พระจิตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักรแผ่ขยายออกไปและรวมกันเป็นหนึ่งเดียว (Pope at Audience: The Holy Spirit expands and unites the Church)
- รายละเอียด
- หมวด: vatican news
- เขียนโดย Nuphan Thasmalee
- ฮิต: 242
พระจิตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักรแผ่ขยายออกไปและรวมกันเป็นหนึ่งเดียว (Pope at Audience: The Holy Spirit expands and unites the Church)
เช้าวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2024 โอกาสเข้าเฝ้าทั่วไป ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงสอนคำสอนต่อเนื่องเรื่องบทบาทของพระจิตเจ้าในพระศาสนจักร
จากหนังสือกิจการอัครสาวก ทำให้เราเห็นบทบาท 2 ประการของพระจิตเจ้า นั่นก็คือ 1) การนำพระศาสนจักรแผ่ขยายออกไปสู่บุคคลต่าง ๆ และ 2) ทรงทำให้พระศาสนจักรเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกันภายใน
ในวันที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมา (วันเปนเตกอสเต) “บรรดาศิษย์เปี่ยมไปด้วยพระจิตเจ้า” ได้อย่างไร? ซึ่งทำให้บรรดาอัครสาวกสามารถพูดภาษาต่าง ๆ ได้ และประกาศพระเยซูเจ้าต่อฝูงชนจำนวนมาก เครื่องหมายอัศจรรย์นี้ไม่ใช่แค่ทำให้เราได้เห็นอำนาจของพระเจ้า แต่เป็นข้อความที่ชัดเจนว่า พันธกิจของพระศาสนจักรเป็นสากล “พระจิตเจ้าเองทรงรับประกันความเป็นสากลและเอกภาพของพระศาสนจักร”
การกลับใจของคอร์เนลิอุส (The Conversion of Cornelius)
ดังตัวอย่างสำคัญ 2 ตัวอย่าง จากหนังสือกิจการของอัครสาวก ที่ทำให้เราได้เห็นพระจิตเจ้าทรง "ส่งเสริมความเป็นสากล" ประการแรก คือการกลับใจของคอร์เนลิอัส ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญเมื่อ “บรรดาอัครสาวกได้เผยแพร่พระวรสารออกไป” และทำลายกำแพงระหว่างชาวยิวกับคนต่างศาสนา สิ่งนี้เป็นเหมือน “วันที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมาครั้งที่สอง” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า งานของพระจิตเจ้ายังคงดำเนินต่อไป และผลักดันให้พระศาสนจักรเปิดรับคนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
การเดินทางประกาศพระวรสารของนักบุญเปาโล เมื่อท่านถูก "พระจิตเจ้าห้าม" ไม่ให้ไปประกาศพระวรสารในเอเชียไมเนอร์ และต่อมาให้ไปยังมาซิโดเนียตามนิมิตที่ท่านได้เห็น เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า พระจิตเจ้าไม่เพียงแต่ส่งเสริมการแพร่ขยายของพระศาสนจักรไปยังชนชาติต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “การขยายตัวทางด้านภูมิศาสตร์” อีกด้วย ดังนั้น พระศาสนจักรจึงจำเป็นที่จะต้องประกาศพระวรสารในดินแดนใหม่ด้วย
สังคายนากรุงเยรูซาเล็ม (The Council of Jerusalem)
บทบาทประการที่สองของพระจิตเจ้า คือการสร้างและปกป้องความเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังตัวอย่างของสังคายนากรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งอัครสาวกและคริสตชนยุคแรกถกเถียงกันว่า คริสตชนต่างชาติควรปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสสหรือไม่ (การเข้าสุหนัต) ซึ่งวิธีการแก้ก็คือการประกาศว่า “มันดูเหมือนว่าจะดีทั้งสำหรับพระจิตเจ้าและสำหรับเรา” อันเป็นผลมาจากการเสวนา การอธิษฐานภาวนา และการวิเคราะห์แยกแยะ ด้วยเหตุนี้ พระจิตเจ้า “ไม่ได้สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันโดยฉับพลัน ด้วยการกระทำที่น่าอัศจรรย์และเด็ดขาดเสมอไป” แต่มักจะเป็นไป “ในลักษณะที่สุขุมรอบคอบ” โดยเคารพกระบวนการ และความแตกต่างของมนุษย์ เช่นเดียวกับ “ในกระบวนการสมัชชา”
พระจิตเจ้าทรงเป็นเหมือนจิตวิญญาณของพระศาสนจักร (The Holy Spirit is like the soul of the Church)
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงอ้างอิงคำพูดของนักบุญออกัสติน ผู้เปรียบเทียบพระจิตเจ้าว่าเป็นจิตวิญญาณของพระศาสนจักรว่า “จิตวิญญาณในกายของมนุษย์เป็นอย่างไร พระจิตเจ้าก็ทรงเป็นจิตวิญญาณของพระกายทิพย์ของพระคริสต์เจ้า ซึ่งนั่นก็คือ พระจิตเจ้าทรงเป็นจิตวิญญาณของพระศาสนจักรอย่างนั้น" พระจิตเจ้าไม่ได้สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันจากภายนอก หรือโดยการออกคำสั่ง แต่ “พระองค์เองทรงเป็นสายสัมพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียว” ภายในพระศาสนจักร
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเชื้อเชิญให้ผู้ที่มีความเชื่อประยุกต์ใช้บทเรียนนี้ในชีวิตส่วนตัวของพวกเขาว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวของคริสตชนไม่ได้สร้างขึ้น
โดยการรอให้ผู้อื่นมาถึงเราในที่ที่เราอยู่ แต่โดยการร่วมกันมุ่งหน้าเข้าหาพระคริสตเจ้า” สิ่งนี้ประยุกต์ใช้ได้ไม่เพียงกับพระศาสนจักรทั้งหมดเท่านั้น แต่กับความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของเราด้วย ภายในการแต่งงาน ครอบครัว และชุมชน ขอให้ผู้ที่มีความเชื่อได้รวมตัวกันเพื่ออธิษฐานภาวนา ขอความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้าในการเป็น “เครื่องมือแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันและสันติสุข” ทั้งในพระศาสนจักรและในโลก
ภาวนาเพื่อสันติภาพ (Prayers for peace)
โอกาสเดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งสวดสายประคำ ขอให้เราได้สวดสายประคำทุกวัน และขอให้ทุกคนที่ทนทุกข์ ได้มอบความไว้วางใจให้กับพระแม่มารีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ในยูเครน ซูดาน เมียนมาร์ ปาเลสไตน์ และอิสราเอล"