 ทุกคนควรรู้สึกได้ถึงความท้าทายในบทที่ 8 (ข้อ 7)

     บทที่ 1 แสงสว่างแห่งพระวาจา (ข้อ 8-30) พระสันตะปาปาทรงนำเสนอคำสอนของพระคัมภีร์ที่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ในพระคัมภีร์มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับครอบครัวมากมาย การให้กำเนิดบุตร เรื่องราวของความรัก และวิกฤติในครอบครัว” เรื่องราวเหล่านี้ชวนให้เรารำพึงว่า พระวาจาของพระเจ้าไม่ใช่แนวคิดที่เป็นนามธรรม แต่เป็นแหล่งที่บรรเทาและเป็นเพื่อนร่วมเดินทางสำหรับทุกๆ ครอบครัว

     บทที่ 2 ประสบการณ์และความท้าทายของครอบครัว (ข้อ 31-57) พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงความท้าทายของครอบครัวในปัจจุบัน เช่น ปัจเจกนิยมสุดโต่ง การเน้นทรัพย์สิน ความเห็นแก่ตัว ความเชื่อที่ไม่มั่นคง พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุถูกมองว่าเป็นภาระ ความยากจน รักร่วมเพศ การมีคู่ครองหลายคน ฯลฯ พระสันตะปาปาตรัสถึงการอภิบาลเชิงบวก ไม่ใช่ตำหนิความผิดพลาดอย่างเดียว ผู้อภิบาลต้องใส่ใจ และมีความเมตตาเหมือนพระเยซูเจ้า (ข้อ 38) แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกเตือนเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้อภิบาลยังคงต้องเตือนแต่ให้เตือนด้วยความรัก (ข้อ 39)

     บทที่ 3 เพ่งมองไปที่พระเยซูเจ้า กระแสเรียกของครอบครัว (ข้อ 58-88) พระสันตะปาปาทรงใช้คำสอนของพระเยซูเจ้าและคำสอนของพระศาสนจักร ประยุกต์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวยุคปัจจุบัน พระศาสนจักรเอาใจใส่ครอบครัวที่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยความรักและมีความหวังเสมอ พระองค์ทรงยืนยันหลักการที่พระศาสนจักรสอนมานานเรื่องการแต่งงาน การสมรสเป็นพระพรพิเศษของพระ พระเยซูเจ้าประทานพระพรพิเศษแก่การแต่งงาน (ข้อ 61) ความเป็นหนึ่งเดียวของการสมรสและการหย่าร้างไม่ได้ (ข้อ 62) ครอบครัวเป็นแหล่งกำเนิดชีวิต ไม่ใช่ที่ทำลายหรือฆ่าชีวิต ทรงปฏิเสธการุณยฆาต และโทษประหารชีวิต ฯลฯ (ข้อ 83)

     บทที่ 4 ความรักในการสมรส (89-164) พระสันตะปาปาทรงอธิบาย “คำสอนเรื่องความรัก” จากจดหมายของนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 บทที่ 13 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตในครอบครัว นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสอนต่อไปว่า ความรักคือการทำความดี ความรักคือการรับใช้ ความรักไม่ใช่การถือตนเองเป็นใหญ่ ความรักแสดงออกอย่างยืนยาวในการเคารพรักกันในวัยชราซึ่งถือเป็นรูปแบบของมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ

     บทที่ 5 ความรักที่บังเกิดผล (165-198) พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก การรับบุตรบุญธรรม คุณค่าการรับศีลมหาสนิทในครอบครัว (186) รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน บทบาทของลูก การปฏิบัติตามพระบัญญัติประการที่ 4 นอกจากนั้นยังทรงกล่าวถึงผู้สูงวัย เด็กที่ขาดพ่อแม่ แม่เลี้ยงเดี่ยว คนพิการ ฯลฯ

     บทที่ 6 บางแง่มุมของงานอภิบาล (199-258) พระสันตะปาปาทรงเน้นว่าการอภิบาลครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องมีการเตรียมบุคลากร คือ พระสงฆ์ นักบวช ฆราวาสที่ทำงานเกี่ยวกับครอบครัว และครูคำสอนอย่างดี สำหรับผู้เข้าสู่ชีวิตแต่งงานต้องมีการอภิบาลอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยต้องเตรียมคู่หมั้นก่อนการแต่งงาน ทั้งระยะยาวและสั้น การเตรียมการสำหรับพิธีแต่งงาน การอภิบาลในปีแรกของการแต่งงาน การประชุมคู่สมรส การเข้าเงียบ การแบ่งปัน การให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวที่เผชิญวิกฤต การเอาใจใส่คู่แต่งงานแบบต่างคนต่างถือ การอภิบาลผู้รักร่วมเพศ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว การอภิบาลครอบครัวที่สูญเสียคู่สมรส ฯลฯ ทรงเน้นว่าชุมชนคริสตชนเป็นส่วนสำคัญที่ต้องดูแลและสนับสนุนชีวิตครอบครัวของสมาชิกในชุมชน

     บทที่ 7 แนวทางการให้การศึกษาที่ดีกว่าแก่บุตร (259-290) พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงการอบรมสั่งสอนลูก การให้เวลากับลูก การหล่อหลอมจริยธรรม สอนลูกให้รู้จักขอโทษ โดยพ่อแม่เป็นแบบอย่างในการยอมรับความบกพร่องของตนเอง การสอนเพศศึกษาแก่ลูก ฯลฯ

     บทที่ 8 การเป็นเพื่อนร่วมทาง การไตร่ตรองและแยกแยะ (291-312) พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงแนวทางอภิบาลอีกครั้ง แต่ลึกลงไปในประเด็นใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่อาจจะไม่เป็นไปตามอุดมคติเท่าไหร่

     บทที่ 9 ชีวิตจิตแห่งการสมรสและครอบครัว (313-325) พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงจิตตารมณ์ในการสมรส ชีวิตจิตในการดำเนินชีวิตครอบครัว เพื่อการเติบโตฝ่ายจิตไปด้วยกัน โดยมีครอบครัวศักดิ์สิทธิ์เป็นแบบอย่าง

บทสรุป สมณลิขิตเตือนใจฉบับนี้เป็นงานเขียนในเชิงอภิบาล พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงมองชีวิตครอบครัวตามความเป็นจริงที่สมาชิกในครอบครัวยังมีความอ่อนแอตามประสามนุษย์ ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในครอบครัว แต่ก็ทรงมั่นใจว่าครอบครัวคริสตชนจะเติบโตและมุ่งไปสู่ความดียิ่งขึ้นได้ ดังคำที่พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงกล่าวในพระสมณลิขิตฉบับนี้ว่า “พ่อขอบพระคุณพระเจ้าที่หลายครอบครัว ซึ่งอาจไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่ได้พยายามเจริญชีวิตอยู่ในความรัก กระทำตามกระแสเรียกของพวกเขา และยังคงก้าวหน้าต่อไป แม้ว่าพวกเขาอาจสะดุดล้มหลายต่อหลายครั้งบนเส้นทางนี้” (ข้อ 57)

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown