Lectio Divina ธันวาคม 2017
- รายละเอียด
- หมวด: Lectio Divina 2017
- เขียนโดย พระคุณเจ้าประธาน ศรีดารุณศีล
- ฮิต: 854
Lectio Divina: ธันวาคม 2017 ความเมตตาในสายพระเนตร The Gaze of Mercy - 4
“เราพอใจความเมตตากรุณามิใช่พอใจเครื่องบูชา”
การกลับใจของมัทธิว
Lectio : พระเจ้าตรัส
มัทธิว 9:9-13
พระเยซูเจ้าทรงเรียกมัทธิว
ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินไปจากที่นั่นทรงเห็นชายคนหนึ่งชื่อมัทธิวกำลังนั่งอยู่ที่ด่านภาษีจึงตรัสสั่งเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไปพระเยซูเจ้าเสวยพระกระยาหารร่วมกับคนบาป
ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารที่บ้านของมัทธิวคนเก็บภาษีและคนบาปหลายคนมาร่วมโต๊ะกับพระองค์และบรรดาศิษย์เมื่อเห็นดังนี้ชาวฟาริสีจึงถามศิษย์ของพระองค์ว่า “ทำไมอาจารย์ของท่านจึงกินอาหารร่วมกับคนเก็บภาษีและคนบาปเล่า” พระเยซูเจ้าทรงได้ยินดังนั้นจึงตรัสตอบว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอแต่คนเจ็บไข้ต้องการจงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณามิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อ เรียกคนชอบธรรมแต่มาเพื่อเรียกคนบาป”
เข้าใจความหมายของพระวาจา
1. มัทธิวลุกขึ้นตามพระองค์ไป
ในเรื่องการเรียกมัทธิวคนเก็บภาษีมีบางสิ่งบางอย่างที่น่าซาบซึ้งใจ (ดูมธ 9:9-13) เรื่องการพบกับพระคริสตเจ้าที่เปลี่ยนชีวิตเขานั้นเป็นอัตชีวประวัติของตัวเขาเอง “ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินไปจากที่นั่นทรงเห็นชายคนหนึ่งชื่อมัทธิวกำลังนั่งอยู่ที่ด่านภาษีจึงตรัสสั่งเขาว่า ‘จงตามเรามาเถิด’ เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไป” (9:9)
คาราวัจโจได้บรรยายเหตุการณ์นี้ออกมาเป็นภาพที่มีชื่อเสียงบุคคลที่กำลังจะกลายเป็นอัครสาวกคนหนึ่งกำลังนั่งที่โต๊ะนอกจากจะมีเงินแล้วบนโต๊ะยังมีปากกาและกระปุกใส่หมึกด้วย (ซึ่งวันหนึ่งเขาจะใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น) แสงส่องออกมาจากพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าและส่องไปตามทิศทางเดียวกับพระหัตถ์ของพระองค์และส่องไปที่ใบหน้าของมัทธิวและคนอื่นๆที่นั่งอยู่กับเขาที่ด่านภาษีภาพบอกเป็นนัยว่าการเรียกนั้นเกิดขึ้นควบคู่กับแสงสว่างภายในถ้าไม่ใช่เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีเหตุผลจะอธิบายว่าทำไมมัทธิวจึงลุกขึ้นทันทีละทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลังและติดตามพระคริสตเจ้าโดยไม่ต้องการคำอธิบายใดๆความเคลื่อนไหวของพระหัตถ์แสดงการสื่อสารที่มองไม่เห็นระหว่างพระคริสตเจ้าและอัครสาวกในอนาคตพระคริสตเจ้ากำลังประทับยืนพระหัตถ์ของพระองค์ที่ยื่นออกไปทางมัทธิวนั้นเป็นสัญญาณของการเลือกมากกว่าเป็นคำสั่ง (เพราะพระองค์ไม่ทรงชี้นิ้วพระหัตถ์ไปที่มัทธิวเพียงแต่ทรงยื่นพระหัตถ์ออกไปเท่านั้น) มัทธิวตอบสนองท่าทางของพระคริสตเจ้าด้วยการยกมือทาบหน้าอกเหมือนกับคนที่ประหลาดใจที่ได้รับเลือกและกำลังถามว่า “ข้าพเจ้าหรือ? ท่านแน่ใจหรือว่าท่านต้องการข้าพเจ้า?”
หลังจากที่เศรษฐีหนุ่มปฏิเสธที่จะติดตามพระเยซูเจ้าพระองค์ตรัสอย่างเศร้าพระทัยว่า “อูฐจะลอดรูเข็มยังง่ายกว่าคนมั่งมีเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์” (มธ 19:24) เมื่ออัครสาวกถามว่า “แล้วดังนี้ใครเล่าจะรอดพ้นได้?” พระองค์ตรัสตอบว่า “สำหรับมนุษย์เป็นไปไม่ได้แต่สำหรับพระเจ้าทุกอย่างเป็นไปได้” (19:25, 26) การเรียกมัทธิวเป็นการยืนยันว่าเป็นไปได้ที่พระเจ้าจะช่วยคนมั่งมีให้รอดพ้นการเปรียบเทียบปฏิกิริยาของเศรษฐีหนุ่มและปฏิกิริยาของมัทธิวต่อคำเชิญของพระเยซูเจ้ายังบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเขาและการเปิดใจของเขาต่อพระเจ้าเราคาดไม่ถึงเลยว่ามัทธิวจะตอบสนองข้อเสนอของพระเยซูเจ้าอย่างรวดเร็วเช่นนี้เศรษฐีหนุ่ม “จากไปด้วยความทุกข์” (19:22) หลังจากพระเยซูเจ้าได้รับคำเชิญจากพระเยซูเจ้าแต่มัทธิว “ลุกขึ้นตามพระองค์ไป” (9:9)
ในตอนแรกอาจดูเหมือนว่าพฤติกรรมของมัทธิวไม่น่าเป็นไปได้เราวาดมโนภาพได้ว่าเขากำลังนั่งอยู่เขาสนใจแต่จะเก็บค่าผ่านด่านและมัวแต่คิดด้วยความโลภว่าเขาจะได้รับส่วนแบ่งเท่าใดจากเงินที่พ่อค้าทั้งหลายนำมาวางบนโต๊ะเขากำลังมีความสุขแต่ทุกสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขามีความหมายจนถึงเวลานั้นบัดนี้กลับหมดคุณค่ามัทธิวลุกขึ้นละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างและติดตามพระเยซูเจ้าไปเขาไม่เคยเห็นอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงเคยทำเพราะพระองค์เพิ่งจะเริ่มต้นเทศนาสั่งสอนและยังไม่มีชื่อเสียงดังนั้นอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาพร้อมจะติดตามพระองค์เช่นนั้น? คาราวัจโจได้เสนอคำตอบในผืนผ้าใบของเขาคือสายพระเนตรของพระเยซูเจ้าพระคัมภีร์บอกเราว่าพระเยซูเจ้า “ทรงเห็นชายคนหนึ่ง” คาราวียะเบเด (Venerable Bede) กล่าวว่าพระเยซูเจ้าทอดพระเนตรมัทธิวด้วย “สายพระเนตรอันเมตตากรุณาและการเลือกสรร (miserando atque eligendo)” นี่คือคำพูดที่พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเลือกให้เป็นคติพจน์สำหรับตราประจำพระองค์
2. “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรมแต่มาเพื่อเรียกคนบาป”
มัทธิวผู้เขียนพระวรสารไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกเขาเพียงเพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับเขาเป็นส่วนตัวเนื่องจากทั้งมาระโกและลูกาก็กล่าวถึงเหตุการณ์นี้โดยเรียกมัทธิวด้วยชื่อที่สองของเขาคือเลวี (ดูมก 2:14; ลก 5:27) ความสนใจนี้เกิดจากประโยคที่พระเยซูเจ้าตรัสระหว่างเสวยอาหารที่มัทธิวจัดต้อนรับพระองค์ก่อนจะอำลาเพื่อนร่วมงานของเขาซึ่งเป็น “คนเก็บภาษีและคนบาป” (มธ 9:10) พระวรสารมักกล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งเพราะเชื่อมโยงกับพระวาจาของพระเยซูเจ้าพระองค์ทรงโต้ตอบปฏิกิริยาของฟาริสีที่สะดุดใจที่พระองค์เสด็จเข้าไปในบ้านของคนเก็บภาษีและเสวยอาหารร่วมกับคนบาปโดยตรัสว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอแต่คนเจ็บไข้ต้องการจงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณามิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรมแต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มธ 9:12-13)
เราเคยชินและยอมรับถ้อยคำในพระวรสารแม้แต่ในเวลาที่ถ้อยคำนั้นจงใจเขียนให้ “เป็นที่สะดุด” และควรทำให้เราอย่างน้อยก็ตั้งคำถามเช่นพระเจ้าพอพระทัยคนบาปมากกว่าคนชอบธรรมหรือ? ถ้าเช่นนั้นจะมีบทบัญญัติต่างๆไว้ทำไม? บางครั้งคำถามประเภทนี้ชักนำเราให้ค้นพบคำตอบในพระวรสารที่ช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้น
มีคำอธิบายง่ายๆสำหรับพระวาจาของพระเยซูเจ้าพระเยซูเจ้าไม่ได้เสด็จมาเพื่อ “เรียก” คนชอบธรรม (ราวกับว่ามีคนชอบธรรมอยู่แล้วก่อนพระองค์เสด็จมา) แต่เพื่อทำให้มนุษย์กลายเป็นคนชอบธรรมนักบุญเปาโลกล่าวไว้ในจดหมายถึงชาวโรมว่า “ไม่มีความแตกต่างใดๆอีกทุกคนกระทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าแล้วทุกคนก็ได้รับความชอบธรรมเป็นของประทานโดยทางพระหรรษทานอาศัยการไถ่กู้เราให้เป็นอิสระในพระคริสตเยซูพระเจ้าทรงสถาปนาพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปโดยอาศัยความเชื่อและโดยอาศัยการหลั่งโลหิตเพื่อจะได้แสดงความเที่ยงธรรมของพระองค์” (รม 3:23-25)
พระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธว่ามีความชอบธรรมบางอย่างดำรงอยู่แล้วก่อนพระองค์เสด็จมาซึ่งเป็นความชอบธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติตามบทบัญญัติ (ดูฟป 3:6) พระองค์ทรงยอมรับความชอบธรรมประเภทนี้ในตัวชาวฟาริสีผู้ที่พระองค์ทรงเรียกว่า “ผู้ชอบธรรม” โดยไม่ประชดประชันพระองค์เพียงแต่พยายามอธิบายแก่เขาว่าความชอบธรรมนี้ยังไม่เพียงพอจะช่วยเขาให้รอดพ้นได้เพราะเป็นความชอบธรรมที่ไม่ให้ชีวิตเพียงแต่ทำให้ประชาชน “ปรารถนาพระหรรษทาน” และช่วยให้เขามองเห็นห้วงเวลาที่พระหรรษทานนั้นมาถึงเมื่อพวกเขามองไม่เห็นเป้าหมายของความชอบธรรมความชอบธรรมของเขาจึงกลายเป็นความชอบธรรมเทียมซึ่งไม่เพียงพอจะช่วยให้เขารอดพ้นได้นี่คือสถานการณ์ของผู้ต่อต้านพระคริสตเจ้านักบุญเปาโลกล่าวถึงคนเหล่านี้อย่างเศร้าใจว่า “พวกเขาไม่รู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานความชอบธรรมจึงพยายามสร้างความชอบธรรมของตนเอง” (รม 10:3)
เราได้เห็นความจริงข้อนี้ในชีวิตของมัทธิวการพบกับพระคริสตเจ้าทำให้เขา “ได้รับความชอบธรรม” เขาเป็น “คนเก็บภาษีและคนบาป” แต่บัดนี้การกลายเป็นผู้ชอบธรรมทำให้เขากลายเป็นคนใหม่และเป็นอัครสาวกคนหนึ่งของพระคริสตเจ้าถ้ามัทธิวยังเป็นคนเก็บภาษีต่อไปคาราวัจโจก็คงไม่เลือกวาดภาพของเขาเขาจะไม่กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและโลกจะไม่รู้ว่ามีชายคนหนึ่งชื่อมัทธิวและเขาถูกเรียกว่าเลวี
3. ความเมตตากรุณาและเครื่องบูชา
ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ยังคลุมเครือและต้องทำให้กระจ่างจากทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นประโยคของประกาศกโฮเชยา (6:6) ที่พระคริสตเจ้าทรงยกมาอ้าง (“เราพอใจความเมตตากรุณามิใช่พอใจเครื่องบูชา”)นั้นหมายความว่าอะไร? เครื่องบูชา (หรือการเสียสละ) และการดับกิเลสไม่มีความหมายเลยหรือและความรักเท่านั้นก็เพียงพอจะทำให้บุคคลหนึ่งกลายเป็นผู้ชอบธรรมในสายตาของพระเจ้าหรือ? คนจำนวนมากแปลความหมายเช่นนี้และสั่งสอนผู้อื่นเช่นนี้ด้วยข้อความนี้อาจทำให้ประชาชนลงเอยด้วยการปฏิเสธการบำเพ็ญพรตทุกประเภทในศาสนาคริสต์นี่คือเศษซากที่ยังหลงเหลือจากลัทธิมานีเคียนหลังจากลัทธินี้ได้ถูกกำจัดไปแล้ว
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คำถามที่กวนใจกลายเป็นโอกาสให้เราค้นพบความจริงสิ่งสำคัญที่สุดคือได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองอย่างลึกซึ้งเมื่อผู้กล่าวประโยคนี้คือพระคริสตเจ้าและไม่ใช่โฮเชยาในหนังสือประกาศกโฮเชยาประโยคนี้หมายถึงประชาชนและสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการจากเขาพระเจ้าทรงต้องการให้ประชาชนรักและรู้จักพระองค์มิใช่ต้องการเครื่องเผาบูชาแต่เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสประโยคนี้ข้อความนี้หมายถึงพระเจ้าความรักที่พระองค์กำลังตรัสถึงนี้ไม่ใช่ความรักที่พระเจ้าทรงต้องการจากประชาชนแต่เป็นความรักที่พระองค์ประทานให้แก่มนุษย์ “เราพอใจความเมตตากรุณามิใช่พอใจเครื่องบูชา” (มธ 9:13; 12:7) หมายความว่า “เราต้องการมอบความเมตตากรุณามิใช่การประณาม” ข้อความที่มีแนวคิดเท่าเทียมกันคือข้อความที่เราอ่านพบในหนังสือเอเสเคียล “เราไม่ยินดีในความตายของคนชั่วร้ายแต่ยินดีในการกลับใจของคนชั่วร้ายที่ละทิ้งความประพฤติของตนและมีชีวิต“ (33:11) พระเจ้าไม่ทรงต้องการ “บูชายัญ” มนุษย์แต่ทรงต้องการช่วยเขาให้รอดพ้น
คำอธิบายนี้ทำให้เราเข้าใจประโยคของโฮเชยามากขึ้นด้วยพระเจ้าไม่ทรงต้องการเครื่องบูชาราวกับว่าพระองค์ทรงต้องการให้เราเจ็บปวดทรมานพระองค์ไม่ทรงต้องการให้ประชาชนเสียสละเพื่อให้เขามาอ้างความดีความชอบเบื้องหน้าพระองค์และพระองค์ไม่ทรงต้องการเครื่องบูชาที่เราถวายเพราะเข้าใจว่าเป็นหน้าที่แต่พระองค์ทรงปรารถนาเครื่องบูชาหรือการเสียสละที่กระทำเพราะรักพระองค์และการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์หนังสือ “จำลองแบบพระคริสต์” กล่าวว่า “ไม่มีการแสดงความรักใดที่ทำได้โดยไม่มีความเศร้าเสียใจ” (III, 5) และประสบการณ์ในแต่ละวันของเราก็ยืนยันว่านี่คือความจริงไม่มีความรักใดที่ไม่ต้องเสียสละเพราะเหตุนี้นักบุญเปาโลจึงเตือนเราให้ “ถวายร่างกายของท่านเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พอพระทัยแด่พระเจ้า” (รม 12:1)
Meditatio : มองชีวิตของเราโดยมีพระวาจานำทาง
ทั้งการเสียสละและความเมตตากรุณาเป็นสิ่งที่ดีถ้าเราเลือกการเสียสละให้ตนเองและเลือกความเมตตาให้ผู้อื่นเหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำแต่สองสิ่งนี้อาจกลายเป็นสิ่งไม่ดีถ้าเราเลือกให้ผู้อื่นเสียสละและเลือกความเมตตาให้ตัวเราถ้าเราผ่อนปรนกับตนเองแต่เข้มงวดกับผู้อื่นถ้าเราพร้อมจะหาข้อแก้ตัวแต่ตัดสินผู้อื่นอย่างไม่ปรานีเราไม่มีอะไรจะพิจารณาเกี่ยวกับพฤติกรรมในด้านนี้ของเราเลยหรือ?
เราไม่สามารถสรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับกระแสเรียกของมัทธิวโดยไม่คิดถึงผู้นิพนธ์พระวรสารผู้นี้ด้วยความรักและสำนึกในบุญคุณได้เราอ่านพระวรสารของเขาระหว่างปีพิธีกรรมบ่อยๆพอลคลอเดลเขียนบทกวีเกี่ยวกับมัทธิวไว้ดังนี้ (กวีผู้นี้รู้ว่าสัญลักษณ์ของมัทธิวคือทูตสวรรค์แต่เขาบอกว่าเขาชอบให้ผู้นิพนธ์พระวรสารคนนี้ใช้สัญลักษณ์เป็นวัวมากกว่า)
มัทธิวคนเก็บภาษีรู้จักอำนาจของข้อความที่เขียนเป็นตัวหนังสือ
เขาจึงเป็นคนแรกที่เกิดความคิด
ในการบันทึกด้วยน้ำหมึกบนหน้ากระดาษ
เรื่องของพระเยซูเจ้าทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสทุกสิ่งที่ตาของพวกเขามองเห็น
เพื่อทำเช่นนี้เขาหยิบเครื่องมือที่ครั้งหนึ่งเขาเคยใช้คำนวณ
เขาเริ่มต้นใช้กระดาษสีขาวเป็นเสมือนนาผืนใหญ่ที่เขาไถพรวนหน้าดิน
ด้วยจิตสำนึกที่ดีด้วยใจสงบและเยือกเย็นราวกับวัว
เขาไถนาร่องหนึ่งแล้วก็เริ่มไถอีกร่องหนึ่งเพื่อมิให้มีสิ่งใดตกหล่น
ทุกสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของเขา
และทุกสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงบอกให้เขาเขียน
มิใช่เพื่อคนในยุคสมัยของเขาแต่เพื่อพระศาสนจักรทั้งมวลในอนาคต
Oratio (ช่วงสนทนากับพระเจ้าหลังจากที่ได้อ่านพระวาจาและอ่านชีวิตของเราแล้ว)
__________________________________________________________________
Contemplatio (อยู่กับพระวาจา)
เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรมแต่มาเพื่อเรียกคนบาป”
ให้เราใคร่ครวญประโยคนี้โดยพูดซ้ำบ่อยๆ
___________________________________________________________________