ผู้นำศาสนา 5 ศาสนา ร่วมร้องเพลงชาติไทยเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทยและครบรอบ 100 ปีธงชาติไทย
- รายละเอียด
- หมวด: แวดวงคาทอลิก
- เขียนโดย Varintorn Hema
- ฮิต: 669
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 28 ก.ย. ที่เสาธงหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในกิจกรรมเชิญธงชาติไทยและร้องเพลงชาติไทย เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทยและครบรอบ 100 ปีธงชาติไทย โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบธงชาติไทยให้กับผู้บังคับหมู่เชิญธง เพื่อเชิญธงชาติไทยมาติดตั้งยังเสาธง ก่อนจะร่วมพิธีเคารพธงชาติไทยและร่วมกันร้องเพลงชาติ โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บริหารข้าราชการที่ปฎิบัติงานในทำเนียบรัฐบาล นักกีฬาทีมชาติไทย ดาราศิลปิน ผู้นำศาสนา 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์ และนักเรียนนักศึกษาของสถานศึกษาใกล้ทำเนียบรัฐบาล ร่วมร้องเพลงชาติไทย จากนั้นนายกรัฐมนตรี เปิดนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย 100 ปีธงชาติไทยร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ และชมนิทรรศการพร้อมกับมอบตราสัญลักษณ์ 100 ปีธงชาติไทยให้แก่หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 ครม.มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และกำหนดให้เชิญและประดับธงชาติในวันดังกล่าว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย
การประกาศให้เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
วิวัฒนาการของธงชาติไทย ในอดีตไทยเคยใช้ธงชาติหลายรูปแบบ แต่หลักฐานเริ่มตั้งแต่ก่อนปี 2325 ไทยเคยใช้ธงพื้นแดงเป็นสัญลักษณ์ เพื่อติดต่อการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยา จากนั้นวิวัฒนาการของธงชาติไทย เริ่มเปลี่ยนรูปแบบมาจนถึงปี 2394 เริ่มใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นสัญลักษณ์ ปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยเรียกว่า “ธงไตรรงค์”ซึ่งการพระราชทานธงชาติไทย สะท้อนถึงความเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์