มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

บทเทศน์สอนวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2023 สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา

     อริสโตเติล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ว่า “ความสุขคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา” อริสโตเติลยังให้ข้อสังเกตอีกว่าทุกสิ่งที่มนุษย์ทำยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวัน เจ็ดวันต่อสัปดาห์ ก็คือสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้พวกเขามีความสุข แต่ปัญหาก็คือ สิ่งที่ผู้คนคิดว่าจะนำความสุขมาให้ จริงๆ แล้วมันไม่ได้นำความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนมาให้เสมอไป ลองนึกถึงพวกขี้เมาที่เชื่อว่าความสุขอยู่ในขวดเบียร์สิ หลังดื่มได้ที่เขาก็จะขับรถกลับบ้าน ฝ่าไฟแดง ชนรถคันอื่น แล้วก็ตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาลพร้อมกับปูนปลาสเตอร์และรอยเย็บทั่วร่างกาย จะเห็นว่าความสุขที่แอลกอฮอล์สัญญาว่าจะให้นั้นมันช่างสั้นเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้อริสโตเติลจึงกล่าวว่าผู้ที่มีคุณธรรมก็คือผู้ที่รู้และทำในสิ่งที่ไม่เพียงนำมาซึ่งความตื่นเต้นหรือความพึงพอใจ แต่นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน
     บทเทศน์บนภูเขาของพระเยซูเจ้าแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงปรารถนาให้ผู้ที่ติดตามพระองค์ได้พบกับความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน เป็นความสุขที่โลกไม่อาจหยิบยื่นให้ได้ ความสุขนี้คือสิ่งที่พระองค์เรียกว่าการอยู่ใน “พระอาณาจักรของพระเจ้า” หรืออยู่ใน “สวรรค์” และสิ่งที่เราได้ฟังในพระวรสารวันนี้ก็คือหนทางสำหรับทุกคนที่พยายามจะบรรลุถึงความสุขแห่งพระอาณาจักรนี้
เหตุที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนหนทางสู่พระอาณาจักรตั้งแต่เริ่มแรกเช่นนี้ก็เพราะทุกคนแสวงหาความสุข แต่บ่อยครั้งที่เรามองหามันผิดที่ ลองถามคนรอบตัวเราสิว่าอะไรทำให้ผู้คนมีความสุข แล้วเปรียบเทียบคำตอบที่ได้รับกับคำตอบของพระเยซูเจ้า
     เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” พวกเขาจะบอกว่า “คนมั่งมีย่อมเป็นสุข” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้เป็นทุกขโศกเศร้าย่อมเป็นสุข” พวกเขาจะบอกว่า “ผู้ที่ร่าเริงสนุกสนานย่อมเป็นสุข” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข” พวกเขาจะบอกว่า “ผู้ฉลาดปราดเปรื่องย่อมเป็นสุข” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข” พวกเขาจะบอกว่า “คนที่มีอาหารกินมีเหล้าองุ่นดื่มย่อมเป็นสุข” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข” พวกเขาจะบอกว่า “ผู้ที่มีอำนาจย่อมเป็นสุข” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข” พวกเขาจะบอกว่า “ผู้ที่มีเอวบางร่างน้อยย่อมเป็นสุข” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข” พวกเขาจะบอกว่า “ผู้สร้างข่าวย่อมเป็นสุข” และเมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข” พวกเขาก็จะบอกว่า “ผู้ที่มีเงินจ้างทนายเก่งๆ ได้ย่อมเป็นสุข”
จะเห็นว่าในบทเทศน์บนภูเขา ค่านิยมของพระเยซูเจ้านั้นตรงข้ามกันเลยกับวัฒนธรรมของชาวโลก เพราะฉะนั้นเราจะยอมรับคำสอนของพระองค์พร้อมๆ กับยอมรับค่านิยมของชาวโลกไม่ได้ แน่นอนว่าพระองค์ไม่ได้เรียกร้องให้เราละทิ้งโลก แต่ทรงเรียกร้องให้เราวางพระเจ้าไว้เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด เพราะมีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถประทานความสงบสุขแท้จริงที่ใจของเราปรารถนาได้ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้อีกแล้วที่สามารถให้ความสงบสุขเช่นนี้ได้ และก็ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้อีกเช่นกันที่สามารถเอามันไปจากเราได้
     นอกจากค่านิยมในเรื่องความสุขของพระเจ้าจะแตกต่างจากชาวโลกแล้ว มาตรฐานของพระองค์ในการเลือกสรรคนก็แตกต่างจากชาวโลกเช่นกัน
เมื่อศาสนบริกรของพระศาสนจักรก่อเรื่องอื้อฉาวทางเพศ ปฏิกิริยาของผู้คนส่วนใหญ่ก็คือโกรธ เศร้า ด่า ทิ้งวัด ทิ้งความเชื่อ ฯลฯ แต่นี่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการตอบสนองต่อวิกฤต
ในบทอ่านที่สองวันนี้ นักบุญเปาโลเสนอหนทางที่ดีกว่าในการตอบสนองต่อวิกฤตเช่นนี้โดยที่ไม่ทำให้เราสูญเสียความเชื่อ นักบุญเปาโลกล่าวว่า
“พี่น้องทั้งหลาย จงพิจารณาดูเถิด เมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านนั้น มีน้อยคนที่ฉลาดตามมาตรฐานของมนุษย์ น้อยคนที่มีอิทธิพล น้อยคนที่มีตระกูลสูง แต่พระเจ้าทรงเลือกสรรคนโง่เขลาในสายตาของโลกเพื่อทำให้คนฉลาดต้องอับอาย พระเจ้าทรงเลือกสรรคนที่โลกถือว่าอ่อนแอเพื่อทำให้ผู้แข็งแรงต้องอับอาย ทั้งนี้ เพื่อมิให้มนุษย์โอ้อวดเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าได้” (1 คร 1:26-29)
     สิ่งแรกที่นักบุญเปาโลต้องการบอกเราก็คือการเป็นคริสตชนก็ดี การเป็นศาสนบริกรของพระศาสนจักรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นกระแสเรียก เป็นพระเจ้าที่ทรงเรียกเราให้มารับใช้พระองค์ มันไม่ได้ขึ้นกับเราว่าจะเลือกติดตามพระองค์หรือจะทิ้งวัด พระเยซูเจ้าตรัสว่า “มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน” (ยน 15:16) และ “ไม่มีใครมาหาเราได้ นอกจากพระบิดาผู้ทรงส่งเรามาจะทรงชักนำเขา” (ย 6:44) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนบาปหรือคนที่เราคิดว่าไม่สมควรจะเป็นคริสตชน ล้วนได้รับการเลือกสรรให้มาติดตามพระเยซูเจ้าทั้งนั้น
     ที่สำคัญวิถีทางของพระเจ้าในการเลือกสรรคนนั้นแตกต่างจากวิถีทางของเราอย่างสิ้นเชิง เราเลือกคนฉลาด เลือกคนตระกูลสูง แต่พระองค์ทรงเลือกคนที่โลกมองว่าโง่เขลาและอ่อนแอ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผล 2 ประการ
     ประการแรกเพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระเจ้า หาไม่แล้วเราจะไม่มีทางเอาชนะความอ่อนแอที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนได้เลย นักบุญเปาโลเองก็มี “หนามทิ่มแทงเนื้อหนัง” และวอนขอพระเจ้าให้นำมันออกไปจากตัวท่าน แต่พระเจ้าตรัสตอบว่า “พระหรรษทานของเราเพียงพอสำหรับท่าน เพราะพระอานุภาพแสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ” ที่สุดนักบุญเปาโลก็สรุปว่า “ข้าพเจ้าจึงพอใจความอ่อนแอต่างๆ ... เพราะข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็ย่อมเข้มแข็งเมื่อนั้น” (2 คร 12:9-10)
     เหตุผลประการที่สองที่พระเจ้าทรงยอมให้มีความอ่อนแอในตัวเราและในศาสนบริกรของพระองค์ก็เพื่อเราจะได้ตระหนักว่าความดีที่ศาสนบริกรของพระองค์สามารถทำได้นั้น ไม่ได้มาจากความเฉลียวฉลาดส่วนตัวของท่านเลย แต่มาจากพระหรรษทานของพระเจ้าที่ทำงานในตัวท่านและผ่านทางตัวท่าน เราจะได้ไม่ยึดติดในตัวบุคคลที่เราชื่นชอบเหมือนชาวโครินธ์ที่ยึดติดว่า “ฉันเป็นพวกของเปาโล” หรือ “ฉันเป็นพวกของอปอลโล” หรือ “ฉันเป็นพวกของเคฟาส” แต่พระเจ้าปรารถนาให้เรามองผ่านบุคคลเหล่านี้ไปให้ถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของเราทุกคน
     ให้เราวอนขอพระเจ้าโปรดประทานความเชื่อแก่เรา เพื่อเราจะไม่รู้สึกสะดุดเมื่อเราหรือศาสนบริกรของเราขาดความศักดิ์สิทธิ์ดังที่เราคาดหวัง และวันนี้ให้เราถามตัวเราเองว่า “เราดำเนินชีวิตตามค่านิยมของชาวโลกเพื่อบรรลุความสุขหรือตามคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า?”
     หากเราดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าก็จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของเราในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown