มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

โน้ตสำหรับการแปลในภาษาไทย

โน้ตสำหรับการแปลในภาษาไทย   

1.(1)นี่เป็นสูตรที่ใช้ในเอกสารพระสังคายนาทุกฉบับ ตลอดจนในเอกสารสำคัญอื่น ๆ  ของสมเด็จพระสันตะปาปา
-แทนคำ :  ทาสของพระเป็นเจ้า เราใช้ “เทวทาส” เพื่อความกระทัดรัด

(2)ธรรมนูญด้านการแพร่ธรรม  เราใช้แปลคำ ‘Constitutio Dogmatica’ คือธรรมนูญเกี่ยวกับพระธรรม หรือ “คำสอน”  นั่นเอง.

(3)อคาธัตถ์  (อ่าน อะคาทัด) เป็นคำที่ใช้ในหนังสืออธิบายคำสอน เป็นคำผูกขึ้นมาจาก อคาธ + อัตถ์ =  อคาธัตถ์  หมายถึงข้อความลึกซึ้งที่คนเราหยั่งไม่ถึง.  เราพิจารณาดูศัพท์ที่ใช้กันในสมัยหลัง ๆ นี้ว่า :  รหัสธรรม, รหัสยธรรม  ซึ่งแม้จะมีความหมายว่า ลี้ลับ,  ลึกซึ้ง แต่ก็ยังใช้ว่า เป็นสิ่งที่ลี้ลับสำหรับบางคน แต่ไม่ลี้ลับสำหรับอีกบางคน เช่น รหัสของตู้นิรภัย,  คนที่รู้รหัสแล้วมันไม่ลึกลับอีกต่อไป  จึงไม่อาจนำมาแปลศัพท์ ลาติน – กรีก Mysterium’ ‘Musterion ได้. เพราะศัพท์นี้ใช้ความหมายว่าเป็นอัตถ์ลึกซึ้ง  ซึ่งทีแรกเราไม่รู้ว่ามีอยู่ แต่ต่อมา เมื่อพระเป็นเจ้าโปรดไขแสดงแล้ว  เราก็ทราบว่ามีอยู่  แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร.

(4)ศักดิ์สิทธิการ  หมายความว่า “ผู้ทำความศักดิ์สิทธิ์”  เรานำศัพท์ใหม่นี้มาใช้แทนคำ “ศีลศักดิ์สิทธิ์”  ซึ่งเป็นคำใช้กันมาแต่โบราณ  เราจำใจต้องเปลี่ยน  เพราะมิฉะนั้นจะไม่มีใครเข้าใจความหมายของเอกสารในที่นี้  ที่ว่า  “พระศาสนจักรเป็นประหนึ่งศีลศักดิ์สิทธิ์”  ศีลศักดิ์สิทธิ์ =  บัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์, แต่ศัพท์ลาติน  Sacramantum หมายความถึงเครื่องหมายชี้แสดง  ทั้งเป็นเครื่องมือผลิตพระหรรษทาน. เราเห็นคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ที่คริสตังเราใช้มาแต่โบราณ หมายถึงความดีบริบูรณ์, ความครบครัน  จึงคิดว่าหากจะเปลี่ยนจากศีลศักดิ์สิทธิ์มาเป็นศักดิ์สิทธิการ คงจะยอมรับกันได้ง่ายขึ้น  ฉะนั้นในเอกสารฉบับนี้เราใช้คำศักดิ์สิทธิการ แทนคำศีลศักดิ์สิทธิ์ตลอดทั้งเล่ม.  แต่ขอพูดความจริงอย่างเปิดอก เราเองก็ไม่สู้ชอบคำ  “ศักดิ์สิทธิ์”  ในความหมายดังกล่าว  เพราะทั่ว ๆ ไป  ใคร ๆ ก็ใช้คำ “ศักดิ์สิทธิ์” ในความหมายว่า  “ขลัง”  หรือที่ทำให้เกิดอัศจรรย์มาก ๆ ตรงกับคำฝรั่งลาตินว่า  Miraculosum ที่สุด หากจะแยกแยะคำ “ศักดิ์สิทธิ์” นี้  ไปจนถึงธาตุของศัพท์ก็เห็นว่า  ประกอบขึ้นด้วยคำ  2 คำ คือ  - ศักดิ  ส.  แปลว่า  อำนาจ และคำว่า สิทธิ  ที่เรานำมาใช้ว่า  : มีอำนาจที่จะทำ จะใช้โดยไม่ผิดความยุติธรรม.  คำที่เหมาะกว่าและควรนำมาใช้แทนคำ  Sacramentum เราเห็นว่าควรเป็นคำ  “วิสุทธิการ”  เป็นอย่างยิ่ง.

(5)นักบุญปิตาจารย์ (ปิตุ – อาจารย์) คำนี้เราใช้เรียกนักบุญอาจารย์พระศาสนาในสมัยโบราณ ซึ่งภาษาลาตินเรียกว่า  Sancti Patres.  ส่วน  “พระบิดร” เราใช้เรียกองค์สมาชิกในสภาพระสังคายนา, ลาตินเรียกว่า  Patres  โดด ๆ
3.(6)ราชัย =  Regnum  เป็นธาตุเดียวกันในภาษาอินเดีย – ยุโรป ทั้งเป็นคำบันทึกอยู่ในพจนานุกรมของทางการด้วย เรายอมรับว่าธาตุของคำนี้ในภาษาสันสกฤตไม่น่าจะออกมาในรูปราชัยเพราะ  ส.  เป็น  ราช.ย,  มันก็เช่นเดียวกับ มาล.ย  ภาษาไทยเรามาเป็นมาลัย.  อนึ่งคำ “ราชัย”  นี้ คริสตังเราก็ใช้มาจนติดปากแล้ว  : ตรงกับภาษายุโรป, สั้นและกระทัดรัดดี ทำไมจะต้องมาเปลี่ยนเป็น  “อาณาจักร”  ซึ่งส่งกลิ่นเป็นภาษาทางโลกมากกว่าภาษาทางศาสนา.

(7)สวามี =  Dominus.  เรามาถึงคำที่ถกเถียงกัน และเป็นที่รังเกียจของหลาย ๆ ท่าน.  ขออนุญาตพูดถึงเรื่องนี้ให้กว้างขวางสักหน่อย. ครั้งแรกราว  60  กว่าปีมาแล้ว  ข้าพเจ้าได้พบคำนี้ในบทภาวนาก่อนรับศีลมหาสนิทว่า :  “ข้าแต่พระสวามีเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมไม่ควรที่จะรับพระองค์เสด็จเข้ามาในดวงใจของข้าพเจ้า  แต่โปรดตรัสแต่พระวาจาเดียว และวิญญาโณจิตต์ของข้าพเจ้าก็จะสะอาดบริสุทธิ์ไป”  ข้าพเจ้าเคยรู้สึกสะดุดใจและเคยพูดกับ  ฯพณฯ อ่อน   ประคองจิตต์ ท่านและข้าพเจ้าต่างก็เห็นพ้องกัน นึกชมคนที่นำคำนี้มาใช้ (ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร.) ครั้งเปิดปทานุกรมก็พบว่า  : สวามิ, สวามี  ส.น.เจ้า, ผู้เป็นใหญ่, นาย, ผัว, เจ้าของหญิงใช้สวามินี. เมื่อเปิดดู  Pali  English Dictionary ของ  T.W.  Rhys  Davids  ซึ่งถือกันว่าเป็น Dictionary ที่ดีที่สุดของสมัยนี้ก็พบว่า :  Samin  (cp.  Sk. Savamin, Sva  = Sa 4 ) 1. Owner, Ruler, Lord,  Master  ธาตุ  สวาสา,  ตรงกับธาตุ  ลาติน Sui, Suus ซึ่งการแสดงการเป็นเจ้าของ. ภาษาไทยเราจึงมีคำ  สามิภักดิ์  = ความรักต่อเจ้านาย  สรรพสามิต แปลว่าอะไรหากไม่แปลว่า หลวงเป็นเจ้าของสรรพสิ่ง. ต่อภายหลังเมื่อมีเจ้านายต่างประเทศมาเยี่ยมประเทศไทย  นักหนังสือพิมพ์จึงแทนจะใช้คำ  สามี  ก็ใช้คำ สวามี  (แบบสันสกฤต)  เฉพาะอย่างยิ่งแทน Prince Cinsort. แม้  บ.ส.  จะใช้ในใจความนี้ด้วย  ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะคำพระสวามีนี้ เราใช้แทนพระเยซูเจ้าเป็นต้น แทนพระบิดาก็มีบ้าง.  พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระสามี (สวามี)  ทางวิญญาณของเราอยู่แล้ว. - -  โปรดอย่าแปลกใจที่คำในภาษาต่าง ๆ ค่อย ๆ เลือนไป  มีความหมายต่างออกไป  ชาวอินเดียเขาถือว่าสามีเป็นนายของภรรยา. ภาษายุโรป  กลุ่มภาษาโรมาน  ใช้ศัพท์แทน Dominus  ว่า ;  Seigneur, Signor Senor  ซึ่งมาจากภาษาลาติน  Senior  แปลว่า  “ผู้มีอายุสูงกว่า” (กระทั่งคำ Sir, Sire ก็มาจากคำลาตินนี้.)  คำอังกฤษใช้คำว่า  Lord  ท่านทราบไหมว่า คำนี้มาจากไหน. Skeat  ใน  Concise Etymological Dictionar  of  the English  Language

       เขียนว่า  : Lord,  a master (E.) ‘Lit Loaf – keeper’.  ขอยกตัวอย่างขำ ๆ เรื่องหนึ่ง. พระสันตะปาปา  ปีโอที่ 12 คราวเมื่อทรงตำแหน่งเป็น  พระเอกอัครสมณทูตที่กรุงเบอร์ลิน ขณะจะต้องจากหน้าที่  เพราะคุ้นเคยกับทูตฝรั่งเศสจึงได้ไปอำลา เมื่อได้สนทนาวิสาสะกันพอสมควรแล้ว  ท่านก็ลากลับ  ผ่านลูกชายของท่านทูตที่มีอายุ 4-5  ขวบ เด็กคนนั้นก็พูดกับท่านว่า  ‘Au revoir mon  Vieux’  ท่านทูตกับภรรยาหน้าซีดยืนตัวแข็ง  แต่ค่อยอุ่นใจขึ้น  เมื่อพระสมณทูตทำเฉย   เดินไปขึ้นรถ.     ท่านอยากทราบไหม เด็กลูกทูตนั้นพูดว่าอะไร ? พูดว่า “ลาก่อนอ้ายแก่” =  อ้ายเพื่อนยาก ซึ่งเป็นภาษาทหาร.  ท่านจึงเห็นแล้วในภาษาฝรั่งเศส จาก  ล.  Senior  มาเป็น  Seigneur,  Monsieur, Sire และวกกลับอีกที มาเป็น Vieux  ทำไมภาษาไทยของเรา จะมีภาษาทางศาสนา เหมือนภาษาอื่นเขาบ้างไม่ได้ ?

(8)สดุดีบูชา =  Eucharistia คำลาติน – กรีกคำนี้  ในหนังสือคำอธิบายคำสอนใช้ว่า  “สุหรรษทาน” ซึ่งมีความหมายว่าพระหรรษทานอันดี, อันประเสริฐ. แต่ศัพท์ลาติน – กรีกนั้น เขาใช้ความหมายถึง  การขอบคุณ ข้าพเจ้าจึงค้น  Dictionary  Pali – English  ของ A.P.Buddhatta  Mahathera ก็พบคำบาลีที่ถูกใจคือคำ  ถูติปูชา  แปลว่า  “การถวายคำชมเชย,  คำขอบคุณ” แต่คำนี้ไม่คุ้นหูคนไทย บ.ถูติ – ส.สตุติ ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนให้พอฟังได้ในภาษาไทย  = สดุดีบูชา.

สังเกต :  ขอให้คงรักษาลำดับสดุดีบูชาไว้เสมอ อย่าเปลี่ยนเป็นสดุดีบูชา ทั้งนี้เพราะว่าสดุดีบูชานี้อาจเป็นบูชาถึง  4 อย่าง  คือ บูชาสรรเสริญ,  บูชาวอนขอพระคุณ,  บูชาขอบพระคุณ และ  บูชาขอขมาโทษ

 

 4.(9)พระฐานานุกรม  = Hierarchia (= หัวหน้าศักดิ์สิทธิ์) คือลำดับหลั่นชั้น  ของผู้ปกครองพระศาสนจักร ซึ่งลำดับแต่เล็กไปหาใหญ่ มีดังนี้ 1. สังฆานุกร  (Diaconus)  2.  พระสงฆ์ (Presbyter)  3.  พระสังฆราช  (Episcopus)

(10)พิเศษพร  (อ่าน พิ - เส - สะ – พร) โปรดรักษาลำดับคำ (อย่าเป็นเป็นพรพิเศษ)  คือพระคุณพิเศษ  เรานำมาใช้แทนคำกรีก  : Charisma,  ศัพท์เฉพาะ.

6.(11)ประภาษก  = Propheta ข้าพเจ้าอยากให้ใช้ประภาษก  ทั้งนี้เป็นเพราะทั้งภาษาลาติน ทั้งภาษากรีก ทั้งภาษาไทย  ละม้ายคล้ายกัน  ทั้งทางธาตุ ทั้งทางอุปสรรค.  ส่วนคำ  ประกาศก นั้น ขอสงวนไว้ใช้แทน  Missionary – ผู้ไปเผยแพร่พระศาสนจักรในต่างประเทศ. คำ ธรรมทูต  น่าจะเก็บไว้ใช้แทนพระสงฆ์ที่ไปเทศนาสั่งสอนในต่างถิ่น  ที่อยู่ในประเทศของตนเอง.  ดังนี้จึงเห็นว่า  ภาษาไทยของเรามีคำมากพอสมควร ไม่แพ้ภาษาอื่น.
(12)พระอัยกา (อ่าน  ไอ – ยะ – กา) =  Patriarcha  หัวหน้าของเผ่า  ทีแรกหมายถึงบรรพบุรุษของชนชาติอิสราเอล,  ทางพระศาสนจักรของเรายังหมายถึงพระสังฆราชผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าแคว้น จนกระทั่งเป็นประมุขของพระศานจักร  จารีตใดจารีตหนึ่ง เช่นเราพูดว่า  พระอัยกาแห่งคอนสตันติโนเปิ้ล
(13)นักบุญปิตาจารย์  ดูเลข (5)  ในข้อ 2

(14)เจ้าสาว  ข้าพเจ้าเห็นว่าง่ายดี ใช้แทนคำ Sponsa =  หญิงสาวที่หมั้นแล้ว.  ยังมีคำอื่นที่เหมาะกว่า เช่น “วนิดา,  พนิดา”  ซึ่งพจนานุกรมให้คำจำกัดความว่า  : นาง, หญิงที่รัก,  หญิงที่สู่ขอแล้ว. ยังมีอีกคำหนึ่งคือ “วธู,  พธู”  ม.ส.น. หญิงสาวเจ้าสาว,  เมีย, ซึ่งตางกับคำ Sponsa  เป็นอย่างยิ่ง.  เท่าที่กล่าวมา  จะเห็นว่า ภาษาไทยของเรา  มีคำใช้มากมายเพียงแต่เป็นหน้าที่ของเราที่จะเลือกเฟ้น และกำหนดเจาะจงกับภาษายุโรป เราก็จะได้คำที่เหมาะสม
7.(15)อคาธกาย = Corpus Mysticum  หมายความถึงร่างกายอันลึกล้ำ บางทีเรียกว่าร่างกายทิพย์
อคาธ ดูเลข  (3)

(16)สัตว์โลก =  Creatura  – สิ่งที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างขึ้น.  สิ่งสร้าง ก็เรียก.
(17)พิเศษพร  = Charisma คือพรหรือทานอันพิเศษ (ผิดปกติ)  เช่น  การทำให้คนไข้หายโรคในทันทีทันใด,  การปลุกผู้ตายให้คืนชีพ  (โปรดดูเลข (10) ด้วย)

8.(18)พระวจนาตถ์ (จาก วจน + อัตถ์) ใช้แทนคำลาติน  Verbum  หรือศัพท์รากกรีก  Logos.  ศัพท์วจนาตถ์  บางท่านเขียน วจนารถ แต่ศัพท์ นารถ หาไม่พบ  มีแต่ นารท ซึ่งอ่านนาระทะ หรือนารด.  หากจะเขียน  วจนาถ ข้าพเจ้าเห็นว่าพอทำได้  เพราะเท่ากับ  วจน + นาถ โดยตัดตัว  น.  ออกเสียตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ผิดหลักของภาษาบาลี – สันสกฤต  และไทย  และถ้าเขียน วจนาถ  ก็ต้องแปลว่า : วาจาเป็นที่พึ่ง

(19)สหพันธ์ = Communio เราใช้กันในบทข้าพเจ้าเชื่อถึงสหพันธ์นักบุญ = Communio Sanctorum
9.(20)เมสไซอะห์  = Messias, ศัพท์มาจากภาษาฮีบรู, ลาติน  : Unctus,  กรีก  Christos  คือพระคริสตเจ้าของเรานั่นเอง

10.(21)พระสงฆ์ :  ไม่ใช่เราไม่รู้ว่าศัพท์สงฆ์มาจากธาตุ  ส ซึ่งแปลว่า คณะ, หมู่, ประชุม แต่เราคริสตังนำศัพท์นี้มาใช้นานกาเล  จนกลายเป็นภาษาของเราแล้ว  ทั้งนี้แทนศัพท์ลาติน  Sacerdos  ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ Sacrificator แปลว่า ผู้ทำสิ่งศักดิ์สิทธิ์, ผู้ทำบูชา  ตำแหน่งหน้าที่ของ Sacerdos หรือความเป็น Sacerdos ลาตินว่า Sacerdotium  เราใช้ว่า สังฆภาพ

11.(22)ศักดิ์สิทธิการแห่งพละกำลัง  = Confirmatio  ซึ่งเคยใช้กันว่า  ศีลกำลัง

(23)ศักดิ์สิทธิการ – อภัยบาป คือ  “ศีลแก้บาป” พูดตรง ๆ ข้าพเจ้าไม่ชอบคำพูดว่า  “อภัยบาป” เพราะดูเหมือนมันบ่งว่า : ไม่ได้ยกบาปออกไป  เพียงแต่โทษ หรืออภัยของเรานั้นยกให้  ความคิดเช่นนี้ผิดต่อความเชื่อของเราคริสตัง

(24)ศักดิ์สิทธิการ – เจิมคนไข้ =  Ultima  Unctio

(25)ศักดิ์สิทธิการ – อนุกรม  = Ordo

(26)ศักดิ์สิทธิการ – สมรส  = Matrimonium  คำ  “สมรส”  อีกคำข้าพเจ้าไม่ชอบ เพราะรู้สึกมันมีกลิ่นชอบกล สำหรับเรียกศักดิ์สิทธิการของเรา

12.(27)ทิศทางแห่งความเชื่อ =  Sensus  Fidei แม้คำนี้ไม่มีอยู่ในเลข 12 แต่เนื้อความเป็นเช่นนั้น และเราจะพบคำนี้ในเลขอื่น ๆ ข้าพเจ้าจึงให้คำนี้เสียเลย ที่จริงกว่าจะพบคำนี้ ข้าพเจ้าต้องคิดกลับไปกลับมาหลายตลบ

(28)อาจาริยานุภาพ  = Magisterium  หมายถึง อำนาจทางการสั่งสอนของพระศาสนจักร คำ “อาจาริยานุภาพ”  ผูกขึ้นด้วย  อาจารย์ + อานุภาพ,  อานุภาพเป็นคำบาลี ข้าพเจ้าก็อยากจะผูกพันกับคำอาจาริย บ. ให้เหมือน ๆ กัน แต่เพื่อให้คนไทยอ่านง่าย จึงเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อยเป็น อาจาริยานุภาพ

13.(29)ความเป็นประมุขเอก =  Primatus  หรือ  ถ้าชอบศัพท์ทางวิชาการ หรือ ทางเทคนิคจะใช้ ปฐมภาวะ  ก็ได้

(30)อาสนะของท่านเปโตร  = Cathedra Petri

14.(31)พระกิตติ  (บ. กิตติ ส. กีรติ)  เป็นคำที่ใช้ในหนังสืออธิบายคำสอน. ศัพท์  บ. กิตติ  เราเคยใช้ กิตติศัพท์ แปลว่า  คำเล่าลือต่อ ๆ กันมา. ศัพท์  กีรติ เราเคยใช้เรียกชื่อเรื่อง รามายณะ  เป็นภาษาไทยว่า  รามเกียรติ์ ถ้าจะแปลเป็นไทยก็ว่า  เกียรติประวัติของพระราม.  ขอยอมรับว่ามันไม่สู้จะตรงนักกับคำ Tradition  ซึ่งหมายถึงคำพูด  และขนบประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ฉะนั้น ถ้าท่านชอบคำของ  ท่านพุทธทัตตะ ชาวศรีลังกา  ผู้ที่ข้าพเจ้าได้ออกนามมาแล้ว …., Traditional Teaching ท่านแปลเป็นบาลีว่า : Vacanamagga (วาจนามัคค์)

(32)โครงสร้าง  ใช้แทนศัพท์ลาติน  Compago ซึ่งหมายความถึง  การนำเอาหลาย ๆ สิ่งมารวมประกอบกันเข้าให้เป็นหนึ่งหน่วย.

(33)คริสตชนสำรอง หรือ คริสตังสำรอง =  Catechumeni

15.(34)หมู่  = Communitas,  Community หมู่ เป็นคำไทยที่ชรามาก แต่ในภาคอีสานยังใช้กันอยู่ทั่วไป ข้าพเจ้าเห็นว่าคำ “หมู่” โดด ๆ เหมาะที่สุดจะใช้แทน  Communitas  โดยไม่จำเป็นต้องเสริมคำ “หมู่เหล่า,  หมู่คณะ” ให้รุ่มร่าม.

16.(35)มิสซัง  = Missio =  เขตหรือพนักงานแพร่ธรรม  เป็นคำที่ใช้กันมาแต่โบราณ.

18.(36)ศาสนบริการ  = Ministerium
ศาสนบริกร  = Minister

20.(37)สังฆานุกร เป็นคำที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่

อนุกร  = ผู้ทำทีหลัง, ผู้ช่วย  รวมความสังฆานุกร  คือ ผู้ช่วยพระสงฆ์ =  Diaconus

21.(38)Episcopatus =  ตำแหน่งพระสังฆราช,  เมื่อ Episcopus  เราใช้คำพระสังฆราช  ตำแหน่งของท่านเราจึงว่า สังฆราชภาพ

(38 ทวิ) ผู้มีศรัทธา =  ผู้มีความเชื่อ  หลาย ๆ ท่านคงรู้สึกฉงนว่า ทำไมข้าพเจ้าอ้างเช่นนี้  เป็นความจริงว่า ผู้มีศรัทธา  ภาษาไทย - Credens ภาษาลาติน. และคนไทยก็ใช้คำนี้ในใจความเดียวกัน เช่น เรื่องนี้ฉันไม่เห็นศรัทธา  = ฉันไม่เชื่อ. โปรดดู Dictionnaire Etymlogue  Latin Michel Breal  et  Angatole  Bailly  ตรงกับคำ  Credo.  เขาพยายามค้นหาธาตุของ Credo ที่สุดเขามาพบว่าเป็นคำ ๆ เดียวกันกับคำภาษาสันสกฤตว่า Craddhami (= ศรัทธามิ) เขาบอกว่าน่าแปลกใจเหลือเกิน  ที่คำสันสกฤต  2 คำ ผูกรวมกันแล้วมาตกอยู่ในภาษายุโรป คือคำ  Crad + DO =  ศรัท + ธามิ ซึ่งตามธาตุแปลว่า  ฉันวาง  (=  มอบ)  ดวงใจให้แก่ … ขอผ่านไปไม่แยกคำละคำ,  อักษรละอักษร  เพราะจะยืดยาวไป และ  อาจยุ่งยากสำหรับบางท่านได้  ถ้าท่านอยากทราบว่าทำไมตัว “ศ”  ของเราจึงกลายเป็น  ‘C’ ลาตินได้ ขอโปรดค้นดู  Dictionnary เล่มชั้นนำที่คำ  Satem และ  Kentum  ท่านก็อาจจะเข้าใจได้ง่าย.

(39)พระสมณะสูงสุด  คือพระสันตะปาปา ลาตินว่า Summus Pontifex หรือ Pontifex Maximus  ศัพท์ลาติน  Pontifex  = ผู้สร้างสะพาน, เข้าใจว่า  สมณะผู้ใหญ่ในโบราณกาล เคยมีอาชีพเป็นผู้สร้างสะพาน.
(40)กลุ่มชุมนุม  = Congregatio
หมู่ชมรม =  Communitas  ดู  (34)  ด้วย
คณะ  = Collegium  ดู  (80)  ด้วย

(41)ประสาท – ให้,  ยินดีให้, ข้าพเจ้านำคำ “ประสาท” มาใช้แทนคำ ‘Conferre’ ซึ่งคริสตังเราแต่โบราณมา ใช้คำว่า  “โปรด”  เช่น  “โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ โปรดพระคุณ,”

(42)คณะ  Colleglum ดู (80) ด้วย

22.(43)ทำเนียบ (แผลงจากเทียบ) -  แบบแผนที่จัดขึ้นเป็นระเบียบ.  ตรงนี้เทียบเท่า ‘Corpus’ “โครงร่าง”
(44)ปฐมภาวะ  แปลคำ Primatus ดู (29) ด้วย

(45)เอกสิทธิ์  = Praerogativa
23.(46)อำนาจอาชญาสิทธิ์  = Juridictio
หมายเหตุ :  คำภาษากฎหมาย  ในหนังสือเล่มนี้มีมากข้าพเจ้าแปลอย่าง "ขอไปที" ควรที่ผู้รู้กฎหมายไทย  จะนำคำไทยมาเทียบและกำหนดเจาะจงลงไป  ให้ใช้คำนั้น ๆ ตรงกับคำนั้น ๆ
(47)สภาพระสังฆราช  : ในเอกสารลาตินฉบับนี้ ใช้คำว่า Coetus Episcopalis  แต่ชาวยุโรปทั่ว ๆ ไป  ใช้อีกศัพท์หนึ่งว่า  Conferentia Episcopalis
25.(48)วิวรณ์  (ปทานุกรมหน้า 684) : การเปิด การเผยแพร่,  การชี้, การแสดง, การไขความ. เป็นคำที่พระคริสตธรรมปรอเตสตันต์ นำมาใช้แต่โบราณแทนคำกรีก Apokalypsis  คำนี้ตรงกันทีเดียวกับศัพท์ลาติน Revelatio  Velare  จาก Velum  จึงแปลว่า เอาผ้ามาคลุม – ปิด.  อุปสรรค re – ตรงกับอุปสรรคบาลี – สันสกฤต :วิ,  นิส,  อา. ความหมายก็อย่างเดียวกัน  คือ บ่งความตรงข้าม ฉะนั้น Revelare จึงแปลว่า  เอาผ้าคลุมออก,  เปิด คำวิวรณ์ก็เช่นกัน  มาจากธาตุ ส. วฤ 1 – ปิด,  ปัดป้อง (สังเกต  วฤ 2 - คัดเลือก ซึ่งภาษาไทยใช้มาก  เช่น  วร  (สระขั้นคูณ), พระ, บวร  (=  ปวร). เมื่อวรณ – การปกปิดใส่อุปสรรค  เป็นวิวรณ์  จึงเป็นการเปิด, การไขแสดง. คำที่ตรงกันอย่างพอดิบพอดีอย่างนี้ช่างหาได้ยากจริง ๆ.
(49)พระคลังของฝาก  = Depositum.
(50)Corpus =  กาย,  ร่างกาย น่าจะใช้ องค์กร – ผู้กระทำเรือนร่าง.
26.(51)อัครสาวกมัย =  Apostolicus มีความเป็นของอัครสาวก, สืบมาจากอัครสาวก.
(52)ราชสังฆภาพ =  Regale  Sacerdotium
(53)ศักดิ์สิทธิการพละกำลัง =  ศีลกำลัง
27. (54)ประมุข หัวหน้า  : Antistes,  Antistites  : ตามธาตุศัพท์ =  ผู้ยืนอยู่ข้างหน้า, ผู้อยู่หัว,  หมายถึงหัวหน้านั่นเอง.
28.(55)สังฆานุกร =  Diaconus
(56)สมณภาพ =  Pontificatus  ตำแหน่งพระสังฆราช
(56 ทวิ) Hendiadys ในหนังสือเอกสารนี้ และโดยทั่วไปในหนังสือวรรณคดียุโรป  อย่างน้อยกลุ่มภาษาลาติน – กรีก  เขามีทำนองพูด (Figure) อย่างหนึ่งที่เรียกภาษากรีกว่า  ‘Hendia Dyoin’ แปลคำละคำก็ว่า “หนึ่งในสอง” คือเขาใช้คำนาม 2  คำผูกด้วยสันธาน และแทนที่จะใช้คำนามคำเดียวกันผูกคำขยาย,  เขาทำเช่นนี้เพื่อว่าเน้นความเช่นตรงนี้  เขาว่า  : ด้วยชีวิตและด้วยความจริง,  แทนที่จะเขียน “ด้วยชีวิตอันจริงจัง”  ในเอกสารนี้พบหลายแห่งและจะพบต่อไปอีก  จึงขอให้ผู้อ่านสังเกตไว้.
(57)สังฆานุภาพ =  Diaconatus  = ภาวะของการเป็นสังฆานุกร
30.(58)ฆราวาส  (บ. ฆร + อาวาส) ตามศัพท์แปลว่า : ที่อยู่, เรือน  แต่ตามความเข้าใจของคนไทย  หมายความว่า ถึง : ผู้ครองเรือน, หรือ ผู้มีเหย้าเรือน เป็นคำตรงกันข้ากับอาวาสิก – พระ,  เราใช้คำฆราวาสนี้ แทนศัพท์ลาติน Laicus, กรีก (Laikos) แปลว่า ของหรือสิ่งที่เกี่ยวกับพลเรือน ตรงข้ามกับศัพท์ Clericus = ของสงฆ์, ของพระ.
(59)นักบวช เราใช้คำนี้  หมายถึงผู้ใฝ่ใจถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า  = Religiosi, บางครั้งยังใช้คำ “นักบวช” ยังใช้หมายถึงผู้ได้รับศักดิ์สิทธิการ – อนุกรมขั้นต่ำ (อนุกรมน้อย) ด้วย =  Clerici
(60)ผู้ครองสมณเพส  หมายถึง ผู้เกี่ยวข้องกับการที่เป็นพระ (= พระสงฆ์). สมณเพส = Clerus (ผู้ครองสมณเพส =  Clericus)
(61)ศาสนบริกร  ใช้แทนศัพท์ Pastor,  Pastores, โดยมากข้าพเจ้าใช้ว่า ชุมพาบาล
33.(62)การแพร่ธรรม =  Apostolatus
34.(63)วิสาสะ  (บ. วิสสาส, ส. วิศวาส) – ความคุ้นเคย,  ความสนิทสนม,  ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะจะแปลลาติน  Conversatio.
35.(64)Sensus  Fidei ดูเลข  (27)
36.(65)อิสรเสรี  (=  อิสสร + เสรี) อิสสร. บ., ส. อิศวร =  ความเป็นเจ้าเป็นนาย ไทย : ความเป็นไทแก่ตัวเอง. ส่วนเสรี  บ.  (ส. ไสวริน  จาก สว + อีร์) ตามศัพท์แปลว่า ไปไหนได้ตามอำเภอใจ,  เอาแต่ใจ  ข้าพเจ้าเห็นว่าพอและเกินเลยสำหรับแปลคำลาติน Libertas
37.(66)เจ้าหน้าที่ศาสนบริการ =  Sacri Pastores
42. (67)Martyrium  ภาวะการเป็นมรษสักขี,  ท่านชอบมรณสักขี,  ภาวะไหม ?
สังเกต :  คำ  Martyr, ศัพท์ลาติน – กรีกแปลว่า  พยานจากธาตุ Smr. สมฤ, Lit  ตามอักษรแปลว่าผู้ระลึกถึง,  ผู้ทำให้ระลึกถึง,  ผู้ประกาศชี้แจง. – คำธาตุนี้ภาษาไทยของเราก็มี คือ  สมร (Smara)  ซึ่งแปลว่า  คนที่เราคิดถึง, เลยกลายเป็นสาวงาม,  สาวรัก, - ระวังอย่าไปปนคำ  สมร Sa – mara  กับคำสมรภูมิ  (Samara – Fhumi)  คำนี้มาจากธาตุ  Mr, มฤ,  แปลว่าตาย.  ฉะนั้น  สมรภูมิจึงแปลว่า  สถานที่ตายร่วมกัน. – แต่ไหนแต่ไรมาเราเคยใช้ทับศัพท์ มาร์ตีร์ อยู่เสมอ,  ต่อมาผู้ที่ไม่ชอบ ประดิษฐ์คำขึ้นใหม่ว่า  มรณสักขี  (มรณ – ความตาย  ตามธาตุ มฤ ที่กล่าวข้างบน กับคำ  สักขี – พยาน. ภาษา บ. (ส. สากษิณ)  ผู้ประดิษฐ์คงอยากจะให้เข้าใจว่า :  มรณสักขี  = เป็นพยานจนกระทั่งยอมตาย  แต่ตามรูปศัพท์ของภาษา ใคร ๆ ก็แปลว่าพยานของความตาย จึงมีผู้เปลี่ยนใหม่อีกว่า  มาระตี, อ่านง่ายเสียงคล้ายคำ มาร์ตีร์ แต่เขียนอย่างนี้ผู้รู้ก็ต้องแปลว่า “ผู้ตายแล้ว” - ระหว่างที่ยังไม่มีคำใหม่,  ข้าพเจ้าก็ขอเขียน มรณสักขีไปก่อน.
43.(68)Religiosi =  นักบวช  ดูเลข (59)
45.(69)อภิสิทธิ์อันดับหนึ่ง  หรือ  ปฐมภาวะ =  Primatus  ดูเลข (44)
(70)สมณะผู้ปกครองท้องถิ่น  = Ordinarius Loci
50.(71)มรณสักขี  = Martyr ดูเลข  (67)
53.(72)พระเทวบุตร  = ลูกของพระเป็นเจ้า
54.(73)การทรงรับเป็นมนุษย์ หรือ ทรงรับเอาเนื้อหนัง เป็นการแปลคำ Incarnatio ตรง ๆ
55.(74)พระกิตติ  = Traditio ดูเลข  (31)
(75)Revelatio  พระวิวรณ์ หรือ การไขแสดง  ดูเลข (48)
56.(76)Annuntiatio เทวทูตแจ้งสาสน์, การรับสาส์นจากเทวทูต.
(77)Incarnatio การมารับเอาเนื้อหนัง,  การมาเป็นมนุษย์
(78)Collegialitas  หมายความว่า การเป็นคณะของบรรดาพระสังฆราชทั้งหลาย –  เราใช้ศัพท์สั้น ๆ ว่า คณะ  ดูเลข  (42)  และ (80) ด้วย
(79)Revelatio  พระวิวรณ์ ดูเลข  (48)
(80)Collegium  ความเป็นคณะของบรรดาพระสังฆราชทั้งหลาย เราใช้คำแทนสั้น ๆ ว่า  คณะ
สังเกต ข้าพเจ้าเคยได้ยินแก่วัดกุฎีจีน   เรียกสามเณราลัยว่า “กุเหล่” ข้าพเจ้าคิดว่าคำ กุเหล่  หมายถึง “Collegium”  นี่เอง

แถลงการณ์
(81)Liceitas สามีจิภาวะ -  การมีสิทธิ์ทำได้  โดยไม่มีความผิด
(82)Validitas  อโมฆภาวะ  คือ ความเป็นไปโดยไม่เป็นโมฆะ

หมายเหตุ :  เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ  2 คำหลังนี้  เป็นคำกฎหมายอย่างเอกอุ  ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาจะบังคับใครให้ใช้ ควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ  (ที่จะตั้งขึ้น) อนึ่งหากมีคำใช้ในกฎหมายไทย ที่เหมาะสม ก็ควรใช้คำในกฎหมายไทยของเรา.

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown