มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

บทที่ 1 : อคาธัตถ์ (3) ว่าด้วยพระศาสนจักร

อารัมภบท
    1. ความสว่างส่องนานาชาติก็คือ พระคริสตเจ้า สภาพระสังคายนาสากลที่มาร่วมประชุมในพระจิตเจ้า  มีความปรารถนาแรงกล้าจะนำเอาความสว่างของพระคริสตเจ้าที่กำลังทอรัศมีเจิดจ้ากระทบหน้าพระศาสนจักรอยู่นี้ ไปสู่มวลมนุษย์โดยทางการประกาศพระวรสารแก่สรรพสัตวโลก  (เทียบ มก. 16,15).  อันว่าพระศาสนจักรในพระคริสตเจ้า, ท่านเป็นประหนึ่ง “ศักดิ์สิทธิการ” (4) หรืออีกนัยเป็นเครื่องหมายชี้ ทั้งเป็นเครื่องมือผลิตความเป็นหนึ่งเดียวอันชิดเชื้อกับพระเป็นเจ้า ทั้งทำให้มนุษย์ชาติทั้งสิ้นมีเอกภาพ. พระศาสนจักรนี้เจริญรอยตามหลักของพระสังคายนาต่าง ๆ ที่มีขึ้นในครั้งก่อน ๆ  ท่านมุ่งแสดงให้ประจักษ์แก่บรรดาสัตบุรุษยิ่งขึ้น ทั้งแก่โลกทั้งโลกให้เห็นว่าตัวท่านนั้นคืออะไร และภาระหน้าที่ของท่านทั้งหมดคืออะไร  อันภาระหน้าที่ของพระศาสนจักรนี้ สภาการณ์ปัจจุบันก็เสริมสร้างกำลังเร่งด่วนยิ่งขึ้น คือว่า มนุษย์ทุกรูปทุกนามมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น  โดยความสัมพันธ์หลายอย่างต่างชนิด  เช่น  ด้านสังคม,  ด้านวิชาความรู้,  ด้านวัฒนธรรม, จะเป็นทางให้มนุษย์ทุก ๆ คน บรรลุถึงเอกภาพในพระคริสตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย.        
โครงการของพระบิดา ผู้ทรงประสงค์ให้มนุษย์ทั้งหลายได้รอด
    2. พระบิดาสถิตสถาพรนิรันดร  เพราะทรงมีแผนการอันเป็นอิสรเสรีอย่างยิ่ง  ทั้งทรงพระปรีชาญาณ  และคุณงามความดีลึกล้ำนักหนา, จึงได้ทรงสร้างโลกจักรวาลขึ้นมา,  ได้ทรงตกลงพระทัยยกย่องมนุษย์ขึ้นให้มีส่วนในชีวิตพระเจ้าของพระองค์ท่านเอง แม้เมื่อมนุษย์ได้ตกต่ำโดยทางอาดัมแล้ว  พระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง  ยังทรงช่วยเหลือให้เขามีทางรอดได้อยู่เสมอ, ทั้งนี้เพราะทรงเห็นแก่ (พระบารมีของ)  พระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่.  พระคริสตเจ้านี้ทรงเป็นฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้าที่มองไม่เห็น, เป็นบุตรหัวปีแห่งสรรพสัตวโลก (คส. 1,15).  ทุกคนที่พระบิดาได้ทรงเลือกสรรตั้งแต่ก่อนกาลเวลา “พระองค์ได้ทรงรู้จักเขาก่อนแล้วและได้ทรงล่วงหน้าจัดให้เขามีรูปคล้ายฉายาลักษณ์แห่งพระบุตรของพระองค์, พระบุตรจะได้ทรงเป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพวกพ้องพี่น้อง (รม. 8,29). ส่วนบรรดาผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้า พระบิดาได้ทรงกำหนดเรียกเขาให้เข้ามาอยู่พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์.  พระศาสนจักรนี้ตั้งแต่โลกเริ่มมีกำเนิด ก็ได้มีรูปจำลองหมายถึงท่านก่อนแล้ว,  ท่านได้รับการจัดเตรียมล่วงหน้าไว้อย่างน่าอัศจรรย์ในประวัติของประชาชาติอิสราเอล และในพันธสัญญาเดิม ครั้งหลังสุดท่านได้รับการสถาปนาตั้งขึ้น, และในคราวพระจิตเจ้าเสด็จมาโปรด, ท่านก็ได้ปรากฏตัวเด่นชัด และเมื่อจะจบสิ้นกาลเวลา, ท่านก็จะจบลงอย่างรุ่งโรจน์ เมื่อนั้นจะเป็นไปตามที่เราอ่านพบในหนังสือของบรรดานักบุญปิตาจารย์ (5) ว่า “ผู้ชอบธรรมทั้งหลายนับแต่ อาดัมจนถึงผู้ถูกเลือกคนสุดท้าย”  จะมาร่วมกลุ่มอยู่ในพระศาสนจักรสากลในเคหะของพระบิดา

ภารกิจของพระบุตรเจ้า
    3. เพราะฉะนั้นพระบุตรจึงได้เสด็จมา, ผู้ส่งพระองค์มาคือ พระบิดา  ท่านผู้นี้  ก่อนสร้างโลกได้ทรงเลือกสรรเราไว้แล้วในองค์พระบุตร, ทั้งได้ทรงกำหนดล่วงหน้ารับเราไว้เป็นบุตรบุญธรรม, เพราะได้ทรงพอพระทัยฟื้นฟูสรรพสิ่งในองค์พระบุตร (เทียบ อฟ. 1,4-5 และ 10),  ฉะนั้น  พระบุตรเพื่อสนองตามน้ำพระทัยพระบิดา จึงได้เริ่มสถาปนาพระราชัย (6) สวรรค์บนแผ่นดิน  และได้ทรงไขพระอคาธัตถ์ของพระองค์แก่ชาวเรา,  และด้วยเดชะความเชื่อฟังของพระองค์จึงได้ทรงไถ่กู้เราจนสำเร็จ  พระศาสนจักร หรือ อีกนัย พระคริสตราชัย  ที่เป็นตัวตนอยู่ในพระอคาธัตถ์,  อาศัยฤทธิ์อำนาจของพระเป็นเจ้า  ก็เจริญขึ้นในโลกอย่างแลเห็นได้ชัด การเริ่มต้น  และความเจริญเติบโตของพระศาสนจักรอันนี้ สิ่งที่ชี้ให้เห็นคือ โลหิตและน้ำที่ไหลออกมาจากพระปรัศว์ (สีข้าง) อันเปิดอ้าของพระเยซูเจ้าที่ถูกตรึงกางเขน  (เทียบ ยน. 19,34) และพระวจนะของพระสวามี (7) เจ้าเอง  ก็แจ้งไว้ล่วงหน้า เมื่อมีพระดำรัสถึงมรณภาพของพระองค์บนกางเขนว่า “ส่วนข้าฯ เมื่อข้าฯ  จะถูกยกขึ้นเหนือแผ่นดินแล้ว ข้าฯ จะดึงดูดทุกคนเข้าหาข้าฯ” (ยน. 13,32  ฉบับภาษากรีก).  มีการประกอบบูชาแห่งไม้กางเขนที่ “พระคริสตเจ้าองค์ปาสกาของชาวเราเป็นผู้ถูกบูชา” บนพระแท่นเมื่อไรเมื่อนั้นแหละ กิจกรรมการไถ่บาปของเราก็อุบัติขึ้นด้วยในเวลาเดียวกันนั้น ศักดิ์สิทธิการแห่งปังสดุดีบูชา (8) ก็เป็นเครื่องชี้แสดง  ทั้งเป็นเครื่องผลิตเอกภาพของบรรดาสัตบุรุษ ซึ่งชาวเรารวมกันเป็นวรกายอันหนึ่งอันเดียวของพระคริสตเจ้า  พระองค์ คือ  ความสว่างของโลก,  คือผู้ที่ชาวเราออกมาจาก,  คือ ผู้ที่เราอาศัย จึงมีชีวิตอยู่ได้, คือ  ผู้ที่เรามุ่งไปสู่นั้นเอง.

พระจิตเจ้าทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่พระศาสนจักร
    4. เมื่อเสร็จสิ้นพระภารกิจที่พระบิดาได้ทรงมอบหมายให้พระบุตรปฏิบัติในโลกนี้แล้ว  (เทียบ ยน. 16,14),  ก็มีการส่งพระจิตเจ้ามา  ณ วันเปนเตกอสเต  (กรีก = วันที่ 50)  เพื่อให้พระองค์ทรงยังให้พระ   ศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ  ทั้งเพื่อให้บรรดาผู้มีความเชื่อมีทางเข้าชิดพระบิดา  โดยผ่านทางพระคริสตเจ้าในพระจิตองค์เดียว (เทียบ อฟ. 2,18). พระจิตเจ้าทรงเป็นจิตแห่งชีวิตหรืออีกนัยเป็นธารน้ำที่ไหลสู่ชีวิตนิรันดร (เทียบ ยน. 4,14;7,38-39),  อาศัยพระจิต  บรรดามนุษย์ที่ตายไปแล้วเพราะบาป,  พระบิดาก็ทรงชุบให้มีชีวิตขึ้น.  จนกว่าร่างกายของเขาที่รู้ตายนั้น  พระองค์จะทรงปลุกให้คืนชีพในพระคริสตเจ้า  (เทียบ รม. 8.10-11).  พระจิตเจ้าทรงพำนักอยู่ในพระศาสนจักรและในดวงใจของบรรดาสัตบุรุษคล้ายกับประทับอยู่ในโบสถ์  (เทียบ 1 คส. 3.16;6.19),  และในตัวเขานั้น พระองค์ทรงภาวนาและทรงยืนยันว่า เขาเป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า (เทียบ กล. 4,6; รม. 8,15-16; และ 26). พระศาสนจักรนี้  พระจิตเจ้าทรงนำไปสู่ความจริงทุกประการ (เทียบ ยน. 16,13), และทรงยังให้ท่านเป็นหนึ่งเดียวกัน  ทั้งในด้านการอยู่ร่วมกัน  ทั้งในด้านบริการ, โปรดให้ท่านกอบด้วยพระพรอย่างต่าง ๆ แห่งพระฐานานุกรม (9) และพรวิเศษ (10), ทั้งแนะนำท่านทำให้ท่านผลิตผลานุผล  (เทียบ อฟ. 4,11-12; คร. 12,4; กท. 5,22).  เดชะอานุภาพแห่งพระวรสาร  พระจิตเจ้าโปรดให้พระศาสนจักรเยาวัยกระชุ่มกระชวย และโปรดให้ใหม่สดอยู่เสมอมิได้ขาด และทรงนำพระศาสนจักรไปสู่เอกภาพอันสมบูรณ์ร่วมกับพระภัสดาของท่าน. ทั้งนี้เพราะพระจิตเจ้าและพระชายาทูลเชิญพระสวามีเยซูเจ้าว่า : “โปรดเสด็จมา”  (เทียบ วว. 22,17). ดังนี้เอง  จึงปรากฏว่าพระศาสนจักรทั่วสากลโลกเป็นดัง “ประชากรที่รวมตัวขึ้นจากเอกภาพของพระบิดา และพระบุตร  และพระจิต.”

    
ราชัยของพระเป็นเจ้า
    5. อคาธัตถ์เรื่องพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์  ปรากฏเด่นชัดในการสถาปนาตัวเอง,  ความจริง  พระสวามีเยซูเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดพระศาสนจักรของพระองค์ ด้วยการประกาศข่าวอันเป็นมงคล กล่าวคือ ประกาศว่า  พระราชัยของพระเป็นเจ้ามาถึงแล้ว  พระราชัยอันได้ทรงสัญญาไว้ในพระคัมภีร์แต่หลาย ๆ ศตวรรษมาแล้ว : “เพราะเหตุว่า  ครบกำหนดเวลาแล้วและพระราชัยของพระเป็นเจ้าย่างเข้ามาใกล้แล้ว” (มก. 1,15; เทียบ มธ. 4,17).  พระราชัยอันนี้ทอแสงรุ่งโรจน์ให้มนุษย์เห็น โดยทางพระวาจา  พระกิจการต่าง ๆ และการสถิตประทับของพระคริสตเจ้า.  พระวาจาของพระสวามีเจ้านั้น  เปรียบได้กับเมล็ดพืชที่หว่านลงในทุ่งนา (มก. 4,14) : บรรดาคนที่ฟังพระวาจาพร้อมทั้งมีความเชื่อ  เขานับเข้าอยู่ในฝูงแกะน้อย ๆ ของพระคริสตเจ้าอยู่แล้ว  (ลก. 12,32),  นับว่าคนพวกนี้ได้ต้อนรับพระราชัยนั้นแล้ว  ต่อมาเมล็ดพืชด้วยฤทธิ์ในตัวมันเอง ก็งอกขึ้นและขยายตัวเติบใหญ่ขึ้น  จนถึงเวลาเก็บเกี่ยว (เทียบ มก. 4,26-29). อัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้าก็เช่นกัน ยืนยันว่าพระราชัยได้มาถึงแผ่นดินโลกแล้ว, “หากข้าฯ อาศัยองคุลีของพระเป็นเจ้าขับไล่หมู่ปีศาจ  ก็เป็นที่แน่นอนว่าพระราชัยของพระเป็นเจ้าได้มาถึงพวกท่านแล้ว (ลก. 11,20; มธ. 12,28),  ถึงกระนั้นก่อนอื่นหมด พระราชัยปรากฏเด่นชัดในองค์ (บุคคล) ของพระคริสตเจ้า,  พระองค์เป็นบุตรของพระเป็นเจ้า และเป็นบุตรของมนุษย์,  ได้เสด็จมา “เพื่อรับใช้  และเพื่อถวายพระชนม์ชีพของพระองค์ไถ่บาปคนจำนวนมาก” (มก. 10,45)

เพราะที่พระเยซูเจ้าได้ทรงรับทนความตายบนไม้กางเขน และได้เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ จึงปรากฏชัดว่า พระองค์ทรงถูกสถาปนาเป็นพระสวามีเจ้า,  เป็นพระคริสตเจ้า, ทั้งเป็นพระสงฆ์ตลอดนิรันดร (เทียบ กจ. 2,36; ฮบ. 5,6; 7,17-21),  ทั้งเป็นพระองค์เองด้วย  ที่ได้ทรงหลั่งพระจิตเจ้ามาสู่พวกสานุศิษย์ของพระองค์ ตามที่พระบิดาได้ทรงสัญญาไว้ (เทียบ กจ. 2,32).  เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรผู้ได้รับพระคุณานุคุณจากองค์ท่านผู้ได้สถาปนาตัวท่านขึ้น, และท่านก็สัตย์ซื่อปฏิบัติตามพระบัญชาขอพระองค์ให้เรื่องเมตตาธรรม, เรื่องความนอบน้อมถ่อมตน  และเรื่องความเสียสละตนเอง  ท่านจึงรับเป็นภาระหน้าที่จัดตั้งพระราชัยอันนั้น ท่ามกลางมนุษยชาติทั้งสิ้น  ท่านจึงจัดวางเมล็ดพืชและตั้งต้นสถาปนาพระราชัยไว้บนแผ่นดินโลก  ระหว่างที่พระศาสนจักรค่อย ๆ เจริญขึ้น,  ท่านก็ใฝ่ฝันใคร่ให้พระราชัยบรรลุถึงจุดสุดยอด,  ท่านหวังและออกกำลังเรี่ยวแรงทั้งหมด และปรารถนาโหยหา  อยากไปอยู่ร่วมกับพระราชาของท่านในพระสิริมงคล.


ภาพจำลองต่าง ๆ ของพระศาสนจักร
    6. ในพันธสัญญาเดิม  (พระธรรมเก่า) การไขแสดงเรื่องพระราชัย  มักแสดงออกเป็นรูปภาพจำลองต่าง ๆ ฉันใดก็ฉันนั้นในขณะนี้  ธรรมชาติภายในอันลึกล้ำของพระศาสนจักรก็ปรากฏให้เราเห็นโดยอาศัยภาพจำลองหลายอย่างต่างกันด้วยเหมือนกัน, เช่น ภาพชีวิตคนเลี้ยงแกะ, ภาพชีวิตกสิกร  (คนทำไร่ทำนา) หรือภาพการสร้างบ้านเรือน,  หรือกระทั่งภาพจากครอบครัว,  จากการแต่งงาน,  ภาพต่าง ๆ เหล่านี้มีบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ของบรรดาประภาษก (11) เป็นการจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว.

อันที่จริง พระศาสนจักร  คือ คอกแกะ ซึ่งมีพระคริสตเจ้าเป็นทางเข้า (= ประตู) แต่ทางเดียว  ทั้งเป็นทางที่จำเป็น  (ยน. 10,1-10).  พระศาสนจักรยังเปรียบได้กับ  ฝูงแกะ  ที่พระเป็นเจ้าได้มีพระดำรัสไว้ล่วงหน้าไว้ว่า : พระองค์เองจะเป็นชุมพาบาล (= คนเลี้ยงแกะ)  (เทียบ อสย. 40,11; อสค. 34,11…) แกะของพระศาสนจักรนี้ แม้มีมนุษย์เป็นคนเลี้ยง และปกครอง  ถึงกระนั้นผู้ที่แนะนำมันอยู่เสมอ  และผู้ที่เลี้ยงดูมันก็คือ พระคริสตเจ้าเอง, พระองค์ทรงเป็นชุมพาบาลที่ดี  ทั้งเป็นเจ้านายของชุมพาบาลทั้งหลาย  (เทียบ ยน. 10,11; 1 ปต. 5,4), พระองค์ คือ  ผู้ที่ได้พลีชีวิตเพื่อฝูงแกะของพระองค์  (เทียบ ยน. 10,11-15)

พระศาสนจักรเป็นที่ดินเกษตรกรรม หรือเป็นทุ่งนาของพระเป็นเจ้า (1 คร. 3,9)  ที่ทุ่งนานี้มีต้นมะกอกเก่าแก่ขึ้นอยู่  มีบรรดาอัยกา (12) เป็นรากเง่าอันศักดิ์สิทธิ์ของมัน, โดยต้นมะกอกนี้แหละ ประชาชนชาวยิว  และชนต่างชาติได้รับ  และจะรับการคืนดีกับพระ  (รม. 11,13-26). ต้นมะกอกนี้  กสิกรชาวสวรรค์ได้ทรงปลูกไว้,  ท่านเองเป็นสวนองุ่นที่คัดเฟ้นไว้ (มธ. 12,33-43 par = (เทียบ ควบ); เทียบ อสย. 5,1 ต่อ ๆ ไป). ต้นองุ่นแท้คือ พระคริสตเจ้า,  พระองค์คือ ผู้ประสาทชีวิตและอำนาจผลิตผลแก่กิ่งก้าน  หมายความถึงชาวเราเอง, โดยทางพระศาสนจักรเราดำรงอยู่ในพระองค์,  และหากปราศจากพระองค์  ชาวเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย (ยน. 15,1-5)

หลายต่อหลายครั้ง ยังเรียกพระศาสนจักรว่าเป็นดัง การสร้างบ้าน ของพระเป็นเจ้า (1 คร. 3-9). พระสวามีเจ้าเองทรงเปรียบพระองค์เป็นดังศิลา  ที่ผู้สร้างเอาทิ้ง  แต่กลับเป็นศิลามุม  (ศิลาเอก) (มธ. 21,42… เทียบ กจ. 4,11; ปต. 2,7; สดด. 117,22). บนรากฐานอันนี้ของพระศาสนจักร พวกอัครสาวกได้สร้างขึ้น  (เทียบ 1 คร. 3,11), จากหินก้อนนี้ พระศาสนจักรได้รับความมั่นคง  และความเป็นปึกแผ่น, ผลิตกรรมการสร้างอันนี้ได้รับเกียรตินามหลายอย่าง เช่น เคหะของพระเจ้า (1 ทม. 3,15),  ในเคหะนั้น  ครอบครัวของพระองค์ท่านเองพำนักอยู่, เรียกพระศาสนจักรว่า  เป็น  พลับพลาของพระเป็นเจ้าในพระจิตเจ้า (อฟ. 2,19-22), เป็นพลับพลาของพระเป็นเจ้าอยู่ร่วมกันมวลมนุษย์ (วว. 21,3),  และเฉพาะอย่างยิ่งเรียกว่า : วิหารอันศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งบรรดานักบุญปิตาจารย์ (13) กล่าวชม,  วาดภาพเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์สร้างขึ้นด้วยศิลาและในพิธีกรรมก็วาดเป็นภาพอย่างเหมาะเจาะ ว่าเป็น  “นครศักดิ์สิทธิ์”,  เป็น ”กรุงเยรูซาเลมใหม่”. เหตุว่าในนครแห่งนี้ชาวเราถูกสร้างขึ้นบนแผ่นหินเป็น ๆ (หินที่มีชีวิต)  (1 ปต. 2,5).  นครศักดิ์สิทธิ์นี้เมื่อยอห์นพิศดู  คราวโลกถูกปฏิรูปขึ้นใหม่  ท่านกล่าวว่า  เป็นนครมาจากสวรรค์  พระเป็นเจ้าเองทรงตกแต่งให้คล้ายกับเจ้าสาว (14) แต่งองค์คอยต้อนรับพระภัสดาของตน (วว. 21,1 ต่อ ๆ ไป)

พระศาสนจักรยังได้ชื่อว่า : “กรุงเยรูซาเลมเบื้องบน” และ “พระชนนีของชาวเรา” (กล. 4,26; เทียบ วว. 12,17),  มีคำวรรณนาถึงพระศาสนจักรว่า : ท่านเป็นเจ้าสาว (14) นิรมลของพระชุมพาน้อยนิรมล (วว. 19,7; 21,2-9; 22,7), เธอเป็นผู้ที่พระคริสตเจ้าทรงรัก  และมอบพระองค์ท่านเองเพื่อเธอ  หวังจะยังให้เธอศักดิ์สิทธิ์ (อฟ. 5,26), พระองค์ทรงรับเธอเป็นคู่ครองของพระองค์ด้วยคำมั่นสัญญาอันมิรู้แตกสลาย  และทรงเลี้ยงดูเกื้อกูลเธอ (อฟ. 5,26)  เสมอเป็นนิตย์มิได้ขาด และเมื่อเธอบริสุทธิ์หมดจดแล้ว  พระองค์ทรงประสงค์ให้เธอมาสนิทชิดเชื้อกับพระองค์และให้เธอมอบตนอยู่ในควาเสน่หาอันซื่อสัตย์ (เทียบ อฟ. 5,24). ที่สุดพระองค์ทรงประสาทให้เธอเพียบพูนด้วยพรานุพรสวรรค์เรื่อยไปตลอดนิรันดร ทั้งนี้เพื่อให้ชาวเรารู้ซาบซึ้งถึงความรักเสน่หาของพระเป็นเจ้า  และของพระคริสตเจ้าต่อชาวเรา  ความรักเสน่หาอันนี้อยู่เหนือความรู้เข้าใจใด ๆ ทั้งสิ้น  (เทียบ อฟ. 3,19). ระหว่างที่พระศาสนจักรระเหหนอยู่ในโลกนี้ ห่างไกลจากพระเป็นเจ้า  (เทียบ 2 คร. 5,6),  ท่านถือตนเป็นผู้ถูกเนรเทศ,  จนกระทั่งท่านขวนขวายหา และลิ้มรสสิ่งที่อยู่เบื้องบน,  ณ ที่นั้นแหละชีวิตของพระศาสนจักร  หลบซ่อนอยูร่วมกับพระคริสตเจ้าในพระเป็นเจ้า,  ทั้งนี้จนกว่าท่านจะปรากฏตัวในเกียรติมงคลพร้อมกับพระภัสดาของท่าน (เทียบ คล. 3,1-4)

พระศาสนจักรคือ อคาธกาย (15) ของพระคริสตเจ้า.
    7. พระบุตรของพระเป็นเจ้า  ขณะทรงอยู่ในธรรมชาติมนุษย์  ซึ่งได้รับเอามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ เดชะมรณภาพ และการกลับคืนพระชนม์ชีพได้ทรงมีชัยต่อความตาย,  ได้ทรงไถ่มนุษย์ และได้ทรงแปรพระรูปเป็นสัตวโลก (16) ใหม่  (เทียบ กล. 6,15; 2 คร. 5,17). คราวทรงมอบพระจิตของพระองค์แก่บรรดาพี่น้องที่ได้ทรงเรียกมาจากประเทศทั้งหลาย ได้ทรงแต่งตั้งพวกเขาขึ้นโดยทำนองลึกล้ำให้เป็น  “กาย” ของพระองค์.

ใน “กาย”  นั้น  ชีวิตของพระคริสตเจ้าไหลแผ่ไปทั่วบรรดาผู้มีความเชื่อ เขาเหล่านี้โดยอาศัยศักดิ์สิทธิการต่าง ๆ เข้าร่วมกันโดยทำนองอันลึกล้ำ แต่ร่วมกันอย่างแท้จริง กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระ คริสตเจ้า ในฐานะพระผู้ทรงรับทนทรมาน ทั้งในฐานะพระผู้ทรงเกียรติมงคล.  โดยทางศักดิ์สิทธิการล้างบาป ชาวเรากลายเป็นรูปร่วมกับพระคริสตเจ้า เหตุว่า  เราทุกคนได้ถูกชำระล้างในพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน  ให้เป็น “กาย”  เดียวกัน  (1 คร. 12,13) พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้  บ่งถึงทั้งผลิตการร่วมสหภาพในมรณกรรม และในการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า,  “เหตุว่า  ชาวเราได้ถูกฝังร่วมกับพระองค์ โดยทางศักดิ์สิทธิการล้างบาป  ซึ่งจุ่มเราสู่ความตายของพระองค์ และเมื่อเราถูกวางไว้เหมือนพระองค์ในด้านความตายแล้ว  เราก็จะเหมือนพระองค์ในด้านการกลับคืนชีพด้วย”  (รม. 6,4-5) ในการหักปังของพิธีสดุดีบูชา  เรามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับพระกายของพระสวามีเจ้า,  ในการเข้าไปรับศักดิ์สิทธิการมหาสนิท เราได้รับการเลี้ยงดูร่วมกับพระองค์ และร่วมกันระหว่างพวกเราเองด้วย “เพราะว่า  เป็นปังอันเดียวกัน  เราหลายคนจึงเป็น  “กาย” เดียวกันด้วย เหตุว่าเราทุกคนมีส่วนในปังอันเดียวกัน” (1 คร. 10,17). เพราะเหตุนี้เอง  เราทุกคนจึงกลายเป็นอวัยวะของ  “กาย” อันนั้น  (เทียบ 1 คร. 12,27),  “คนละคนต่างเป็นอวัยวะของกันและกัน”  (รม. 12,5).

อันว่า อวัยวะทั้งหลายในร่างกายมนุษย์  แม้มีมากอวัยวะด้วยกัน ถึงกระนั้นก็เป็นร่างกายอันเดียวกัน ฉันใด, บรรดาสัตบุรุษในพระคริสตเจ้าก็ฉันนั้น  (เทียบ 1คร. 12,12). ในการสร้างตกแต่ง “กาย” ของพระคริสตเจ้าก็เช่นเดียวกัน : มีการแตกต่างของอวัยวะ  และของหน้าที่หลายหน้าที่  พระจิตเจ้ามีองค์เดียว เป็นผู้ทรงแจกจ่ายทานหลายอย่างต่างกัน  เพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักรตามอัตราขุมทรัพย์  และตามความต้องการของหน้าที่ต่าง ๆ ท่ามกลางทานเหล่านี้ที่ประเสริฐกว่าหมด  คือ พระหรรษทานของบรรดาอัครสาวก : พระจิตเจ้าเอง ทรงปราสาทมอบให้อยู่ในอำนาจของพวกท่าน  กระทั่งพระพิเศษพร (17)  (เทียบ 1 คร. 14). พระจิตเจ้าองค์เดียวนี้เอง  เมื่อทรงดลบันดาลให้ “กาย” นั้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยพระองค์เอง, เดชะฤทธิ์อำนาจของพระองค์  และโดยการประสานเกี่ยวเนื่องภายในระหว่างอวัยวะต่าง ๆ พระองค์ก็ทรงผลิต  และกระตุ้นให้เกิดความรักต่อกันระหว่างสัตบุรุษ เป็นอันว่า เมื่ออวัยวะอันหนึ่งทนทุกข์  อวัยวะทุกอวัยวะก็ร่วมทนทุกข์ด้วย  หรือเมื่ออวัยวะอันหนึ่งได้รับเกียรติยศ, อวัยวะทุกอวัยวะก็ร่วมยินดีด้วย  (เทียบ 1 คร. 12,26).

พระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะของ “กาย” อันนี้,  พระองค์ คือ  พระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า ผู้ที่เรามองไม่เห็น, และในพระองค์ท่านนั้นสารพัดถูกสร้างขึ้นมา  พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนทุกคน และสารพัดเป็นอยู่ในพระองค์.  พระองค์ทรงเป็นศีรษะของ “กาย” นั้น, นั่นคือ  พระศาสนจักร.  พระองค์ท่านทรงเป็นต้นเดิมที่มาและเป็นบุตรหัวปีของ (มนุษย์) ผู้รู้ตายทั้งหลาย เพื่อให้พระองค์ทรงครองความเป็นยอดสูงสุดของสรรพสิ่ง (เทียบ คส. 1,15-18) โดยความสูงเด่นแห่งพระมหิทธิศักดิ์  พระองค์ทรงเป็นเจ้านายเหนือสรรพสิ่งทั้งปวงในสวรรค์และในแผ่นดิน ด้วยพระคุณงามความดีอันเหลือประมาณ และด้วยพระกิจกรรมอันสูงส่ง พระองค์ทรงประสาทให้ร่าง “กาย” ทั้งสิ้นนั้น แพรวพราวไปด้วยทรัพยากรแห่งพระเกียรติมงคล (เทียบ อฟ. 1,18-23)

อวัยวะทุกอวัยวะต้องปรับตัวให้เข้ากับพระรูปของพระองค์ จนกระทั่งพระคริสตเจ้ากลายเป็นรูปขึ้นมาในตัวเขา (เทียบ กล. 4,19) เพราะฉะนั้นชาวเราจึงถูกนำขึ้นสู่พระอคาธัตถ์ต่าง ๆ แห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน : เรากลายเป็นรูปร่วมกับพระองค์,  เราตายร่วมกับพระองค์, เราคืนชีพร่วมกับพระองค์, จนกระทั่งเราจะได้ร่วมเสวยราชย์กับพระองค์  (เทียบ พป. 3,21 2; ทธ. 2,11; อฟ. 2,6; คส. 2,12 ฯลฯ).  ขณะกำลังระเหระหนอยู่บนแผ่นดิน เราก็ย่ำไปตามรอยพระบาทในความทุกข์ยากลำบาก  และการถูกเบียดเบียนข่มเหง เราร่วมเป็นสมัครพรรคพวกของพระองค์  ในความทุกข์ทรมานต่าง ๆ ดังเช่น  ร่างกายต่อศีรษะ เราร่วมทุกข์ร้อนกับพระองค์ เพื่อจะได้รับเกียรติมงคลร่วมกับพระองค์ด้วย (เทียบ รม. 8,17)

จากพระองค์นั่นแหละ “ร่างกายทั้งหมด  โดยที่ได้รับการตกแต่งและการเสริมสร้างด้วยข้อต่อและเครื่องผูกโยงต่าง ๆ  จึงเจริญเติบโตขึ้น  เป็นการขยับขยายองค์พระเป็นเจ้า” (คส. 2,19) พระองค์ท่าน  ในพระกายของพระองค์  กล่าวคือ ในพระศาสนจักรทรงเตรียมพร้อมอยู่เสมอ  จะประสาทพรานุพรเหมาะกันภาระหน้าที่ซึ่งเมื่อเรานำมาใช้เป็นบริการความรอดแก่กันและกัน อาศัยฤทธิ์อำนาจของพระองค์  เมื่อเราปฏิบัติความรักด้วยความจริงใจ  เราก็จะเจริญเติบโตในทุก ๆ ด้าน  เป็นพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะของเรา  (เทียบ อฟ. 4,11-14 กริก)

เพื่อให้ชาวเราชุบตัวในพระองค์ให้ใหม่สดอยู่เสมอมิได้ขาด (เทียบ อฟ. 4,23) พระองค์ได้โปรดให้เรามีส่วนในพระจิตของพระองค์,  พระจิตมีองค์เดียว และองค์เดียวนี้แหละประทับทั้งในอวัยวะ, พระองค์ทรงบันดาลให้ร่างกายทั้งหมดมีชีวิต, โปรดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเคลื่อนไหว, จนกระทั่งบรรดานักบุญปิตาจารย์  สามารถเปรียบหน้าที่ของพระองค์ที่เป็นต้นเดิมของชีวิตหรืออีกทำนองว่า เป็นเหมือนวิญญาณในร่างกายคนเรา

ฝ่ายพระคริสตเจ้าทรงรักพระศาสนจักรดุจภริยาของพระองค์, ได้ทรงกลายเป็นตัวแบบของสามีที่รักภรรยาดุจรักร่างกายของตน  (เทียบ อฟ. 5,25-28) ส่วนพระศาสนจักรเองก็น้อมขึ้นกับศีรษะของตน  (อฟ. 5,23-24) “เพราะว่าในพระองค์นั้นมีความเป็นพระเป็นเจ้าอย่างครบบริบูรณ์  พำนักอยู่เช่นร่างกาย” (คส. 2,9)  พระศาสนจักรเป็นร่างกายครบบริบูรณ์ของพระคริสตเจ้า,  พระองค์จึงทรงประสาทพรานุพรของพระเจ้าให้แก่ท่านอย่างเต็มที่  (เทียบ อฟ. 1,22-23) เพื่อให้ท่านก้าวหน้าและบรรลุถึงความบริบูรณ์ของพระเป็นเจ้า  (เทียบ อฟ. 3,19)

พระศาสนจักรเป็นสิ่งที่แลเห็นได้ทั้งเป็นจิตในเวลาเดียวกัน.
    8. พระคริสตเจ้าทรงเป็นองค์คนกลางแต่ผู้เดียวของชาวเรา, พระองค์ทรงเป็นผู้สถาปนาพระ     ศาสนจักรอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้น และทรงค้ำจุนอยู่เสมอมิได้ขาด ทรงตกแต่งพระศาสนจักรให้เป็นหมู่คณะของบรรดาผู้มีความเชื่อ,  ความหวังและความรักคล้ายกับเป็นองค์กรเครื่องผูกโยงอันหนึ่งที่แลเห็นได้,  อาศัยองค์กรนี้  พระองค์กระจายความจริงอันเป็นพระหรรษทานไปสู่มนุษย์ทุก ๆ คน. สังคมนี้ประกอบขึ้นด้วยองค์กรต่าง ๆ แห่งพระฐานานุกรม, เป็นอคาธัตถ์ของพระคริสตเจ้า, เป็นกลุ่มที่แลเห็นได้, เป็นหมู่คณะฝ่ายจิตใจ (ฝ่ายวิญญาณ) เป็นพระศาสนจักรแห่งแผ่นดิน และเป็นพระศาสนจักรที่มั่งคั่งด้วยพรานุพรแห่งสวรรค์, ชาวเราไม่พึงพิจารณาดูพระศาสนจักรดังเป็นสองสิ่ง,  แต่ดังเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงแต่อันเดียวทีซับซ้อนคือ  รวบรวมชิ้นส่วนของมนุษย์และของพระเป็นเจ้าเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้น  เรากำลังเผชิญหน้ากับความเปรียบเทียบที่ไม่ใช้ของเล็กน้อย กล่าวคือ พระศาสนจักรเปรียบได้กับพระอคาธัตถ์  การเสด็จอวตารมาเป็นมนุษย์ของพระวจนาตถ์ (18)  ธรรมชาติที่พระวจนาตถ์ของพระเป็นเจ้าทรงรับเอานั้น  เป็นประโยชน์รับใช้ ดังเป็นอวัยวะทรงชีวิต  เพื่อบันดาลความรอด, อวัยวะนี้ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ท่าน  อย่างที่จะแยกจากันมิได้, ฉันใด  ก็ฉันนั้น โดยในทำนองไม่ผิดแผกกัน องค์กรเครื่องเคราทางสังคมของพระศาสนจักร  ก็เป็นประโยชน์รับใช้พระจิตของพระคริสตเจ้า  พระจิตบันดาลให้ท่านมีชีวิต, เป็นประโยชน์ทำความเจริญเติบโตแก่ร่างกายนั้น  (เทียบ อฟ. 4,16)

นี่แหละคือพระศาสนจักรอันเดียวของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรอันที่ชาวเราประกาศยืนยัน  ในสัญลักษณ์ที่เป็นเอกะ,  ศักดิ์สิทธิ์, สากล,  และสืบมาจากคณะอัครสาวก, อันซึ่งพระเป็นผู้กอบกู้เรา หลังแต่เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพแล้ว  ได้ทรงมอบให้เปโตรเป็นผู้เลี้ยงดู  (ยน. 21,17) และให้ท่านกับอัครสาวกอื่นทั้งหลายเผยแพร่และปกครอง  (เทียบ มธ. 28,18…)  และเป็นพระศาสนจักรที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นสำหรับตลอดกาล, ตามที่ได้ทรงยกขึ้น “ให้เป็นเสาหลักอันมั่นคงแห่งความจริง” (1 ทม. 3,15) พระศาสนจักรอันนี้  อันได้ถูกสถาปนาและรับการจัดระเบียบเป็นสังคมขึ้นในโลก,  ก็ยังคงดำรงอยู่ในพระศาสนจักรคาทอลิก,  ปกครองโดยผู้สืบตำแหน่งของเปโตร  และบรรดาพระสังฆราชที่ร่วมสหพันธ์กับท่าน  (เปโตร),  แม้ว่าภายนอกองค์กรของพระศาสนจักร  อันนี้, ยังมีชิ้นส่วนบันดาลความศักดิ์สิทธิ์และความจริงอยู่หลายประการ ซึ่งก็เป็นเพราะเป็นพระพรโดยเฉพาะของพระคริสตศาสนจักรและซึ่งเรียกร้องให้เข้าสู่เอกภาพคาทอลิก

พระคริสตเจ้าได้ทรงสำเร็จภารกิจไถ่บาปโดยทางความยากจนขัดสน และโดยทางการถูกเบียดเบียนข่มเหง, มีอุปมาฉันใด, พระศาสนจักรก็ได้รับกระแสเรียกให้ดำเนินตามหนทางเดียวกัน เพื่อจะนำผลแห่งความรอดไปสู่มนุษย์, ก็มีอุปไมยฉันนั้น. พระเยซูคริสตเจ้า “แม้ทรงพระฉายาลักษณ์พระเป็นเจ้า…  ก็ได้ทรงถ่อมพระองค์เป็นเปล่าไป  โดยทรงรับเอารูปของทาส” (ฟพ. 2,6)  และเพราะทรงเห็นแก่ชาวเรา  “ได้ทรงกลายเป็นคนขัดสนทั้ง ๆ ที่มั่งคั่ง” (2 คร. 8,9).  เช่นเดียวกันนั้น  พระศาสนจักรเพื่อปฏิบัติภาระหน้าที่ของตน ท่านยากจน, ท่านต้องการความช่วยเหลือของมนุษย์, ท่านถูกจัดตั้งขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อแสวงหาเกียรติศักดิ์บนแผ่นดิน  แต่เพื่อเผยแพร่ความสุภาพถ่อมตนและความเสียสละ  ตามแบบอย่างองค์ผู้สถาปนาตัวท่านด้วย.  พระคริสตเจ้าได้ทรงรับใช้พระบิดามา “เพื่อประกาศข่าวดีแก่คนยากจน… สมานแผลของผู้ที่เป็นทุกข์ใจ” (ลก. 4,18) “ตามหา และช่วยให้รอดสิ่งซึ่งได้เสียไป”  (ลก. 19,10) เช่นเดียวกัน  คนทั้งหลายที่ต้องทุกข์ร้อน  เพราะความป่วยไข้ประสามนุษย์ พระศาสนจักรก็เข้าช่วยเหลือ ด้วยความรักเมตตาจิต, กว่านั้นอีก  ท่านยังรับรู้ว่า : คนอย่างนี้แหละ เป็นภาพเป็นรูปขององค์ผู้สถาปนาสร้างตัวท่านมา,  คือเป็นคนที่ยากจนและทุกข์ร้อน ท่านจึงพยายามทุเลาบรรเทาพวกคนอาภัพ และมุ่งรับใช้พระคริสตเจ้าในตัวพวกเขา อย่างไรก็ดีพระคริสตเจ้าทรงเป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์,  ผู้นิรมล, ผู้ปราศจากด่างพร้อย” (ยน. 7,26) “พระองค์ไม่เคยทรงทำบาปกรรมเลย”  (2 คร. 5,21), ได้เสด็จมาก็เพื่อแสดงพระเมตตากรุณา ยกบาปความผิดของประชากร”  (เทียบ ฮบ. 2,17)  ส่วนพระศาสนจักรนั้น รวบรวมทั้งคนบาปเข้าอยู่ในพระอุระของท่านเอง,  ท่านศักดิ์สิทธิ์ก็จริง  แต่ในขณะเดียวกัน  ท่านยังต้องชำระล้างตัวท่านเองอยู่เสมอ,  ท่านจึงบำเพ็ญทุกขกิริยาชดใช้บาปกรรมและฟื้นฟูตัวท่านเองขึ้นใหม่อยู่เสมอ  เรื่อยไป

“พระศาสนจักรก้าวหน้าระหกระเหินไปท่ามกลางการถูกเบียดเบียนข่มเหงของโลก และความทุเลาบรรเทาใจของพระเป็นเจ้า  พลางประกาศเทศนาเรื่องกางเขน และมรณภาพของพระสวามีเจ้าจนกระทั่งพระองค์จะเสด็จมา” (เทียบ 1 คร. 11,26) เดชะฤทธิ์อำนาจของพระสวามีเจ้าผู้เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพและเป็นพละกำลังแก่พระศาสนจักร, ท่านจึงเอาชนะอย่างเด็ดเดี่ยวต่อความทุกข์ขุกเข็ญ  และความลำบากยุ่งยากต่าง ๆ นานา  ตลอดทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ด้วยอาศัยความมานะอดทนและความรักเมตตาจิต,  พระอคาธัตถ์เรื่องพระศาสนจักร  แม้ขณะนี้จะทอแสงมัว ๆ มอ ๆ อยู่ในโลก  แต่ก็เป็นความจริงว่า  ท่านกำลังไขแสดงจนกว่าท่านจะส่องแสงเจิดจ้าเต็มที่ในที่สุด

 

 

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown