ตัวแทนคาทอลิกได้เข้าร่วมสัมมนาของสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Aid Network Council) ของสำนักจุฬาราชมนตรี
- รายละเอียด
- หมวด: vatican news
- เขียนโดย Chainarong Monthienvichienchai - Thailand, LiCAS News
- ฮิต: 95
เครือข่ายมนุษยธรรมยืนยันพันธกิจเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม (Thailand's interfaith humanitarian network reaffirms mission of altruism)
ตัวแทนคาทอลิกได้เข้าร่วมสัมมนาของสภาเครือข่ายช่วยเหลือ ด้ามนุษยธรรม(Humanitarian Aid Network Council) ของสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกริเริ่มโดยสำนักจุฬาราชมนตรีแห่งประเทศไทย ในความพยายามที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและสนับสนุนความคิดริเริ่มด้านมนุษยธรรม การสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปีของเครือข่ายฯ ในความมุ่งมั่นต่อ "ความยั่งยืนและมนุษยชาติ" อาศัยความร่วมมือกันขององค์กรต่าง ๆ ที่หลากหลาย ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสังคมให้ดีขึ้น
ซิสเตอร์กรรณิการ์ เอี่ยมไธสง คณะพระหฤทัยฯ จากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ กรุงเทพฯ แบ่งปันความสุขในการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ฉันดีใจที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้ด้วยการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของส่วนรวมร่วมกัน และทำงานในโครงการต่าง ๆ ภายใต้หลักการ “ช่วยเหลือคน ช่วยเหลือสังคม”
ซิสเตอร์กรรณิการ์เป็นตัวแทนฝ่ายคาทอลิก ได้ทำงานอย่างแข็งขันกับศูนย์เยาวชนที่ให้บริการเด็กด้อยโอกาส และผู้เปราะบางในรูปแบบต่าง ๆ เธอเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นหนึ่งเดียวกันว่า “พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาตามพระฉายาของพระเจ้า เราต้องมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับ และการเคารพในความแตกต่างของกันและกัน”
สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยสำนักจุฬาราชมนตรี มุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างอาสาสมัครด้านมนุษยธรรมทั่วประเทศให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ภารกิจของสภาฯ คือการสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะชน เกี่ยวกับความสำคัญของการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น และจิตตารมณ์แห่งการให้ โดยส่งเสริมให้ประชาชนช่วยเหลือกันและกัน และช่วยเหลือชุมชนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือศาสนา
ซิสเตอร์กรรณิการ์กล่าวว่า “การแสวงหาความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้นเชื่อมโยงถึงกัน เราจะพบความสุขได้อย่างไรในขณะที่พี่น้องของเรายังยากจนหรือมีความทุกข์อยู่? ความยากจนสามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในด้านสุขภาพ ความสุข สติปัญญา หรือความต้องการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ”
ซิสเตอร์เน้นย้ำว่า แรงบันดาลใจในการกระทำออกมาจากความรักและความเมตตา ดังที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา เราไม่ควรปล่อยให้ความกลัวว่ามือของเราจะสกปรกมาขัดขวางเราไม่ให้ช่วยเหลือผู้อื่น มือของเราอาจมีรอยเปื้อนอันเนื่องมาจากการทำงานหนัก แต่เราต้องยื่นมือของเราออกไปด้วยความรัก”
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไลคาส (LiCAS News) ซิสเตอร์กรรณิการ์กล่าวถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในพันธกิจของพวกเขา แต่เธอได้แสดงความมั่นใจว่า อุปสรรคเหล่านี้จะสามารถเอาชนะได้ เธอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมกำลังให้กับบุคคลที่เปราะบาง และกระตุ้นเตือนผู้ที่อยู่ในสภาวะที่เข้มแข็งได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
ในขณะที่การสัมมนาได้กล่าวถึงความท้าทายในระดับโลก ซิสเตอร์กรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาได้มาร่วมชุมนุมกันในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย รวมถึงความเปราะบางของสันติภาพในโลก และการพัฒนามนุษย์ที่ต่ำลง “อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าความก้าวหน้าที่ยั่งยืนและมนุษยชาติจะสามารถเจริญเติบได้ ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีของภาคส่วนต่าง ๆ อาศัยความไว้วางใจ ความเข้าใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน”