มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

ประวัติศาสตร์พิธีกรรมวันสมโภชพระคริสตสมภพ


จากการศึกษาประวัติศาสตร์พิธีกรรมทำให้เราทราบว่าประมาณปี ค.ศ. 336 คริสตชนที่กรุงโรมได้ฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าในวันที่ 25 ธันวาคมแล้ว
     เนื่องจากวันสมโภชพระคริสตสมภพเป็นไปตามปฏิทินสุริยคติ เราจึงสมโภชการบังเกิดของพระเยซูเจ้าในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งแตกต่างจากวันสมโภชปัสกาซึ่งนับตามปฎิทินจันทรคติ ดังนั้นเราจึงสมโภชปัสกาในวันที่แตกต่างกันในแต่ละปี (วันสมโภชปัสกาจะเป็นวันอาทิตย์หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม-25 เมษายน)
ทำไมที่กรุงโรมจึงสมโภชการบังเกิดของพระเยซูเจ้าในวันที่ 25 ธันวาคม
คำตอบในเรื่องนี้มีสมมุติฐานดังนี้ คือ
1. ธรรมประเพณีโบราณในศตวรรษที่ 2-3 ที่เชื่อว่า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิและสิ้นพระชนม์ในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันที่ 25 มีนาคม (ตามธรรมประเพณีนี้เชื่อว่าตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสานของชาวยิว) ดังนั้น ถ้านับไปอีก 9 เดือน วันที่พระองค์ทรงบังเกิดก็คือ วันที่ 25 ธันวาคม
2. วันฉลองของชาวโรมันที่จักรพรรดิเอาเลเรียนได้กำหนดในปี ค.ศ. 274 ให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันฉลองดวงอาทิตย์แต่คริสตชนไม่ฉลองดวงอาทิตย์ เราฉลองพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเป็นดวงอาทิตย์แห่งความยุติธรรม (Sun of Justice) ตามที่ประกาศกมาลาคีได้ทำนายถึงพระเมสสิยา (พระเยซูเจ้า) ว่า“ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรมซึ่งมีปีกรักษาโรคภัยได้ จะขึ้นมาสำหรับคนเหล่านั้นที่ยำเกรงนามของเรา เจ้าจะกระโดดโลดเต้นออกไปเหมือนลูกวัวออกไปจากคอก” (มลค 4:2) ท่านเศเคริยาห์ก็ได้กล่าวถึงพระเยซูเจ้าในบทเพลงของท่านว่า “เดชะพระเมตตากรุณา ของพระเจ้าของเรา พระองค์จะเสด็จมาเยี่ยมเราจากเบื้องบน ดังแสงอรุโณทัย” (ลก 1:78) และพระเยซูเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นแสงสว่างส่องโลก (ยน 8:12)

มิสซาวันสมโภชพระคริสตสมภพ
     ปัจจุบันมิสซาวันสมโภชพระคริสตสมภพจะมีมิสซา 3 มิสซา (บวกอีกหนึ่งมิสซาคือมิสซาเย็นเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพ (vigil mass)) บทอ่านของทั้งสามมิสซา จะเป็นคำยืนยันของพยานและผู้นิพนธ์พระวรสารเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกแห่งการรับเอากายของพระบุตรพระเจ้า
จริงๆ ในศตวรรษที่ 4 ที่กรุงโรมมีมิสซาสมโภชพระคริสตสมภพเพียงมิสซาเดียวที่มหาวิหารนักบุญเปโตร (เวลาประมาณ 9.00 น.)
ในศตวรรษที่ 5 ได้เพิ่มมิสซาเที่ยงคืนที่มหาวิหารพระนางมารีย์ (St. Marry Major) มหาวิหารนี้สร้างขึ้นหลังสังคายนาที่เอเฟซัส ในปี ค.ศ. 431 สังคายนานี้ประกาศว่า “พระนางมารีย์คือพระมารดาของพระเจ้า” ณ มหาวิหารนี้มีพระธาตุรางหญ้าของพระกุมาร จึงไม่น่าแปลกใจที่พระสันตะปาปาจะไปถวายมิสซาสมโภชพระคริสตสมภพที่นี่
ประมาณกลางศตวรรษที่ 6 ที่กรุงโรมได้เพิ่มมิสซารุ่งอรุณสมโภชพระคริสตสมภพที่วัดนักบุญอนาสตาเซีย (St. Anastasia of Sirmium)นักบุญองค์นี้เป็นมรณสักขีที่นับถือของคริสตชนโดยฉลองในวันที่ 25 ธันวาคม ก่อนที่พระสันตะปาปาจะไปถวายมิสซาสมโภชพระคริสตสมภพที่มหาวิหารนักบุญเปโตร พระองค์จะแวะมาฉลองที่นี่ก่อน โดยใช้บทอ่านจากพระคัมภีร์เรื่องการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทนบทอ่านระลึกถึงนักบุญท่านนี้ จึงเป็นที่มาของมิสซารุ่งอรุณ
ตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก เราพบหลักฐานว่าใน ศต 7 มีการอนุญาตให้พระสงฆ์ถวาย 3 มิสซาในวันพระคริสตสมภพ (บทเทศน์พระคริสตสมภพของพระสันตะปาปาเกรโกรี่ มหาสมณะ 604 A.D.)
พิธีกรรมสมโภชพระคริสตสมภพหลังพระสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ได้เพิ่มมิสซาเย็นเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพ (vigil mass) ในเย็นวันที่ 24 ธันวาคมเข้าไปด้วย

เนื้อหาของมิสซาวันสมโภชพระคริสตสมภพ
มิสซาเย็นเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพ
     พระวาจาของมิสซานี้เป็นการเน้นที่ธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับการมีเชื้อสายดาวิดของพระเยซูเจ้า และความสำเร็จของพระสัญญาที่พระเจ้าเคยให้ไว้หัวข้อสำคัญนี้ได้มีการประกาศแล้วตั้งแต่วันอาทิตย์หลังๆ ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
     พระวรสารของนักบุญมัทธิว (มธ 1:1-25)ทำให้เราเห็นว่าพระเจ้าทรงรักษาพระสัญญา แผนการแห่งความรอดพ้นสำเร็จโดยอาศัยการบังเกิดของพระเยซูเจ้า และการบังเกิดของพระองค์เป็นผลงานของพระจิตเจ้า เพราะนักบุญโยเซฟไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระนางมารีย์ในฐานะสามีภรรยา
บทอ่านที่ 1 จากหนังสือประกาศกอิสยาห์ (อสย 62:1-5) ประกาศว่าพระเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งประชากร แต่กำลังจะทำให้พระสัญญาแห่งความรอดกลับเป็นความจริง ไม่เพียงแต่เท่านั้น แต่ประชากรนี้จะได้มีชื่อว่า “ความพึงพอใจของท่าน” คำพูดเดียวกันนี้ที่ทูตสวรรค์ใช้กับพระนางมารีอาเมื่อมาแจ้งสารการบังเกิดของพระเยซูเจ้า (ลก2:14)
บทอ่านที่ 2 จากหนังสือกิจการอัครสาวก (กจ13:16-17,22-25) เป็นคำให้การของเปาโลเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า บทอ่านบทนี้มีสาระใกล้เคียงกับพระวรสารในเรื่องเกี่ยวกับการที่พระเยซูเจ้าเป็นคนเชื้อสายของดาวิด และการบังเกิดของพระองค์เป็นความสำเร็จจริงของพระสัญญาของพระธรรมเดิม

มิสซากลางคืน
     พิธีขอบพระคุณนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศของการสำแดง “พระสิริโรจนา” ของพระเจ้าในพระคุณของพระผู้ไถ่ที่ประทานแก่มนุษย์ และบรรยากาศของ “ความยินดี” ของมนุษย์ผู้ต้อนรับพระองค์ “วันนี้ พระผู้ไถ่ คือองค์พระคริสต์ได้ประสูติเพื่อเราแล้ว”
     พระวรสารนักบุญลูกา (ลก 2:1-14) ได้เล่าถึงการบังเกิดของพระเยซูเจ้าที่เบธเลแฮม จบที่ทูตสวรรค์ร้องเพลงพระสิริรุ่งโรจน์ (Gloria) ซึ่งเป็นเพลงพิเศษของวันสมโภชนี้ จะเห็นได้ว่าการอวยพรให้มี “สันติสุข” จากปากของทูตสวรรค์ในพระวรสารนักบุญลูกา (ลก 2:14) ก็จะเป็นคำเดียวกันกับที่พระเยซูเจ้าตรัสกับพวกอัครสาวกหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับคืนชีพแล้วเช่นกัน(ลก 24:36)
บทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือประกาศกอิสยาห์(อสย 9: 2-4, 6-7) ความหวังเรื่องพระเมสสิยาห์สำเร็จในวันนี้ “ชนชาติที่ดำเนินในความมืด จะได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่ บรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งความตาย แสงสว่างจะได้ส่องมายังเขา... เหตุว่ามีกุมารผู้หนึ่งเกิดมาเพื่อเรา มีบุตรชายคนหนึ่งประทานมาให้เรา และการปกครองจะอยู่บนบ่าของพระองค์ และเขาจะขนานนามว่า “ที่ปรึกษามหัศจรรย์ พระเจ้าผู้ทรงอำนาจ พระบิดานิรันดร เจ้าแห่งสันติ”
บทอ่านที่สองจากจดหมายของนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงทิตัส (ทต 2:11-14) กล่าวถึงความรอดพ้นของพระเจ้าปรากฎมาแล้ว ขอให้เราเจริญชีวิตอย่างรู้ประมาณ ยุติธรรม และชอบธรรมในโลกนี้
สัญญลักษณ์แสงสว่างของพระเยซูเจ้าที่ชนะเหนือความมืดแห่งบาป พบได้ในบทภาวนาของประธาน และบทนำขอบพระคุณที่ 1 ของเทศกาลพระคริสตสมภพด้วย
ความเคารพพิเศษแสดงออกเมื่อคริสตชนสวดบทข้าพเจ้าเชื่อ (credo) เมื่อถึงประโยคที่ว่า“และทรงบังเกิดเป็นมนุษย์” ทุกคนคุกเข่า ในพิธีมิสซาเราคุกเข่าขณะสวดบทข้าพเจ้าเชื่อเมื่อถึงประโยคนี้ 2 วันด้วยกัน คือ วันสมโภชพระคริสตสมภพ และวันสมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์

มิสซารุ่งอรุณ
     หัวข้อสำคัญของพิธีบูชาขอบพระคุณนี้คือความเชื่อ ในที่นี้ ความเชื่อถูกมองเป็นทั้งเส้นทางเดินของชีวิต และในเวลาเดียวกัน เป็นพระคุณที่พระเจ้าประทานให้ (บทอ่านที่ 1 และ 2)
ในพระวรสารนักบุญลูกา (ลก 2:15-20) เล่าว่าคนเลี้ยงแกะไปพบพระกุมารบรรทมอยู่บนรางหญ้า พระวรสารตอนนี้เป็นตอนที่ต่อจากบทของพิธีตอนกลางคืน ซึ่งจบตอนที่ทูตสวรรค์แจ้งการบังเกิดของพระเยซูให้พวกคนเลี้ยงแกะทราบ บทอ่านตอนนี้เป็นปฏิกิริยาของพวกเขา ซึ่งเราสามารถเห็นวิธีการบรรยายของเส้นทางเดินของความเชื่อ ได้แก่ “การประกาศข่าวเกี่ยวกับความรอด จากนั้นมีการตอบสนองของความเชื่อ ซึ่งแสดงออกมาด้วยการฟัง การไปโดยไม่รอช้า การเห็นและจบลงด้วยการสรรเสริญพระเจ้าและการเป็นพยานให้คนอื่นทราบ”
สัญญลักษณ์ของแสงสว่างซึ่งหมายถึงพระคริสตเจ้าเป็นความสว่างที่มาขับไล่ความมืดของบาปชัดเจนมากขึ้นกว่ามิสซากลางคืน โดยเห็นได้จากเพลงเริ่มพิธี บทภาวนาของประธาน สดุดีที่97 (การประกาศสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงเป็นกษัตริย์ และเป็นความสว่างส่องเหนือผู้ชอบธรรม)
นอกจากนั้นในมิสซานี้ยังกล่าวถึง ความเชื่อและความชื่นชมยินดี (บทภาวนาหลังรับศีล)

มิสซากลางวัน
     มิสซากลางวันเสนอธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระธรรมชาติของพระเยซู ผู้ทรงบังเกิดมาและเป็นพระมหาไถ่ของอิสราเอลและของประชาชาติว่า พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงเสมอเทียบเท่าพระบิดา ได้ถูกส่งมาท่ามกลางมนุษย์และเพื่อมนุษย์ทุกคน ในพิธีกรรมเน้นพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรพระเจ้า
ในพระวรสารนักบุญยอห์น (ยน 1:1-18) ได้กล่าวถึงพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระวจนาถต์ที่ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ และมาประทับท่ามกลางเราพระองค์ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์เพื่อทำให้มนุษย์ได้เกิดใหม่เป็นบุตรของพระเจ้า “มีบางคนที่ยอมรับและเชื่อถือพระองค์ พระเจ้าทรงให้คนเหล่านี้มีสิทธิเป็นบุตรของพระองค์” ที่สุด ประโยคสุดท้ายนับเป็นการยืนยันถึงความหมายของ “เอ็มมานูเอล” ได้อย่างดี คือ “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรเพียงพระองค์เดียว ผู้สถิตอยู่ในพระอุระของพระบิดานั้นได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18)
บทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ (อสย 52:7-10) ได้กล่าวถึงความรอด สันติสุข ข่าวดี “พระเจ้าทรงเตรียมพระกรอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ เพื่อช่วยเหลือประชาชาติทั้งปวง และที่สุดปลายแผ่นดินทั้งสิ้น จะเห็นความรอดของพระเจ้าของเรา”
บทอ่านที่สองจากจดหมายถึงชาวฮีบรู (ฮบ 1:1-6) พระเจ้าตรัสกับเราผ่านทางพระบุตร พระบุตรสะท้อนสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า รูปแบบสมบูรณ์แห่งธรรมชาติของพระเจ้า ผดุงจักรวาล ประทับเบื้องขวาพระบิดา

สรุป
การสมโภชพระคริสตสมภพมีจุดเน้นที่สำคัญอยู่ 4 ประการ คือ
1. เน้นที่การมารับสภาพเป็นมนุษย์ของพระเยซู
2. การแลกเปลี่ยนสภาวะธรรมชาติระหว่างพระกับมนุษย์
3. คริสตสมภพยังเป็นการฉลองธรรมล้ำลึกปัสกา จากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิตัส ที่อ่านในมิสซารุ่งอรุณ (ทต 2:14) กล่าวว่า “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงมอบพระองค์เพื่อเรา เพื่อไถ่เราจากความชั่วร้ายทั้งมวล และชำระให้บริสุทธิ์ ให้เป็นประชากรของพระองค์ เป็นผู้กระตือรือร้นในการทำความดี”
4. แม่พระมีส่วนในธรรมล้ำลึกการรับเอากายของพระคริสตเจ้า พระวรสารกล่าวถึงพระนางในวันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า และยังพูดถึงพระนางบ่อยๆ ในวันธรรมดาระหว่างวันที่ 17-24 ธันวาคม และในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของอัฐมวารพระคริสตสมภพ เราสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า


 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown