มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

Lectio Divina มกราคม 2017

Lectio Divina : มิสซาในพระวาจา - 26                                                                     มกราคม  2017

 

เครื่องบูชานิรมลถวายแด่พระเจ้าท่ามกลางชนทุกชาติ

 

ฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าผู้ตรัสในอดีตแต่ยังสดใหม่เสมอ พระองค์ตรัสกับท่านผ่านข้อความในพระคัมภีร์ จงเตรียมตัวรับความเข้าใจใหม่ๆ ที่ท่านจะได้รับจากข้อความที่เขียนขึ้นด้วยการดลใจของพระจิตเจ้าต่อไปนี้

 

Lectio (พระเจ้าตรัสอะไร)

2 พงศาวดาร 7:1-4

 

          เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนทรงอธิษฐานภาวนาจบลง มีไฟลงมาจากท้องฟ้าเผาเครื่องเผาบูชาและสัตว์ที่ถวายเป็นบูชา พระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์อยู่เต็มพระวิหาร บรรดาสมณะเข้าไปในพระวิหารของพระยาห์เวห์ไม่ได้ เพราะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์อยู่เต็มพระวิหาร  เมื่อชาวอิสราเอลทุกคนเห็นไฟตกลงมาจากท้องฟ้า และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์อยู่เต็มพระวิหาร เขาก็กราบลงหน้าจรดลานพระวิหาร นมัสการและขอบพระคุณพระยาห์เวห์ว่า “พระองค์ทรงความดี และความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์”

 

มาลาคี 1:10-14

 

          ทำไมท่านผู้ใดสักคนหนึ่งจึงไม่ปิดประตู เพื่อดับไฟที่ไร้ประโยชน์บนพระแท่นบูชาของเรา เราไม่พอใจท่าน -พระยาห์เวห์จอมจักรวาลตรัส-  เราจะไม่รับของถวายจากมือของท่าน ตั้งแต่สุดปลายทิศตะวันออกจนถึงสุดปลายทิศตะวันตก นามของเรายิ่งใหญ่ในหมู่นานาชาติ ทุกหนทุกแห่งจะมีผู้ถวายกำยานและของถวายบริสุทธิ์แก่นามของเรา เพราะนามของเรายิ่งใหญ่ในหมู่นานาชาติ - พระยาห์เวห์จอมจักรวาลตรัส

          แต่ท่านทำให้นามของเราเป็นมลทินเมื่อพูดว่า “โต๊ะของพระยาห์เวห์เป็นมลทิน และอาหารที่ถวายบนโต๊ะไม่น่าเคารพ” ท่านยังพูดอีกว่า “น่าเบื่อจริง” แล้วดูหมิ่นเรา -พระยาห์เวห์จอมจักรวาลตรัส- ท่านนำสัตว์ที่ขโมยมา พิการ หรือเจ็บป่วยมาถวายเป็นเครื่องบูชา เราจะรับของถวายเหล่านี้จากมือของท่านได้หรือ -พระยาห์เวห์ตรัส- คนคดโกงจงถูกสาปแช่งเถิด เขามีแพะแกะเพศผู้อยู่ในฝูงและได้บนบานไว้ แต่แล้วกลับนำสัตว์ที่ไม่สมประกอบมาถวายเรา เพราะเราเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ -พระยาห์เวห์จอมจักรวาลตรัส-นามของเราน่าเกรงขามในหมู่นานาชาติ

 

ทำความเข้าใจกับพระวาจา

         

          สำรวจหาความหมายของข้อความที่เขียนขึ้นโดยได้รับการดลใจจากพระเจ้า ขณะที่ข้อความนี้เปิดเผยระบบการถวายบูชาตามพันธสัญญาเดิม และพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับประชากรของพระองค์

          บทขอบพระคุณแบบที่ 1  เตือนให้ระลึกถึงการถวายบูชาในพันธสัญญาเดิม “โปรดทรงทอดพระเนตรของถวายเหล่านี้ด้วยพระทัยเมตตา และโปรดทรงยอมรับของถวายเหล่านี้ไว้เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงพอพระทัยยอมรับของถวายจากอาเบล ผู้รับใช้ผู้ชอบธรรมของพระองค์ เครื่องบูชาของอับราฮัม บิดาในความเชื่อของเรา และของถวายจากเมลคีเซเดค มหาสมณะของพระองค์ ให้เป็นของถวายอันศักดิ์สิทธิ์และเครื่องบูชาไร้ตำหนิ” เครื่องบูชาเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของพระเจ้าเพราะเป็นเครื่องบูชาที่สะท้อนความศักดิ์สิทธิ์และความนบนอบของผู้ถวาย การถวายบูชาแบบโบราณนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในพันธสัญญาเดิม เป็นนิมิตหมายของการถวายบูชาขอบพระคุณภายใต้พันธสัญญาใหม่

          ภายใต้พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับโมเสส พระเจ้าทรงบัญชาประชากรของพระองค์ให้ตั้งแท่นบูชาขึ้นในถิ่นทุรกันดาร  ให้เป็นเสมือนตัวแทนของท้องพระโรงสวรรค์ของพระองค์บนโลกนี้ และให้ถวายเครื่องบูขาโดยให้สมณะที่เหมาะสมเป็นผู้ประกอบพิธี เมื่ออิสราเอลกลายเป็นอาณาจักรหนึ่งภายใต้การปกครองของกษัตริย์ดาวิดและซาโลมอน พระเจ้าทรงบัญชาให้สร้างพระวิหารขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งจะเป็นสถานที่เดียวที่ชาวอิสราเอลสามารถถวายเครื่องบูชาซึ่งเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า ในบทภาวนาถวายพระวิหารของซาโลมอน ท่านวิงวอนขอพระพรต่างๆ ซึ่งประชาชนจะได้รับเมื่อพระเจ้าทรงรับเครื่องบูชา และสดับฟังคำภาวนาของประชาชนที่ถวายพร้อมกับเครื่องบูชา เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนภาวนาจบแล้ว “มีไฟลงมาจากสวรรค์” ลงมาเผาเครื่องบูชาบนพระแท่น และ “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าแผ่ไปทั่วพระวิหาร” (2 พศด 7:1) ด้วยไฟ และการแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พระองค์ทรงแสดงว่าพระองค์ทรงยอมรับเครื่องบูชาและทรงรับไว้เป็นของพระองค์ ภาพลักษณ์ที่มีรูปร่างสัณฐานไม่สามารถแสดงให้เห็นความเป็นจริงของพระเจ้าที่เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าลงมาจากสวรรค์ ของถวายที่เป็นวัตถุถูกนำขึ้นไปถวายพระเจ้า อีกนัยหนึ่งคือ สวรรค์และแผ่นดินก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่ ดังนั้น ของถวายที่เป็นวัตถุจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลชีวิต และเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า และพระองค์ทรงรับไว้เป็นของพระองค์

          เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และทรงถูกฝังในพระคูหา พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าแผ่ลงมายังพระกายของพระองค์ในวันที่สาม พระกายในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระเจ้าทรงได้รับและทรงยอมรับเครื่องบูชาที่พระองค์ถวายแล้ว ไฟที่ตกลงมายังเครื่องบูขาของซาโลมอนเป็นภาพลักษณ์อย่างหนึ่งสำหรับเรา เป็นนิมิตหมายของไฟจากพระจิตเจ้าที่จะลงมาระหว่างการสวดบทขอบพระคุณ เพื่อทรงรับเครื่องบูชาของเรา และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าจะแผ่เต็มเครื่องบูชานั้น ทำให้กลายเป็นเครื่องบูชาที่พระองค์ทรงยอมรับได้อย่างแท้จริง เครื่องบูชานั้นกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์ เป็นลูกแกะผู้ทรงถูกถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติ

          ระหว่างสวดบทขอบพระคุณแบบที่ 1 พระสงฆ์โค้งคำนับและภาวนาว่า "ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ข้าพเจ้าทั้งหลายวิงวอนพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ โปรดทรงบัญชาทูตสวรรค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้นำของถวายเหล่านี้ไปถวายยังพระแท่นบนสวรรค์เบื้องหน้าพระเดชานุภาพของพระองค์ เพื่อว่าด้วยการเข้าร่วมในพิธีที่พระแท่นบูชานี้ ผู้รับพระกายและพระโลหิตศักดิ์สิทธิ์ของพระบุตรของพระองค์ จะเต็มเปี่ยมด้วยพระหรรษทานทุกประการ และพระพรสวรรค์เทอญ”  พิธีกรรมบนสวรรค์ และบนแผ่นดิน รวมเป็นหนึ่งเดียวกันขณะที่พระเจ้าทรงรับเครื่องบูชาของเรา และประทาน พระหรรษทานและพระพรต่างๆ จากการถวายบูชานิรันดรของพระคริสตเจ้า

          ระหว่างสวดบทขอบพระคุณแบบที่ 2 พระสงฆ์ถือเครื่องบูชาไว้ในมือ และภาวนาว่า “ขอทรงพระกรุณาส่งพระจิตมาบันดาลให้ปังและเหล้าองุ่นนี้ศักดิ์สิทธิ์เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าสำหรับข้าพเจ้าทั้งหลาย” ตั้งแต่เครื่องบูชาในอดีตจนถึงเครื่องบูชานิรันดรของพระคริสตเจ้า พระเจ้าทรงเป็นผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่เครื่องบูชาที่ถวายในพระนามของพระองค์และทำให้เครื่องบูชานั้นเป็นที่ยอมรับของพระองค์ พระเจ้าทรงรับเครื่องบูชาของพระศาสนจักร เพราะในตัวเราพระบิดาทรงเห็น และรัก สิ่งที่พระองค์ทรงเห็นและรักในองค์พระคริสตเจ้า

          ในคำประกาศพระวจนะของมาลาคี พระเจ้าทรงแสดงความไม่พอพระทัยต่อเครื่องบูชาของชาวอิสราเอล และไม่ทรงยอมรับของถวายของพวกเขา (มลค 1:10) เครื่องบูชาของเขามีตำหนิ และหัวใจของเขาไม่อยู่ในการถวายบูชาของเขา แต่พระเจ้าจะทรงรับ “เครื่องบูชานิรมล” จากทุกชนชาติในโลก “ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก” (มลค 1:11) คริสตชนยุคแรกเข้าใจว่าคำประกาศพระวจนะของมาลาคีข้อนี้หมายถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ หนังสือดีดาเค(Didache) ซึ่งเขียนขึ้นประมาณ ค.ศ.100 บอกว่า “เครื่องบูชานิรมล” ของมาลาคีก็คือพิธีบูชาขอบพระคุณ(Didache 14) ประมาณ ค.ศ. 155 มรณสักขีจัสตินบอกว่า ในหนังสือมาลาคี พระเจ้า “ตรัสกับชนต่างชาติเหล่านี้ คือพวกเรา(คริสตชน) ผู้ถวายเครื่องบูชาแด่พระองค์ในทุกสถานที่ คือปังแห่งศีลมหาสนิทและถ้วยแห่งศีลมหาสนิทอีกด้วย” (Dialogue with Trypho, 41)ประมาณค.ศ. 190 อิราเนียส อีกเช่นกันที่กล่าวถึงการประกาศพระวจนะของมาลาคีว่า “ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ พระองค์ทรงบอกอย่างชัดแจ้งว่าประชากรเดิมจะหยุดถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า แต่ในทุกสถานที่จะมีผู้ถวายเครื่องบูชาแด่พระองค์ และเป็นเครื่องบูชานิรมล เพราะพระนามของพระองค์ได้รับการเทิดพระเกียรติท่ามกลางชนต่างชาติ” (Against Heresies 4:17:5)

          บทขอบพระคุณแบบที่ 3 กล่าวเป็นนัยถึงคำประกาศพระวจนะของมาลาคีและเผยให้เห็นว่าการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาของสากลโลก “พระองค์ทรงรวมประชากรไว้เป็นกรรมสิทธิ์ไม่ขาดสาย เพื่อถวายบูชาอันนิรมลแด่พระนามอันทรงเกียรติตลอดไปทั่วทิศานุทิศ” ในการถวายเครื่องบูชานมัสการพระเจ้า เรารวมเป็นหนึ่งเดียวกับทุกคนที่เฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์เดียวกันนี้ในทุกสถานที่ทั่วโลก

         

 

          แม้ว่าคำสอนเกี่ยวกับพิธีมิสซาในฐานะการถวายบูชาได้ถูกนำไปขยายความอย่างผิดๆ แต่พระศาสนจักรตลอดทุกยุคสมัย จากฝั่งตะวันออกถึงฝั่งตะวันตก ได้สั่งสอนว่าของถวายของพระศาสนจักรเป็นเครื่องบูชา เครื่องบูชาที่ถวายในพิธีบูชาขอบพระคุณไม่ใช่เครื่องบูชาใหม่ ที่แยกออกจากเครื่องบูชาหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้าที่ทรงถวายบนไม้กางเขน แต่การถวายเครื่องบูชานี้อีกครั้งหนึ่ง ก็คือการมีส่วนร่วมอย่างเร้นลับในการถวายบูชาหนึ่งเดียวของพระองค์เพื่อคนทั้งโลก

 

Meditatio (พระวาจาช่วยฉันพิจารณาตนเอง)

 

          ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองความหมายของข้อความจากพระคัมภีร์ และจากพิธีกรรมเหล่านี้ และพิจารณาว่าข้อความเหล่านี้บอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับการถวายบูชาขอบพระคุณของพระคริสตเจ้า

          o       พิธีมิสซาเป็นการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เป็นการถวายบูชาที่ต่างจากการถวายบูชาภายใต้พันธสัญญาเดิม อะไรคือความแตกต่างสำคัญระหว่างการถวายบูชาในพระวิหาร และในพิธีมิสซา

          o       บทขอบพระคุณแบบที่ 3 แสดงให้เห็นความเป็นสากลของการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า “การถวายบูชาอันนิรมลแด่พระนามอันทรงเกียรติตลอดไปทั่วทิศานุทิศ” การถวายบูชาขอบพระคุณรวมเราให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า และกับกันและกัน คือทั้งในแนวตั้ง และแนวราบอย่างไร

          o       บทภาวนาที่วิงวอนพระบิดาให้ทรงส่งพระจิตเจ้าลงมาบันดาลให้ของถวายเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระบุตรของพระองค์นี้เรียกว่า Epiclesis (บทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า) ตามคำวิงวอนของบทขอบพระคุณที่ 3 ว่า “ด้วยเหตุนี้ พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอวิงวอน ได้โปรดประทานพระจิตเจ้ามาบันดาลให้ของถวายนี้ศักดิ์สิทธิ์เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรผู้ทรงสั่งให้ถวายบูชานี้” การถวายบูชาขอบพระคุณเป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ ทั้งสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพมีบทบาทอย่างไรในบทขอบพระคุณ

 

Oratio(ภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อตอบสนองพระวาจาในพระคัมภีร์ที่กำลังพูดกับท่าน)

 

          ให้เรายกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า และตอบสนองด้วยคำภาวนาสำหรับศีลมหาสนิทซึ่งเป็นของประทานอันยิ่งใหญ่

          o       ข้าแต่องค์เสนาธิราชเจ้าสวรรค์ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก พระนามของพระองค์ได้รับการประกาศท่ามกลางนานาชาติ ผ่านการถวายบูชานิรมลของพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระองค์ โปรดทรงส่งไฟแห่งพระจิตศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ลงมายังของถวายในพิธีบูชาขอบพระคุณนี้ และจุดพระศาสนจักรทั้งมวลให้ลุกร้อนด้วยไฟแห่งความรักของพระองค์เทอญ

 

 

Contemplatio (อยู่กับพระวาจา)

 

          ภาวนาต่อไปเงียบๆ ขณะที่ท่านไตร่ตรองธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่แห่งการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในศีลศักดิ์สิทธิ์บนพระแท่น

 

          “และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์อยู่เต็มพระวิหาร เขาก็กราบลงหน้าจรดลานพระวิหาร นมัสการและขอบพระคุณพระยาห์เวห์ว่าพระองค์ทรงความดี และความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์”

 

 

Communicatio (นำพระวาจาไปปฏิบัติ)

 

          พยายามบูรณาการบทภาวนาขอบพระคุณให้เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของท่าน

 

          o       ในคำเสนอวิงวอนในบทขอบพระคุณแบบที่ 3 เราภาวนาว่า “โปรดให้พระศาสนจักรผู้เดินทางอยู่ในโลกนี้ได้ตั้งมั่นอยู่ในความเชื่อและเมตตาธรรม”

 

ข้าพเจ้าถือว่าตนเองเป็นผู้เดินทางอยู่ในโลกนี้ในแง่ใด ข้าพเจ้าจะเตือนใจตนเองได้อย่างไรว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เดินทางที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่บ้านแท้ของข้าพเจ้า

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown