มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED
HOT NEWS
คำสอนผู้ใหญ่และเด็ก อาสนวิหารอัสสัมชัญ ก: คำสอนผู้ใหญ่ อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ 2024 เริ่มเรียนวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2024  - สำหรับผู้ใหญ่ เพื่อเตรียมตัวเป็นคริสตชน เรียนเวลา 10.00 - 12.00 น. - สำหรับเด็ก เพื่อเตรียมรับศีลมหาสนิทและศีลกำลัง เรียนเวลา 10.00 - 11.00 น. ขอเชิญผู้สูงอายุ และผู้ป่วย เข้ารับศีลเจ: ขอเชิญผู้สูงอายุ และผู้ป่วย เข้ารับศีลเจิมคนไข้ ณ วัดราชินีแห่งสันติสุข ในวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2024 เวลา 9.00 น. คำสอนผู้ใหญ่ วัดเซนต์จอห์น อัครสาวก 2024: คำสอนผู้ใหญ่ วัดเซนต์จอห์น อัครสาวก 2024 เรื่มเรียนตั้งแต่ วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2024 เรียนทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.30 - 12.30 น.  ขอเชิญร่วมสมโภชพระวรกายพระโลหิตพระคริสตเ: ขอเชิญร่วมมิสซาแรกพระสงฆ์ใหม่ วัดนักบุญเ: ขอเชิญร่วมมิสซาแรกพระสงฆ์ใหม่ วัดนักบุญเปโตร วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2024 เวลา 10.00น.

ประวัติสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส องค์ที่ 266

องค์ที่ 266 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (Pope Francis 2013-ปัจจุบัน)

 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
 
(Pope Francis ค.ศ. 2013-ปัจจุบัน) 
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส  เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 มีพระนามเดิมว่า พระคาร์ดินัล ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ อายุ 76 ปี
 
 
ฮอร์เก แบร์โกลิโอ เกิดที่ กรุงบัวโนส-เอเรส  เมืองหลวงของอาร์เจนตินา  พระองค์มีพี่น้อง 5 คน เป็นบุตรของคนงานทางรถไฟ เกิดเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2479
 
พระองค์ทรงได้รับการศึกษาและปริญญาโทในวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยของกรุงบัวโนส-เอเรส แต่ต่อมาได้ตัดสินใจเป็นพระสงฆ์คณะเยสุอิต และเข้าศึกษาที่สามเณราลัยเยสุอิตที่วิลลา เดโวโต
 
ท่านได้ศึกษาอักษรศาสตร์ที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี และได้รับปริญญาวิชาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งกรุงบัวโนส-เอเรส ช่วงเวลา ระหว่าง ปี ค.ศ. 1964 และ ค.ศ. 1965 ท่านได้เป็นอาจารย์สอนวิชาวรรณคดีและจิตวิทยาที่วิทยาลัย Immacolada ในแคว้นซานตา-เฟ และในปี ค.ศ. 1966 ได้สอนวิชาเดียวกันที่ Colegio del Salvador ที่กรุงบัวโนส-เอเรส
 
 
ในปี ค.ศ. 1967 ท่านกลับมาศึกษาเทววิทยาต่อไปและได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1969   หลังจากได้ปฏิญาณตนเป็นเยสุอิตตลอดชีวิต  ในปี ค.ศ. 1973 แล้ว   ท่านได้เป็นนวกาจารย์ที่สามเณราลัย Villa Barilari ที่เมือง San Miguel ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านก็ได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะแขงเยสุอิตของประเทศอาร์เจนตินา
 
ในปี ค.ศ. 1980 ท่านกลับมาที่เมือง San Miguel เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเยสุอิต ซึ่งเป็นงานที่ผู้ที่เคยเป็นเจ้าคณะแขวงมาแล้วมักจะไม่ได้รับ
 
ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยของสังฆมณฑลบัวโนส-เอเรส เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1992 ท่านเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยหนึ่งในสามท่านของสังฆมณฑลและปฏิบัติตนแบบเงียบๆ ธรรมดา ใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการดูแลมหาวิทยาลัยคาทอลิก ให้คำปรึกษาแนะนำแก่พระสงฆ์ เทศน์ และโปรดศีลอภัยบาป
 
ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชผู้มีสิทธิสืบตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งพระอัครสังฆราชองค์ใหม่ของกรุงบัวโนส-เอเรส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 
 
ได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับท่าทีของพระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอในช่วงเวลาที่ทหารเข้ายึดครองอำนาจในอาร์เจนตินา ระหว่างปี ค.ศ. 1976-1983 ที่ได้ปราบปรามคู่ปรับทางการเมืองอย่างโหดร้าย คาดกันว่าในช่วงนั้นมีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายไปเป็นจำนวนตั้งแต่ 13,000 ถึงมากกว่า 30,000 คน
 
ตัวอย่างเช่นกรณีของพระสงฆ์หนุ่มสององค์ที่ถูกคณะทหารจับตัวไว้ นักวิจารณ์กล่าวว่า พระคาร์ดินัล ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าคณะแขวงเยสุอิต  ไม่ได้ให้การสนับสนุนเพียงพอแก่ผู้ปฏิบัติงานของพระศาสนจักรต่อต้านอำนาจปกครองของทหาร
 
แต่ก็มีอีกหลายคนที่กล่าวว่าท่านได้พยายามเจรจาลับๆ เพื่อให้คณะทหารปล่อยตัวพระสงฆ์ทั้งสององค์ และหนังสือพิมพ์รายวัน “La Nacion” ได้ให้ข่าวว่าโฆษกของพระคาร์ดินัลกล่าวว่า ข้อกล่าวหานั้นเป็น “การใส่ความแบบเก่าๆ”
 
นับตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นพระอัครสังฆราชของกรุงบัวโนส-เอเรส ในปี ค.ศ. 1998 พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอ  เป็นผู้ทำงานแบบเงียบๆ อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน 
 
ท่านใช้รถประจำทาง ไปเยี่ยมเยียนคนยากจน ดำเนินชีวิตอยู่ในห้องชุดเรียบง่าย และทำอาหารรับประทานเอง ชาวบัวโนส-เอเรสหลายคนรู้จักท่านเพียงในนามของ “คุณพ่อฮอร์เก”
 
ความประทับใจที่ทุกคนนึกถึงท่านคือ ปี 2001 ท่านไปถวายมิสซาในศูนย์ผู้ป่วยโรคเอดส์ ท่านได้ "ล้างเท้าและจุมพิต" เท้าของผู้ป่วยโรคเอดส์ 12 คนด้วย
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงมีตำแหน่งในองค์กรบริหารพระศาสนจักรส่วนกลาง (Roman Curia) ดังนี้
 
- สมณกระทรวงพิธีกรรม และศีลศักดิ์สิทธิ์ (Congregation for the Divine Worship and the Discipline of the Sacraments) 
- สมณกระทรวงสถาบันนักพรตและองค์การแพร่ธรรม (The Congregation for Institutes of Consecrated Life and for Societies of Apostolic Life ) และ
- สมณสภาเพื่อครอบครัว (Pontifical Council for the Family)
 
พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอ ได้จัดตั้งเขตวัดใหม่ๆ หลายแห่ง ได้ปรับโครงสร้างของสำนักงานบริหาร ได้เอาใจใส่เป็นการส่วนตัวต่อสามเณราลัย และได้ริเริ่มโครงการด้านอภิบาลหลายโครงการ เช่น คณะกรรมการสำหรับผู้หย่าร้าง ท่านได้ช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้านสังคม หรือการเมืองแทบทุกครั้งภายในเมือง บรรดาพระสงฆ์บวชใหม่ ได้รับสมญาว่าเป็น “พระสงฆ์ยุคแบร์โกลิโอ” และไม่มีนักการเมืองหรือผู้ทำงานด้านสังคมคนใดที่ไม่พยายามหาโอกาสจะพบท่าน เป็นการส่วนตัว
 
 
ท่านเป็นประธานร่วมของสมัชชาพระสังฆราชเมื่อปี ค.ศ. 2001 และได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษาของสภาสมัชชา ท่านจึงเป็นผู้ที่บรรดาพระสังฆราชของโลกรู้จักดี
 
ท่านยังได้เขียนหนังสือหลายเล่มเรื่องชีวิตจิตและการรำพึงภาวนาและกล่าวอย่างชัดเจนต่อต้านการทำแท้งและการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
เมื่อ ปี ค.ศ. 2010 เมื่อประเทศอาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกในทวีปลาตินอเมริกาที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอได้สนุบสนุนคณะสงฆ์ทั่วประเทศให้ส่งเสริมชาวคาทอลิกคัดค้านการออกกฎหมายนี้ เพราะ –ท่านกล่าวว่า – ถ้ากฎหมายนี่มีผลใช้บังคับ “ก็จะเป็นการทำร้ายครอบครัวอย่างรุนแรง”
 
ยังกล่าวอีกว่า ถ้าคู่แต่งงานเพศเดียวกันรับอุปการะเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม “ก็จะมีผลทำให้ (เด็กเหล่านั้น) ไม่ได้รับพัฒนาการแบบมนุษย์ที่บิดามารดาต้องเป็นผู้มอบให้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า”
 
 
ในปี ค.ศ. 2006 ท่านยังวิพากวิจารณ์ข้อเสนอของรัฐบาลอาร์เจนตินาที่จะรับรองให้ทำแท้งได้ในบางกรณีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎหมาย อย่างกว้างขวาง ท่านกล่าวหารัฐบาลว่าไม่ให้ความเคารพ ต่อค่านิยมที่ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นอยู่ และพยายามที่จะทำให้พระศาสนจักรคาทอลิก “หวั่นไหว ในการปกป้องศักดิ์ศรีของบุคคล”
 
บทบาทของท่านหลายครั้งผลักดันให้ท่านต้องกล่าวชัดเจนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ บทเทศน์และคำปราศรัยของท่านกล่าวพาดพิงตลอดเวลาถึงความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน พระศาสนจักรและประเทศชาติจำเป็นต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นที่ยอมรับ ได้รับความเคารพนับถือและได้รับความเอาใจใส่ดูแล
 
แม้จะไม่เป็นนักการเมืองโดยเปิดเผย พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอก็ไม่ได้พยายามที่จะปิดบังผลกระทบด้านการเมืองและสังคมจากคำสอนของพระวรสาร โดยเฉพาะในประเทศที่ยังจะต้องฟื้นขึ้นวากวิกฤติการณ์สาหัสด้านเศรษฐกิจ
 
 
การขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ได้มีการจัดการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา โดยกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556 
 
การเลือกตั้งสำเร็จลงเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งเต็มวันวันแรก หลังจากการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 5  โดยพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวน 115 องค์  ผลปรากฏว่าพระคาร์ดินัล ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ อัครมุขนายกแห่งบัวโนส- เอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้รับเลือก และทรงเลือกพระนาม "ฟรานซิส" ซึ่งหมายถึง นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี นับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกจากทวีปอเมริกา และคณะเยสุอิตในวันที่ทรงได้รับเลือกตั้ง สันตะสำนักประกาศว่าพระนามอย่างเป็นทางการของพระองค์คือ"ฟรานซิส" ไม่ใช่ "ฟรานซิสที่ 1" พระองค์จะมีพระนามว่าฟรานซิสที่ 1 ก็ต่อเมื่อในอนาคตมีสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ 2 
 
 
ตราประจำพระองค์
พระมาลาทรงสูงสีขาวแถบสีทองสามชั้น แทนสัญลักษณ์มงกุฎพระสันตะปาปา (Tiara)  แต่เดิมมงกุฏนี้ จะปรากฏอยู่ในตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาทุกพระองค์  ในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้ทรงให้ยกเลิกการทรงมงกุฎนั้น  แต่ก็ยังมีการนำตรามงกุฎมาใช้ประกอบ ในตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 1 และ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 จวบจนสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16  พระองค์ได้เปลี่ยนสัญลักษณ์มาใช้เป็นพระมาลาทรงสูงแทน โดยให้มีแถบสีทอง 3 แถบวางขนานในแนวนอน หมายถึง  อำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสันตะปาปา คือ 
- การจัดระเบียบให้ทุกอย่างถูกต้อง และศักดิ์สิทธิ์
- “การปกครองด้วยความยุติธรรม”  และ “การเทศน์สอน”
 
แถบสัญลักษณ์ทั้งสามนี้ เป็นความหมายเดียวกับมงกุฎสามชั้น ในตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ โดยแถบสีทองทั้ง 3 แถบดังกล่าวถูกเชื่อมด้วยแถบสีทองที่เชื่อมคาดต่อลงมาในแนวตั้ง แสดงถึงหน้าที่ทั้งสามรวมกันเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งฐานะเป็นประมุขสูงสุดแห่งพระศาสนจักร
 
กุญแจไขว้ 2 ดอก เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจแห่งพระคริสตเจ้า ซึ่งได้ประทานให้กับนักบุญเปโตรอัครสาวก และผู้ที่สืบตำแหน่งต่อจากท่าน
“เราจะมอบกุญแจสวรรค์ไว้กับท่าน สิ่งใดที่ท่านผูกไว้ในโลกนี้ ก็จะผูกในสวรรค์ด้วย และสิ่งใด ที่ท่านจะแก้ไขในโลกนี้ก็จะได้รับการแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ. 16:19)
 
กุญแจสีทอง หมายถึง อำนาจที่ผูกไว้กับสวรรค์
 
กุญแจสีน้ำเงิน คืออำนาจทางชีวิตฝ่ายจิตบนโลก
 
กุญแจทั้งสองดอก ถูกคาดรวมไว้ด้วยเชือก แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักบุญเปโตร และผู้ที่สืบทอดตำแหน่งของท่าน
 
ตราสัญลักษณ์ในพื้นโล่สีฟ้า เป็นสัญลักษณ์ที่พระสันตะปาปาฟรันซิสทรงใช้ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นอัครมุขนายก แห่งอัครสังฆมณฑลบัวโนสไอเรส ประเทศอาเจนตินา
 
พระอาทิตย์สีทอง ซึ่งมี อักษร ย่อ IHS  ซึ่งเป็นพระนามของพระเยซูเจ้า ในภาษากรีก และ ตะปู 3 ดอก อันเป็นตราของคณะเยซูอิต ซึ่งเป็นคณะที่ท่านสังกัด
 
ด้านซ้ายล่าง ดาวสีทอง ห้าแฉก มีความหมายถึงพระนางมารีย์ พรหมจารีย์
 
ด้านขวาล่าง ช่อดอกนาร์โด (Nardo) มีความหมายถึงนักบุญโยเชฟ ภัสดาผู้บริสุทธิ์ของพระนางมารีย์ และพระบิดาบุญธรรมของพระเยซูเจ้า
 
 
คติพจน์
ในภาษาละติน แปลความได้ว่า “เพราะทรงเห็นเขาผ่านสายตาแห่งความเมตตา และทรงเลือกเขา” ซึ่งมาจากพระวรสารตอนที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกมัทธิวคนเก็บภาษีเพื่อให้มาติดตาม เป็นอัครสาวก ของพระองค์
 
วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2013 เวลา 17.00 น. สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย จัดพิธีบูชาขอบพระคุณถวายพระพรแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก โอกาสเข้ารับตำแหน่งของพระองค์ ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก 
 
 
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณ ร่วมกับพระอัครสังฆราชพอล ชาง อิน-นัม เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย กัมพูชา พม่า ลาว ถึงประเทศไทย คุณพ่ออิกญาซีโอ เชฟฟาเลีย เลขา สมณทูต พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช  พระสังฆราชประธาน ศรีดารุณศีล พระสังฆราชปัญญา กฤษเจริญ พระสังฆราชบรรจง ไชยรา พระสังฆราชชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ พระสังฆราชวีระ อาภรณ์รัตน์ พระสังฆราชสิริพงษ์ จรัสศรี พระสังฆราชลือชัย ธาตุวิสัย พระสังฆราชพิบูลย์ วิสิฐนนทชัย พร้อมด้วยพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และพี่น้องสัตบุรุษจำนวนมาก มาร่วมพิธี
 
วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2019 ฉลองครบรอบปีที่ 6 แห่งสมณสมัยของ พระสันตะปาปา ฟรังซิส โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พร้อมด้วย พระอัครสังฆราช พอล ชาง อิน-นัม สมณทูต
 
 
พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู และบรรดาพระสังฆราช ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ มีรองอธิบดีกรมการศาสนา ผู้แทนศาสนาต่างๆ และสัตบุรุษมาร่วมเป็นจำนวนมาก

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown