เริ่มต้นปีพิธีกรรมเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
- รายละเอียด
- หมวด: บทความตามเทศกาล
- เขียนโดย จัดพิมพ์โดย แผนกพิธีกรรม ดนตรี และศิลปศักดิ์สิทธิ์
- ฮิต: 1823
1.เจตนารมณ์ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
เมื่อเริ่มเข้าสู่เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (advent) ก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีพิธีกรรม เทศกาลนี้ยาวนานสี่สัปดาห์ ตลอดสี่สัปดาห์ที่ว่านี้ แม้อาภรณ์สำหรับประกอบพิธีกรรมที่พระสงฆ์สวมใส่จะเป็น สีม่วง แต่ก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะสื่อหรือเน้นว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการสำนึกผิด-เป็นทุกข์-กลับใจ ดังเช่นช่วงเวลาสี่สิบวันในเทศกาลมหาพรต
ความหมายหรือเจตนารมณ์สำคัญของเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ คือ ให้เทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาของการรำพึงไตร่ตรองแผนการณ์ของพระเจ้า พร้อมกับรอคอยด้วยความหวัง ถึงการมาบังเกิดของพระผู้ไถ่ ซึ่งจะต้องเน้นเฉลิมฉลองการเสด็จมาขององค์พระบุตรทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
2.เนื้อหาของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้ามุ่งเชื้อเชิญให้เราพิจารณาบุคคลที่พระเจ้าได้ทรงเลือกและทรงเตรียมไว้เพื่อให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธรรมล้ำลึกเรื่องการรับสภาพมนุษย์ของพระบุตร (Incarnation)
สายตาแห่งความเชื่อของพวกเราถูกนำพาให้มองดูชีวิตของพระนางมารีย์ ผู้ปฏิสนธินิรมล นักบุญยอห์น บัปติสตา นักบุญยอแซฟ นักบุญเอลิซาเบท รวมทั้งท่านเศคาริยาห์ บทอ่านในเทศกาลนี้ จะหยิบยกเอาคำทำนายของประกาศกอิสยาห์มาบอกเล่าให้เราได้รับฟัง โดยมุ่งเน้นที่การเสด็จมาขององค์ผู้รับเจิม (the Anointed One) เน้นให้เราเห็นว่า แผนการณ์แห่งความรอดนี้ พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่วันอาทิตย์สัปดาห์ที่หนึ่งของเทศกาลนี้ บททำวัตรจะมุ่งเน้นที่การรอคอย คำสัญญา และความหวัง นอกจากนี้ เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้ายังเป็นช่วงเวลาของการรำพึงไตร่ตรองถึง “สิ่งสุดท้าย” (last things) อันได้แก่ ความตาย การพิพากษา สวรรค์ และแดนมรณา ด้วยเหตุนี้ ในบทเทศน์ และการสอนคำสอน จำต้องกล่าวถึงเรื่อง อวสานกาล (Eschatology)
3.วันอาทิตย์ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
โดยปกติ ทุก ๆ วันอาทิตย์ถือเป็นวันฉลองปัสกาประจำสัปดาห์ ที่เรียกร้องให้ทุกชุมชนคาทอลิกเห็นความสำคัญและเฉลิมฉลองกันอย่างสง่าและพร้อมเพรียง วันอาทิตย์ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ นี้ ก็ยังคงมีความสำคัญในระดับเดียวกัน แม้ว่าจะไม่มีการขับร้องบทสิริรุ่งโรจน์ (Gloria) ในบูชามิสซา
ในขณะที่เทศกาลมหาพรต มีข้อห้ามเรื่องการบรรเลงออร์แกน หรือเครื่องดนตรีอื่น ๆ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด เช่นเดียวกับเรื่องการตกแต่งดอกไม้ข้าง ๆ พระแท่น ที่ไม่ได้ห้ามอย่างเด็ดขาด เพียงแต่ขอให้ทั้งการบรรเลงดนตรีและการตกแต่งดอกไม้ มีลักษณะพอประมาณ เพื่อรอวันที่จะแสดงออกอย่างพิเศษ ให้สมกับที่เป็นวันสมโภชใหญ่ที่เฝ้ารอคอย คือ วันฉลองพระคริสตสมภพ นั่นเอง
นอกจากนี้ อาภรณ์ประกอบพิธีกรรม อาจจะเปลี่ยนเป็นสี ดอกกุหลาบ หรือสีบานเย็น ในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเทศกาลนี้ (Gaudete Sunday) เพื่อต้องการจะสื่อว่าวันฉลองที่รอคอยใกล้เข้ามาแล้ว (เหมือนกับวันอาทิตย์ที่ 4 ในเทศกาลมหาพรต Laetare Sunday)
และเพื่อให้พิธีกรรมได้ทำหน้าที่ของตน ในการอภิบาลเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งบำรุงชีวิตจิต หรือชีวิตฝ่ายวิญญาณของสัตบุรุษอย่างแท้จริง ตามจังหวะของปีพิธีกรรม และธรรมล้ำลึกที่กำลังฉลอง วันอาทิตย์ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ซึ่งได้รับการจัดเตรียมเนื้อหาของการฉลองมาอย่างลงตัวแล้ว ได้ถูกเรียกร้องอย่างจริงจังให้งดการฉลองนักบุญ รวมทั้งไม่ให้มีพิธีกรรม (rituals) อื่น ๆ เช่น มิสซาปลงศพ เป็นต้น
4.ธรรมเนียมการจัดแต่งเทียน 4 เล่ม
วัดหลาย ๆ แห่ง มีธรรมเนียมการจัดแต่ง “หรีดเตรียมรับเสด็จฯ” (Advent wreath) ไว้บริเวณใกล้ ๆ พระแท่น หรีดดังกล่าวถูกจัดแต่งให้เป็นรูปวงกลมสีเขียว ภายในมีเทียนอยู่สี่เล่ม สามเล่มเป็นเทียนสีม่วง อีกหนึ่งเล่มเป็นเทียนสีบานเย็น เทียนถูกจุดเพิ่มที่ละเล่ม ๆ จนครบสี่สัปดาห์
ในบางแห่งยังมีธรรมเนียมการเสกหรีดเตรียมรับเสด็จในวันอาทิตย์แรกของเทศกาล อย่างไรก็ตาม แม้ธรรมเนียมการจัดหรีดดังกล่าวจะดูมีความหมายดี แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้แทนเทียนที่จะต้องจุดประจำพระแท่น ที่ถือว่าเป็นเทียนประกอบพิธีกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรวางหรีดเตรียมรับเสด็จฯ บนพระแท่น
5.8 ธันวาคม วันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิริมล
การสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล ถือเป็นอีกหนึ่งวันสมโภชที่สำคัญยิ่งของแม่พระ และบางประเทศยังกำหนดให้วัน ๆ นี้เป็นวันฉลองบังคับ (สำหรับประเทศไทย โดยประกาศของสภาพระสังฆราช ปี 1987 กำหนดให้วันสมโภชนี้ เป็นวันฉลองสำคัญ แต่ไม่บังคับ)
ทั้งบทเทศน์และการสอนคำสอนเกี่ยวกับการสมโภชนี้ ควรชี้ให้เห็นถึงความหมายและเจตนาที่พระเจ้าได้ทรงมอบอีกหนึ่งอภิสิทธิ์ที่สำคัญให้กับพระนางมารีย์ เพื่อที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ตั้งครรภ์ และให้กำเนิดพระกุมาร
6.การเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพ
ช่วงเวลาที่ถือได้ว่าเป็นโค้งสุดท้าย (final phase) ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เริ่มต้นในวันที่ 17 ธันวาคม บทภาวนา และบทอ่าน ทั้งในบูชามิสซา และในบททำวัตร ได้ถูกจัดเตรียมไว้ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นสำหรับช่วงเวลาแปดวันก่อนวันสมโภชพระคริสตสมภพ วันในระหว่างสัปดาห์ของช่วงเวลานี้ เนื้อหาของการฉลองที่มุ่งที่การเตรียมสู่การฉลองพระคริสตสมภพ มีความสำคัญกว่าการระลึกถึงนักบุญใด ๆ
การทำนพวารเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพสามารถมีได้ ควบคู่ไปกับบูชามิสซาประจำวัน การสวดทำวัตร และการนมัสการศีลมหาสนิท พระสงฆ์เจ้าวัดควรจัดให้สัตบุรุษมีโอกาสได้รับศีลอภัยบาปในช่วงเวลาของการเตรียมฉลองนี้ โดยอาจจะมีวจนพิธีกรรมศีลอภัยบาป และจัดหาพระสงฆ์มาช่วยโปรดศีลอภัยบาป เพื่อให้สัตบุรุษในความดูแล ได้เตรียมจิตใจอย่างดี
7.บทเพลงคริสตสมภพ
บทเพลงคริสตสมภพ (Christmas Carols) ที่ขับร้องกันโดยทั่ว ๆ ไป และถือเป็นบทเพลงประจำเทศกาล ที่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งที่บทเพลงดังกล่าวถูกขับร้องก่อนจะถึงวันที่ 25 ธันวาคม มีการกล่าวไว้อย่างจริงจังว่า บทเพลงที่มีเนื้อหาทางด้านเทววิทยา เรื่องการเสด็จมารับสภาพมนุษย์ (Incarnational Theology) ไม่ควรจะนำมาขับร้องในพิธีกรรมก่อนคืนตื่นเฝ้าฉลองพระคริสตสมภพ
อย่างไรก็ตาม พิธี ที่ไม่ใช่พิธีกรรมโดยตรง (para-liturgy) เช่น การฉลองบทเพลงคริสตสมภพ (Festival of carols) สามารถจัดขึ้นได้ เพื่อเป็นโอกาสอันดีต่อการสร้างความเป็นเอกภาพ (ecumenical occasion) โดยอาจจะจัดที่วัด หรือในสถานที่สาธารณะ ถ้าสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเอื้ออำนวย ถ้าหากจัดในวัดคาทอลิก พิธีดังกล่าวควรจะจบลงด้วยพิธีนมัสการและอวยพรศีลมหาสนิท
8.วันสมโภชพระคริสตสมภพ
แม้ว่าวันสมโภชพระคริสตสมภพนี้ จะมีความสำคัญรองจากวันสมโภชปัสกา และวันสมโภชพระจิตเจ้า แต่ต้องถือว่าวันสมโภชนี้ มีการเฉลิมฉลองกันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป ในด้านพิธีกรรม บูชามิสซาสมโภชการบังเกิดของพระกุมารควรจัดอย่างสง่างามที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ อาภรณ์ประกอบพิธีกรรมใช้สีขาวหรือสีทอง ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ควรใช้ชุดที่สวยงาม และจัดเตรียมอย่างดี มีการใช้กำยาน จัดแต่งดอกไม้ และมีเทียนด้วยจำนวนที่แสดงถึงการสมโภชสำคัญ
9.บูชามิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ
บูชามิสซาโอกาสสมโภชพระคริสตสมภพ มีทั้งหมด 4 มิสซาด้วยกัน คือ 1. มิสซาคืนตื่นเฝ้า 2. มิสซาเที่ยงคืน 3. มิสซารุ่งอรุณ และ 4. มิสซาระหว่างวัน แต่ละมิสซามีบทภาวนาและบทอ่านเฉพาะ ควรใช้บทอ่าน / บทภาวนา ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ถวาย สำหรับมิสซาเที่ยงคืน ช่วงเวลาที่ถวาย ไม่ได้กำหนดตายตัว อย่างเข้มงวดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าหากไม่สามารถจัดฉลองบูชามิสซาเวลาเที่ยงคืน แต่ละท้องที่สามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมได้ เพียงขอให้เป็นช่วงดึก ที่เลยหัวค่ำไปแล้ว เช่น สามทุ่ม สี่ทุ่ม หรือห้าทุ่ม เป็นต้น
10.การจัดและเลือกบทมิสซา
ทำวัตรภาคบทอ่าน อาจจะถูกนำมาสวดหรือขับร้อง ก่อนพิธีบูชามิสซาก็ได้ (บางแห่ง ใช้ช่วงเวลาก่อนมิสซา ช่วงที่พระสงฆ์กำลังโปรดศีลอภัยบาป จัดพิธีฉลองบทเพลงคริสตสมภพ นำโดยคณะนักขับร้อง) บทภาวนา / บทอ่านของมิสซารุ่งอรุณใช้สำหรับมิสซาในตอนเช้าของวันที่ 25 ธันวาคม ขณะที่บทภาวนา / บทอ่านของมิสซาระหว่างวัน จะใช้ เมื่อจะมีมิสซาในช่วงเวลาอื่นอีก
ระหว่างสวดบทข้าพเจ้าเชื่อ เมื่อถึงถ้อยคำที่ว่า “พระองค์ทรงรับสภาพมนุษย์ จากพระนางมารีย์พรหมจารี ด้วยอานุภาพของพระจิตเจ้า และทรงบังเกิดเป็นมนุษย์” ให้ทุกคนคุกเข่า
11.การประกาศสมโภชพระคริสตสมภพ
พิธีกรรมตามจารีตโรมันได้กำหนดให้ประกาศสมโภชการเสด็จมาบังเกิดขององค์พระคริสตเจ้า ในวันสมโภชพระคริสตสมภพ (ขณะที่จารีตตะวันออกจะประกาศในวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์) โดยเนื้อหาของการประกาศจะกล่าวถึงการมาบังเกิดของพระผู้ไถ่ที่เชื่อมโยงกับบริบทของประวัติศาสตร์ความรอด และก็เชื่อมโยงธรรมล้ำลึกเรื่องการรับสภาพมนุษย์กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์
การประกาศนี้ ควรประกาศอย่างสง่า ณ บรรญฐาน โดยสังฆานุกร หรือนักร้องนำ หรือผู้อ่าน ที่สวมอาภรณ์ตามหน้าที่อย่างเหมาะสม หากไม่ใช่บุคคลดังกล่าวที่ทำหน้าที่ประกาศการสมโภช พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน หรือพระสงฆ์ท่านหนึ่งท่านใด เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ระหว่างที่ประกาศสมโภชพระคริสตสมภพ ทุกคนยืนขึ้น
ช่วงเวลาสำหรับการประกาศ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม ที่ดูเหมือนจะเหมาะและถือปฏิบัติกันก็คือ ช่วงที่สวดทำวัตรภาคบทอ่าน ก่อนมิสซา โดยประกาศสมโภช ก่อนขับร้องบท Te Deum หรืออยู่ในช่วงของพิธีกึ่งพิธีกรรม ฉลองเพลงคริสตสมภพ (ในบางแห่ง มีการประกาศสมโภช ในช่วงของการสารภาพผิด หลังการทักทาย หรือกล่าวนำในตอนต้นของมิสซา โดยตัดบทสารภาพผิดออก)
หากสังฆานุกรเป็นผู้ประกาศสมโภช สังฆานุกรไม่ต้องไปขอพรจากประธาน แต่ประธานควรจะกล่าวนำสั้น ๆ
12.ถ้ำ และตะกร้ารางหญ้าพระกุมาร
ถ้ำพร้อมกับตะกร้ารางหญ้าพระกุมารถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีการสร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นอย่างแพร่หลายในจารีตโรมัน โดยจะถูกจัดเตรียมไว้ในวันที่ 17 ธันวาคม หรือเพียงแค่ก่อนทำวัตรเย็นของวันฉลองพระคริสตสมภพ แต่รูปปั้นพระกุมารไม่ควรจะนำมาวางก่อนมิสซาเที่ยงคืน อย่างไรก็ตาม ถ้าก่อนมิสซาเที่ยงคืน ในตอนหัวค่ำมีมิสซาตื่นเฝ้า ที่ถือเป็นมิสซาสำหรับทุก ๆ ครอบครัว ก็สามารถนำรูปปั้นพระกุมารมาวางในตะกร้านั้น ก่อนที่มิสซาดังกล่าวจะเริ่มก็ได้
การวางรูปปั้นพระกุมารอาจจะไม่มีพิธีพิเศษอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีธรรมเนียมดั้งเดิมที่ถือปฏิบัติกันมา โดยถือรูปแบบจากเมืองเบธเลแฮม ที่จะจัดให้มีพิธีวางรูปปั้นพระกุมาร ก่อนที่พิธีมิสซาจะเริ่ม มีการขับร้องบทเพลงที่เหมาะสมขณะที่ขบวนแห่รูปปั้นพระกุมารเริ่มขึ้น เมื่อขบวนแห่มาถึงถ้ำพระกุมาร ประธานคุกเข่า และวางรูปปั้นพระกุมารลงในตะกร้า อาจจะถวายกำยานให้รูปปั้นพระกุมารก็ได้ ยังอาจจะมีพิธีเสกถ้ำและตะกร้ารางหญ้าพระกุมารด้วยก็ได้ หลังจากนั้นจึง เริ่มบูชามิสซา ขบวนแห่ แห่ไปที่พระแท่น (มีข้อที่ควรคำนึงก็คือ ถ้ำพระกุมารไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสร้างไว้ที่หน้าพระแท่น และถ้าแม้ไม่มีถ้ำ มีแต่ตะกร้ารางหญ้าพระกุมาร ก็ยังไม่ควรวางตะกร้านั้นที่หน้าพระแท่นด้วยช่นกัน)
13.อัฐมวารพระคริสตสมภพ
ในขณะที่ช่วงเวลาแปดวันหลังวันสมโภชปัสกา (อัฐมวารปัสกา) ไม่มีการฉลองนักบุญใด ๆ ทั้งสิ้น ช่วงแปดวันหลังสมโภชพระคริสตสมภพ กลับมีการฉลองนักบุญและฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้าแทรกเข้ามาด้วย นักบุญที่ได้รับการฉลองในช่วงเวลานี้ ถูกเรียกว่าเป็น “กลุ่มเพื่อนพระเยซู” อันได้แก่ นักบุญสเตเฟน มรณสักขีท่านแรก (26 ธันวาคม) นักบุญยอห์น อัครสาวก (27 ธันวาคม) บรรดาทารกผู้วิมล (28 ธันวาคม วันนี้ บางแห่งกำหนดให้มีการภาวนาเพื่อบรรดาทารกที่ถูกฆ่าก่อนกำเนิด)
14.วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ และการประกาศวันสมโภชปัสกา
พระศาสนจักรสากลทำการสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ในวันที่ 6 มกราคม แต่พระศาสนจักรท้องถิ่นสามารถเลือกสมโภชในวันอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างวันที่ 2 – 8 มกราคม การสมโภชนี้มีความหมายถึง องค์พระผู้ไถ่ได้เปิดเผยพระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นแสงแห่งนานาชาติ ด้วยเหตุนี้ ในวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ สามารถตั้งและจุดเทียนเพิ่ม ทั้งในบริเวณใกล้ ๆ พระแท่น หรือ บริเวณอื่น ๆ ภายในวัด นอกจากนี้ ภายในถ้ำพระกุมาร มีธรรมเนียมที่จะตั้งรูปปั้นของกษัตริย์แห่งบูรพา หรือพญาสามองค์ แทนที่รูปปั้นของบรรดาคนเลี้ยงแกะ
ในวันสมโภชนี้ หลังบทพระวรสาร หรือหลังบทเทศน์ หรือต่อจากบทภาวนาหลังรับศีล มีการประกาศวันสมโภชปัสกา รวมทั้งวันฉลองอื่นๆ ที่กำหนดวันฉลองจะเปลี่ยนไปทุกปี เช่น วันพุธรับเถ้า วันสมโภชพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ วันสมโภชพระจิตเจ้า และวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
เรียบเรียงจาก Ceremonies of the Liturgical Year
ของ Msgr. Peter J. Elliott
จัดพิมพ์โดย แผนกพิธีกรรม ดนตรี และศิลปศักดิ์สิทธิ์
ฝ่ายบุคลาภิบาล อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 12 ธันวาคม 2007