มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

วัดนักบุญเปาโล (บ้านนา)

 

 
 
วัดนักบุญเปาโล  บ้านนา

303 หมู่ 3 ถนนสุวรรณศร ตำบลบ้านนา  อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก 26110
โทร. 0-3732-3942  โทรสาร 0-3738-1019
 
 
คริสตัง จีนที่วัดหนองรีได้ย้ายมาหาที่ทำกินแถวบ้านนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการเดินทางที่ยากลำบาก การคมนาคมในสมัยนั้นยังไม่มี พวกที่มีอาชีพทำสวน ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ จะส่งผลผลิตไปขายที่ตลาดทีก็ยากลำบาก  พวกเขาจึงไปเช่าสวน ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ที่บริเวณบ้านนาซึ่งการเดินทางสะดวกกว่า ส่วนพวกที่ทำการค้าขายนั้น การที่จะไปซื้อสินค้าจากตลาดบ้านนามาขายที่หนองรีก็ทำได้ยากลำบาก และที่หนองรีเองก็ไม่ค่อยมีคนผ่านไปมาเท่าไหร่ การค้าจึงไม่ได้ผลดี  พวกเขาจึงไปเช่าร้านในตลาดบ้านนาค้าขาย  ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มคริสตชนที่บ้านนาจึงมีจำนวนมากพอสมควร เมื่อคุณพ่อวิกตอร์ ลาร์เก ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหนองรีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945  
 
คุณพ่อ ได้เริ่มออกเยี่ยมคริสตังค์ที่ บ้านนาเป็นพวกแรก  คุณพ่อได้ถามถึงสิ่งต่างๆ  พวกคริสตังค์ที่บ้านนาบอกคุณพ่อว่า       คุณพ่อเดอนีส์เคยมาทำมิสซาทุกๆ  15 วัน คุณพ่อจึงตอบตกลงแต่จะพยายามมาทำให้ทุกอาทิตย์   ที่บ้านนา มีคริสตังถึง 750 คน  ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาค่อนข้างยุ่งยากมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีที่ดินของวัด โบสถ์ที่จะให้ไปนมัสการพระเจ้า ไม่มีโรงเรียนที่จะให้การศึกษา และสอนคำสอนที่สำคัญไม่มีสุสานเพื่อฝังศพผู้ตาย โบสถ์ที่ใกล้ที่สุดก็ที่หนองรี แต่การที่จะไปมานั้นต้องประสบความยากลำบากไม่น้อยเพราะเวลานั้นมีแต่ทางหลวง สุวรรณศร จากหินกอง ผ่านบ้านนาไปนครนายกไม่มีรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากขาดแคลนน้ำมันในระหว่างสงคราม จากบ้านนาต้องเดินเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตรถึงสะพานวังต้น จากนั้นต้องเดินทางตามทุ่งนาอีก 4 กิโลเมตร กว่าจะถึงโบสถ์ที่หนองรี  
 
  
ถ้าหาก เป็นหน้าน้ำก็ต้องลุยโคลน, ลุยน้ำ, ข้ามห้วย, ข้ามหนอง จึงทำให้คริสตังค์ชาวบ้านนา ไม่มีโอกาสที่จะร่วมมิสซา และนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ได้ และถ้าหากมีคนตายการที่จะ ยกหีบศพไปฝังที่หนองรีก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเช่นกัน เพราะเวลานั้น  ไม่มีถนนหนทางเลยและการที่คุณพ่อมาทำมิสซาที่บ้านก็ประสบปัญหา เพราะบ้านที่ทำมิสซานั้นคับแคบเกือบมีแต่พวกคริสตังค์ใกล้เคียงเท่านั้นที่ มาร่วมมิสซาได้ ฉะนั้นเมื่อคุณพ่อคิดถึงจำนวนคริสตังค์แล้ว คุณพ่อก็อดที่จะคิดหาทางที่จะซื้อที่ดินเพื่อสร้างโบสถ์, โรงเรียน และสุสานไม่ได้ คุณพ่อได้ทำรายงานถึงพระสังฆราชแปร์รอสให้ท่านทราบ พระสังฆราชแสดงความยินดีและดีใจกับคุณพ่อ แต่อนิจจาทางมิสซังมิอาจให้ความช่วยเหลือคุณพ่อได้เลย คุณพ่อต้องหาทุนสร้างโบสถ์ที่บ้านนาด้วยตัวเอง และพระสังฆราชก็อวยพรขอให้คุณพ่อโชคดี คุณพ่อจึงคิดว่าจะสร้างโบสถ์อย่างไรถ้าไม่มีเงินทุน และจะหาทุนได้อย่างไรถ้าไม่ไปเรี่ยไรตามบ้านคริสตังค์ในทุกกลุ่มทุกวัดวัด เขต  มิสซังและจะไปบอกบุญเรี่ยไรได้อย่างไร   ในเมื่อยังไม่มีที่ดินเลย ทั้งยังไม่มีความหวังเลยแม้แต่น้อยที่จะซื้อที่ดินมาได้
 
คุณพ่อ เริ่มโชคดีจากสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1945) ห่างจากหนองรีประมาณ 5-6กิโลเมตร เรียกว่าเขาชะโงกที่ค่ายเชลยศึกจำนวนประมาณ 5,000 คน ซึ่งเป็นทหารต่างชาติ บ่ายวันที่ 15  สิงหาคม ค.ศ. 1945  มีทหารเกาหลีคนหนึ่งเข้ามาหาคุณพ่อที่หนองรี เขาเล่าว่ามหาจักรพรรดิญี่ปุ่นได้ขอสงบศึก และทหารญี่ปุ่นในค่ายนี้จึงมอบอำนาจทั้งหมดให้กับ    พันเอกชาวอเมริกันที่เป็นหัวหน้าเชลยศึก พวกนี้และวันร้อยเอกโรเชนธัล (ฝรั่งเศส) ร้อยเอกบารุ (อังกฤษ) ต้องการจะพบกับคุณพ่อ คุณพ่อจึงตามนายทหารคนนั้นไปทันที ร้อยเอกทั้งสองเมื่อได้พบกับคุณพ่อก็รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอ ร้องให้คุณพ่อช่วยหาเนื้อสัตว์ให้ท่านโดยเร็วที่สุด เพราะเบื่อที่จะกินแต่แตงไทยมานานแล้ว ฉะนั้นคุณพ่อรีบกลับหนองรีและประกาศให้ชาวบ้านทราบเรื่องนี้ภายในครึ่ง ชั่วโมง ชาวบ้านก็จับหมูทั้งหมดเท่าที่มี และช่วยกันส่งไปที่ค่ายเชลยศึกที่เขาชะโงก พวกทหารก็จัดการทำเป็นอาหารกัน เหรัญญิกของทหารญี่ปุ่นก็มาชำระเงินตามราคา พวกเขาตกลงทำสัญญากับพ่อค้าชาวจีนในตลาดบ้านนาให้จัดส่งอาหารไปให้ทุกๆ วัน  รวมทั้งพวกยาสูบที่ชาวบ้านจัดทำขึ้นมา  ทำให้ชาวบ้านมี รายได้และเจริญรุ่งเรืองดีขึ้นมาก 
 
ต้น เดือนกันยายน ค.ศ. 1945  พันเอกทหารอเมริกันหัวหน้าค่าย และร้อยเอกโรเชนธัล   เรียกคุณพ่อไปหาเป็นกรณีพิเศษ และอธิบายให้ฟังว่าได้มีทหารซึ่งเป็นเพื่อนของเรา 2 คน ถูกทหารญี่ปุ่นทรมาน และถูกฝังเป็นจนกระทั่งตาย เขาได้บริจาคเงินจำนวน 4,000 บาท  เพื่อให้คุณพ่อซื้อที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับวัดและสุสาน และขอให้คุณพ่อย้ายศพทหาร 2 คน ไปฝังไว้ในที่ดินแปลงนั้น ด้วยประการฉะนั้นก็มีความหวังที่จะได้ที่ดินสำหรับสร้างวัดบ้านนา ดังนั้น คุณพ่อก็จะออกไปตามกลุ่มคริสตชนต่างๆ ในเขตมิสซัง เพื่อบอกบุญให้ช่วยกันสมทบทุนสร้างโบสถ์วัดนักบุญเปาโลกลับใจบ้านนา คุณพ่อได้ไปหาพระสังฆราชแปร์รอสอีกครั้งเพื่อให้มีคุณพ่อปลัดอยู่ที่หนองรี ระหว่างที่คุณพ่อไม่อยู่  เป็นระยะเวลานาน   เพื่อออกไปบอกบุญที่จะสร้างวัดบ้านนาและแล้วคุณพ่อก็ได้ส่งคุณพ่อสิงห์  มาเป็นคุณพ่อปลัดที่หนองรี เพื่อที่จะให้คุณพ่อสิงห์พอใจ 
 
คุณพ่อ จึงบอกว่าพระสังฆราชได้ส่งคุณพ่อสิงห์มาเป็นพ่อปลัดแต่พ่อต้องไปบอกบุญ และจะสร้างวัดบ้านนาพ่อขอแต่งตั้งคุณพ่อสิงห์เป็นพ่อเจ้าวัดแทน มีอำนาจเจ้าวัดทุกประการ และพ่อเองก็จะไม่มายุ่งเรื่องของวัดหนองรีนี้ คุณพ่อสิงห์แสดงความยินดีและเริ่มงานของท่านที่วัดนักบุญยอแซฟหนองรีต่อจาก คุณพ่อ เนื่องจากคุณพ่อได้รับเงินจำนวน 4,000 บาท จากอดีตเชลยศึก คุณพ่อจึงได้มอบธุระให้นายจิ้งเซี้ยง แซ่ลิ้ม พ่อของนายกู๋ แซ่ลิ้ม ไปจัดหาซื้อที่ดินเหมาะสมสำหรับสร้างวัด แต่ไม่สำเร็จ เพราะในสมัยนั้น เป็นหลังกรณีพิพาทอินโดจีน ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าพวกคาทอลิกคือฝรั่งเศส และดังนี้พวกคาทอลิกก็เป็นศัตรูของประเทศไทย ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะซื้อดินที่จะสร้างโบสถ์ของมิสซังได้  แต่ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาที่ดินสักแปลงหนึ่งเพื่อสร้างวัด สำหรับคริสตัง 750 คน 
 
คุณพ่อ จึงได้ให้คริสตังค์คนหนึ่งอยู่ที่หนองรีเป็นคนที่ไม่ใครรู้จักทั้งบ้านนาและ หนองรี และชื่อเสียงเขาก็ไม่ค่อยดี แต่คุณพ่อมีความมั่นใจและไว้ใจในตัวเขา ว่าเขาคงจะทำงานนี้ได้สำเร็จ เขาชื่อนายตน ประดิษฐ์ศิลป์ เพราะมีความคิดริเริ่ม คุณพ่อจึงให้เขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ และแม้แต่ภรรยาของเขาก็ไม่ให้รู้เขาเริ่มออกตระเวณดูตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์  ค.ศ. 1946  จึงซื้อได้สำเร็จ โดยหลอกเจ้าของที่ดินว่ามี คุณหลวงดนตรีที่กรุงเทพฯ จะมาสร้างตลาดใหญ่และต้องการซื้อที่ดินแปลงนี้ เจ้าของแบ่งขายเป็นแปลงเล็กๆ  และมีแปลงหนึ่งเหลืออยู่ทางทิศเหนือของถนนสุวรรณศร มีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา และทางทิศใต้ถนนก็ยืดยาวเนื้อที่ 4 ไร่ 48 ตารางวาห่างจากตลาดประมาณ 500 เมตร และยังมีอีกแปลงหนึ่งติดแปลงแรกทางทิศใต้ แต่ไม่ติดถนน เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา  เขายินดีให้ทั้ง 2 แปลงพร้อมกันโดยขอราคา 4,000 บาท และในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1946  ก็ได้ไปทำการโอนที่ดินสำนักงานที่สระบุรีเพราะเวลานั้นอำเภอบ้านนาขึ้นอยู่ กับจังหวัดสระบุรี เรื่องแบบแปลนและไม้ที่มาสร้างวัด  
 
ในตอน แรก   คุณพ่อก็ได้ทำแบบแปลนชั่วคราว โดยร่วมมือกับสถาปนิกคริสตังคนหนึ่งจากวัดเสาวภา    ซึ่งจะต้องเตรียมทุกอย่างเพื่อสร้างวัดใหม่และหอระฆัง  คุณพ่อจึงได้ให้นายสี่ ธรรมนิตย์ คริสตัง หนองรี ให้จัดหาหนุ่มหลายๆ คน เพื่อจะได้ไปเลื่อยไม้ที่ต้องการ ก็ได้หนุ่ม 8 คน มาหาและตกลงเรื่องราคา ตามชนิดของเนื้อไม้ โดยเริ่มเข้าป่าเริ่มฤดูแล้งในเดือนพฤศจิกายน  หลังจากที่ทุกอย่างได้วางไว้เรียบร้อยแล้ว คุณพ่อก็เริ่มออกไปเรี่ยรายบอกบุญครั้งแรก เพื่อจะสร้างวัดนักบุญเปาโล กลับใจบ้านนา วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1945 เวลาบ่ายคุณพ่อเริ่มออกไปจากบ้านหนองรี โดยเรือลำหนึ่งที่จอดคอยอยู่ที่สะพานวังต้นพร้อมคนแจวเรือที่รู้จักเส้นทาง ดี คุณพ่อได้ใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งเพื่อเดินทางไปวัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นอยู่ริมแม่น้ำหรือคลองเพื่อที่จะได้บอกบุญการสร้างวัดกับคริสต ชนทุกๆ วัด ในเขตมิสซัง คุณพ่อกลับถึงวัดหนองรีในราวสิ้นเดือนตุลาคม การเดินทางของคุณพ่อในสมัยนั้นก็แสนจะลำบาก เพราะต้องใช้เรือแจวๆ ไปในที่ต่างๆ ค่ำวันแรกในราว 4 ทุ่ม คนแจวก็นำเรือไปถึงคลองเจ็ด แล้วจอดพักรับประทานอาหาร พอดีบ้านนั้นเป็นบ้านของหลานพระสังฆราชยวง นิตโย และดังนี้ครอบครัวนิตโย ก็เป็นครอบครัวแรกที่ทำบุญสร้างวัดบ้านนา หลังจากได้พักผ่อนแล้ว  คนแจวเรือก็จัดแจงต่อไปจากวัดหนึ่งถึงอีกวัดหนึ่งตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ เจ้าเจ็ด บ้านหน้าโคก บ้านปลายนา บ้านแป้ง ปากน้ำโพ และไปตามแม่น้ำบางปะกง ปราจีน ปากคลอง  ท่าลาด แปดริ้ว เนื่องเขต แล้วผ่านกรุงเทพฯ เลยไปทางตะวันตก ตามแม่น้ำนครไชยศรี สามพราน สองพี่น้อง แล้วจึงกลับโดยอ้อมไปทางลำไทรและเสาวภาจนกลับถึงวังต้น หลังจากคุณพ่อกลับมาถึงบ้านนาก็พบกับปัญหายังซื้อที่ดินไม่ได้ คุณพ่อต้องให้อุบายต่างๆ จนในที่สุดก็สำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ และระหว่างนี้คุณพ่อก็ต้องเข้าไปในป่าทุกวันเพื่อไปดูพวกหนุ่มๆ ที่ให้ไปตัดไม้และไปให้กำลังใจแก่พวกเขาจนทำให้คุณพ่อเกือบจะไม่ได้กินอะไร เลยในแต่ละวัน  การเดินทางมากๆ ของคุณพ่อในทุกๆ วันก็ทำให้เท้าของคุณพ่อบวมและแตก มีน้ำไหลออกมาแทบจะเดินไม่ได้ ครั้งถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จเสร็จสิ้น ไม้ทั้งหมดได้ลำเลียงมาตามลำคลองเป็นคลองที่ไหลมาจากภูเขาผ่านบ้านนาไปถึง แม่น้ำนครนายก
 
เย็น วันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1946  จัดเก็บไม้ไว้เป็นกองเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อก็ไปนั่งบนกองไม้ คอยรถที่กลับมาจากสระบุรี เมื่อรถมาถึง นายตนก็ลงจากรถติดตามด้วยอาจารย์ซึ่งได้ขายที่ดินให้เราเรียบร้อยแล้วพร้อม หนังสือสัญญาขาย ซึ่งเป็นของนายตน จากนั้นวันที่ 8 มีนาคม คุณพ่อก็ได้เริ่มลงมือสร้างวัดนักบุญเปาโลกลับใจโดยให้สถาปนิกคนไทยเชื้อสายญวนที่มาจากเสาวภา พร้อมกับกรรมกรของเขา ในทุกๆ วัน คุณพ่อก็ต้องเดินทางจากหนองรีออกมาถึงวังไทรและเดินตามถนนถึงบ้านนา เพื่อตรวจงาน และนานๆ ที่คุณพ่อก็จะเข้ากรุงเทพฯ เพื่อซื้อตะปูที่ทำด้วยลวด เพราะสมัยนั้นหาตะปูแท้ไม่มี คริสตังสามเสนเป็นผู้ชำนาญในการทำตะปูแต่ราคาก็ค่อยข้างแพงมาก สำหรับหลังคาวัดคุณพ่อต้องซื้อสังกะสีแผ่นที่เก่าๆ เพราะสมัยหลังสงครามหาสังกะสีใหม่ไม่ได้ การก่อสร้างดำเนินไปจนเกือบจะเสร็จ วันนั้นตรงกับวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม เวลาบ่าย ขณะที่สถาปนิกกับพวกคนงานกำลังจะเตรียมปูพื้นก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น คุณพ่อคิดว่าเป็นปีศาจคงจะโมโหจัดหรืออย่างไรไม่รู้ได้เกิดลมพายุขึ้นทางทิศ ตะวันตกเฉียงใต้ ในทันทีทันใดพายุก็มาถึงเขตที่กำลังก่อสร้างวัดเป็นไซโคลนแบบไซโคลนผีโหม กระหน่ำ วัดที่เรากำลังสร้างจะแล้วเสร็จอยู่แล้วพังลงมาและพายุก็พัดหมุนต่อไปถึง ภูเขาจนถึงที่ๆ พวกหนุ่มหนองรี เคยไม่ตัดต้นไม้ระหว่างทางที่มันพัดผ่านไปนั้น ได้ถอนต้นไม้ทุกต้นตามทางล้มระนาด หลังจากพายุสงบแล้ว ภาพวัดที่เห็นเป็นภาพ ที่ยากจะอธิบายได้ถูกต้อง แต่ส่วนที่เป็นโกดังเก็บไม้และข้าวของที่อยู่ข้างๆ นั้น ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่มุงด้วยใบจากกลับไม่เป็นอะไรเลย ฉะนั้นคุณพ่อจึงว่าเป็นฝีมือของปีศาจแน่ๆ เลย ที่ทำไซโคลนครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อทำลายวัดบ้านนา ถึงแม้คุณพ่อจะมีความเสียใจเป็นอย่างมาก แต่คุณพ่อก็ไม่หมดความพยายามที่จะสร้างวัดให้กับชาวบ้านนา แต่กลับมีกำลังใจมากขึ้น และคิดว่าผีปีศาจจะชนะพระเป็นเจ้าได้อย่างไร พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชนะฉะนั้น  คุณพ่อก็เริ่มงานใหม่ด้วยการสั่ง พวกหนุ่มหนองรีไปเตรียมไม้เสียใหม่ในป่า
 
ส่วน คุณพ่อเองก็จะไปบอกบุญอีกครั้ง เป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้คุณพ่อไม่เพียงแต่จะบอกบุญที่กรุงเทพฯ เท่านั้น คุณพ่อยังขึ้นเรือเดินทะเล ชื่อเรือภาณุรังสี ซึ่งเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ-ศรีราชา และจันทบุรี  โดยไปพบคุณพ่อซีมอนและคุณพ่อซีมอนก็เป็นผู้พาคุณพ่อไปตามบ้านคริสตังใน เขตวัดจันทบุรี ท่าใหม่ และขลุง แล้วจึงกลับมาที่กรุงเทพฯ และก่อนที่จะกลับหนองรี และไปแวะที่เสาวภา ก็ยังได้รับความช่วยเหลือและการต้อนรับเป็นอย่างดีจากการที่ทำงานหนักขาดการ พักผ่อน ทำให้ร่างกายของคุณพ่อหมดกำลังลง ดังนั้น คุณพ่อจึงตัดสินใจไปหาพระสังฆราชแปร์รอส เพื่อขออนุญาตไปพักผ่อนสัก 1 เดือน  ที่เชียงใหม่ก่อนที่จะลงมือสร้างวัดบ้านนาใหม่ พระสังฆราชก็ยินยอมทันที แต่ในวันรุ่งขึ้นคุณพ่อโชแรง ซึ่งเป็นเหรัญญิกของมิสซังได้เสนอให้คุณพ่อไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศส มีกำหนด 6 เดือน เพราะเวลานั้นมีเรือของบริษัทอิสต์เอเชียติ๊กชื่อซีแลนดีอา กำลังจะออกจากกรุงเทพฯ ไปอามเตอร์ดัมในสิ้นเดือนกรกฎาคม เป็นเรือลำแรกที่จะเดินทางไปยุโรปตั้งแต่เริ่มสงคราม พระสังฆราชจึงตัดสินว่า แทนที่คุณพ่อจะไปพักผ่อนที่เชียงใหม่ 1 เดือน ท่านให้ไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศสมีกำหนด 6 เดือน  ก่อนที่จะกลับมาอยู่ที่บ้านนา แล้วท่านยังเสริมว่า เรื่องการสร้างวัดบ้านนานั้น คุณพ่อไม่ต้องเป็นห่วง พระสังฆราชจะเขียนจดหมายถึงคุณพ่อเลโอนาร์ด  ผลสุวรรณ เพื่อท่านจะได้สร้างวัดต่อไปเพื่อคอยคุณพ่อกลับมา
 
เมื่อคุณพ่อเดินทางกลับถึงหนองรี แล้วได้แจ้งให้คุณพ่อสิงห์ทราบว่าคุณพ่อตัดสินใจจะลาวัดหนองรีและบ้านนาเป็นการชั่วคราว พระสังฆราชแปร์รอส ตกลงยินยอมแล้ว ได้ให้คุณพ่อเลโอนาร์ด ผลสุวรรณ มาทำหน้าที่แทนผม 
 
วัน อาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1946  คุณพ่อได้ไปหาคุณพ่อเลโอนาร์ดและจะได้มอบจดหมายของพระสังฆราชให้คุณพ่อเลโอ นาร์ด และมอบเงินที่เหลือ 22,000 บาท ให้และชี้ให้ดูไม้ของต่างๆ ที่เหลืออยู่ในโกดัง รวมทั้งบอกเรื่องที่ดิน ซึ่งได้จดเป็นชื่อของนายตน ประดิษฐ์ศิลป์ ยังอยู่ที่สำนักงานที่ดินสระบุรี เพื่อรอการแบ่งแยกโฉนดอยู่ ซึ่งคุณพ่อเลโอนาร์ด จะต้องไปรับ ส่วนเรื่องสุดท้ายก่อนที่พวกทหารที่ค่ายเชลยศึกที่เขาชะโงกจะจากไปเขาได้ขอ ร้องให้ส่งรูปถ่ายวัดที่จะสร้างไปให้พวกเขา ซึ่งถ้าคุณพ่อเลโอนาร์ดสร้างเสร็จแล้วขอให้ถ่ายรูปแล้วส่งไปให้คุณพ่อที่ ฝรั่งเศส แล้วคุณพ่อจะจัดส่งต่อไปให้พวกเขา คุณพ่อเลโอนาร์ดฟังแล้วทำท่าทางแสดงความพอใจ แล้วทุกอย่างก็เรียบร้อย
 
คุณพ่อเลโอนาร์ด ผลสุวรรณ  ได้รักษาการแทนคุณพ่อลาร์เก และทำหน้าที่ที่สำคัญ สองเรื่องระหว่างเวลาที่คอยคุณพ่อลาร์เกกลับมา คือ เรื่องแรก การสร้างวัดใหม่  เรื่องที่สองไปรับโฉนดที่ดินของวัด 2 แปลง  ที่สำนักงานที่ดินสระบุรี เมื่อเจ้าหน้าที่ทำเสร็จแล้ว
 
ปี ค.ศ. 1947-1950  คุณพ่อเลโอนาร์ด  สิงหนาท  ผลสุวรรณ
คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 งานแรกที่คุณพ่อทำ คือดูแลโฉนดที่ดินบ้านนา ซึ่งค้างอยู่ที่สำนักงานที่ดินสระบุรี  ต่อมาในปี ค.ศ. 1949 คุณพ่อเลโอนาร์ด ได้สร้างบ้านพักให้ซิสเตอร์ แล้วได้ขอให้คุณแม่อธิการิณีอารามพระหฤทัยคลองเตย ได้ส่งซิสเตอร์ให้มาประจำอยู่ที่วัดบ้านนา พอสิ้นเดือนกุมภาพันธ์  ค.ศ. 1950 คุณพ่อเลโอนาร์ดปลดเกษียณ ไปอยู่วัดนครชัยศรีกับคุณพ่อเดชังป์
 
ปี ค.ศ. 1950-1955  คุณพ่อคาบริแอล เปแร็ง
คุณพ่อ เจ้าอาวาสองค์ที่ 3 กับคุณพ่อมาร์แชล โกเชต์ คุณพ่อปลัดคุณพ่อคาบริแอล เปแร็ง มาถึงมิสซังก็เริ่มเรียนภาษาไทยกับภาษาจีน คุณพ่อเปแร็งกับคุณพ่อโกเชต์ ได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรจึงจะติดต่อกับสังคมภายนอกได้นอกจากพวกคริสตัง จึงได้ตัดสินใจรื้อวัดและนำไม้มาสร้างเป็นโรงเรียน ใช้ชื่อว่า โรงเรียนมาลาสวรรค์พิทยา และใช้ห้องเรียนเป็นวัดและบ้านพักพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 1954 คุณพ่อโกเชต์ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อที่จะขยายโรงเรียนและเตรียมสร้างวัด
 
ปี ค.ศ. 1955-1968  คุณพ่อมาร์แชล โกเชต์
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 แทนคุณพ่อเปแร็งซึ่งประสบอุบัติเหตุต้องกลับไปรักษาตัวอยู่ที่ฝรั่งเศส คุณพ่อโกเชต์ได้สร้างหอพักเด็กนักเรียนประจำ เนื่องจากจำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนและวัดที่ได้สร้างไว้แต่ก่อนนั้นเล็กเกินไปแล้ว คุณพ่อจึงคิดที่จะสร้างวัดแยกออกต่างหาก จึงได้ออกไปบอกบุญและหาทุนเพื่อที่จะนำมาสร้างวัด จนคริสตังในกรุงเทพฯ รู้จักคุกพ่อดีทุกคน คุณพ่อต้องการสร้างวัดให้มีลักษณะแบบวัดไทยสมัยใหม่ จึงต้องใช้ทุนในการสร้างสูง วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1960 พระสังฆราชโชแรง ได้มาทำพิธีเสกศิลาฤกษ์และเสกระฆัง ซึ่งมีผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามถวายให้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1962  ได้มีพิธีเสกวัดบ้านนาหลังใหม่อย่างสง่านอกจากนี้แล้วคุณพ่อโกเชต์ยังได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีกหลายแปลงที่บ้านนา
 
ปี ค.ศ. 1969-1973  คุณพ่อร็อค วิศิษฎ์ หริพงศ์
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 5 คุณพ่อได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นตึก 2 ชั้น พอที่จะรับนักเรียนได้อย่างน้อย 800 คน อาคารเรียนหลังใหม่ได้ทำการก่อสร้างปลายปี ค.ศ. 1969 ส่วนโรงเรียนหลังเก่าคุณพ่อได้รื้อทิ้งและได้ใช้ไม้มาสร้างบ้านพักพระสงฆ์ ชั่วคราว และต่อมาก็ได้สร้างใหม่อย่างถาวร นอกจากนี้แล้วคุณพ่อยังได้ทำการขุดบ่อบาดาล เพื่อให้โรงเรียนและหอพักมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ หลังจากนั้นแล้วคุณพ่อยังได้ทำการสร้างรั้วด้านริมถนนสุวรรณศร และปรับปรุงสนามให้เป็นสนามฟุตบอลสำหรับนักเรียนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย
 
 
ปี ค.ศ. 1973-1975  คุณพ่อมีคาแอล อดุลย์  คูรัตน์
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 6 คุณพ่อได้ดูแลคริสตังของวัดบ้านนา และวัดหนองรี นอกจากดูแลวัดทั้งสองแห่งนี้แล้ว คุณพ่อยังต้องดูแลโรงเรียนมาลาสวรรค์พิทยาและโรงเรียนสิงห์ประสาทอีกด้วย และยังได้ต่อเติมรั้วจากคุณพ่อวิศิษฏ์ที่ได้สร้างก่อนย้ายไป โดยการสร้างคานรองรับรั้วตามแนวที่ดินเบอร์ 6 จนถึงเขตสุสาน แล้วทำคานตามเขตแบ่งสุสานจากสนามฟุตบอล แต่ยังทำไม่เสร็จเพราะว่าพระอัครสังฆราชได้เรียกคุณพ่อไปที่วัดเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ ไปแทนคุณพ่อปีโอซึ่งกลับไปประเทศฝรั่งเศส คุณพ่ออดุลย์ไปในฐานะเป็นพ่อปลัดชั่วคราวก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อ เจ้าอาวาสวัดที่เจ้าเจ็ด
 
ปี ค.ศ. 1975-1982  คุณพ่อวิกเตอร์ ลาร์เก
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ครั้งที่ 2 อีกครั้ง  คุณพ่อได้ก่อตั้งคณะเยาวชนของวัดขึ้น และสร้างรั้วล้อมรอบที่ดินของวัด สร้างศาลาประชาคมสำหรับตั้งศพ และให้คริสตังมาสวดภาวนาหน้าศพพร้อมกัน และยังใช้เป็นที่สำหรับการประชุมต่างๆ ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บรรดาคริสตังวัดบ้านนาเป็นอย่างมาก ปี ค.ศ. 1982  คุณพ่อได้ทำเรื่องจดทะเบียนที่ดินของวัดบ้านนาจำนวน 25 ไร่เศษ ให้เป็นของมิสซังได้สำเร็จ โดยการรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย  เนื่องจากอาคารเรียนหลังเก่าที่ใช้เป็นอาคารเรียนอนุบาลนั้นชำรุดมากมายและ เป็นอันตรายแก่เด็กนักเรียน ซึ่งขณะนั้น คุณพ่อไพริน เกิดสมุทร ปลัดของคุณพ่อลาร์เก ซึ่งรักษาการณ์แทนคุณพ่อลาร์เก ซึ่งกลับไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศส ได้สร้างอาคารอนุบาลใหม่เป็นไม้แข็งแรง หลังคาเป็นคอนกรีต ต่อมาในปี ค.ศ. 1984 อาคารหลังนี้ได้ถูกรื้อไป
 
ปี ค.ศ. 1982-1986  คุณพ่อยอห์น ไพริน เกิดสมุทร
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 8 พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู  ได้จัดการบูรณะวัดบ้านนา และได้จัดสร้างตึกอนุบาลเป็นตึก 2 ชั้นสวยงาม และยังได้สร้างหอพักนักเรียนประจำเป็นตึก 2 ชั้นด้วย สร้างหอประชุม โรงอาหาร บ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักซิสเตอร์ และยังได้ทำการสร้างถนนให้รถยนต์เข้าออกได้สะดวกสบาย นอกจากนี้คุณพ่อยังได้จัดสร้างอนุสาวรีย์นักบุญเปาโล ไว้ทางบริเวณด้านหน้าของวัดอย่างสง่า ซึ่งทำการเสกพร้อมกับอาคารต่างๆ ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1986  ซึ่งเป็นวันฉลองหิรัญสมโภชวัดหลังปัจจุบัน และได้ปลูกต้นไม้ประเภทยืนต้นบริเวณภายใน ทำให้บริเวณโรงเรียนและวัดร่มรื่นน่าอยู่
 
 
ปี ค.ศ. 1986-1987  คุณพ่อยอแซฟ บรรจบ โสณ
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 9 แต่คุณพ่อได้ดำรงตำแหน่งเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น ก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากสุขภาพของคุณพ่อไม่ค่อยดี
 
ปี ค.ศ. 1987-1988  คุณพ่อยอแซฟ ธวัช  พันธุมจินดา
คุณพ่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 10 แต่คุณพ่อได้ดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียว
 
ปี ค.ศ. 1988-1994  คุณพ่อแอนโทนี บัณฑิตย์  ประจงกิจ
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 11 คุณพ่อบัณฑิตได้ลงมือบริหารโรงเรียนอย่างจริงจัง  ทำให้นักเรียนเพิ่มมากขึ้น เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แล้ว ทำให้จำนวนห้องเรียนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เข้ามาศึกษา คุณพ่อจึงได้จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น 5 ห้องเรียน บริเวณด้านทางเข้าสุสาน และคุณพ่อยังได้ปรับปรุงอาคารเรียนหลังเก่า โดยการทาสีทั้งภายนอกและภายในเป็นการสร้างบรรยากาศให้กับนักเรียนละผู้ที่มา พบเห็น คุณพ่อได้นำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาสอนในโรงเรียนเป็นวิชาเสริมให้กับ นักเรียนและใช้งานด้านการบริหารโรงเรียน ทำให้การทำงานมีความคล่องตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิม ปรับปรุงห้องสุขา และขยายจำนวนห้องสุขาให้มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากพัฒนาโรงเรียนแล้ว คุณพ่อยังได้ปรับปรุงด้านหอพักนักเรียนประจำด้วยการให้นักเรียนประจำเพิ่ม จำนวนมากขึ้น และยังได้ติดพัดลมภายในห้องเรียนแต่ละห้องอีกด้วย นอกจากบริหารโรงเรียนแล้ว คุณพ่อยังได้ปรับปรุงเครื่องเสียงภายในวัดใหม่ ทำให้เครื่องเสียงในวัดฟังชัดเจนขึ้น และทุกๆ วันเสาร์ คุณพ่อยังได้นำแม่พระไปสวดตามบ้านพร้อมกับบรรดาสัตบุรุษด้วย ทำให้สัตบุรุษมีความศรัทธามากขึ้น 
 
ปี ค.ศ. 1994-1999  คุณพ่อเปาโล พจนารถ  นิรมลทินวงศ์
คุณพ่อ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 12 ขณะนั้นนักเรียนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อจึงได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราวต่ออาคารชั่วคราวเดิมออกมาอีก 5 ห้อง เพื่อรองรับจำนวนนักเรียน พร้อมทั้งจัดซื้อที่ดินเพิ่มอีก 6 ไร่ 20 ตารางวา และยังได้ติดตั้งพัดลมเพิ่มจาก 1 ตัวเป็น 2 ตัวแต่ละห้องเรียนอีกด้วย นอกจากคุณพ่อได้บริหารงานโรงเรียนแล้ว คุณพ่อยังบริหารงานวัดด้วย คุณพ่อได้ออกเยี่ยมบ้านสัตบุรุษทุกบ้าน จัดทำทะเบียนวัดใหม่ นำแม่พระออกไปสวดตามบ้านทุกๆ วันเสาร์พร้อมกับบรรดาสัตบุรุษ และยังนำบรรดาสัตบุรุษเตรียมจิตใจสำหรับการฉลองครบ 50 ปี ของวัดนักบุญเปาโล  โดยการนำเอาพระรูปนักบุญเปาโลไปสวดตามบ้านเพื่อเตรียมจิตใจในการฉลองที่มา ถึงและยังจัดให้มีการแห่แม่พระทุกๆ เดือน เป็นการเตรียมจิตใจก่อนการฉลอง 50 ปี  ที่จะถึงและคุณพ่อยังได้จัดสร้างสวนหย่อมรอบๆ บริเวณวัดอย่างสวยงามทำให้บริเวณวัดดูร่มรื่น และปรับขยายถนนและรั้วบ้านคุณพ่อ- ซิสเตอร์ บริเวณภายในให้มีความกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้การจราจรมีความคล่องตัวกว่าเดิม นอกจากนี้แล้วคุณพ่อยังได้เป็นแบบอย่างของความศรัทธาต่อพระอีกด้วย
 
คุณพ่ออเล็กซิส สุรชัย  กิจสวัสดิ์  
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 13 ปี ค.ศ. 1999-2004
 
คุณพ่อโยเซฟ ศุภศิลป์   สุขสุศิลป์ 
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 14 ปี ค.ศ. 2004-2009  
 
คุณพ่อประยุทธ   ชลหาญ
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 15 ปี ค.ศ. 2009 – 2013
 
คุณพ่อธนากร  เลาหบุตร  
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 16 ปี ค.ศ. 2013– 30 เม.ย. 2016      
เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 ได้ทำการติดตั้งระบบแอร์ในวัด
 
คุณพ่อประชาชาติ  ปรีชาวุฒิ
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 17  30 เม.ย. 2016 - 2021
  
ปี ค.ศ. 2016
- ฉลองวัด 70 ปี ชุมชนแห่งความเชื่อ
- ปรับปรุงสถานที่ ทาสีหลังคาวัด บริเวณลานหน้าวัด สุสานของวัด ห้องน้ำ ศาลาสวดศพ บ้านพักพระสงฆ์ ซิสเตอร์ และบริเวณสนามหญ้าโดยรอบของวัด
- วัดน้อยของวัดใช้ทำมิสซาวันธรรมดาตอนเช้า
- จัดเวลามิสซาวันอาทิตย์จาก 10.00 น. มาเป็น 09.30 น.
- โครงการอภิบาลเด็กและเยาวชนของวัด
- โครงการอภิบาลกลุ่มครอบครัว
- โครงการอภาลกลุ่มคริสตชนชาวเมียนม่า
- โครงการคำสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนและของวัด
- ศาลาสันติสุข ที่พบปะพูดคุยของสัตบุรุษหลังมิสซา
 
ปี ค.ศ. 2017
- ซ่อมปรับปรุงหลังคาโรงจอดรถของดรงเรียนที่โดนลมพายพัดทำลาย
- ขยายห้องฟังแก้บาปอีก 1 ห้อง ด้านหน้าวัด
- ขุดวางท่อระบายน้ำรอบวัดเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง

ปี ค.ศ. 2018 

- ปรับปรุงพื้นถนนรอบวัดและโรงเรียน
- ปรับปรุงระบบน้ำดื่ม-น้ำใช้ทั้งของวัดและโรงเรียน
- ปรับปรุงสวนด้านหลังสุสานเป็นแปลงเกษตร
- การอภิบาลเด็กและยาวชนของวัด กลุ่มพระวาจา และวิถีชุมชนวัด
- การอภิบาลกลุ่มครอบครัว ฟื้นฟูชีวิตครอบครัว การติดตามและจัดทำทะเบียนครอบครัว
- คำสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียน และของวัดในวันอาทิตย์

ปี ค.ศ. 2019

- ปรับปรุงพื้นถนนรอบวัดและโรงเรียน
- ปรับปรุงระบบน้ำดื่ม - น้ำใช้ทั้งของวัดและโรงเรียน
- ปรับปรุงสวนด้านหลังสุสานเป็นแปลงเกษตร
- ติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ 2 เครื่อง ที่โรงยิม
- กลุ่ม IT จิตอาสา เพื่องานอภิบาล ประชาสัมพันธ์ ข่าวสารของวัด
- กลุ่มเด็กนักเรียนทุนการศึกษา เด็กบ้านนาซาเร็ธ เพื่อการจัดเตรียมพิธีกรรม

ปี ค.ศ. 2020 

- เตรียมฉลอง 75 ปี ชุมชนแห่งความเชื่อของวัดและฉลอง 60 ปี ของวัดหลังปัจจุบัน
- ติดตั้งหอระฆังวัด จากระฆังเดิมที่มีอยู่แล้ว
- ปรับปรุงระบบเครื่องเสียง และจอรับภาพ-โปรเจคเตอร์ภายในวัด

คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย  ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 18  ปี ค.ศ. 2021- ปัจจุบัน

- ปรับปรุงทาสีภายในวัด ติดตั้งกระจกสี ประตู 
- ซ่อมแซมปรับปรุงห้องน้ำหน้าสุสาน เพิ่มห้องน้ำผู้สูงอายุ/คนพิการ 2 ห้อง

 
เวลามิสซา
วันอาทิตย์ ภาษาไทย เวลา 09.30 น.
วันธรรมดา ภาษาไทย เวลา 06.30 น.
วันศุกร์ต้นเดือน ภาษาไทย เวลา 19.30 น.
วันเสาร์   ภาษาไทย เวลา 19.30 น.
 
 
แผนที่การเดินทาง
 
 
 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown