มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

ฉลองวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก และฉลอง25ปีชีวิตสงฆ์

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2018 คุณพ่อเปโตร เชษฐา ไชยเดช พร้อมด้วย คุณพ่อยอแซฟ จินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล คุณพ่อเปโตร ธีรพล กอบวิทยากุล คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ สมเกียรติ ตรีนิกร คุณพ่อเปโตร ประยุทธ ศรีเจริญ คุณพ่อเบเนดิก ถนอมศักดิ์ เลื่อนประไพ เป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ โอกาสฉลอง 160 ปี การประจักษ์ของแม่พระที่เมืองลูร์ด ณ วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก โอกาสนี้ ทางวัดได้ร่วมแสดงความยินดี โอกาส 25 ปี ชีวิตสงฆ์ แด่คุณพ่อทั้ง 6 มีสัตบุรุษมาร่วมเป็นจำนวนมาก

 

บทเทศน์ของคุณพ่อ เชษฐา ไชยเดช 

โอกาสฉลองวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก

" 1. ความสำคัญของพิธีมิสซา (พลังของชีวิตคริสตชนอยู่ที่พิธีมิสซา)
- อัศจรรย์เกิดขึ้นในมิสซา เล่าเรื่องที่คุยกับพ่อโมลิ่ง
- ก่อนการประจักษ์แบร์นาเด็ตไปยังที่สบายกว่า (ที่บาร์แตร๊ส กับนางมารี อาราวัง แม่นม) แต่กลับมาที่ cachot เพราะอยากรับศีลมหาสนิท จึงทำให้ได้พบกับการประจักษ์ของแม่พระครั้งแรก เพราะที่บ้านหนาว จึงต้องไปหาฟืนที่ถ้ำมัสซาเบียล
- หลังจากการประจักษ์ครั้งที่ 17 เมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน 1858 วันที่ 3 มิถุนายน แบร์นาแด็ตได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก มีคนถามท่านว่า “อะไรทำให้เธอมีความสุขมากกว่ากัน การได้รับศีลมหาสนิท หรือการได้พบแม่พระที่ถ้ำ” ท่านตอบว่า “หนูไม่ทราบ สองอย่างเป็นของคู่กันและจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่หนูทราบดีว่าหนูมีความสุขมากมากยทั้งสองคราวนี้”
- มิสซาเป็นหัวใจของชีวิตคริสตชน เราเฉลิมชุมชนแห่งความเชื่อของเราด้วยมิสซา ขอให้มิสซาเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้พบพระเยซูเจ้า ผ่านทางพระวาจา และการรับศีลมหาสนิท และการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมที่ดีที่สุดก็คือการรับศีลมหาสนิท และรับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา
2. อธิบายพระวรสาร
- พระนางมารีย์พระมารดาอยู่ที่นั่น พบสองครั้งที่นี่ และแทบเชิงกางเขน
- เหล้าองุ่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในงานเลี้ยงของชาวยิว พวกรับบีถึงกับสอนว่า “ปราศจากเหล้าองุ่น ก็ปราศจากความยินดี” (เหล้าองุ่นหมายถึงความยินดี)
- บทบาทของแม่พระอยู่ที่นั่น ทูลเสนอความต้องการของเราต่อพระเยซูเจ้า เป็นบทบาทที่สำคัญ เขาไม่มีเหล้าองุ่นเขาขาดความสุข บทบาทของแม่พระห่วงใยความสุขของคนที่อยู่ในงาน แม่พระห่วงใยเราทุกคน (การประจักษ์มาของแม่พระบอกเราอย่างดีว่าแม่พระห่วงใยเรา)
- พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง
- “หญิงเอ๋ย อะไรแก่ฉันและแก่ท่าน” คำ “หญิงเอ๋ย” ตรงกับภาษากรีก gunai (กูนาย) เป็นคำเดียวกับที่พระเยซูเจ้าตรัสจากไม้กางเขนว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือลูกของท่าน” (ยน 19:26) เพราะฉะนั้น “หญิงเอ๋ย” จึงไม่ใช่คำพูดที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่เป็นคำที่ใช้พูดกับผู้เป็นที่รักและเคารพสูงสุด
- แต่หากพูดด้วย “น้ำเสียงอ่อนโยน” ความหมายคือ “อย่ากังวลเลยแม่ ปล่อยให้เป็นธุระของลูกเถิด ลูกจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยตามวิธีของลูก”.... และนี่คือสิ่งที่พระมารดารับรู้และวางพระทัยในพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม จนกล้ากล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ยน 2:5)
- บทเรียนที่เราได้จากแม่พระ คือ
- พระมารดาหันไปหาพระเยซูเจ้าทันทีที่เกิดปัญหา การประจักษ์ของแม่พระชี้ไปที่พระเยซูเจ้าทุกครั้ง ในการประจักษ์ครั้งที่ 13 วันอังคารที่ 2 มีนาคม 1858 แม่พระขอให้สร้างวัดน้อย วัดคือสถานที่ที่เราจะพบกับพระเยซูเจ้าเป็นพิเศษ (เมื่อเราเกิดปัญหาในชีวิตเราหันไปหาใคร บางครั้งสิ่งที่เราหันไปหาอาจจะเพิ่มปัญหาให้กับเรา เหล้า ยาเสพย์ติด ฯลฯ) ชีวิตคริสตชนที่มีพลังคือชีวิตที่ติดสนิทกับพระเจ้าเหมือนฟืนกับกองไฟ (ให้เราหันไปหาพระเยซูเจ้าทุกครั้งแม้ไม่มีปัญหา เพื่อเราจะได้ชิดสนิทกับพระองค์ มีทัศนคติ มุมมอง คำพูด การกระทำ ด้วยหัวใจที่เหมือนกับพระองค์
- พระมารดาทรงวางพระทัยในพระเยซูเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม พระนางเชื่อและวางใจ แม้ไม่เข้าใจ ผู้ที่ยังเชื่อและวางใจพระเยซูเจ้าในห้วงเวลาเช่นนี้ ย่อมเป็นสุข เหตุว่าเขากำลังเจริญรอยตามพระนางมารีย์พระมารดาของพระเจ้า
- พระคาร์ดินัลเหวียนวันทวนเคยไปแสวงบุญที่ลูร์ดตอนที่เป็นเณรใหญ่ขณะเรียนอยู่ที่กรุงโรม ท่านสะกิดใจกับคำพูดของแม่พระที่ตรัสกับนักบุญแบร์นาแด๊ตในการประจักษ์ของแม่พระครั้งที่สาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1858 “ฉันสัญญาว่าหนูจะมีความสุข ไม่ใช่ในโลกนี้ แต่เป็นในโลกหน้า (สวรรค์นิรันดร)” ท่านไม่คิดว่าคำพูดนี้จะเป็นจริงในชีวิตของท่าน หลังจากกลับไปที่ประเทศเวียดนาม ท่านได้ดำเนินชีวิตพระสงฆ์อย่างดีและศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราช หลังจากนั้น 8 ปี ท่านถูกจำคุกถึง 13 ปี สิ่งที่เป็นความบรรเทาใจของท่านคือศีลมหาสนิท การสวดสายประคำ ท่านสวดขอแม่พระให้ท่านถูกปล่อยในวันฉลองแม่พระ และในวันที่ 21 พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระถวายตัวที่พระวิหาร ท่านได้รับการปล่อยตัวจริงๆ ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราในฐานะบุคคลที่ฝากความวางใจในพระเจ้าโดยมีแม่พระเป็นแบบฉบับ
- บทเรียนที่เราได้จากพระเยซูเจ้า คือ
- ทรงเข้าถึงจิตใจ ทรงเห็นอกเห็นใจ และทรงเมตตาผู้เดือดร้อนขัดสน พระเยซูเจ้าทรงช่วยเหลือคู่บ่าวสาวชาวชนบทให้รอดพ้นจากความอัปยศอดสูที่สุด
- (ถ้ำมัสซาเบียลสกปรกเป็นที่อยู่ของหมู แบร์นาแด็ตยากจน ขี้โรค สติปัญญาไม่ดี แต่พระเจ้าทรงรักและเรียก การเป็นนักบุญของท่านช้าเพราะผู้ดูแลโนวิสคือคุณแม่วาซูไม่เห็นด้วย ขอให้กระบวนการนี้เกิดหลังจากท่านตาย เพราะไม่เชื่อว่านักบุญจะมีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนแบร์นาแด็ต แต่สุดท้ายผู้ที่ต่ำต้อยด้อยค่าในสายตาของโลก แต่รักพระอย่างสุดหัวใจ เป็นคนซื่อ ไม่หวังผลประโยชน์จากการประจักษ์มาของแม่พระ ก็เป็นนักบุญที่ยิ่งใหญ่แถมพระเจ้ายังอวยพรให้ร่างกายที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วกลับไม่เน่าเปื่อย )
- เรื่องนี้สอนเราอย่างมากให้เรามีใจเมตตาเหมือนพระเยซูเจ้าต่อผู้เดือดร้อนขัดสน และมีความยากลำบากในชีวิต ขณะเดียวกันก็อย่าน้อยใจถ้าเราจะเป็นคนเล็กๆ ดูเหมือนว่าไม่สำคัญในสังคม ขอให้เรารักษาจิตใจที่ดีและรักพระเหมือนท่านนักบุญแบร์นาแด็ต เราก็สามารถเป็นนักบุญที่ยิ่งใหญ่ในสวรรค์ได้
- จะเห็นว่าทุก “เวลา” ของพระองค์ล้วนเป็นการตระหนักว่า ภารกิจของพระองค์คือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา ไม่ใช่การทำตาม “อำเภอใจ” ของพระองค์
- บทเรียนจากแบร์นาแด็ต ในการประจักษ์ครั้งที่ 9 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 1858 ท่านได้ขุดลงไปในดินที่ถ้ำตามคำสั่งของแม่พระ และนี่เป็นต้นกำเนิดของน้ำพุที่ลูร์ด ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระหรรษทานของพระที่สามารถเอาชนะบาปได้ และเป็นเครื่องหมายของการรักษาจากสวรรค์ เว็ปไซต์ทางการของสักการสถานแม่พระเมืองลูร์ดได้รายงานว่า มีกรณีการหายจากโรค จำนวน 7,000 รายที่ส่งเข้ามาที่สักการสถาน จนถึงปัจจุบันนี้มีจำนวน 69 คน ที่พระศาสนจักรรับรองอย่างเป็นทางการว่าการหายป่วยที่เกิดขึ้นเป็นอัศจรรย์ มีเพียง 6 คน ที่ได้รับการรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของแม่พระเมืองลูร์ดโดยไม่ได้ไปแสวงบุญที่สักการสถานที่ลูร์ด ส่วนใหญ่ได้รับอัศจรรย์การรักษาให้หายจากการไปแสวงบุญที่สักการสถานแม่พระเมืองลูร์ด (จำนวนมากถึง 50 คนที่ได้รับการรักษาจากการอาบน้ำที่สักการสถานแม่พระเมืองลูร์ด) ทำสำคัญคือการรักษาฝ่ายจิตใจ คนที่ออกไปมีพลังที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือสบาย ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์
- เมื่อต้องจากลูร์ดไป เธอยินดีไป เธอบอกว่าลูร์ดไม่ใช่สวรรค์ (ความยินดีในมิสซาต้องออกไปเป็นภาคปฏิบัติในชีวิต โดยการรักพระเจ้า และเพื่อนพี่น้อง ผ่านทางการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้า
3. ความยากลำบากในชีวิตและความเจ็บป่วยมีคุณค่า เพราะเรากำลังแบกกางเขนของเราและมีส่วนร่วมกับพระเยซูเจ้าในการกอบกู้มนุษย์ให้รอดพ้น (นอกจากน้อมรับความทุกข์แล้ว เรายังสามารถทำความดีเพื่อพระ แม้ตัวเราจะต้องเผชิญความทุกข์)
- หลายคนคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่าเมื่อเจ็บป่วย หลายคนรู้สึกว่าพระไม่รักเมื่อต้องทนทุกข์ทรมานและมีความยากลำบาก
- นักบุญแบร์นาแด็ตเป็นนักบุญที่มีโรคร้ายในตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด วัณโรคที่กระดูกซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้แก่ท่านมาก ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเมื่ออายุ 35 ปี ท่านน้อมรับ ไม่เคยบ่น ตรงกันข้ามกับร่าเริงแจ่มใส ปลอบใจคนอื่น เพราะป่วยท่านจึงเข้าใจผู้ป่วย ท่านสอนให้โนวิสดูแลผู้ป่วยอย่างดี แต่กลับท่านเองท่านมีความเกรงใจเมื่อท่านป่วยและสังเกตว่า ซิสเตอร์ที่มาเฝ้าบางคนจะกังวล นอนไม่หลับ ท่านขอผู้ใหญ่ให้เลือกคนที่หลับง่ายๆ มาเฝ้าท่าน ท่านเกรงใจไม่อยากให้คนที่มาเฝ้าท่านต้องอดนอน จึงเตือนใจเราว่าทุกสิ่งที่พระอนุญาตให้เกิดกับชีวิต แม้มันจะดูไม่ดี ยากที่จะรับได้ แต่ถ้าเราน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้า ยอมรับสิ่งเหล่านี้ พระเยซูจะเปลี่ยนให้สิ่งนี้มีคุณค่าเสมอ ทั้งกับเราและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเรา (ภาวนาเพื่อผู้ป่วย และให้กำลังใจผู้ป่วย)
- หลายคนรู้สึกว่าพระไม่รักเมื่อต้องทนทุกข์ทรมานและมีความยากลำบาก แต่เมื่อมีความยากลำบากในชีวิตคุณแม่เทเรซาภาวนาว่า ดังนี้ ครับ
- พระเจ้าข้าโปรดส่งใครสักคนมาให้ลูก
พระเจ้าข้า เมื่อลูกหิวโหย โปรดส่งใครสักคนที่ลูกจะเลี้ยงอาหารเขา
พระเจ้าข้า เมื่อลูกกระหาย โปรดส่งใครสักคนที่ลูกจะให้น้ำแก่เขา
พระเจ้าข้า เมื่อลูกรู้สึกหนาว โปรดส่งใครสักคนที่ลูกจะให้ความอบอุ่นแก่เขา
พระเจ้าข้า เมื่อลูกรู้สึกเจ็บปวด โปรดส่งใครสักคนให้ลูกบรรเทาใจเขา
เมื่อกางเขนของลูกหนักอึ้ง โปรดประทานกางเขนของอีกคนให้ลูกช่วยแบก
เมื่อลูกยากจน โปรดนำทางให้ลูกไปหาคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ
เมื่อลูกไม่มีเวลา โปรดประทานใครสักคนที่ลูกสามารถช่วยเขาได้สักช่วงขณะหนึ่ง
เมื่อลูกถูกสบประมาท โปรดประทานใครสักคนที่ลูกจะชื่นชมยกย่อง
เมื่อลูกหมดกำลังใจ โปรดประทานใครสักคนที่ลูกจะให้กำลังใจ
เมื่อลูกต้องการความเข้าใจจากคนอื่น โปรดประทานใครสักคนที่ต้องการความเข้าใจจากลูก
เมื่อลูกต้องการดูแลเอาใจใส่ตนเอง โปรดประทานใครสักคนที่ลูกต้องดูแลเอาใจใส่
เมื่อลูกคิดถึงแต่ตนเอง โปรดหันความ
คิดของลูกไปสู่ผู้อื่น
- ขอจบบทเทศน์วันนี้ด้วยถ้อยคำจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย
“ผู้ที่หว่านความดีในพระจิตเจ้า ก็จะเก็บเกี่ยวชีวิตนิรันดรจากพระจิตเจ้า อย่าท้อแท้ในการทำความดี เพราะถ้าเราไม่หยุดทำความดี เราก็จะได้เก็บเกี่ยวเมื่อถึงเวลา ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีโอกาส จงทำความดีต่อทุกคน โดยเฉพาะต่อพี่น้องผู้ร่วมความเชื่อของเรา” (กท 6:8-10) "
ที่มา บทเทศน์
- บทอ่านที่ 1 อสย 66:10-14
- บทอ่านที่ 2 ฮบ 10:4-10
- พระวรสาร ยน 2:1-11

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown