1 พฤษภาคม ระลึกถึงนักบุญยอแซฟ กรรมกร
- รายละเอียด
- หมวด: เดือนพฤษภาคม
- เขียนโดย itbkk
- ฮิต: 1894
นักบุญ ยอแซฟ กรรมกร
ในปี 1955 พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ทรงตั้งวันฉลอง “นักบุญ ยอแซฟ กรรมกร” ขึ้น เพื่อจะให้คนงานทั้งหลายได้มีนักบุญองค์อุปถัมภ์ของตน และเพื่อให้ความหมายแบบคริสตชนแก่ “วันกรรมกร” ด้วย
รูปแบบของนักบุญ ยอแซฟ คือกรรมกรที่สุภาพถ่อมตัว แต่ว่ายิ่งใหญ่ แห่งเมืองนาซาเร็ธ นำเรามนุษย์ให้มุ่งไปหาพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ พระบุตรพระเจ้า พระองค์ได้ทรงมีส่วนร่วมในทุกๆ สภาพของมนุษย์ (ยกเว้นบาป) เทียบ (GS 22-32) ดังนี้เราสามารถยืนยันได้ว่าการงานได้ให้อำนาจอันน่าพิศวงแก่มนุษย์ในอันที่จะมีส่วนร่วมในงานสร้างโลกของพระเจ้า และอำนาจในอันที่จะช่วยนำโลกนี้ไปสู่ความสำเร็จบริบูรณ์ขั้นสุดท้ายด้วย
การงานให้ค่านิยมอันแท้จริงของมนุษย์ คนในสมัยนี้ได้เริ่มมีจิตสำนึกถึงค่านิยมนี้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถทวงสิทธิขั้นพื้นฐานของเขาได้และให้คนอื่นได้เคารพในความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย แต่ว่าหลายๆ ครั้งพวกเขาได้ทวงสิทธิอันนี้โดยใช้วิธีการรุนแรง
มีคริสตชนหลายคน เนื่องจากว่ามีนิสัยรักความสงบ ไม่ชอบความวุ่นวาย และอยากอยู่เฉยๆ กับข้าวของเงินทองต่างๆที่ตนมีอยู่ ไม่อยากข้องเกี่ยวกับการต่อสู้ทางสังคมจึงรู้สึกเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรูกับการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกคนงานเสมอๆ จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดว่าทำไมในวันที่ 1 พฤษภาคม หลายๆ คนในสมัยเรานี้ได้เรียกร้องให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นต่อสู้กับพระศาสนจักร
ในทุกวันนี้ พระศาสนจักรได้ยอมรับการฉลองวันกรรมกรเพื่อต้องการจะประกาศค่านิยมที่แท้จริงของการงานและเพื่ออวยพรกิจการและพฤติกรรมต่างๆ ของชนชั้นกรรมาชีพในการต่อสู้ที่เขากำลังทำอยู่ในบางประเทศ ทั้งนี้เพื่อจะได้มาซึ่งความยุติธรรมทางสังคมที่ถูกต้องและเสรีภาพด้วย พระศาสนจักรได้กระทำสิ่งนี้ลงไปเพื่อเป็นการขอร้องให้สัตบุรุษทุกคนได้ทำการคิดทบทวนถึงคำสอนต่างๆ ที่พระศาสนจักรได้ให้ไว้ในระหว่างปีหลังๆ นี้ เป็นต้นสมณสาสน์ “Mater et Magistra” ของพระสันตะปาปา ยวง ที่ 23 และ “Populorum Progressio” ของพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6
ในวันนี้จึงเป็นการฉลอง “วันกรรมกร” (ตรงกับการฉลองสากล) ภายใต้การอุปถัมภ์ของนักบุญ ยอแซฟ กรรมกร เราได้มาร่วมชุมนุมกันในพิธีบูชามิสซาอันเป็นสัญลักษณ์ของการช่วยให้รอด มิใช่เพื่อทำให้บูชามิสซานี้รับใช้ค่านิยมตามธรรมชาติ แม้จะสูงส่งหรือมีสกุลสักเพียงใดก็ตาม แต่เป็นเพราะว่าพระเจ้าพระองค์ได้ทำงานในการสร้างโลกเป็นเวลา “ 6 วัน” ด้วยกัน ( ปฐก 1 - 2 ) และพระองค์ได้ทรงรวม “วันที่ 7” เข้าไว้กับผลงานของพระองค์ เพื่อสร้างโลกใหม่ขึ้นมา ( ยน. 5:17 ) และเพราะว่าการสร้างโลกใหม่นี้เองที่บรรดาบุตรของพระเจ้าทุกคนจะต้องร่วมมือกันจึงจะสำเร็จได้เป็นต้นทีเดียวในบูชามิสซา ดังนั้นเราจึงต้องให้การฉลอง “วันกรรมกร” ได้มีที่ว่างให้สำหรับ “การฉลองบูชามิสซา” เนื่องจากว่าบูชามิสซาได้เผยแสดงให้โลกได้เห็นค่านิยมเหนือธรรมชาติของการค้นคว้าและการริเริ่มของ ตน
งาน “ชิ้นใหม่” นี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะวางรากฐาน “การสร้างสรรค์ขึ้นใหม่” ย่อมขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติของงานทุกชนิด แต่จะสำเร็จบริบูรณ์ก็เฉพาะในพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงบันดาลให้เราทุกคนได้เป็นบุตรของพระเจ้าโดยที่ไม่ได้ถอนเราออกจากเงื่อนไขของการเป็นสิ่งสร้าง เมื่อพูดถึงงานที่ได้สำเร็จบริบูรณ์ไป “โดยพระเจ้า” (เทียบ ยน.6: 27-29 ;คส. 3: 23 - 4: 1; 1 คร. 10: 31 - 33) นั่นก็คือใน “พฤติกรรมของการขอบคุณพระเจ้า” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ในบูชามิสซา” นั่นเอง พระธรรมใหม่ได้เรียกร้องอย่างแข็งขันให้งานต่างๆ ของมนุษย์เป็นการสะท้อนถึงจิตตารมณ์ของ “โลกใหม่” โดยอาศัยความรักเมตตาและความหมายทางสังคมซึ่งจะต้องหล่อเลี้ยงงานของมนุษย์นี้ ( เทียบ กจ 18: 3; 20:30 - 35 ; อฟ. 4:28 )
การมีส่วนร่วมในการถวายบูชามิสซาของเรา นอกจากจะช่วยให้เราร่วมมือกับงานที่พระเจ้าได้ทรงเริ่มขึ้นแล้วเพื่อสรรค์สร้าง “โลกใหม่” ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ยังได้ช่วยให้งานต่างๆ ของมนุษย์ที่เรามีส่วนร่วมอยู่นั้นได้ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ทั้งยังเป็นการสอนเราว่างานต่างๆ ของมนุษย์นั้นเป็นการร่วมมือกับพฤติกรรมของการสร้างสรรค์ของพระเจ้า ดังนั้นจุดประสงค์ที่แท้จริงของการงานทุกชนิดก็คือการสร้าง “อาณาจักรใหม่” ( เทียบ GS 33- 39 ; 57 - 72 และให้อ่าน “II Messaggio del Concilio ai Lavoratori” ( 8 ธันวาคม 1965 )
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ