บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2025 สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- ฮิต: 21
พี่น้องครับ ครึ่งแรกของพระวรสารวันนี้ นักบุญยอห์นเขียนเพิ่มเข้ามาเพื่อยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงภาพลวงตาหรือวิญญาณของผู้ตายปรากฏมาเท่านั้น โดยยอห์นให้เหตุผลว่า
ภาพลวงตาคงไม่สามารถชี้ฝูงปลาพร้อมกับสั่งเปโตรว่า “จงเหวี่ยงแหไปทางกราบเรือด้านขวาซิ แล้วจะได้ปลา” (ยน 21:6)
ภาพลวงตาคงไม่สามารถก่อไฟจนถ่านลุกแดงที่ชายฝั่งทะเลได้ (ยน 21:9)
ภาพลวงตาคงไม่สามารถย่างปลาและปิ้งขนมปังได้ (ยน 21:9)
และภาพลวงตาคงไม่สามารถแจกขนมปังและปลาให้แก่บรรดาศิษย์ได้ (ยน 21:13)
ส่วนครึ่งหลังของพระวรสาร เป็นการสนทนาระหว่างพระเยซูเจ้ากับเปโตร
ผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์หลายคนเรียกการสนทนานี้ว่า “การสารภาพของเปโตร”
คือเป็นทั้งการสารภาพความเชื่อที่เปโตรมีต่อพระเยซูเจ้า และในเวลาเดียวกันก็เป็นการสารภาพความผิดที่เปโตรได้ปฏิเสธพระองค์ด้วย
จริงๆ แล้วเป็นการง่ายที่จะมองว่าคำตอบของเปโตรทั้งสามครั้งเป็นการยืนยันถึงความเชื่อและความรักที่ท่านมีต่อพระเยซูเจ้า แต่ไม่ง่ายเลยที่จะมองว่าการสนทนาครั้งนี้เป็นการสารภาพความผิดของเปโตร เพราะภาษาของเราใช้คำว่า “รัก” ทั้งที่เป็นคำถามของพระเยซูเจ้า และที่เป็นคำตอบของเปโตร เหมือนกันทั้งหมด นั่นคือ...
พระเยซูเจ้าถามเปโตรว่า “ท่านรักเราไหม”
เปโตรก็ตอบทุกครั้งว่า “ข้าพเจ้ารักพระองค์”
แต่ถ้าเราดูต้นฉบับซึ่งเป็นภาษากรีก เราจะพบว่าเปโตรไม่ได้ตอบตามที่พระเยซูเจ้าถาม
ตามต้นฉบับ พระเยซูเจ้าถามเปโตรว่า “Agapas me?” ซึ่งแปลว่า “ท่านมีความรักต่อเราแบบอากาเป อันเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักที่พร้อมจะเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตนเองเพื่อผู้อื่น ซึ่งอาจไม่สมควรจะได้รับด้วยซ้ำไปหรือไม่?” แต่เปโตรรู้ตัวดีว่าไม่สามารถรักตามมาตรฐานนี้ได้ เพราะท่านเคยปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระองค์มาก่อนเพื่อจะได้รักษาชีวิตของตนเองไว้ เปโตรจึงตอบพระองค์ว่า “philō se” ซึ่งแปลว่า “ใช่ ข้าพเจ้ารักพระองค์แบบฟีเลีย อันเป็นความรักและความชื่นชมอย่างลึกซึ้งที่ข้าพเจ้ามีต่อพระองค์ เหมือนอย่างที่มีต่อมิตรสหายที่ใกล้ชิดที่สุด”
นี่คือการสารภาพผิดของเปโตร เปโตรกำลังบอกพระเยซูเจ้าว่า “ใช่ ข้าพเจ้าชื่นชมพระองค์ แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถรักชนิดที่พร้อมจะเสียสละชีวิตของตนเองตามที่พระองค์ทรงเรียกร้องได้”
ครั้งที่สอง พระเยซูเจ้าก็ทรงถามเหมือนครั้งแรก และเปโตรก็ยืนกรานตอบเหมือนครั้งแรกเช่นกัน
ที่สุด พระเยซูเจ้าไม่ต้องการทำให้เปโตรอึดอัด พระองค์จึงถามเปโตรครั้งที่สามว่า “phileis me - ท่านรักเราแบบฟีเลียไหม?” และเปโตรก็ตอบแบบเดิมคือ “philō se - ใช่ ข้าพเจ้ารักพระองค์แบบฟีเลีย”
นั่นคือ พระองค์ทรงยอมรับเปโตรอย่างที่เปโตรเป็น อย่างน้อยความรักแบบฟีเลียก็ยังดีกว่าความเห็นแก่ตัว
พี่น้องครับ เราจะเห็นว่าเปโตรไม่ใช่คนประเภทชอบคุยโตโอ้อวดว่าตนเหนือกว่าอัครสาวกคนอื่นๆ แต่เปโตรเป็นคนที่ฉลาดและสุภาพถ่อมตนที่ไม่อวดอ้างเกินกว่าที่ตัวท่านเองจะทำได้
มาระโกเล่าว่าเมื่อครั้งที่พ่อของเด็กคนหนึ่งที่ถูกปีศาจใบ้สิงมาขอให้พระเยซูเจ้าช่วย เขาทูลพระองค์ว่า “ถ้าพระองค์ทำได้ ก็กรุณาช่วยด้วยเถิด” พระองค์จึงตรัสว่า “ถ้าทำได้น่ะหรือ ทุกสิ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับผู้มีความเชื่อ” เขาจึงสารภาพกับพระเยซูเจ้าว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ โปรดช่วยความเชื่ออันเล็กน้อยของข้าพเจ้าด้วยเถิด” (มก 9:24) จากบทสนทนาในพระวรสารวันนี้ เปโตรก็กำลังสารภาพกับพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกันว่า “ข้าพเจ้ารักพระองค์ โปรดช่วยความรักอันเล็กน้อยของข้าพเจ้าด้วยเถิด”
พี่น้องครับ ในพิธีกรรมต่างๆ เรามักจะร้องเพลงที่แสดงว่าเรารักพระเยซูเจ้าอยู่บ่อยๆ เช่น “รักพระองค์ชื่นอยู่ในวิญญาณ” แต่แบบอย่างของเปโตรวันนี้ ควรจะทำให้เราตระหนักว่าเพลงเหล่านี้เป็นแค่ด้านเดียวของชีวิตของเรา ยังมีอีกด้านหนึ่งที่เราไม่รักพระองค์ เรายังปฏิเสธพระองค์โดยเฉพาะเมื่อชีวิตของเราเองตกอยู่ในความเสี่ยงเหมือนเปโตร หรือเมื่ออนาคตของเรา หรือความกินดีอยู่ดีของเราเองตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ เราก็ปฏิเสธพระองค์ แล้วหันไปใช้วิธีการของปีศาจเพื่อความอยู่รอดของเรา
พี่น้องครับ นักบุญเปโตรกำลังเชิญชวนเราวันนี้ ให้นำด้านลบนี้มาให้พระเยซูเจ้าเยียวยารักษา และให้เราสารภาพกับพระองค์เช่นเดียวกับเปโตรว่า “ข้าพเจ้ารักพระองค์ โปรดช่วยความรักอันเล็กน้อยของข้าพเจ้าด้วยเถิด”
ส่วนบทอ่านที่สองจากหนังสือวิวรณ์วันนี้ ยอห์นเล่าว่า “สิ่งสร้างทั้งมวล ทั้งที่อยู่ในสวรรค์และบนแผ่นดิน ทั้งใต้พิภพ และในทะเล ต่างร้องสรรเสริญพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ” เพราะพระองค์คือผู้เดียวที่ควรค่าแก่การกราบไหว้เป็นพระเจ้า
ยอห์นเขียนเช่นนี้เพื่อให้กำลังใจคริสตชนซึ่งกำลังถูกเบียดเบียนอย่างหนัก ว่าพวกเขาทำถูกต้องแล้วที่ไม่ยอมกราบไหว้จักรพรรดิโรมันเป็นพระเจ้า แต่กราบไหว้พระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้า เพราะสิ่งสร้างทั้งมวลก็ทำเช่นเดียวกันนี้
เพราะฉะนั้น วันนี้ นอกจากเราจะวอนขอพระเยซูเจ้าให้ช่วยเยียวยารักษาความรักอันน้อยนิดของเราเช่นเดียวกับนักบุญเปโตรแล้ว นักบุญยอห์นยังกระตุ้นเตือนเราให้วางพระองค์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด เพราะพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ควรค่าแก่การสรรเสริญและเกียรติมงคลตลอดนิรันดร