มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

วาติกันรับรองความศรัทธาแบบไม่มีอุปสรรคขัดขวางต่อพระแม่แห่งความเมตตา ณ สักการะสถานเปลเลอวัวซิน ฝรั่งเศส (Vatican approves devotion to Our Lady of Mercy at Shrine of Pellevoisin, France)

 

วาติกันรับรองความศรัทธาแบบไม่มีอุปสรรคขัดขวางต่อพระแม่แห่งความเมตตา ณ สักการะสถานเปลเลอวัวซิน ฝรั่งเศส (Vatican approves devotion to Our Lady of Mercy at Shrine of Pellevoisin, France)

     สมณสภาเพื่อข้อความเชื่อ (Dicastery for the Doctrine of the Faith) ประกาศว่า “ไม่มีอุปสรรคขัดขวาง” (nihil obstat) ที่นำเสนอโดย พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลบูร์ช กรณีความศรัทธาที่มีต่อพระแม่แห่งความเมตตาในเมืองเล็ก ๆ ของฝรั่งเศส ซึ่งในปี 1876 มีหญิงสาวผู้น่าสงสารคนหนึ่งชื่อ “เอสเทล ฟาแกตต์” (Estelle Faguette) ได้มีประสบการณ์การประจักษ์มาของแม่พระหลายครั้ง “แม้ว่าจะไม่ใช่แนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน” ของสมณสภาเพื่อข้อความเชื่อ “ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะเหนือธรรมชาติหรือต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์

     ของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในสำนวนที่นำเสนอเรื่องราวของเอสเทลที่อ้างว่าได้รับมาจากพระแม่มารีย์มีคุณค่าพิเศษ ทำให้เราได้มองเห็นการกระทำของพระจิตเจ้าท่ามกลางประสบการณ์ทางจิตวิญญาณนี้” จดหมายรับรองฉบับนี้ ถูกส่งไปยังพระอัครสังฆราชเจอโรม ดาเนียล โบ แห่งอัครสังฆมณฑลบูร์ช (Archbishop Jérôme Daniel Beau of Bourges) ประเทศฝรั่งเศส และได้รับอนุมัติจากพระสันตะปาปาฟรังซิสในวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2024

 

 

ความศรัทธาที่แนะนำ (A recommended devotion)

     ในจดหมายรับรองนี้ สมณมนตรีแห่งสมณสภาเพื่อข้อความเชื่อยืนยันว่าไม่เพียงแต่ “ไม่มีคำคัดค้านใด ๆ สำหรับหลักคำสอน ศีลธรรม หรือข้อคัดค้านอื่น ๆ ต่อเหตุการณ์ทางจิตวิญญาณนี้” และผู้ที่มีความเชื่อ “ได้รับอนุญาตให้เชื่อในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ” (บรรทัดฐาน ข้อ 22 § 1) “ส่วนผู้ที่ยังไม่เชื่อก็มีอิสระที่เชื่อหรือไม่ก็ได้” พระคาร์ดินัลเฟอร์นันเดซกล่าวว่า ความศรัทธาต่อแม่พระแห่งความเมตตา ได้ดำเสนอ "เส้นทางแห่งความเรียบง่ายฝ่ายวิญญาณแห่งความไว้วางใจและความรัก" ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดผลดีมากมาย และจะ "เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนจักรทั้งหมดอย่างแน่นอน"

 

 

จดหมายของเอสเทลถึงพระนางมารีย์ (Estelle's letter to the Blessed Virgin)

     เอสเทลเกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1843 ในครอบครัวที่ยากจนมาก เพื่อเลี้ยงตัวเองและพ่อแม่ ในตอนแรกเธอทำงานเป็นพนักงานซักผ้าจากนั้นเป็นสาวใช้
เธอป่วยหนักและใกล้จะเสียชีวิต เธอตัดสินใจเขียนจดหมายจากใจถึงพระแม่มารีย์เกี่ยวกับการรักษาของเธอ เพื่อที่เธอจะได้เลี้ยงดูพ่อแม่ที่ยากจนของเธอต่อไป
พระคาร์ดินัลเขียนถึงคำพูดของเธอในจดหมายว่า “เต็มไปด้วยความเรียบง่าย ชัดเจน และความอ่อนน้อมถ่อมตน” “เอสเทลเล่าถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความเจ็บป่วยของเธอ เธอไม่ได้กล่าวถึงความท้อแท้ฝ่ายจิตวิญญาณ หรือต้องการลาออกจากการเป็นคริสตชน ในทางตรงกันข้าม เธออธิบายถึงความพยายามภายในของเธอต่อความเจ็บป่วยที่เป็นอุปสรรคต่อแผนการชีวิตของเธอ” ท้ายที่สุด เธอยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระเจ้าเสมอ และต้องการเพียงช่วยพ่อและแม่ของเธอด้วยกำลังทั้งหมดที่เธอมีอยู่ “ความศรัทธาอย่างมีน้ำใจต่อผู้อื่น ชีวิตที่เคยดูแลผู้อื่น เป็นสิ่งที่ประทับใจหัวใจของพระนางมารีย์มากที่สุด พระนางรู้ดีว่า จะรับรู้ถึงความดีงามทั้งหมดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูดของเราได้อย่างไร”

 

 

การรักษาอย่างน่าอัศจรรย์ (Miraculous healing)

     หญิงสาวเล่าว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 1876 เมื่ออายุ 32 ปี การประจักษ์ครั้งแรกได้เริ่มขึ้น ในการประจักษ์ครั้งที่ 5 ตามที่พระมารดาทรงสัญญาไว้ เธอก็หายโรคอย่างสมบูรณ์ ในสารเหล่านี้ พระคาร์ดินัลตั้งข้อสังเกตว่า “ทุกสิ่งล้วนนำไปสู่พระเยซูเจ้า แม้แต่การรักษาของเอสเทลก็ไม่ได้เกิดจากพระนางมารีย์โดยตรง แต่เป็นเพราะพระเยซูเจ้าที่ได้ยินคำเสนอวิงวอนของแม่ของพระองค์” พระคาร์ดินัลเฟอร์นันเดซกล่าวย้ำถึงการรักษาดังกล่าวว่า "ได้รับการยืนยันว่าเป็นอัศจรรย์โดยพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล เมื่อวันที่ 8 กันยายน 1893 และได้รับความเห็นชอบจากสันตะสำนัก"

 

 

สารจากพระนางมารีย์ (Messages from Mary)

     ในสารของเธอ พระนางมารีย์มีท่าทีต่อเอสเทลด้วยความใกล้ชิดและความอ่อนโยน ด้วยคำพูดที่ให้กำลังใจว่า "อย่ากลัวเลย เธอคือลูกสาวของฉัน" "ถ้าคุณต้องการรับใช้ฉัน จงเรียบง่าย" "กล้าหาญ" "ฉันจะอยู่ใกล้เธอแม้ว่าเธอจะไม่สามารถมองเห็น [...] เธอไม่มีอะไรต้องกลัว" "ฉันเลือกผู้ที่เล็กน้อยและผู้อ่อนแอเพื่อความรุ่งโรจน์ของฉัน" และพระมารดาได้เตือนสติเธอให้พบความสงบว่า "ลูกสาวของฉันใจเย็น ๆ อดทนหน่อยนะ เธอจะลำบาก แต่ฉันอยู่ตรงนี้" "ฉันอยากให้เธอสงบกว่านี้ [...] เธอต้องพักผ่อน” คำเชื้อเชิญของแม่พระนี้ยังขยายไปถึงพระศาสนจักรด้วย เมื่อเธอกล่าวว่า "ในพระศาสนจักร ไม่มีความสงบอย่างที่ฉันปรารถนา"

 

 

การประจักษ์มาอย่างเงียบๆ (A silent presence)

     อย่างไรก็ตาม "มากไปกว่าคำพูดสองสามคำของพระนางมารีย์ สิ่งที่น่าทึ่งคือการปรากฏตัวอย่างเงียบ ๆ ของเธอ เป็นความเงียบอันยาวนานที่พระนางได้จ้องมองเพื่อช่วยรักษาด้านจิตวิญญาณ" เอสเตลได้เขียนจดหมายเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "ข้าแต่พระเจ้าของฉัน เธอช่างงดงามเหลือเกิน! เธออยู่นิ่งอยู่นานโดยไม่พูดอะไรเลย [...] หลังจากความเงียบนี้ เธอก็มองมาที่ฉัน ฉันไม่รู้ว่าฉันจะบรรยายความรู้สึกนี้ว่าอย่างไร ฉันรู้สึกมีความสุขจริง ๆ!” “เธอไม่ได้พูดอะไร จากนั้นเธอก็มองมาที่ฉันด้วยสายตาที่ใจดีมากและจากไป” “เธอยังคงมองมาที่ฉันและส่งยิ้มให้” “ช่างงดงามและอ่อนหวานจริง ๆ!” “การจ้องมองของเธอช่างสุภาพและเมตตาอะไรเช่นนี้!”

 

 

สายจำพวกที่มีรูปพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า (The Scapular with the Image of the Heart of Christ)

     “ประสบการณ์ที่เมืองเพลเลอวัวซิน เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระนางมารีย์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของเทววิทยาพระคริสตเจ้าอย่างมากด้วย”
ด้วยเหตุนี้ “คำร้องขออันยิ่งใหญ่ของพระแม่มารีที่มีต่อเอสเทลก็คือ ให้นางเผยแพร่สายจำพวกที่มีรูปพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า และข้อความที่สำคัญของพระนางมารีย์คือ การเชื้อเชิญให้หันไปหาพระหฤทัยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักของพระเจ้า” “ขณะที่พระนางมารีย์ได้แสดงสายจำพวกที่มีรูปพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้าให้เอสเทลเห็น พระแม่มารีย์ได้พูดว่า ‘เป็นเวลานานแล้วที่สมบัติของพระบุตรของข้าพเจ้าเปิดออก [...] ข้าพเจ้ารักความศรัทธานี้’"

     เอสเทลยอมรับคำขอร้องจากแม่พระนี้ เพื่อเผยแพร่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า “หัวใจของคริสตชนไม่เคยเย็นชา มันช่วยให้ตัวเองสัมผัสได้ถึงคำวิงวอนที่จริงใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพระแม่เป็นผู้สัมผัสหัวใจของเรา” ชีวิตของเอสเทลเต็มไปด้วยความสุภาพถ่อมตนท่ามกลางการทดลอง การกล่าวหา และการใส่ร้ายมากมาย ในปี 1923 เธอได้ถวายตัวเข้าสู่การเป็นสมาชิกของคณะโดมินิกันชั้นที่ 3 และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1929 เอสเทลได้เสียชีวิตในเมืองเปลเลอวัวซิน อายุเกือบ 86 ปี

 

 

อำนาจของพระสันตะปาปา (Papal authorizations)

     พระสันตะปาปาหลายพระองค์ทรงอนุญาตให้แสดงความศรัทธาต่อ “พระแม่แห่งความเมตตา” หรือ “พระมารดาผู้ทรงเมตตาทุกประการ” ได้ ในปี 1982 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงพระราชทานพระคุณการุณย์แก่ผู้ที่มาแสวงบุญที่เพลเลอวัวซิน และในปี 1900 พระองค์ทรงยอมรับสายจำพวกที่มีรูปพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ในปี 1915 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ทรงรับสายจำพวกและตรัสว่า "พระแม่มารีย์ทรงเลือกเพลเลอวัวซินให้เป็นสถานที่พิเศษในการเผยแพร่พระหรรษทานของพระองค์" ในปี 1922 ได้มีพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อขอบพระคุณพระนางมารีย์ในวัดเปลเลอวัวซินในวันที่ 9 กันยายนอย่างเป็นทางการ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “ได้มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับพระพรที่ได้รับอาศัยความเชื่อและความรักความเมตตา ณ สักการะสถานแห่งนี้”

 

 

 

 

 

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown