มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

พระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงเข้าร่วมการประชุมศาสนสัมพันธ์ในมัสยิดอิสติกลัล (Istiqlal Mosque)

 

 

พระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงเข้าร่วมการประชุมศาสนสัมพันธ์ในมัสยิดอิสติกลัล (Istiqlal Mosque)

     พระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จถึงกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียแล้ว หลังจากการเดินทางยาวนานกว่า 13 ชั่วโมงบนเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี สำหรับการเดินทางอภิบาลในต่างประเทศครั้งที่ 45 ของพระองค์ สู่เอเชียและโอเชียเนีย รวม 4 ประเทศ คือ 

1) อินโดนีเซีย
2) ปาปัวนิวกินี
3) ติมอร์เลสเต และ
4) สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยาวนานที่สุดในพระสมัยของพระองค์ รวมระยะเวลา 12 วัน

     เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2024 เวลา 17.32 น. ตามเวลาท้องถิ่น พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ออกเดินทางโดยสายการบินอิตาเลีย (ITA-Airways) พร้อมกับบรรดานักข่าวจากสนามบินนานาชาติฟิอูมิซิโน กรุงโรม ถึงสนามบินนานาชาติจาการ์ตา ซูการ์โน-ฮัตตา (Jakarta Soekarno-Hatta International Airport) กรุงจาการ์ตา เมื่อเวลาประมาณ 11.19 น. ตามเวลาท้องถิ่น

     เมื่อเครื่องบินลงจอดแล้ว พระสันตะปาปาฟรังซิสได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น หลังจากนั้นจะทรงพักผ่อนจากการเดินทางเป็นระยะเวลา 1 วัน ก่อนที่จะทรงเริ่มพันธกิจของพระองค์ในวันรุ่งขึ้น คือวันพุธที่ 4 กันยายน 2024 อย่างไรก็ตาม เมื่อพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จถึงสถานเอกอัครราชทูตในกรุงจาการ์ตา พระองค์ได้ทรงพบปะกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในการดูแลของคณะเยสุอิต (the Jesuit Refugee Service) เป็นการส่วนตัว ตามมาด้วยเด็กกำพร้าที่เลี้ยงดูโดยซิสเตอร์คณะโดมินิกัน (Dominican nuns) ผู้สูงอายุ ผู้ลี้ภัย และผู้ไร้บ้านที่อยู่ในความดูแลของคณะ

     นักบุญเอจิดิโอในประเทศอินโดนีเซีย (the Indonesian Community of Sant'Egidio) พระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงประทับอยู่ในกรุงจาการ์ตาเป็นระยะเวลา 3 คืน ก่อนที่จะทรงเสด็จเยือน 3 ประเทศต่อไป พระองค์จะได้รับการต้อนรับจากพระคาร์ดินัลในแต่ละประเทศ โดยพระคาร์ดินัลทั้ง 3 องค์ ได้รับการแต่งตั้งจากพระองค์เอง และเป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกในประเทศของตน

 

 

อินโดนีเซีย (Indonesia)

     อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่ใหญ่มาก ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ มากมาย เกือบ 17,000 เกาะ ในจำนวนนี้รวมถึงชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมอันหลากหลาย เคยมีพระสันตะปาปาสองพระองค์ได้เคยเสด็จเยือนประเทศนี้มาแล้ว ได้แก่
1) นักบุญพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ในปี 1970 และ
2) นักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ในปี 1989

     การเสด็จเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้ ได้ถูกวางแผนเอาไว้แล้ว แต่เมื่อเกิดโรคระบาดทำให้ต้องเลื่อนออกมาในปัจจุบัน อินโดนีเซียถูกมองว่าเป็นแบบอย่างของความอดทนและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พระสันตะปาปาฟรังซิสผู้เขียนพระสมณสาส์นเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน (Fratelli tutti) เกี่ยวกับภราดรภาพสากล พระองค์จะทรงส่งเสริมภราดรภาพของมนุษย์และการทำศาสนสัมพันธ์ต่อไป

     แม้ว่าคริสตชนคาทอลิกจะมีประมาณร้อยละ 3 ท่ามกลางประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิม แต่ร้อยละ 3 นั้น คิดเป็นจำนวนประมาณ 8 ล้านคนจากจำนวนประชากร 280 ล้านคน ในประเทศที่อยู่บนรากฐานของการเคารพต่อปัจเจกบุคคล และความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันของพวกเขา
ในกรุงจาการ์ตา พระสันตะปาปาฟรังซิสจะเข้าร่วมการประชุมศาสนสัมพันธ์ในมัสยิดอิสติกลัล (Istiqlal Mosque) และจะประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณให้กับคริสตชนคาทอลิกในประเทศ

     พระคาร์ดินัลอิกเนเชียส ซูฮาร์โย ฮาร์ดโจตม็อดโจ แห่งจาการ์ตา (Cardinal Ignatius Suharyo Hardjoatmodjo) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววาติกันว่า เป็นเรื่องปกติมากที่ชายและหญิงจากศาสนาที่แตกต่างกัน เช่น คาทอลิกและมุสลิม จะแต่งงานกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติในประเทศอื่น ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ท่านยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า นักบวชหลายคนมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นมุสลิมหรือพุทธ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงเป็นการเหมาะสมที่พระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จมาที่นี่โดยมีคำขวัญที่ว่า 'ความเชื่อ ภราดรภาพ ความเมตตา‘

 

 

ภาพรวมของเอเชีย (Glance at Asia)

     พระคาร์ดินัล ชาลส์ หม่อง โบ (Cardinal Charles Maung Bo) อาร์คบิชอปแห่งย่างกุ้งและประธานสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววาติกันว่า สำหรับผู้ที่มีความเชื่อในเอเชีย บางครั้งพระสันตะปาปาฟรังซิสรู้สึกเหมือนอยู่ห่างไกลจากสังคมของพวกเขา ดังนั้นการเสด็จมาหาพวกเขาจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก

     พระคาร์ดินัลโบกล่าวถึงชาวเอเชียที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการกดขี่ทางการเมือง ความยากจน และสภาพภูมิอากาศที่เป็นพิษ รวมถึงการกดขี่ทางศาสนา หรือการขาดเสรีภาพในการนับถือศาสนาในระดับต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงอพยพไปยังประเทศอื่น แต่ยังคงรักษาความเชื่อของพวกเขาให้อยู่ต่อไป และในการทำเช่นนั้น พวกเขาถือว่าเป็น 'มิชชันนารี' เพราะพวกเขาได้นำความหวังและความร้อนรนไปสู่ "บ้านหลังใหม่" ของพวกเขาอีกครั้ง

 

 

ปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea)

     นักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เคยเสด็จเยือนปาปัวนิวกินีเมื่อ 40 ปีที่แล้วในปี 1984 ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ ประมาณหนึ่งในสามของประชากรเป็นคาทอลิก หรือประมาณ 2 ล้านคน เป็นประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความยากจน พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงขอร้องหลายครั้งสำหรับความช่วยเหลือต่อประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนี้ หลังจากประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา

     ในกรุงพอร์ตมอร์สบี (Port Moresby) เมืองหลวงของประเทศปาปัวนิวกินี พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงมีหมายกำหนดการที่สำคัญ คือ พิธีบูชาขอบพระคุณและการพบปะกับเด็ก ๆ จากงานอภิบาลข้างถนน (street ministry) และโรงเรียนมัธยมเทคนิคคาริตัส (Caritas Caritas Technical Secondary School) พระสันตะปาปาฟรังซิสจะเดินทางข้ามเกาะไปยังเมืองชายฝั่งวานิโม (Vanimo) พระองค์จะทรงพบปะกับบรรดามิชชันนารีและคริสตชนท้องถิ่นเป็นการส่วนตัว

 

 

ติมอร์เลสเต (Timor Leste)

     ติมอร์เลสเต ซึ่งเป็นประเทศที่มีคาทอลิกคิดเป็นอัตราส่วนของประชากรทั้งประเทศมากที่สุดในเอเชีย คือมากกว่า 96% ของประเทศเป็นคริสตชนคาทอลิก ในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส พระสันตะปาปาองค์สุดท้ายที่ได้เสด็จเยือนคือ นักบุญพระสันตะปาปานักบุญยอห์นปอล 2 ในปี 1989 ในเวลานั้น ติมอร์ตะวันออกยังอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซีย
ด้วยคำขวัญที่ว่า “ขอให้ความเชื่อได้กลายเป็นวัฒนธรรมของคุณ” (May Faith Be Your Culture) พระสันตะปาปาฟรังซิสจะประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ เยี่ยมเด็กพิการ และพบปะกับสมาชิกคณะเยสุอิต

     พระคาร์ดินัลเวอร์จิลิโอ โด การ์โม ดา ซิลวาแห่งดิลี (Cardinal Virgilio do Carmo da Silva of Dili) ซึ่งพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกของประเทศติมอร์ เลสเต ในเดือนสิงหาคม 2022 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววาติกันว่า “หนึ่งในความต้องการเร่งด่วนที่เราต้องใส่ใจ คือคนหนุ่มสาวที่ออกจากประเทศของเรา เพราะความยากจนและการว่างงาน” และพระศาสนจักรกำลังศึกษา “วิธีให้ความช่วยเหลือผู้ที่ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตน”

 

 

สิงคโปร์ (Singapore)

     สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ นักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เคยเสด็จเยือนในปี 1986 มีคริสตชนคาทอลิกประมาณร้อยละ 6 ของประชากรสิงคโปร์ หรือประมาณ 395,000 คน พระคาร์ดินัลวิลเลียม โกห์ (Cardinal William Goh) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2022 ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววาติกันว่า พระศาสนจักรที่สิงคโปร์มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ อาศัยพลังของบรรดาคริสตชน แต่ทว่ากระแสเรียกลดน้อยลงอันเนื่องมาจากกระแสวัตถุนิยมของประเทศ

     บรรดาคริสตชนส่วนใหญ่มีการศึกษาค่อนข้างดี ดังนั้นการให้บริการของพระศาสนจักรในสิงคโปร์ค่อนข้างจะมีมาตรฐานที่สูงโดยเฉพาะบทเทศน์ของพระสงฆ์ พระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงร่วมการประชุมศาสนสัมพันธ์กับคนหนุ่มสาวในวิทยาลัยคาทอลิกจูเนียร์ (Catholic Junior college) และประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ

 

 

 

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown