มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

อาทิตย์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา


อาทิตย์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี ลูกา 12:32-48
(32)‘ฝูงแกะน้อย ๆ เอ๋ย อย่ากลัวเลย’ เพราะพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่ท่าน (33)‘จงขายทรัพย์สินของท่านและให้ทาน จงหาถุงเงินที่ไม่มีวันชำรุด จงหาทรัพย์สมบัติที่ไม่มีวันหมดสิ้นในสวรรค์ ที่นั่นขโมยเข้าไม่ถึงและแมลงขมวนไม่ทำลาย (34)เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย
(35)‘ท่านทั้งหลายจงคาดสะเอวและจุดตะเกียงเตรียมพร้อมไว้ (36)จงเป็นเสมือนผู้รับใช้ที่กำลังคอยนายกลับจากงานสมรส เมื่อนายมาและเคาะประตูจะได้เปิดรับ (37)ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะคาดสะเอวพาผู้รับใช้เหล่านั้นไปนั่งโต๊ะและจะรับใช้เขาด้วย (38)ไม่ว่านายจะมาเวลาสองยามหรือสามยาม ถ้าพบผู้รับใช้กำลังทำเช่นนี้ ผู้รับใช้เหล่านั้นก็เป็นสุข (39)พึงรู้ไว้เถิด ถ้าเจ้าของบ้านรู้ว่าขโมยจะมาเวลาใด เขาคงไม่ปล่อยให้ขโมยงัดแงะบ้านของตน (40)ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย’ (41)เปโตรทูลว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ตรัสอุปมานี้สำหรับพวกเราหรือสำหรับทุกคน’ (42)องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า ‘ใครเล่าเป็นผู้จัดการที่ซื่อสัตย์และรอบคอบซึ่งนายจะแต่งตั้งให้ดูแลผู้รับใช้อื่น ๆ เพื่อปันส่วนอาหารให้ตามเวลาที่กำหนด (43)ผู้รับใช้คนนั้นเป็นสุข ถ้านาย กลับมาพบเขากำลังทำดังนี้ (44)เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของตน (45)แต่ถ้าผู้รับใช้คนนั้นคิดว่า “นายจะมาช้า” และเริ่มตบตีผู้รับใช้ทั้งชายและหญิง กินดื่มจนเมามาย (46)นายของผู้รับใช้คนนั้นจะกลับมาในวันที่เขามิได้คาดหมาย ในเวลาที่เขาไม่รู้ นายจะแยกเขาออก ให้ไปอยู่กับพวกคนที่ไม่ซื่อสัตย์ (47)‘ผู้รับใช้ที่รู้ใจนายของตน แต่ไม่เตรียมพร้อมและไม่ทำตามใจนาย จะต้องถูกเฆี่ยนมาก (48)แต่ผู้รับใช้ที่ไม่รู้ใจนาย แม้ทำสิ่งที่ควรจะถูกเฆี่ยน ก็จะถูกเฆี่ยนน้อย ผู้ใดได้รับฝากไว้มาก ผู้นั้นก็จะถูกทวงกลับไปมากด้วย


พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย”
คำพูดนี้มีความหมาย 2 นัย กล่าวคือ
1. ในใจความเฉพาะเจาะจง หมายถึง “การเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า” หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “วันสิ้นพิภพ”
2. ในความหมายกว้าง ๆ คือ การที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนกลับไปเฝ้าพระองค์ หรือพูดง่าย ๆ คือ “ตาย”
พระเยซูเจ้าทรงยกตัวอย่างผู้รับใช้ที่รอเปิดประตูรับนายเมื่อกลับจากงานสมรส และกล่าวด้วยความชื่นชมว่า “ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่”
และถ้าพระเยซูเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หรือพระเป็นเจ้าจะเรียกเรากลับไปเฝ้าพระองค์ไม่ว่าจะวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ตาม เราทุกคนย่อมอยากเป็นสุข....

เราต้องตื่นเฝ้าอย่างไรจึงจะเป็นสุข
1. ทำทุกสิ่งให้เสร็จสมบูรณ์ ปกติชาวยิวนิยมสวมเสื้อคลุมยาวซึ่งเกะกะเวลาทำงาน พวกเขาจึงรวบเสื้อคลุมขึ้นมาแล้วรัดด้วยสายประคดเพื่อจะได้พร้อมสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ
เมื่อพระเยซูเจ้าสั่งให้เรา “คาดสะเอว” แปลว่าพระองค์ต้องการให้เราตื่นตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อกิจกรรมนั้น ๆ จะได้สำเร็จสมบูรณ์
พวกเราทุกคนล้วนมี “จุดหมาย” ดี ๆ มากมายในชีวิต เช่น จะเป็นเด็กดี จะช่วยเหลือคนยากจน จะกลับใจ จะเลิกสุรา จะไม่เล่นการพนัน จะซื่อสัตย์ในทุกเรื่อง ฯลฯ
แต่น่าเสียดายที่หลายคนทำสำเร็จเพียงบางจุดหมาย บางจุดหมายทำได้ครึ่งเดียว บางจุดหมายก็เลื่อนออกไป หรือบางจุดหมายยังไม่ได้เริ่มแม้แต่จะคิด
คำภาวนาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ข้าพเจ้าทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในโลกนี้แล้ว โดยปฏิบัติภารกิจจนสำเร็จตามที่ทรงมอบหมายกับข้าพเจ้า” (ยน. 17:4) คงช่วยเตือนใจเราว่า แม้พระเยซูเจ้าซึ่งเป็นบุตรของพระเป็นเจ้าเองยังต้อง “ปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ”
ก่อนค่ำคืนนี้จะมาถึง ขออย่าให้เราปล่อยสิ่งใดค้างคาไว้เลย !
2. คืนดีกับเพื่อนพี่น้อง จะมีใครตาย “ตาหลับ” หากเขายังมีเรื่องบาดหมางและขมขื่นกับผู้อื่น
นักบุญเปาโลเองยังสอนว่า “จงเลิกโกรธก่อนดวงอาทิตย์ตก” (อฟ. 4:26) ด้วยเกรงว่าดวงอาทิตย์ตกครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของเรา
3. ทำจิตใจให้มีสันติสุข ดังที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้เรา “จุดตะเกียงเตรียมพร้อมไว้”
“บาป” ก่อให้เกิดความมืดมิด ทำให้ตะเกียงดับ ทำให้เราไม่มีสันติสุข
ขอให้เราลองใคร่ครวญดูว่า จะแตกต่างกันสักแค่ไหนสำหรับคนที่ดำเนินชีวิตในความมืดและกำลังจะจากโลกนี้ไปหา “คนแปลกหน้าหรือศัตรู”
กับคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีสันติสุขตามหนทางของพระเยซูเจ้า และกำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ “อ้อมพระหัตถ์ของพระเป็นเจ้า”
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เราทุกคนอยากรู้สึกอย่างไร ?
เพราะฉะนั้นจง “จุดตะเกียงเตรียมพร้อมไว้”

ผู้รับใช้ที่ไม่ซื่อสัตย์
ในอิสราเอล ผู้จัดการก็คือผู้รับใช้หรือทาสนั่นเอง พวกเขาได้รับการแต่งตั้งจากนายให้มีอำนาจเต็มในการดูแลพวกทาสด้วยกันเอง รวมถึงดูแลบ้าน และทรัพย์สินต่าง ๆ ของนายด้วย ความซื่อสัตย์และความฉลาดรอบคอบจึงเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการ
ส่วนผู้รับใช้ที่ไม่ได้รับเลือกเป็นผู้จัดการ เขาทำผิดพลาด 2 ประการสำคัญ คือ
1. เขาคิดว่านายไม่อยู่ เมื่อรู้ว่านายยังไม่กลับเขา “จึงเริ่มตบตีผู้รับใช้ทั้งชายและหญิง กินดื่มจนเมามาย” แทนที่จะดูแลทุกข์สุขของผู้รับใช้ หรือดูแลบ้านช่องและผลประโยชน์จากทรัพย์สินของนาย
ถ้าเราเป็นนาย เราคงไล่คนใช้เช่นนี้ออกแน่
โดยหารู้ไม่ว่าเราก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับคนใช้ไม่ซื่อสัตย์นี่แหละ
เรามักแบ่งชีวิตของเราออกเป็นส่วน ๆ หรือไม่ก็ขีดเส้นแบ่งระหว่าง “เรื่องของวิญญาณ” กับ “เรื่องทางโลก”
ส่วนใดเกี่ยวข้องกับวิญญาณ เราก็ดำเนินชีวิตไม่มีที่ติราวกับพระเป็นเจ้าประทับอยู่เบื้องหน้า ส่วนใดเป็นเรื่องทางโลก เราก็ดำเนินชีวิตราวกับว่า “พระเป็นเจ้าไม่อยู่” หรือสถานที่นี้ และเวลานี้ “ไม่มีพระเป็นเจ้า”
แต่การดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชนที่ดีต้องไม่มีคำว่า “นายไม่อยู่” และต้องไม่มีคำว่า “ขอเวลานอก”
ทุกลมหายใจ และทุกเสี้ยวของชีวิต ต้องอยู่ในสายพระเนตรของพระเป็นเจ้า เจ้านายสูงสุดของชาวเราเสมอ
2. เขาคิดว่ายังมีเวลาอีกมาก เขาคิดว่า “นายจะมาช้า”
ในโลกนี้ไม่มีเคราะห์กรรมใดเลวร้ายเท่าความคิดที่ว่า “ยังมีเวลาเหลืออีกมาก” แม้พระเยซูเจ้าเองยังต้องเตือนพระองค์เองว่า “ตราบใดที่ยังเป็นกลางวันอยู่ เราทั้งหลายต้องทำกิจการของผู้ที่ทรงส่งเรามา แต่เมื่อกลางคืนมาถึง ก็ไม่มีใครทำงานได้” (ยน. 9:4)
เราต้องดำเนินชีวิตราวกับไม่มีคำว่า “พรุ่งนี้” อยู่ในพจนานุกรม

ยิ่งรู้มากยิ่งต้องรับผิดชอบมาก
การรู้ใจนายถือเป็นอภิสิทธิ์อย่างสูง เพราะนั่นแสดงว่านายไว้ใจจนกล้าบอก “ความในใจ” หรือไม่ก็เป็นคนใกล้ชิดจนเรียนรู้ใจนายได้
แต่ “อภิสิทธิ์” มาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ”
สมดังคำของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ผู้รับใช้ที่รู้ใจนายของตน แต่ไม่เตรียมพร้อมและไม่ทำตามใจนาย จะต้องถูกเฆี่ยนมาก”
พระองค์โปรดให้เราเป็นคริสตชน ให้เรารู้เรื่องพระอาณาจักรสวรรค์ รู้จักพระเป็นเจ้า รู้จักชีวิตและความหมายของชีวิตของเราเอง
การรู้จัก “หนทาง ความจริง และชีวิต” นี่เป็นอภิสิทธิ์ !
แล้วเราจะรับผิดชอบอย่างไร ?

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown