บทเทศน์สอนวันอาทิตย์อาทิตย์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- ฮิต: 911
วันนี้ พระศาสนจักรทั่วโลกร่วมกันสมโภชสองนักบุญผู้ยิ่งใหญ่คือนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล
การที่พระศาสนจักรสมโภชนักบุญทั้งสองร่วมกันในวันนี้ มิได้หมายความว่าทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกัน มีนิสัยเหมือนกัน หรือออกมาจากพิมพ์เดียวกันราวกับเป็นฝาแฝดคลานตามกันมา
อันที่จริง ทั้งคู่มีความแตกต่างกันมากกว่าจะเหมือนกันเสียอีก
อันดับแรกเลย ทั้งคู่มีที่มาแตกต่างกัน
ที่มาของนักบุญเปโตรคือท่านได้รับการเรียกจากพระเยซูเจ้าโดยตรง พระองค์ตรัสกับเปโตรว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” (มธ 4:19)
ส่วนที่มาของนักบุญเปาโลนั้นตรงกันข้าม ท่านไม่เคยพบกับพระเยซูเจ้าแบบตัวต่อตัวในขณะที่พระองค์ยังทรงมีพระชนมชีพอยู่เลย แต่ท่านได้พบกับพระองค์อาศัยนิมิต และได้รับการเรียกอาศัยนิมิตอีกเช่นกัน หนังสือกิจการอัครสาวกเล่าว่า ขณะท่านกำลังไล่ตามเบียดเบียนพระศาสนจักรใกล้จะถึงเมืองดามัสกัส ท่านได้ยินเสียงพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เซาโล เซาโล ท่านเบียดเบียนเราทำไม จงลุกขึ้น เข้าไปในเมืองแล้วจะมีคนบอกให้รู้ว่าจะต้องทำอะไร” (กจ 9:3-6)
นอกจากที่มาจะต่างกันแล้ว นิสัยของท่านทั้งสองก็แตกต่างกันด้วย
นักบุญเปโตรนั้นเป็นคนหุนหันพลันแล่น ชอบใช้หัวใจมากกว่าหัวคิด เห็นพระเยซูเจ้าเดินบนทะเล ท่านก็กระโดดจากเรือลงไปเดินบนทะเลบ้าง จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด (มธ 14:29-30) และค่ำคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ท่านทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ทำไมข้าพเจ้าจึงตามพระองค์ไปเวลานี้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจะสละชีวิตเพื่อพระองค์” (ยน 13:37) แล้วหลังจากนั้นไม่กี่อึดใจ ท่านก็ปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระองค์ถึง 3 ครั้ง
ส่วนนักบุญเปาโลนั้นตรงกันข้าม ท่านใช้หัวคิดมากกว่าหัวใจ จึงดูเหมือนจะเป็นคนแข็ง ไม่ยอมคน ท่านเป็นคนร้อนรน มีการศึกษาสูง ชอบใช้เหตุผลโต้เถียงกับผู้ฟังเพื่อให้พวกเขาเชื่อพระเยซูเจ้า ซึ่งนับเป็นพรสวรรค์พิเศษของท่าน
แต่ใช่ว่าทั้งคู่จะแตกต่างกัน จนหาอะไรที่เหมือนกันไม่ได้ซะเลย
สิ่งที่เหมือนกันประการแรกเลยก็คือ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเรียกท่านทั้งสอง ท่านทั้งสองตอบรับการเรียกของพระองค์ทันที นักบุญเปโตรทิ้งแหแล้วก็ติดตามพระองค์ ส่วนนักบุญเปาโล เมื่อตาที่บอดกลับมองเห็น ท่านก็เริ่มเทศน์สอนในศาลาธรรมทันที ประกาศว่า “พระเยซูเจ้าพระองค์นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า” (กจ 9:20)
นอกจากรับการเรียกทันทีแล้ว ทั้งคู่ยังรักพระเยซูเจ้าสุดหัวใจ เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถามนักบุญเปโตรว่ารักพระองค์ไหม ท่านทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” ส่วนนักบุญเปโลท่านเขียนจดหมายถึงชาวโรมบอกว่า “ไม่มีสรรพสิ่งใดๆ จะพรากเราได้จากความรักของพระเจ้า ซึ่งปรากฏในพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (รม 8:37-39)
นอกจากรักพระเยซูเจ้าหมดหัวใจเหมือนกันแล้ว ท่านทั้งสองยังเป็นเสาหลักของพระศาสนจักรเหมือนกันอีกด้วย
นักบุญเปโตรเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรก ท่านต้องคอยรักษาพระศาสนจักรซึ่งแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วตะวันออกกลางจนถึงยุโรปให้เป็นเอกภาพ คอยประสานความคิดของผู้ที่เข้าสุหนัตและไม่เข้าสุหนัตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ส่วนนักบุญเปาโล แม้ไม่ได้เป็นหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน แต่ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวกของบรรดาคนต่างชาติ เราก็เป็นคนต่างชาติ และก็เป็นเพราะนักบุญเปาโลนี่แหละ เราจึงได้เข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้า
ที่สุด แม้ชีวิตของท่านทั้งสองจะแตกต่างกัน แต่ความตายของท่านทั้งสองนั้นใกล้เคียงกันมาก ทั้งสองถูกทรมาณและตายเป็นมรณสักขีในเมืองเดียวกันคือกรุงโรม และในเวลาไล่เลี่ยกันคือประมาณปี ค.ศ. 64-67 โดยนักบุญเปโตรถูกตรึงกางเขน เอาศีรษะลง ส่วนนักบุญเปาโลถูกตัดศีรษะ
พี่น้องสงสัยไหมครับ ทำไมพระศาสนจักรจึงจัดสมโภชท่านทั้งสองในวันเดียวกันนี้
พระศาสนจักรจัดสมโภชท่านนักบุญทั้งสองรวมกันในวันนี้ ก็เพื่อจะสอนเราว่า “สามัคคีคือพลัง” แม้ท่านทั้งสองจะมีนิสัยต่างกัน มีความรู้ มีพรสวรรค์ มีข้อบกพร่องแตกต่างกัน แต่เมื่อนำมารวมกันก็ทำให้พระศาสนจักรและคำสอนของพระเยซูเจ้าแผ่ขยายออกไปจนสุดปลายแผ่นดิน และตั้งมั่นอยู่จนถึงทุกวันนี้
นี่จึงเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า หากว่าเรายินยอม ไม่ว่าความ สามารถหรือความบกพร่องของเราก็กลับกลายเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการช่วยผู้อื่นให้ได้รับความรอดพ้นได้ ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นคนเก่งคนดีพร้อมเพื่อจะเป็นเครื่องมือของพระเจ้า พระเจ้าสามารถทำงานผ่านเราทั้งๆ ที่เรายังมีข้อบกพร่องและอ่อนแอ เหมือนอย่างที่พระองค์ทรงกระทำกับนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล ขอย้ำอีกครั้งว่า ขอเพียงเรายินยอมเท่านั้น
ในมิสซานี้ ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงโปรดส่งท่านนักบุญทั้งสองให้มาเป็นเสาหลักของพระศาสนจักร และให้เราวอนขอพระองค์ (ผ่านทางพระแม่มารีย์ พระมารดาของพระองค์และมารดาของชาวเราทุกคน) โปรดให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเราจะมีนิสัยอย่างไร และไม่ว่าเราจะชอบวิถีชีวิตแบบนักบุญเปโตรหรือนักบุญเปาโลก็ตาม ขออย่าให้มีความแตกแยกระหว่างพวกเรา เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์พระองค์เดียวกัน และที่สำคัญเพราะว่า “สามัคคีคือพลัง” !