30 เมษายน ระลึกถึงนักบุญ ปีโอที่ 5 พระสันตะปาปา
- รายละเอียด
- หมวด: เดือนเมษายน
- เขียนโดย itbkk
- ฮิต: 1212
นักบุญ ปีโอที่ 5 พระสันตะปาปา
นักบุญ ปีโอ ที่ 5 เกิดที่บอสโก มาเรงโก (ใกล้ๆกับเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศอิตาลี) ได้เข้าเป็นนักบวชในคณะโดมีนีกันขณะที่มีอายุเพียง14 ปีเท่านั้น ชื่อเดิมของพระองค์คือ มีเคเล กิสเตรี
พระองค์ได้ค่อยๆ เลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับขั้นตอนในตำแหน่งต่างๆ ของพระฐานานุกรมในพระศาสนจักร จากพระสงฆ์ พระสังฆราช จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ขณะที่มีพระชนมายุ 62 พรรษา
ในระหว่าง 6 ปี แห่งรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ได้ทำการตัดสินพระทัยในหลายๆ เรื่องของสังคายนาเตรนโต เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม พระองค์ได้ทรงจัดพิมพ์หนังสือมิสซาและบทภาวนาของนักบวชขึ้นใหม่ ในเรื่องเกี่ยวกับคำสอน พระองค์ได้ทรงจัดพิมพ์หนังสือคำสอนขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า “คำสอนของสังคายนาเตรนโต” ในเรื่องเกี่ยวกับเทววิทยา พระองค์ได้ทรงสั่งให้ใช้หนังสือของนักบุญ โทมัส สอนในมหาวิทยาลัย ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบวินัย พระองค์ได้ทรงกำชับให้พระสังฆราชได้พยายามอยู่ทำงานในสังฆมณฑลของตนและให้ไปเยี่ยมวัดต่างๆ (พระสงฆ์และสัตบุรุษ) บ่อยๆ ด้วย สำหรับพวกนักบวชก็ให้อยู่ในอารามของตน ส่วนพวกนักบวชที่ทำงานอยู่ตามวัดและตามสถาบันต่างๆ ก็ให้ถือศีลพรหมจรรย์และเจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ และในเรื่องเกี่ยวกับการแพร่ธรรมนั้น พระองค์ได้ทรงส่งเสริมการเผยแพร่ความเชื่อและการขยับขยายงานแพร่ธรรมต่างๆ นอกนั้น คุณความดีของพระองค์ก็ยังปรากฏอีกในการที่พวกคริสตชนได้รับชัยชนะเหนือพวกตุรกีผู้รุกรานที่เลปันโต เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1571 และเป็นวันนี้เองที่ได้ให้กำเนิดวันฉลองแม่พระลูกประคำ
รัชสมัยของการเป็นสันตะปาปาของพระองค์ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรเป็นเวลานานถึง 5 ศตวรรษ เป็นต้นในเรื่องการให้การอบรมแก่พวกนักบวช การสอนคำสอนสัตบุรุษ การรวมอำนาจต่างๆ ทางด้านการปกครองเข้ามาไว้ที่ศูนย์กลางของพระศาสนจักรโดยก่อตั้งกระทรวงต่างๆขึ้น การสร้างเอกภาพให้กับพิธีกรรม ของพระศาสนจักร ฯลฯ
พระองค์สิ้นพระชนม์ที่โรมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1572 และได้รับสถาปนาเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1712
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1. ขอให้ประชากรของพระเจ้าได้เคารพเชื่อฟังพระสันตะปาปาของพวกเรา
2. ขอให้พระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งหลายได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสันตะปาปา
3. ขอให้พิธีกรรมที่ได้รับการปฏิรูปใหม่นั้น ได้ทำให้เราได้ตระหนักถึงค่านิยมอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของพิธีกรรมนั้น
4. ขอให้บูชามิสซาจงเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตชีวาและทำงานอย่างได้ผลของพระศาสนจักร