มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

วันอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา

วันอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา

 

ข่าวดี   มาระโก 13:24-32

          (24) “ในวันเหล่านั้นเมื่อทุกขเวทนาผ่านไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะมืดไป ดวงจันทร์จะไม่ทอแสง (25) ดวงดาวจะตกจากท้องฟ้า และอานุภาพบนท้องฟ้าจะสั่นสะเทือน (26) เมื่อนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ (27) เมื่อนั้น พระองค์จะทรงใช้ทูตสวรรค์ไปรวบรวมผู้ที่ทรงเลือกสรรจากทั้งสี่ทิศ จากปลายแผ่นดินจนสุดขอบฟ้า

          (28) “จงเรียนคำอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศเถิด เมื่อมันแตกกิ่งอ่อนและผลิใบ ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้ว (29) ท่านก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จงรู้เถิดว่าพระองค์ทรงใกล้เข้ามา อยู่ที่ประตูแล้ว (30) เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น (31) ฟ้าดินจะสูญสิ้นไป แต่วาจาของเราจะไม่สูญสิ้นไปเลย (32) “ส่วนเรื่องวันและเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว

 

****************************

 

          พระวรสารบทที่ 13 ของนักบุญมาระโกถือว่ายากที่สุดบทหนึ่งในพระธรรมใหม่ เพราะเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความคิดแบบชาวยิว ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่คุ้นเคย

          ชาวยิวไม่เคยสงสัยเลยว่าตนเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร  และเพราะพระเจ้าทรงเลือกสรร พวกเขาจึงคิดว่าควรมีตำแหน่งและบทบาทเหนือชนชาติอื่น  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป พวกเขาเริ่มตระหนักว่าอาศัยกำลังของตนเองย่อมไม่มีทางบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จึงหันมาพึ่งพาและรอคอยความช่วยเหลือจากพระเจ้า  พวกเขาเรียกวันที่พระเจ้าจะเสด็จมาทำลายชนชาติอื่นแทนพวกเขาและสถาปนาอาณาจักรใหม่ให้แก่พวกเขาว่า “วันของพระเจ้า” (The Day of the Lord)

          ด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าพวกเขามองโลกในแง่ดีที่เชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะเสด็จมาช่วยเหลือพวกเขา  แต่อีกด้านหนึ่งต้องถือว่าพวกเขามองโลกในแง่ร้ายสุด ๆ ที่เชื่อว่าโลกใบนี้เลวร้ายเกินกว่าจะฟื้นฟูได้  ต้องทำลายล้างให้สิ้นซาก แล้วสร้างใหม่สถานเดียว

          ด้วยเหตุนี้ ภาพเหตุการณ์ “วันของพระเจ้า” จึงถูกวาดไว้อย่างน่าขนพองสยองเกล้า ดังคำของประกาศกอิสยาห์ที่ว่า “จงพิลาปร่ำไห้ซิ เพราะวันแห่งพระเจ้ามาใกล้แล้ว วันนั้นจะมา  เป็นการทำลายจากองค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์....ดูเถิด วันของพระเจ้าจะมา ดุร้ายด้วยความพิโรธและความโกรธอันเกรี้ยวกราด ที่จะกระทำให้แผ่นดินโลกเป็นที่ร้างเปล่า และเพื่อจะทำลายคนบาปของโลกเสียจากโลก เพราะดวงดาวแห่งฟ้าสวรรค์และหมู่ดาวในนั้นจะไม่ทอแสงของมัน ดวงอาทิตย์ก็จะมืดเมื่อเวลาขึ้น และดวงจันทร์จะไม่ส่องแสงของมัน....เพราะฉะนั้น เราจะกระทำให้ฟ้าสวรรค์สั่นสะเทือน และแผ่นดินโลกจะสะท้านพลัดจากที่ของมัน โดยพระพิโรธของพระเจ้าจอมโยธา ในวันแห่งความโกรธอันเกรี้ยวกราดของพระองค์” (อสย 13:6-16)

          ช่วงเวลาระหว่างพระธรรมเก่าเชื่อมต่อกับพระธรรมใหม่ ชาวยิวไม่เคยรู้จักคำว่า “เสรีภาพ” เลย  พวกเขาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแล้วอาณาจักรเล่า  ความหวังและความใฝ่ฝันถึง “วันของพระเจ้า” จึงถูกกระตุ้นให้ลุกโชนขึ้นมา  วรรณกรรมประเภท Apocalypses ที่เปิดเผยให้เห็นเหตุการณ์ในอนาคตโดยเฉพาะใน “วันของพระเจ้า” เกิดขึ้นมากมาย โดยอิงอยู่กับภาพเดิม ๆ ในพระธรรมเก่าเพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดใหม่เข้าไปบางประการ

          สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอคือ วรรณกรรมเหล่านี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงนิมิตและความใฝ่ฝันของชาวยิว  หาได้มุ่งหวังให้เป็นแผนที่หรือกำหนดการสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตแต่ประการใดไม่

          พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาษาและภาพเหตุการณ์จากวรรณกรรมเหล่านี้ซึ่งชาวยิวคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพื่อบอกว่า “พระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” โดยที่ทั้งพระองค์เองและชาวยิวต่างรู้ดีว่าทั้งหมดล้วนเป็นเพียงนิมิตและความฝัน เพราะ “เรื่องวันและเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร” (ข้อ 32)

          ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจมาระโกบทที่ 13 ได้ดีขึ้นคือ พระวรสารบทนี้เป็นการรวบรวมคำพูด“เกี่ยวกับอนาคต” ที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในโอกาสต่าง ๆ เอามาไว้ที่เดียวกัน ทำให้ความคิดหลายอย่างพัวพันกันจนเป็นเสมือนเรื่องเดียวกัน

          อันที่จริงมาระโกบทที่ 13 ประกอบด้วยความคิดที่แตกต่างกันถึง 5 ประการด้วยกันคือ

          1.       คำทำนายถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม  ข้อ 1, 2, และ 14 – 20

          2.       คำเตือนเรื่องการเบียดเบียนที่จะตามมา  ข้อ 9 – 13

          3.       คำเตือนถึงอันตรายในวาระสุดท้าย  ข้อ 3 – 6 และ 21 – 22

          4.       คำเตือนเรื่องการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระองค์  ข้อ 24 – 27 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระวรสารในวันนี้

          5.       คำเตือนถึงความจำเป็นในการเฝ้าระวัง  ข้อ 28 – 37 ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของพระวรสารในวันนี้

         

          แน่นอนว่าตอนแรกของพระวรสารวันนี้กล่าวถึง “การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า” ดังข้อความที่ว่า “เมื่อนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่” (ข้อ 26)

          เพียงแต่ภาพเดิม ๆ จากพระธรรมเก่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นใน “วันของพระเจ้า” ได้ถูกนำมาใช้เพื่อบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่พระองค์จะ “เสด็จกลับมาครั้งที่สอง”  ตัวอย่างของภาพเหล่านี้คือ

          1.       สงคราม  ก่อนวันของพระเจ้าจะมาถึง “พวกเขาจะวางแผนทำสงครามซึ่งกันและกัน เมืองกับเมือง บ้านกับบ้าน ประชาชนกับประชาชน อาณาจักรกับอาณาจักร” (เทียบ มก 13:7-8)

2.       ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวมืดมิด  เช่น “ดูเถิด วันของพระเจ้าจะมา....เพราะดวงดาวแห่งฟ้าสวรรค์และหมู่ดาวในนั้นจะไม่ทอแสงของมัน  ดวงอาทิตย์ก็จะมืดเมื่อเวลาขึ้นและดวงจันทร์จะไม่ส่องแสงของมัน” (อสย 13:9-10; 34:4; อมส 8:9; ยอล 2:10, 3:15; อสค 32:7, 8)

3.       ชาวยิวจะถูกรวบรวมจากทั้งสี่ทิศกลับสู่เยรูซาเล็มใหม่  เช่น “ในวันนั้น เขาจะเป่าเขาสัตว์ใหญ่ และบรรดาผู้กำลังพินาศอยู่ในแผ่นดินอัสซีเรีย และบรรดาผู้ถูกขับไล่ออกไปยังแผ่นดินอียิปต์ จะมานมัสการพระเจ้าบนภูเขาบริสุทธิ์ที่เยรูซาเล็ม” (อสย 27:13; 35:8-10; มคา 7:12; ศคย 10:6-11)

ขอย้ำอีกครั้งว่าภาพเหตุการณ์ที่ยกมาล้วนเป็นเพียงนิมิตและความฝันที่ชาวยิวรู้จักและคุ้นเคยมานานนับร้อยปี  พระเยซูเจ้าทรงนำภาพเหล่านี้มาใช้เพียงเพื่อบ่งบอกถึง “ความยิ่งใหญ่แห่งการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์” เท่านั้น

จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่เราจะต้องรู้ลึกในรายละเอียดเหล่านี้ !

 

          ส่วนพระวรสารตอนที่สองแม้จะสืบเนื่องมาจากตอนแรกก็จริง แต่เป็นคนละเรื่องกัน หากไม่แยกแยะให้ชัดเจน อาจทำให้เข้าใจพระเยซูเจ้าผิดพลาดได้

          บางคนถึงกับกล่าวหาพระองค์ว่าทำนายผิดที่ตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น” (ข้อ 30)

          เพราะจนบัดนี้เวลาได้ผ่านพ้นไปสองพันปีแล้ว ยังไม่เห็นพระองค์เสด็จกลับมาสักที และโลกใบนี้ก็ยังคงดำรงอยู่โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นพิภพแต่อย่างใด

          อันที่จริง พระเยซูเจ้าทรงเป็นฝ่ายถูก ส่วนผู้กล่าวหานั่นแหละเป็นฝ่ายผิด !

          เพราะเมื่อพระองค์ตรัสถึงต้นมะเดื่อเทศว่า เมื่อมันแตกกิ่งอ่อนและผลิใบย่อมเป็นสัญญาณว่าฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้วฉันใด  เมื่อเหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นดังเช่นสงคราม ดวงอาทิตย์มืดมิด ฯลฯ เกิดขึ้น ย่อมเป็นสัญญาณว่าเวลานั้นใกล้มาถึงแล้วฉันนั้น (ข้อ 28-29)

          พร้อมกับฟันธงว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น” นั้น

          พระองค์ไม่ได้หมายถึงวันและเวลาแห่ง “การเสด็จมาครั้งที่สอง” หรือวัน “สิ้นพิภพ” แต่ประการใด เพราะวันเหล่านี้ “ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว” (ข้อ 32)

          ขอย้ำว่า “ไม่มีใครรู้ แม้แต่พระองค์เอง”

          จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พระองค์จะตรัสว่า “คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับมา”

          แต่เรื่องที่พระองค์ทรงทำนายถึงคือ “ความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม” ชนิด “ไม่มีก้อนหินเหลือซ้อนกันอยู่เลย” (มก 13:2)

ซึ่งคำทำนายนี้เกิดขึ้นจริงและคนในชั่วอายุนั้นได้ประสบ เมื่อโรมส่งกองทัพมาปิดล้อมและทำลายกรุงเยรูซาเล็มจนราบเป็นหน้ากลองในปี ค.ศ. 70 อันเป็นเหตุให้ชาวยิวต้องกระจัดกระจายไปทั่วโลก และพึ่งกลับมารวมตัวกันสร้างประเทศอิสราเอลขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปแล้วนี่เอง

          อนึ่ง ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรงปล่อยวางข้อสงสัยเรื่อง “วันและเวลาของการเสด็จมาครั้งที่สอง” ไว้ในอ้อมพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว (ข้อ 32)  ความพยายามใด ๆ ที่จะคิดคำนวณเพื่อหาวันและเวลาสิ้นพิภพจึงต้องถือว่าเป็นการข้ามหน้าข้ามตาพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง

          ตรงกันข้าม ในเมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต" (ยน 14:6) ได้ทรงยืนยันว่าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน เพียงแต่ยกเรื่องวันและเวลาให้อยู่ในการตัดสินพระทัยของพระบิดาเจ้าเช่นนี้แล้ว….

สิ่งเดียวที่เราพึงกระทำอย่างยิ่งยวดคือ “เตรียมพร้อม”

เราต้องเตรียมพร้อมด้วยการทำหน้าที่แต่ละวันให้ดีที่สุด  เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จกลับมาอีกครั้ง เราจะไม่ต้องหวาดกลัวหรือตื่นตระหนก แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความชื่นชมยินดี

อย่าลืมว่า “ฟ้าดินจะสูญสิ้นไป แต่วาจาของพระองค์จะไม่สูญสิ้นไปเลย” (ข้อ 31)

 

บัดนี้ ชะตากรรมของเราอยู่ในกำมือของเราแล้ว !!!

สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

 

ข่าวดี  ยอห์น 18:33ข-37

(33)ปีลาตกลับเข้าไปในจวน และเรียกพระเยซูเจ้ามาถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”  (34)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”  (35)ปีลาตตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ ชนชาติของท่าน และบรรดาหัวหน้าสมณะมอบท่านให้ข้าพเจ้า ท่านทำผิดสิ่งใด”  (36)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้ ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว แต่อาณาจักรของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้”  (37)ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา”

 

***********************

 

          พระวรสารวันนี้ตัดตอนมาจากเรื่องปีลาตไต่สวนพระเยซูเจ้า  ระหว่างการไต่สวน ปีลาตถามพระองค์ว่าท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์” (ยน 18:37)

          นี่คือคำยืนยันที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง และออกมาในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเป็นอย่างยิ่ง

คำยืนยันนี้คือ พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” ซึ่งเราร่วมใจกันสมโภชในวันนี้ !

          และนี่คือบุคลิกลักษณะของพระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ของชาวเราทุกคน

          1.       พระองค์ทรงไว้ซึ่งความสง่างาม  เมื่ออ่านเรื่องราวการไต่สวนของปีลาตทั้งหมด (ยน 18:28 - 19:16)  เราจะพบว่าไม่มีตอนใดเลยที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าพระเยซูเจ้ากำลังถูกไต่สวน

                   พระองค์ไม่ได้แสดงอาการเกรงกลัวหรือออดอ้อนปีลาตเพื่อขอความเมตตาใด ๆ ทั้งสิ้น จนผู้อ่านอดรู้สึกไม่ได้ว่าเป็นพระองค์เองที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมด ตรงกันข้าม กลับเป็นปีลาตเองต่างหากที่หัวหมุนและต้องดิ้นรนหนีจากความตื่นตระหนกเมื่อต้องอยู่ต่อหน้า “พระบุตรของพระเป็นเจ้า” ซึ่งย้อนถามเขาอย่างไม่เกรงกลัวเลยว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา” (ยน 18:34)

                   นี่คงเป็นเพราะพระองค์เสด็จมาเพื่อพิพากษามนุษย์โดยแท้ มิใช่ให้มนุษย์มาพิพากษาพระองค์

            2.       พระองค์ตรัสตรงไปตรงมา  “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้  ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว” (ยน 18:36)

          ความมุ่งมั่นของชาวยิวที่จะเป็นอิสระจากโรม ทำให้บรรยากาศช่วงปัสการ้อนระอุไปด้วยไฟปฏิวัติ   ปีลาตรู้ปัญหานี้ดีจึงส่งกองทหารเข้ามาเสริมกำลังในกรุงเยรูซาเล็ม  แต่คงมีจำนวนไม่มากนักเพราะเขามีทหารในบังคับบัญชาประมาณสามพันคนเท่านั้น  ไหนจะต้องคงกำลังส่วนใหญ่ไว้ที่ซีซารียาซึ่งเป็นเมืองหลวง  ไหนจะต้องกระจายกำลังไปตามค่ายทหารอีกหลายแห่งในสะมาเรีย  แล้วจะมีทหารเหลือสำหรับติดตามเขาสักกี่คนกัน

          หากพระเยซูเจ้าคิดจะชักธงรบ ปีลาตคงไม่มีทางต้านทานกำลังของผู้สนับสนุนพระองค์ได้

          แต่พระองค์กลับตรัสตรงไปตรงมาและชัดถ้อยชัดคำว่า อาณาจักรของพระองค์ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ และพระองค์ไม่ได้พึ่งพากองกำลังพลจากโลกนี้

          เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีอาณาจักรอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งจะพิชิตและได้มาก็โดยอาศัย “ความรัก” เท่านั้น

3.       พระองค์คือความจริง  พระองค์ไม่เคยหยุดหย่อนที่จะบอกความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวกับมนุษย์ และเกี่ยวกับชีวิตแก่เรา

          แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าปีลาต พระองค์ยังย้ำว่า “เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา” (ยน 18:37)

          แล้วเราจะเลือกอยู่ฝ่ายไหน ?

4.       พระองค์ทรงเข้มแข็งและอดทน  แส้ที่ใช้เฆี่ยนพระองค์เป็นเชือกทำด้วยหนัง มีก้อนตะกั่วเล็ก ๆ และกระดูกแหลมคมติดอยู่เป็นระยะ  มีน้อยคนนักที่ยังคงครองสติไว้ได้หลังถูกเฆี่ยน  บางคนถึงตาย  และหลายคนกลายเป็นบ้า

          แต่พระเยซูเจ้าทรงยืนหยัดอยู่ได้จนถึงไม้กางเขน !

5.       พระองค์ทรงนบนอบพระบิดา  ปีลาตพูดกับพระองค์ว่า “ท่านไม่อยากพูดกับเราหรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เรามีอำนาจจะปล่อยท่านก็ได้ จะตรึงกางเขนท่านก็ได้” (ยน 19:10)

          เท่ากับปีลาตแบะท่าออกมาแล้วว่าจะปล่อยพระองค์ก็ได้หากพูดกับเขาดี ๆ หน่อย  แต่พระองค์กลับตอบตรงไปตรงมาแบบไม่รักษาน้ำใจของปีลาตเลยว่า “ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน” (ยน 19:11)

                        แสดงว่าพระองค์มิได้ถูกไล่ล่าให้จนตรอกและตายบนไม้กางเขน แต่พระองค์มุ่งหน้าไปสู่ไม้กางเขนอย่างผู้มีชัย

                   พระองค์ “มีชัย” เพราะได้นบนอบพระบิดาจนถึงที่สุด !

          6.       พระองค์ทรงรอบรู้  เมื่อปีลาตถามพระองค์ว่ามาจากไหน พระองค์นิ่งเงียบ (ยน 19:9) เพราะทรงทราบดีว่าพูดไปปีลาตก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจก็ไม่มีทางยอมรับ  เหมือนพูดกันคนละภาษา

                   พวกเราจึงต้องระวังอย่างยิ่ง “อย่าให้พระองค์นิ่งเงียบกับเรา” เพราะนั่นหมายความว่าเราออกนอกลู่นอกทางจนกู่ไม่กลับ และพูดกับพระองค์ไม่รู้เรื่องอีกแล้ว

          7.       พระองค์คือผู้พิพากษา  เมื่อถูกชาวยิวข่มขู่ว่าจะฟ้องพระจักรพรรดิหากปีลาตปล่อยพระเยซูเจ้าให้เป็นอิสระ   ด้วยความกลัวว่าจะกระทบกระเทือนตำแหน่ง เขาจึงสั่งให้นำพระองค์ออกมาข้างนอก ให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาในสถานที่ที่เรียกว่า “ลานศิลากับบาธา” (ยน 19:13)

                   ไม่ว่าปีลาตจะทำเพื่อหาทางช่วยเหลือพระองค์ หรือเพราะต้องการล้อเลียนด้วยการให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาก็ตาม  สักวันหนึ่งเขาและชาวยิวจะตระหนักดีว่าผู้ที่พวกเขาล้อเลียนนั้นคือกษัตริย์ที่จะพิพากษาพวกเขาจริง ๆ

 

ในการไต่สวนครั้งนี้ เราได้เห็นความยิ่งใหญ่ ความสง่างาม ความกล้าหาญ และความนบนอบพร้อมน้อมรับไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า

ไม่มีครั้งใดอีกแล้วที่ความเป็นกษัตริย์ของพระองค์จะฉายแสงเจิดจ้าเท่าครั้งนี้.... ครั้งที่มนุษย์พยายามจะลดพระเกียรติของพระองค์ด้วยไม้กางเขน !

บัดนี้ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

หรือว่า ยังต้องยกเว้นใครสักคน ???

 

สมโภชนักบุญทั้งหลาย

สมโภชนักบุญทั้งหลาย

ข่าวดี มัทธิว 5:1-12ก
ความสุขแท้จริง
(1)พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ (2) พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า
(3)“ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
(4)ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
(5)ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
(6)ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
(7)ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
(8)ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
(9)ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
(10)ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา (11) ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา (12) จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก”

*********************************

ก่อนที่เราจะศึกษาความหมายของความสุขแต่ละประการ มีข้อเท็จจริงสำคัญที่เราควรทราบก่อนคือ
1. ในสำนวนแปลภาษาไทยมีคำกริยา “เป็น” อยู่ด้วยเสมอ เช่น “ก็เป็นสุข” หรือ “ย่อมเป็นสุข” แต่ในภาษากรีกไม่มีคำกริยาอยู่เลย และเมื่อหันไปดูภาษาฮีบรูและอาราไมอิก เราจะพบว่ามีสำนวนที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในพระธรรมเก่า เป็นคำอุทานที่มีความหมายทำนอง “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ !” หรือ “แหม สุขจัง !”
นี่แสดงว่าความสุขทั้ง 8 ประการไม่ใช่ประโยคบอกเล่า แต่เป็นคำอุทาน และเมื่อเป็นคำอุทานก็หมายความว่าความสุขนี้เกิดขึ้นขณะนี้ และเวลานี้ เพราะคงไม่มีใครอุทานว่า “แหม ดีใจจัง ปีหน้าจะถูกหวย !”
จริงอยู่ ความสุขที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้พบพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้า แต่ความสุขทั้ง 8 ประการนี้ เราสามารถลิ้มรสได้แล้วตั้งแต่เวลานี้ และบนโลกนี้
2. คำ “สุข” ตรงกับภาษากรีก makarios (มาคารีออส) ซึ่งเป็นคำพิเศษที่ชาวกรีกใช้สำหรับบรรยายคุณลักษณะของพระเจ้าหรือของบรรดาเทพเจ้าโดยเฉพาะ ความสุขที่พระเยซูเจ้าพูดถึงจึงเป็น “ความสุขแบบพระเจ้า” เป็นความสุขที่ครบสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่มีใครแตะต้องหรือแย่งชิงไปได้ ไม่ขึ้นกับโอกาสหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งต่างจากความสุขที่โลกหยิบยื่นให้ เพราะคำ happiness (ความสุข) มาจากราก hap ซึ่งหมายถึง “โอกาส, โชค”
ความสุขตามประสามนุษย์อาจเพิ่มขึ้นหรือหมดไปได้หากโชคเปลี่ยน สุขภาพเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน แผนเปลี่ยน หรือปัจจัยอื่น ๆ เปลี่ยน แต่ความสุขแบบคริสตชนเป็นความสุขแท้จริงที่ “ไม่มีใครนำไปจากท่านได้” (ยน 16:22)

1. ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
ในภาษากรีกมีคำว่า “จน” อยู่ 2 คำคือ
1. Penēs (เปเนส) หมายถึงความยากจนในแง่ที่ไม่มีสิ่งของฟุ่มเฟือย แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้ นั่นคือยังช่วยเหลือตัวเองได้
2. Ptōchos (ปโตคอส) ซึ่งมาจากรากศัพท์ ptossein (ปตอสเซน) อันหมายถึง หมอบ หรือ คลาน ปโตคอสจึงหมายถึงความยากจนชนิดสิ้นเนื้อประดาตัว และไม่สามารถยืนหยัดด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้เลย
และคำที่มัทธิวเลือกใช้คือ ปโตคอส อันหมายถึงความยากจนแบบช่วยตัวเองไม่ได้เลย
ส่วนคำ “จน” ในภาษาอาราไมอิกคือ ’ani (อานี) และ ebiōn (เอบีโอน) นั้นมีวิวัฒนาการของความหมาย 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ
1. เริ่มแรกมีความหมาย “จน”
2. เพราะ “จน” ความหมายจึงพัฒนาไปเป็นการ ไม่มีอิทธิพล ไม่มีอำนาจ ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครช่วยเหลือ
3. เพราะไม่มีอิทธิพล จึงถูกผู้อื่นดูหมิ่น และกดขี่ข่มเหงต่าง ๆ นานา
4. และเพราะไม่มีที่พึ่งพิงใด ๆ ในโลกนี้อีกแล้ว เขาจึงมอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า (ดูตัวอย่างใน สดด 9:18; 34:6; 35:10; 68:10; 72:4; 107:41; 132:15)
เมื่อรวมความหมายในภาษากรีกและอาราไมอิกเข้าด้วยกัน เราอาจแปลความหมายท่อนแรกได้ว่า “ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่ตระหนักว่าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงมอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า”
สำหรับผู้ที่ไว้ใจในพระเจ้า เขาจะค้นพบว่าสิ่งของในโลกนี้ไม่สามารถหยิบยื่นความสุขและความมั่นคงที่แท้จริงให้ได้ มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นความหวัง ความช่วยเหลือ และพละกำลังของตน
และพึงสังเกตว่าความยากจนนี้เป็นเรื่องของ “จิตใจ” พระองค์ไม่ประสงค์ให้เราอาศัยอยู่ในสลัม กินมื้ออดมื้อ เจ็บออด ๆ แอด ๆ ฯลฯ ความยากจนแบบนี้คือเป้าหมายของเราคริสตชนที่จะต้องช่วยกันกำจัดให้หมดไป

ในบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราสวดว่า
“พระอาณาจักรจงมาถึง
พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์”
เราจึงอาจให้คำจำกัดความของ “อาณาจักรสวรรค์” ได้ว่าเป็น “สังคมบนโลกนี้ที่พระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เหมือนในสวรรค์”
นั่นคือ ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้นจึงจะเป็นพลเมืองของอาณาจักรสวรรค์ได้ และผู้ที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้คือผู้ที่มอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในพระองค์เท่านั้น
เพราะฉะนั้น ความหมายโดยรวมของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่ตระหนักว่าไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย จึงมอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า เหตุว่าเขาจะได้เป็นสมาชิกของอาณาจักรสวรรค์ เพราะสามารถนบนอบพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์

2. ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
คำกรีกที่ใช้คือ penthéō (เพนแธโอ) หมายถึงความโศกเศร้าปวดร้าวถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจจนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ มักใช้กับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น ยาโคบโศกเศร้าเพราะคิดว่าโยเซฟบุตรสุดที่รักเสียชีวิต (ปฐก 37:34; และ ปฐก 50:3; 1 มคบ 12:52; 13:26; 2 คร 12:21)
เราอาจเข้าใจความหมายของความสุขประการนี้ได้ 3 แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ
1. เข้าใจตามตัวอักษรคือ “เป็นบุญของผู้ที่เป็นทุกข์โศกเศร้า เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน”
เวลาชีวิตเป็นปกติสุขเรามักจะมองชีวิตเพียงผิวเผิน ต่อเมื่อความสูญเสียอันใหญ่หลวงถาโถมเข้ามาในชีวิตนั่นแหละ เราจึงจะเข้าใจความหมายของชีวิตที่ลึกซึ้งมากกว่า เราจะเห็นความรักและการปลอบโยนจากพระเจ้า ตลอดจนความช่วยเหลือและน้ำใจดีของบรรดาเพื่อนมนุษย์ชนิดที่เราไม่เคยนึกคิดหรือคาดหวังว่าจะได้เห็นหรือได้รับมาก่อน ดังเช่นกรณีความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาสู่ผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มภาคใต้ของไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ที่ผ่านมา
2. ความหมายประการที่สองคือ “เป็นบุญของผู้ที่ดูแลและใส่ใจอย่างจริงจังต่อความทุกข์ยาก ความโศกเศร้า และความต้องการของผู้อื่น” เพราะนี่คือการดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง
3. เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นภารกิจ สิ่งแรกที่พระองค์ทรงเทศน์สอนคือ “จงเป็นทุกข์กลับใจ” เพราะฉะนั้นความหมายประการสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือ “เป็นบุญของผู้ที่เศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เห็นว่าบาปของตนได้ทำร้ายพระเจ้าและองค์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนมากสักเพียงใด จึงเป็นทุกข์เสียใจ และได้รับการอภัยบาป” ดังเพลงสดุดีที่กล่าวไว้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า เครื่องบูชาของข้าพเจ้าคือดวงจิตที่เป็นทุกข์ ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ไม่ทรงรังเกียจใจที่เป็นทุกข์และถ่อมตน” (สดด 51:17)
เราอาจสรุปความหมายของความสุขประการที่สองนี้ ได้ว่า
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่หัวใจสลายเพราะเห็นความทุกข์ยากของโลกและสำนึกในบาปของตนเอง เหตุว่าเขาจะพบความยินดีในพระเจ้า”

3. ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
คำ “อ่อนโยน” ในภาษากรีกคือ praus (พราอูส) ซึ่งมีการใช้ดังนี้
1. อริสโตเติ้ลถือว่าคุณธรรมย่อมเดินสายกลาง เขาจึงให้คำจำกัดความของ “praus” ว่าอยู่กึ่งกลางระหว่าง “โกรธสุด ๆ” กับ “ไม่โกรธเลย”
เพราะฉะนั้นความหมายแรกของความสุขประการนี้คือ “เป็นบุญของผู้ที่รู้จักโกรธในเวลาที่สมควรโกรธ และไม่โกรธเลยในเวลาที่ไม่สมควรโกรธ”
หลักการกว้าง ๆ คือ เราจะโกรธแบบเห็นแก่ตัวไม่ได้ เช่น โกรธเพราะตัวเองสูญเสียผลประโยชน์หรือถูกทำร้าย อย่างนี้เป็นบาป แต่ถ้าเห็นผู้อื่นถูกทำร้ายแล้วเรานิ่งดูดาย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวด้วยเลย อย่างนี้เรียกว่าเราไม่ได้โกรธทั้ง ๆ ที่สมควรจะโกรธ
2. คำ “พราอูส” ยังใช้กับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีจนเราสามารถควบคุมหรือสั่งได้ ความหมายประการที่สองจึงหมายถึง “เป็นบุญของผู้ที่สามารถควบคุมสัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และตัณหาทั้งปวงของตนเองได้”
แต่เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดสามารถควบคุมตัวเองได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อเราพยายามควบคุมตัวเอง เราก็ยังไม่เป็นอิสระจากแรงกระตุ้นหรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเรายังตกอยู่ภายใต้แรงกระตุ้นที่ต้องการจะควบคุมตัวเองนั่นเอง
แต่ถ้าเราปล่อยให้พระเจ้าควบคุมตัวเรา เราจะสามารถรับใช้พระองค์ด้วยหัวใจที่เป็นอิสระสุดยอด และบรรลุถึงความสุขสันติอย่างแท้จริงชนิดที่ไม่มีใครแย่งชิงไปจากเราได้
3. ในภาษากรีก คำ “พราอูส” ใช้เป็นคำตรงกันข้ามกับคำที่มีความหมายว่า “หยิ่งยโส” ความหมายประการสุดท้ายจึงได้แก่ “เป็นบุญของผู้ที่มีความสุภาพ รู้ว่าตัวเองไม่รู้ และรู้ว่าตัวเองอ่อนแอ” เพราะว่าเขาจะเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่คิดว่าตนเองรู้ทุกสิ่ง เขาจะไม่ยอมเรียนรู้หรือรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตเลย นอกจากนั้นเขายังจะเริ่มมีศาสนาที่แท้จริงอันเกิดจากความต้องการพระเจ้าซึ่งสามารถช่วยเขาผู้อ่อนแอได้
ความสุภาพอ่อนโยนที่ทำให้เราสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในตัวเราเองได้นี่แหละที่ทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้เสียแล้ว เราจะควบคุมผู้อื่นได้อย่างไร ดังเช่นกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ที่เมาจนควบคุมตัวเองไม่ได้และใช้หอกพุ่งใส่สหายรักจนเสียชีวิต เขาไม่สามารถครองใจประชาชนได้เลย อีกทั้งอาณาจักรของเขาก็ไม่ยั่งยืนอีกด้วย
ความหมายของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่รู้จักโกรธในเวลาที่สมควรโกรธ และไม่โกรธในเวลาที่ไม่สมควรโกรธ ผู้ที่สามารถควบคุมสัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และตัณหาของตัวเองเพราะว่าเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้า ตลอดจนผู้ที่มีความสุภาพที่จะตระหนักถึงความไม่รู้และความอ่อนแอของตนเอง เหตุว่าเขาผู้นั้นจะเป็นกษัตริย์ท่ามกลางมวลมนุษย์”

4. ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
ความหมายของคำใดคำหนึ่งจะลึกซึ้งหรือหนักแน่นเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทั้งของผู้พูดและผู้ฟัง
ทุกวันนี้ เรายังไม่เคยมีประสบการณ์เลยว่า ผู้ที่หิวอาหารหรือกระหายน้ำตายในประเทศไทยมีอาการอย่างไร !
แต่ในสมัยของพระเยซูเจ้า ค่าแรงขั้นต่ำของชนชั้นกรรมกรก็แทบไม่พอประทังชีวิตแต่ละวันอยู่แล้ว หากวันใดไม่มีคนจ้างงาน พวกเขาย่อมหมิ่นเหม่ต่อการอดตายเป็นอย่างยิ่ง
และในระหว่างเดินทาง หากพวกเขาพบพายุทราย สิ่งเดียวที่พวกเขาจะทำได้คือเอาเสื้อปกคลุมตัวเองไว้แล้วหันหลังให้พายุพร้อมกับรอ ขณะที่ลมก็จะพัดทรายเข้าจมูกและคอของพวกเขาจนแสบและหายใจแทบไม่ออก ตอนนี้แหละที่พวกเขาจะตระหนักดีว่าการอดน้ำตายเป็นอย่างไร
ความหิวและกระหายที่ความสุขประการนี้กล่าวถึงจึงไม่ใช่ความหิวและกระหายแบบบ้านเรา ที่ได้ก๋วยเตี๋ยวสักชามหรือโอเลี้ยงสักแก้วก็อิ่มแล้ว แต่เป็นความหิวชนิดที่ถ้าไม่มีอาหารตกถึงท้องจะต้องอดตายแน่ และเป็นความกระหายชนิดที่ถ้าไม่ได้ดื่มน้ำสักแก้วจะต้องกระหายน้ำตายแน่
ความหมายของความสุขประการนี้จึงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของความหิวกระหาย เราจึงควรถามตัวเองว่า “เราต้องการความชอบธรรมมากเพียงใด มากเท่าคนที่กำลังหิวตายต้องการอาหาร หรือมากเท่าคนที่กำลังกระหายน้ำตายต้องการน้ำหรือไม่ ?”
แม้ความสุขประการนี้จะเรียกร้องให้เราแสวงหาความดีและความชอบธรรมอย่างเข้มข้นสุด ๆ จนหลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะปฏิบัติตามได้จริงหรือ แต่ก็ยังมีความบรรเทาใจที่ว่า “เป็นบุญของผู้ที่ใฝ่หา (กระหาย) ความดี ไม่ใช่เป็นบุญของผู้ที่บรรลุความดีแล้ว” ดังนั้น แม้เราจะผิดพลาดซ้ำซากจนรู้สึกท้อแท้ แต่หากเรายังใฝ่หาความดีอยู่ก็เป็นบุญของเราแล้ว เหมือนกษัตริย์ดาวิดที่แม้จะสังหารผู้คนเป็นจำนวนมากในการรบ แต่หัวใจของพระองค์ก็ไม่เคยหยุดคิดที่จะทำดีด้วยการสร้างพระวิหารถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าเลย
สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ในภาษากรีก คำกริยาจำพวก “หิว” และ “กระหาย” มักตามด้วย genitive case คือคำที่แสดงความเป็นเจ้าของ เวลาแปลเป็นไทยมักมีคำว่า “ของ” นำหน้า ในทางภาษาศาสตร์เรียกว่า partitive genitive ซึ่งหมายถึงเป็นเจ้าของเพียงบางส่วน เพราะฉะนั้นเวลาชาวกรีกต้องการพูดว่า “ฉันกระหายน้ำ” พวกเขาต้องพูดว่า “ฉันกระหายบางส่วนของน้ำ” กล่าวคืออยากได้น้ำเพียงส่วนเดียว ไม่ใช่ทั้งบ่อหรือทั้งไห
แต่ในกรณีของความสุขประการนี้ มัทธิวใช้คำ “ความชอบธรรม” ในรูปแบบของ accusative case ซึ่งเทียบได้กับ “กรรมตรง” (direct object) ในภาษาไทย
หมายความว่าความสุขประการนี้นอกจากจะเรียกร้องให้เราแสวงหาความชอบธรรมแบบสุด ๆ แล้ว ยังเรียกร้องให้เราแสวงหาความชอบธรรมแบบครบครันหรือแบบทั้งครบด้วย ไม่ใช่ทำดีแต่เพียงบางส่วน
ตัวอย่างคนทำดีบางส่วนเช่น คนที่มีศีลธรรมอันสูงส่ง มีความซื่อสัตย์ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป แต่ไม่มีใครกล้าเข้าพบหรือบอกเล่าความในใจ เพราะเขาเป็นคนเย็นชา ขาดมนุษยสัมพันธ์ หรือขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น
หรือคนขี้เหล้าเมายา ชอบเล่นการพนัน ที่พร้อมจะหยิบเหรียญบาทสุดท้ายในกระเป๋าของตนออกมาเพื่อทำบุญแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ก็เป็นคนดีเพียงบางส่วนเช่นกัน
เราอาจสรุปความหมายของความสุขประการนี้ได้ว่า
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ สำหรับคนที่ปรารถนาความชอบธรรมทั้งครบ เหมือนคนใกล้อดตายปรารถนาจะได้อาหาร หรือเหมือนคนใกล้กระหายน้ำตายปรารถนาจะได้น้ำ เหตุว่าเขาจะอิ่มหนำจริง ๆ”

5. ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
หลักการที่ว่า “ผู้ที่เมตตาผู้อื่นย่อมจะได้รับความเมตตาจากพระเจ้า” นั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพระธรรมใหม่ ตัวอย่างเช่น “ผู้ใดที่ไม่แสดงความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ จะถูกพิพากษาโดยปราศจากความเมตตากรุณา” (ยก 2:13) หรือในบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทรงสอนว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน” (มธ 6:12, 14-15)
คำ “เมตตา” ตรงกับภาษาฮีบรู chesedh (เขะเส็ด) ซึ่งหมายถึง “ความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในผู้อื่น แล้วมองด้วยสายตาของผู้อื่น คิดด้วยความคิดของผู้อื่น และรู้สึกด้วยความรู้สึกของผู้อื่น”
ตัวอย่างของผู้ที่มีความเมตตาสูงสุดคือองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรานั่นเอง พระองค์ทรงส่งพระบุตรแต่เพียงองค์เดียวลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อพระองค์จะได้มองแบบมนุษย์ คิดแบบมนุษย์ และรู้สึกแบบมนุษย์
เรียกว่าพระเจ้าทรงรู้จักและเข้าใจชีวิตมนุษย์อย่างถ่องแท้ พระองค์จึงสามารถช่วยเราได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม
และความเมตตาแบบนี้นี่แหละที่ช่วยให้เราดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะเราแคร์และคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นก่อนคิดถึงความรู้สึกของตนเอง
นอกจากนี้ ความเมตตายังช่วยให้เรา
1. ไม่เมตตาผู้อื่นอย่างผิด ๆ ดังเช่น เมื่อครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงแวะพักที่บ้านของมาร์ธาและมารีอา (ลก 10:38-42) ก่อนเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการตรึงกางเขน สิ่งเดียวที่พระองค์ต้องการคือการพักผ่อนให้หายเครียด จริงอยู่ทั้งมาร์ธาและมารีอาต่างรักพระองค์และต้องการต้อนรับพระองค์อย่างดีที่สุด แต่มีเพียงมารีอาเท่านั้นที่ต้อนรับพระองค์ด้วยใจเมตตา และรู้ว่าพระองค์ทรงประสงค์สิ่งใด
2. อดทนและให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายขึ้น เพราะมีหลักการอยู่ข้อหนึ่งซึ่งเรามักหลงลืมกันคือ ไม่ว่าใครจะคิดหรือทำอะไรก็ตาม เขาย่อมมีเหตุผลของเขาเสมอ และหากเราเข้าถึงเหตุผลของเขาได้ เช่นเขาทำเช่นนั้นเพราะกำลังกังวลหรือเจ็บปวด มีคนอื่นใส่ไฟ เขาเป็นลูกคนเดียวพ่อแม่เลยตามใจมาตลอด เขาเคยอกหักมาก่อน ฯลฯ เราก็จะอดทนและให้อภัยเขาได้ง่ายขึ้น
ความหมายของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่สามารถเข้าไปอยู่ในผู้อื่นจนกระทั่งสามารถมองด้วยดวงตาของพวกเขา คิดด้วยความคิดของพวกเขา และรู้สึกด้วยความรู้สึกของพวกเขา เหตุว่าผู้อื่นก็จะปฏิบัติต่อเขาเช่นเดียวกัน และเขายังจะได้รับรู้อีกว่า นี่คือสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำในองค์พระเยซูคริสตเจ้า”

6. ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
คำ “บริสุทธิ์” ตรงกับภาษากรีก katharos (คาธารอส) ซึ่งมีการใช้ดังต่อไปนี้
1. หมายถึง “สะอาด” เช่น เสื้อผ้าสะอาด จานสะอาด
2. หมายถึง “แยกแยะ” เช่น ฝัดข้าว (กระพือข้าวหรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อให้แกลบ รำ หรือผงแยกออกไป) หรือใช้เพื่อหมายถึงการคัดแยกทหารดีออกจากทหารเลว
3. ใช้ควบกับคำคุณศัพท์อื่นเพื่อหมายถึง “ไม่เจือปน” เช่น นมหรือเหล้าองุ่นที่ไม่มีน้ำผสม โลหะแท้ที่ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน เป็นต้น
ความหมายเบื้องต้นของความสุขประการนี้จึงได้แก่ “ผู้มีแรงจูงใจอันบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งอื่นเจือปน ย่อมเป็นสุข เหตุว่าเขาจะเห็นพระเจ้า”
ความสุขประการนี้จึงเรียกร้องให้เราแต่ละคนสำรวจมโนธรรมของตนเองอย่างเข้มข้น
- เรารับใช้พระเจ้าอย่างไม่เห็นแก่ตัวหรือเพราะอยากเด่นอยากดังกว่าคนอื่น ?
- เราไปวัดเพราะอยากพบพระเจ้าหรือเพราะถูกบังคับโดยบทบัญญัติ ?
- เราสวดภาวนาและอ่านพระคัมภีร์เพราะต้องการสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าหรือเพราะอยากเท่ห์กว่าคนอื่น ?
ยังมีหลักการอีกข้อหนึ่งคือ “คนเราเห็นสิ่งที่ตนเองสามารถเห็นได้เท่านั้น” เช่นในคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาว สิ่งที่เราเห็นคือแสงระยิบระยับของดวงดาว และนั่นคงเป็นสิ่งเดียวที่เราพึงเห็นหรือพึงเข้าใจได้ ตรงข้ามกับผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ นอกจากพวกเขาจะเห็นแสงระยิบระยับแบบเราแล้ว เขายังสามารถเรียกชื่อดวงดาวต่าง ๆ ได้ สามารถแบ่งแยกดวงดาวออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ หรือเห็นดวงดาวอื่นที่เราไม่มีทางจะมองเห็นได้ เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักดาราศาสตร์มีความสามารถที่จะเห็นดวงดาวได้มากกว่าเรา
กับพระเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระองค์คือองค์ความบริสุทธิ์ ผู้ที่จะสามารถเห็นพระองค์ได้จึงต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์
ความหมายของความสุขประการนี้จึงได้แก่
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่มีแรงจูงใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากสิ่งเจือปน เหตุว่าสักวันหนึ่งเขาจะเห็นพระเจ้า”

7. ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
มี 3 ประเด็นที่จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของความสุขประการนี้ได้ดียิ่งขึ้น
1. คำ “สันติ” ตรงกับภาษาฮีบรู shalōm (ชาโลม) คำคำนี้ไม่เคยใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธดังเช่น “ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” เลย แต่หมายถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้คน ๆ หนึ่งบรรลุความดีขั้นสูงสุด”
การไม่มีโรคภัยเบียดเบียน โดยทั่วไปถือว่าดีมากแล้ว แต่สำหรับพระเยซูเจ้าแค่นี้ยังไม่พอ เพราะเราอาจไม่มีโรคภัยก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันเราอาจไม่มีเรี่ยวแรงหรือไม่มีความสามารถพอที่จะทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันเลยด้วยก็ได้
เพราะฉะนั้น “ไม่” อย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้อง “ดีที่สุด” ด้วย
2. พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เรา “สร้างสันติ” ไม่ใช่แค่ “รักสันติ”
หลายคนชอบอ้างว่าตัวเองรักสันติ จึงไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาใด ๆ เลย แบบนี้จะเรียกว่าเป็นผู้สร้างสันติไม่ได้ เพราะปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข มีแต่รอวันและเวลาที่จะระเบิดออกมา
ส่วนผู้ที่สร้างสันติที่แท้จริงจะต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา จัดการกับปัญหา และเอาชนะปัญหาให้ได้ แม้ว่าตัวเองจะต้องดิ้นรนและเจ็บปวดสักเพียงใดก็ตาม
3. ภาษาฮีบรูไม่ค่อยมีคำคุณศัพท์ จึงต้องเลี่ยงไปใช้คำว่า “บุตรของ”... หรือ “บุตรแห่ง”.... (son of…) แล้วตามด้วยคำนามแทน สำหรับชาวฮีบรู “บุตรแห่งความสว่าง” จึงหมายถึง “คนดี”, “บุตรของพระเจ้า” หมายถึง “เหมือนพระเจ้า” เป็นต้น
พระเจ้าคือผู้สร้างสันติ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “ขอพระเจ้าผู้ประทานสันติ สถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเทอญ” (รม 15:33) “จงดำเนินชีวิตอย่างสันติ แล้วพระเจ้าแห่งความรักและสันติจะสถิตอยู่กับท่าน” (2 คร 13:11)
ผู้ที่สร้างสันติจึงกำลังกระทำเหมือนพระเจ้า และดังนั้นเขาจึงได้ชื่อว่าเป็น “บุตรของพระเจ้า”
ในทางปฏิบัติ ผู้ที่สร้างสันติหมายถึง
1. ทุกคนที่มีส่วนทำให้โลกนี้ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น จนทุกคนที่อาศัยอยู่ในโลกนี้สามารถบรรลุความดีสูงสุดได้
2. ทุกคนที่มีสันติในจิตใจ ไม่มีความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันระหว่างความดีและความชั่วในจิตใจหรือวิญญาณของเขาอีกต่อไป
3. ทุกคนที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ใช่เข้าที่ไหนวงแตกที่นั่น หรือชอบสร้างความขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นอยู่ร่ำไป
ความหมายของความสุขประการนี้คือ
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เหตุว่าเขากำลังทำแบบพระเจ้า”

8. ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุขเมื่อถูกดูหมิ่นข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก เขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกที่อยู่ก่อนท่านดังนี้ด้วยเช่นกัน
ความสุขประการสุดท้ายนี้ แสดงให้เห็นความจริงใจของพระเยซูเจ้าแบบสุด ๆ พระองค์บอกกับผู้ที่สนใจจะติดตามพระองค์อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า พระองค์เสด็จมาไม่ใช่เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายขึ้น แต่มาเพื่อทำให้พวกเขายิ่งใหญ่และได้รับเกียรติมงคลแบบเดียวกับพระองค์
มีคริสตชนในสมัยเริ่มแรกจำนวนมากที่ได้ยืนหยัดอยู่เคียงข้างพระเยซูเจ้าอย่างน่าชื่นชม จนชีวิตของพวกเขาแทบไม่มีอะไรเหลือ
1. พวกเขาสูญเสียอาชีพและการงาน เช่น ช่างไม้ที่ถูกขอร้องให้สร้างวัดของคนต่างศาสนา หรือช่างตัดเสื้อที่ถูกขอร้องให้ตัดเย็บอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระต่างศาสนา พวกเขาไม่ลังเลเลยที่จะเลือกเอาพระเยซูเจ้ามากกว่าความอยู่รอดของธุรกิจ
2. พวกเขาสูญเสียฐานะทางสังคม ในสมัยโบราณงานเลี้ยงมักจัดในวิหารของเทพเจ้า เริ่มต้นด้วยการดื่มให้เกียรติแด่เทพเจ้า แล้วกินเนื้อที่เหลือจากการเผาถวายแด่เทพเจ้า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คริสตชนพึงกระทำ พวกเขาจึงต้องพร้อมอยู่ตามลำพังเพื่อจะเป็นคริสตชนที่สัตย์ซื่อ
3. พวกเขาสูญเสียครอบครัว สมาชิกในครอบครัวบางคนกลับใจมาเป็นคริสตชน บางคนไม่ยอมกลับใจ ครอบครัวของพวกเขาต้องแตกแยก แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะรักพระเยซูเจ้ามากกว่าภรรยาและบุตรซึ่งอยู่ใกล้ชิดเขามากที่สุดและเขาเองก็รักมากที่สุดด้วย
นอกจากนี้ พวกเขาจำนวนมากยังต้องทนทุกข์และพลีชีพเพื่อเป็นพยานยืนยันถึงพระเยซูเจ้า บางคนถูกโยนให้สิงโตกิน บางคนถูกเผาไฟทั้งเป็น บางคนถูกห่อด้วยผ้าเต็นท์ชุบน้ำมันแล้วจุดเป็นคบไฟในสวนของกษัตริย์เนโร บางคนถูกเย็บติดกับหนังสัตว์สด ๆ แล้วปล่อยให้สุนัขล่าเนื้อไล่ล่าจนตาย บางคนถูกคีมบีบ ถูกรมควัน ฯลฯ อีกมากมาย
สาเหตุของการถูกเบียดเบียนอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
1. การใส่ร้าย
1.1 จากคำที่ว่า “นี่คือกายของเรา นี่คือโลหิตของเรา...” พวกเขาถูกใส่ร้ายว่าฆ่าเด็กและกินเนื้อเด็ก
1.2 พวกคริสตชนเน้นความรัก และมี kiss of peace (พิธีแสดงความเป็นมิตรต่อกัน) จึงถูกใส่ร้ายว่าประพฤติผิดศีลธรรม มั่วเซ็กซ์
1.3 พวกเขาโดนข้อหาเป็นนักวางเพลิง เพราะชอบพูดถึงไฟล้างโลกอยู่บ่อย ๆ
1.4 พวกเขาถูกกล่าวหาว่าทำให้ครอบครัวแตกแยก
2. การเมือง
เนื่องจากอาณาจักรโรมันมีขนาดใหญ่มาก เพื่อทำให้พลเมืองเป็นหนึ่งเดียวกัน พวกเขาจึงถูกบังคับให้ถวายกำยานแด่ “เทพเจ้าซีซาร์” อย่างน้อยปีละครั้ง เมื่อได้หนังสือรับรองว่าได้ถวายกำยานแล้ว พวกเขาจึงสามารถนมัสการพระเจ้าที่พวกเขานับถือได้
อาชญากรรมอันใหญ่หลวงของคริสตชนจึงอยู่ที่ “การวางพระเยซูเจ้าไว้เหนือจักรพรรดิซีซาร์”
ทุกวันนี้ โอกาสที่จะ “พลีชีพ” เพื่อยืนยันความเชื่อในพระเยซูเจ้าคงไม่เกิดขึ้นง่ายหรือบ่อยนัก กระนั้นก็ตาม พระองค์ยังต้องการให้เราเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ด้วยการ “เจริญชีพ” ไม่ว่าจะด้วยการรักเพื่อนมนุษย์ การให้อภัยเพื่อนมนุษย์ หรือการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย แม้จะถูกคนอื่นค่อนขอดหรือเยาะเย้ยว่าโง่สักเพียงใดก็ตาม
อย่าลืมว่าแม้เราจะไม่มีโอกาส “พลีชีพ” เพื่อพระองค์ แต่เราสามารถ “เจริญชีพ” เพื่อเป็นพยานถึงพระองค์ได้เสมอ !

 

วันอาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา

วันอาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา

 

ข่าวดี   มาระโก 12:38-44

          (38)พระเยซูเจ้าตรัสกับประชาชนขณะที่ทรงสั่งสอนว่า “จงระวังบรรดาธรรมาจารย์ที่ชอบสวมเสื้อยาวเดินไปมา พอใจให้คนทั้งหลายคำนับตามลานสาธารณะ  (39)พอใจนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม พอใจนั่งที่หัวโต๊ะในงานเลี้ยง  (40)คนพวกนี้กินบ้านของหญิงม่าย และอธิษฐานภาวนายืดยาวเพื่อให้คนมอง คนเหล่านี้จะรับโทษหนักกว่าผู้อื่น”

 (41)ขณะที่พระองค์ประทับนั่งตรงหน้าตู้ทาน ทอดพระเนตรเห็นประชาชนใส่เงินลงในตู้ทาน  คนมั่งมีหลายคนใส่เงินจำนวนมาก  (42)หญิงม่ายยากจนคนหนึ่งเข้ามา  เอาเหรียญทองแดงสองเหรียญใส่ลงในตู้ทาน  (43)พระองค์จึงทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามาตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า หญิงม่ายยากจนคนนี้ได้ทำทานมากกว่าทุกคนที่ได้ใส่เงินลงในตู้ทาน  (44)เพราะทุกคนเอาเงินที่เหลือใช้มาทำทาน แต่หญิงคนนี้ขัดสนอยู่แล้ว ยังนำเงินทั้งหมด นำทุกอย่างที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาทำทาน”

 

************************

 

ตอนแรกของพระวรสารวันนี้กล่าวถึง “ข้อกล่าวหา” ที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อบรรดาธรรมาจารย์

ข้อกล่าวหาแรกคือ “บรรดาธรรมาจารย์ชอบสวมเสื้อยาวเดินไปมา” (ข้อ 38) เพราะพวกเขาเชื่อว่าเสื้อยิ่งยาวจนลากพื้นมากเท่าใด ยิ่งโดดเด่นและสะดุดตามากขึ้นเท่านั้น

เหตุผลของพวกเขาคือ ผู้ที่สวมเสื้อยาวลากพื้นย่อมไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ได้  จำเป็นต้องเดินเหินช้า ๆ แลดูสง่างาม  เพราะฉะนั้นผู้ที่จะสวมเสื้อยาวลากพื้นได้ ต้องเป็นผู้ว่างเว้นจากการงานและทรงเกียรติจริง ๆ เท่านั้น

นอกจากนั้น พระยาเวห์ตรัสสั่งโมเสสไว้ว่า “ท่านทั้งหลายและลูกหลานของท่านจะต้องทำพู่ห้อยไว้ที่มุมผ้าคลุมและใช้เชือกสีม่วงแดงเย็บติดไว้” (กดว 14:38) เพื่อเตือนใจชาวยิวให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์  แน่นอนว่าบรรดาธรรมาจารย์ต้องสวมพู่ห้อยที่ใหญ่สะดุดตาเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากเสื้อยาวลากพื้น (มธ 23:5) เพื่อเรียกร้องความสนใจและแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าพวกตนเคร่งครัดต่อบทบัญญัติมากสักเพียงใด

ข้อกล่าวหาที่สองคือพวกเขา “พอใจให้คนทั้งหลายคำนับตามลานสาธารณะ” (ข้อ 38) ดุจดัง “รับบี”

การที่พวกเขาทำตัวเป็น “รับบี” และสอนให้ประชาชนเรียก “รับบี” ซึ่งแปลว่า “ผู้ยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้า” ย่อมบ่งบอกได้ชัดเจนว่าพวกเขาหลงตัวเองมากขนาดไหน

ข้อกล่าวหาที่สามคือพวกเขา “พอใจนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม” (ข้อ 39) ซึ่งทุกแห่งจะมีตู้เก็บม้วนพระคัมภีร์หันหน้ามาทางสัตบุรุษเหมือนตู้ศีลในบ้านเรา  หน้าตู้พระคัมภีร์เป็นม้านั่งยาวสำหรับบุคคลสำคัญเป็นพิเศษ  ผู้ที่นั่งบนม้าที่ชาวยิวถือว่าเป็น “แถวหน้า” ตัวนี้จึงเป็นจุดรวมสายตาของทุกคนที่มาร่วมพิธีในศาลาธรรม

ข้อกล่าวหาที่สี่คือพวกเขา “พอใจนั่งที่หัวโต๊ะในงานเลี้ยง” (ข้อ 39)  ที่นั่งในงานเลี้ยงของชาวยิวจะถูกกำหนดไว้ตายตัวตามลำดับความสำคัญของแขกรับเชิญ  แขกสำคัญที่สุดจะนั่งข้างขวาของเจ้าภาพ  แขกสำคัญอันดับสองนั่งข้างซ้าย แล้วสลับฟันปลาลดหลั่นลงไปเรื่อย ๆ จนรอบโต๊ะ

หากต้องการทราบว่าแขกแต่ละคนมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ให้ดูตำแหน่งที่นั่งของพวกเขา  รับรองว่าไม่พลาดแน่นอน

ข้อกล่าวหาที่ห้าซึ่งถือว่าหนักหน่วงที่สุดคือ “คนพวกนี้กินบ้านของหญิงม่าย” (ข้อ 40)

โยเซฟุส ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวยิวและเป็นฟารีสีคนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า พวกฟารีสีเคยสมรู้ร่วมคิดกันหลอกลวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นโดยเฉพาะจากผู้หญิง

เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถรับค่าตอบแทนจากการสอนธรรมบัญญัติและกฎหมายต่าง ๆ ได้ ทุกคนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง  พวกเขาจึงสมรู้ร่วมคิดกัน“สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้ตัวเองโดยรวมหัวกันสอนว่า พวกเขาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเพราะรอบรู้และเชี่ยวชาญเรื่องธรรมบัญญัติของพระองค์  ดังนั้นจึงไม่มีหน้าที่ใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการเลี้ยงดู “รับบี” ให้ได้รับความสะดวกสบาย เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้ตำแหน่งในสวรรค์เลื่อนสูงขึ้น

ผลที่ตามมาคือผู้หญิงจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่ยากจนขัดสนอย่างเช่นหญิงม่าย ต้องแบกรับภาระหนักเลี้ยงดูจอมเจ้าเล่ห์พวกนี้ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน

ข้อกล่าวหาสุดท้ายที่ขึ้นชื่อลือชามากคือพวกเขา “อธิษฐานภาวนายืดยาวเพื่อให้คนมอง” (ข้อ 40) จนผู้คนพากันเยาะเย้ยว่าพวกเขาอธิษฐานวอนขอไม่ใช่จากพระเจ้าแต่จากมนุษย์ด้วยกันเอง  พวกเขาพยายามอธิษฐานภาวนาในสถานที่และด้วยลีลาท่าทางชนิดที่คนตาดีทุกคน ไม่มีทางพลาดโอกาสเห็นความศรัทธาแก่กล้าของพวกเขา

จากข้อกล่าวหาที่มีต่อบรรดาธรรมาจารย์ดังได้กล่าวมานี้  เราอาจสรุปสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาให้เรา “ละเว้น” ได้ 3 ประการด้วยกันคือ

1.       อยากเด่น  ยังคงเป็นความจริงอันน่าเศร้าตราบจนถึงทุกวันนี้ ที่คนจำนวนมากรับใช้พระเจ้าและประชากรของพระองค์ ไม่ใช่เพราะ “เสียสละ” แต่เพราะเห็นแก่ “อภิสิทธิ์” อันเกิดจากตำแหน่งและหน้าที่การงาน

          ยิ่งมีอภิสิทธิ์มากเท่าใด ดูเหมือนยิ่งดี เด่น ดัง มากเท่านั้น !

2.       อยากให้คนเคารพ  ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงย้ำอยู่เสมอว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง” (ลก 9:23) แต่แทบทุกคนก็ยังชอบให้ผู้อื่นเคารพยกย่องอยู่ดี

          ฤาษีศักดิ์สิทธิ์มากผู้หนึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการของอารามแห่งหนึ่ง  เมื่อเดินทางไปถึงอารามแห่งนั้น ด้วยความที่มีบุคลิกสุภาพถ่อมตน บรรดาฤาษีจึงมอบหมายให้ท่านทำหน้าที่ล้างจานในครัวเหมือนคนใช้ทั่วไป  ท่านน้อมรับหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งหรือบอกตำแหน่งของท่านให้ผู้ใดทราบ

                   เวลาล่วงเลยไปนานจนกระทั่งพระสังฆราชมาเยี่ยมอารามแห่งนั้น ความจริงจึงได้ปรากฏว่าคนล้างจานนั้นคือท่านอธิการผู้ศักดิ์สิทธิ์

          ตรงข้ามกับอธิการผู้ศักดิ์สิทธิ์คือผู้ที่เริ่มต้นตำแหน่งหน้าที่ของตนด้วยการเรียกร้องความเคารพจากผู้อื่น  การเริ่มต้นเช่นนี้ไม่ใช่หนทางของพระเยซูเจ้า และหากไม่เปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตแล้วไซร้ ย่อมยากเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นั้นจะเป็น “ผู้รับใช้” ของพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

3.       แสวงหาผลประโยชน์จากศาสนา  ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำมาหากินหรือเป็นบันไดไต่เต้าสำหรับตนเอง

 

นอกจากทรงห้ามใช้ศาสนาเป็นเครื่องแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนแล้ว  พระองค์ยังทรงเชิญชวนและท้าทายทุกคนให้ “ใจกว้าง” ต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์อีกด้วย

พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับคนแต่ละกลุ่ม  ชั้นนอกสุดเป็นลานสำหรับคนต่างศาสนา ถัดเข้ามาด้านในเป็นลานสำหรับผู้หญิงและเด็ก ตามด้วยลานสำหรับผู้ชาย และสำหรับพระสงฆ์ตามลำดับ

ที่ลานสำหรับผู้หญิงและเด็กมีตู้ทาน 13 ใบ เรียกชื่อตามรูปร่างของมันว่า “แตรเดี่ยว” (Trumpets)  แต่ละตู้มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น เพื่อซื้อข้าวโพด เหล้าองุ่น น้ำมัน ฯลฯ สำหรับใช้ในการถวายบูชาและเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันของพระวิหาร

พระเยซูเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นคนมั่งมีหลายคนใส่เงินจำนวนมากลงในตู้ทาน ที่สุดมีหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งเข้ามา นางใส่เหรียญทองแดงสองเหรียญลงในตู้ทาน (ข้อ 42)

เหรียญทองแดงมีค่าน้อยที่สุดในสมัยนั้น เปรียบได้กับเหรียญหนึ่งสตางค์ในบ้านเรา !

กระนั้นก็ตาม พระองค์ทรงชื่นชมการบริจาคของนางมากกว่าคนอื่น เพราะคนอื่นเอาเงินที่เหลือใช้มาทำทาน  แต่นางนำเงินทั้งหมดที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาทำทาน(ข้อ 43-44)

บทเรียนที่พระองค์ต้องการสอนเราคือ

1.       การบริจาคที่แท้จริงต้องเป็นการเสียสละ  จำนวนเงินที่บริจาคไม่สำคัญเท่ากับว่ามัน “มีค่า” ต่อผู้บริจาคมากน้อยเพียงใด

          พูดง่าย ๆ คือ จำนวนเงินบริจาคไม่สำคัญเท่ากับการเสียสละ  ผู้ที่ใจกว้างจริงจะบริจาคจนกระทั่งตัวเองเดือดร้อน

          นี่คือปัญหาใหญ่ของเรา ที่ทุกวันนี้เราทำงานรับใช้พระเจ้าโดยแทบจะไม่มีความเสียสละเจือปนอยู่เลย...

          มิหนำซ้ำ ยังมีน้อยคนนักที่พร้อมจะเสียสละความสุขส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ  เด็กกำพร้า  และผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ

          ที่สำคัญ ต้องถือว่าเป็นความเสื่อมของพระศาสนจักรที่ไม่สามารถ “ปลูกฝังความเสียสละ” ให้แก่สัตบุรุษจนต้องคะยั้นคะยอหรือต้องใช้รางวัลหลอกล่อให้บริจาคทาน

          คงมีน้อยคนที่ฟังพระวรสารวันนี้ได้ โดยไม่รู้สึกละอายใจแต่ประการใด !!!

2.       การบริจาคที่แท้จริงต้องกล้าได้กล้าเสีย  ดังเช่นหญิงม่ายยากจนที่อาจจะเก็บเหรียญทองแดงไว้หนึ่งเหรียญ ซึ่งแม้จะไม่มีค่ามากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย

          กระนั้นก็ตาม นางให้ทุกสิ่งที่มี !!!

          น่าเสียดายที่เราแทบทุกคน ยังมีชีวิตบางส่วน หรือมีกิจกรรมบางอย่าง ที่สงวนไว้กับตัวโดยมิได้มอบถวายแด่พระเยซูเจ้า

          เรายังไม่ “กล้าได้กล้าเสีย” หรือยังไม่เสียสละจนถึงที่สุดเหมือนหญิงม่าย !

 

ช่างน่าพิศวงและน่าชื่นชมมากสักเพียงใดที่พระเยซูเจ้าทรงวางหลักการเรื่อง “ความใจกว้าง” โดยอาศัยแบบอย่างของสตรีนางหนึ่งซึ่งบริจาคเงินเพียง 2 สตางค์

เพราะฉะนั้น เราอาจรู้สึกว่าตนเองไม่ร่ำรวยเงินทอง หรือไม่มีความสามารถมากพอที่จะถวายแด่พระคริสตเจ้าได้ นั่นไม่สำคัญ….

สิ่งที่สำคัญคือ หากเรากล้าได้กล้าเสีย “มอบทุกสิ่งที่มี” แด่พระองค์  พระองค์สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่เกินกว่าเราจะจินตนาการได้

เว้นแต่เราไม่กล้าแทงหมดหน้าตักเท่านั้น !!!

วันอาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา

วันอาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา

 

ข่าวดี   มาระโก 10:46-52

          (46)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์ ขณะที่พระองค์เสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมาก บารทิเมอัสบุตรของทิเมอัส คนขอทานตาบอดนั่งอยู่ริมทาง  (47)เมื่อได้ยินว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธกำลังเสด็จผ่านมา เขาเริ่มส่งเสียงร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิด เจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด”  (48)หลายคนดุเขาให้เงียบ แต่เขากลับตะโกนดังยิ่งกว่าเดิมว่า “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด”  (49)พระเยซูเจ้าทรงหยุด ตรัสว่า “ไปเรียกเขามาซิ” เขาก็เรียกคนตาบอดพลางกล่าวว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ ลุกขึ้น พระองค์กำลังเรียกเจ้าแล้ว”  (50)คนตาบอดสลัดเสื้อคลุมทิ้ง กระโดดเข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า  (51)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” คนตาบอดทูลว่า “รับโบนีให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด”  (52)พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า  “ไปเถิด ความเชื่อของท่านได้ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” ทันใดนั้น เขากลับแลเห็นและเดินทางติดตามพระองค์ไป

 

**********************

 

          นับจากนี้ไป จุดจบของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพราะจากเมืองเยริโคไปสู่กรุงเยรูซาเล็มมีระยะทางเพียง 24 กิโลเมตรเท่านั้น

          พระองค์กำลังเดินทางไปร่วมฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งย่อมต้องแวดล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในอิสราเอลที่ประชาชน ศิษย์ และผู้แสวงหาความรู้นิยมเดินตามรับบีหรืออาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเพื่อฟังคำสั่งสอนระหว่างเดินทาง

          กฎหมายยิวกำหนดให้ชายที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปและอาศัยอยู่ภายในรัศมี 24 กิโลเมตรรอบกรุงเยรูซาเล็มต้องไปร่วมฉลองปัสกา  แต่ในทางปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะถือตามกฎนี้ได้อย่างเคร่งครัด  สำหรับผู้ที่ไม่อาจไปร่วมฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มได้ พวกเขาจะยืนเรียงรายสองข้างทางเพื่อคอยอวยพรให้บรรดาผู้จาริกแสวงบุญเดินทางโดยสวัสดิภาพ

          นี่คือเหตุผลว่าทำไมมาระโกจึงเล่าว่า “พระองค์เสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมาก (ข้อ 46)

          นอกจากนี้ ยังพบบันทึกระบุว่า มีพระสงฆ์ประจำการที่พระวิหารประมาณ 20,000 คน แบ่งออกเป็น 26 ผลัดหมุนเวียนกันเข้าเวรทุกวันตลอดปี  แน่นอนว่าพระสงฆ์จำนวนมากขนาดนี้ย่อมไม่อาจพำนักอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มได้ทั้งหมด  ส่วนใหญ่ของผู้ที่ยังไม่เข้าเวรจึงต้องพักที่เมืองเยริโค  เส้นทางระหว่างเยริโคและเยรูซาเล็มจึงมีพระสงฆ์เดินทางไปมาอยู่เป็นประจำ

ดังนั้น ท่ามกลางฝูงชนที่ติดตามฟังคำสั่งสอน ย่อมต้องมีบรรดาพระสงฆ์ปะปนอยู่ด้วยเพื่อเฝ้าดูหนุ่มช่างไม้ชาวนาซาเร็ธ ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจอันล้นเหลือของบรรดาผู้นำทางศาสนาของชาวยิว ด้วยสายตาอันเย็นชาและไม่เป็นมิตรอย่างยิ่ง

เพราะหากพระเยซูเจ้าเป็นฝ่ายถูก พิธีกรรมที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มย่อมหมดความหมาย….

รวมทั้งตัวพระสงฆ์เองย่อมต้องหมดหนทางเลี้ยงชีพไปด้วย !

 

          ที่ประตูเมืองทางทิศเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม  มีชายตาบอดชื่อบารทิเมอัสนั่งขอทานอยู่ข้างทาง  ครั้นทราบว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธกำลังเสด็จผ่านมา เขาร้องตะโกนเรียกพระองค์ด้วยเสียงอันดังจนหลายคนต้องดุให้เขาเงียบเพื่อจะได้ยินคำสั่งสอนของพระองค์

          แต่พวกเขาทำไม่สำเร็จเพราะคนตาบอดกลับร้องเสียงดังยิ่งขึ้น  ไม่มีใครหยุดยั้งเขามิให้พบกับพระองค์ได้  เขาเชื่อมั่นว่าพระองค์คือผู้เดียวที่สามารถช่วยเขาให้หลุดพ้นจากโลกแห่งความมืดมิดนี้ได้ !

          จากพฤติการณ์ของคนขอทานตาบอด  เราได้พบเห็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “เงื่อนไขแห่งอัศจรรย์” ดังต่อไปนี้

          1.       ความมุ่งมั่น  เมื่อบารทิเมอัสทราบว่าผู้ที่กำลังผ่านมาคือพระเยซูเจ้า เขาตัดสินใจเด็ดขาดที่จะพบพระองค์ให้จงได้ เพราะมั่นใจว่ามีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ยากได้

          เมื่อตัดสินใจแล้ว ไม่มีใครหรืออะไรสามารถหยุดยั้งเขาได้ !

                   ความมุ่งมั่นที่จะพบพระเยซูเจ้าของเขาไม่ได้เกิดจากความหวังอันเลื่อนลอย หรือความหวังลม ๆ แล้ง ๆ หรือเป็นเพียงความตื่นเต้นที่จะได้พบคนเด่นคนดัง

          แต่เป็นความมุ่งมั่นที่ออกมาจาก “หัวใจของคนที่สิ้นหวังชนิดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้”

                   ความหวังเดียวที่เหลืออยู่คือ “ความวางใจในความช่วยเหลือของพระเจ้า”

                   ความมุ่งมั่นอันเกิดจากความวางใจอย่างเต็มเปี่ยมนี่เองที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี !!

          2.       ตอบเสียงเรียกทันที  เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสเรียกบารทิเมอัส เขา “สลัดเสื้อคลุมทิ้ง กระโดดเข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า” (ข้อ 50) ด้วยความกระตือรือร้นทันที

                   บารทิเมอัสรู้โดยสัญชาติญาณว่า โอกาสทองเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตโดยไม่มีทางหวนกลับมาหาอีก เขาจึงกระโดดเข้าหาพระองค์อย่างรวดเร็วราวกับกระสุนปืน

                   แต่น่าเสียดายที่พวกเราหลายคนกลับประพฤติตรงกันข้าม  เมื่อได้ยินเสียงเรียกจากพระองค์ แทนที่จะรีบตอบในทันที กลับประวิงเวลาไว้ “รอให้ข้าพเจ้าทำสิ่งนี้เสร็จก่อนได้ไหม ?” หรือ “รอให้ข้าพเจ้าพร้อมกว่านี้ไม่ได้หรือ ?”

          หลายครั้งพระองค์ทรงดลใจเราให้ปรับปรุงตนเอง  ให้แก้ไขนิสัยไม่ดีต่าง ๆ  หรือให้ถวายตนรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์มากขึ้น  แต่เรากลับปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดลอยไป

            โอกาสซึ่งอาจไม่หวนกลับมาหาเราอีกเลย !!!

3.       รู้ความต้องการ  เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” เขาทูลว่า “รับโบนีให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด” (ข้อ 51)

          เขารู้และระบุความต้องการของตนเองได้คือ “การแลเห็น”

          แต่พวกเราหลายคนกลับเข้าหาพระเยซูเจ้าโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการอะไร เข้าตำราปล่อยให้ “ฟ้าลิขิต” อย่างเดียวโดยที่ไม่เคยคิดจะมีส่วนร่วมในการ “ลิขิตชีวิต” ของตนเองด้วยแต่ประการใด

          มีบ้างไหมที่เราไปหาทันตแพทย์ แล้วปล่อยให้หมอ “ลิขิตฟัน” ของเราคือจะถอนซี่ไหนก็ได้ ?  เราควรต้องรู้และบอกหมอได้ชัดเจนมิใช่หรือว่าฟันซี่ไหนเป็นปัญหา !

          กับพระเยซูเจ้าก็เช่นกัน เราต้องทูลขอพระองค์ให้ชัดเจนว่าเราต้องการความช่วยเหลืออะไรจากพระองค์

                   โดยเฉพาะ “ความกล้าหาญที่จะพิจารณาตนเอง” นั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรทูลขอจากพระองค์เป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว !

          4.       ความเชื่อ  บารทิเมอัสร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิด เจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (ข้อ 47 และ 48)

                   เขาเรียกพระองค์เป็น “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” ซึ่งเป็นสมญานามของพระเมสสิยาห์ก็จริง แต่เป็นสมญานามที่แฝงความหมายของการเป็นนักรบนองเลือดที่จะพิชิตโลก และนำพาชนชาติอิสราเอลไปสู่ความยิ่งใหญ่เหมือนยุคสมัยของกษัตริย์ดาวิดอีกครั้งหนึ่ง

                   นั่นคือ บารทิเมอัสยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าไม่ถูกต้องนัก

                   อย่างไรก็ตาม แม้ความเข้าใจจะไม่ถูกต้อง แต่เขามี“ความเชื่อ”  และความเชื่อของเขาได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดผลมากกว่าความรู้ความเข้าใจเป็นร้อยเท่า พันเท่า

                   จริงอยู่เราจำเป็นต้อง “คิด” และต้องสอนผู้อื่นให้รู้จัก “คิด” ด้วย  แต่เราไม่จำเป็นต้องคาดหวังหรือเรียกร้องให้คน ๆ หนึ่งกลายเป็นนักเทวศาสตร์ก่อนเป็นคริสตชน

          เพราะเราไม่มีทางรู้และเข้าใจพระเยซูเจ้าได้ทั้งหมด !

            ขอเพียงให้เรา “รัก” และ “เชื่อ” ว่าพระองค์คือ “ผู้ที่ตอบสนองความต้องการของเราได้”  เท่านี้ก็เกินพอแล้ว…..

          5.       ความกตัญญู  ทั้ง ๆ ที่บารทิเมอัสเป็นเพียงคนขอทานข้างถนน แต่หัวใจของเขากลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูรู้คุณคน

          เมื่อ “เขากลับแลเห็น” เขา “เดินทางติดตามพระองค์ไป” (ข้อ 52) แทนที่จะตีจากพระองค์ไปด้วยความเห็นแก่ตัว

 

            นี่คือบทสรุปของขั้นตอนในการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้า

เริ่มต้นด้วย ความต้องการ

                   ตามด้วย ความกตัญญู

                   และอยู่ด้วย ความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระองค์ บัดนี้ และตลอดไป !!!!!

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown