มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

สมณลิขิตในรูปแบบอัตตาณัติ (Motu Proprio)

สมณลิขิตในรูปแบบอัตตาณัติ (Motu Proprio)
ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ดุจมารดาผู้น่ารัก
(“Like a Loving Mother” – “Come una madre amorevole”)
...........................

ดุจมารดาผู้น่ารัก พระศาสนจักรรักบรรดาบุตรทุกคน และก็มีความเอาใจใส่ในการปกป้องคุ้มครองด้วยความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดาลูกเล็กๆ และผู้ที่ปกป้องตนเองไม่ได้ นี่เป็นงานที่พระคริสตเจ้าทรงมอบแก่ทั้งชุมชนคริสตชนร่วมกัน ด้วยความเข้าใจสิ่งนี้ พระศาสนจักรอุทิศตนดูแลปกป้องเป็นพิเศษแก่เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ดูแลตนเองไม่ได้
หน้าที่ปกป้องและดูแลนี้ เป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรทั้งหมด แต่เป็นพิเศษโดยอาศัยบรรดาผู้อภิบาลต้องปฏิบัติหน้าที่ บรรดาพระสังฆราชสังฆมณฑล และบรรดาผู้มีความรับผิดชอบพระศาสนจักรท้องถิ่น ต้องพยายามปกป้องบรรดาผู้ที่อ่อนแอที่ตนได้รับมอบหมาย
กฎหมายพระศาสนจักรได้เห็นถึงเรื่องการปลดออกจากหน้าที่ในพระศาสนจักร ในกรณีมีเหตุผลหนัก ที่เกี่ยวกับบรรดาพระสังฆราชสังฆมณฑล และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย (เทียบมาตรา 193 วรรค 1 และ 974 วรรค 1) ที่ละเลยปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในกรณีเกี่ยวกับการทำผิดทางเพศต่อผู้เยาว์ และผู้ใหญ่ที่ดูแลตนเองไม่ได้ ตามที่นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ออกคำสั่งไปแล้ว และสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ที่รัก ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนข้าพเจ้า ได้สอนต่อมา
มาตรา 1
1. พระสังฆราชสังฆมณฑลหรือผู้ที่มีความรับผิดชอบชั่วคราว มีความรับผิดชอบในพระศาสนจักรท้องถิ่น หรือกลุ่มคริสตชนในลักษณะพระศาสนจักรท้องถิ่น (CIC 368 และ 313) สามารถถูกปลดออกจากหน้าที่ หากละเลยหน้าที่ เมื่อมีการทำผิดหนักต่อบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่ม ทั้งทางกายภาพ ศีลธรรม จิตใจ หรือทรัพย์สมบัติ
2. พระสังฆราชสังฆมณฑลสามารถถูกปลดออกจากหน้าที่ ถ้าขาดความเอาใจใส่ในกรณีหนักมาก ซึ่งถูกเรียกร้องจากหน้าที่อภิบาล แม้มิได้เป็นเรื่องหนักทางศีลธรรมในส่วนของท่านด้วย
3. ในกรณีทำผิดต่อผู้เยาว์ หรือต่อผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ถ้าท่านขาดการดูแล ก็ถือเป็นเรื่องหนัก
4. ในหน้าที่พระสังฆราชสังฆมณฑล ผู้ใหญ่ของคณะนักบวชและคณะธรรมทูต ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เหมือนพระสังฆราช
มาตรา 2
1. ในทุกกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวข้องกับมาตราที่ได้อ้างมา สมณกระทรวงที่เกี่ยวข้องของโรมัน คูเรีย สามารถเริ่มสอบสวน โดยแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้โอกาสเขาแสดงเอกสารและพยาน
2. พระสังฆราชสามารถปกป้องตนเอง สิ่งที่เขาจะทำโดยใช้กฎหมายทุกขั้นตอนของการสอบสวนต้องแจ้งให้เขาทราบ และให้มีโอกาสพบผู้ใหญ่ของสมณกระทรวงเสมอ การพบนี้ ถ้าพระสังฆราชมิได้ขอ สมณกระทรวงจะแจ้งเอง
3. หลังจากพระสังฆราชนำเสนอแล้ว สมณกระทรวงสามารถดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม
มาตรา 3
1. ก่อนการตัดสิน สมณกระทรวงจะพบบรรดาพระสังฆราชตามโอกาส จากสภาพระสังฆราช หรือสมัชชาพระสังฆราชของพระศาสนจักร ซึ่งพระสังฆราชองค์นั้นเป็นสมาชิก เพื่อหารือในเรื่องนี้
2. สมณกระทรวงยอมรับการตัดสินใจร่วมกันในการประชุมสามัญ
มาตรา 4 การปลดพระสังฆราชออกจากหน้าที่ สมณกระทรวงจะ
1. มีกฤษฎีกาการปลดจากหน้าที่ ให้เร็วที่สุด
2. ให้บอกพระสังฆราชด้วยความรักฉันพี่น้อง ให้ท่านยื่นใบลาออกเองภายใน 15 วัน ถ้าพระสังฆราชไม่ตอบในเวลาที่กำหนด สมณกระทรวงจะออกกฤษฎีกาการปลดออกจากหน้าที่ได้
มาตรา 5 การตัดสินใจของสมณกระทรวงในมาตรา 3-4 ต้องยื่นให้สมเด็จพระสันตะปาปาเป็นผู้อนุมัติ ก่อนการตัดสินใจเด็ดขาด พระองค์จะขอความคิดเห็นจากคณะผู้พิพากษาที่ได้เลือกโดยเฉพาะ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ประกาศในอัตตาณัตินี้ สั่งให้ปฏิบัติทุกข้อ... ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และหนังสือพิมพ์ L’Osservatore Romano มีผลบังคับใช้ วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2016

จากวาติกัน วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2016 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
16 มิถุนายน ค.ศ. 2016
จาก https://w2.vatican.va/…/papa-francesco-motu-proprio_2016060…

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown