มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

แนะนำหนังสือ พระสมณโอการ Misericordiae Vultus

สรุป “พระพักตร์แห่งความเมตตา”(MisericordiaeVultus) สมณโองการ เรื่องปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษแห่งเมตตาธรรม

หนังสือ“พระพักตร์แห่งความเมตตา”(MisericordiaeVultus)
สมณโองการ เรื่องปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษแห่งเมตตาธรรม
ผู้เขียนสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
พิมครั้งแรกในอุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 37-43

     ในประเพณีคริสตศาสนาคาทอลิกปีศักดิ์สิทธิ์ (Jubilee or Holy Year)เป็นเวลาพิเศษแห่งพระเมตตาของพระเจ้าการให้อภัยบาปและโทษของบาป เป็นเวลาแห่งการคืนดีกัน การกลับใจและการรับศีลแห่งการคืนดี เป็นการส่งเสริมชีวิตศักดิ์สิทธิ์ การชุมนุมเพื่อทำให้ความเชื่อเข้มแข็ง การสนับสนุนงานเมตตา ความเป็นหนึ่งเดียวแบบพี่น้องในพระศาสนจักรและสังคม และเรียกร้องบรรดาคริสตชนให้ดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างจริงใจและสอดคล้องกับความเชื่อในพระคริสตเจ้าผู้ทรงนำชีวิตและพระหรรษทานแก่มนุษย์ทุกคนมากยิ่งขึ้น
     การกำเนิดปีศักดิ์สิทธิ์ได้มีการกำหนดในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมในกฎหมายของโมเสส (ลนต25:10-14)ในพันธสัญญาใหม่พระเยซูเจ้าทำให้คำสอนปีศักดิ์สิทธิ์เป็นความจริง “ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากองค์พระผู้เป็นเจ้า”(อสย61:1-2;ลก4:18-21)ต่อมาพระสันตะปาปาโบนิฟาส ที่ 8ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกให้ปีค.ศ. 1300 เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงกำหนดให้ทุกๆ รอบ 100 ปี เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 6 ทรงประกาศลดจาก 100 ปี มาเป็นทุกๆ 50 ปี เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1343 และทรงประกาศให้ปี ค.ศ. 1350 เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ พระสันตะปาปาเปาโลที่ 2 (ค.ศ. 1464-1471) ได้กำหนดให้ทุก 25 ปี เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ เพราะทรงเห็นว่าชีวิตมนุษย์นี้เปราะบาง ชีวิตมนุษย์สั้น และเกิดความทุกขเวทนา อันเนื่องมาจากบาป ปีศักดิ์สิทธิ์ทุกๆ 25 ปี จะสามารถช่วยจิตวิญญาณของมนุษย์ได้และการฉลองปีศักดิ์สิทธ์ทุก 25 ปี เริ่มเมื่อ ค.ศ. 1475ในสมณสมัยของพระสันตะปาปาซิกตูสที่ 4 ส่วนปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษกำหนดโดยพระสันตะปาปาในโอกาสพิเศษนักบุญยอห์น ปอล ที่2พระสันตะปาปาได้ประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ครั้งล่าสุดในพระศาสนจักรคือปี “ปีติมหาการุญ” ค.ศ.2000
     ในตอนบ่ายวันเสาร์ที่ 11เมษายน ค.ศ.2015 ก่อนการทำวัตรเย็นที่ 1 ของวันอาทิตย์ที่ 2เทศกาลปัสกาหรือวันอาทิตย์พระเมตตา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงประกาศปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษแห่งเมตตาธรรม ด้วยสมณโอการชื่อ “พระพักตร์แห่งความเมตตา” (MisericordiaeVultus)เพื่อเป็นช่วงเวลาให้คริสตชนทุกคนได้สัมผัสพระเมตตาของพระเจ้า เพื่อจะมีความเชื่อเข้มแข็ง และเป็นพยานชีวิตถึงพระเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพในสมัยปัจจุบัน สมณโองการ มีเนื้อหาจำนวน 25ข้อซึ่งสามารถสรุปเนื้อหาสำคัญได้ดังนี้

ภาค1 บทนำ(ข้อ 1-5)
(ข้อ 1) พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระพักตร์แห่งความเมตตาของพระบิดา วลีนี้สรุปพระธรรมล้ำลึกของความเชื่อของคริสตชน พระเมตตาได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และมองเห็นได้ในพระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธจนบรรลุถึงจุดสูงสุดในพระองค์ “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย”(ยน14:9) พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธทรงเปิดเผยพระเมตตาของพระเจ้าด้วยคำพูด การกระทำและด้วยความเป็นมนุษย์ทั้งครบของพระองค์(Dei Verbum,41)
(ข้อ 2) เราจำเป็นต้องหมั่นเพ่งพิศธรรมล้ำลึกเรื่องพระเมตตาอยู่เสมอ พระเมตตาเป็นบ่อเกิดความชื่นชมยินดี ความสงบราบรื่นและสันติสุข ความรอดพ้นของเราขึ้นอยู่กับพระเมตตา พระเมตตาคือภาษาที่เปิดเผยธรรมล้ำลึกแท้ของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ ทำให้พระเจ้าเสด็จมาหามนุษย์ เป็นกฎพื้นฐานในใจมนุษย์ทุกคนผู้มองอย่างจริงใจเข้าไปในดวงตาของพี่น้องผู้กำลังเดินบนหนทางชีวิต เป็นสะพานเชื่อมระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ เพื่อมนุษย์จะเปิดใจสู่ความหวังในการเป็นที่รักตลอดนิรันดรกับพระเจ้า แม้เราเป็นคนบาปก็ตาม
(ข้อ 3-5)หมายกำหนดการของปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม
วันเปิดปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรมคือ วันที่ 8 ธันวาคม 2015วันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมลและมีการเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาวิหารนักบุญเปโตร การเลือกวันนี้เพราะเป็นโอกาสครบ 50 ปีแห่งการปิดประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2พระศาสนจักรรู้สึกมีความจำเป็นที่จะรักษาความมีชีวิตชีวาของเหตุการณ์นี้ เพื่อการประกาศพระวรสารครั้งใหม่
     วันอาทิตย์ถัดไปคือวันอาทิตย์ที่ 3เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า จะมีพิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ของอาสนวิหารแห่งกรุงโรมคือ พระมหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน ในสัปดาห์ถัดไป จะมีการเปิดประศักดิ์สิทธิ์ในพระมหาวิหารแห่งอื่น ในสัปดาห์เดียวกันนี้จะมีการเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ของอาสนวิหารของพระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่ง วัดที่มีความสำคัญหรือสักการะสถานที่มีผู้มาแสวงจำนวนมาก กำหนดตามดุลยพินิจของพระสังฆราชของท้องถิ่นนั้น
     วันปิดปีศักดิ์สิทธิ์คือวันสมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล20พฤศจิกายน ค.ศ.2016และมีพิธีปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ในวันนั้นด้วยข้าพเจ้าปรารถนาให้ปีหน้าเป็นปีที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระเจ้า ซึ่งเราจะนำไปให้พี่น้องชายหญิงทุกคน เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรพระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางเราแล้ว
เทศกาลมหาพรตในปีศักดิ์สิทธิ์ควรดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น เพราะเป็นเวลาพิเศษแห่งการฉลองและการมีประสบการณ์พระเมตตาของพระเจ้า จึงควรจัด“พิธีเฝ้าศีลมหาสนิท 24 ชั่วโมง” ในวันศุกร์และวันเสาร์ก่อนสัปดาห์ที่สี่เทศกาลมหาพรต(วันที่ 4-5มีนาคม 2016)เพื่อให้ทุกคนโดยเฉพาะบรรดาเยาวชนจะได้มีโอกาสรับศีลอภัยบาป (ข้อ 17)

ภาค2คำสอนพื้นฐานจากพระคัมภีร์ ข้อความเชื่อและเทววิทยาเรื่องพระเมตตาของพระเจ้า(ข้อ6-12)
(ข้อ6)นักบุญโทมัสอไควนัสกล่าวว่า “เป็นลักษณะเฉพาะของพระเจ้าที่จะแสดงความเมตตา พระองค์ทรงสำแดงพระสรรพานุภาพของพระองค์โดยเฉพาะในลักษณะนี้” (Summa Theologiae,II-II,q30,a4.1) ดังนั้นพระเมตตาของพระเจ้ามิใช่เครื่องหมายของความอ่อนแอ แต่เป็นเครื่องหมายพระสรรพานุภาพของพระองค์ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมักใช้คำอธิบายพระธรรมชาติของพระเจ้าว่า “ทรงพากเพียรอดทนและทรงพระเมตตา”(สดด103:3-4;146:7-9:147:3.6)เป็นเหมือนความรักของพ่อแม่ที่รักลูกจากก้นบึ้งของหัวใจ ความรักที่หลั่งไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติจากส่วนลึกของใจ เปี่ยมด้วยความอ่อนโยนและความเห็นอกเห็นใจ เปี่ยมด้วยพระคุณการุณย์และความเมตตา
(ข้อ7) “ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์” เป็นบทสร้อยตอบรับเพลงสดุดีแต่ละวรรคในบทเพลงสดุดีที่ 136ที่เล่าประวัติศาสตร์การเปิดเผยของพระเจ้า เพราะพระเมตตาของพระเจ้าต่อชนชาติอิสราเอลทำให้ประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ชาวอิสราเอลใช้บทสดุดีนี้ในพิธีกรรมสมโภชปัสกา พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาด้วยบทเพลงสดุดีบทนี้ “เมื่อขับร้องเพลงสดุดีแล้ว”(มธ26:30) พระองค์ทรงตั้งศีลมหาสนิทและทรงเข้าสู่พระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เป็นการท้าทายคริสตชนให้ภาวนาในชีวิตประจำวันด้วยบทสดุดีนี้ด้วย “ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์”
(ข้อ8) พระเยซูเจ้าทรงได้รับพันธกิจจากพระบิดาคือ การเปิดเผยธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระเจ้าพระตรีเอกภาพ “พระเจ้าทรงเป็นความรัก”(1ยน4:8,16) ความรักนี้แสดงออกในชีวิตของพระเยซูเจ้า โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อคนบาป คนยากจน คนชายขอบ คนป่วย คนที่มีความทุกข์(มธ9:36;14:14;15:37;ลก7:15;มก5:19) พระเยซูเจ้าทรงเรียกมัทธิว(มธ9:9-13;มก2:13-14;ลก5:27-28)พระองค์ทรงมองมัทธิวด้วยความรักเมตตาและทรงเลือกเขา พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเลือกเป็นคติพจน์ประจำตำแหน่งพระสังฆราช“พระองค์ทรงเรียกและทรงเมตตาต่อเขา” “miserandoatqueeligendo”
(ข้อ9)ในอุปมาเรื่องพระเมตตาพระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยพระธรรมชาติของพระเจ้า เหมือนบิดาผู้ให้อภัยด้วยความเมตตา อุปมาสามเรื่องเรื่องแกะที่หายไป เรื่องเงินเหรียญที่หายไป และเรื่องลูกชายที่หายไป (ลก15:1-32) พระเจ้าทรงอภัยด้วยความยินดี ความเมตตาเป็นพลังที่ชนะทุกสิ่ง ทำให้หัวใจเต็มไปด้วยความรัก นำการบรรเทาใจโดยการให้อภัย อุปมาเรื่อง “ลูกหนี้ไร้เมตตา”(มธ18:21-35) ความเมตตากลายเป็นบรรทัดฐานการเป็นบุตรของพระเจ้าเราได้เรียกให้มีความเมตตาต่อผู้อื่นเพราะเราได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าก่อนการให้อภัยเป็นการแสดงความรักเมตตาซึ่งคริสตชนต้องปฏิบัติอย่างหาข้อแก้ตัวไม่ได้ “จงเลิกโกรธก่อนดวงอาทิตย์ตก”(อฟ4:26) “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา”(มธ5:7)เป็นความสุขแท้ที่เราต้องแสวงหา โดยเฉพาะในปีศักดิ์สิทธิ์นี้
(ข้อ10) ความเมตตาเป็นรากฐานที่แท้จริงของชีวิตพระศาสนจักร กิจการด้านอภิบาลควรช่วยให้สัตบุรุษสัมผัสความอ่อนโยน มีความเมตตาทั้งในการเทศน์สอนและประจักษ์พยานชีวิต ความน่าเชื่อถือของพระศาสนจักรอยู่ที่การแสดงความรักที่เปี่ยมด้วยความเมตตา พระศาสนจักรมีความปรารถนาไม่สิ้นสุดที่จะมอบความเมตตากรุณา (E.G.24)ความยุติธรรมเป็นก้าวแรก พระศาสนจักรต้องก้าวต่อไปสู่การปฏิบัติเมตตาธรรมเพื่อช่วยผู้อ่อนแอและช่วยผู้ต่อสู้ดิ้นรนให้มีชีวิตใหม่ ช่วยสร้างแรงบรรดาลใจให้มองอนาคตด้วยความหวัง
(ข้อ11) นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ในสมณสาส์น “พระเมตตาของพระเจ้า”มีสองตอนที่น่าสนใจข้อความแรกกล่าวว่า สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมทุกวันนี้ ดูเหมือนไม่ยอมรับพระเจ้าแห่งความเมตตายิ่งกว่าคนในอดีต ขจัดความคิดเรื่องพระเมตตาออกไปจากชีวิต เพราะโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก แต่ปัจจุบันมนุษย์มีความเข้าใจมากขึ้น หลายคนหรือหลายกลุ่มมีความเชื่อที่มีชีวิตได้กลับมาหาพระเมตตาของพระเจ้า(D.M.2) ข้อความตอนที่สอง กล่าวถึงการเป็นประจักษ์พยานถึงพระเมตตาของพระเจ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนในปัจจุบัน พระศาสนจักรมีชีวิตน่าเชื่อถือแท้จริงเมื่อประกาศถึงพระเมตตาของพระเจ้า และนำประชากรสู่ต้นธารพระเมตตาขององค์พระผู้กอบกู้ ซึ่งพระศาสนจักรได้รับมอบหมายดูแลและแจกจ่ายพระเมตตาของพระเจ้า (D.M.13)
(ข้อ12) พระศาสนจักรได้รับมอบหมายให้ประกาศพระเมตตาของพระเจ้า ซึ่งเป็นหัวใจของพระวรสาร เพื่อการประกาศพระวรสารครั้งใหม่ พระศาสนจักรต้องดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงพระเมตตา ภาษาและท่าทีของพระศาสนจักรต้องถ่ายทอดความเมตตาเพื่อสัมผัสใจทุกคน ความจริงประการแรกของพระศาสนจักรคือความรักของพระคริสตเจ้า เราเป็นผู้รับใช้ความรักที่ใดมีพระศาสนจักรพระเมตตาของพระบิดาต้องปรากฏขี้นอย่างชัดเจน ในวัด ชุมชน สมาคม องค์กร ขบวนการของพระศาสนจักร หรือพูดง่ายๆก็คือทุกแห่งที่มีคริสตชนทุกคนต้องพบโอเอซิสหรือที่พักพิงของพระเมตตาของพระเจ้า

ภาค3แนวการดำเนินชีวิตในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม (ข้อ 13-25)
(ข้อ13) พระวาจานำชีวิตเป็น “คติพจน์” ของปีศักดิ์สิทธิ์นี้คือ“จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด”(ลก6:36) เป็นแผนการชีวิตที่นำความชื่นชมยินดีและสันติสุข แต่เรียกร้องและเปิดเผยแก่ผู้เต็มใจฟังเสียงของพระองค์ (ลก6:27) เพื่อเราจะสามารถมีความเมตตาก่อนอื่นเราต้องทำใจให้พร้อมที่จะฟังพระวาจาของพระเจ้า พบคุณค่าความเงียบเพื่อรำพึงพระวาจา เพ่งพิศพระเมตตาของพระเจ้าและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา
(ข้อ14) การจาริกแสวงบุญ เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางชีวิตของแต่ละคน ชีวิตคือการจาริก ทุกคนต้องเดินทางจาริกตามความสามารถของแต่ละคน ความเมตตากรุณาเป็นจุดหมายที่ต้องการการอุทิศตน การเสียสละ และการกลับใจเพื่อก้าวสู่ประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเมตตาของพระเจ้า และอุทิศตนเป็นผู้เมตตากรุณาต่อผู้อื่น ดังที่พระบิดาทรงเมตตาต่อเรา พระเยซูคริสตเจ้าแสดงขั้นตอนการจาริกแสวงบุญสู่จุดหมาย จงเป็นเครื่องมือแห่งพระเมตตา “อย่าตัดสิน อย่ากล่าวโทษเขา จงให้อภัย จงให้” (ลก6:37-38) “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด”(ลก6:36)
(ข้อ15) ในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ให้ไตร่ตรองและปฏิบัติกิจเมตตา สนใจคนชายขอบของสังคม
การปฏิบัติกิจเมตตาฝ่ายกายคือ 1.การให้อาหารคนหิวโหย 2.การให้น้ำดื่มแก่ผู้กระหาย 3.การให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มีนุ่งห่ม 4.การให้ที่พักแก่ผู้ไร้ที่อยู่ 5.การเยี่ยมผู้ป่วย 6.การเยี่ยมผู้ถูกจองจำ 7.การฝังศพผู้ล่วงลับ
การปฏิบัติกิจเมตตาฝ่ายจิตคือ1.การให้คำปรึกษาแก่ผู้สงสัย2.การสอนผู้ไม่รู้ 3.การตักเตือนคนบาป 4.การบรรเทาผู้มีความทุกข์5.การอดทนผู้กระทำผิด 6.การให้อภัยแก่ทุกคนที่ทำร้าย7.การสวดภาวนาให้ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ที่สิ้นใจไปแล้ว
พระเยซูเจ้าได้ให้มาตรการในการตัดสินการสู่อาณาจักรพระเจ้า (มธ25:31-46) นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนกล่าวว่า “เราจะถูกตัดสินโดยใช้ความรักเป็นเกณฑ์ ในขณะที่เราเตรียมตัวจากโลกนี้ไป” (Lumen Fidei.57)
(ข้อ16) ขอให้คริสตชนเป็นประจักษ์พยานทำให้คำสอนของพระเยซูเจ้าเป็นจริง พระเยซูเจ้าทรงอ่านพระคัมภีร์จากหนังสือประกาศกอิสยาห์ (อสย60:1-2) “พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากองค์พระผู้เป็นเจ้า”(ลก4:18-19) และพระองค์ได้ทรงทำให้ข้อความจากพระคัมภีร์เป็นจริง เราต้องดำเนินชีวิตตามพระวาจานี้ด้วย และนักบุญเปาโลสอนว่า “ผู้ที่แสดงความเมตตากรุณา ก็จงแสดงความเมตตากรุณาด้วยใจยินดี” (รม12:8)
(ข้อ17) เทศกาลมหาพรตในปีศักดิ์สิทธิ์ควรดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างเข้มข้น เพราะเป็นโอกาสฉลองและมีประสบการณ์พระเมตตาของพระเจ้า ควรรำพึงพระวาจาจากพระคัมภีร์ พระเมตตาและการอภัยความผิดจากพระเจ้า (มคา7:18-19) การอธิษฐานภาวนา การจำศีลอดอาหาร และการทำกิจเมตตา (อสย58:6-11)ควรจัดให้มีการเฝ้าศีลมหาสนิท 24 ชั่วโมง ในวันศุกร์และเสาร์ก่อนสัปดาห์ที่สี่เทศกาลมหาพรตในทุกสังฆมณฑลให้เป็นช่วงเวลาอธิษฐานภาวนาอย่างจริงจังและค้นหาความหมายชีวิต ขอให้ศีลแห่งการคืนดีเป็นศูนย์กลางเป็นต้นธารแห่งสันติสุขภายในที่แท้จริงสำหรับผู้มารับศีลแห่งการคืนดีเพื่อให้ทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนได้รับศีลแห่งการคืนดีพระสงฆ์ผู้โปรดศีลอภัยบาปเป็นพยานแท้ถึงพระเมตตาของพระบิดา ก่อนอื่นต้องยอมรับตนเองเป็นผู้สำนึกผิดและรับพระเมตตาจากพระเจ้า มีส่วนร่วมในพันธกิจของพระเยซูคริสตเจ้า ได้รับพระพรแห่งพระจิตเจ้าเพื่อทำหน้าที่นี้ เป็นผู้รับใช้แห่งพระเมตตา ต้องต้อนรับสัตบุรุษเหมือนบิดา ไม่ถามคำถามที่ไร้ประโยชน์เป็นเครื่องหมายเด่นชัดของพระเมตตาเสมอ ทุกแห่ง และทุกสถานการณ์โดยไม่มีเงื่อนไข
(ข้อ18) ระหว่างเทศกาลมหาพรตในปีศักดิ์สิทธิ์นี้พระสันตะปาปาฟรังซิสจะส่งบรรดาธรรมทูตแห่งพระเมตตา เป็นเครื่องหมายของความห่วงใยเยี่ยงมารดาของพระศาสนจักรต่อประชากรของพระเจ้า พระสงฆ์ธรรมทูตแห่งพระเมตตาจะได้รับมอบอำนาจอภัยบาปต่างๆ แม้บาปที่สงวนไว้สำหรับสันตะสำนัก (CIC.cc1367,1370,977,1382,1388)ขอพระสังฆราชเชิญและต้อนรับธรรมทูตเหล่านี้ให้เทศน์เรื่องพระเมตตา ขอให้สังฆมณฑลจัด“พันธกิจสู่ประชาชน”เพื่อธรรมทูตจะได้ประกาศความชื่นชมยินดีและการให้อภัย ขอให้พระสังฆราชจัดการฉลองศีลแห่งการคืนดีร่วมกับสัตบุรุษเพื่อให้สัตบุรุษสามารถเดินทางสู่บ้านพระบิดา ขอให้ผู้อภิบาลโดยเฉพาะในเทศกาลมหาพรตช่วยให้สัตบุรุษได้รับพระเมตตาและพระหรรษทาน (ฮบ4:16)
(ข้อ19) ขอให้ประสบกาณ์แห่งพระเมตตาไปถึงทุกคน อย่าเพิกเฉยต่อเสียงเรียกนี้ บรรดาสมาชิกเครือข่ายอาชาญากรรมที่ทำผิดกฎหมายทุกประเภท ขอให้เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ อย่าเห็นแก่เงิน บรรดาผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วย นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ จงยอมให้จิตใจได้สัมผัสพระเมตตา พระเจ้าผู้ไม่หยุดที่จะสัมผัสเรา ให้เราตอบรับสู่การกลับใจและการยอมทำตามวิถีแห่งความชอบธรรม ในช่วงเวลาพิเศษแห่งพระเมตตาที่พระศาสนจักรมอบให้
(ข้อ20) ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมและเมตตาธรรมไม่ขัดแย้งกัน เป็นสองมิติในความจริงเดียวกันที่จะสมบูรณ์ในความรัก ความยุติธรรมเป็นความคิดพื้นฐานของสังคมบ้านเมืองคือการปกครองอาศัยกฎหมาย ต่อมามีความเข้าใจว่าผู้ชอบธรรมคือ ผู้ปฏิบัติตามพระบัญญัติ ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การยึดกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือ “กฎนิยม” (legalism)ในพระคัมภีร์ความยุติธรรมหรือความชอบธรรมหมายถึงการมอบตนอย่างซื่อสัตย์ต่อพระประสงค์ของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงอยู่ร่วมกับคนบาป ทรงเรียกนักบุญเปาโลให้กลับใจ นักบุญเปาโลกล่าวว่า “เพื่อจะได้เป็นผู้ชอบธรรมโดยอาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้า มิใช่จากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ” (กท2:16)ความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงพระสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพนำความรอดพ้น พร้อมกับพระเมตตาที่ทำให้เรากลายเป็นผู้ชอบธรรม
(ข้อ 21)เมตตาธรรมไม่ขัดแย้งกับความยุติธรรม แต่เป็นวิถีทางของพระเจ้าที่ช่วยคนบาป เปิดโอกาสให้กลับใจและมีความเชื่อ ประสบการณ์ของประกาศกโฮเชยาช่วยเราให้เห็นวิถีแห่งพระเมตตาของพระเจ้าการก้าวข้ามความยุติธรรมไปสู่ความเมตตาและการให้อภัย (ฮชย11:8-9) แต่ก็มิได้ลดคุณค่าความยุติธรรม ใครทำผิดต้องรับผิดชอบและชดเชย ผู้ที่เริ่มรู้สึกถึงความอ่อนโยนและพระเมตตาของพระเจ้าจะพบว่า ความรักเป็นพื้นฐานของความยุติธรรมอย่างแท้จริง พระเจ้าเท่านั้นทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ นักบุญเปาโลกล่าวว่า “พวกเขาไม่รู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานความชอบธรรม จึงพยายามสร้างความชอบธรรมของตน ไม่ยอมรับความชอบธรรมที่พระเจ้าประทานให้ จุดหมายของธรรมบัญญัติก็คือองค์พระคริสตเจ้า ดังนั้น ทุกคนที่มีความเชื่อจะได้รับความชอบธรรม” (รม10:3-4) ความชอบธรรมของพระเจ้าคือพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมอบให้ทุกคนดุจพระหรรษทานที่หลั่งไหลจากการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้าเพื่อมอบความมั่นใจในความรักและชีวิตใหม่แก่เรา
(ข้อ22)ปีศักดิ์สิทธิ์กับการมอบพระคุณการุณย์ การปฏิบัตินี้จะมีความหมายมากขึ้นในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม พระเมตตากรุณาอภัยของพระเจ้าไม่มีขอบเขต การคืนดีกับพระเจ้าอาศัยธรรมล้ำลึกปัสกาและผ่านทางพระศาสนจักร ในศีลแห่งการคืนดีพระเจ้าทรงอภัยบาปของเรา แต่ผลของบาปยังอยู่ พระเมตตาของพระเจ้ายิ่งใหญ่ พระคุณการุณย์จากพระบิดาผ่านทางพระศาสนจักรให้แก่คนบาปที่รับการอภัยบาปแล้วได้หลุดพ้นจากผลของบาป ช่วยให้เขาทำกิจเมตตา เติบโตในความรัก อาศัยศีลมหาสนิทและการภาวนาร่วมกับบรรดานักบุญ การรับพระคุณการุณย์คือการมีประสบการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรซึ่งประทานผลแห่งการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าแก่ทุกคน เพื่อความรักและการให้อภัยของพระเจ้าจะแผ่ไปทุกแห่ง
(ข้อ23) มิติพระเมตตาก้าวพ้นขอบเขตพระศาสนจักรไปเชี่อมโยงกับศาสนายูดาห์(ยิว)และอิสลาม ซึ่งถือว่าพระเมตตาเป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดของพระเจ้า ข้าพเจ้าหวังว่า ปีศักดิ์สิทธิ์ฉลองพระเมตตาของพระเจ้าจะส่งเสริมให้มีการพบปะกับศาสนาเหล่านี้ และศาสนาอื่นๆ เปิดโอกาสให้มีการเสวนาอย่างจริงจังเพื่อจะได้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น และเพื่อขจัดการปิดตนเองการไม่เคารพกัน ความรุนแรง และการแบ่งแยกทุกรูปแบบ
(ข้อ 24)ขอพระมารดาแห่งความเมตตา โปรดช่วยเราในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ให้ได้พบความชื่นชมยินดีของความอ่อนโยนของพระเจ้า พระนางมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระเจ้า พระนางเป็นหีบพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ พระนางประกาศว่า “พระกรุณาต่อผู้ยำเกรงพระองค์แผ่ไปทุกยุคทุกสมัย”(ลก1:50)รวมถึงเราด้วยณ เชิงกางเขน พระนางมารีย์เป็นพยานว่าพระเมตตาของพระบุตรของพระเจ้าแผ่ไปยังทุกคน และขอนักบุญโฟสตินา ธรรมทูตแห่งพระเมตตาช่วยวิงวอนขอพระหรรษทานเพื่อให้เราดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งพระเมตตาของพระเจ้าเสมอ ด้วยความเชื่อมั่นที่ไม่หวั่นไหวในความรักของพระองค์
(ข้อ25) ข้าพเจ้ามอบปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษอุทิศเพื่อการดำเนินชีวิตเมตตากรุณาในชีวิตประจำวัน ดังที่พระบิดาทรงเมตตากรุณาเราทุกคนในปีศักดิ์สิทธิ์นี้เราจงยินยอมให้พระเจ้าทำให้เราประหลาดใจ พระองค์ไม่เคยเหนื่อยที่จะเปิดประตูแห่งดวงพระทัยและตรัสย้ำเสมอว่า พระองค์ทรงรักเราและปรารถนาจะแบ่งความรักของพระองค์แก่เรา พระศาสนจักรรู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะประกาศ เป็นพยาน ทำให้ทุกคนเข้าใจถึงพระเมตตาของพระเจ้า ด้วยการเพ่งพิศพระพักตร์ของพระเยซูคริสตเจ้า ในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ ขอให้พระศาสนจักรทำให้พระวาจาของพระเจ้าดังกังวานเป็นสารและเครื่องหมายของการให้อภัย พละกำลัง ความช่วยเหลือ และความรัก ขอให้พระศาสนจักรอย่าท้อถอยในการแผ่ความเมตตากรุณา และเพียรทนในการมอบความเห็นอกเห็นใจ และการปลอบโยน ขอให้พระศาสนจักรเป็นเสียงของชายหญิงทุกคน กล่าวซ้ำด้วยความมั่นใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงระลึกถึงพระกรุณาและความรักมั่นคงของพระองค์ที่ทรงมีตลอดมา” (สดด25:6)

สรุป “พระพักตร์แห่งความเมตตา”(MisericordiaeVultus) สมณโองการ เรื่องปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษแห่งเมตตาธรรมของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นเอกสารที่คริสตชนทุกคนควรอ่าน ได้แบ่งคร่าวๆเป็นสามภาคคือ 1.ภาค1คำนำ(ข้อ1-5) กล่าวถึง พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระพักตร์แห่งพระเมตตาของพระบิดาเราจำเป็นต้องหมั่นเพ่งพิศธรรมล้ำลึกเรื่องพระเมตตาอยู่เสมอ และหมายกำหนดการของปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม2.ภาค2 (ข้อ6-12) กล่าวถึงคำสอนพื้นฐานจากพระคัมภีร์ ข้อความเชื่อและเทววิทยาเรื่องพระเมตตาของพระเจ้า3.ภาค3 (ข้อ 13-25)แนวการดำเนินชีวิตในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม
เอกสารนี้แม้มีเนื้อหาไม่มากแต่มีความสำคัญในปีศักดิ์สิทธิ์นี้พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเน้นให้คริสตชนทุกคนจำเป็นต้องหมั่นเพ่งพิศธรรมล้ำลึกเรื่องพระเมตตา พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น “พระพักตร์แห่งพระเมตตา” เป็นองค์ความรักที่มาจากพระเจ้าพระบิดา ทรงถ่อมองค์ลงมารับสภาพดุจทาสเป็นมนุษย์ดุจเรา ทรงดำเนินชีวิตอย่างยากจน อยู่เคียงข้างคนยากจน พระองค์ทรงสอนด้วยพระวาจาและกิจการที่ชัดเจน ที่สุดทรงมอบชีวิตของพระองค์ โดยการยอมรับความตายบนไม้กางเขน ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ (เทียบ ฟบ2)พระองค์จึงทรงเป็นต้นแบบชีวิตแห่งความเมตตา ความรัก การอุทิศตน การทำตามพระประสงค์พระบิดาอย่างสมบูรณ์สำหรับคริสตชนทุกคนการได้สัมผัสชีวิตแห่งพระเมตตาและพันธกิจของพระคริสตเจ้า ทำให้เราคริสตชนเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ กลายเป็นพยานชีวิตทำให้ชีวิตและพันธกิจของพระคริสตเจ้ายังดำเนินต่อไปในชีวิตของเราคริสตชนในยุคปัจจุบันดังเช่นนักบุญเปาโลผู้กลับใจและก้าวหน้าด้านชีวิตจิตจนสามารถกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า” (กท2:20)และดำเนินชีวิตตามพระวาจานำชีวิตซึ่งเป็น “คติพจน์” ของปีศักดิ์สิทธิ์นี้คือ“จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด”(ลก6:36)

แนะนำโดย บาทหลวงผศ.สมชัย พิทยาพงศ์พรลงแสงธรรมปริทัศน์ ปี39 ฉบับที่ 3 ก.ย-ธ.ค.2015

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown