จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ (What happens after the Pope dies?)
- รายละเอียด
- หมวด: vatican news
- เขียนโดย Nuphan Thasmalee
- ฮิต: 53
จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ (What happens after the Pope dies?)
การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเริ่มต้นของการประชุมลับ (conclave) และการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งจากนักบุญเปโตรองค์ใหม่ เราได้อธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่โดยละเอียด ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา งานพระศพของพระองค์ การเริ่มต้นการประชุมลับ และการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งองค์ใหม่ แต่มีอะไรเกิดขึ้นจริงในนครรัฐวาติกันในช่วงที่ไม่มีพระสันตะปาปา (Sede Vacante) นี้?
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเอกสาร Universi Dominici Gregis หรือ UDG ในปี 1996 (Main changes introduced in 1996 by the Universi Dominici Gregis)
กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งนักบุญเปโตรหรือพระสันตะปาปา อยู่บนพื้นฐานของสังฆธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาแห่งโรม (Romano Pontifici Eligendo) โดยนักบุญพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ในปี 1975 ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงและประกาศใช้โดยนักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1996 ในโอกาสวันฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร ชื่อ #สังฆธรรมนูญเรื่องฝูงแกะของพระเจ้าทั้งหมด (Universi Dominici Gregis หรือ UDG) โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ คือ
ภาคที่หนึ่ง #กำหนดช่วงระยะเวลาที่ไม่มีพระสันตะปาปา หรือช่วงระยะเวลาที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง (Sede Vacante) ซึ่งหมายถึง ช่วงเวลาตั้งแต่ที่การปกครองพระศาสนจักรของพระสันตะปาปาสิ้นสุดลงจนถึงการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งองค์ (ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการสิ้นพระชนม์หรือการสละตำแหน่งก็ได้)
ภาคที่สอง #กำหนดขั้นตอนในการเตรียมการ และ #ดำเนินการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ตามที่ระบุไว้ในคำนำ การแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านี้เกิดขึ้นจาก “การตระหนักถึง #สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของพระศาสนจักร และ #สถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน และความสอดคล้องกับ #กฎหมายของพระศาสนจักร ที่ได้รับการแก้ไขแล้วเช่นเดียวกัน และการได้รับแรงบันดาลใจจาก #สังคายนาวาติกันครั้งที่สอง
ในการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ได้คำนึงถึงความต้องการของโลกยุคปัจจุบัน และจะต้องไม่เบี่ยงเบนไปจากธรรมประเพณีอันชาญฉลาดและเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้” (UDG หน้า 4-5)
ประเด็นสำคัญ (Key points:)
คณะพระคาร์ดินัล (College of Cardinals) ยังคงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยปฏิบัติตามธรรมประเพณีที่กระทำสืบทอดต่อกันมาเป็นพันปีที่ระบุอยู่ในกฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับกันว่า
“นี่เป็นข้อความเชื่ออย่างแท้จริงที่ว่า อำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปาได้รับมาจากพระเยซูคริสตเจ้าโดยตรง ในการเป็นผู้แทนของพระองค์ในโลกนี้ อีกทั้งยังไม่ต้องสงสัยว่า อำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปาในพระศาสนจักร ถูกมอบให้กับพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ผ่านทางการเลือกตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการตอบรับโดยพระองค์ (พระคาร์ดินัลที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่) รวมถึงการอภิเษกที่จะตามมาด้วย (UDG หน้า 5)
ในวันที่ 21 เมษายน 2025 จะมีพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135 องค์ (UDG ได้กำหนดจำนวนพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้อย่างน้อยต้องมี 120 องค์) โดย 108 องค์ได้รับการแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส และมีพระคาร์ดินัลผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งอีก 117 คน พระคาร์ดินัลผู้ที่อายุครบ 80 ปีในวันที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลงก็ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พระคาร์ดินัลที่อายุมากกว่า 80 ปียังคงสามารถเข้าร่วมการประชุมเตรียมการก่อนการเลือกตั้งได้
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องเป็นพระคาร์ดินัลเท่านั้น: (The College of Electors consists exclusively of Cardinals:)
“ในบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีลักษณะ 2 ประการที่แสดงถึงลักษณะและตำแหน่งของพระสันตะปาปาแห่งโรมอย่างน่าอัศจรรย์คือ
#ประการที่หนึ่ง คือ #เป็นพระสันตะปาปาของพระศาสนจักรโรมัน (โรมันคาทอลิก) เนื่องจากพระสันตะปาปาที่จะได้รับการเลือกตั้งจะได้เป็นพระสังฆราชของพระศาสนจักรในกรุงโรม ดังนั้น จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระสงฆ์ในเมืองนี้ โดยมีบรรดาพระคาร์ดินัล พระสงฆ์ และสังฆานุกร พร้อมกับบรรดาพระสังฆราชพระคาร์ดินัล (Cardinal Bishops) ในเขตปริมณฑลของโรม (suburban Sees) เป็นตัวแทนของพระองค์ (represented) ในเขตสังฆมณฑลแห่งโรม
#ประการที่สอง คือ #เป็นพระสันตะปาปาของพระศาสนจักรสากล เนื่องจากพระองค์ได้รับเรียกให้เป็นตัวแทนที่มองเห็นได้ของผู้เลี้ยงแกะที่มองเห็นไม่ได้ เป็นผู้นำฝูงแกะทั้งหมดไปสู่ทุ่งหญ้าแห่งชีวิตนิรันดร นอกจากนี้ ความเป็นสากลภาพของพระศาสนจักรยังถูกแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในองค์ประกอบของคณะพระคาร์ดินัล ซึ่งรวบรวมสมาชิกจากทุกทวีป” (UDG หน้า 6)
คอนเคลฟ หรือการประชุมลับ (The Conclave)
เป็น "สถาบันเก่าแก่" และได้รับการยืนยันว่าเป็นสถานที่สำหรับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงยืนยันโครงสร้างที่สำคัญของคอนเคลฟ และทรงกำหนดให้การดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดต้องจัดขึ้นในวัดน้อยซิสติน (Sistine Chapel) ของพระราชวังอัครสาวกเท่านั้น
“การตรวจสอบประวัติศาสตร์อย่างรอบคอบ ยืนยันไม่เพียงแต่ความเหมาะสมโดยบังเอิญของสถาบันนี้ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังยืนยันถึงประโยชน์อย่างต่อเนื่องของสถาบันนี้ สำหรับการดำเนินการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ ทันที และเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดและความวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้ แม้จะทราบดีถึงการพิจารณาของนักเทววิทยาและนักศาสนศาสตร์ในทุกยุคสมัย ซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า สถาบันนี้ไม่จำเป็นตามธรรมชาติเพื่อการเลือกตั้งที่ถูกต้องของพระสันตะปาปาแห่งโรม แต่ข้าพเจ้าก็ยืนยันว่า สถาบันนี้มีอยู่อย่างถาวรและมั่นคง” (UDG หน้า)
“เมื่อพิจารณาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการกระทำ และความเหมาะสมที่จะดำเนินการในสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งการกระทำทางพิธีกรรมสอดคล้องกับพิธีการทางกฎหมาย และที่ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเตรียมจิตวิญญาณของตนให้พร้อมรับการทำงานภายในของพระจิตเจ้าได้ดียิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงสั่งให้มีการเลือกตั้งต่อไปในวัดน้อยซิสติน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมีส่วนช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า ซึ่งวันหนึ่งทุกคนจะต้องยืนต่อหน้าพระองค์เพื่อรอการพิพากษา” (หน้า 9 UDG)
เช่นเดียวกับในอดีต ความจำเป็นในการปกป้องการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่จากอิทธิพลภายนอก และมอบอำนาจให้กับหน่วยงานการเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติและกำหนดไว้ล่วงหน้าได้รับการยอมรับ ยิ่งไปกว่านั้น ขั้นตอนของการประชุมลับ มุ่งหวังไม่เพียงแต่เพื่อรับรองเสรีภาพ แต่ยังรับประกันความเป็นอิสระในการตัดสินใจของพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน ปกป้องพวกเขาจากความอยากรู้อยากเห็นและแรงกดดันที่ไม่เหมาะสม
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสามประการใน UDG (Three main changes were introduced by the Constitution Universi Dominici Gregis:)
#ประการที่หนึ่ง (บรรดาพระคาร์ดินัลต้องพักอยู่ในบ้านนักบุญมาร์ธาเท่านั้น) ตลอดระยะเวลาการเลือกตั้ง บ้านพักของบรรดาพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างถูกต้องจะต้องอยู่ที่บ้านนักบุญมาร์ธา (Casa Santa Marta) ในนครรัฐวาติกัน (UDG หน้า 42) ก่อนหน้านี้ บรรดาพระคาร์ดินัลไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากวัดน้อยซิสตินตลอดระยะเวลาของกระบวนการลงคะแนนเสียง
#ประการที่สอง (ต้องเป็นการลงคะแนนเสียงลับเท่านั้น) บรรดาพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพระสันตะปาปาได้ด้วยการการลงคะแนนลับเท่านั้น (UDG หน้า 9) วิธีนี้ทำให้ตัวเลือกต่าง ๆ ตามระเบียบก่อนหน้านี้ สำหรับ #การเลือกตั้งโดยส่งเสียงโห่ร้องหรือการดลใจ (quasi ex inspiratione) ถูกยกเลิก ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมอีกต่อไป ที่จะสะท้อนความคิดของหน่วยงานเลือกตั้งที่กว้างขวางและหลากหลายเช่นนี้
#การเลือกตั้งโดยการประนีประนอม (per compromismum) ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน เนื่องจากดำเนินการได้ยาก และอาจนำไปสู่ความไม่รับผิดชอบในระดับหนึ่งในบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในกรณีนี้ จะไม่จำเป็นต้องลงคะแนนเสียงส่วนตัว (UDG หน้า 9) ภายใต้วิธีการเลือกตั้งนี้ หากการลงคะแนนเสียงหลายรอบไม่สามารถหาผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงข้างมากตามที่กำหนดได้ พระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตกลงประนีประนอมกันเป็นเอกฉันท์ได้ โดยใช้เกณฑ์คะแนนเสียงข้างมากที่แตกต่างกัน
#ประการที่สาม (ต้องเป็นคะแนนเสียงสองในสามเท่านั้น) เกี่ยวกับคะแนนเสียงที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่ถูกต้อง ย่อหน้าที่ 75 ของ UDG กำหนดไว้ในตอนแรกว่า หลังจากการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 33 หรือ 34 หากไม่มีการบรรลุฉันทามติ การลงคะแนนเสียงสามารถดำเนินต่อไปได้โดยมีเสียงข้างมากที่แน่นอนเท่านั้นจึงจะเพียงพอ อย่างไรก็ตาม
บทบัญญัตินี้ได้รับการแก้ไขโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 โดยเอกสารบันทึกการเปลี่ยนแปลงบางประการของกฎเกณฑ์การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ (Motu Proprio Aliquibus mutationibus in normis de electione Romani Pontificis) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2007 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนในปีเดียวกัน ได้รื้อฟื้นกฎเกณฑ์ดั้งเดิมที่ว่า การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีคะแนนเสียงข้างมากที่ผ่านคุณสมบัติสองในสามจากพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เข้าร่วมประชุมเสมอ
ช่วงที่ไม่มีพระสันตะปาปา (The Vacant See)
คำว่า "Sede Vacante" (หรือ Vacant See ในภาษาอังกฤษ) หมายถึง ช่วงระยะเวลาตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองพระศาสนจักรของพระสันตะปาปาไปจนถึงการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งของพระองค์ ตามที่มีกำหนดไว้ใน UDG
ใครคือผู้บริหารจัดการในช่วงที่ไม่มีพระสันตะปาปา (Who "manages" the Vacant See?)
ตามบทบัญญัติของคณะพระคาร์ดินัล ในระหว่างที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง การปกครองพระศาสนจักรจะถูกมอบหมายให้กับคณะพระคาร์ดินัล อย่างไรก็ตาม อำนาจของคณะพระคาร์ดินัลจะจำกัดอยู่เพียงการจัดการเรื่องธรรมดา หรือเรื่องเร่งด่วนเท่านั้น และการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ คณะพระคาร์ดินัลยังถืออำนาจทางแพ่งทั้งหมดของพระสันตะปาปาเกี่ยวกับการปกครองนครรัฐวาติกันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คณะพระคาร์ดินัลไม่มีอำนาจเหนือ #กระบวนการศาลของพระศาสนจักร ในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นสิทธิพิเศษของพระสันตะปาปาในช่วงที่พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพ
คูเรียโรมันจะต้องทำอย่างไรในช่วงที่ไม่มีพระสันตะปาปา? (What happens to the heads of the Roman Curia during the Sede Vacante?)
เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ หัวหน้าฝ่ายปกครองของโรมันคูเรียทั้งหมดจะลาออก (หรือพ้นจากตำแหน่ง) ยกเว้นบางคนที่มีหน้าที่ดำเนินงานปกติของนครรัฐวาติกัน ได้แก่
- #พระคาร์ดินัลคาเมอร์เลนโก (the Cardinal Camerlengo หรือพระคาร์ดินัลผู้รักษาการนครรัฐวาติกัน) ปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัลเควิน ฟาร์เรล (Cardinal Kevin Farrell) มีหน้าที่ดูแลและบริหารทรัพย์สินและสิทธิทางโลกของสันตะสำนัก ในช่วงเวลาที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง
- #สมณมนตรีศาลสูงสุดของนครรัฐวาติกัน (the Major Penitentiary) ปัจจุบัน คือ พระคาร์ดินัลแองเจโล เด โดนาติส (Cardinal Angelo De Donatis)
- #พระคาร์ดินัลอุปสังฆราชแห่งโรม ปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัลบัลดาสซาเร เรนา (Cardinal Baldassare Reina)
- #พระคาร์ดินัลอัครสงฆ์แห่งพระมหาวิหารนักบุญเปโตร และผู้บริหารจัดการทั่วไปนครรัฐวาติกัน ปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัลเมาโร กัมเบตติ (Cardinal Mauro Gambetti)
- #ผู้ดูแลงานการกุศลของพระสันตะปาปา ปัจจุบัน คือ พระคาร์ดินัลคอนราด คราเยฟสกี้ (Cardinal Konrad Krajewski)
- #ผู้แทนฝ่ายกิจการทั่วไปของสำนักงานเลขาธิการแห่งรัฐ ปัจจุบันคือ พระอัครสังฆราชเอ็ดการ์ เปญา ปาร์รา (Archishop Edgar Peña Parra)
- #เลขาธิการฝ่ายความสัมพันธ์กับรัฐ ปัจจุบัน คือ อาร์คิชอป พอล ริชาร์ด กัลลาเกอร์ (Archbishop Paul Richard Gallagher) และ
- #หัวหน้านายจารีตพิธีกรรมแห่งสันตะสำนัก ปัจจุบันคือ พระอัครสังฆราชดิเอโก จิโอวานนี ราเวลลี (Archbishop Diego Giovanni Ravelli)
- นอกจากนี้ #เลขาธิการของสมณสภาต่าง ๆ ของสันตะสำนักยังคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่
คณะพระคาร์ดินัลจะทำอะไรบ้างในช่วงที่ไม่มีพระสันตะปาปา (What does the College of Cardinals do during the Vacant See?)
ในช่วงที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง คณะพระคาร์ดินัล (ซึ่งจะประชุมกันที่กรุงโรม ยกเว้นในกรณีที่มีปัญหาด้านสุขภาพ) จะแบ่ง #คณะพระคาร์ดินัล ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. #คณะพระคาร์ดินัลทั่วไป (General Congregations) คือ พระคาร์ดินัลทั้งหมด (รวมทั้งผู้ที่อายุเกินเกณฑ์ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ คือ 80 ปี) การประชุมนี้จะจัดขึ้นในพระราชวังอัครสาวก และมีพระคาร์ดินัลที่เป็นหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล (ปัจจุบัน คือ คาร์ดินัล จิโอวานนี บัตติสตา เร / Cardinal Giovanni Battista Re) เป็นประธาน หากหัวหน้าและรองหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัลไม่สามารถเป็นประธานได้ สมาชิกพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิเลือกตั้งที่อาวุโสที่สุดจะเข้ามาทำหน้าที่แทน
2. #คณะพระคาร์ดินัลพิเศษ (Particular Congregations) ประกอบด้วย
- พระคาร์ดินัลผู้รักษาการนครรัฐวาติกัน (Cardinal Camerlengo) แห่งพระศาสนจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระคาร์ดินัลอีก 3 องค์ หนึ่งองค์จากแต่ละฐานันดร (พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร) ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยการจับฉลากจากบรรดาพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- พระคาร์ดินัลผู้ช่วยทั้งสามองค์นี้ทำหน้าที่เป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกแทนที่โดยการเลือกแบบสุ่มใหม่ กระบวนการนี้ยังคงดำเนินต่อไปในระหว่างการเลือกตั้ง
- คณะพระคาร์ดินัลพิเศษจะจัดการเรื่องทั่วไปประจำวัน ในขณะที่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นจะต้องส่งต่อไปยังคณะพระคาร์ดินัลทั่วไป
เรื่องที่จะถูกตัดสินใจเร่งด่วนที่สุดโดยคณะพระคาร์ดินัลทั่วไปคืออะไร? (What are the most urgent decisions made by the General Congregations?)
คณะพระคารดินัลทั่วไป (ที่จัดขึ้นก่อนเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง) จะต้องหารือกันทันทีเกี่ยวกับการตัดสินใจสำคัญต่อไปนี้ (ไม่รวมขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพระสันตะปาปา) คือ
1. จัดเตรียมสถานที่ #บ้านนักบุญมาร์ธา (Casa Santa Martha) สำหรับบรรดาพระคาร์ดินัลและเตรียม #วัดน้อยซีสติน (Sistine Chapel) เพื่อใช้ในกระบวนการการเลือกตั้ง
2. มอบหมายให้นักบวชผู้ทรงคุณวุฒิและทรงคุณธรรมสองคน ทำหน้าที่ในการ #ส่งคำถามสองข้อถึงบรรดาพระคาร์ดินัล เกี่ยวกับความท้าทายในปัจจุบันของพระศาสนจักร และข้อเสนอแนะสำหรับการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ พร้อมกำหนดวันที่ส่งสำหรับการคิดเห็นเหล่านี้
3. ทำลายแหวนชาวประมงและตราประทับตะกั่ว ซึ่งใช้ในการรับรองจดหมายของพระสันตะปาปา
4. กำหนดวันที่และเวลา สำหรับการเริ่มต้นกระบวนการลงคะแนนเสียง
ก่อนการเลือกตั้งจะต้องทำอะไรบ้าง? (What happens immediately before the beginning of the election?)
ก่อนการเลือกตั้งจะมีพิธีพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อการเลือกตั้งพระสันตะปาปา (Pro Eligendo Papa) อย่างเป็นทางการ โดยมีพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าร่วม ในช่วงบ่าย พระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเดินขบวนอย่างเป็นทางการไปยังวัดน้อยซิสติน และเริ่มการประชุมลับเพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ เมื่อสิ้นสุดขบวนแห่ภายในวัดน้อยซิสติน พระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะสาบานตนตามที่กำหนดไว้ในวรรคที่ 53 ของ UDG โดยผ่านคำสาบานนี้
หากได้รับเลือก พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามคำสาบานหน้าที่ของนักบุญเปโตร (Munus Petrinum) อย่างซื่อสัตย์ในการเป็นผู้อภิบาลของพระศาสนจักรสากล พวกเขายังให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาความลับอย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปา และจะไม่สนับสนุนความพยายามใด ๆ ที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งจากภายนอ ณ เวลานี้ หัวหน้านายจารีตพิธีกรรมแห่งสันตะสำนักจะประกาศ (extra omnes) ให้บุคคลทั้งหมดที่ไม่ใช่สมาชิกของการประชุมลับ ให้ออกไปจากวัดน้อยซีสติน
มีเพียงหัวหน้านายจารีตและผู้ช่วยที่ได้รับมอบหมายให้สวดภาวนาครั้งที่สองเท่านั้นที่ยังคงอยู่ การสวดภาวนาครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงที่ตกอยู่กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และความจำเป็นในการกระทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักรสากล โดยให้มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่อยู่ในสายตาของพวกเขา (ย่อหน้า 52)
เมื่อสวดภาวนาแล้ว หัวหน้านายจารีตและผู้ช่วยทั้งสองจะออกไปจากวัดน้อยซีสติน จากนั้นพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะสวดภาวนาตามที่ระเบียบวิธีการประชุมลับอันศักดิ์สิทธิ์ (Ordo Sacrorum Rituum Conclavis) กำหนดเอาไว้ และฟังหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัลซึ่งจะถามว่า #พวกเขาพร้อมที่จะดำเนินการลงคะแนนหรือไม่ หรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับกฎและขั้นตอนที่ระบุไว้ใน UDG หรือไม่
มาตรการเพื่อการรักษาความลับและป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก (Measures to ensure confidentiality and prevent external interference)
ขั้นตอนการเลือกตั้งทั้งหมดจะเกิดขึ้นเฉพาะวัดน้อยซิสติน ภายในพระราชวังอัครสาวก นครรัฐวาติกันเท่านั้น ซึ่งจะถูกปิดสนิทจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น สังฆธรรมนูญ UDG ของพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเก็บรักษาความลับอย่างสมบูรณ์ เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมลับ และสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่เอกสารดังกล่าวระบุรายละเอียดมาตรการป้องกันทั้งหมด
เพื่อรับประกันความลับ และป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก (ย่อหน้า 51-61) ตลอดกระบวนการเลือกตั้ง พระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องงดเว้นการส่งจดหมาย หรือการสนทนา รวมถึงการโทรศัพท์ ยกเว้นในกรณีเร่งด่วนอย่างยิ่ง ห้ามส่งหรือรับข้อความใด ๆ รับหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารใด ๆ หรือติดตามการออกอากาศทางวิทยุหรือโทรทัศน์
จำนวนคะแนนเสียงที่ต้องการและเสียงข้างมากที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง (Number of votes required and majority needed for election)
การจะเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากสองในสามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าร่วมประชุม หากคะแนนเสียงที่ได้รับไม่ถึงจำนวนสองในสาม จำเป็นต้องมีการลงคะแนนเสียงใหม่ (ย่อหน้า 62) หากการลงคะแนนเสียงเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายของวันแรก จะมีการลงคะแนนเสียงเพียงหนึ่งครั้ง, ในวันถัดมาจะมีการลงคะแนนเสียงสองครั้งในตอนเช้าและสองครั้งในตอนบ่าย ขั้นตอนการลงคะแนนเสียงมีรายละเอียดอยู่ใน UDG รวมถึงข้อกำหนดสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สบาย และจำเป็นต้องลงคะแนนเสียงจากห้องของพวกเขาที่บ้านนักบุญมาร์ธา หลังจากนับคะแนนแล้ว บัตรลงคะแนนทั้งหมดจะถูกเผา
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ถึงเกณฑ์เสียงข้างมากที่ต้องการ? (What happens if the required majority is not reached?)
หากพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับผู้สมัครได้ หลังจากการลงคะแนนที่ไม่มีผลสรุปเป็นเวลาสามวัน จะมีช่วงพักหนึ่งวันสำหรับการอธิษฐานภาวนา การอภิปรายอย่างอิสระระหว่างพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการเตือนสติทางจิตวิญญาณสั้น ๆ โดยพระคาร์ดินัลสังฆานุกรผู้ที่มีอายุการเป็นพระคาร์ดินัลยาวนานที่สุด (Cardinal Proto-Deacon) ปัจจุบันคือ คาร์ดินัลโดมินิก มัมเบอร์ติ (Cardinal Dominique Mamberti)
จากนั้น การลงคะแนนเสียงจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง และหากไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังจากมีการลงคะแนนเสียงเพิ่มอีก 7 ครั้ง จะมีการพักอีกครั้ง
กระบวนการนี้จะทำซ้ำหลังจากมีการลงคะแนนเสียงไม่สำเร็จอีก 7 ครั้ง ณ จุดนี้ พระคาร์ดินัลผู้รักษาการนครรัฐวาติกัน (Camerlengo) จะหารือกับพระคาร์ดินัลเกี่ยวกับวิธีดำเนินการต่อไป
สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือมาตรา 75 ของ UDG ได้รับการแก้ไขโดยบันทึกข้อความ (Motu Proprio) ที่ออกโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2007 ซึ่งได้แก้ไขกฎเกณฑ์แบบดั้งเดิมที่กำหนดให้ต้องมีเสียงข้างมากสองในสามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าร่วมประชุมจึงจะเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้อย่างถูกต้อง กฎเกณฑ์นี้ยังได้รับการยืนยันใน บันทึกข้อความ (Motu Proprio) ที่ออกโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2013 ซึ่งระบุว่า ต้องคำนวณคะแนนเสียงบนพื้นฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียง
จะเกิดอะไรขึ้นทันทีหลังจากที่มีการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่? (What happens immediately after a new Pope is elected?)
เมื่อมีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่สำเร็จแล้ว พระคาร์ดินัลสังฆานุกรที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์สุดท้าย จะเรียกเลขาธิการของคณะพระคาร์ดินัล และหัวหน้านายจารีตพิธีกรรมของสันตะสำนักเข้าสู่วัดน้อยซีสติน หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล ในนามของพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด จะสอบถามความสมัครใจของพระคาร์ดินัลผู้ได้รับการเลือกตั้งด้วยถ้อยคำดังนี้ “ท่านจะยอมรับการเลือกตั้งตามกฎหมายของพระศาสนจักรในการเป็นพระสันตะปาปาหรือไม่?”
เมื่อได้รับความยินยอมแล้ว จะถามต่อไปว่า “ชื่ออะไรที่ท่านปรารถนาจะให้เรียก?” หน้าที่ในการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นของเลขาธิการของคณะพระคาร์ดินัล และหัวหน้านายจารีตพิธีกรรมของสันตะสำนัก (ที่ถูกเรียกเข้าไป) ซึ่งจะร่างเอกสารรับรองและบันทึกชื่อที่เลือกเอาไว้
ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ผู้ได้รับเลือกจะได้รับอำนาจสูงสุดและเต็มเปี่ยมเหนือพระศาสนจักรทั่วโลก การประชุมลับจะสิ้นสุดลงทันที จากนั้นคณะพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะถวายความเคารพ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระสันตะปาปาที่ได้รับการเลือกใหม่ และขอบพระคุณพระเจ้า
จากนั้น พระคาร์ดินัลสังฆานุกรผู้มีอายุการเป็นพระคาร์ดินัลมากที่สุด จะออกมาประกาศ ณ เฉลียงหน้าต่างชั้นบน (Loggia) ของพระมหาวิหารนักบุญเปโตร ให้บรรดาสัตบุรุษทราบผลการเลือกตั้งและชื่อของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ด้วยประโยคที่มีชื่อเสียงว่า “Annuntio vobis gaudium magnum; Habemus Papam” (แปลว่า “ข้าพเจ้าขอประกาศข่าวดีแก่ท่านว่าเรามีพระสันตะปาปาแล้ว”) หลังจากนั้นทันที พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะออกมาอวยพรชาวโรมและชาวโลก (Urbi et Orbi) (UDG หน้า 87-91)
ขั้นตอนสุดท้ายที่จำเป็นคือ หลังจากพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ และภายในเวลาที่เหมาะสม พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเข้าครอบครองพระมหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน (ที่มีฐานะเป็นอาสนวิหารของสังฆมณฑลแห่งโรม) อย่างเป็นทางการตามพิธีกรรมที่กำหนดไว้
ภาพเก่า: ควันสีขาวพวยพุ่งออกมาจากปล่องไฟของวัดน้อยซิสติน ในวันเลือกตั้งของพระสันตะปาปาฟรังซิสผู้ล่วงลับ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2013 (AFP or licensors)