การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป / General Audience คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร
- รายละเอียด
- หมวด: vatican news
- เขียนโดย วิษณุ ธัญญอนันต์
- ฮิต: 254
การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป / General Audience เมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2023
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (24) นักบุญซีริลและนักบุญเมโธดีโอ – อัครสาวกแห่งชาวสลาฟ
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
วันนี้พ่อจะพูดถึงพี่น้องคู่หนึ่งที่เป็นที่รู้จักอย่างดียิ่งในคริสต์ศาสนาตะวันออก ถึงขนาดที่ท่านทั้งสองถูกเรียกว่าเป็น “อัครสาวกแห่งชาวสลาฟ” ซึ่งก็คือนักบุญซีริลและนักบุญเมโธดีโอ ท่านทั้งสองเกิดที่กรีซในศตวรรษที่ 9 จากพื้นเพเดิมที่เป็นครอบครัวชนชั้นขุนนาง แต่ท่านทั้งสองได้ละทิ้งเส้นทางอาชีพทางการเมือง เพื่ออุทิศตนใช้ชีวิตเป็นนักพรต แต่ท่านทั้งสองไม่อาจทำตามความฝันในการใช้ชีวิตเก็บตัวเงียบได้นานนัก เพราะท่านถูกส่งไปเป็นธรรมทูตยังโมราเวียใหญ่ [ที่เคยเป็นแคว้นใหญ่ในยุโรปกลาง พื้นที่ส่วนมากเป็นสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน] ในขณะนั้น โมราเวียใหญ่เป็นภูมิภาคที่มีประชากรหลากหลายซึ่งได้ยอมรับพระวรสารแล้วบางส่วน แต่ยังคงมีจารีตประเพณีและขนบธรรมเนียมนอกศาสนาคริสต์หลงเหลืออยู่มาก เจ้าผู้ปกครองแคว้นนั้นอยากจะได้ครูอาจารย์ที่สามารถอธิบายความเชื่อของศาสนาคริสต์เป็นภาษาของพวกเขาได้
เพราะฉะนั้น งานอย่างแรกของนักบุญซีริลและนักบุญเมโธดีโอจึงเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของผู้คนที่นั่นอย่างลงลึกถึงแก่น นี่เป็นเรื่องแบบเดิม ๆ ที่พ่อเคยพูดไว้บ่อยครั้งว่า ในทุกกรณี ความเชื่อจะต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และจะต้องมีการทำให้วัฒนธรรมมีความเป็นพระวรสาร นักบุญซีริลได้ถามผู้คนที่นั่นว่าเขามีตัวอักษรใช้อยู่หรือไม่ คำตอบคือไม่มี ทำให้ท่านนักบุญพูดกลับไปว่า “แล้วใครเล่าจะเขียนถ้อยคำบนผิวน้ำได้” จริงทีเดียวว่าในการประกาศพระวรสารและการอธิษฐานภาวนา จำเป็นต้องมีเครื่องมือของตัวเองที่เหมาะสมโดยเฉพาะ ดังนี้แล้ว ท่านจึงได้คิดค้นตัวอักษรขึ้นมา ชื่อว่า ตัวอักษรกลาโกลิติก (Glogolitic alphabet) และท่านได้แปลพระคัมภีร์และบทพิธีกรรมต่าง ๆ [เป็นภาษาสลาฟโดยใช้ตัวอักษรแบบใหม่นี้] สิ่งนี้ทำให้ผู้คนที่นั่นได้รู้สึกว่าความเชื่อของคริสต์ศาสนาไม่ใช่ “ของนอก” อีกต่อไป แต่กลายเป็นความเชื่อของเขา ที่ถูกนำมาพูดเป็นภาษาแม่ของเขา ให้เราคิดดูว่า นักพรตชาวกรีกสองคน ทำให้ชาวสลาฟมีตัวอักษรใช้ การเปิดใจแบบนี้เองที่ได้ทำให้พระวรสารแพร่หลายไปในหมู่คนที่นั่น ท่านทั้งสองไม่มีความหวั่นกลัว ท่านมีความกล้าหาญ
ทว่าต่อมาไม่นานนัก [การแพร่ธรรมของท่านทั้งสอง]ต้องประสบกับการต่อต้านจากชาวละติน[คือธรรมทูตจากยุโรปตะวันตก]บางคนที่เห็นว่าท่านนักบุญทั้งสองเข้ามาบ่อนทำลายการที่พวกเขาผูกขาดการประกาศข่าวดีท่ามกลางชาวสลาฟเอาไว้เอง เกิดเป็นการต่อสู้กันภายในพระศาสนจักร เรื่องราวเป็นแบบนี้เสมอ คนพวกหลังนี้ถึงแม้จะได้กล่าวแย้งในทางศาสนา แต่ก็เป็นเพียงแค่เปลือกนอก พวกเขาบอกว่าการสรรเสริญพระเจ้าจะต้องกระทำผ่านทาง 3 ภาษาที่เขียนไว้บนไม้กางเขนเท่านั้น ได้แก่ภาษาฮีบรู ภาษากรีก และภาษาละติน คนเหล่านี้มีกรอบความคิดที่ปิดกั้น มุ่งจะรักษาอำนาจของตัวเองในการจัดการเรื่องต่าง ๆ เป็นสิทธิ์ขาด แต่นักบุญซีริลได้ตอบคนเหล่านี้อย่างอาจหาญทรงพลังว่า พระเจ้าทรงปรารถนาให้ทุกชนชาติสรรเสริญพระองค์ในภาษาของเขาเอง นักบุญซีริลได้ร่วมกับพี่ชายของท่าน คือนักบุญเมโธดีโอ นำเรื่องนี้ไปร้องเรียนยังพระสันตะปาปาในสมัยนั้น และต่อมา พระสันตะปาปาได้รับรองคำแปลบทพิธีกรรมที่ท่านทั้งสองได้แปลเป็นภาษาสลาฟ ด้วยการให้นำหนังสือคำแปลอันนี้ไปวางไว้บนพระแท่นในมหาวิหารซันตามารีอามัจจอเร[ในกรุงโรม] และให้มีการขับร้องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยข้อความที่เขียนไว้ในหนังสือดังกล่าว หลังจากเหตุการณ์นั้นไม่กี่วัน นักบุญซีริลได้เสียชีวิตลง ทุกวันนี้เรายังสามารถไปเคารพพระธาตุของท่านได้ที่นี่ในกรุงโรม ที่มหาวิหารซันเกลเมนเต ส่วนนักบุญเมโธดีโอ ท่านได้รับศีลบวชเป็นบิชอป และถูกส่งกลับไปยังดินแดนของชาวสลาฟ ท่านต้องประสบความยากลำบากมากมายที่นั่น มีคนจับท่านไปขังด้วย แต่พี่น้องที่รัก พวกเรารู้ดีว่าพระวาจาของพระเจ้าไม่ได้ถูกจองจำ แต่ได้แพร่หลายไปในหมู่ผู้คนชาวสลาฟ
เมื่อได้พิจารณาการเป็นพยานประกาศพระวรสารของท่านทั้งสอง ซึ่งนักบุญยอห์น ปอลที่สอง ได้ประกาศให้ท่านทั้งสองเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ร่วมแห่งยุโรป และได้ตรัสสอนเกี่ยวกับท่านทั้งสองไว้ในสมณสาส์นเวียน “Slavorum Apostoli/อัครสาวกแห่งชาวสลาฟ” ในตอนนี้ ให้เราไตร่ตรองถึงแง่มุม 3 ประการที่สำคัญเกี่ยวกับท่านทั้งสอง
ประการแรกสุดคือความเป็นหนึ่งเดียวกัน ระหว่างชาวกรีก พระสันตะปาปา และชาวสลาฟ ในยุโรปยุคนั้นมีคริสต์ศาสนาที่ไม่ถูกแบ่งแยก ซึ่งได้ร่วมมือกันเพื่อประกาศพระวรสาร
ประการสำคัญอย่างที่สอง คือการทำให้พระวรสารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ซึ่งพ่อได้กล่าวไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ การทำให้วัฒนธรรมมีความเป็นพระวรสาร ประกอบกับการทำให้พระวรสารเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ได้ทำให้เราเห็นว่าการประกาศพระวรสารมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด การประกาศพระวรสารไม่อาจทำได้อย่างเป็นนามธรรมหรือโดยการกลั่นเอาเฉพาะบางอย่าง ไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องมีการทำให้พระวรสารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และให้พระวรสารเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรม
แง่มุมประการสุดท้ายคือ เสรีภาพ การเทศน์สอนจะทำได้ต่อเมื่อมีเสรีภาพ แต่คนเราจะมีเสรีภาพได้ต่อเมื่อเขามีความกล้าหาญ คนเราจะมีเสรีภาพได้เพียงเท่าที่เขามีความกล้าหาญและไม่ยอมให้ตัวเองถูกผูกมัดโดยหลายสิ่งหลายอย่างที่แย่งเอาเสรีภาพไปจากเขา
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ให้เราวอนขอนักบุญซีริลและนักบุญเมโธดีโอ อัครสาวกแห่งชาวสลาฟ ให้เราได้เป็นเครื่องมือของ “เสรีภาพในความรัก” เพื่อผู้อื่น ให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ มีความแน่วแน่คงเส้นคงวา และให้เรามีความสุภาพถ่อมตน ผ่านการอธิษฐานภาวนาและการรับใช้ผู้อื่น
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ ไอร์แลนด์ แอลเบเนีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ซิมบับเว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แคนาดา และสหรัฐอเมริกา พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้สนับสนุนกิจการของพิพิธภัณฑ์วาติกันจากรัฐลุยเซียนา [ของสหรัฐ] กลุ่มสมาชิกสมาคมผู้อำนวยการจัดการประชุมคาทอลิกแห่งชาติ [สหรัฐ] และกลุ่มบาทหลวงจิตตาภิบาลที่ทำงานในกองทัพ พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าอวยพรลูกทุกคน
พ่อมีความคิดคำนึงไม่หยุดหย่อนถึงสถานการณ์เลวร้ายในปาเลสไตน์และอิสราเอล พ่อขอร้องให้มีการปล่อยตัวประกัน และให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซา พ่อยังคงอธิษฐานภาวนาเพื่อคนที่ทนทุกข์ทรมาน และหวังว่าจะมีหนทางสู่สันติภาพ ทั้งในตะวันออกกลาง ในยูเครนที่กำลังถูกโจมตี และในพื้นที่อื่น ๆ ที่ถูกทำร้ายจากสงคราม พ่อขอย้ำเตือนลูกทุกคนอีกครั้งว่า
“วันมะรืนนี้ คือวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม เป็นวันแห่งการอดอาหาร ภาวนา และใช้โทษบาป และให้เรามารวมตัวกัน ณ ที่นี้ ที่ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร ในเวลา 18.00 น. เพื่อร่วมกันวิงวอนขอให้เกิดสันติภาพในโลกนี้”
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราได้พิจารณาไตร่ตรองถึงการเผยแพร่พระวรสารผ่านการเป็นพยานของชายหญิงจากทุกยุคสมัยและทุกสถานที่ ในวันนี้ ให้เราพิจารณาชีวิตของนักบุญซีริลและนักบุญเมโธดีโอ สองพี่น้องที่เป็นที่เคารพในฐานะ “อัครสาวกแห่งชาวสลาฟ” จากการที่ท่านทั้งสองได้ทำงานแพร่ธรรมที่โดดเด่นในหมู่คนชาวโมราเวีย ในการที่ท่านพยายามประกาศพระวรสาร และทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในหมู่ชาวสลาฟ ท่านได้พัฒนาตัวอักษรอย่างใหม่ขึ้น ซึ่งได้ทำให้สามารถเทศน์สอนพระวาจาของพระเจ้าและประกอบพิธีกรรมได้ในภาษาของประชาชน ต่อมาเมื่อท่านได้พบกับการต่อต้าน ท่านได้เดินทางมายังกรุงโรม และได้รับการสนับสนุนจากพระสันตะปาปา นักบุญซีริลเสียชีวิตที่กรุงโรม ขณะที่นักบุญเมโธดีโอได้รับศีลบวชเป็นบิชอป และกลับไปทำงานประกาศพระวรสารในดินแดนของชาวสลาฟ ที่ซึ่งท่านได้สละชีวิตเป็นมรณสักขี นักบุญยอห์น ปอลที่สอง ได้ประกาศให้นักบุญซีริลและนักบุญเมโธดีโอเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ร่วมของยุโรป เป็นการรับรองถึงผลอันอุดมของความเชื่อและวัฒนธรรมคริสต์ศาสนาที่ท่านทั้งสองได้หว่านเมล็ดเอาไว้ ขอให้คำภาวนาของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง จงเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนต่าง ๆ ในยุโรปทุกวันนี้ ให้เขารื้อฟื้นความมุ่งมั่นต่อการปรองดองคืนดีกัน การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสันติภาพ ซึ่งต่างเป็นของขวัญจากพระจิตเจ้าเพื่อมุ่งให้ผู้คนกลับใจ และให้ผู้คนสร้างวัฒนธรรมแห่งความเป็นธรรมและความเป็นพี่น้องกันที่แท้จริงขึ้นมา
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอน/General Audience ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)