วันนี้เมื่อ61ปีที่แล้ว พระพันปีทรงเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จฯ เฝ้าพระสันตะปาปายอห์นที่ 23
- รายละเอียด
- หมวด: vatican news
- เขียนโดย สำนักข่าวอิศรา
- ฮิต: 339
พระพันปีทรงเล่า ‘เรื่องการแต่งกาย’ และเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จฯ เฝ้า ‘พระสันตะปาปายอห์นที่ 23’
วันนี้เมื่อ61ปีที่แล้ว
“พิธีรีตองของการเสด็จเยี่ยมรัฐวาติกันก็น่าสนใจมาก ในทางขนบธรรมเนียบประเพณีดั้งเดิมของเขาซึ่งปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีจนถึงทุกวันนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะนำมาเล่าสู่กันอย่างสั้นๆ
พอถึงวันที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปเยี่ยมรัฐวาติกันทางการ คือ ในวันที่ 1 ตุลาคม...
พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ก็ทรงส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักวาติกัน อันประกอบด้วย ขุนนาง 3 คน และสมณศักดิ์ 3 รูป พร้อมด้วยรถยนต์ 6 คันมารับเสด็จ ขุนนางของสำนักวาติกันแต่งกายน่าดูมาก คือ แต่งแบบชาวสเปนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 คือ นุ่งกางเกงสีดำ สวมเสื้อแขนยาวดำ มีคอสีขาวเป็นกลีบกลมค้ำคอแข็งทื่อแบบรูปเขียนโบราณในพิพิธภัณฑ์เมืองฝรั่ง เช่น พระรูปฟิลิป ออฟ สเปน หรือเซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ เป็นต้น ส่วนสมณศักดิ์สวมเครื่องแต่งกายสีแดงและม่วงตามยศ
ฝ่ายไทยที่ตามเสด็จวันนั้น มีเพียง 6 คนเท่านั้น คือ คุณถนัด รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าคุณศรีวิสารวาจา ซึ่งตอนนั้นเป็นองคมนตรี สมุหราชองค์รักษ์ นางสนองพระโอษฐ์ของข้าพเจ้า แล้วก็ราชทูตไทยประจำอิตาลี คือ คุณไพโรจน์ ชัยนาม และภริยา
ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อ ขอย้อนไปเล่าถึงการแต่งกายในการตามเสด็จไปวาติกันครั้งนั้นเสียก่อน เพราะเป็นเรื่องที่น่ารู้ และคงจะมีผู้ไม่ทราบบ้างเป็นแน่ ถ้าข้าพเจ้าไม่เล่า
สำหรับพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีปัญหาอย่างไรในการแต่งพระองค์ ท่านก็ทรงเต็มยศแบบฝรั่งธรรมดา แล้วก็ทรงสายสะพายจักรี แล้วสังวาลที่สันตะปาปาส่งมาถวายในโอกาสนั้น ทางฝ่ายข้าพเจ้าและผู้ติดตาม คือ ท่านหญิงวิภา มีปัญหานิดหน่อยเรื่องเครื่องแต่งกาย เดิมทีข้าพเจ้าคือจะแต่งชุดไทยสีดำ แต่เมื่อไปเรียนรู้กฎของสำนักวาติกันซึ่งเป็นธรรมเนียมถือกันมาหลายร้อยปีแล้วตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ก็เลยต้องเปลี่ยนใจ
ตามธรรมเนียมประมุขของประเทศที่มาเฝ้าสันตะปาปาเป็นทางราชการนั้น มักแต่งเต็มยศ ส่วนภริยาถ้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ก็มักแต่งสีขาว ยาว มีผ้าผูกลูกไม้สีขาวคลุมศีรษะ ถ้าเป็นราชินีก็ต้องทรงมงกุฎด้วย แต่ถ้าผู้ที่มาเฝ้าไม่ได้อยู่ในศาสนา ก็มักแต่งสีดำยาว มีผ้าคลุมศีรษะเป็นสีดำ
เมื่อธรรมเนียมเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถแต่งชุดไทยสีดำได้ เพราะไหนจะต้องมีผ้าคลุมศีรษะ ไหนจะต้องสวมมงกุฎ จึงตกลงเป็นอันว่า ข้าพเจ้าแต่งแบบกระโปรงแพรยาวสีดำ แขนก็ยาว คอปิดมีลูกไม้บางๆ สีดำ ปักไหมดำอย่างที่สตรีชาวสเปนใช้คลุมศีรษะห้อยยาวเลยลงไปครึ่งหลัง สวมมงกุฎเพชรเหนือลูกไม้บางนั้น สวมถุงเท้ารองเท้าดำเหมือนอย่างไปงานเผาศพ ถุงมือดำสวมเพียงมือซ้ายเท่านั้น ถุงมือขวาข้างที่ไม่สวมกำไว้ในมือซ้าย ฝ่ายในที่ติดตามไปในงานทั้งคู่ก็แต่งแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้มีเครื่องประดับศีรษะ นอกจากลูกไม้บางสีดำ
.
ครั้นได้เวลา 10 โมงครึ่ง พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง ซึ่งพระสันตะปาปาทรงส่งมารับเสด็จพร้อมด้วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ทราบภายหลังว่า ผู้ตามเสด็จทั้ง 6 คนนั่งรถกันคนละคันอย่างสง่า มีเจ้าหน้าที่สำนักวาติกันนั่งไปด้วยคันละคน นอกจากท่านราชทูตไทยประจำอิตาลี และภริยา ซึ่งนั่งไปด้วยกัน 3 คนกับผู้มารับ ท่านหญิงวิภาชอบใจมากที่ได้นั่งคู่กับขุนนางวาติกันที่แต่งกายสมัยพระนางเอลิซาเบธที่ 1 บอกว่า เหมือนได้ถอยหลังกลับไปหลายร้อยปี ส่วนคุณหลวงสุรณรงค์นั่งกับสมณศักดิ์แต่งสีม่วง
เมื่อรถพระที่นั่งแล่นไปถึง ‘จัตุรัสเซ็นต์ปีเตอร์’ ก็แล่นตัดจัตุรัสทะลุไปทาง ‘คอร์ตยาร์ตของเซ็นต์ดามาซัส’ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับจัตุรัสนั้น สักครู่ก็แล่นเข้าไปจอดอยู่หน้าวังวาติกัน
ผู้แทนพระองค์สันตะปาปา ซึ่งมียศเป็นคาดินัล ยืนคอยรับเสด็จอยู่ตรงที่รถพระที่นั่งจอดนั่นเอง พอเราก้าวลงจากรถ วงดนตรีซึ่งตั้งวงอยู่ตรงนั้นก็บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างไพเราะ จบแล้วท่านคาดินัลจึงก้าวเข้ามาใกล้พระองค์พระเจ้าอยู่หัว กล่าวถวายคำต้อนรับ แล้วจึงนำเสด็จขึ้นอัฒจันทร์กว้างใหญ่ ซึ่งไม่ทราบว่าสูงกี่ร้อยขั้น เพราะรู้สึกว่าเดินเท่าไหร่ๆ ก็ไม่รู้จักถึงสักที หน้าขบวนมีผู้แต่งโบราณถือธงขาวและเหลืองนำเสด็จ มีกองทหารแต่งโบราณแซง 2 ข้างขบวนเรียงหนึ่ง มีเสียงขึ้นบันไดดังพึ่บๆ เป็นจังหวะ
พวกขุนนางและพระสมณศักดิ์ที่ตามเสด็จมาจากที่ประทับต่างก็อยู่ในขบวนทั้งหมด รวมทั้งคาดินัล อาชบิชอป และบิชอป ที่คอยรับเสด็จอยู่ตรงที่รถพระที่นั่งจอดด้วย ตลอดเวลาที่เสด็จขึ้นอัฒจันทร์ ซึ่งข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่ากี่ร้อยขั้นนั้น ดนตรีบรรเลงเพลง Papal Hymn ก่อนหมดอัฒจันทร์ทหารแซงขบวนหยุดเดิน ยืนนิ่งเหมือนตุ๊กตาปั้นอยู่ 2 ข้างทาง จนถึงอัฒจันทร์ขั้นสูงสุด
เมื่อหมดอัฒจันทร์แล้วขบวนเสด็จต้องผ่านห้องที่เรียกว่ Ante-Chamber หลายห้อง บางห้องมีชายหนุ่มแต่งกายหรูหรายืนเข้าแถวอยู่ พอเสด็จผ่านก็ถวายคำนับ ชายหนุ่มพวกนั้นมีผู้อธิบายว่า เป็น ‘Nobla Guards’ ของสันตปาปา เป็นลูกขุนนางผู้ใหญ่หรือเจ้าตระกูลเก่าทั้งสิ้น โดยมากเป็นลูกชายคนโต หรือไม่ก็ลูกชายคนใดที่พ่อแม่เห็นว่าเป็นคนดีสมควรที่จะได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้
วาติกันกว้างใหญ่ถึง 13 เอเคอร์ครึ่ง ได้ยินว่ามีห้องตั้ง 1,100 ห้อง ขนาดต้องเดินผ่านเพียงไม่กี่ห้องในตอนเช้าวันนั้น ยังหอบ แต่ละห้องดูผาดๆ ล้วนหรูหรามีรูปภาพศิลปินสำคัญๆ ของโลก เช่น ราเฟลเอล ไมเคล แอนเจโล เป็นต้น ติดอยู่ตามฝา เราเดินผ่านห้องโธรนไปอีก 2 ห้องก็ถึงห้องซึ่งพระสันตะปาปาคอยรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าอยู่ ท่านโปรดให้คนอื่นคอยอยู่นอกห้องทั้งหมด แล้วทรงนำเราทั้ง 2 เข้าไปในห้องประทับของท่านตามลำพัง
เมื่อสันตะปาปาทรงยื่นพระหัตถ์มา พระเจ้าอยู่หัวทรงก้มพระองค์ลงคำนับแล้วจับพระหัตถ์ ทรงเล่าประทานข้าพเจ้าภายหลังว่า สันตะปาปาทรงเอื้อมกรมายึดพระองค์ไว้ไม่ให้ทรงก้มต่ำเกินไป เราทั้ง 2 คิดเองว่าเห็นจะเป็นเพราะท่านมีเมตตา ไม่อยากให้เราทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต่อกฎของศาสนาของเรากระมัง
ส่วนข้าพเจ้าเมื่อส่งหัตถ์มาประทาน ก็ถอนสายบัวถวายท่านด้วยความเคารพขณะที่จับพระหัตถ์ เราทั้ง 2 เห็นว่า นอกจากท่านจะทรงมีวัยวุฒิแล้ว ยังมีคุณวุฒิ ซึ่งสาธุชนนับถือกันทั่วโลกอีกด้วย พระบรมศาสดาของเราก็ทรงสอนเราไว้ว่า ‘การบูชาผู้ควรบูชา เป็นมงคงอย่างยิ่ง’ สันตะปาปาพระองค์นั้นทรงเป็นบุคคลที่พึงเคารพที่สุด เพียงแต่มองดูท่านก็มีความรู้สึกว่าท่านเป็นคนดี บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา
พระสันตะปาปารับสั่งกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาฝรั่งเศส ทรงคุยกันอยู่นานเกือบชั่วโมงด้วยเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็ลงเอยด้วยเรื่องเมืองไทยและเรื่องพระพุทธศาสนา พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอกสันตะปาปาว่า ท่านทรงสนับสนุนศาสนาทุกศาสนาในเมืองไทย ในเมืองเราราษฎรมีเสรีที่จะนับถือศาสนาต่างๆ ตามใจชอบ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคก็มีอยู่ไม่น้อย ล้วนเป็นพลเมืองดีของชาติ อันเป็นข้อพิสูจน์ว่า ถ้าผู้ใดเคร่งในศาสนาแล้ว ศาสนาทุกศาสนาย่อมสอนมนุษย์ในเป็นบุคคลที่ดี อยู่ในศีล ในสัตย์ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อได้เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ พระสันตะปาปาก็ถวายพระพรด้วยการยกพระหัตถ์ไปข้างหน้าและท่องคาถาภาษาละตินตามแบบของท่าน แล้วทรงพาเราออกมาจากห้องเดินไปยังห้องใหญ่อีกห้องหนึ่ง ที่ห้องนี้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำผู้ตามเสด็จทางราชการเข้าเฝ้าสันตะปาปา ซึ่งท่านก็ประทานพระหัตถ์แก่ทุกคนและประทานของขวัญคนละหีบ เป็นพระรูปท่าน ทำเป็นเหรียญเงิน แล้วก็ยกพระหัตถ์ประทานพรอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่พวกเราจะทูลลากลับไป
อีกภาพหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นในการตามเสด็จไปวาติกันในครั้งนี้ แต่ยังจำได้ติดตาไม่หายอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ เหล่าทหารประจำพระองค์ของสันตะปาปา ซึ่งเรียกว่า ‘กองทัพวาติกัน’ อันประกอบด้วยทหารซึ่งแต่งกายราวกับภาพเขียนในโบราณของฝรั่ง พวกหนึ่งคือ สวิสการ์ด หรือทหารสวิสรักษาพระองค์ มีประมาณ 100 คน ซึ่งเคยจ้างมาจากเมืองสวิสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และถือเป็นธรรมเนียมจ้างต่อมาจนถึงเดี๋ยวนี้ เครื่องแต่งกายของทหารกองนี้งดงามมาก สวมเฮลเม็ดและเกราะเหล็กทับเสื้อผ้าที่เป็นสีเหลือง น้ำเงิน และแดง ไมเคล แอนเจโลเป็นผู้ออกแบบเสื้อ ซึ่งยังใช้สวมอยู่จนทุกวันนี้
พวกที่ 2 เรียกว่า ‘Pontificial Gendarme’ หรือตำรวจรักษาวาติกัน ไม่ทราบว่าเขาไประดมกันมาจากไหน แต่ละคนล้วนสูงโย่งราว 7 ฟุตทั้งนั้น ดูเหมือนพวกนี้จะเป็นอิตาเลียนเอง ตัวใหญ่น่าเกรงขามมาก แต่งกายสมัยนโปเลียน สวมหมวกปีกใหญ่และรองเท้าบู๊ตอย่างทหารม้า
พวกที่ 3 เป็นพวกรักษาพระองค์ เรียกว่า ‘Palace Guards’ แต่งกายน่าดูเหมือนกัน คือ สีน้ำเงิน สวมหมวกเหล็กสมัยเมื่อศตวรรษที่แล้ว พวกนี้ได้ยินว่าไม่ได้อยู่ประจำตลอดเวลาอย่างสวิสการ์ดและตำรวจมหึมา เพียงแต่แต่งตัวมาทำหน้าที่ตอนมีงานเต็มยศอย่างวันที่เราไป เป็นต้น เช่นเดียวกับพวก Noble Guards เหมือนกัน
ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบดูขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณของบ้านเมืองต่างๆ เมื่อได้ไปเห็นเครื่องแต่งกาย ซึ่งใช้กันมากี่ร้อยปีจนถึงทุกวันนี้ ก็อดที่จะชื่นชม จำมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้
ตลอดเวลาที่ตามเสด็จประเทศต่างๆ ครั้งนั้น ที่อเมริกาก็ดี ประเทศต่างๆ ในยุโรปก็ดี ข้าพเจ้าได้เห็นขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกันทำให้เวียนศีรษะไม่น้อย ปฏิบัติตามร่องรอยแทบไม่ถูก”
จาก ‘ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ’ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ซึ่งพิมพ์ในหนังสือพระราชทาน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วง พ.ศ. 2503 ที่พระองค์ทรงตามเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปเยือนอเมริกาและยุโรป โดยทรงเสด็จฯ อิตาลี 4 วัน และรัฐวาติกันใช้เวลาเพียงวันเดียว ซึ่งเรียกว่า ‘Official Visit’ ไม่ใช่ ‘State Visit’
ที่มา: สำนักข่าวอิศรา