มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

ฉลองแม่พระเปนญาฟรานช่า

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 คุณพ่อธีระ กิจบำรุง เป็นประธานในพิธีมิสซาโอกาสฉลองแม่พระเปนญาฟรานช่า ณ วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ ลาดพร้าว

ประวัติ

     ฉลอง พระนางพรหมจารีแห่งเปนญาฟรานช่า(Virgin of Peñafrancia) เปนญา เดอ ฟรานช่า (Peña de Francia) แม้จะแปลว่า “ภูเขาหินแห่งฝรั่งเศส” แต่กลับเป็นชื่อของภูเขาซึ่งตั้งอยู่ในเมืองซาลามังกาของสเปน เป็นสถานที่ซึ่งเชื่อกันว่า ไซม่อน เวล่า ได้ค้นพบพระรูปศักดิ์สิทธิ์ของพระนางพรหมจารีซึ่งถูกซ่อนไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8เพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของมุสลิม
ไซม่อนเกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.1401 ที่ปารีส ในครอบครัวซึ่งมีอันจะกินและศรัทธา หลังจากพ่อแม่และน้องสาวเพียงคนเดียวเสียชีวิต ท่านได้ขายทรัพย์สินมรดกทั้งหมดแล้วบริจาคเงินแก่วัด คนยากจน ผู้ขัดสน และหน่วยงานการกุศลต่าง ๆ ต่อจากนั้นได้สมัครเป็นสมาชิกฆราวาสของคณะฟรังซิสกันในกรุงปารีส
      วันหนึ่งขณะกำลังเข้าฌานอยู่ ท่านได้ยินเสียงดังฟังชัดว่า “ไซม่อน ตื่นเถิด อย่าหลับ จงไปที่ภูเขาเปนญา เดอ ฟรานช่า ทางตะวันตกของประเทศ ค้นหารูปที่คล้ายกับฉันในถ้ำ แล้วฉันจะบอกว่าต้องทำอะไรต่อไป”
หลังจากค้นหาอยู่ 5 ปีโดยสำคัญผิดคิดว่าภูเขาเปนญา เดอ ฟรานช่า อยู่ในฝรั่งเศส ท่านคว้าน้ำเหลวและคิดจะเลิกค้นหา คืนหนึ่งขณะกำลังมุ่งหน้ากลับปารีส ท่านได้ยินเสียงเหมือนครั้งก่อนกล่าวว่า “ไซม่อน อย่าล้มเลิก สักวันหนึ่งความพยายามของท่านจะเกิดผล”
     กำลังใจของไซม่อนหวนกลับคืนมาอีกครั้ง คราวนี้ท่านบ่ายหน้าไปยังมหาวิทยาลัยของเมืองซาลามังกาในสเปน แต่แทนที่จะได้ข้อมูลจากบรรดาคณาจารย์ ท่านกลับพบชายคนหนึ่งซึ่งเสนอขายถ่านคุณภาพดีจากเทือกเขาเปนญา เดอ ฟรานช่า
ไซม่อนเดินตามคนขายถ่านจนกระทั่งมาถึงหมู่บ้านซานมาร์ติน เดอ คาสตันญ่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1434 และได้พบกับหญิงใจดีซึ่งชี้ให้ท่านดูภูเขาเปนญา เดอ ฟรานช่า
ระหว่างทางขึ้นเขา ท่านได้พบกล่องอาหารบนถนนอย่างน่าอัศจรรย์และกินจนอิ่ม แล้วเริ่มตระเวนค้นหาพระรูปตามถ้ำทุกถ้ำ จนเช้าวันหนึ่งท่านได้เห็นแสงสว่างเจิดจ้าเป็นประกายแต่ไกล และเมื่อเข้ามาใกล้ ๆ ก็ได้พบพระนางพรหมจารีมารีย์กำลังอุ้มพระกุมารเยซูไว้ในอ้อมพระหัตถ์และประทับอยู่บนบัลลังก์ทอง พระนางทรงกำชับท่านให้ขุดรอบบริเวณนั้นแล้วนำสิ่งที่ค้นพบไปวางไว้บนยอดสูงสุดของภูเขา พร้อมกับสร้างที่พำนักที่สวยที่สุดไว้ที่นั่น เพราะเป็นความปรารถนาของพระบุตรของพระนาง แล้วพระนางก็จากไป
     ไซม่อนได้ชักชวนชายอีกสี่คนจากซานมาร์ติน เดอ คาสตันญ่า ให้มาช่วยกันขุดรอบบริเวณที่พระนางทรงรับสั่ง จนกระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1434 หลังจากยกหินก้อนมหึมาออก พวกเขาก็ได้พบกับพระรูปที่น่ารักที่สุด นั่นคือ พระนางพรหมจารีกำลังอุ้มพระกุมารเยซูอยู่ในอ้อมพระหัตถ์
หลังค้นพบพระรูป ไซม่อนและคณะก็ได้รับความช่วยเหลือพิเศษจากพระนางทันที บาดแผลที่ศีรษะของไซม่อนซึ่งเกิดระหว่างขุดหาพระรูปได้หายเป็นปลิดทิ้ง สายตาของพาสกวัล ซานเชส กลับมองเห็นเป็นปกติ ฮวน เฟอร์นันเดซ หายจากอาการปวดท้องซึ่งทรมานเขามานานนับสิบปี อันโตนีโอ เฟอร์นันเดซ เดิมหูหนวกกลับได้ยิน และนิ้วของเบนีโต ซานเชส ซึ่งพิการตั้งแต่เกิดก็หายเป็นปกติ เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกบันทึกไว้ในหอเก็บเอกสารของซานมาร์ติน เดอ คาสตันญ่า

จากสเปนถึงฟิลิปปินส์
     เกือบ 300 ปีต่อมา มีข้าราชการสเปนครอบครัวหนึ่งจากซานมาร์ติน เดอ คาสตันญ่า ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองกาวีเตในฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ.1712 มีเกล โคบาร์รูเบียส ผู้เป็นบุตรชายมีความศรัทธาต่อพระนางพรหมจารีแห่งเปนญาฟรานช่าและพกพาหนังสือชีวประวัติซึ่งหน้าปกเป็นรูปของพระนางติดตัวอยู่ตลอดเวลา
     ระหว่างเป็นสามเณร มีเกลป่วยหนัก ท่านและครอบครัวได้อธิษฐานภาวนาและบนบานต่อพระนางพรหมจารีแห่งเปนญาฟรานช่าว่าหากหายป่วย ท่านจะสร้างวัดที่ริมฝั่งแม่น้ำปาสิกในกรุงมะนิลา แล้วอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น มีเกลหายจากอาการป่วยและได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกของเขตนูเอวะ กาเซเรส ซึ่งปัจจุบันคือเมืองนาก่า
เพื่อปฏิบัติตามที่ได้บนบานไว้ คุณพ่อมีเกลได้ระดมชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดทำด้วยต้นจากและไม่ไผ่ที่ริมฝั่งแม่น้ำบิโกลในเมืองนาก่าแทน และได้ให้ช่างแกะสลักไม้จากต้นกระท้อนเป็นรูปพระนางพรหมจารีแห่งเปนญาฟรานช่าตามภาพหน้าปกที่ท่านพกติดตัวอยู่เสมอ เมื่อแกะสลักแล้วเสร็จ ชาวบ้านได้เชือดคอสุนัขตัวหนึ่งเพื่อนำเลือดมาชโลมพระรูปอันเป็นวิธีปฏิบัติของคนสมัยนั้น นัยว่าเพื่อเป็นการเคลือบสีและรักษาเนื้อไม้ให้ทนทาน ปรากฏว่าเมื่อโยนร่างของสุนัขซึ่งตายแล้วลงในแม่น้ำ มันกลับมีชีวิตและว่ายน้ำได้อีกครั้งหนึ่ง
     ข่าวนี้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนจากที่ต่าง ๆ พากันมาอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากแม่พระเปนญาฟรานช่า คุณพ่อมีเกลได้บันทึกเรื่องราวอัศจรรย์ต่าง ๆ อันเกิดจากพระนางและส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ซานมาร์ติน เดอ คาสตันญ่า อันเป็นแหล่งกำเนิดของแม่พระเปนญาฟรานช่าในสเปน
     ดุจเดียวกับอุปมาเรื่องเมล็ดมัสตาร์ดในพระคัมภีร์ (มธ 13:31-32) บัดนี้ความศรัทธาต่อพระนางพรหมจารีแห่งเปนญาฟรานช่าได้งอกงามเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ มีกิ่งก้านสาขาแพร่ขยายออกไปทั่ว ไม่เพียงในฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอีกด้วย
     สำหรับประเทศไทย ความศรัทธาต่อแม่พระเปนญาฟรานช่าได้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมพระนางพรหมจารีแห่งเปนญาฟรานช่า (Virgin Of Peñafrancia Association – VOPA) และในปี ค.ศ. 2004 ได้อัญเชิญพระรูปของพระนางมาประดิษฐานที่วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ พร้อมกับจัดให้มีการเฉลิมฉลองในวันอาทิตย์ที่สามของเดือนกันยายนทุกปี

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown