มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

                                     

บทเทศน์สอนวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2024 สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา

     ระหว่างเดินทางไปเมืองคาเปอรนาอุม บรรดาอัครสาวกถกเถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่กว่ากัน พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกพวกเขาเข้ามา ตรัสว่า “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา”
คำพูดนี้แสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงโปรดปรานผู้ที่เป็นเหมือนเด็กเล็กๆ มากกว่าผู้ที่ต้องการเป็นใหญ่ หรือชอบอ้างว่าตัวเองมีอาวุโสมากกว่า
อันที่จริง ในพระคัมภีร์ก็มีเรื่องราวมากมายที่แสดงว่าพระเจ้าทรงพอพระทัยผู้ที่เป็นเด็กกว่า อย่างเช่นอาแบล อิสอัค ยากอบ โยเซฟ ดาวิด รวมถึงมารีย์น้องของมาร์ธาด้วย
เพื่อจะอธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เราคงต้องอาศัยทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์ของคาร์ล กุสตาฟ จุง (26 ก.ค. 1875–6 มิ.ย. 1961) ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็นจิตแพทย์แห่งมวลมนุษย์ จุง อธิบายว่า บุคลิกภาพของคนเราถูกขับเคลื่อนด้วยพลัง 2 แบบ
     แบบแรกคือพลังแบบผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า (senex) ส่วนแบบที่สองคือพลังแบบเด็กหรือผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า (puer eternis)
ตามการวิเคราะห์ของจุง ผู้ใหญ่จะรอบคอบมากกว่า ชอบคิดคำนวณ หากคิดจะกระโดดก็ต้องดูให้แน่ก่อนและก็มักจะลงเอยด้วยการไม่กระโดด ส่วนเด็กนั้นชอบไคว่คว้าหาโอกาส กล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยง จึงผิดพลาดได้ง่าย
     ผู้ใหญ่เน้นการปกป้องและการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ส่วนเด็กนั้นทำอะไรง่ายๆ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
     ผู้ใหญ่เน้นการแข่งขันและการได้มาซึ่งอำนาจและความสำเร็จ ส่วนเด็กนั้นชอบการร่วมมือกันและชอบเลี้ยงฉลองด้วยกัน
     ผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบมากกว่า ในขณะที่เด็กนั้นไม่ค่อยซีเรียสมากนัก
     ในครอบครัวใหญ่ๆ พ่อแม่มักจะถ่ายทอดพลังแบบผู้ใหญ่ให้แก่ลูกคนโต ในขณะที่ลูกคนหลังๆ ก็จะได้รับพลังแบบเด็กไป
คาร์ล จุงยังกล่าวอีกว่า เมื่อพลังแบบใดแบบหนึ่งเข้าครอบงำเหนือบุคลิกภาพของผู้ใดจนไม่มีที่ว่างสำหรับพลังอีกแบบหนึ่ง บุคลิกภาพของผู้นั้นก็เป็นอันจบเห่ และเพื่อที่จะเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข เรา     จำเป็นต้องรักษาสมดุลของพลังทั้งสองแบบในตัวเรา และต้องทำให้พลังทั้งสองแบบนี้สอดประสานไปด้วยกันให้ได้ด้วย
หันมาดูพระวรสารวันนี้ เราจะเห็นว่าบรรดาอัครสาวกทั้งสิบสองคนต่างก็ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแบบผู้ใหญ่มากจนขาดสมดุล
     สิ่งแรกที่แสดงออกว่าพวกเขาถูกพลังแบบผู้ใหญ่ขับเคลื่อนจนเกินควรก็คือ นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพ แต่พวกเขาก็ยังไม่เข้าใจ ซ้ำร้ายยังไม่มีใครกล้าทูลถามซะอีก นี่แหละเป็นลักษณะนิสัยแบบผู้ใหญ่ที่กลัวเสียหน้า กลัวเสียศักดิ์ศรี
     สิ่งที่สองที่แสดงว่าพวกเขาถูกพลังแบบผู้ใหญ่ขับเคลื่อนจนเกินควรก็คือ พวกเขาถกเถียงกันระหว่างทางว่าใครจะเป็นใหญ่กว่ากัน นี่เท่ากับว่าความสัมพันธ์และการทำงานระหว่างพวกเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันกันมากกว่าจะร่วมมือกัน
     และนี่เองที่ทำให้พระเยซูเจ้าต้องจูงเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมายืนท่ามกลางพวกเขา แล้วตรัสว่า “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”
     ประเด็นของพระองค์ก็คือ หากเราไม่ต้อนรับเด็กเล็กๆ ความพยายามที่จะต้อนรับพระองค์และเป็นศิษย์ของพระองค์ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ !
     และหนึ่งในวิธีที่จะต้อนรับเด็กเล็กๆ ก็คือการยอมให้พลังแบบเด็ก ตามการวิเคราะห์ของคาร์ล จุง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราให้มากขึ้น ให้มันได้สมดุล เราจะได้คิดคำนวณน้อยลง เป็นห่วงเรื่องศักดิ์ศรีหรือเสียหน้าน้อยลง กลัวผิดพลาดและกลัวตายน้อยลง รวมถึงอยากได้อำนาจน้อยลงด้วย
     ด้วยพลังแบบเด็กที่มากขึ้นนี่แหละ ที่จะทำให้เราพร้อมที่จะก้าวกระโดดหรือก้าวเดินไปในท่ามกลางความมืดมิด และเมื่อพร้อมที่จะทำเช่นนี้ ก็จะทำให้เราเชื่อและติดตามพระเยซูเจ้าได้อย่างมั่นคง
พี่น้องครับ สังคมของเราทุกวันนี้โน้มเอียงไปทางชอบใช้พลังแบบผู้ใหญ่มากยิ่งกว่าบรรดาอัครสาวกที่เราได้ฟังในพระวรสารวันนี้ และมากยิ่งกว่าชาวยิวและคริสตชนยุคเริ่มแรกเสียอีก
ในบทอ่านที่หนึ่ง ชาวยิวซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแบบผู้ใหญ่จนเกินสมดุล กำลังคิดดักซุ่มทำร้ายผู้ที่ทำให้พวกเขารำคาญใจ รวมถึงผู้ที่ต่อต้านกิจการของพวกเขา และชอบตำหนิพวกเขาด้วย
     ส่วนในบทอ่านที่สอง นักบุญยากอบถามคริสตชนในยุคของท่านว่า “การต่อสู้และการทะเลาะวิวาทในหมู่ท่านนั้นมาจากที่ใด มิใช่มาจากกิเลสตัณหาซึ่งต่อสู้อยู่ภายในร่างกายของท่านหรือ ท่านอยากได้ แต่ไม่ได้ จึงฆ่ากัน ท่านอยากได้ แต่ไม่สมหวัง จึงทะเลาะวิวาทและต่อสู้กัน”
     หากอธิบายตามการวิเคราะห์ของคาร์ล จุง ก็ต้องบอกว่าทั้งชาวยิว ทั้งคริสตชนยุคเริ่มแรก และรวมถึงเราคริสตชนทุกวันนี้ด้วย ต่างก็ปล่อยให้พลังแบบผู้ใหญ่ขับเคลื่อนชีวิตของตนมากจนเกินควร จนขาดสมดุล
อันที่จริงพระเยซูเจ้ามิได้ต่อต้านพลังแบบผู้ใหญ่ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน”
จะเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ห้ามเราทะเยอทะยานที่จะเป็นคนที่หนึ่งซึ่งเป็นผลพวงมาจากพลังขับเคลื่อนแบบผู้ใหญ่ แต่พระองค์ทรงทำให้ความทะเยอทะยานของเรามีความหมายใหม่และบริสุทธิ์สูงส่งยิ่งขึ้น
     นั่นคือ พระองค์ทรงทดแทนความทะเยอทะยานที่จะปกครองคนอื่นและให้ผู้อื่นรับใช้ตนด้วย “ความทะเยอทะยานที่จะรับใช้ผู้อื่น” ด้วยความรักทั้งต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์
คำสอนนี้ไม่ได้เป็นเพียงอุดมการณ์อันเลื่อนลอย ทุกวันนี้องค์กรใดถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแบบผู้ใหญ่มากๆ แล้วก็มัวแต่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตนจนขาด “จิตตารมณ์ของการรับใช้” (Service Mind) องค์กรนั้นก็อย่าได้หวังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเลย เพราะลำพังยืนหยัดอยู่ต่อไปในสังคมให้ได้ โดยไม่เจ๊งไปก่อนก็เก่งแล้ว
     สังคมของเรา ประเทศชาติของเรา โลกของเรา วัดของเรา และพระศาสนจักรของเรา จะก้าวหน้าไปไกลกว่านี้อีกสักเพียงใด หากเราเห็นความสำคัญของคนอื่นและมุ่งรับใช้คนอื่น ไม่ใช่มัวแต่แสวงหาเกียรติยศและผลประโยชน์ใส่ตน
พี่น้องครับ วันนี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงเชิญชวนเราทุกคนให้เพิ่มพื้นที่ในชีวิตของเราสำหรับพลังแบบเด็กให้มากขึ้น เราจะได้วางใจพระองค์มากขึ้น ยิ้มให้แก่กันมากขึ้น รักและร่วมมือกันมากขึ้น ไม่ว่าเราจะมีอายุเก้าปีหรือเก้าสิบเก้าปี ไม่ว่าเราจะเป็นลูกคนโตหรือคนสุดท้อง หรือเป็นลูกโทนเพียงคนเดียวก็ตาม เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราเป็นหนึ่งในบรรดาเด็กๆ ซึ่งพระเยซูเจ้าตรัสว่า “อาณาจักรสวรรค์เป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้” (มธ 19:14; มก 10:14; ลก 18:16)

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown