Lectio Divina เมษายน 2017
- รายละเอียด
- หมวด: Lectio Divina 2017
- เขียนโดย พระคุณเจ้าประธาน ศรีดารุณศีล
- ฮิต: 1058
Lectio Divina : มิสซาในพระวาจา - 29 เมษายน 2017
มอบเครื่องหมายแห่งสันติสุขให้แก่กันและกัน
ขณะที่ท่านอ่านพระวาจาของพระเจ้า ให้พระวาจานี้สอนและเปลี่ยนจิตใจของท่าน
Lectio (พระเจ้าตรัสอะไร)
มัทธิว 5:21-24
“ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้อง จะต้องขึ้นศาล ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่’ ผู้นั้นจะต้องขึ้นศาลสูง ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่บัดซบ’ ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษถึงไฟนรก
ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น
ยอห์น 14:25-29
เราบอกสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง
ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน
แต่พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้า
ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้น
จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง
และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เรา
เคยบอกท่าน
เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย
เราให้สันติสุขของเราแก่ท่าน
เราให้สันติสุขแก่ท่าน ไม่เหมือนที่โลกให้
ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือมีความกลัวเลย
ท่านได้ยินที่เราบอกกับท่านแล้วว่า
เรากำลังจะไปและเราจะกลับมาหาท่านทั้งหลาย
ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา
เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา
และบัดนี้เราได้บอกท่านทั้งหลาย
ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น
เพื่อว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะเชื่อ
โรม 16:12-16
ขอฝากความคิดถึงตรีเฟนาและตรีโฟสาผู้ทำงานเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ขอฝากความคิดถึงเปอร์สิสที่รัก ผู้ทำงานมากมายเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ขอฝากความคิดถึงรูฟัส ผู้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกสรร และขอฝากความคิดถึงมารดาของเขา ซึ่งเป็นเสมือนมารดาของข้าพเจ้าด้วย ขอฝากความคิดถึงอาสินครีตัส ฟะเลโกน เฮอร์เมส ปัทโรฟัส เฮอร์มาสและบรรดาพี่น้องที่อยู่กับพวกเขา ขอฝากความคิดถึงฟีโลโลกัสและยูเลียเนเรอัสและน้องสาวของเขา และขอฝากความคิดถึงโอลิมปัสและผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคนที่อยู่กับพวกเขา ท่านทั้งหลายจงทักทายกันด้วยการจุมพิตศักดิ์สิทธิ์ พระศาสนจักรทุกแห่งของพระคริสตเจ้าขอฝากความคิดถึงท่านทั้งหลาย
ทำความเข้าใจกับพระวาจา
พยายามเข้าใจความหมายจุมพิตแห่งสันติของคนโบราณ และพยายามเข้าใจว่า เหตุใดการมอบสันติสุขเช่นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมพระศาสนจักร
จดหมายของนักบุญเปาโลเต็มไปด้วยคำทักทายบุคคลต่างๆ ท่านเชื่อว่าผู้มีความเชื่อทุกคนรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า และท่านคาดหมายให้ผู้มีความเชื่อทั้งหลายแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ออกมาตามธรรมเนียมของตน ในตอนท้ายจดหมายหลายฉบับของท่านนักบุญเปาโลขอให้ผู้มีความเชื่อ “ทักทายกันด้วยการจุมพิตศักดิ์สิทธิ์” (รม 16:16; 1 คร 16:20; 2 คร 13:12; 1 ธส 5:26)
ในยุคพันธสัญญาเดิม ประชาชนจูบหรือจุมพิตแก้มกันเพื่อแสดงความรักต่อบุคคลในครอบครัว หรือต่อเพื่อนสนิท การจุมพิตนี้อาจบ่งบอกถึงการคืนดีกัน เช่น เมื่อยาโคบและเอซาวกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง (ปฐก 33:4) หรือบ่งบอกความใกล้ชิดสนิทสนมที่กลับคืนมา เช่นเมื่อโยเซฟพบกับบรรดาพี่ชายของเขาอีกครั้งหนึ่ง (ปฐก 45:15) ในพันธสัญญาใหม่ การจุมพิตยังคงเป็นเครื่องหมายแสดงความรักและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เช่นที่บิดาทักทายบุตรล้างผลาญของเขา (ลก 15:20) หรือเมื่อเปาโลอำลาผู้อาวุโสชาวเอเฟซัส (กจ 20:37) พระเยซูเจ้าทรงตำหนิซีโมนที่ไม่จูบคำนับพระองค์เพราะเป็นธรรมเนียมที่บุคคลใกล้ชิดกันจะจูบกันเมื่อเขาพบกัน (ลก 7:45) การจูบเป็นเครื่องหมายสำคัญของความรักที่แท้จริง จนถึงกับว่าการจูบที่ยูดาสใช้เป็นเครื่องหมายชี้ตัวให้จับกุมพระเยซูเจ้า(มธ 26:49) เป็นการแสดงการทรยศในรูปแบบที่ต่ำช้าที่สุดในสายตาของพระศาสนจักรยุคแรก
“จุมพิตศักดิ์สิทธิ์” ที่เปาโลขอให้สมาชิกพระศาสนจักรต่างๆ มอบให้แก่กันและกัน ดูเหมือนว่าเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ และเป็นพิธีอย่างหนึ่ง การปฏิบัติในพิธีจะเป็นของจริงแท้ได้เพียงเมื่อการปฏิบัตินั้นแสดงความรู้สึกภายในออกมาภายนอก “จุมพิตศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ยังเป็นการแสดงความรักและความจริงใจต่อกันด้วย การจุมพิตนี้แสดงออกถึงมิตรภาพและความรักแบบเสียสละ (Agape) ดังจะเห็นได้จากตอนท้ายจดหมายของนักบุญเปโตร “จงทักทายกันด้วยจุมพิตแสดงความรัก” (1 ปต 5:14) ผู้มีความเชื่อจุมพิตกันและกันในพิธีนมัสการของพระศาสนจักร ในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า คริสตชนมาชุมนุมกันเพื่อฟังพระคัมภีร์ และอ่านจดหมายที่บรรดาอัครสาวกเขียนถึงพวกเขา จากนั้น เขาจะมอบจุมพิตศักดิ์สิทธิ์แก่กันและกันหลังจากฟังบทอ่านแล้วและเพื่อเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท
พิธีจุมพิตนี้ต่อมาเรียกว่า “จุมพิตแห่งสันติ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “สันติสุข” เป็นเครื่องหมายที่สัตบุรุษมอบให้แก่กันระหว่างพิธีบูชาขอบพระคุณ ไม่เพียงเพราะเป็นการคำนับทักทาย แต่เป็นเครื่องหมายของการคืนดีและเอกภาพระหว่างสมาชิกของพระศาสนจักรด้วย หนังสือดีดาเค เรียกร้องสมาชิกในกลุ่มคริสตชนให้คืนดีกันก่อนจะร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ การปฏิบัติเช่นนี้มีสาเหตุมาจากคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า “ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น” (มธ 5:23-24) มรณสักขีจัสตินบันทึกไว้เมื่อประมาณ ค.ศ. 155 กล่าวถึงการมอบจุมพิตแก่กันและกัน ในพิธีบูชาขอบพระคุณ (First Apology)ในปลายศตวรรษที่สอง แตร์ตูเลียนถือว่าการมอบสันติสุขแก่กันนี้คือการรับรองบทภาวนาของพระศาสนจักร โดยเรียกพิธีนี้ว่า “ตราประทับของคำภาวนา"ท่านถามว่า “บทภาวนาใดจะสมบูรณ์ถ้าปราศจากการจุมพิตศักดิ์สิทธิ์” ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา จุมพิตแห่งสันติถูกแสดงออกในหลายรูปแบบระหว่างพิธีมิสซา แต่จุมพิตนี้ต้องเป็นการแสดงออกถึงสันติสุขและเอกภาพ ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงมอบให้แก่พระศาสนจักรของพระองค์ และยังประทานแก่เราต่อไปผ่านทางพระจิตเจ้า(ยน 14:27)
ในพิธีมอบสันติสุขในปัจจุบัน พระศาสนจักรวิงวอนขอสันติสุขและเอกภาพสำหรับพระศาสนจักรเอง และเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล ซึ่งเป็นการเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท กิริยาในการมอบเครื่องหมายแห่งสันติสุขให้แก่กันและกันจะกระทำตามธรรมเนียมและวัฒนธรรมของประชาชนในแต่ละภูมิภาคของโลก กิริยานี้จะต้องแสดงเอกภาพของคริสตชนด้วยความเคารพ และเป็นการมอบสันติสุขของพระคริสตเจ้าอย่างจริงใจให้แก่กันและกัน
Meditatio (พระวาจาช่วยฉันพิจารณาตนเอง)
ให้พระคัมภีร์และการกระทำต่างๆในพิธีกรรมแสดงปฏิกิริยากับความคิด ข้อกังวล และความรู้สึกของท่าน
๐ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชา” เหตุใดสันติระหว่างเราและพี่น้องชายหญิงของเราจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ก่อนที่เราจะถวายชีวิตของเราร่วมกับการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า และรับพระองค์ในศีลมหาสนิท
๐ ในพิธีมอบสันติสุข เราวิงวอนพระเจ้าว่า “ขออย่าทรงถือโทษข้าพเจ้า แต่โปรดทอดพระเนตรเห็นความจงรักภักดีแห่งพระศาสนจักรของพระองค์และโปรดให้พระศาสนจักรนั้นสงบราบรื่น มีสามัคคีธรรมตามพระประสงค์ของพระองค์ ผู้ทรงจำเริญและครองราชย์ตลอดนิรันดร” แม้ว่าพิธีนี้บ่อยครั้งกลายเป็นช่วงเวลาอึกทึกเมื่อทุกคนคำนับทักทายกัน เราต้องจำไว้ว่าจุดประสงค์แรกของพิธีนี้ คือ เพื่อแสดงออกถึงเอกภาพของเราในพระคริสตเจ้า และความปรารถนาของเราที่จะได้รับสันติสุขและความสนิทสัมพันธ์ของพระองค์ร่วมกัน ข้าพเจ้าจะตระหนักในความหมายสูงสุดของพิธีนี้ให้มากขึ้นได้อย่างไร
๐ แม้ว่าในพิธีกรรมจารีตตะวันออก บางครั้งการแสดงเครื่องหมายแห่งสันติสุขนี้จะอยู่ที่ช่วงต้นของพิธีบูชาขอบพระคุณ แต่จารีตโรมันยังคงบรรจุไว้ในช่วงก่อนรับศีลมหาสนิท มีเหตุผลอะไรบ้าง ที่พระศาสนจักรบรรจุพิธีมอบสันติสุขนี้ ในช่วงการ
เตรียมตัวรับศีลมหาสนิท
Oratio(ภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อตอบสนองพระวาจาในพระคัมภีร์ที่กำลังพูดกับท่าน)
ให้เราภาวนาในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่คืนดีกันแล้ว ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงรวบรวมไว้ในพระศาสนจักรของพระองค์
๐ ข้าแต่พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท พระองค์ประทานพระพรแห่งเอกภาพและสันติสุข ให้แก่ทั้งชาวยิวและชนต่างชาติ ทั้งทาสและเสรีชน ทั้งหญิงและชาย ทั้งคนรวยและคนจน เมื่อข้าพเจ้าได้ร่วมรับสันติสุขของพระองค์ ข้าพเจ้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้แต่กับบุคคลที่ข้าพเจ้าไม่มีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด โปรดทรงเปิดหัวใจของข้าพเจ้าให้ยินดีต้อนรับทุกคนที่ร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณกับข้าพเจ้าด้วยเทอญ
Contemplatio (อยู่กับพระวาจา)
สงบสุข อยู่กับการนิ่ง ภาวนาเงียบๆ โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดใด..ยกถวายชีวิต จิตและวิญญาณ... ความคิด วาจา และกิจการของท่านทั้งปวงทุกด้านซึ่งท่านมิอาจควบคุมได้แด่พระเป็นเจ้า วางใจในความรักและพระเมตตาของพระองค์ที่จะโปรดประทานพระพร พระหรรษทานแห่งความรักและสันติสุข แก่ท่าน
“ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น” (มธ 5:23-24)
Communicatio (นำพระวาจาไปปฏิบัติ)
พิจารณาว่า พิธีมอบสันติสุขนี้ สามารถมีผลอย่างยั่งยืนมากขึ้นในชีวิตประจำวันของท่านได้อย่างไร
๐ เมื่อตรัสกับอัครสาวกของพระองค์ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเราแก่ท่าน เราให้สันติสุขแก่ท่านไม่เหมือนที่โลกให้ ใจของท่านอย่าหวั่นไหวหรือมีความกลัวเลย” (ยน 14:27) มีความแตกต่างอย่างไรระหว่างสันติสุขที่โลกพยายามเสนอแก่เรา และสันติสุขที่พระเยซูเจ้าเท่านั้นสามารถประทานให้ได้ ข้าพเจ้าจะเปิดชีวิตของข้าพเจ้าเพื่อรับพระพรประการนี้ให้เต็มที่มากขึ้นได้อย่างไร