บทเทศน์สอน อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ปี C
- รายละเอียด
- หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
- ฮิต: 425
อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ปี C
ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ไม่ว่าจะใหม่เอี่ยมหรือยับยู่ยี่ก็ล้วนมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการในสายตาของเราฉันใด ไม่ว่าคนดีเรียบร้อย หรือคนเลวป่าเถือน ขึ้นชื่อว่าคนแล้วก็ล้วนมีคุณค่าและเป็นที่รักในสายพระเนตรของพระเจ้าฉันนั้น
และจริงๆ แล้ว ต่อหน้าพระเจ้า ไม่มีใครดีไปกว่ากัน นักบุญเปาโลบอกว่าเราทุกคนเท่าเสมอกัน “ไม่มีความแตกต่างใดๆ อีก ทุกคนกระทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” (รม 3:23) คือทุกคนเป็นคนบาปเหมือนกัน
พระวรสารวันนี้เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่มีบุตรสองคน ตอนแรกดูเหมือนบุตรคนเล็กจะเลว ส่วนบุตรคนโตดูเหมือนจะดี แต่ลงท้ายทั้งคู่ก็ทำให้ครอบครัวไม่มีความรัก ไม่มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เป็นบิดาต้องการอย่างยิ่ง
ปัญหาเริ่มที่บุตรคนเล็กไปขอส่วนแบ่งมรดกของตนทั้งๆ ที่บิดายังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ละทิ้งหน้าที่ความรับผิดชอบในครอบครัว ออกไปดำเนินชีวิตเหลวแหลกนอกบ้าน ผลาญเงินทองจนตกอับ จากลูกเศรษฐีมาเป็นยาจกตกต่ำสุดขีดจนต้องไปรับจ้างเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นสัตว์มีมลทินสำหรับชาวยิว แถมยังคิดจะแย่งอาหารหมูกินซะอีก นี่แหละ บาปมันทำให้ชีวิตของเราตกอยู่ในสภาพไร้ยางอาย ไม่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร
กระนั้นก็ตาม แม้ว่าบาปมันจะทำให้บุตรคนเล็กต้องพลัดหลงและตะเลิดเปิดเปิงห่างไกลจากบ้านของบิดา แต่ยังดีที่เขาไม่หยิ่งจองหองเกินกว่าจะกลับบ้านเพื่อไปขอโทษบิดา
ขณะที่เขาเดินทางกลับบ้านด้วยหัวใจที่เต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ไม่รู้ว่าบิดาจะยกโทษให้หรือไม่ แต่ “ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขา รู้สึกสงสาร จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา” และยังไม่ทันที่เขาจะสารภาพผิดและขอโทษ บิดาผู้เปี่ยมล้นด้วยความยินดีก็สั่งผู้รับใช้ว่า “เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก”แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น
มาถึงจุดนี้ เรื่องราวก็เผยให้เราเห็นข้อบกพร่องของบุตรคนโตซึ่งทีแรกคิดว่าเป็นคนดี เพราะแทนที่เขาจะยินดีที่ได้น้องผู้หลงผิดกลับคืนมา เขากลับโกรธบิดา ไม่ยอมเข้าบ้าน ไม่ยอมร่วมงานเลี้ยงฉลอง กล่าวหาบิดาว่าไม่แฟร์ ซึ่งเป็นคำที่บ่งบอกถึงความโกรธ ความไม่พอใจ และความคิดว่าตนเองถูก ตนเองดีกว่าคนอื่น และโดยวิธีคิดและวิธีทำแบบนี้นี่แหละ เขาก็เลยทำให้ครอบครัวของบิดาแตกแยกและนำความเสียใจใหญ่หลวงมาสู่ผู้เป็นพ่อ
ไม่ว่าจะเป็นบาปของบุตรคนเล็กที่ยังไม่ดีพอ หรือบาปของบุตรคนโตที่ดีเกิน ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัวของบิดาด้วยกันทั้งนั้น
ด้วยเหตุนี้แหละ นักบุญเปาโลจึงกล่าวว่า “ทุกคนกระทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”(รม 3:23) ซึ่งหมายความว่าเราทุกคนเป็นคนบาป ไม่ว่าบาปของเราจะเห็นได้ชัดเจนเหมือนบาปของบุตรคนเล็ก หรือซ่อนเร็นเหมือนบาปของบุตรคนโตก็ตามที
ด้วยเหตุนี้ เราทุกคนจึงจำเป็นต้องกลับใจ และกลับบ้านมาหาพระบิดาของเรา กลับมาคืนดีกับพระองค์
ครั้งหนึ่ง นักบุญเอากุสตินก็เคยเป็นเหมือนบุตรคนเล็กในพระวรสารวันนี้ ท่านเที่ยวเตร่แทบจะทุกซ่องในกรุงโรม แต่เมื่อกลับใจมาเป็นคริสนตชน ทุกสิ่งในชีวิตของท่านก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
วันหนึ่งขณะเดินผ่านซ่อง โสเภณีคนหนึ่งจำท่านได้ จึงร้องเรียกว่า “เอากุสติน เอากุสติน นี่ฉันเอง!” แต่นักบุญเอากุสติน กลับวิ่งหนี พร้อมกับบอกตนเองว่า “นี่ไม่ใช่ฉัน! นี่ไม่ใช่ฉัน!” คือท่านไม่ใช่เอากุสตินคนเดิมอีกแล้ว
นักบุญเปาโลจึงบอกเราในบทอ่านที่สองวันนี้ว่า “ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสตเจ้า ผู้นั้นก็เป็นสิ่งสร้างใหม่ สภาพเก่าผ่านพ้นไป สภาพใหม่เกิดขึ้นแล้ว” (2 คร 5:17)
เราคริสตชนทุกคนได้รับศีลล้างบาปแล้ว ได้ชื่อว่ากลับใจและคืนดีกับพระเจ้าและเป็นสิ่งสร้างใหม่แล้ว จึงจำเป็นที่เราจะต้องดำเนินชีวิตให้สมกับสภาพใหม่เช่นเดียวกับนักบุญเอากุสตินด้วย
อนึ่ง การคืนดีกับพระเจ้านั้นเป็นเสมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นอดีต นั่นคือพระเจ้าทรงอภัยบาปของเราและทำให้เรากลับมาเป็นบุตรของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นอนาคต กล่าวคือเราต้องแบ่งปันข่าวดีเรื่องความรักและการให้อภัยของพระเจ้าแก่คนอื่นด้วย ดังที่นักบุญเปาโลบอกเราในบทอ่านที่สองว่า “พระเจ้าทรงมอบภารกิจการคืนดีนี้ให้กับเรา ทรงมอบให้เราประกาศสารแห่งการคืนดีนี้” เราจึงเป็น “ทูตแทนพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงใช้เราให้เชิญชวนท่านทั้งหลาย จงยอมคืนดีกับพระเจ้าเถิด”
พี่น้องครับ จดหมายของนักบุญเปาโลมีถึงชาวโครินธ์ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้นำของพระศาสนจักร การเป็นทูตแทนพระคริสตเจ้าเพื่อเชิญชวนผู้อื่นให้ยอมคืนดีกับพระเจ้าจึงเป็นหน้าที่ของเราคริสตชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้รับศีลบวชเท่านั้น
เราจึงไม่เป็นเพียงผู้ที่จะต้องคืนดีกับพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่จะต้องทำให้ผู้อื่นคืนดีกับพระเจ้าด้วย !!!
พี่น้องครับ ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ จริงอยู่ผู้ที่ต้องทนทุกข์มากที่สุดก็คือวัวขุนจนอ้วนพีตัวนั้นที่ถูกนำไปฆ่าเพื่อเลี้ยงฉลอง แต่ผู้ที่ทนทุกข์รองลงมาก็คือบุตรคนโตที่คิดว่าตนดีแล้วนั่นเอง เขาอดลิ้มรสเนื้อขุนที่เขาลงทุนลงแรงเลี้ยงมากับมือของเขาเอง
เพราะฉะนั้น เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุตรคนโตหรือคนเล็ก จงคืนดีกับพระเจ้า โดยเฉพาะในเทศกาลมหาพรตนี้เถิด