มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์

วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์


ข่าวดี ยอห์น 13:1-15
(1)ก่อนวันฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา พระองค์ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด (2)ระหว่างการเลี้ยงอาหารค่ำ ปีศาจดลใจยูดาส อิสคาริโอท บุตรของซีโมนให้ทรยศต่อพระองค์ (3)พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพระบิดาประทานทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว และทรงทราบว่าพระองค์ทรงมาจากพระเจ้า และกำลังเสด็จกลับไปหาพระเจ้า (4)จึงทรงลุกขึ้นจากโต๊ะ ทรงถอดเสื้อคลุมออกวางไว้ ทรงใช้ผ้าเช็ดตัวคาดสะเอว (5)แล้วทรงเทน้ำลงในอ่าง เริ่มล้างเท้าบรรดาศิษย์และใช้ผ้าที่คาดสะเอวเช็ดให้ (6)เมื่อเสด็จมาถึงซีโมนเปโตร เขาทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์จะทรงล้างเท้าของข้าพเจ้าหรือ” (7)พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้ ท่านยังไม่เข้าใจ แต่จะเข้าใจในภายหลัง” (8)เปโตรทูลว่า “ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้าข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ถ้าท่านไม่ให้เราล้าง ท่านจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา” ซีโมนเปโตรทูลว่า (9)“พระเจ้าข้า อย่าล้างเฉพาะเท้าเท่านั้น แต่ล้างทั้งมือและศีรษะด้วย” (10)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่อาบน้ำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องล้างอะไรอีกนอกจากเท้า เขาสะอาดทั้งตัวแล้ว ท่านทั้งหลายก็สะอาดอยู่แล้ว แต่ไม่ทุกคน” (11)ทั้งนี้ทรงทราบว่าใครกำลังทรยศต่อพระองค์จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายสะอาด แต่ไม่ทุกคน” (12)เมื่อทรงล้างเท้าของบรรดาศิษย์เสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าทรงสวมเสื้อคลุมอีกครั้งหนึ่ง เสด็จกลับไปที่โต๊ะ ตรัสว่า “ท่านเข้าใจไหมว่าเราทำอะไรให้ท่าน” (13)ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ (14)ในเมื่อเราซึ่งเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้าให้กันและกันด้วย (15)เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำกับท่าน


ถนนในปาเลสไตน์ไม่ได้ลาดด้วยยางหรือปูด้วยอิฐเหมือนในปัจจุบัน ฤดูแล้งจึงมีฝุ่นหนาหลายนิ้ว ส่วนฤดูฝนก็เต็มไปด้วยโคลนตม ผู้คนโดยทั่วไปสวมรองเท้าแตะคล้ายรองเท้าสาน ไม่มีสิ่งใดปกป้องเท้าจากฝุ่นหรือโคลน หน้าบ้านของเจ้าภาพงานเลี้ยงจึงต้องมีโอ่งน้ำ พร้อมคนรับใช้ยืนถือคนโทและผ้าเช็ดตัว คอยล้างเท้าให้แขกก่อนเข้าบ้าน
แต่ใครล่ะคือเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย ?
มาตรแม้นว่าพระเยซูเจ้าเองทรงเป็นเจ้าภาพ พระองค์ก็ไม่มีคนรับใช้คอยติดสอยห้อยตามเลยแม้แต่คนเดียว
ด้วยเหตุนี้ พวกอัครสาวกจึงต้องผลัดกันล้างเท้ากันเอง !
ลูกาเล่าว่าระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย “บรรดาศิษย์โต้เถียงกันว่า ในกลุ่มของตนผู้ใดควรได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุด” (ลก 22:24) จึงเป็นไปได้ว่าก่อนเริ่มงานเลี้ยง พวกอัครสาวกต่างแย่งกันเป็นใหญ่ และไม่มีผู้ใดยอมก้มหัวให้แก่กันด้วยการทำหน้าที่อันต่ำต้อยโดยเฉพาะการล้างเท้าให้คู่แข่งอย่างนี้
พระเยซูเจ้าจึงทรงล้างเท้าพวกเขาพร้อมกับสอนว่า “ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในเมื่อเราซึ่งเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้าให้กันและกันด้วย เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำกับท่าน” (ข้อ 13-15)
“แบบอย่าง” ที่พระองค์ทรงวางไว้ให้เราทุกคน คือ
1. ความรักทำได้ทุกสิ่ง
ยอห์นเล่าว่า “ก่อนวันฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา” (ยน 13:1)
จริงอยู่ พระองค์กำลังจะจากโลกนี้ไป แต่เป็นการจากไปเพื่อ “เฝ้าพระบิดา” ของพระองค์
การกลับไป “เฝ้าพระบิดา” ถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่สูงสุด !
ในห้วงเวลาเช่นนี้ ความรู้สึกของพระองค์น่าจะเต็มไปด้วยความปลื้มปีติยินดีและภูมิใจสุด ๆ แต่พระองค์กลับแสดงออกด้วยความสุภาพถ่อมตนแบบสุด ๆ
ทรงล้างเท้า !
ปกติการล้างเท้าเป็นหน้าที่ของทาสหรือคนรับใช้
อีกทั้งเท้าที่ล้างก็ไม่ใช่ของผู้มีอำนาจวาสนา แต่เป็นเท้าของบรรดาศิษย์ซึ่งไม่อยู่เหนืออาจารย์
พระองค์ทรงทำหน้าที่อันต่ำต้อยเช่นนี้ได้เพราะ “พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1)
เมื่อคนที่เรารักเกิดเจ็บป่วย เราสามารถอดทนรับใช้เขาได้แม้จะต้องทำงานเสมือนทาส นั่นเป็นเพราะ “ความรักทำให้สิ่งที่ยากกลายเป็นง่าย” และทำให้สิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เกิดขึ้นได้
ส่วนผู้ที่ “ไม่มีความรักอยู่ในหัวใจ” ย่อมไม่อาจรักผู้อื่นได้ เขาทำได้ดีที่สุดเพียงรักตัวเอง หรือจะพูดให้ถูกต้องกว่าคือหลงตัวเอง เห็นตัวเองดีกว่า เด่นกว่า และสำคัญกว่าคนอื่น
คนพวกนี้ไม่มีทางถ่อมตนลงมาทำแบบพระเยซูเจ้าได้เลย !!
2. ชีวิตสนิทกับพระเจ้าคือบ่อเกิดของการรับใช้
ยอห์นระบุว่า “พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพระบิดาประทานทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว และทรงทราบว่าพระองค์ทรงมาจากพระเจ้า และกำลังเสด็จกลับไปหาพระเจ้า” (ยน 13:3)
สิ่งที่พระองค์ทรงทราบเป็นอย่างดีคือ “พระองค์ทรงมาจากพระเจ้า และกำลังเสด็จกลับไปหาพระเจ้า”
ไม่มีครั้งใดอีกแล้วที่พระองค์จะรู้สึกสนิทชิดใกล้กับพระเจ้าเท่าโอกาสนี้ !
แต่แทนที่จะรู้สึกฮึกเหิมและดูหมิ่นเหยียดหยามมนุษย์ผู้ต่ำต้อย พระองค์กลับถ่อมตนลงมารับใช้มนุษย์อย่างสุด ๆ
แปลว่าแบบอย่างที่พระองค์ทรงวางไว้ให้เป็น “หลักการ” สำหรับชีวิตของเราคือ “ยิ่งใกล้ชิดพระเจ้ามากเท่าใด ยิ่งรับใช้ผู้อื่นได้มากเท่านั้น” !
ด้วยว่า “เพื่อนตาย” คือ เพื่อนที่พร้อมรับใช้ พร้อมช่วยเหลือ และไม่ทอดทิ้งเพื่อนด้วยกันเอง เราจึงสรุปตามหลักการที่กล่าวมาได้ว่า “เพื่อนตายที่ดีที่สุดคือเพื่อนที่อยู่ใกล้ชิดพระเจ้ามากที่สุด”
วันนี้ เราน่าจะตอบคำถามตัวเองได้แล้วว่า “เราเป็นเพื่อนตายของใครบ้างแล้วหรือยัง ?”
3. ต้องรักแม้แต่ศัตรู
พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าใครกำลังทรยศต่อพระองค์ จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายสะอาด แต่ไม่ทุกคน” (ยน 13:11)
ยูดาส อิสคาริโอท คือผู้ที่กำลังจะทรยศพระองค์ และผลของการทรยศครั้งนี้รุนแรงถึงกับต้องสังเวยด้วยชีวิตของพระองค์เอง
หากคนที่ถูกทรยศเป็นเรา เราคงรู้สึกขมขื่น เจ็บปวด โกรธแค้น เกลียดชัง และพร้อมจะระเบิดความรู้สึกเหล่านี้ออกมาทุกเมื่อ
แต่พระองค์กลับ เผชิญหน้ากับผู้ทรยศด้วยความสุภาพถ่อมตน และทรงรักเขาแบบสุด ๆ
พระองค์ทรงล้างเท้าให้ผู้ที่กำลังจะทรยศพระองค์ !
4. ศีลล้างบาปมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรว่า “สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้ ท่านยังไม่เข้าใจ แต่จะเข้าใจในภายหลัง” (ยน 13:7)
สิ่งที่เปโตรและเราเข้าใจในภายหลังคือ “ศีลล้างบาป”
ครั้งแรกเปโตรไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้า พระองค์จึงตรัสว่า “ถ้าท่านไม่ให้เราล้าง ท่านจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา” สิ่งที่เข้าใจได้ในภายหลังก็คือ “ถ้าท่านไม่รับศีลล้างบาป ท่านจะไม่มีส่วนในพระศาสนจักรของเรา”
ด้วยเกรงว่าจะถูกตัดขาดจากพระเยซูเจ้า เปโตรจึงทูลว่า “พระเจ้าข้า อย่าล้างเฉพาะเท้าเท่านั้น แต่ล้างทั้งมือและศีรษะด้วย” (ยน 13:9)
พระองค์ตรัสตอบว่า “ผู้ที่อาบน้ำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องล้างอะไรอีกนอกจากเท้า” (ยน 13:10)
ปกติ ชาวยิวนิยมอาบน้ำก่อนออกจากบ้านไปร่วมงานเลี้ยง เขาจึงไม่ต้องอาบน้ำที่บ้านของเจ้าภาพอีก สิ่งเดียวที่จำเป็นต้องทำคือ “พิธีล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน”
เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ผู้ที่อาบน้ำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องล้างอะไรอีกนอกจากเท้า” พระองค์ต้องการหมายความว่า “ท่านอาบน้ำเองที่บ้านก็ได้ แต่สิ่งที่ท่านต้องให้เราทำให้คือ ‘พิธีล้างเพื่อเข้าสู่พระศาสนจักร’ ถ้าท่านไม่ยอมให้เราล้าง ก็แสดงว่าท่านหยิ่งจองหองเกินกว่าจะยอมเข้าพระศาสนจักร โดยผ่านทางศีลล้างบาป”
ผู้ใดไม่ยอมรับศีลล้างบาปเพราะความหยิ่งจองหองของตนเอง ความหยิ่งจองหองนั้นจะทำให้เขาถูกตัดขาดจากสังคมของผู้มีความเชื่อโดยสิ้นเชิง !
นี่คือการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต !!!

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown