มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

สารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เนื่องในโอกาสวันคนยากจนสากล

 

สารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เนื่องในโอกาสวันคนยากจนสากล ปี ค.ศ. 2023

 

1. วันคนยากจนสากล ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 7 เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระเมตตาจากพระเจ้าพระบิดาที่ได้ทำให้เกิดผลอันอุดม และยังเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนให้ประชาคมต่าง ๆ ของเราทั้งหลายได้มีชีวิตชีวา เมื่อการระลึกถึงวันคนยากจนสากลนี้ได้หยั่งรากมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ ภายในชีวิตการอภิบาลของพระศาสนจักร ก็จะทำให้เราทั้งหลายสามารถค้นพบอีกครั้งถึงหัวใจของพระวรสาร ลำพังความพยายามของเราทั้งหลายในแต่ละวันเพื่อต้อนรับคนจนนั้นยังไม่เพียงพอ กระแสน้ำยิ่งใหญ่แห่งความยากจนกำลังไหลหลากผ่านเมืองต่าง ๆ ของเรา

และเอ่อท่วมมากขึ้นจนแทบจะล้นตลิ่ง เราทั้งหลายอาจรู้สึกว่า ความขาดแคลนของบรรดาพี่น้องของเราที่ร้องหาความช่วยเหลือ การสนับสนุน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีมากมายเกินกว่าที่เราจะรับไหว

ด้วยเหตุนี้ ในวันนี้ซึ่งเป็นวันอาทิตย์สุดท้ายก่อนถึงการสมโภชพระเยซูคริสตเจ้า ราชาแห่งสากลจักรวาล เราจึงมารวมตัวกันรอบโต๊ะอาหารของพระองค์ เพื่อที่จะเราจะได้รับของขวัญและพละกำลังกันอีกครั้ง สำหรับการที่เราจะมีชีวิตอย่างยากจน และสำหรับการที่เราจะรับใช้คนยากจน

“อย่าเบือนหน้าจากใครก็ตามที่เป็นคนยากจน” (ทบต. 4,7) คำพูดนี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงสาระสำคัญแห่งการเป็นพยานของเราทั้งหลาย หากเราไตร่ตรองพิจารณาหนังสือโทบิต ซึ่งเป็นหนังสือหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในพันธสัญญาเดิม แต่มีเสน่ห์น่ารักและเปี่ยมไปด้วยปรีชาญาณ ก็จะช่วยให้เรารู้ถึงคุณค่าของข้อความที่ผู้รจนาพระคัมภีร์ต้องการสื่อ เราเห็นว่าตนเองได้มาอยู่ต่อหน้าเหตุการณ์อันนี้ซึ่งเป็นชีวิตครอบครัว โทบิตผู้เป็นบิดา กำลังสวมกอดโทบิยาห์ผู้เป็นบุตรชายซึ่งกำลังจะออกเดินทางไกล บิดาผู้สูงวัยกลัวว่าตนเองจะไม่ได้เห็นลูกอีก

จึงได้มอบ “พินัยกรรมฝ่ายจิต” ให้แก่โทบียาห์ โทบิตเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนมาที่นครนีนะเวห์ และตอนนี้ตาบอดมองไม่เห็น จึงเรียกได้ว่าเขาเป็นคนยากจนที่ตกทุกข์ได้ยากถึงสองชั้น แต่ในขณะเดียวกันเขายังคงมั่นใจในสิ่งหนึ่งซึ่งแสดงออกผ่านทางชื่อของเขาว่า “พระเจ้าเป็นสมบัติของข้าพเจ้า” ในฐานะที่โทบิตเป็นผู้ที่ยำเกรงพระเจ้าและเป็นบิดาที่ดี นอกจากเขาจะต้องการให้ลูกของตนได้รับตกทอดทรัพย์สมบัติในทางวัตถุแล้ว เขายังอยากให้ลูกได้รับคำพูดที่เป็นพยานถึงหนทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต เขาจึงบอกกับลูกว่า ลูกเอ๋ย จงระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกวันตลอดชีวิตของลูก อย่าจงใจทำบาปหรือละเมิดบทบัญญัติของพระองค์เลย จงทำความดีทุกวันตลอดชีวิต อย่าดำเนินตามหนทางที่ไม่ถูกต้อง” (ทบต. 4,5)

 

2. เราทั้งหลายต่างเห็นได้ในทันทีว่า สิ่งที่โทบิตผู้แก่ชราร้องขอต่อลูกชายของเขา ไม่ได้มีเพียงการให้เขาคิดถึงพระเจ้าและร้องหาพระองค์ในการอธิษฐานภาวนาเท่านั้น แต่เขายังพูดถึงการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการกระทำกิจการดี และการทำตนอย่างชอบธรรม เขาได้พูดต่อไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นอีกว่า “จงแบ่งทรัพย์สมบัติของลูกส่วนหนึ่งไว้ทำทาน อย่าเสียดายสิ่งที่ลูกให้เป็นทาน” (ทบต. 4,7)

คำพูดของผู้เฒ่าผู้เปี่ยมด้วยปรีชาญาณเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราคิด คำพูดนี้ทำให้เราทั้งหลายนึกถึงเรื่องที่ว่า โทบิตกลายเป็นคนมองไม่เห็นหลังจากที่เขาได้ทำกิจเมตตา โทบิตเองได้เคยบอกกับเราทั้งหลายว่า เขาได้อุทิศชีวิตของตนเพื่อทำกิจเมตตามาตั้งแต่อายุยังน้อย “ข้าพเจ้าให้ทานมากมายแก่พี่น้องและเพื่อนร่วมชาติที่ถูกเนรเทศพร้อมกับข้าพเจ้าไปยังนครนีนะเวห์ ในแผ่นดินอัสซีเรีย […] ข้าพเจ้าให้ขนมปังแก่ผู้หิวโหยและให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ ถ้าข้าพเจ้าเห็นศพของเพื่อนร่วมชาติที่ถูกฆ่าและถูกโยนทิ้งไว้นอกกำแพงเมืองนีนะเวห์ ข้าพเจ้าก็นำไปฝัง” (ทบต. 1,3, 1,17)

การที่โทบิตได้ทำกิจเมตตาเช่นนี้เป็นเหตุให้พระราชาริบเอาทรัพย์สินทั้งหมดของโทบิตไป ทำให้เขากลายเป็นคนยากจนแร้นแค้นอย่างถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงมีแผนการสำหรับโทบิต และหลังจากที่เขาได้กลับสู่ตำแหน่งราชการ เขาก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิมต่อไปอย่างกล้าหาญ ให้เราไปฟังเรื่องราวของโทบิตที่ยังคงเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเราทั้งหลายในปัจจุบันว่า

“ในวันฉลองเปนเตกอสเตหรือวันฉลองสัปดาห์ เขาเตรียมอาหารอย่างดีไว้ให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็มานั่งที่โต๊ะ ซึ่งมีอาหารหลายอย่าง ข้าพเจ้าพูดกับโทบียาห์บุตรของข้าพเจ้าว่า ‘ลูกเอ๋ย จงออกไปเถิด ถ้าพบคนยากจนที่ระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าสุดจิตใจในหมู่พี่น้องของเราที่ถูกเนรเทศมายังกรุงนีนะเวห์ด้วยกัน ก็จงนำเขามาร่วมโต๊ะกินอาหารกับเรา พ่อจะรอจนกว่าลูกจะกลับมา’” (ทบต. 2,1-2)

ในวันนี้ซึ่งเป็นวันแห่งคนยากจน ให้เราทั้งหลายลองคิดดูว่า จะเป็นการดีแค่ไหนหากสิ่งที่โทบิตให้ความสำคัญอันนี้ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน การที่เราทั้งหลายต่างร่วมเฉลิมฉลองในพิธีบูชาขอบพระคุณ ย่อมจะกลายมาเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความสนิทสัมพันธ์ได้อย่างแท้จริง หากว่าเราสามารถเชิญให้ใครสักคนมาร่วมโต๊ะอาหารเย็นวันอาทิตย์ หลังจากที่เราทั้งหลายได้ร่วมกันกินดื่มจากโต๊ะอาหารในพิธีบูชาขอบพระคุณแล้ว

เราทั้งหลายต่างรู้ตัวว่าทุกคนเป็นพี่น้องกันเมื่อตอนที่เรามาล้อมรอบพระแท่น แต่ให้เราลองคิดดูว่า หากว่าเรานำมื้ออาหารแห่งการเฉลิมฉลองไปแบ่งปันกับคนยากไร้ แล้วจะทำให้ความเป็นพี่น้องกันของเราทั้งหลายปรากฏให้เห็นจริงมากขึ้นอีกแค่ไหน

โทบียาห์ได้ทำตามที่บิดาบอก แต่เขากลับมาหาบิดาพร้อมกับข่าวที่ว่า ชายผู้ยากจนคนหนึ่งถูกฆ่าและโยนทิ้งไว้ที่ตลาด โทบิตได้ฟังแล้วก็ลุกขึ้นออกจากโต๊ะอาหารและไปฝังศพชายดังกล่าว แม้ว่าเขาจะอายุมากแล้ว แต่เขาได้ทำเช่นนี้อย่างไม่ลังเล ทว่าเมื่อเขากลับมาบ้านและนอนหลับที่กลางลานบ้านด้วยความเหน็ดเหนื่อย ก็ปรากฏว่ามีมูลนกตกลงมาเข้าตาของเขา ทำให้ตามองไม่เห็น (เทียบ ทบต. 2,1-10) เรื่องนี้อาจชักจูงให้เราหลงคิดไปว่า ช่างเป็นเรื่องโชคชะตากลั่นแกล้ง เพราะคนที่ทำดีกลับต้องเจอกับการลงโทษ แต่ความเชื่อของเราทั้งหลายสอนให้เราทั้งหลายคิดไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งกว่านั้นว่า ในเวลาต่อมา การที่โทบิตมองไม่เห็นได้กลายเป็นความแข็งแกร่งอย่างหนึ่งของเขา

สิ่งนี้ทำให้เขาได้รู้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงความยากจนรูปแบบต่าง ๆ มากมายที่อยู่รอบตัว และเมื่อถึงเวลาที่สมควร องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำให้สายตาของโทบิตกลับคืนมา และทำให้เขาได้รับความปิติยินดีจากการได้เห็นหน้าโทบียาห์ผู้เป็นบุตรชายอีกครั้ง พระคัมภีร์ได้เล่าให้เราฟังว่า เมื่อถึงเวลานั้น “โทบิตเข้าสวมกอดบุตรชายและร้องไห้ พูดว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกเป็นแสงสว่างของดวงตาของพ่อ พ่อมองเห็นลูกแล้ว’ แล้วเขาพูดต่อไปว่า ‘ขอถวายพระพรแด่พระเจ้า ขอถวายพระพรแด่พระนามยิ่งใหญ่ของพระองค์ ขอถวายพระพรแด่ทูตสวรรค์ศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์ของพระองค์ ขอพระนามยิ่งใหญ่ของพระองค์พิทักษ์รักษาเราไว้ตลอดกาล ขอถวายพระพรแด่ทูตสวรรค์ทุกองค์ของพระองค์ตลอดไป เพราะแม้พระองค์ทรงทำให้ข้าพเจ้าต้องเจ็บป่วย แต่แล้วก็ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้า บัดนี้ ข้าพเจ้าแลเห็นโทบียาห์บุตรของข้าพเจ้าแล้ว’” (ทบต. 11,13-14)

3. เราอาจสงสัยว่า โทบิตได้รับความกล้าหาญและความแข็งแกร่งภายในเช่นนี้มาจากไหน เขาจึงสามารถรับใช้พระเจ้าได้ท่ามกลางคนนอกศาสนา และรักเพื่อนบ้านได้อย่างมากมายจนถึงขนาดยอมเสี่ยงชีวิตตนเอง เรื่องราวของโทบิตเป็นเรื่องสำคัญน่าประทับใจ เขาเป็นสามีที่ซื่อสัตย์และเป็นบิดาที่ดูแลบุตรอย่างดี เขาถูกกวาดต้อนไปยังที่ห่างไกลจากบ้านเกิด เขาต้องทุกข์ทรมานอย่างไม่เป็นธรรมที่นั่น เขาถูกพระราชาเบียดเบียน และถูกเพื่อนบ้านรังแก เขาเป็นคนดี แต่เขาถูกทดลอง พระคัมภีร์สอนเราบ่อยครั้งว่าพระเจ้ามิได้ละเว้นผู้ชอบธรรมให้เขาไม่ต้องพบกับการทดลอง สิ่งนี้เป็นเพราะอะไร [พระองค์ทำเช่นนี้]ไม่ใช่เพื่อทำให้เราต้องเสื่อมเสียหรืออับอาย แต่เป็นการกระทำเพื่อให้ความเชื่อของเราที่มีต่อพระองค์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ในยามที่โทบิตต้องเผชิญกับการทดลอง เขาได้ค้นพบความยากจนของตนเอง ทำให้เขามองเห็นคนยากจนคนอื่น ๆ ลำพังเพียงแค่การที่เขาซื่อสัตย์ต่อพระบัญญัติของพระเจ้าและปฏิบัติตามพระบัญญัตินั้นยังไม่เพียงพอ ในตอนนี้ เขาสามารถแสดงความห่วงใยต่อคนจนออกมาได้ในทางปฏิบัติ เพราะเขาเคยประสบกับตัวเองแล้วว่าการที่ต้องประสบกับความยากจนนั้นเป็นอย่างไร เช่นนี้แล้ว คำแนะนำของโทบิตที่ให้ไว้แก่โทบียาห์ว่า “อย่าเบือนหน้าจากใครก็ตามที่เป็นคนยากจน” (ทบต. 4,7)

จึงได้กลายเป็นพินัยกรรมของโทบิตอย่างแท้จริง กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่เราพบคนยากจน เราไม่อาจเบือนหน้าหนีได้ เพราะหากทำเช่นนี้ ก็อาจทำให้เราทั้งหลายไม่ได้พบเห็นพระพักตร์ของพระเยซูเจ้า ให้เราพิจารณาอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับคำว่า “ใครก็ตามที่เป็นคนยากจน” คนทุกคนล้วนเป็นเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าเขาจะมีผิวสีอะไร มีฐานะอะไรในสังคม หรือเป็นคนมาจากไหน หากเราเองเป็นคนยากจน เราก็ย่อมจะสามารถมองเห็นพี่น้องของเราที่ต้องการความช่วยเหลือ เราทั้งหลายถูกเรียกให้มองเห็นคนยากจนทุกคนและความยากจนในทุกรูปแบบ ให้เราละทิ้งความรู้สึกเมินเฉยไม่สนใจ และให้ละทิ้งข้ออ้างซ้ำซากต่าง ๆ ที่เราใช้เพื่อปกป้องภาพลวงตาของเราที่ว่ามีความอยู่ดีกินดีแล้ว ไม่มีปัญหา

4. เราทั้งหลายต่างมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ไม่ได้สนใจต่อความจำเป็นของคนยากจนกันมากนัก มีแรงกดดันมากขึ้นที่บีบให้เราต้องมีวิถีชีวิตแบบคนรวย ขณะที่เสียงของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตในความยากจนกลับถูกเมินเฉย เราทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดแผกออกไปจากวิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่ถูกนำเสนอต่อคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุดต่อความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้น เราทั้งหลายไม่สนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่น่าพึงใจหรือทำให้เกิดความทุกข์ ขณะที่เรากลับยกย่องคุณลักษณะทางกายจนเหมือนกับว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของชีวิต ความจริงในโลกเสมือนกำลังครอบงำชีวิตในความเป็นจริง และโลกทั้งสองนี้ก็กำลังผสมปนเปกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

คนยากจนกลายเป็นภาพวิดีทัศน์ที่อาจกระทบจิตใจเราได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่เวลาที่เราได้พบกับคนยากจนที่มีเนื้อหนังตามท้องถนน เรากลับรู้สึกรังเกียจและหันหน้าหนีไปทางอื่น ความเร่งรีบที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน คอยขัดขวางไม่ให้เราสละเวลาไปช่วยดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น การอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียที่ดี (เทียบ ลก. 10,25-37) ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องจากอดีต แต่ยังเป็นสิ่งที่คงท้าทายเราแต่ละคนภายในชีวิตประจำวันของเราในที่นี้และในเวลานี้ การนำภาระหน้าที่ทำกิจเมตตาไปยกให้คนอื่นทำแทนนั้นเป็นเรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงว่าคริสตชนทุกคนได้รับกระแสเรียกให้เข้ามามีส่วนร่วม [ทำกิจเมตตา] ด้วยตัวเอง [โดยตรง]
.
5. ให้เราขอบคุณพระเจ้า เพราะมีชายหญิงจำนวนมากมายที่อุทิศตนเพื่อดูแลคนยากจนและผู้คนที่ถูกกีดกัน คนเหล่านี้มาจากช่วงวัยและสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันไป แต่เขาเหล่านั้นต่างแสดงความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือคนชายขอบและคนตกทุกข์ได้ยาก พวกเขาไม่ใช่วีรบุรุษทรงอิทธิฤทธิ์ แต่เป็นคนทั่วไป เป็น “เพื่อนบ้านข้างเคียง” ของเรา ที่ได้ทำตนอย่างเงียบ ๆ เป็นคนจนท่ามกลางหมู่คนจน พวกเขาไม่ได้เพียงแต่ให้ทาน แต่เขารับฟัง เข้าไปมีส่วนร่วม พยายามทำความเข้าใจและแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ยากลำบาก รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น

พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงแต่ความจำเป็นทางวัตถุเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความจำเป็นฝ่ายจิตด้วย พวกเขาทำงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคคลแต่ละคนในแบบองค์รวม อาณาจักรพระเจ้าได้มีอยู่และปรากฏเห็นได้ผ่านการรับใช้ที่ใจกว้างและไม่เห็นแก่ตนเองของพวกเขา เหมือนกับเมล็ดพืชที่ตกยังดินดี ที่ได้หยั่งรากในชีวิตของพวกเขาและทำให้เกิดผลอันอุดม (เทียบ ลก. 8,4-15) ให้เราขอบใจจิตอาสาเหล่านี้ผ่านการภาวนาด้วย เพื่อที่การเป็นพยานของพวกเขาจะปรากฏผลอันอุดมยิ่ง ๆ ขึ้นไป
.
6. ในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 60 ปีของสมณสาส์นเวียน Pacem in Terris ของสมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์นที่ยี่สิบสาม ให้เราน้อมรับคำสอนของท่านที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิในบูรณภาพทางร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาชีวิตอย่างเหมาะสม ที่รวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การพักผ่อน และในท้ายที่สุด ได้แก่ บริการทางสังคมที่จำเป็น ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลในกรณีเจ็บป่วย ในกรณีที่ต้องทุพพลภาพจากการทำงาน ในกรณีที่ต้องสูญเสียคู่สมรส ในกรณีที่ต้องว่างงานโดยไม่มีทางเลือกอื่น ตลอดจนในกรณีอื่น ๆ ที่เป็นการสูญเสียช่องทางทำมาหากินโดยไม่ได้มาจากความผิดของเขาเอง” (ข้อ 11)

ในการที่จะให้สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น ยังมีสิ่งที่เราทั้งหลายต้องดำเนินการอยู่อีกมาก เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่บรรดาผู้นำทางการเมืองและผู้ออกกฎหมายจะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ถึงแม้ว่าการเมืองจะมีข้อจำกัด หรือหลายครั้งอาจไม่ประสบความสำเร็จในการไตร่ตรองแยกแยะและการรับใช้ความดีส่วนรวมก็ตาม แต่ขอให้จิตวิญญาณแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการแบ่งหน้าที่กันทำในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ได้เติบโตขึ้นในหมู่พลเมืองที่เชื่อในคุณค่าของการสมัครใจมุ่งมั่นรับใช้คนยากจน

แน่นอนว่าการเรียกร้องหรือแม้กระทั่งการกดดันหน่วยงานสาธารณะให้ทำหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสมนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ลำพังการงอมืองอเท้ารอคอยสิ่งต่าง ๆ ”จากเบื้องบน” นั้นไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไร บรรดาผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในความยากจนจะต้องได้รับโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วม และให้มีคนเดินเคียงข้างคอยสนับสนุนพวกเขาภายในกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนรับผิดชอบ

7. นอกจากนี้ เราทั้งหลายจะต้องยอมรับกันอีกครั้งว่า มีรูปแบบใหม่ ๆ ของความยากจน นอกเหนือจากสิ่งที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว ข้าพเจ้าคิดคำนึงถึงผู้คนที่ตกอยู่ท่ามกลางสงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ ที่ถูกแย่งเอาปัจจุบันอันสงบสุขและอนาคตที่สมศักดิ์ศรีไปจากพวกเขา เราทั้งหลายจะต้องไม่ยอมให้ตนเองเคยชินกับสถานการณ์เช่นนี้ ให้เราทั้งหลายมีความวิริยะอุตสาหะในการพยายามทุกวิถีทางเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ ในฐานะที่สันติภาพเป็นของขวัญที่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนชีพได้ทรงมอบไว้ให้เรา ให้สันติภาพได้เป็นผลแห่งความมุ่งมั่นต่อความเป็นธรรมและการพูดคุยเสวนา

นอกจากนี้ เราทั้งหลายยังไม่อาจเพิกเฉยต่อการเก็งกำไรในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก และทำให้ครอบครัวจำนวนมากมีฐานะยากจนลงไปอีก รายได้ของพวกเขาถูกนำไปใช้หมดอย่างรวดเร็ว บีบให้พวกเขาต้องสละหลายสิ่งหลายอย่าง สิ่งนี้บ่อนทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน หากมีกรณีที่ครอบครัวหนึ่งจำต้องเลือกระหว่างอาหารและการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ เราทั้งหลายก็จำเป็นต้องหันมาสนใจต่อเสียงของผู้คนที่ยืนหยัดค้ำจุนสิทธิในการได้รับทั้งสองอย่างนี้ในนามของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อคำนึงเช่นนี้ เราย่อมจะสังเกตเห็นว่า ภายในโลกของการจ้างแรงงานมีความสับสนเรื่องจริยศาสตร์อยู่ [เราต่างเห็นว่า]มีการที่แรงงานชายหญิงจำนวนมากถูกปฏิบัติในทางที่ขัดกับมนุษยธรรม มีการที่แรงงานได้รับค่าแรงที่ไม่เพียงพอเมื่อคำนึงถึงงานที่เขาทำ มีความยากลำบากที่เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพ มีผู้เสียชีวิตมากมายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการทำงาน สิ่งเหล่านี้มักเกิดจากทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อผลกำไรระยะสั้นมากกว่าการสร้างอาชีพที่มั่นคง นักบุญยอห์น ปอลที่สองได้เน้นย้ำเตือนใจเราว่า “พื้นฐานสำคัญที่สุดของคุณค่าในการทำงาน คือตัวมนุษย์เอง

… ถึงแม้จะเป็นความจริงว่ามนุษย์ต้องทำงาน และได้รับกระแสเรียกให้ไปทำงาน แต่ในประการแรกสุดนั้น การทำงานมีไว้ ‘เพื่อมนุษย์’ ไม่ใช่ว่ามนุษย์มีไว้ ‘เพื่อการทำงาน’” (สมณสาส์นเวียน Laborem Exercens, ข้อ 6)

8. สิ่งต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงไปนี้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่าทุกข์ใจในตัวมันเอง แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงบางสิ่งบางอย่างที่บ่งชี้ถึงสภาวะความยากจนที่บัดนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทั้งหลายแล้ว ข้าพเจ้าจำต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษต่อรูปแบบหนึ่งของความยากจนที่กำลังปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว ภาพลวงตาต่าง ๆ จากวัฒนธรรมที่ทำให้คนหนุ่มสาวคิดว่าตนเป็น “ผู้แพ้” เป็นคนที่ “ไม่มีค่า” ทำให้เกิดความคับข้องใจและนำไปสู่การฆ่าตัวตายมากมายเหลือเกิน ให้เราทั้งหลายช่วยเหลือคนหนุ่มสาว ให้พวกเขาสามารถตอบโต้อิทธิพลอันเลวร้ายเช่นนี้ และให้เขาได้หาแนวทางเพื่อที่จะเติบโตเป็นชายหญิงที่มีความมั่นใจในตนเอง และมีความใจกว้าง[ให้แก่ผู้อื่น]

เวลาที่พูดเรื่องคนยากจน เป็นเรื่องง่ายที่จะใช้คำพูดหรูหรามากมายเกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังต้องพบกับการผจญที่ยั่วยุให้เราทั้งหลายยึดติดอยู่แต่กับสถิติและตัวเลข [ให้เราอย่าลืมว่า]คนยากจนแต่ละคนเป็นมนุษย์ มีใบหน้า มีเรื่องราว มีหัวใจ และมีจิตวิญญาณ พวกเขาเป็นพี่น้องของเรา มีทั้งดีและชั่วไม่ต่างจากเราทั้งหลาย และเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องไปมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพวกเขาแต่ละคน

หนังสือโทบิตสอนให้เราเผชิญความจริงและมีความเป็นนักปฏิบัติในทุกเวลาที่เราทำงานร่วมกับคนยากจนและเพื่อคนยากจน สิ่งนี้เป็นประเด็นเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งเรียกร้องให้เราออกไปหาและพบปะซึ่งกันและกันเพื่อที่จะเสริมสร้างความปรองดอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะให้ประชาคมรู้สึกว่ามีความปรองดองกัน[ภายในสังคม] การเอาใจใส่คนยากจนไม่ได้เป็นเพียงการแจกเงินหรือสิ่งของอย่างลวก ๆ

แต่เป็นสิ่งที่เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมระหว่างบุคคลต่าง ๆ ให้กลับมีขึ้นมาใหม่อีกครั้งหลังจากที่ความสัมพันธ์อันนี้ถูกทำร้ายโดยความยากจน ดังนี้แล้ว การ “ไม่เบือนหน้าจากใครก็ตามที่เป็นคนยากจน” จะนำพาให้เราทั้งหลายได้รับผลดีอันเกิดจากความรักความเมตตา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตคริสตชนทั้งครบของเรามีความหมายและมีคุณค่า

9. ความใส่ใจที่เราทั้งหลายมีให้แก่คนยากจนจะต้องมาพร้อมกับทัศนคติการเผชิญกับความเป็นจริงในแนวพระวรสาร การแบ่งปันจะต้องตอบสนองความต้องการที่เป็นรูปธรรมของผู้อื่น โดยไม่เป็นเพียงการจ่ายแจกสิ่งที่เรามีมากเกินกว่าที่จะใช้ได้เอง ในที่นี้เช่นกัน จำเป็นต้องมีการไตร่ตรองแยกแยะที่นำทางโดยพระจิตเจ้า เพื่อที่[เราทั้งหลาย]จะสามารถรับรู้ความต้องการที่แท้จริงของพี่น้อง ไม่ใช่เป็นการ[สนองตอบ]ความหวังหรือความปรารถนาส่วนตัวของเราเอง แน่นอนว่าคนยากจนต้องการ[สัมผัส]จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ต้องการให้มีคนเปิดใจรักพวกเขา 

เราทั้งหลายอย่าลืมว่า “เราทั้งหลายต่างถูกเรียกให้ไปแสวงหาพระคริสตเจ้าในตัวพวกเขา เป็นปากเสียงเรียกร้องแทนพวกเขา แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้เราทั้งหลายเป็นมิตรของพวกเขา รับฟังพวกเขา พูดแทนพวกเขา และเปิดใจน้อมรับปรีชาญาณอันน่าพิศวงที่พระเจ้าต้องการแบ่งปันกับเราทั้งหลายผ่านทางพวกเขา” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 198) ความเชื่อได้สอนเราทั้งหลายว่า คนยากจนทุกคนเป็นลูกชายหญิงของพระเจ้า และว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่ภายในเขา “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ. 25,40)

10. ปีนี้ครบครอบ 150 ปีชาตกาลของนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู ภายในอัตชีวประวัติของท่าน ชื่อหนังสือ เรื่องราวของวิญญาณดวงหนึ่ง ท่านได้เล่าไว้ว่า “ฉันได้ตระหนักว่า ความรักที่สมบูรณ์แบบ คือการอดทนยอมรับความผิดพลาดของผู้อื่น การไม่ตระหนกตกใจต่อความผิดพลาดของเขา และการเรียนรู้จากกิจการดีของผู้อื่นที่เราได้เห็น ไม่ว่ากิจการนั้นจะเล็กน้อยเท่าใดก็ตาม แต่เหนือสิ่งอื่นใด ฉันได้ตระหนักว่าความรักจะต้องไม่ถูกพันธนาการให้อยู่ที่ภายในเบื้องลึกของหัวใจ พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘ไม่มีใครจุดเทียนแล้วเอามาวางไว้ใต้ถัง แต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงเทียน จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน’ สำหรับฉันแล้ว เทียนนั้นเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรัก ที่จะต้องให้แสงสว่างและนำมาซึ่งความปิติยินดี ไม่เฉพาะแก่ผู้คนที่สำคัญต่อฉันมากที่สุดเท่านั้น แต่จะต้องให้แก่ทุกคนในบ้าน ไม่ยกเว้นใครทั้งสิ้น” (Ms C, 12r°).

ในโลกใบนี้ซึ่งเป็นบ้านของเราทั้งหลาย มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้สัมผัสแสงสว่างแห่งความรัก จะต้องไม่มีใครที่ถูกกีดกันออกจากแสงสว่างอันนี้ ขอให้ความรักมั่นคงของนักบุญเทเรซาได้กระตุ้นจิตใจของเราทั้งหลายในวันคนยากจนสากลนี้ และช่วยให้เราไม่ “เบือนหน้าจากคนยากจน” แต่ให้เราจดจ่ออยู่เสมอต่อพระพักตร์ของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ทั้งพระพักตร์ในสภาพมนุษย์และในสภาพพระเจ้าของพระองค์

 

ให้ไว้ ณ มหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน กรุงโรม 13 มิถุนายน 2023
วันระลึกถึงนักบุญอันตนแห่งปาดัว นักบุญองค์อุปถัมภ์ของคนยากจน

 

ฟรานซิส

 

(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บสารของพระสันตะปาปาฟรานซิสโอกาสวันคนยากจนสากล ปี ค.ศ. 2023 มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown