มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

สมโภชนักบุญทั้งหลาย

สมโภชนักบุญทั้งหลาย

ข่าวดี มัทธิว 5:1-12ก
ความสุขแท้จริง
(1)พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ (2) พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า
(3)“ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
(4)ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
(5)ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
(6)ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
(7)ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
(8)ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
(9)ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
(10)ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา (11) ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา (12) จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก”

*********************************

ก่อนที่เราจะศึกษาความหมายของความสุขแต่ละประการ มีข้อเท็จจริงสำคัญที่เราควรทราบก่อนคือ
1. ในสำนวนแปลภาษาไทยมีคำกริยา “เป็น” อยู่ด้วยเสมอ เช่น “ก็เป็นสุข” หรือ “ย่อมเป็นสุข” แต่ในภาษากรีกไม่มีคำกริยาอยู่เลย และเมื่อหันไปดูภาษาฮีบรูและอาราไมอิก เราจะพบว่ามีสำนวนที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในพระธรรมเก่า เป็นคำอุทานที่มีความหมายทำนอง “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ !” หรือ “แหม สุขจัง !”
นี่แสดงว่าความสุขทั้ง 8 ประการไม่ใช่ประโยคบอกเล่า แต่เป็นคำอุทาน และเมื่อเป็นคำอุทานก็หมายความว่าความสุขนี้เกิดขึ้นขณะนี้ และเวลานี้ เพราะคงไม่มีใครอุทานว่า “แหม ดีใจจัง ปีหน้าจะถูกหวย !”
จริงอยู่ ความสุขที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้พบพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้า แต่ความสุขทั้ง 8 ประการนี้ เราสามารถลิ้มรสได้แล้วตั้งแต่เวลานี้ และบนโลกนี้
2. คำ “สุข” ตรงกับภาษากรีก makarios (มาคารีออส) ซึ่งเป็นคำพิเศษที่ชาวกรีกใช้สำหรับบรรยายคุณลักษณะของพระเจ้าหรือของบรรดาเทพเจ้าโดยเฉพาะ ความสุขที่พระเยซูเจ้าพูดถึงจึงเป็น “ความสุขแบบพระเจ้า” เป็นความสุขที่ครบสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่มีใครแตะต้องหรือแย่งชิงไปได้ ไม่ขึ้นกับโอกาสหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งต่างจากความสุขที่โลกหยิบยื่นให้ เพราะคำ happiness (ความสุข) มาจากราก hap ซึ่งหมายถึง “โอกาส, โชค”
ความสุขตามประสามนุษย์อาจเพิ่มขึ้นหรือหมดไปได้หากโชคเปลี่ยน สุขภาพเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน แผนเปลี่ยน หรือปัจจัยอื่น ๆ เปลี่ยน แต่ความสุขแบบคริสตชนเป็นความสุขแท้จริงที่ “ไม่มีใครนำไปจากท่านได้” (ยน 16:22)

1. ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
ในภาษากรีกมีคำว่า “จน” อยู่ 2 คำคือ
1. Penēs (เปเนส) หมายถึงความยากจนในแง่ที่ไม่มีสิ่งของฟุ่มเฟือย แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้ นั่นคือยังช่วยเหลือตัวเองได้
2. Ptōchos (ปโตคอส) ซึ่งมาจากรากศัพท์ ptossein (ปตอสเซน) อันหมายถึง หมอบ หรือ คลาน ปโตคอสจึงหมายถึงความยากจนชนิดสิ้นเนื้อประดาตัว และไม่สามารถยืนหยัดด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้เลย
และคำที่มัทธิวเลือกใช้คือ ปโตคอส อันหมายถึงความยากจนแบบช่วยตัวเองไม่ได้เลย
ส่วนคำ “จน” ในภาษาอาราไมอิกคือ ’ani (อานี) และ ebiōn (เอบีโอน) นั้นมีวิวัฒนาการของความหมาย 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ
1. เริ่มแรกมีความหมาย “จน”
2. เพราะ “จน” ความหมายจึงพัฒนาไปเป็นการ ไม่มีอิทธิพล ไม่มีอำนาจ ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครช่วยเหลือ
3. เพราะไม่มีอิทธิพล จึงถูกผู้อื่นดูหมิ่น และกดขี่ข่มเหงต่าง ๆ นานา
4. และเพราะไม่มีที่พึ่งพิงใด ๆ ในโลกนี้อีกแล้ว เขาจึงมอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า (ดูตัวอย่างใน สดด 9:18; 34:6; 35:10; 68:10; 72:4; 107:41; 132:15)
เมื่อรวมความหมายในภาษากรีกและอาราไมอิกเข้าด้วยกัน เราอาจแปลความหมายท่อนแรกได้ว่า “ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่ตระหนักว่าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงมอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า”
สำหรับผู้ที่ไว้ใจในพระเจ้า เขาจะค้นพบว่าสิ่งของในโลกนี้ไม่สามารถหยิบยื่นความสุขและความมั่นคงที่แท้จริงให้ได้ มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นความหวัง ความช่วยเหลือ และพละกำลังของตน
และพึงสังเกตว่าความยากจนนี้เป็นเรื่องของ “จิตใจ” พระองค์ไม่ประสงค์ให้เราอาศัยอยู่ในสลัม กินมื้ออดมื้อ เจ็บออด ๆ แอด ๆ ฯลฯ ความยากจนแบบนี้คือเป้าหมายของเราคริสตชนที่จะต้องช่วยกันกำจัดให้หมดไป

ในบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราสวดว่า
“พระอาณาจักรจงมาถึง
พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์”
เราจึงอาจให้คำจำกัดความของ “อาณาจักรสวรรค์” ได้ว่าเป็น “สังคมบนโลกนี้ที่พระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เหมือนในสวรรค์”
นั่นคือ ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้นจึงจะเป็นพลเมืองของอาณาจักรสวรรค์ได้ และผู้ที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้คือผู้ที่มอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในพระองค์เท่านั้น
เพราะฉะนั้น ความหมายโดยรวมของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่ตระหนักว่าไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย จึงมอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า เหตุว่าเขาจะได้เป็นสมาชิกของอาณาจักรสวรรค์ เพราะสามารถนบนอบพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์

2. ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
คำกรีกที่ใช้คือ penthéō (เพนแธโอ) หมายถึงความโศกเศร้าปวดร้าวถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจจนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ มักใช้กับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น ยาโคบโศกเศร้าเพราะคิดว่าโยเซฟบุตรสุดที่รักเสียชีวิต (ปฐก 37:34; และ ปฐก 50:3; 1 มคบ 12:52; 13:26; 2 คร 12:21)
เราอาจเข้าใจความหมายของความสุขประการนี้ได้ 3 แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ
1. เข้าใจตามตัวอักษรคือ “เป็นบุญของผู้ที่เป็นทุกข์โศกเศร้า เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน”
เวลาชีวิตเป็นปกติสุขเรามักจะมองชีวิตเพียงผิวเผิน ต่อเมื่อความสูญเสียอันใหญ่หลวงถาโถมเข้ามาในชีวิตนั่นแหละ เราจึงจะเข้าใจความหมายของชีวิตที่ลึกซึ้งมากกว่า เราจะเห็นความรักและการปลอบโยนจากพระเจ้า ตลอดจนความช่วยเหลือและน้ำใจดีของบรรดาเพื่อนมนุษย์ชนิดที่เราไม่เคยนึกคิดหรือคาดหวังว่าจะได้เห็นหรือได้รับมาก่อน ดังเช่นกรณีความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาสู่ผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มภาคใต้ของไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ที่ผ่านมา
2. ความหมายประการที่สองคือ “เป็นบุญของผู้ที่ดูแลและใส่ใจอย่างจริงจังต่อความทุกข์ยาก ความโศกเศร้า และความต้องการของผู้อื่น” เพราะนี่คือการดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง
3. เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นภารกิจ สิ่งแรกที่พระองค์ทรงเทศน์สอนคือ “จงเป็นทุกข์กลับใจ” เพราะฉะนั้นความหมายประการสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือ “เป็นบุญของผู้ที่เศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เห็นว่าบาปของตนได้ทำร้ายพระเจ้าและองค์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนมากสักเพียงใด จึงเป็นทุกข์เสียใจ และได้รับการอภัยบาป” ดังเพลงสดุดีที่กล่าวไว้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า เครื่องบูชาของข้าพเจ้าคือดวงจิตที่เป็นทุกข์ ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ไม่ทรงรังเกียจใจที่เป็นทุกข์และถ่อมตน” (สดด 51:17)
เราอาจสรุปความหมายของความสุขประการที่สองนี้ ได้ว่า
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่หัวใจสลายเพราะเห็นความทุกข์ยากของโลกและสำนึกในบาปของตนเอง เหตุว่าเขาจะพบความยินดีในพระเจ้า”

3. ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
คำ “อ่อนโยน” ในภาษากรีกคือ praus (พราอูส) ซึ่งมีการใช้ดังนี้
1. อริสโตเติ้ลถือว่าคุณธรรมย่อมเดินสายกลาง เขาจึงให้คำจำกัดความของ “praus” ว่าอยู่กึ่งกลางระหว่าง “โกรธสุด ๆ” กับ “ไม่โกรธเลย”
เพราะฉะนั้นความหมายแรกของความสุขประการนี้คือ “เป็นบุญของผู้ที่รู้จักโกรธในเวลาที่สมควรโกรธ และไม่โกรธเลยในเวลาที่ไม่สมควรโกรธ”
หลักการกว้าง ๆ คือ เราจะโกรธแบบเห็นแก่ตัวไม่ได้ เช่น โกรธเพราะตัวเองสูญเสียผลประโยชน์หรือถูกทำร้าย อย่างนี้เป็นบาป แต่ถ้าเห็นผู้อื่นถูกทำร้ายแล้วเรานิ่งดูดาย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวด้วยเลย อย่างนี้เรียกว่าเราไม่ได้โกรธทั้ง ๆ ที่สมควรจะโกรธ
2. คำ “พราอูส” ยังใช้กับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีจนเราสามารถควบคุมหรือสั่งได้ ความหมายประการที่สองจึงหมายถึง “เป็นบุญของผู้ที่สามารถควบคุมสัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และตัณหาทั้งปวงของตนเองได้”
แต่เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดสามารถควบคุมตัวเองได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อเราพยายามควบคุมตัวเอง เราก็ยังไม่เป็นอิสระจากแรงกระตุ้นหรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเรายังตกอยู่ภายใต้แรงกระตุ้นที่ต้องการจะควบคุมตัวเองนั่นเอง
แต่ถ้าเราปล่อยให้พระเจ้าควบคุมตัวเรา เราจะสามารถรับใช้พระองค์ด้วยหัวใจที่เป็นอิสระสุดยอด และบรรลุถึงความสุขสันติอย่างแท้จริงชนิดที่ไม่มีใครแย่งชิงไปจากเราได้
3. ในภาษากรีก คำ “พราอูส” ใช้เป็นคำตรงกันข้ามกับคำที่มีความหมายว่า “หยิ่งยโส” ความหมายประการสุดท้ายจึงได้แก่ “เป็นบุญของผู้ที่มีความสุภาพ รู้ว่าตัวเองไม่รู้ และรู้ว่าตัวเองอ่อนแอ” เพราะว่าเขาจะเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่คิดว่าตนเองรู้ทุกสิ่ง เขาจะไม่ยอมเรียนรู้หรือรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตเลย นอกจากนั้นเขายังจะเริ่มมีศาสนาที่แท้จริงอันเกิดจากความต้องการพระเจ้าซึ่งสามารถช่วยเขาผู้อ่อนแอได้
ความสุภาพอ่อนโยนที่ทำให้เราสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในตัวเราเองได้นี่แหละที่ทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้เสียแล้ว เราจะควบคุมผู้อื่นได้อย่างไร ดังเช่นกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ที่เมาจนควบคุมตัวเองไม่ได้และใช้หอกพุ่งใส่สหายรักจนเสียชีวิต เขาไม่สามารถครองใจประชาชนได้เลย อีกทั้งอาณาจักรของเขาก็ไม่ยั่งยืนอีกด้วย
ความหมายของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่รู้จักโกรธในเวลาที่สมควรโกรธ และไม่โกรธในเวลาที่ไม่สมควรโกรธ ผู้ที่สามารถควบคุมสัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และตัณหาของตัวเองเพราะว่าเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้า ตลอดจนผู้ที่มีความสุภาพที่จะตระหนักถึงความไม่รู้และความอ่อนแอของตนเอง เหตุว่าเขาผู้นั้นจะเป็นกษัตริย์ท่ามกลางมวลมนุษย์”

4. ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
ความหมายของคำใดคำหนึ่งจะลึกซึ้งหรือหนักแน่นเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทั้งของผู้พูดและผู้ฟัง
ทุกวันนี้ เรายังไม่เคยมีประสบการณ์เลยว่า ผู้ที่หิวอาหารหรือกระหายน้ำตายในประเทศไทยมีอาการอย่างไร !
แต่ในสมัยของพระเยซูเจ้า ค่าแรงขั้นต่ำของชนชั้นกรรมกรก็แทบไม่พอประทังชีวิตแต่ละวันอยู่แล้ว หากวันใดไม่มีคนจ้างงาน พวกเขาย่อมหมิ่นเหม่ต่อการอดตายเป็นอย่างยิ่ง
และในระหว่างเดินทาง หากพวกเขาพบพายุทราย สิ่งเดียวที่พวกเขาจะทำได้คือเอาเสื้อปกคลุมตัวเองไว้แล้วหันหลังให้พายุพร้อมกับรอ ขณะที่ลมก็จะพัดทรายเข้าจมูกและคอของพวกเขาจนแสบและหายใจแทบไม่ออก ตอนนี้แหละที่พวกเขาจะตระหนักดีว่าการอดน้ำตายเป็นอย่างไร
ความหิวและกระหายที่ความสุขประการนี้กล่าวถึงจึงไม่ใช่ความหิวและกระหายแบบบ้านเรา ที่ได้ก๋วยเตี๋ยวสักชามหรือโอเลี้ยงสักแก้วก็อิ่มแล้ว แต่เป็นความหิวชนิดที่ถ้าไม่มีอาหารตกถึงท้องจะต้องอดตายแน่ และเป็นความกระหายชนิดที่ถ้าไม่ได้ดื่มน้ำสักแก้วจะต้องกระหายน้ำตายแน่
ความหมายของความสุขประการนี้จึงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของความหิวกระหาย เราจึงควรถามตัวเองว่า “เราต้องการความชอบธรรมมากเพียงใด มากเท่าคนที่กำลังหิวตายต้องการอาหาร หรือมากเท่าคนที่กำลังกระหายน้ำตายต้องการน้ำหรือไม่ ?”
แม้ความสุขประการนี้จะเรียกร้องให้เราแสวงหาความดีและความชอบธรรมอย่างเข้มข้นสุด ๆ จนหลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะปฏิบัติตามได้จริงหรือ แต่ก็ยังมีความบรรเทาใจที่ว่า “เป็นบุญของผู้ที่ใฝ่หา (กระหาย) ความดี ไม่ใช่เป็นบุญของผู้ที่บรรลุความดีแล้ว” ดังนั้น แม้เราจะผิดพลาดซ้ำซากจนรู้สึกท้อแท้ แต่หากเรายังใฝ่หาความดีอยู่ก็เป็นบุญของเราแล้ว เหมือนกษัตริย์ดาวิดที่แม้จะสังหารผู้คนเป็นจำนวนมากในการรบ แต่หัวใจของพระองค์ก็ไม่เคยหยุดคิดที่จะทำดีด้วยการสร้างพระวิหารถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าเลย
สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ในภาษากรีก คำกริยาจำพวก “หิว” และ “กระหาย” มักตามด้วย genitive case คือคำที่แสดงความเป็นเจ้าของ เวลาแปลเป็นไทยมักมีคำว่า “ของ” นำหน้า ในทางภาษาศาสตร์เรียกว่า partitive genitive ซึ่งหมายถึงเป็นเจ้าของเพียงบางส่วน เพราะฉะนั้นเวลาชาวกรีกต้องการพูดว่า “ฉันกระหายน้ำ” พวกเขาต้องพูดว่า “ฉันกระหายบางส่วนของน้ำ” กล่าวคืออยากได้น้ำเพียงส่วนเดียว ไม่ใช่ทั้งบ่อหรือทั้งไห
แต่ในกรณีของความสุขประการนี้ มัทธิวใช้คำ “ความชอบธรรม” ในรูปแบบของ accusative case ซึ่งเทียบได้กับ “กรรมตรง” (direct object) ในภาษาไทย
หมายความว่าความสุขประการนี้นอกจากจะเรียกร้องให้เราแสวงหาความชอบธรรมแบบสุด ๆ แล้ว ยังเรียกร้องให้เราแสวงหาความชอบธรรมแบบครบครันหรือแบบทั้งครบด้วย ไม่ใช่ทำดีแต่เพียงบางส่วน
ตัวอย่างคนทำดีบางส่วนเช่น คนที่มีศีลธรรมอันสูงส่ง มีความซื่อสัตย์ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป แต่ไม่มีใครกล้าเข้าพบหรือบอกเล่าความในใจ เพราะเขาเป็นคนเย็นชา ขาดมนุษยสัมพันธ์ หรือขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น
หรือคนขี้เหล้าเมายา ชอบเล่นการพนัน ที่พร้อมจะหยิบเหรียญบาทสุดท้ายในกระเป๋าของตนออกมาเพื่อทำบุญแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ก็เป็นคนดีเพียงบางส่วนเช่นกัน
เราอาจสรุปความหมายของความสุขประการนี้ได้ว่า
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ สำหรับคนที่ปรารถนาความชอบธรรมทั้งครบ เหมือนคนใกล้อดตายปรารถนาจะได้อาหาร หรือเหมือนคนใกล้กระหายน้ำตายปรารถนาจะได้น้ำ เหตุว่าเขาจะอิ่มหนำจริง ๆ”

5. ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
หลักการที่ว่า “ผู้ที่เมตตาผู้อื่นย่อมจะได้รับความเมตตาจากพระเจ้า” นั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพระธรรมใหม่ ตัวอย่างเช่น “ผู้ใดที่ไม่แสดงความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ จะถูกพิพากษาโดยปราศจากความเมตตากรุณา” (ยก 2:13) หรือในบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทรงสอนว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน” (มธ 6:12, 14-15)
คำ “เมตตา” ตรงกับภาษาฮีบรู chesedh (เขะเส็ด) ซึ่งหมายถึง “ความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในผู้อื่น แล้วมองด้วยสายตาของผู้อื่น คิดด้วยความคิดของผู้อื่น และรู้สึกด้วยความรู้สึกของผู้อื่น”
ตัวอย่างของผู้ที่มีความเมตตาสูงสุดคือองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรานั่นเอง พระองค์ทรงส่งพระบุตรแต่เพียงองค์เดียวลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อพระองค์จะได้มองแบบมนุษย์ คิดแบบมนุษย์ และรู้สึกแบบมนุษย์
เรียกว่าพระเจ้าทรงรู้จักและเข้าใจชีวิตมนุษย์อย่างถ่องแท้ พระองค์จึงสามารถช่วยเราได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม
และความเมตตาแบบนี้นี่แหละที่ช่วยให้เราดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะเราแคร์และคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นก่อนคิดถึงความรู้สึกของตนเอง
นอกจากนี้ ความเมตตายังช่วยให้เรา
1. ไม่เมตตาผู้อื่นอย่างผิด ๆ ดังเช่น เมื่อครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงแวะพักที่บ้านของมาร์ธาและมารีอา (ลก 10:38-42) ก่อนเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการตรึงกางเขน สิ่งเดียวที่พระองค์ต้องการคือการพักผ่อนให้หายเครียด จริงอยู่ทั้งมาร์ธาและมารีอาต่างรักพระองค์และต้องการต้อนรับพระองค์อย่างดีที่สุด แต่มีเพียงมารีอาเท่านั้นที่ต้อนรับพระองค์ด้วยใจเมตตา และรู้ว่าพระองค์ทรงประสงค์สิ่งใด
2. อดทนและให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายขึ้น เพราะมีหลักการอยู่ข้อหนึ่งซึ่งเรามักหลงลืมกันคือ ไม่ว่าใครจะคิดหรือทำอะไรก็ตาม เขาย่อมมีเหตุผลของเขาเสมอ และหากเราเข้าถึงเหตุผลของเขาได้ เช่นเขาทำเช่นนั้นเพราะกำลังกังวลหรือเจ็บปวด มีคนอื่นใส่ไฟ เขาเป็นลูกคนเดียวพ่อแม่เลยตามใจมาตลอด เขาเคยอกหักมาก่อน ฯลฯ เราก็จะอดทนและให้อภัยเขาได้ง่ายขึ้น
ความหมายของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่สามารถเข้าไปอยู่ในผู้อื่นจนกระทั่งสามารถมองด้วยดวงตาของพวกเขา คิดด้วยความคิดของพวกเขา และรู้สึกด้วยความรู้สึกของพวกเขา เหตุว่าผู้อื่นก็จะปฏิบัติต่อเขาเช่นเดียวกัน และเขายังจะได้รับรู้อีกว่า นี่คือสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำในองค์พระเยซูคริสตเจ้า”

6. ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
คำ “บริสุทธิ์” ตรงกับภาษากรีก katharos (คาธารอส) ซึ่งมีการใช้ดังต่อไปนี้
1. หมายถึง “สะอาด” เช่น เสื้อผ้าสะอาด จานสะอาด
2. หมายถึง “แยกแยะ” เช่น ฝัดข้าว (กระพือข้าวหรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อให้แกลบ รำ หรือผงแยกออกไป) หรือใช้เพื่อหมายถึงการคัดแยกทหารดีออกจากทหารเลว
3. ใช้ควบกับคำคุณศัพท์อื่นเพื่อหมายถึง “ไม่เจือปน” เช่น นมหรือเหล้าองุ่นที่ไม่มีน้ำผสม โลหะแท้ที่ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน เป็นต้น
ความหมายเบื้องต้นของความสุขประการนี้จึงได้แก่ “ผู้มีแรงจูงใจอันบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งอื่นเจือปน ย่อมเป็นสุข เหตุว่าเขาจะเห็นพระเจ้า”
ความสุขประการนี้จึงเรียกร้องให้เราแต่ละคนสำรวจมโนธรรมของตนเองอย่างเข้มข้น
- เรารับใช้พระเจ้าอย่างไม่เห็นแก่ตัวหรือเพราะอยากเด่นอยากดังกว่าคนอื่น ?
- เราไปวัดเพราะอยากพบพระเจ้าหรือเพราะถูกบังคับโดยบทบัญญัติ ?
- เราสวดภาวนาและอ่านพระคัมภีร์เพราะต้องการสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าหรือเพราะอยากเท่ห์กว่าคนอื่น ?
ยังมีหลักการอีกข้อหนึ่งคือ “คนเราเห็นสิ่งที่ตนเองสามารถเห็นได้เท่านั้น” เช่นในคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาว สิ่งที่เราเห็นคือแสงระยิบระยับของดวงดาว และนั่นคงเป็นสิ่งเดียวที่เราพึงเห็นหรือพึงเข้าใจได้ ตรงข้ามกับผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ นอกจากพวกเขาจะเห็นแสงระยิบระยับแบบเราแล้ว เขายังสามารถเรียกชื่อดวงดาวต่าง ๆ ได้ สามารถแบ่งแยกดวงดาวออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ หรือเห็นดวงดาวอื่นที่เราไม่มีทางจะมองเห็นได้ เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักดาราศาสตร์มีความสามารถที่จะเห็นดวงดาวได้มากกว่าเรา
กับพระเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระองค์คือองค์ความบริสุทธิ์ ผู้ที่จะสามารถเห็นพระองค์ได้จึงต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์
ความหมายของความสุขประการนี้จึงได้แก่
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่มีแรงจูงใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากสิ่งเจือปน เหตุว่าสักวันหนึ่งเขาจะเห็นพระเจ้า”

7. ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
มี 3 ประเด็นที่จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของความสุขประการนี้ได้ดียิ่งขึ้น
1. คำ “สันติ” ตรงกับภาษาฮีบรู shalōm (ชาโลม) คำคำนี้ไม่เคยใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธดังเช่น “ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” เลย แต่หมายถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้คน ๆ หนึ่งบรรลุความดีขั้นสูงสุด”
การไม่มีโรคภัยเบียดเบียน โดยทั่วไปถือว่าดีมากแล้ว แต่สำหรับพระเยซูเจ้าแค่นี้ยังไม่พอ เพราะเราอาจไม่มีโรคภัยก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันเราอาจไม่มีเรี่ยวแรงหรือไม่มีความสามารถพอที่จะทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันเลยด้วยก็ได้
เพราะฉะนั้น “ไม่” อย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้อง “ดีที่สุด” ด้วย
2. พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เรา “สร้างสันติ” ไม่ใช่แค่ “รักสันติ”
หลายคนชอบอ้างว่าตัวเองรักสันติ จึงไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาใด ๆ เลย แบบนี้จะเรียกว่าเป็นผู้สร้างสันติไม่ได้ เพราะปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข มีแต่รอวันและเวลาที่จะระเบิดออกมา
ส่วนผู้ที่สร้างสันติที่แท้จริงจะต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา จัดการกับปัญหา และเอาชนะปัญหาให้ได้ แม้ว่าตัวเองจะต้องดิ้นรนและเจ็บปวดสักเพียงใดก็ตาม
3. ภาษาฮีบรูไม่ค่อยมีคำคุณศัพท์ จึงต้องเลี่ยงไปใช้คำว่า “บุตรของ”... หรือ “บุตรแห่ง”.... (son of…) แล้วตามด้วยคำนามแทน สำหรับชาวฮีบรู “บุตรแห่งความสว่าง” จึงหมายถึง “คนดี”, “บุตรของพระเจ้า” หมายถึง “เหมือนพระเจ้า” เป็นต้น
พระเจ้าคือผู้สร้างสันติ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “ขอพระเจ้าผู้ประทานสันติ สถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเทอญ” (รม 15:33) “จงดำเนินชีวิตอย่างสันติ แล้วพระเจ้าแห่งความรักและสันติจะสถิตอยู่กับท่าน” (2 คร 13:11)
ผู้ที่สร้างสันติจึงกำลังกระทำเหมือนพระเจ้า และดังนั้นเขาจึงได้ชื่อว่าเป็น “บุตรของพระเจ้า”
ในทางปฏิบัติ ผู้ที่สร้างสันติหมายถึง
1. ทุกคนที่มีส่วนทำให้โลกนี้ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น จนทุกคนที่อาศัยอยู่ในโลกนี้สามารถบรรลุความดีสูงสุดได้
2. ทุกคนที่มีสันติในจิตใจ ไม่มีความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันระหว่างความดีและความชั่วในจิตใจหรือวิญญาณของเขาอีกต่อไป
3. ทุกคนที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ใช่เข้าที่ไหนวงแตกที่นั่น หรือชอบสร้างความขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นอยู่ร่ำไป
ความหมายของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เหตุว่าเขากำลังทำแบบพระเจ้า”

8. ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุขเมื่อถูกดูหมิ่นข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก เขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกที่อยู่ก่อนท่านดังนี้ด้วยเช่นกัน
ความสุขประการสุดท้ายนี้ แสดงให้เห็นความจริงใจของพระเยซูเจ้าแบบสุด ๆ พระองค์บอกกับผู้ที่สนใจจะติดตามพระองค์อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า พระองค์เสด็จมาไม่ใช่เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายขึ้น แต่มาเพื่อทำให้พวกเขายิ่งใหญ่และได้รับเกียรติมงคลแบบเดียวกับพระองค์
มีคริสตชนในสมัยเริ่มแรกจำนวนมากที่ได้ยืนหยัดอยู่เคียงข้างพระเยซูเจ้าอย่างน่าชื่นชม จนชีวิตของพวกเขาแทบไม่มีอะไรเหลือ
1. พวกเขาสูญเสียอาชีพและการงาน เช่น ช่างไม้ที่ถูกขอร้องให้สร้างวัดของคนต่างศาสนา หรือช่างตัดเสื้อที่ถูกขอร้องให้ตัดเย็บอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระต่างศาสนา พวกเขาไม่ลังเลเลยที่จะเลือกเอาพระเยซูเจ้ามากกว่าความอยู่รอดของธุรกิจ
2. พวกเขาสูญเสียฐานะทางสังคม ในสมัยโบราณงานเลี้ยงมักจัดในวิหารของเทพเจ้า เริ่มต้นด้วยการดื่มให้เกียรติแด่เทพเจ้า แล้วกินเนื้อที่เหลือจากการเผาถวายแด่เทพเจ้า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คริสตชนพึงกระทำ พวกเขาจึงต้องพร้อมอยู่ตามลำพังเพื่อจะเป็นคริสตชนที่สัตย์ซื่อ
3. พวกเขาสูญเสียครอบครัว สมาชิกในครอบครัวบางคนกลับใจมาเป็นคริสตชน บางคนไม่ยอมกลับใจ ครอบครัวของพวกเขาต้องแตกแยก แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะรักพระเยซูเจ้ามากกว่าภรรยาและบุตรซึ่งอยู่ใกล้ชิดเขามากที่สุดและเขาเองก็รักมากที่สุดด้วย
นอกจากนี้ พวกเขาจำนวนมากยังต้องทนทุกข์และพลีชีพเพื่อเป็นพยานยืนยันถึงพระเยซูเจ้า บางคนถูกโยนให้สิงโตกิน บางคนถูกเผาไฟทั้งเป็น บางคนถูกห่อด้วยผ้าเต็นท์ชุบน้ำมันแล้วจุดเป็นคบไฟในสวนของกษัตริย์เนโร บางคนถูกเย็บติดกับหนังสัตว์สด ๆ แล้วปล่อยให้สุนัขล่าเนื้อไล่ล่าจนตาย บางคนถูกคีมบีบ ถูกรมควัน ฯลฯ อีกมากมาย
สาเหตุของการถูกเบียดเบียนอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
1. การใส่ร้าย
1.1 จากคำที่ว่า “นี่คือกายของเรา นี่คือโลหิตของเรา...” พวกเขาถูกใส่ร้ายว่าฆ่าเด็กและกินเนื้อเด็ก
1.2 พวกคริสตชนเน้นความรัก และมี kiss of peace (พิธีแสดงความเป็นมิตรต่อกัน) จึงถูกใส่ร้ายว่าประพฤติผิดศีลธรรม มั่วเซ็กซ์
1.3 พวกเขาโดนข้อหาเป็นนักวางเพลิง เพราะชอบพูดถึงไฟล้างโลกอยู่บ่อย ๆ
1.4 พวกเขาถูกกล่าวหาว่าทำให้ครอบครัวแตกแยก
2. การเมือง
เนื่องจากอาณาจักรโรมันมีขนาดใหญ่มาก เพื่อทำให้พลเมืองเป็นหนึ่งเดียวกัน พวกเขาจึงถูกบังคับให้ถวายกำยานแด่ “เทพเจ้าซีซาร์” อย่างน้อยปีละครั้ง เมื่อได้หนังสือรับรองว่าได้ถวายกำยานแล้ว พวกเขาจึงสามารถนมัสการพระเจ้าที่พวกเขานับถือได้
อาชญากรรมอันใหญ่หลวงของคริสตชนจึงอยู่ที่ “การวางพระเยซูเจ้าไว้เหนือจักรพรรดิซีซาร์”
ทุกวันนี้ โอกาสที่จะ “พลีชีพ” เพื่อยืนยันความเชื่อในพระเยซูเจ้าคงไม่เกิดขึ้นง่ายหรือบ่อยนัก กระนั้นก็ตาม พระองค์ยังต้องการให้เราเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ด้วยการ “เจริญชีพ” ไม่ว่าจะด้วยการรักเพื่อนมนุษย์ การให้อภัยเพื่อนมนุษย์ หรือการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย แม้จะถูกคนอื่นค่อนขอดหรือเยาะเย้ยว่าโง่สักเพียงใดก็ตาม
อย่าลืมว่าแม้เราจะไม่มีโอกาส “พลีชีพ” เพื่อพระองค์ แต่เราสามารถ “เจริญชีพ” เพื่อเป็นพยานถึงพระองค์ได้เสมอ !

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown