วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2024 ฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร อัครสาวก
- รายละเอียด
- หมวด: กุมภาพันธ์ 2024
- เขียนโดย กลุ่มไบเบิ้ลไดอารี
- ฮิต: 759
บทอ่านจากจดหมายนักบุญเปโตรอัครสาวก ฉบับที่หนึ่ง 1 ปต 5:1-4
พี่น้อง โดยเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นผู้อาวุโสคนหนึ่ง เป็นพยานถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า และมีส่วนจะรับพระสิริรุ่งโรจน์ที่จะปรากฏในอนาคตด้วย ข้าพเจ้าขอร้องบรรดาผู้อาวุโสในกลุ่มของท่านทั้งหลาย จงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ในความดูแลของท่าน จงดูแลด้วยความเต็มใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิใช่ดูแลด้วยความจำใจ จงดูแลด้วยความสมัครใจ มิใช่ดูแลเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง จงเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง เมื่อพระคริสตเจ้าพระผู้เลี้ยงสูงสุดจะทรงสำแดงพระองค์ ท่านจะได้รับสิริรุ่งโรจน์เป็นมงกุฎที่ไม่มีวันร่วงโรยเลย
บทอ่านจากพระวรสารนักบุญมัทธิว มธ 16:13-19
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเขตเมืองซีซารียาแห่งฟีลิปและตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” เขาทูลตอบว่า “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง”
พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมนบุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย เราบอกท่านว่า ท่านเป็นศิลา และบนศิลานี้เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
ข้อคิด
นักบุญโทมัส อะไควนัส ได้เปรียบเทียบว่า วิญญาณเป็นหลักแห่งความเป็นหนึ่งเดียวของร่างกายและให้ชีวิตแก่มันฉันใด อำนาจปกครองหรือพระมหากษัตริย์ก็เป็นหลักแห่งความเป็นหนึ่งเดียวของราชอาณาจักรและนำความผาสุกมาให้แก่มันฉันนั้น ทั้งยังกล่าวอีกว่า อำนาจปกครองเป็นประหนึ่งการสำแดงการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลก (ดู De Regno 1.13 (95)) จะเห็นว่า ทั้ง “อำนาจ” (authority) และ “ความดี” ซึ่งเป็นความสำเร็จสมบูรณ์ของสังคม แยกจากกันไม่ได้ พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจปกครองเหนือพระศาสนจักรทั้งหมดแก่นักบุญเปโตรและผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน ดังนั้น พระสันตะปาปาทุกพระองค์จึงเป็น “บ่อเกิด” และ “รากฐาน” แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักร ทั้งในด้านความเชื่อและในด้านชีวิตสนิทสัมพันธ์กัน